วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

46: การพิจารณาของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต

การพิจารณาของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
 หลวงปู่ท่านได้เล่าว่าในด้านภาวนานั้นท่านได้อาศัยการพิจารณาลมเข้าลมออก เอาไว้เป็นหลัก จิตจะรวมหรือไม่รวมก็สะดวกที่ได้จะกระทำอยู่อย่างนั้น จะตีปัญหาแก้ปัญหาไป ไม่ว่ามากหรือน้อย สูงหรือต่ำ ยากลำบากอย่างไรก็จับเอาลมนี้เป็นหลักไว้อยู่นั่นเอง จะพิจารณาอย่างไร ก็ดูไม่มีอะไรสมใจเท่าการพิจารณาลม ทั้งนี้เว้นแต่เมื่อเวลาเดินจงกรมเท่านั้น จึงตั้งอย่างอื่นขึ้นเป็นหลักแทน คือ ยึดเอาที่ขาก้าวเข้ามาเป็นหลักแทน ส่วนเวลานอนและนั่ง ต้องอาศัยการพิจารณาลมอยู่เป็นหลัก ถ้าพิจารณาอะไรพร้อมกับลมเข้าออกแล้ว ถือว่าชัดในส่วนตัวของท่าน และไม่สงสัยอีกด้วย ท่านบอกว่าส่วนท่านผู้อื่นก็คงแล้วแต่เฉพาะของใครของมัน หลวงปู่ท่านไม่ค้าน แต่สำหรับองค์ท่านแล้ว สมถะท่านก็ถือเอาอารมณ์การพิจารณาลมเป็นหลักวิปัสสนาก็ใช้ลมเป็นหลักเหมือนกัน ท่านบอกว่าจะพ้นหรือไม่พ้นอย่างไร ตอนไหนๆ ท่านก็อาศัยลมเป็นหลัก อุบายของใครของมันเป็นอุบายที่เกิดจากบุญตามมาทันอีกต่างหาก การที่คนเราคิดว่าเป็นของยาก เป็นของง่ายนั้นย่อมไม่ตรงกันหมดทุกคน ความอดทนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หลวงปู่ท่านว่า เมื่อศรัทธาคือความเชื่อ วิริยะคือความเพียรขยัน สติคือความระลึกได้ สมาธิคือความตั้งมั่น และปัญญาคือความรอบรู้ สมดุลเสมอกันยิ่งในขณะเดียวกัน พร้อมกันทั้ง ๕ อย่างนี้ในปัจจุบันแล้ว ใจก็จะเป็นธรรม ใจก็จะเป็นใจอันมีกำลัง มีพละคือพลังอันไม่มีประมาณผู้ใดใคร่ครวญธรรมผู้นั้นย่อมเป็นผู้เจริญ ผู้เพลิดเพลินในโลกมาก จะเป็นผู้เศร้าโศกมาก

หลวงปู่ได้เล่าว่า วันหนึ่งประมาณเที่ยงคืน ลมหายใจออกเข้าละเอียดแท้รู้ชัดขึ้นว่า ท่านผู้ที่พ้นไปแล้ว ก็พ้นไปไม่มีข้างหน้า ข้างหลัง เหมือนลมเข้าออกนี้หนอ ผู้ตะเกียกตะกายอยากจะพ้นไปก็พ้นไป ไม่มีข้างหน้า ข้างหลังเหมือนอย่างลมเข้าลมออกนี้หนอ ผู้ที่ถือว่าไม่มีบาป ไม่มีบุญ ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง เหมือนลมเข้าออกเช่นนี้หนอ ขณะที่พิจารณาอยู่นั้นรู้พร้อมกับลมหายใจเข้าออกอยู่ ไม่มีอันใดก่อน อันใดหลังแล้วเกิดปิติขึ้นมาอย่างโลดโผนมาก ถึงกับร้องขึ้นมาว่า จริงเผงทีเดียว ความเห็นชอบตอนนี้ หลวงปู่ท่านเน้นมาก ซึ่งข้าพเจ้าหมดภูมิไม่กล้าเรียบเรียงคำท่าน เพราะไม่เข้าใจชัด จึงขอบันทึกไว้เพียงเท่านี้ก่อน 


ข้อวัตรปฏิปทา

หลวงปู่หล้าท่านได้กล่าวถึงการปฏิบัติธรรมในสมัยปัจจุบันเทียบกับในสมัยพุทธกาลไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้คือ

การสำคัญตัวว่าประพฤติเคร่งในปัจจุบันของยุคเดี๋ยวนี้ก็ดี คงจะพอเป็นการพอใช้ได้ในครั้งพุทธกาลหรือประการใด การสำคัญตัวว่าทำพอเป็นกลางก็คงจะเป็นจวนจะพอใช้ได้ในครั้งพุทธกาลกระมัง ส่วนการสำคัญตัวว่าหย่อนไปบ้างนั้น คงจะเป็นเหลวมากจนใช้ไม่ได้ในครั้งพุทธกาลก็อาจจะเป็นได้

ครั้งพุทธกาลเดินจงกรมจนเท้าแตกจึงว่าเคร่งเกินไป แต่ทุกวันนี้เดินไปชนหิน ชนตอไม้ เลือดออกบ้างก็ว่าตนอดทนและเคร่ง ตนไม่มีสติก็ไม่ว่าเสียแล้ว น่าควรจะคิดไว้

ข้อความเหล่านี้ ได้คัดลอกมาจากหนังสือประวัติหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ หน้า ๖๕ และจำได้ว่าเมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าอยู่ที่ภูจ้อก้อ ก็ได้ยินองค์หลวงปู่พูดเตือนพระเณรอยู่เสมอๆ ในทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน


น้ำยากำจัดสนิม

ใจนั้นเป็นมรดกดั้งเดิมของแต่ละคนมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนไม่รู้ว่าเป็นเงื่อนต้น เงื่อนปลายแต่ครั้งไหนๆ หมุนวนติดต่อกันอยู่คล้ายกับกงจักรจนไม่สามารถนับรอบของความวนเวียนได้ เป็นวงวัฏฏะภายในที่ละเอียดลออมาก เป็นความเปลี่ยนแปรไม่ใช่ของตนอันละเอียด มีบาปมีบุญมีคุณมีโทษเกาะเกี่ยวเหนี่ยวอยู่ เป็นเหตุเป็นผลวนเวียนเหนี่ยวรั้งฝังอยู่กับใจเกิดอยู่คล้ายกับสนิมที่ฝังติดกับเหล็ก สนิมใจสิ่งมัวหมองของใจเป็นกิเลส และพิษของกิเลสนี้ก็ย่ำยีอยู่ที่หัวใจนั้น จะขัดเกลาจะดับได้เพราะใช้ปัญญาในระดับโลกุตระหรือถ้าเพียงแต่จะหยุดแบบเบรกห้ามล้อกันไว้ชั่วคราว เขาก็ใช้สมาธิเป็นห้ามล้อ หรือใช้ศีลเพื่อป้องกันบาปแบบหยาบๆ เบื้องต้น

โลกุตรปัญญาเป็นน้ำยากำจัดสนิม เป็นน้ำยาป้องกันสนิมที่ชะงัดกำจัดได้แล้วสนิมไม่เกิดใหม่ กิเลสตายสนิท ปัญญานั้นมีอำนาจมากหากรู้จักใช้การใช้ปัญญาพิจารณาใจและการเป็นไปของใจนั้น เป็นงานที่ไม่ลำบากหรือยากเย็น หนักเข้าก็เบื่อหน่ายคลายเมาลงได้ในแบบเย็นๆ แบบรอบคอบ ที่เรียกว่า ปัญญาชอบในวิปัสสนา

ขอให้แบ่งเวลาภาวนา อย่าให้เสียวันเสียคืน หากจิตใจจะสูงขึ้น มันเป็นเอง ไม่ต้องบ่นหา ไม่ต้องลังเล จะชนะความหลงของตนเป็นแน่แท้ การจะหมายเอาแต่ผลประโยชน์อันเป็นวัตถุภายนอกอย่างเดียว มันก็เป็นการเห็นแก่อามิสเกินไป รู้ไหมว่าวัตถุภายนอกนั้นไม่จีรังยั่งยืน

การภาวนาก็ให้ทำติดต่อกันอยู่ทุกอิริยาบถ มันจะรวมหรือไม่รวมมันจะว่างหรือไม่ว่าง ไม่ต้องอาศัย ไม่ต้องหากินทางคัดค้าน ถ้าทำไม่พอ มันก็ไม่ลง ถ้าทำถึงที่ของมัน มันก็ลงของมันเองไม่ต้องบังคับ ถ้าไปเป็นไปพบสิ่งใด อย่าไปพะวงกับมัน ให้วางเฉยเสีย ถ้านึกกลัวก็ให้คว้าคำภาวนามาภาวนาอีก อย่าได้โลภไปในนโยบายอันอื่นเลย


โลกวุ่นวาย

โลกวุ่นวายอยู่เพราะคนเราไม่รู้จักประมาณตน ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักความเป็นธรรม เมื่อเห็นผู้มีลาภมากก็มีความริษยาเสีย ใจของคนเหล่านี้ย่อมร้อนรน เมื่อเห็นผู้มีลาภน้อยกว่าตน ก็ดูถูก ไม่อยากคบด้วยกลัวเขาจะเบียดเบียน เกิดความขี้โอ่ ถือตัว ทำให้เกิดความเย่อหยิ่ง ลำพองหลงลาภ หลงยศ

โลกวุ่นวายอยู่ เพราะคนเรานั้นหลงโลก ไม่รู้เท่าทันโลก มาหลงดินมาหลงน้ำ หลงไฟ ลมกันอยู่ มาหลงสมบัติโลกว่าเป็นของตน จึงคิดสร้างโลก สร้างดิน สร้างน้ำ สร้างไฟ สร้างลมกันอยู่ มาเป็นเปรต เป็นผี เฝ้าน้ำเฝ้าดินกันอยู่ เมื่อรู้ไม่เท่าทันความหลงของตนเอง มันก็จึงวุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้น มาแย่งชิงเอาสิ่งที่ตัวเองก็นำไปด้วยไม่ได้ ในที่สุดทุกอย่างจะต้องทิ้งไว้กับโลก เป็นสมบัติโลก จะใช้เป็นของตัวได้ก็เพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ตัวเองก็รู้ไม่ทัน

ถ้าคนเรามีสติพิจารณาสักหน่อยว่า แม้แต่ร่างกายที่มีหนังหุ้มอยู่อย่างนี้ เราก็ขอยืมมาจากธาตุดิน น้ำ ลม ไฟและก็จะต้องส่งคืนให้กับดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ถ้ามีสติรู้ได้เช่นนี้เสมอๆ โลกก็คงจะวุ่นวายน้อยลง กิเลสคนเราคงไม่กำเริบมากเท่าไรนักหนา แต่ที่โลกมันวุ่นวายก็เพราะใจคนมันมัวแต่วุ่นวาย หลงประมาทอยู่ว่า ดิน น้ำ ไฟ ลมที่รวมกันเป็นตัวตนอยู่นี้ มันจะยังคงอยู่เป็นของเขาได้อีกนาน จึงกล้าหาญกอบโกย แก่งแย่งกันอยู่ตามอำเภอใจ

คนเรามันขี้โง่ พากันมาเกิดมาตายเล่น มาหลงสมบัติโลกจนลืมถึงความทุกข์ร้อนของชีวิต อวดอ้างกันว่า สุขและดีต่างๆนานา หลงอยู่ไม่รู้เขาช่างกล่อมตัวเองได้เก่งแท้ ถ้ายังไม่ยอมเห็นความวุ่นวายของชีวิต ความวุ่นวายของโลก ยังจะยอมตัวมัวเมาอยู่อย่างนี้ต่อไปอีก โลกนี้ก็สามารถต้อนรับการเกิดตายของเขาได้อีกตราบเท่าที่ความหลงของใจนั้นยังไม่หมดไปชีวิตก็จะวุ่นวายอย่างนี้ตลอดไป จนกว่าใจนั้นจะทำลายความหลงลงได้หมด


ตะกอนใจ

การปฏิบัติก็เพื่อให้เกิดความสงบ จะต้องอาศัยการพิจารณาอย่างแยบคาย ต้องหัดตนเป็นผู้ช่างสังเกต คอยเตือนตน มีความรอบคอบ คือต้องมี โยนิโสมนสิการ การภาวนาพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องอิงอาศัยไตรลักษณ์หรือลักษณะ ๓ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา มาโน้มน้าวเข้าไว้ให้รู้ว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ให้เข้าใจเช่นนี้อยู่เสมอ ต้องมีสติรู้ตัวไม่ห่างจากแนว ความเป็นจริง ๓ ประการนี้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าวเชือกขาด จะกลายเป็นเรือไม่มีหางเสือ จะกลายเป็นรถไม่มีพวงมาลัย จะไม่มีอะไรใช้เป็นแนวยึด ขาดระเบียบ ขาดวินัย จะชวนทำใจให้หลงไป หรือจะว่า ใจหลงใจก็เรียก จะเกิดสำคัญตัวว่า ประเสริฐเพราะลืมหลงออกห่างไปจากความจริง

สำหรับเรื่องการสำคัญตัว ต้องระวังให้มาก เพราะการทะนงสำคัญตัวนั้นเป็นกิเลสที่ถอนได้ยาก มันนอนเนื่องสนิทฝังลึกอยู่ในขันธสันดานอันละเอียด เป็นตะกอนที่แอบแฝงอยู่ราวฟ้ากับดิน คนชั่วเคยรสชั่วจนเคยชินรสความดีไม่เคยสัมผัส จึงใฝ่ฝันแต่รสความชั่ว เมื่อเหตุใจไปในทางชั่วผลใจก็ไปทางชั่ว จะรู้ตัวหรือไม่? ก็ไม่เป็นปัญหา ย่อมได้รับผลตามส่วนควรค่าของเหตุที่สร้างขึ้นนั้น แล้วแต่มากหรือน้อย จะปฏิเสธความรับผิดชอบอย่างไรก็ไปไม่รอด เพราะกรรมที่ทำไว้เกิดสัมปะยุตเป็นมโนกรรมอยู่ที่ใจเพราะใจเป็นนายหน้าสร้างขึ้น กรรมทั้งหมดก็ย่นย่อมาหาใจอยู่ทั้งนั้น จึงหนีผลกรรมนั้นไปไม่พ้น และก็น่าสงสารท่านผู้ถือว่าไม่มีบุญ มีบาป เพราะถ้าคิดว่า บาปไม่มี บุญไม่มี ก็จะคิดเอาแต่ได้ คิดมักง่าย เห็นแก่ตัวไปตะพึด ไม่คำนึงถึงผู้อื่น เขาก็จะอยู่ด้วยความเบียดเบียนผู้อื่น แต่ธรรมดาแล้วการเบียดเบียนผู้อื่น จะไม่ส่งผลให้เกิดการเบียดเบียนตนเองในที่สุดนั้นเป็นไม่มี ในที่สุดก็เข้าตามกฎที่ว่ากรรมตามสนอง การไม่เห็นบาป เห็นโทษนั้น น่าจะเป็นการส่อแสดงให้เห็นว่า บาปนั้นมันรุมล้อมอยู่รอบ กรรมชั่วมันส่งผลทำให้ไม่สามารถแยกผิดชอบชั่วดี ยังมืดหนามาก พอรู้ตัวก็มักจะสายไป กรรมและผลของกรรมนี้เป็นธรรมอันละเอียดมากหนักหนา

วัตถุนิยม และอุดมคติใดๆ ของชาวโลก ที่ปีนเกลียวธรรมของพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้า (หลวงปู่หล้า) เห็นว่าไม่เจริญทั้งสิ้น มหาป่าเถื่อนมากแท้ๆ แม้จะมีผู้กล่าวหาว่าพระพุทธศาสนากีดขวางความเจริญของโลก ก็ต้องปล่อยเป็นความเห็นของผู้ไม่ค่อยเอาใจใส่ความจริง ย่อมข้ามกรายพระศาสนาไป จะไปใส่ใจผู้ที่มีความเห็นเช่นนั้นมาเป็นอารมณ์คงไม่เหมาะ เพราะคงเป็นด้วยต่างคน ต่างกรรม ต่างวาระ

ปัจจุบันของโลกโลกีย์เป็นเช่นนี้เอง
แม้ผู้ที่ก้าวข้ามโลกียวิสัยไปแล้ว
ถ้ายังคงดำรงขันธ์อยู่ ก็ยังต้องอยู่ในโลกนี้เอง
ถ้าพูดถึงวัตถุ ถึงโลกมากไป เขาจะหาว่าเพ้อ
เพราะทุกคนยังต้องพึ่งโลกอยู่ แต่จะพึ่งก็พึ่งให้เหมาะเถิด
อย่าให้โลกและวัตถุมันทับเราได้ก็แล้วกัน


อย่างมปลานอกอวน

ธรรมนั้นถึงจะแบ่งกันอยู่เป็นหมวด จะหมวดละกี่บทก็ตาม ทั้งหมดก็ออกมาจากใจทั้งสิ้น จึงควรรู้จักทำการน้อมนำธรรมทั้งหลายเข้ามาที่ใจทั้งสิ้นด้วย ที่เรียกว่า โอปนยิโก จะทำให้ปฏิบัติง่าย และก็จะไม่สงสัยด้วย ใจร้อนหรือใจเย็น มันก็ร้อนก็เย็นที่ใจ โกรธ เกลียด ก็โกรธในใจ เกลียดในใจ จะตามได้ ตามทันกันก็ตามกันอยู่ที่ใจดวงนี้ จะดับร้อนก็ดับที่ใจดวงนี้ ทำที่ใจได้ก็เรียกได้ว่า รู้จักงมปลาในแหในอวน ถ้าไปงมปลานอกแห นอกอวนก็ลำบาก ไม่ได้ปลา

ที่ว่าปฏิบัติศีลธรรม ก็คือปฏิบัติใจ ใจเป็นผู้สร้างปัญหาดีและไม่ดีขึ้น ปัญหาที่จะแก้ใจออกจากกิเลสเรียกปัญหาดี ทำให้ข้ามความเข้าใจผิดพยายามทำให้ข้ามความหลงกัน นั่นคือการปฏิบัติใจให้ดี

ที่ว่าปฏิบัติใจก็จริงอยู่ กายวาจาก็เป็นขี้ข้าของใจ เมื่อควบคุมใจได้ก็ควบคุมคนใช้ของเขา คือกายกับวาจาได้ด้วย เรียกว่าซื้อหนึ่งแถวสองรวมเป็นสาม อ่านหนังสือใจได้อย่างเดียว หนังสือกาย หนังสือวาจาก็รู้เรื่องได้เพราะมีความหมายอันเดียวกันไม่แปลก

แก้ใจไม่ให้หลง เรียกได้ว่าเกาถูกที่คัน ถ้าเกิดไปสำคัญใจว่าเป็นตนเรียกได้ว่า เข้าใจผิด ก็ไม่สามารถที่จะขุดรากกิเลสออกจากใจได้โดยง่าย เพราะสำคัญผิด อุปาทานเครื่องยึดถือมีอยู่แน่นหนา จึงมักหลงไปแก้ที่ปลายเหตุไม่รู้ว่ารากเหง้าของเหตุแห่งอุปาทานมันฝังอยู่ที่ใจ ถ้าไม่ใช้สติปัญญาจับดูดีๆหรือสติปัญญาไม่สมดุลกัน ก็มองเห็นได้ยาก ต้องเห็นใจไม่ใช่ตนเห็นตนไม่ใช้ใจมีสติไปพร้อมๆ กันทันเวลา จึงจะทันกับกองทัพของอวิชชา หรือที่ว่ากองทัพกิเลสได้

ปฏิบัติยาก ไม่ใช่ปฏิบัติไม่ได้
ถ้าค่อยทำ มันก็จะค่อยไป
เหมือนภาษิตที่ว่า หนทางหมื่นลี้ จะไปถึงได้
ก็ด้วยการเริ่มต้น จากการก้าวทีละก้าว
ดังนั้นยากก็ทำไป
ง่ายก็ทำไป แล้วจะสำเร็จเอง


อนัตตา

นอกจากทุกข์แล้วก็ไม่มีอันใดจะเกิดขึ้น ไม่มีอันใดจะแปรปรวนไม่มีอันใดจะดับไป ทุกข์เท่านั้นแหละเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นแหละแปรปรวนแล้วก็ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป ทุกข์ก็ดี อนิจจังก็ดี ก็มีความหมายอันเดียวกันจะปรารภอนิจจังโยงมาหาทุกขัง จะโยงทุกขังมาหาอนิจจังก็ความหมายเดียวกันถ้าเข้าใจว่าเป็นความหมายคนละอันแล้วเรียกว่าหลงบัญญัติ และปัญญายังไม่ชัดแจ้ง ยังไม่พ้นความสงสัยในอนิจจังและทุกขัง

ส่วนอนัตตานั้นแม้จะเกี่ยวข้องอยู่ แต่อนัตตาก็เป็นธรรมอันลุ่มลึกในพระพุทธศาสนามากมายนัก ถ้าขาดปัญญาอันถ่องแท้แล้ว ก็มักจะยืนยันว่าสูญจนเลยเขต เลยแดน กลายเป็นเลยเถิดไป เมื่อไม่รู้แจ้งในอนัตตาแล้วไฉนจึงพ้นจากอัตตาและไม่ติดอยู่ในอนัตตาด้วย นักภาวนาเกิดทุ่มเถียงเกี่ยงงอนกันในเรื่องอนัตตาจนหน้าดำหน้าแดง จนกลายเป็นสงครามกิเลสอนัตตากันขึ้นเป็นส่วนมาก

อัตตา อนัตตา ไม่ใช่ไฟกิเลส ไม่ใช่ไฟทุกข์ ไม่มีพิษสงอันใด เมื่อรู้เท่าทัน เป็นความจริงตามสมมุติ เป็นความจริงทางปรมัตถ์เท่านั้น ปรมัตถ์เป็นธรรมฝ่ายลุ่มลึกของความเป็นจริงอันลึกซึ้งมีทั้งเกิดทั้งดับ และมีทั้งไม่เกิดไม่ดับอยู่รวมกัน นักปฏิบัติไม่ชัดในกัมมัฏฐานในปัจจุบัน ปัจจุบันธรรมที่ตนตั้งไว้มั่นโดยเฉพาะ ย่อมถูกต้มโดยความหลงใหลของตนเองที่ดองอยู่ในขันธสันดาน ที่ล้อมรอบอยู่ในเมืองจิต เมืองใจ

ผู้ปฏิบัติที่มีสติ มีความสงบเย็นละเอียดพอ ย่อมเข้าใจในความสุขุมลุ่มลึกต่างๆ ด้วยตนเอง หมดความสงสัยในธรรมของตน


อ่านธรรม

จะเรียนธรรม อ่านธรรม ก็ให้รู้จักเรียน รู้จักอ่านสังขารเถิด เพราะการอ่านธรรมกับอ่านสังขารนั้นมีความหมายเดียวกัน อริยธรรมนั้นละเอียดมากไม่ใช่เรื่องที่ผู้มีความเห็นผิด จะมองเห็นได้ง่ายๆ เพราะมีผลของกรรมอันลามกปกปิดไว้ เมื่อรู้เท่าทันตามสังขารโดยแจ่มแจ้งแล้ว ผู้เคยไปยึดถือว่าสังขารเป็นของตน ตนเป็นสังขาร ธรรมเป็นตน ตนเป็นธรรม ธรรมมีในตนตนมีในธรรม ก็จะหน่ายตน หน่ายสังขาร และหน่ายใจ อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในวาทะว่าตัวตนก็จะแตกกระเจิง เมื่ออุปาทานนั้น คือ แม่ทัพใหญ่ของกิเลสนั้นแตกทัพแล้ว ปฏิจจสมุปบาท ห่วงโซ่เหตุปัจจัยแห่งการเกิดดับต่างๆ ก็จะแตกกระเจิงไปพร้อมกัน ไม่มีอะไรก่อนและหลังกันเลย ไม่ต้องคิดอนุโลม ปฏิโลมก็ได้

สังขาราอนัตตา มโนอนัตตา ธัมมาอนัตตา สังขารไม่ใช่ตัวตน ใจไม่ใช่ตัวตน ธรรมมิใช่ตัวตน มีอยู่ในทุกสูตร ในทางตรง และทางอ้อม ภาระหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ ก็คือ ต้องทำความเข้าใจในสังขารให้ถ่องแท้ อย่ายึดเอาเพียงสัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ เพราะเคยหู เคยตา ก็เพียงแต่ว่าตามไป รู้ แต่ไม่รู้ความหมายที่ถูกชัด มันจะไม่ต่างกับนกแก้ว นกขุนทองที่พูดได้ตามเจ้าของ แก้วเจ้าขา กินข้าวกับกล้วยมันพูดได้เพราะได้ยินบ่อยแต่ไม่เข้าใจความหมายอะไรเลยว่า ข้าวคืออะไร กล้วยคืออะไร

ปรารภธรรมกับปรารภใจก็อันเดียวกัน อ่านธรรม ก็คือ อ่านใจอ่านใจในที่นี้ คือการรู้เท่าทันใจของตัวเอง การปฏิบัติธรรมพอใจในพระพุทธศาสนา ก็คือการพอใจปฏิบัติอยู่ที่หัวใจของเรา อย่านอนใจหลงใหลไปตามอารมณ์ ตามตัณหา ตามกิเลส

การพิจารณาจะพิจารณาอะไร ก็ไม่ต้องสงสัย ส่งส่ายไปตั้งเป้าหมายที่อื่น นอกจากปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม อดีตก็ผ่านไปแล้ว จบสิ้นไปแล้วอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ถ้าจะเป็นตัวเลขในบัญชี ก็คือสิ่งที่ยังไม่ปรากฏจริงในบัญชีจะไปคิดคำนึงก็ไม่เป็นตัวเลขในบัญชีจริง ควรจะรู้ชัดกับสิ่งที่มี สิ่งที่ปรากฏให้ถ่องแท้ อบรมปัจจุบันจิตให้ดี อย่าหลงเป้า ปฏิบัติให้ต่อเนื่อง พิจารณาให้ต่อเนื่อง แล้วผลก็คงปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง จะว่าธรรมปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ได้ ปฏิบัติได้ละเอียด ธรรมก็ย่อมจะปรากฏละเอียด แล้วแต่ระดับของการปฏิบัตินั้นๆ

ใจจะดี ใจจะชั่ว ก็ให้ดูใจ ใจขี้เกียจก็จงหมั่นดูใจ ใจขยันก็จงหมั่นดูใจ แล้วใจจะเข้าใจ ใจจะรู้ใจ ใจจะรู้ธรรม ใจจะรู้สังขาร และใจจะละสังขาร ใจจะละใจในที่สุด หมดการยึดมั่น กล่าวได้ว่า หมดความสงสัยใดๆ เพราะมีใจเป็นบัลลังก์

ประโยชน์อะไรกับทรัพย์สินที่ตระหนี่ไว้ไม่ใช้
ประโยชน์อะไรกับมนตราที่ไม่ได้ท่องบ่น
ประโยชน์อะไรกับจิตใจที่ไม่ได้อบรม
ประโยชน์อะไรกับธรรมที่ไม่ได้ปฏิบัติ


ทางโค้ง

ผู้พิจารณาไตรลักษณ์อยู่อย่างไม่มีกลางวันกลางคืนก็ดี หรือผู้พิจารณาเกิดดับอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืนก็ดี ท่านทั้งหลายเหล่านั้น คือผู้ที่ได้ถือกุญแจเปิดประตูพระนิพพานไว้ในกำมือแล้ว นับว่าเป็นผู้รู้จักทางตรงสู่พระนิพพาน

ส่วนท่านที่ชอบไปทางโค้งย่อมยืนยันในนิมิต ติดอยู่ในนิมิตชนิดแกะไม่ค่อยออก เพราะถือว่ามีรสชาติอร่อยมาก แต่ที่แท้นั้นก็คือยาเสพติดที่ทำให้ล่าช้าบนทางเดินสู่มรรคผลแบบชนิดที่ไม่รู้ตัวได้ง่ายๆ เพราะจิตชั้นนี้ธรรมชั้นนี้ ถือว่าเป็นมานะทิฏฐิที่แรงจัดอยู่ จึงไม่ได้เป็นของง่าย มิหนำซ้ำผู้ที่ชอบทางโค้งนั้นยังคิดกล่าวตู่ผู้ไปตักเตือนในใจว่า ภาวนาไม่ละเอียดเท่าตัวเลยมีแต่พูดเฉยๆ เคยได้เห็นมาหลายท่านแล้ว ลงท้ายก็ลาสิกขาไปหาอามิสตามเดิม

http://thai.mindcyber.com