วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

49: โสดาบัน...สำคัญไฉน

โสดาบัน...สำคัญไฉน
ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ ก็มักจะพลั้งเผลอ เอาปริยัติเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอด

ทำให้เกิดการระแวงสงสัย ว่าการปฏิบัติของเรานั้นไปถึงขั้นไหนแล้ว ทั้งๆที่ในอดีต
สมัยพระพุทธกาลมานั้น ไม่มีขั้นตอนของการปฏิบัติ แต่เราเอาผลของการปฏิบัติ
มาแยกออกตั้งเป็นหัวข้อ เพื่อให้มีการเรียนรู้ คนเรารุ่นหลังๆ ก็เลยนำเอาตัวหนังสือ
มายึดเป็นแบบฉบับ ซึ่งบางครั้ง ผู้ที่ยึดแต่ตัวหนังสือนั้น ยังไม่เคยสัมผัสผลของ
การปฏิบัตินั้นๆ ก็เลยคิดเอาเองว่า เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แล้วก็นำมาทุ่มเถียงกัน
กล่าวอ้างไปตามความนึกคิดของตน

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมถึงขั้นโสดาบันแล้วนั้น ก็จะทราบแต่เพียงวาระจิตของตัวเอง
ที่มีความเปลี่ยนแปลงในขณะนั้น เช่นจิตเข้าสู่ความสงบโดยปัญญา แล้วสามารถละ
บางสิ่งบางอย่างออกไปจากใจได้ โดยไม่รู้เลยว่า ขั้นนั้นเรียกว่า”โสดาบัน” เพราะ
เมื่อจิตถึงขั้นละวางได้นั้น ไม่มีตัวหนังสือใดๆมาชี้บอกว่าสำเร็จโสดาบัน ก็เหมือนกับ
เรากินข้าวอิ่ม เราก็รู้สึกอิ่ม ไม่ต้องมีตัวหนังสือใดๆขึ้นมาว่าอิ่ม แล้วเมื่อเรากินข้าว
อิ่มแล้ว เราจะต้องไปถามใครหรือไม่ ว่า เรากินข้าวอิ่มหรือยัง เพราะมันบ่งบอกความ
รู้สึกของเราอยู่แล้ว เราจะอิ่มมากอิ่มน้อย เราก็รู้สึกของเราเอง

การกินข้าว เราเอาอาหารจากภายนอกใส่เข้าไป แล้วเกิดการอิ่มโดยกาย
แสดงออกให้กายรู้ว่าอิ่ม การสำเร็จธรรม ก็คือการนำธรรมะจากภายนอกเข้าไปสู่
ภายใน แล้วเกิดการรู้ด้วยใจ

การจะสำเร็จธรรมได้นั้น ไม่ใช่เพียงแต่รู้ภายนอกแล้วจะสำเร็จ นั่นเป็นเพียง
การนึกคิดเอา การคาดเดาเอาเท่านั้น เมื่อเราพิจารณาธรรม นั่นคือการนำเอาธรรม
เข้าสู่ภายในใจ เมื่อจิตสามารถตีความหมายของธรรมออกชัดแจ้งเมื่อไร จิตจะมีความ
ยินดีในธรรมนั้นๆ จะเกิดความรู้ขึ้นเองภายในจิต แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงของจิ
เกิดขึ้นไปในทางที่เป็นสัมมา แล้วจิตก็นำออกมาให้กายปฏิบัติตามนั้น มีการละวาง
ไปตามขั้นตอนของธรรมะนั้นๆ

การเกิดนิมิตใดๆเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ขั้นของการสำเร็จ เป็นเพียงตัวเสริม
ในการปฏิบัติธรรมเท่านั้น เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถนำเอาข้อคิดจากนิมิตนั้นไปพิจารณา
หาเหตุผลในธรรมะที่ตนเองกำลังพิจารณาอยู่ นิมิตสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในขณะ
ที่ปฏิบัติอยู่นั้น และแต่ละคน ก็เกิดนิมิตที่แตกต่างกันออกไปตามจริตนิสัยของคนนั้น

แนวทางการฝึกจิตเพื่อบรรลุธรรม

เมื่อพอจะรู้จักการฝึกสมาธิขั้นต้นแล้ว ให้มุ่งจิตเข้าสู่การพิจารณาธรรมะ
โดยการเริ่มที่ กรรมฐานห้า คือสิ่งที่เราเห็นภายนอก ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
แล้วเข้าสู่ภายในทั้งหมด ที่เรียกว่าอาการสามสิบสอง จะดูความไม่เที่ยง ดูความ
เป็นทุกข์ ดูการเกิดดับ หรือพิจารณาทางใดก็แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละคนว่า
ชอบพิจารณาด้านใด การพิจารณา ให้พิจารณาตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด
อยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร แม้กระทั่งในขณะกิน หรือขับถ่าย ก็สามารถนำเอาสิ่งของ
รอบตัวมาประกอบการใช้ปัญญาพิจารณาได้ทั้งสิ้น เช่นในขณะขับถ่าย นั่นคืออาหารเก่า
ที่ร่างกายขับทิ้ง การกิน นั่นคืออาหารใหม่ที่เรากินเข้าไป พิจารณาให้รอบรู้ทุกๆด้าน
เมื่อจิตพิจารณาบ่อยเข้าๆ จิตก็จะคุ้นเคยและพิจารณาโดยไม่หยุด เมื่อถึงเวลาอัน
สมควรแก่จิต ก็จะเกิดอาการขึ้นทางจิต ทำให้เราสามารถเห็นความเป็นจริงของ
และการเปลี่ยนแปลงของสัตว์โลก จิตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในจิต ส่วนอาการ
เกิดในขณะนั้นจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่แต่ละคนอีกนั่นแหละ มันจะเกิดขึ้นเองในจิต
โดยที่เรามิได้เป็นผู้กำหนด และบางครั้ง เราก็กำหนดหรือบังคับไม่ได้ด้วย เพราะ
เป็นไปตามสภาวะของจิตในขณะนั้น

ไม่จำเป็นต้องลังเลสงสัย ว่าเราปฏิบัติถึงขั้นใด เพราะนั่นคือความลังเลสงสัย
จิตยังไม่ข้ามพ้นจากจิตปุถุชนธรรมดา เราจะถึงขั้นใด ก็ช่างมัน เรามุ่งหน้าตั้งตา
ปฏิบัติต่อไปโดยไม่ยอมหยุด ไม่ต้องตั้งความหวังว่าเราจะต้องสำเร็จโสดาบัน
หรือขั้นตอนใดหรือไม่ เรากินข้าวไปเรื่อยๆ แล้วเราก็อิ่มเอง เราปฏิบัติพิจารณา
ไปเรื่อยๆ เราก็สำเร็จเอง

เราต้องให้ครูบาอาจารย์รับรองหรือไม่ว่าเราสำเร็จธรรมขั้นใด.....
เราต้องให้ใครมารับรองไหมเมื่อเรากินข้าวอิ่มแล้ว....

ตัวเรารู้เอง เพียงแต่อย่าด่วนสรุปหลอกตัวเองว่าสำเร็จ จิตย่อมรู้ในจิต
รู้แล้วก็อยู่ในจิต ถ้าในตำราไม่เขียนขั้นตอนและตั้งชื่อของการสำเร็จเอาไว้
เราก็ไม่รู้ว่าเราสำเร็จขั้นไหน เพียงในจิตเรารู้ว่า จิตของเราสามารถละวาง
ในจิตได้หลายอย่าง ผิดจากคนทั่วไปอย่างชัดเจนเท่านั้น จิตจะไม่ตำหนิ
ติเตียนใคร แต่จิตจะเกิดความสงสาร ความเมตตาแก่เขาเหล่านนั้น

วัดจิตใจ

1. อยากได้สมบัติต่างๆไหม ยังอยากแสวงหามาและยังหวงแหนอยู่หรือไม่.
..สมบัติทางโลก ตายไปย่อมทิ้งไว้กับโลก ยังอยากแสวงหาพัดยศอยู่หรือไม่
อยากเป็นท่านเจ้าคุณไหม

2. ความโกรธ ความพยาบาทอาฆาต อารมณ์ฉุนเฉียว ความน้อยอกน้อยใจ
มีการทะเลาะเบาะแว้ง อาการเหล่านี้ เป็นอาการของจิตปุถุชน ไม่ใช่อาการ
ในจิตของผู้สำเร็จธรรม

3. พูดเสียดสี ความสะใจในความหายนะที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่น สะใจ
เมื่อคนอื่นถูกตำหนิ การนินทาในทางเสื่อมเสีย

4. หวงและห่วงลูกสาว หวงและห่วงลูกชาย หวงและห่วงสามี ภรรยา
จิตยังไม่สามารถปล่อยวางจากวัฏฏะสงสารได้

5. สงสัยว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด ตายแล้วสูญ

6. คิดว่าตัวเองเก่งกว่าใครๆทั้งสิ้นทั้งทางธรรมและทางยศถาบรรดาศักดิ์
คิดว่าตัวเองเป็นพระย่อมเก่งกว่าโยม คิดว่าห่มผ้าเหลืองแล้วย่อมเหนือกว่าคนธรรมดา

เพียง 6 ข้อนี้ ก็จะสามารถวัดจิตใจ จะรู้ตัวเองว่า สามารถปฏิบัติธรรมได้ถึงไหนแล้ว