วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

62: ธรรมชาติธรรม


ซุ้มรับรองและลานธรรม

สวนหย่อม

ในมุมที่ดูสบายๆของสวนหย่อมนี้พ่อแม่ครูอาจารย์ได้ให้ธรรมะะง่ายๆสั้นๆแต่มีความหมายลึกซึ้งกินใจ.....หากสามารถน้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตจริง

องค์ท่านถามผมว่าโยมจำได้มั้ยว่าสภาพเดิมของที่ตรงนี้เป็นเช่นไร เป็นพื้นที่ๆไม่น่าดูและไม่น่ามองเลย ท่านจึงได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้น่าดู น่ามอง น่านั่งขึ้นมา.....ญาติโยมหลายๆคนก็ทักท้วงว่าทำไมองค์ท่านไม่ไปทำตรงที่มันสวยงามดูดีกว่านี้จะมาเสียเวลากับพื้นที่เสื่อมโทรมทำไมกัน มันไม่คุ้มค่าเลย

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ธรรมะผมสั้นๆว่า.....ในส่วนที่ดีอยู่แล้วเราก็รักษาความดีไว้อยู่เช่นนั้น หากแต่ในส่วนที่มันไม่ดีหรือยังไม่ดีพอเราก็แก้ไข ปรับปรุง พัฒนาให้ดีขึ้นมาเท่าเทียมกับส่วนที่ดีอยู่แล้วก็จะทำให้ดีนั้นดียิ่งๆขี้นไป ดีกว้างหรือดีรอบนั่นเอง

ธรรมชาติธรรม
สมาชิกธรรม/นรธ.พิเชฐ

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

61: นิพพาน ๓ อย่าง

นิพพาน ๓ อย่าง
นิพพานนั้นองค์สมเด็จพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนได้ว่า มีอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. นิพพานชั่วขณะเรียกว่า “ตะทังคะนิพพาน” หมายความว่าจิตเข้าสู่ความพ้นจากกิเลส คือความหลุดพ้นชั่วขณะ ในขณะที่จิตเข้าสู่ความหลุดพ้นอย่างนั้นก็เป็นเหตุให้พบความสุขอย่างสุดยอดทีเดียวแต่เมื่อเหตุยังมี ทิฏฐิคือความคิดความเห็นยังอยู่ ย่อมนำจิตเข้ามาสู่ในโลกีย์วิสัยอีกได้ นิพพานอย่างนี้ท่านเปรียบเสมือนหนึ่งลิงที่อยู่นิ่งได้ชั่วขณะเดียว แต่ก็ยังดีกว่าผู้ที่ไม่ได้เสียเลยนิพพานชนิดนี่ท่านเรียกว่า “ตะทังคะนิพพาน” คือนิพพานชั่วขณะ
ส่วนอีกสองประการนั้น เป็นนิพพานอยู่ชั่วกาลนาน เรียกว่า “สะอุปาทิเสสะนิพพาน” เป็นการที่นำดวงจิตเข้าสู่นิพพานอย่างถาวร ไม่กลับออกมาอีกแล้ว เพราะว่าตัดเสียหมดทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเหลือคงอยู่แต่ร่างกายเท่านั้น ยังกิน ยังเดิน ยังพูด ยังนอนอยู่
ส่วนอีกอย่างหนึ่งนั้นเรียกว่า “อะนุปาทิเสสะนิพพาน” นิพพานชนิดนี้ไปหมดทีเดียว ร่างกายก็ไปแล้ว ดวงจิตก็หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวงเข้าสู่นิพพาน เรียกกันว่าดับสนิททีเดียว ไม่มีเชื้อให้ลุกติดอีกได้ เหมือนเมล็ดพืชที่ปราศจากยางงาเพราะถูกคั่วเสียแล้ว แต่ไม่ใช่หมายความว่าเมล็ดพืชนั้นจะสูญหายไปจากโลก

ถาม ขอถามปัญหาเกี่ยวกับคำว่า “สะอุปาทิเสสะนิพพาน” กับ “อะนุปาทิเสสะนิพพาน” นั้นหมายถึงว่าดับกิเลสมีเบ็ญจขันธ์เหลือหรือดับเฉพาะบางส่วน มีบางท่านได้ยืนยันว่า “สะอุปาทิเสสะนิพพาน” คือว่าดับกิเลสที่มีเบ็ญจขันธ์อยู่
ตอบ “สะอุปาทิเสสะนิพพาน” คือการดับกิเลสที่มีเบ็ญจขันธ์อยู่ เพราะเหตุว่า อุปาทานยังครองสังขารนั้น

ถาม หมายถึงพระโสดา สกิทาคา อนาคาใช่ไหม ส่วน ”อะนุปาทิเสสะนิพพาน” นั้นหมายถึงพระอรหันต์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งปวง ปัจเจกพุทธทั้งหลายเช่นนี่ ขอทราบความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ครับ
ตอบ ใครเป็นคนอุตตริที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจเช่นนี้ เออ เรื่องนี้จะต้องพูดกันยืดยาว เอาละ ให้ตั้งใจฟังกันทุกคน

เรื่องนี้ครั้งหนึ่งเคยได้พูดกันมาแล้ว่า นิพพานในพุทธศาสนา หรือขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีอยู่ ๓ ประการ คือ เรียกว่า นิพพานสามขั้น

ขั้นที่ ๑ เรียกว่านิพพานชั่วคราว หรือ “ตะทังคะนิพพาน” คือเมื่อเข้าสู่นิพพานแล้ว ทิฏฐิก็นำจิตนั้นออกจากแดนนิพพาน การเข้านิพพานในขั้นนี้ เมื่อผู้ที่ทำจิตถึงซึ่งการที่จะเข้าสู่นิพพานแล้วย่อมเข้าได้ทุกคน แต่ไม่เป็นการถาวร “สะอุปาทิเสสะนิพพาน” นั้น หมายถึงนิพพานที่ยังมีร่างกายอยู่ เพราะเหตุว่าสังขารยังมีอุปาทานครอง แต่เป็นนิพพานที่ไม่กลับออกมาอีกแล้ว เป็นอรหันต์ตั้งแต่ครั้งยังมีชีวิตได้แก่พระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่นั้น ตั้งแต่สมัยพุทธันดรมาจนกระทั่งสมัยนี้

ส่วน “อะนุปาทิเสสะนิพพาน” นั้น หมายความว่า ร่าง หรือดวงจิตที่อยู่ในร่างที่เข้าสู่นิพพานแล้วนั้น ได้แตกดับขันธ์ไป ทำให้การนำจิตเข้าสู่นิพพานเป็นการถาวรไม่กลับออกมาอีก ไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย โศกปริเทวทุกข์ทั้งปวง

ไม่ใช่แบ่งชั้นวรรณะว่า ถ้าเป็นสะอุปาทิเสสะนิพพานแล้ว จะได้ตั้งแต่ชั้นโสดาบันไปจนถึงอนาคา ส่วนอะนุปาทิเสสะนิพพาน คือ นิพพานของสังขารที่ปราศจากอุปาทานครองนั้น จะเป็นนิพพานเฉพาะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทังหลาย ๒๘ พระองค์ก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายดุจเมล็ดทรายในท้องมหาสมุทรก็ดี ประดุจพระอรหันต์ทั้งปวงที่เข้าสู่นิพพานแล้วเท่านั้นหามิใช่เป็นการแบ่งชั้นวรรณะว่านิพพานอย่างนั้นเฉพาะคนชั้นนั้น นิพพานอย่างนี้เฉพาะคนชั้นนี้ ฉันใดก็ตาม เมื่อทำจิตให้เข้าถึงซึ่งแดนพระนิพพาน คือแดนแห่งความสงบแล้วย่อมจะเป็นได้ทั้งสิ้นเสมอเหมือนกันหมด หากแต่ว่ายังมีสังขารที่มีอุปาทานครองอยู่ หรือเป็นสังขารที่ปราศจากอุปาทานครองแล้วเท่านั้น

ถาม ภาวะนิพพานนี้จะประสพได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่หรือว่าตายไปแล้วจึงจะได้ประสพ
ตอบ ไม่น่าจะเป็นปัญหาเลย เมื่อเข้าใจถึงนิพพาน ๓ ประการที่พูดให้ฟังแล้ว ย่อมจะพิจารณาเห็นว่าภาวะนิพพานนั้น จะประสพเมื่อมีชีวิตอยู่ หรือเมื่อหาชีวิตไม่แล้วได้ทั้งสิ้น เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ได้ ”สะอุปาทิเสสะนิพพาน” เมื่อดับชีวิตไปแล้วก็พึ่งอะนุปาทิเสสะนิพพานและ ตะทังคะนิพพานนั้น ย่อมได้แก่บุคคลทั่วที่มีชีวิตอยู่ หรือผู้ที่ไม่มีชีวิตแล้ว แต่เมื่อทำจิตให้เข้าถึงซึ่งแดนนิพพานนั้นชั่วขณะและเมื่ออยู่ในแดนนิพพานชั่วขณะแล้ว ทิฏฐิอันประกอบไปด้วย กามสุขัลลิกานุโยคก็ดี ตัณหา อุปาทานทั้งปวงก็ดี เป็นผู้นำจิตนั้นออกจากแดนนิพพาน

ถาม “ภาวะนิพพาน” กับ “จิตที่บรรลุนิพพานนั้น” มีความแตกต่างหรือเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ตอบ ต่างกัน จะพูดให้ฟัง “ภาวะนิพพาน” หมายถึง ความเป็นอยู่แห่งแดนนิพพาน หรือเราจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ในเมื่อเข้าไปสู่ในที่นั้น เมื่อนำจิตเข้าไปสู่ภาวะนิพพานได้แล้ว จิตนั้นก็เป็นจิตที่เข้าสู่นิพพาน ภาวะนิพพานก็คือภพแห่งนิพพานนั้นเอง “ส่วนจิตนิพพานนั้น” เป็นจิตที่อยู่ในรูป หรือจิตที่ปราศจากรูป หากบำเพ็ญจนกระทั่งจิตนั้นเข้าสู่ภาวะนิพพาน หรือภพแห่งนิพพาน หรือวความเป็นอยู่แห่งนิพพานแล้ว ก็ได้ความเป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ ดังจะยกตัวอย่างให้เข้าใจ
ภาวะนิพพาน หรือ ภพนิพพานนั้นอยู่ที่ใด ไม่มีผู้ใดที่จะชี้แจงแถลงไข หรือว่าจะวาดรูปให้เห็นได้ แต่มีข้อที่จะพึงอุปมาได้ว่า ประดุจนั่งอยู่ในห้องนี้เป็นแดนแห่งสามัญธรรมดาทั่วไป ครั้นออกจากประตูห้องนี้ไปสู่ห้องอื่น ก็เข้าสู่แดนนิพพานนั้น เพียงชั่วมีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากั้นกลางไว้ อาจจะมองเห็นภาวะนิพพานได้ แต่ไม่สามารถจะนำจิตเข้าส่ภาวะนิพพานนั้น แต่เมื่อใดสามารถนำจิตเข้าสู่ภาวะนิพพานนั้นได้แล้ว จะรู้แจ้งแก่ตนเอง เป็นปัจจัตตัง ผู้อื่นจะรู้ได้กับตัวเรายากที่สุด และตัวเราก็ไม่อาจจะชี้แจงแถลงให้ผู้ใดทราบ เรื่องนี้จะต้องไปพิจารณาด้วยจิตของตัวเองแล้วจะเข้าใจอย่างซาบซึ้ง ไม่สามารถจะอธิบายให้เห็นแจ่มชัดได้หรือนัยหนึ่งเปรียบประดุจมีฉากใสๆ ที่ทำด้วยเส้นใยแมลงมุมซึ่งสามารถจะมองทะลุฉากนั้นไปได้ แต่ว่าไม่สามารถจะเข้าไปยังหลังฉากนั้นได้ ถ้าหากเมื่อใดผ่านฉากนั้นไปได้แล้วจะรู้สึกว่าจิตของตัวเราในภาวะนิพพานนั้นเป็นจิตอีกรูปหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกับจิตเดิมอย่างยิ่งทีเดียว

ถาม เมื่อจิตบรรลุนิพพานแล้วยามที่มีชีวิตอยู่ สุขอย่างไรก็พอจะอนุมานได้ ทีนี้เมื่อเป็น อะนุปาทิเสสะนิพพาน คือ เบ็ญจขันธ์ทำลายลงไปแล้ว จิตนั้นยังมีอยู่หรือเปล่าว จิตที่เหนี่ยวนิพพานเป็นอารมณ์นั้นมีอยู่หรือเปล่า
ตอบ มีอยู่ตลอดไปไม่มีวันเสื่อมคลาย เพราะจิตหรือวิญญาณนั้นเป็น “อมตะ”

ถาม และเมื่อจิตอยู่อย่างนั้น ทำไมจิตจึงไม่ทำหน้าที่เกิดอีก
ตอบ เพราะว่าจิตหลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล ไม่มีสิ่งใดมาข้องเกี่ยวอีกต่อไป สิ้นกังวลแล้ว สิ้นความอยาก สิ้นตัณหาอุปทานแล้ว เห็นแจ้งแล้วในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็นจึงไม่ต้องการจะกลับมาด้วยความเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง

ถาม แล้วจิตที่บรรลุนิพพนานหลังจากจากดับเบ็ญจขันธ์แล้วนั้นมันอยู่อย่างไร เพราะไม่มีร่างที่จะอาศัยอยู่
ตอบ ไม่จำเป็นจะต้องมีร่าง ถ้ามีร่างอีกเมื่อใด ก็หมายความว่ากลับมาเกิดใหม่ ซึ่งผิดไปจากหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงกล่าวไว้ว่า “นิพพานนัง ปรมัง สุญญัง” หมายความว่าในนิพพานนั้น สูญการเกิด สูญกิเลส ยังอยู่แต่วิญญาณที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส เป็นวิญญาณบริสุทธิ์แท้ หรือจิตเดิมแท้ซึ่งไม่มีสิ่งใดมาเคลือบคลุม เป็นจิตที่สว่างแล้ว ไม่มีกิเลสมาหุ้มห่อ ไม่มีอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น เป็นจิตที่ไม่ต้องมีชาติ ชรา มรณะ ทุกข์โศกปริเทวอุปายาสใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อจิตซึ่งปราศจากกิเลสอาสวะทั้งมวลเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นจิตที่บริสุทธิ์ผ่องใสประดุจดวงไฟที่รุ่งโรจน์ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมาหาความดับของความรุ่งโรจน์นั้นอีก

ถาม ถ้าเช่นนั้นหากมีความต้องการที่จะติดต่อกับจิตของพระพุทธเจ้า จะติดต่อได้ไหม
ตอบ ติดต่อได้แน่นอนที่สุด ก็การที่เข้าไปในพระอุโบสถแล้วทำสังฆกรรมทั้งหลาย มีการทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ มีการสวดเจริญพระพุทธมนต์ มีการภาวนาทั้งหลายเหล่านี้ ทำอะไร

ถาม น้อมจิตนึกถึงพระพุทธเจ้าครับ
ตอบ นั้นแหละเป็นคำตอบที่ตรงอยู่แล้ว สมเด็จพระบรมศาสดา และบรรดาพระอริยะทั้งหลายก็ย่อมทราบการกระทำนี้ แม้แต่ว่าในขณะนั้นจะได้กระทำไปโดยไม่มีความตั้งใจหรือตั้งใจท่านย่อมทราบหมดสิ้น

ถาม ก็เมื่อจิตอรหันต์หลังจากนิพพานแล้วอย่างพระพุทธเจ้าเป็นจิตซึ่งไม่มีรูป ไม่มีอายตนะเป็นเครื่องสืบต่อไป จิตนั้นจะมีอานุภาพบันดาลให้ผู้นั้นติดต่อกับพระองค์ได้อย่างไร
ตอบ อาจจะลืมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบางตอนแล้วก็ได้กระมังจึงได้ถามอย่างนี้ พระองค์ได้ทรงตรัสสั่งสอนไว้ว่า อันจิตของผู้ใดเป็นจิตที่สงบแล้ว จิตนั้นย่อมสามารถทำสมาธิให้เกิดขึ้นได้ จิตของผู้ใดมีสมาธิแล้ว จิตของผู้นั้นย่อมมีพลัง จิตของผู้ใดมีพลังแล้วย่อมสามารถกระทำการใด ๆ ที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากการกระทำของคนสามัญธรรมดาทั้งหลายได้

คัดลอกโดย huayhik จากหนังสือ : คำสั่งสอนอบรมของสมเด็จท่านพระพุฒาจารย์ (โต พหรมรังสี)

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

60: มนุษย์เกิดจากอะไร, เพื่ออะไร? ทำไมมนุษย์เกิดมาไม่เหมือนกัน

มนุษย์เกิดจากอะไร, เพื่ออะไร? ทำไมมนุษย์เกิดมาไม่เหมือนกัน
(บทความจากพลังจิต)

คนเราบางคนอาจไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดมาจากอะไร ?และเพื่ออะไร ? ถ้าหากยังมีความสงสัยเช่นว่านี้อยู่ก็จะทำให้ฐานชีวิตหนักแน่นมั่นคงในทาง ธรรมหย่อนยานลงไป เพราะเกิดจากศรัทธาครึ่ง ๆ กลาง ๆ นั้นเอง เพราะถ้ารู้จุดมุ่งหมายและความมุ่งหวังที่แท้จริงแล้ว คงจะกระเตื้องขึ้นกว่านี้หลายเท่าตัว

ทำไม ?คนเราต้องเกิด เกิดมาเพื่ออะไร ? ปัญหาเช่นนี้นอกจากเราจะมาพิจารณาด้วยเหตุและผลแล้ว ยังต้องลงมือปฏิบัติในหลักการหรือเหตุผลนั้น ๆ ด้วย ทำนองเดียวกับการใช้ปัญญาหาเหตุผลของสรรพสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย แต่เหตุผลของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์เป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในตัวเสร็จ คือมีทั้งเหตุมีทั้งผลและพร้อมที่ท้าพิสูจน์ได้ทุกเมื่อ ทุกโอกาส เช่นการนั่งสมาธิแล้วเกิดมีญาณหยั่งรู้ เหล่าสัตว์ที่เป็นอทิสมานกาย เช่น ภูติ ผี ปีศาจหรือสัตว์นรก เป็นต้น ถ้ายังไม่ลงมือปฏิบัติให้ถูกหลักเกณฑ์ตามหลักที่ทรงวางไว้แล้วด่วนปฏิเสธว่า สิ่งดังกล่าวไม่มีไม่ได้ พระพุทธเจ้าพระองค์รู้ดีกว่าใคร ๆ ทั่วไตรโลกธาตุ จึงประมวลเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายว่าเกิดจากอะไร อะไรเป็นต้นเหตุ ?แล้วจะหาหนทางดับเหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อนมันได้อย่างไร ? นี้เป็นสิ่งที่มวลพุทธบริษัทจะต้องใคร่คิดพิจารณา

สัตว์โลกทั้งหลายเกิดจากอำนาจของกุศลกรรมและอกุศลกรรม ตราบใดที่ยังมีกรรมทั้งสองนี้อยู่ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายก็เวียนว่านตายเกิดอยู่ตราบนั้น แต่ถ้าปฏิบัติในทางที่เป็นอกุศล คือ ความชั่วก็นับวันแต่จะเพิ่มภพเพิ่มชาติให้แก่ตนและบุคคลอื่น โดยมีความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นผลอย่างไม่มีวันสิ้นสุดแต่ถ้าประพฤติปฏิบัติในทางกุศลกรรม คือทางบุญกุศล เราก็จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ มีสวรรค์ พรหม นิพพาน เป็นที่ไปแต่การที่เราจะไปถึงจุดมุ่งหมายปลายทางที่สงบสุขและสูงที่สุด ของอมตะธรรมได้นั้น เราจะต้องเริ่มปูหนทางตั้งแต่ การให้ทานการรักษาศีล การเจริญสมาธิภาวนา เพื่อเกิดปัญญาญาณ จนรู้แจ้งแทงตลอดในพระอริยสัจธรรมของพระพุทธเจ้า จึงจะพ้นทุกข์ได้นี้คือจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ เพื่อทำที่สุดของความทุกข์ให้แจ้งนั้นเอง ทุกคนเกิดขึ้นมาไม่ปรารถนาความทุกข์ แต่ก็ได้รับทุกข์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรารถนา มันเป็นเพราะอะไร ? ความหมายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า คือ ให้พ้นทุกข์ด้วยการปฏิบัติธรรมดังกล่าว จึงจะพ้นจากทกข์ได้ ใครจะปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติไม่สำคัญ พระพุทธองค์ไม่ได้อนาทรร้อนพระหฤทัยแต่อย่างใด ใครอยากพ้นทุกข์ก็เร่งปฏิบัติตามที่พระองค์ตรัสไว้ ส่วนการปฏิบัติเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำด้วยตนของตนเองจะให้คนอื่นทำให้ได้ อย่างไร อยากจะมีความทุกข์ต่อภพต่อซาติต่อไปอีก ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ทาน ศีล สมาธิ ภาวนา ถ้าถือเป็นเรื่องไร้สาระก็อย่าไปสนใจเลย แต่เวลาได้รับทุกขเวทนาจากกรรมชั่วของตนก่อไว้ ก็อย่าไปโทษใครเขาก็แล้วกัน อย่าถือโทษโกรธเคืองเทวดาฟ้าดินที่ไหน ต้องโทษตัวของเราเองที่เลินเล่อมัวเมาประมาท ทานไม่ให้ ศีลไม่รักษา ภาวนาไม่ทำ จึงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับโลกเช่นนี้

สรุปแล้วคนเราไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ล้วนเกิดมาแต่อำนาจของกรรมทั้งสิ้น จึงขอน้อมเอาจูฬกัมมวิภังคสูตรที่มีมาในพระไตรปิฎก เป็นพระสูตร ว่าด้วยการทำกรรมของสัตว์โลกและผลของกรรมที่ได้รับแต่ละอย่างเพื่อเป็น เครื่องอ้างอิงว่า คนเราทำอะไรไว้อย่างไร ก็จะได้รับอย่างนั้น และเพื่อเป็นการเน้นถึงผลบาปบุญของสัตว์ที่ทำ อันเป็นตัวแปร และเป็นปัจจัยให้สัตว์โลกต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ถ้าเรารู้ว่าสิ่งไหนไม่ดีก็ลดสิ่งนั้น ถ้าสิ่งไหนดีก็เพิ่มสิ่งนั้น และแล้วก็จะได้ผลแห่งความดีที่เราปฏิบัติอย่างแน่นอน

จูฬกัมมวิภังคสูตรเหต(ุเป็นปัจจัยให้มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาไม่เหมือนกัน)

ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ที่เชตวนารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นสุภมาณพบุตรของโตเทยยพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กล่าวสัมโมทนียกถากับพระผู้มีพระภาคเจ้า และได้นั่งอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วเขาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาไม่เหมือนกัน" มนุษย์บางพวกมีอายุน้อย บางพวกมีอายุยืนบางพวกมีโรคน้อย บางพวกมีโรคมาก บางพวกมีผิวพรรณทรามบางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกมีศักดิ์น้อย บางพวกมีศักดิ์มากบางพวกมีโภคสมบัติน้อย บางพวกมีโภคสมบัติมาก บางพวกมีตระกูลต่ำ บางพวกมีตระกูลสูง บางพวกมีปัญญาน้อย บางพวกมีปัญญามาก

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุปัจจัยให้มนุษย์เกิดมา บางพวกก็เลว บางพวกก็ดี เช่นนี้ พระพุทธเจ้าข้า ?องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมโลกเชฏฐ์ จึงได้ตรัสตอบไปว่า

"ดูก่อนมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึงอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต"

"ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้อความที่พระองค์ทรงแสดงยังย่อนัก ยังไม่ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ถ้าพระองค์ยังไม่ทราบเนื้อความโดยละเอียค สาธุ! ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญขอพระองค์จงทรงแสดงธรรม โดยวิธีที่จะทำให้ข้าพระองค์ทราบเนื้อความโดยละเอียด"

"ดูก่อนมาณพ ถ้าเช่นนั้น ท่าจงมีมนสิการให้ดี เราจักแสดง! เมื่อสุภมาณพได้รับสนองพระโอษฐ์แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า"

เหตุที่ทำให้อายุสั้น

ดูก่อนมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติฆ่าสัตว์ เป็นคนโหดร้ายมีมือเปื้อนด้วยเลือด ดำรงอยู่ในการประหัตประหารไม่เอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย บุคคลนั้น เมื่อกายแตกทำลายตายไปแล้วด้วยบาปกรรมที่ประพฤติเสมอมาเช่นนั้น ย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติวินิบาต นรก ถ้าหากว่าไม่เข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก มาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นผู้มีอายุสั้น

เหตุที่ทำให้อายุยืนยาวนาน

ดูก่อนมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นหญิงก็ตามชายก็ตาม เป็นผู้ละเว้นจากปาณาติบาตได้ เป็นผู้เก็บท่อนไม้เก็บศัสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู เป็นผู้เกื้อกูล อนุเคราะห์ในสัตว์ทั้งปวง บุคคลผู้นั้นเมื่อถึงคราวตายเพราะกายแตก ด้วยกรรมดีที่ประพฤติมานานเช่นนั้น ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ถ้าหากไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นผู้มีอายุยืนยาวนาน

เหตุที่ทำให้คนมีโรคภัยไข้เจ็บมาก

ดูก่อนมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ ซึ่งจะเป็นหญิงก็ตามชายก็ตาม เป็นผู้มีนิสัยเบียดเบียนสต์ว์ทั้งหลายด้วยมือหรือด้วยท่อนไม้ หรือด้วยศัสตรา บุคคลนั้นเมื่อถึงคราวตายเพราะกายแตกด้วยกรรมที่ตนเองประพฤติมาเป็นนิจเช่น นั้น ย่อมเข้าถึง อบายทุคติ วินิบาต นรก ถ้าหากไม่เข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรกมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเป็นผู้มีโรคภัยไข้เจ็บมาก

เหตุที่ทำให้คนมีโรคภัยไข้เจ็บน้อย

ดูก่อนมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ ซึ่งจะเป็นหญิงก็ตามชายก็ตาม ไม่มีนิสัยเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยมือ ด้วยไม้หรือด้วยศัสตรา บุคคลนั้นเมื่อถึงคราวตายเพราะกายแตก ด้วยกรรมที่ตัวเองประพฤติมาเป็นนิจเช่นนั้น ก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ถ้าหากไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเป็นผู้มีโรคน้อย

เหตุที่ทำให้ผิวพรรณทราม

ดูก่อนมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นหญิงก็ตามชายก็ตาม เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ไม่ถูกว่าเพียงเล็กน้อย ก็ด่าแช่งเขาเสียอย่างมาก โกรธ พยาบาท มีใจกระด้างเกิดความโกรธและโทสะโดยไม่มีเหตุผล บุคคลนั้นเมื่อถึงคราวตายเพราะกายแตก ด้วยกรรมที่ตนเองประพฤติมาเป็นนิจเช่นนั้นย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้าหากไม่เข้าถึง อบาย ฯลฯนรก เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม (ขี้ริ้วขี้เหร่ไม่สวย เหตุที่ทำให้เป็นคนรูปงาม

ดูก่อนมาณพ บุคคลบางคนในโลกนั้นเป็นหญิงก็ตามเป็นชายก็ตาม ไม่มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้นใจ แม้ถูกเขาว่าอย่างมาก ก็ไม่ด่าตอบ ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่มีใจกระด้างไม่แสดงความโกรธ และโทสะ และความไม่มีเหตุผล บุคคลนั้นเมื่อถึงคราวตายเพราะกายแตก ด้วยกรรมที่ตัวเองประพฤติมาเป็นนิจเช่นนั้น ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้าหากไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเป็นผู้มีรูปงามน่าเลื่อมใส

เหตุที่ทำให้เป็นคนต่ำศักดิ์

ดูก่อนมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ มีใจริษยาในลาภสักการะ การเคารพ การนับถือ การไหว้ การบูชาฯ ของคนอื่นมีใจคิดประทุษร้าย อยากให้สิ่งที่เขามีเขาได้พินาศไป บุคคลนั้นเมื่อถึงคราวตาย เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงที่ซึ่งอบาย ทุคติ วินิบาตนรกฯ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ จะเกิดเป็นมนุษย์ผู้มีศักดิ์น้อย เกิดในตระกูลต่ำ

เหตุที่ทำให้สูงศักดิ์มีอำนาจวาสนา

ดูก่อนมาณพ คนบางคนในโลกนี้ฯ ไม่มีใจริษยา ในลาภสักการะ การเคารพ กับนับถือ การไหว้ การบูชา ของคนอื่นไม่คิดประทุษร้าย ไม่อยากให้เขาพินาศ บุคคลนั้นเมื่อถึงคราวตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงซึ่งสุคติโลกสวรรค์ ถ้าไม่ถึงสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเป็นผู้สูงศักดิ์ (มีอำนาจวาสนา)

เหตุที่ทำให้ยากจนและร่ำรวย

ดูก่อนมาณพ หญิงหรือชายบางคนในโลกนี้ ไม่ให้ข้าวน้ำ เสื้อผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องนอนแก่สมณะหรือพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อถึงคราวตายย่อมเข้าถึง อบายทุคติ วินิบาต นรก หากไม่เข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เมื่อมาเกิดเป็นมุษย์ ย่อมเป็นมนุษย์ที่มีโภคสมบัติน้อย (เป็นคนยากจนแต่บางคนให้ทานด้วยสิ่งเหล่านี้แก่สมณะหรือพราหมณ์ เมื่อถึงคราวตาย เพราะกายแตก ย่อมถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้าไม่ถึงสุคติโลกสวรรค์เวลามาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นผู้มีโภคสมบัติมาก(ไม่ยากจนข้นแค้น)

เหตุที่ทำให้เกิดในตระกูลต่ำ - ตระกูลสูง

ดูก่อนมาณพ หญิงหรือชายบางคนในโลกนี้ เป็นคนกระด้างถือตัวจัด ไม่กราบไหว้บุคคลที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกขึ้นยืนรับคนที่ควรลุกขึ้นยืนรับ ไม่ให้อาสนะแก่บุคคลที่ควรให้อาสนะ ไม่ให้ทานแก่บุคคลที่ควรให้ทาน ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชาบุคคลนั้นเมื่อถึงคราวตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงซึ่ง อบายทุคติ วินิบาต นรก ถ้าไม่เข้าถึงอบาย ฯลฯ ย่อมเกิดมาเป็นผู้มีตระกูลต่ำ แต่บุคคลที่ไม่กระด้าง ไม่ถือตัวจัด กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ฯลฯ นับถือบุคคลที่ควรนับถือ บูชาบุคคลที่ควรบูชาเมื่อถึงคราวตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดมาเป็นผู้มีตระกูลสูง

เหตุที่ทำให้เป็นคนโง่หรือฉลาด

ดูก่อนมาณพ หญิงหรือชายบางคนในโลกนี้ ไม่เข้าหาสมณะหรือพราหมณ์ ไม่ไต่ถามว่าอะไรเป็นกุศล อะไรมีโทษอะไรไม่มีโทษ อะไรควรประพฤติ อะไรไม่ควรประพฤติ อะไรที่ทำลงไป ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่มีประโยชน์ เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน หรืออะไรที่ทำลงไปย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลนั้นเมื่อตายไปแล้ว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงซึ่งอบายฯลฯ หากไม่เข้าถึงอบาย ฯลฯ มาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดมาเป็นผู้มีปัญญาทรามฯ แต่บางคนเข้าไปไต่ถามสมณะ หรือพราหมณ์ว่าอะไรเป็นกุศลหรืออกุศล ฯลฯ เมื่อกายแตกทำลายตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเกิดมาเป็นผู้มีปัญญามาก

ดูก่อนมาณพ

ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีอายุน้อยก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีอายุน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีอายุยืน ก็นำไปสู่ความเป็นผู้ที่มีอายุยืน ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีอาพาธมาก ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีอาพาธมาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีอาพาธน้อย ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีผิวพรรณ ทราม ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีผิวพรรณทราม

ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีผิวพรรณน่าเลื่อมใส ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีผิวพรรนน่าเลื่อมใส
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีศักดิ์น้อย ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีศักดิ์น้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่ ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่ ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีโภคะน้อย ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีโภคะน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีตระกูลต่ำ ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีตระกูลต่ำ
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีตระกูลสูง ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีตระกูลสูง ปฏิปทาที่เป็นไป เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาทราม ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีปัญญาทราม
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีปัญญามาก

ดูก่อนมานพ สัตว์ทั้งหลายย่อมมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวและประณีตดังนี้แล

จากพระพุทธดำรัส ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุผลต่าง ๆที่มาในจูฬกัมมวิภังคสูตรนื้ แสดงให้เป็นว่ามนุษย์เราจะขึ้นสูงหรือลงต่ำ ก็ล้วนมีพื้นฐานมาจากบุญบารมี คือ คุณงามความดีนั่นเอง แม้แต่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงบำเพ็ญตั้งแต่การบริจาคทาน เป็นต้นไป จนบารมีธรรมทั้งสิบประการสมบูรณ์บริบูรณ์ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

เหตุผลการให้ทาน ให้ทานเพื่ออะไร

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าทานบารมีนั้น เป็นธรรมเบื้องแรกที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดบารมีธรรมอื่น ๆ อีก เช่น ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นต้น ดังนั้นพระองค์จึงจัดทานไว้เป็นเบื้องแรก ถ้าจะถามหาเหตุผลทำไมถึงบริจาคทาน ก็ตอบได้ว่าเพื่อบุญกุศล เป็นความสุขทางใจ ซึ่งตรงกันข้ามก้บการทำบาป เป็นทุกข์ทางใจ อีกอย่างเมื่อเมธีชนมาน้อมระลึกตามพระสัทธรรม คำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัส ไว้ว่า ทรัพย์สมบัติเป็นของไม่จีรังยั่งยืน ไม่นานเราต้องพลัดพรากจากมันไป ไม่ใช่สมบัติที่ถาวร อันเป็นของโลกีย์วิสัยอยู่ ควรที่จะสร้างอริยทรัพย์ไว้ภายในดวงใจ ซึ่งเป็นทรัพย์อันประเสริฐ ติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เมื่อเราได้ถืออัตภาพเป็นมนุษย์ อัตภาพนี้ก็ไม่จีรังถาวรอะไร มีความเกิด ขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง คร่ำคร่าผุพังดับสลายไปในที่สุด จึงทำทานเพื่อเป็นการอนุเคราะห์ให้แก่สัตว์เดียรฉาน คนยากคนจน ถือว่าเป็นสัตว์ร่วมเกิด ร่วมแก่ร่วมเจ็บ และร่วมตายกันมาทั้งหมด จึงจัดเข้าในบทพุทธภาษิตที่ตรัสว่า "โลโกปตฺถมฺภิกาเมตฺตา" เมตตาธรรมเป็นธรรมค้ำจุนโลกถ้าคนเราขาดเมตตาเสียแล้ว คิดดูเถิดโลกเราจะเป็นเท่าไร ไม่มีการอนุเคราะห์สงเคราะห์กันเลย คนที่ตกต่ำ ก็ต่ำอยู่เช่นนั้นตลอดกาล อย่างนี้เป็นต้น

อีกอย่าง เราให้ทานเมื่อเป็นการบูชาคุณ ผู้มีอุปการคุณเช่น คุณบิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือพระพุทธเจ้าพระอรหันตสาวกทั้งหลายฯ การที่เราตอบสนองคุณเช่นนี้ ถือว่าเป็นผู้มีความดีอยู่ในจิตใจ คนที่ไม่มีคุณงามความดีฝังอยู่ในจิตใจแล้วจะใฝ่ถึงการบรรลุธรรมชั้นสูงก็ เป็นการยาก เราทำบุญอุทิศให้คุณบิดามารดา เพราะท่านเคยอุปการะมาก่อน เราทำทานในเขตพระพุทธศาสนา เพราะมาเห็นว่าพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมพระสงฆ์ สอนบุคคลให้ละชั่วประพฤติดี ถ้าเราไม่ได้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นประทีปส่องแสงดวงปัญญาของ เราแล้ว เราจะรู้จักผิดถูกชั่วดีได้อย่างไร เมื่อไม่มีคุณธรรมไร้ความดี ก็มีแต่จะหมุนไปสู่ความเลวทราม คือ ความหายนะจนกระทั่งตกไปสู่อบายภูมิในที่สุด พระคุณของพระพุทธเจ้าหรือครูอาจารย์ที่แนะนำสั่งสอนมาจึงมากอย่างนี้

ประการสุดท้าย เราให้ทานเพื่อกำจัดมัจฉริยะคือ ความตระหนี่ถี่เหนียวออกไปจากดวงจิตดวงใจของเรา แล้วรีบปฎิบัติธรรมเพื่อความไม่มีทุกข์ เพราะทานบารมีเป็นสมบัติติดตัวอย่างหนึ่งของความเป็นพระอริยบุคคล จะทำให้มองเห็นโทษทุกข์ในกองสังขารทั้งหลาย แม้กระทั่งร่างกายที่ว่าเป็นของ ๆ เราแท้ ๆ ก็ยังแปรสลาย จะกล่าวไปไย ทรัพย์สมบัติภายนอกอันเป็นของนอกกายอันได้แก่ แก้ว แหวน เงินทองทั้งมวล เมื่อจิตเห็นความเป็นจริงอย่างนี้ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทในธรรม เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทในธรรมก็จะบรรลุถึงคุณธรรมในที่สุด เป็นการตัดภพตัดชาติต่อไป เพราะถ้าเกิดอีกก็ต้องทุกข์ทรมานต่อไปอีก ชาติคือความเกิดชรา คือความแก่ พยาธิ คือความเจ็บไข้ไม่สบาย มรณะความตายโสกะ ความเศร้าโศก ปริเทวะ ความบ่นเพ้อพิไรรำพัน ทุกขะเป็นทุกข์ โทมนัส ความเสียใจน้อยใจ อุปายาส ความคับแค้นใจน้อยอกน้อยใจ สัมปโยคะ ประสบกับสิ่งที่น่าเกลียดชัง ได้แก่อนิฏฐารมณ์, วิปโยคะ พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจและอลาภะ ไม่ได้ในสิ่งที่ตนต้องการคือความผิดหวัง และไม่สมหวังดังใจปรารถนา ทั้งหมดนี้พระพุทธเจ้าจัดว่าเป็นตัวทุกข์ถัามัวเมา ในการเกิดอีกก็ทุกข์อย่างนี้อีก เหตุดังนั้นจงเร่งทาน ศีลสมาธิ ปัญญา ให้มากเข้า เพื่อความเป็นผู้ไม่มีทุกข์นั่นเอง

อานิสงส์ของทานบารมี

ผู้บำเพ็ญซึ่งทานบารมีมาตลอด ย่อมมีปีติธรรมเกิดในดวงใจตลอดเวลาที่คิดและนึกถึง มีความปลื้มใจสุขใจ ทำให้ดวงใจมีพลังบุญอุดหนุน เป็นกำลังสำคัญในอันที่จะตัดกระแสของอกุศลซึ่งเรียกว่ามารมิให้มาคอยรังควาญ กระแสบุญของเราได้ นอกจากนั้นองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ก็ได้ตรัสสนับสนุนว่า "ผู้ให้ในสิ่งที่น่าพอใจ ย่อมได้รับในสิ่งที่น่าพอใจ ผู้ให้ในสิ่งที่ประเสริฐหรือเลิศ ก็ได้รับในสิ่งที่ประเสริฐ และมีผลเลิศตาม" เป็นผู้มีอายุยืนยาวนาน มียศถาบรรดาศักดิ์ในภพที่เกิดนั้น ๆ

และแล้วได้ทรงตรัสอานิสงส์ของผู้บำเพ็ญทานไว้ดังนี้ คือ ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของคนเป็นอันมาก สัตบุรุษ (คือคนดีมีศีลธรรม) ย่อมคบค้าสมาคมด้วย มีเกียรติศัพท์ (แห่งคุณงามความดี) ฟุ้งขจรไปในทิศทั้งสี่ เวลาเข้าสู่ประชุมชนมีความสง่าองอาจไม่เก้อเขิน เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมถึงคติโลกสวรรค์ อานิสงส์ของผู้ให้ทานจึงเห็นอานิสงส์ปานนี้


นักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จึงทรงสรรเสริญทานบารมีว่าเป็นยอด และเป็นพื้นฐานธรรมเบื้องแรกที่จะทำให้ ศีลบารมี, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ,อธิษฐาน, เมตตา และอุเบกขา บารมีให้เต็มสมบูรณ์บริบูรณ์เพราะทานบารมีมีความสำคัญต่อบารมีข้ออื่น ๆ ท่านจึงจัดความสำคัญไว้เป็นคุณธรรมเรื่องแรก ในอันที่จะไต่เต้าขึ้นสู่ธรรมะเบื้องสูงต่อไป เมื่อเราเป็นผู้มีธรรมะก็เรียกว่าเป็นผู้มีบุญบารมีอานิสงส์ของการมีบุญญา บารมี จะทำให้เกิดอานุภาพ มีอภินิหาริย์ถึงพร้อมด้วยสิริสมบัติ มากไปด้วยวาสนา คนที่มีวาสนา ก็คือผู้มีบุญ เวลาเกิดขึ้นมาก็สมบูรณ์ทุกอย่าง มีอวัยวะครบถ้วนทั้งสามสิบสองประการ ไม่เป็นคนมีอวัยวะไม่สมประกอบ มากไปด้วยโภคสมบัติ บริวารสมบัติ ดังนั้นผู้ที่เกิดมาแล้ว เป็นผู้มากด้วยบุญบารมี ไม่อาภัพอับโชค ก็เพราะอานิสงส์ที่ทำคุณงามความดีนั่นเอง ผู้ที่มีบุญบารมีในนิธิกัณฑสูตร ท่านจึงกล่าวให้ความสำเร็จถึงสิบเก้าประการ คือ สุวณฺณตา มีผิวพรรณงาม, สุสรตา มีเสียงไพเราะ, สุสณฺฐานํ มีทรวดทรงสมส่วน, สุรูปตา มีรูปร่างดี,อาธิปจฺจยํ ความเป็นใหญ่ยิ่ง, ปริวาโร มีคนห้อมล้อมเป็นบริวาร,ปเทสรชฺชํ เป็นพระราชาในประเทศ, อิสฺสริยํ ความเป็นอิสระ,จกฺกวตฺติสุขํ สุขของพระเจ้าจักรพรรดิ, เทวรชฺชํ เป็นเทวราช,ในหมู่ทวยเทพ, มนุสฺสสมฺปตฺติ ได้สมบัติในมนุษย์, (ทุกอย่างที่ตั้งใจปรารถนา) สคฺคสมุปตฺติ ได้สมบัติในสวรรค์, นิพฺพานสมฺปตฺติสมบัติคือ พระนิพพาน, วิชฺชาวิมุตฺติวสีภาโว เป็นผู้ชำนาญในวิชาและวิมุตติ, ปฏิสมฺภิทา ความแตกฉาน, วิโมกฺขา ความหลุดพ้น,สาวกปารมี บารมีให้สำเร็จสาวกภูมิ, ปจฺเจกโพธิ พระโพธิญาณให้สำเร็จปัจเจกภูมิ, พุทฺธภูมิ พระสัพพัญญุตญาณให้สำเร็จพุทธภูมิ(คือความเป็นพระพุทธเจ้า)

เหตุดังนั้น ผู้มีบุญบารมีเท่านั้น จึงจะทำให้คนเราสำเร็จกิจแห่งความปรารถนาทุกอย่าง ชีวิตมนุษย์เราจะขึ้นสูงหรือไปต่ำก็อยู่ที่ฐานบุญบารมีนี้เอง ขออย่าได้พากันประมาทเถิด ชีวิตจะได้ล้ำเลิศในภายหลัง ขอความสุขความสมหวังจงมีแก่ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตลอดกาล นาน

ศีลสมาธิ ปัญญา ทั้งสามอย่าง เป็นเพียงทาง มิใช่ตัว ศาสนา เหมือนดั่งทาง นอกวัด ตัดเข้ามา เพื่อบ่ายหน้า สู่ป่าพง สังฆาราม