วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

56: วาระธรรม วาระจิต

วาระธรรม วาระจิต
บันทึกความทรงจำที่ภูดานไห (9 พฤษภาคม 2555 )

ได้รับฟังโอวาทและธรรมะจากความเมตตาขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์
การแสดงธรรมของท่านจะเป็นไปตามความเหมาะสมซึ่งผู้ฟังรับรู้และเข้าใจได้ เหมือนตรงต่อวาระจิตของเรา มีปัญหาติดขัดตรงไหนในการปฏิบัติ ก็ได้รับรู้รับฟังตรงจุด
ได้แก้ข้อข้องใจ หายสงสัย เมื่อได้รับฟังแล้วเหมือนกับเกิดแสงสว่าง โล่ง โปร่ง ขึ้นภายในใจ
ในส่วนของธรรมที่ท่านได้เมตตาแสดงธรรมให้ได้รับรู้รับฟังเป็นเรื่องการปฏิบัติทางจิตทั้งสมถและวิปัสสนา ซึ่งมีความแตกต่างของผลจากการปฏิบัติ
กระบวนการของจิตที่เราต้องสวนกระแสกลับมาภายในตัวเรา จิตเรา เพื่อทำความเห็น ความเข้าใจในธรรมชาติ ความเป็นจริงของจิต รวมถึงแนวทางการปฏิบัติ(มรรควิถีจิต)
และสภาวะแห่งจิตที่เข้าถึงนิโรธความดับสิ้นไป
ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมสนใจใคร่รู้อย่างมาก รายละเอียดในธรรมลึกซึ้งไม่สามารถที่จะถ่ายทอดจากความเข้าใจในถ้อยธรรมนั้นออกมาได้ เกรงว่าจะไม่ถูกต้องตรงธรรมเสียทีเดียว แต่ได้บันทึกเสียงไว้ คงได้นำมาแบ่งปันให้ฟังในโอกาสต่อไป การแสดงธรรมในแต่ละวาระเวลา ท่านเปรยว่าเป็นการทำงานของธรรม หรือธรรมทำงาน
การได้รับฟังธรรมครั้งนี้ช่างปิติ อิ่มใจเกินจะบรรยาย เหมือนคำกล่าวที่ว่า
“รสพระธรรมช่างประเสริฐและเลิศกว่ารสใดๆทั้งปวง...”
นี้เป็นเพียงแค่ได้รับรู้รับฟัง หากได้เข้าถึงซึ่งธรรมนั้นแล้วจะเป็นเช่นไรเหมือนได้รู้ถึงวาระจิตผม เมื่อธรรมนั้นจบลง ท่านเปรยว่า..การมาในครั้งนี้ของผม ที่สุดแล้วก็อยากจะมาฟังสิ่งนี้ คุ้มค่าต่อการเดินทางมาไหม
ครับ ช่างคุ้มค่าและมีคุณค่าต่อชีวิตและจิตวิญญาน ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ผมเพิ่งจะมองเห็นถึงบุญวาสนาที่พอมีอยู่บ้างของตน ก็จากการที่ได้มาที่ ภูดานไหแห่งนี้ และมีโอกาสได้กราบฟังธรรมจากองค์พ่อแม่ครูอาจารย์
คงไม่มีมีอะไรที่วิเศษและประเสริฐไปกว่าการได้รับธรรม
ซึ่งเราสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติ ชำระจิตวิญญานของเรา ให้กิเลส และความไม่รู้ลดน้อยถอยลงไปได้
ได้รู้เข้าใจถึงความจริงอันเป็นสัจจะที่ภูมิจิตภูมิธรรมของตนพอจะเข้าใจได้ จนเหมือนกับความทุกข์อันเกิดจากความยึดถือหลายสิ่งหลายอย่างได้ลดน้อย เป็นลำดับๆไป



ขอน้อมเศียรเกล้า กราบแทบบาท องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช

มองย้อนกลับไปช่วงที่เรียนรู้ ปฏิบัติโดยลำพังตนเอง ดูเหมือน
เดินย่ำอยู่กับที่โดยไม่รู้ตัว และคิดว่าเรากำลังก้าวเดินไปยังจุดหมาย
แต่ด้วยสิ่งที่เราเข้าใจ ความเห็นของเรา อาจยังไม่ตรง ไม่ถูกต้อง บางสิ่งที่ดูเล็กๆน้อยๆเหมือนเส้นผมที่บังภูเขา สิ่งนั้นกลับทำให้เสียเวลาไม่น้อย หากการปฏิบัติได้ดำเนินไปตามความสะดวกใจของตน ไม่ได้น้อมองค์แห่งอิทธิบาท4
มาปฏิบัติ พิจารณา ยิ่งสูญเสียเวลาไปเปล่านานนับปี
การมีครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้ ด้วยท่านได้ผ่านและไปสุดเส้นทางนั้นแล้ว ชี้แนะ แนะนำแนวทาง จะช่วยให้เราเดินตรง ถูกทาง ไม่สูญเสียเวลาแห่งชีวิตที่มีน้อยนิดไปโดยสูญเปล่า

ท่านผู้รู้ทั้งหลายจึงแนะนำให้ผู้ปฏิบัติควรมีครูบาอาจารย์ มีกัลยาณมิตร ในการดำเนินไปบนเส้นทาง เพื่อถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์

นรธ.ภูเบศวร์

*************************************
ขออนุโมทนาในวาระธรรม วาระจิต ของท่านภูเบศวร์ ด้วยความปีติยิ่ง
พระเมตตาขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์นั้น แผ่ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผมเองก็พึ่งได้รับธรรมที่ท่านเมตตาสั่งสอนมาทางโทรศัพท์นานนับชั่วโมง เมื่ออาทิตย์ก่อน เสมือนท่านรู้ว่า ผมกำลังตกอยู่ในช่วงของวิบาก ความยากลำบาก และดวงจิตกำลังเศร้าหมอง ท่านพยายามปรับภูมิจิตของผมให้ไต่ระดับขึ้น ท่านสอนธรรมละเอียดมากยิ่งขึ้น แม้ผมจะยังถอดธรรมอันละเอียดขององค์ท่านไม่ได้ในขณะนี้ แต่จะพยายามโน้มนำมาพิจารณาให้กระจ่างชัดในภายภาคหน้า ท่านมิได้เมตตาเฉพาะแต่เพียงลูกศิษย์เท่านั้น แต่ท่านก็ยังได้แผ่เมตตาไปสู่ครอบครัวของลูกศิษย์ด้วย ผมจึงสำนึกในความเมตตาของพ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช อย่างสุดซึ้ง ก็ด้วยการเจริญรอยตามบาทท่านและเจริญรอยตามเบื้องบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม


ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์
23 พฤษภาคม 2555
*************************************
โมทนาบุญด้วยนะครับท่านภูเบศวร์.....เมื่อต้นเดือนเมษายนหลังกลับจากการปฎิบัติธรรมอยู่ที่ภูดานไหร่วมอาทิตย์ ก็ได้รับข้อปฏิบัติข้อธรรมหลายๆอย่างที่เป็นไปในทางที่ถูกต้องชัดเจน มีความเข้าใจในสภาวะธรรมต่างๆมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่สามารถนำมาเล่าหรืออธิบายสู่กันฟังได้ตามความเป็นจริงที่รับรู้มา ณ.วันนี้ก็ขอสนับสนุนบทสรุปข้อความข้อธรรมที่ท่านภูได้เล่าสู่กันฟังข้างต้นด้วยนะครับ..... ขอใช้คำอธิบายร่วมว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างนั้นจริงทุกประการ นรธ.หลายๆท่านต่างก็ทราบกันดีว่าองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านสั่งสอนอบรมให้ข้อธรรมได้ตรงจุด และตรงจิตตรงใจของลูกศิษย์เป็นที่ประหลาดใจยิ่งนัก ทำให้มีความหวังและกำลังใจในการปฏิบัติที่จะดำเนินต่อไปในทางที่ถูกที่ตรง มั่นคงและไม่หลงทางครับ.....
ขอเจริญในธรรม
สมาชิกธรรม
*************************************


ความเมตตาขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์ นักรบธรรม ญาติธรรมและผู้ที่เคยมีโอกาสได้มากราบท่าน ได้รับรู้และตระหนักถึงความเมตตาของท่านเป็นอย่างดี
และในวาระล่าสุดในส่วนตัวผม สัมผัสรับรู้อย่างลึกซึ้งถึงเมตตาที่ท่านมีให้ อาจด้วยเพราะได้มีโอกาสใกล้ชิดท่านเป็นการจำเพาะมากขึ้น แต่ทุกครั้งที่ได้มาก็เห็นและรับรู้อยู่เสมอ
ได้เห็นถึงความรักเมตตาของท่านเหมือนดั่งพ่อแม่ที่มีต่อลูก จัดหาสิ่งที่ลูกชอบ พอใจที่จะอำนวยประโยชน์ให้ลูกได้รับสิ่งดีๆ ความเจริญรุ่งเรือง โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยยาก ท่านลุกขึ้นมาจัดทำของชิ้นพิเศษที่จะมอบให้ตั้งแต่มืดแต่ดึก ในขณะที่เรายังคงนอนหลับสบายอยู่

ได้เห็นความละเอียดของท่านแม้กระทั่งเรื่องต่างๆของตัวเรา เหมือนพ่อแม่ที่ห่วงใย สอดส่องให้ความสนใจ ใส่ใจ ในทุกรายละเอียดของลูก เพื่อให้กำลังใจต่อการดำเนินไปในวิถีชีวิตของแต่ละคน

ในอีกด้านหนึ่ง ท่านได้ให้ความรู้ชี้แนะแนวทางดั่งครูอาจารย์ที่หวังจะให้ศิษย์ได้ดี มีความรู้ติดตัวและเอาตัวรอดได้ ชี้นำใจเราให้พ้นจากกองทุกข์ น้อมนำใจใฝ่ไปในกุศล เพื่อให้ใจพบความสว่าง สะอาด ซึ่งทุกช่วงโอกาสจะได้รับข้อคิดดีๆจากคำสอนของท่าน“ละบาปอกุศลทั้งหลาย ทำความดี ทำบุญกุศลให้ถึงพร้อม ตัวบุญนั้นแหละจะเป็นบารมีนำเราไปสู่ความสำเร็จ”

ในความรู้สึกหลายอย่างที่บรรยาย ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสอาจดูเหมือนจะเชิดชูท่านไว้เหนือเศียรเกล้า แต่ก็เป็นดังเช่นนั้นไม่อาจปฏิเสธและคงบรรยายออกมาได้ไม่หมด ซึ่งนักรบธรรมและหลายท่านตระหนักดีว่าไม่ได้เกินกว่าความเป็นจริงเลย ดังที่พวกเราพูดได้อย่างสนิทใจและด้วยความเคารพในความหมายแทนองค์ท่าน..."พ่อแม่ครูอาจารย์"
กราบ กราบ กราบ

นรธ.ภูเบศวร์
24 พฤษภาคม 2555


ทุกครั้งที่เราเดินทางกลับ ท่านออกมาส่งด้วยรอยยิ้มแห่งความเมตตา
และคุณแม่ชม ก็เช่นกัน..

อาจาริโยวาท

โอวาทองค์พ่อแม่ครูอาจารย์(พ.สุรเตโช) เพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจแก่นักรบธรรมและญาติธรรม
ในเรื่องการแสดงออกของผู้มีธรรม
ผู้มีธรรมอยู่ประจำจิตจะแสดงออกด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน
เมื่ออยู่ต่อหน้า เข้าหาผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ก็จะวางตนเสมือนเด็กน้อย ให้ผู้ใหญ่รัก เมตตา เอ็นดู
หากอยู่ในสมณเพศเข้าหาพระผู้มีอาวุโสพรรษากว่าก็จะเหมือนดั่งเป็นเณรน้อย มีความเคารพนบนอบ มีความสำรวมระวังกิริยา วาจา
แม้นว่าตนเองนั้นจะเป็นถึงครูบาอาจารย์ผู้อื่น มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ก็ไม่แสดงความใหญ่โต อวดเก่ง หยิ่งผยอง ออกมาต่อหน้าผู้ใหญ่ผู้อาวุโสเลยแม้แต่น้อย และไม่หวั่นไหวเกรงว่าตนจะเสียหน้าต่อการแสดงออกเช่นนั้น แม้ขณะนั้นลูกศิษย์ลูกหา คนนับหน้าถือตาตนจะอยู่ด้วยก็ตาม


แต่เมื่อยามอยู่กับลูกศิษย์ หรือผู้น้อย ก็แสดงออกถึงความมีเมตตา ความเป็นครู เป็นผู้ใหญ่ ได้สง่างาม ภาคภูมิ สมกับการเป็นครู เป็นอาจารย์ที่คนให้การยอมรับนับถือยกย่อง นี้เป็นลักษณะของผู้มีธรรมประจำจิต



การแสดงออกซึ่งคุณธรรม หรือคุณวิเศษของผู้มีธรรม ท่านมักจะไม่ค่อยแสดงออกมาให้เห็น หากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆแก่ผู้คน แต่หากเห็นว่าเพื่อเป็นการสงเคราะห์ เพื่อยังประโยชน์ หรือยังศรัทธาในพระพุทธศาสนา ท่านก็อาจสงเคราะห์ตามวาระโอกาส ด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่เคลือบแฝงด้วยผลประโยชน์อันใดที่จะเกิดแก่ตน

ผู้ที่ชอบแสดงภูมิรู้ภูมิธรรมแห่งตน ด้วยการแอบอ้างสิ่งที่ไม่มีในตน โดยผู้แสดงออกเช่นนั้นหาได้มีคุณธรรม คุณวิเศษประการหนึ่งประการใดดังเช่นอวดอ้าง อาจเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด เขาผู้นั้นก็กำลังดำเนินไปสู่หนทางแห่งความเสื่อม ความหลง และนำหายนะมาสู่ตน ทั้งยังนำพาผู้อื่นให้หลงตามไปด้วย ก็เป็นการก่อเวรก่อกรรมให้เกิดขึ้น
ในสมณเพศพระวินัยบัญญัติท่านให้ปรับอาบัติเป็นปราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ ถือว่ารุนแรงและเป็นโทษหนัก
หรือการแสดงออกซึ่งภูมิรู้ภูมิธรรม แม้นว่าตนนั้นมีคุณธรรม หรือคุณวิเศษนั้นอยู่จริง แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดแก่ตน ไม่ว่าจะเป็นความนิยมยกย่อง สรรเสริญ หรือลาภสักการะที่จะติดตามมา เขาผู้นั้นก็กำลังดำเนินไปสู่ความเสื่อม ความหายนะเช่นกัน ตนเองก็จะหลงในสิ่งที่ตัวเองมี หลงในสิ่งที่ตัวเองเป็น เกิดทิฐิมานะหลงดี เบี่ยงเบนไปจากแนวทาง ก็จะแก้ไขเยียวยาให้ดำเนินไปยังเส้นทางที่ถูกที่ตรงได้ยาก
ในสมณเพศ พระวินัยบัญญัติท่านก็ปรับอาบัติเป็นปาจิตตีย์ ซึ่งไม่รุนแรงนัก แต่ก็เป็นสิ่งสะกิดเตือนใจให้สำนึกในความผิดอันนั้น
การดำเนินไปทั้งสองกรณีถือเป็นการนำตนไปสู่ความเสื่อม ความหายนะทั้งสิ้น ทั้งยังก่อเวรก่อกรรม นำพาผู้อื่นให้หลง ให้เสียหายตามไปด้วย

การแสดงออกซึ่งความรู้ของตนนั้น พึงระลึกเสมอว่ายังมีผู้ที่เหนือกว่าตน รู้ยิ่งกว่าตน พระอริยเจ้า ท่านผู้พ้นแล้ว ท่านนั้นรู้ยิ่งกว่าเรารู้ แม้แต่กระทั่งตัวเราเอง ท่านยังรู้ตัวเรายิ่งกว่าเรารู้ตัวเราเองเสียอีก การแสดงออกซึ่งความอวดรู้จึงไม่ควรลำพองใจว่าเรารู้มากกว่าคนอื่น ควรเกรงใจผู้ที่เหนือกว่าเรา ผู้ที่รู้ยิ่งกว่าเราด้วย

การรับรู้รับฟังเรื่องราวต่างๆต้องใคร่ควรไตร่ตรองถึงเหตุและผล
ไม่ใช่เชื่อเพราะบุคคลนั้นเป็นคนน่าเชื่อถือ อยู่ในฐานะที่น่านับถือ เป็นที่เคารพยกย่อง นับหน้าถือตาของคนมากมาย หรือผู้นั้นอาจเป็นผู้ที่มีทักษะในการพูด ในการโน้มน้าว จนน่าเชื่อถือโดยที่เขาอาจจะไม่มีความรู้ในสิ่งนั้นจริงๆ หรือไม่มีจุดมุ่งหมายอย่างที่เขาแสดงออกมาจริงๆก็ได้ เราก็มีหลักกาลามสูตรที่พระพุทธเจ้าท่านให้นำมาพินิจพิจารณาและใคร่ควรไตร่ตรองเสียก่อน จะได้ไม่นำพาตนเองไปสู่ความลุ่มหลง หลงผิด
เป็นข้อคิดเตือนใจให้พึงสำรวม และสังวรระวัง เพื่อไม่นำพาตนไปสู่ความเสื่อม ความเสียหาย ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านเมตตาเป็นโอวาท ตามที่พอจะจดจำมาถ่ายทอดแบ่งปันได้ครับ

ขอเจริญในธรรม
นรธ.ภูเบศวร์


วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

55: ธรรมะบางส่วนจากองค์พ่อแม่ครูอาจารย์

"ให้ซื่อสัตย์ต่อธรรม หากเรายังไม่ได้ ก็ต้องบอกว่าไม่ได้ ธรรมยังไม่เกิด ก็ต้องบอกว่ายังไม่เกิด"
"เข้าหาครูบาอาจารย์ ต้องถอดใจของตัวเองนอบน้อมลงแด่ท่าน น้อมลงให้ต่ำที่สุด ประหนึ่งฝุ่นเถ้าธุลี คืออยู่ต่ำกว่าดินที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าท่าน ไม่งั้นธรรมไม่เกิดดอก ธรรมจะเกิดกับผู้ที่อ่อนน้อม (ทั้งกายและใจ) เพื่อรับธรรมมากที่สุด"
"ไม่ว่าท่านจะนิ่ง ไม่ว่าท่านจะหัวเราะ ไม่ว่าท่านจะว่าเราอย่างไร ทุกอย่างเป็นธรรมเสมอ"
"แม่ชม ท่านเป็นผู้มีความเมตตา มีปัญญามาก หากเห็นว่าอะไรไม่ถูก ท่านจะดุทันที คนไหนที่ดุแล้วนิ่งฟัง แม่ชมจะเมตตาสั่งสอนเป็นพิเศษ"
ฯลฯ
ขอนอบน้อมกราบ กราบ กราบ องค์ครูบาอาจารย์ทุกๆพระองค์ ทุกๆองค์ ด้วยเศียรเกล้า
ธรรมะรักษาครับ
IT Man/22.05.55
ปล: ถ้อยธรรมทุกอย่าง สรุปมาตามภูมิปัญญาของข้าพเจ้าที่ได้รับฟังมานะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

54: พุทธโอวาท ๓

พุทธโอวาท ๓
(ประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักใหญ่ ๓ ข้อ)
Bhddha-ovada : The Three Admonitions or Exhortations of the Buddha
1. สพฺพปาปสฺส อกรณํ (ไม่ทำความชั่วทั้งปวง – Sabbapapassa akaranam : Not to do any evil)
2. กุสลสฺสูปสมฺปทา (ทำแต่ความดี – Kusalassupasampada : To do good; to cultivate good)
3. สจิตฺตปริโยทปนํ (ทำใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ – Sacittapariyodapanam : To purify the mind)

หลัก ๓ ข้อนี้ รวมอยู่ใน โอวาทปาฏิโมกข์ ที่ทรงแสดงในวันเพ็ญ เดือน ๓ ที่บัดนี้เรียกว่า “วันมาฆบูชา”
D.II.49; Dh.183 ที.ม.10/54/57; ขุ.ธ.25/24/39.

53: ครูบาอาจารย์

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจฺนโท)
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี
หลวงปู่ขาว อนาลโย
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
หลวงปู่คำดี ปภาโส
หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปญฺโญ :
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
หลวงพ่อชา สุภทฺโท
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
ท่านพุทธทาสภิกขุ
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
พระอาจารย์บุญกู้ อนุวฑฺฒโน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
หลวงพ่อทูล ขิปฺปญฺโญ
พระอาจารย์ชยสาโร
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
พระอาจารย์พรหมวํโส (Ajan_Brahm)

ที่มา

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประกาศพุทธสถานภูดานไห

กราบเรียนญาติธรรมที่เคารพทุกท่าน,

หากท่านมีข้อสงสัยเรื่องปฏิปทาและธรรมะต่างๆ โปรดติดต่อพุทธสถานภูดานไหโดยตรงที่
คุณแม่บุญชม ยางธิสาร : โทร. 0801765282 (อุบาสิกาประจำวัด)

โมทนาสาธุทุกประการครับ
IT Man/03.05.55