วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

67: พรธรรมะจากพระป่า

  • คนเรา คลุกคลีอยู่กับสิ่งใด ย่อมรัก และชอบใจในสิ่งนั้น
  • คนเรา คลุกคลีอยู่กับสิ่งใด ย่อมไม่ชอบใจ และเบื่อหน่ายในสิ่งนั้น
  • คนเรา คลุกคลีอยู่กับสิ่งใด ย่อมเข้าใจ และปล่อยวางได้ในทุกสิ่งอย่างนั้น
  • ขอให้ทุกท่านจงเข้าใจ (รู้แจ้ง) และปล่อยวางได้ในทุกสิ่งอย่างนั้น (โดยปัญญาอันชอบ) ทุกท่านเทอญ

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

66: ธรรมบรรยาย…จิตบรรลุนิพพาน

ธรรมบรรยาย…จิตบรรลุนิพพาน
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

บัดนี้ จะแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่าน ตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติแสดงธรรมะ ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้เอง
ไม่ได้ตรัสแสดงบัญญัติธรรมะในที่อื่น

ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่โรหิตัสสะเทพบุตร ว่าเราบัญญัติโลก
บัญญัติโลกสมุทัยเหตุให้เกิดโลก
โลกนิโรธความดับโลก
โลกนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้

และพระองค์ได้ทรงถึงที่สุดโลกแล้ว จึงทรงสิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง
โดยที่โรหิตัสสะเทวะบุตรได้เกิดขึ้นในชาติภพคราวหนึ่ง เป็นผู้ที่มีฤทธิมาก
สามารถเหาะไปได้รวดเร็วมาก จึงต้องการที่จะพบที่สุดโลกว่าอยู่ที่ไหน

เพราะเมื่อยืนอยู่บนพื้นพิภพ คือโลกนี้ ก็เห็นพื้นพิภพนี้กว้างใหญ่ไพศาล แต่ก็น่าจะมีที่สุด
จึงได้เหาะไปอย่างรวดเร็ว เพื่อจะหาที่สุดของพื้นพิภพคือโลกนี้ แต่ก็หาไม่พบ ต้องสิ้นชีวิตเสียก่อน
ฉะนั้นเมื่อมาเกิดเป็นเทพบุตร จึงได้มากราบทูลถามพระพุทธเจ้า
ว่าได้ทรงพบที่สุดโลกแล้วหรือยัง และที่สุดโลกนั้นอยู่ที่ไหน

พระองค์จึงตรัสตอบว่าที่สุดโลกนั้นได้ทรงบรรลุถึงแล้ว แต่ว่าไม่อาจที่จะถึงด้วยการไปทางกายได้
ดังที่โรหิตะเทพบุตรเมื่อครั้งเกิดเป็นผู้ที่มีฤทธิ์มากนั้น ได้เหาะไปค้นหา
และก็ได้ตรัสน้อมเข้ามาถึงโลกในภายใน ว่าได้ทรงบัญญัติโลกในภายใน ดังที่ได้แสดงแล้วนั้น
คือภายในกาย มีสัญญามีใจนี้เอง

และก็ได้ทรงบัญญัติทั้งเหตุเกิดโลก ทั้งความดับโลก ทั้งทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก
เพราะฉะนั้น ได้ตรัสรู้ทั้ง ๔ นี้ และได้ทรงปฏิบัติถึงความดับโลกแล้ว เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงถึงที่สุดโลก
ถ้ายังปฏิบัติให้ถึงความดับโลกมิได้ ก็ยังไม่ถึงที่สุดโลก ต้องเกิดต่อไป

เพราะฉะนั้นโลกที่ทรงบัญญัติดั่งกล่าวนี้โดยตรง จึงเป็นขันธ์โลก โลกคือขันธ์ ที่ตรัสไว้เป็น ๕

รูปขันธ์ กองรูป คือสิ่งที่แข้นแข็งอันมีอยู่ในกายนี้ สิ่งที่เอิบอาบเหลวไหลอันมีอยู่ในกายนี้
สิ่งที่อบอุ่นอันมีอยู่ในกายนี้ สิ่งที่พัดไหวอันมีอยู่ในกายนี้ ก็คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
อันรวมกันเข้าเป็นก้อนรูปกายอันนี้ ที่ทุกคนมีอยู่นี้เองเป็นรูปขันธ์ กองรูป

เวทนาขันธ์ กองเวทนา ก็คือ ความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข
ทางกายทางใจ ที่ทุกคนมีอยู่นี้เอง

สัญญาขันธ์ กองสัญญา คือความจำได้หมายรู้ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ จำธรรมะ
คือเรื่องราวทางใจ ที่ใจคิดนึก ดำริ หมกมุ่นถึงทุกอย่าง ความจำได้หมายรู้นี้รวมเป็นสัญญาขันธ์กองสัญญา

สังขารขันธ์ กองสังขาร ก็คือความคิดปรุง หรือความปรุงคิด รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง
และเรื่องราวที่ใจคิดนึกรู้ต่างๆ ปรุงคิดหรือคิดปรุง ดีบ้างไม่ดีบ้าง เป็นกลางๆบ้าง รวมเข้าก็เป็นสังขารขันธ์
กองสังขาร ซึ่งคำว่าสังขารในขันธ์ ๕ นี้หมายถึงความคิดปรุงหรือความปรุงคิดทางจิตใจ

วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ คือความรู้ทางตาในเมื่อตากับรูปประจวบกัน ที่เราเรียกว่าเห็น
ความรู้ทางหูเมื่อหูกับเสียงประจวบกัน ที่เราเรียกว่าได้ยิน
ความรู้ทางจมูกในเมื่อจมูกกับกลิ่นได้ประจวบกัน ที่เราเรียกว่าทราบกลิ่น หรือดม
ความรู้ทางลิ้นในเมื่อลิ้นกับรสประจวบกัน ที่เราเรียกว่าลิ้มรส หรือทราบรส
ความรู้ทางกายในเมื่อกายและสิ่งที่ถูกต้องกายมาประจวบกัน ที่เราเรียกว่าถูกต้องหรือทราบสิ่งที่กายถูกต้อง
ความรู้ในเมื่อมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวมาประจวบกัน ที่เราเรียกว่ารู้บ้างคิดบ้างก็รวมเป็นวิญญาณขันธ์
กองวิญญาณ คือ ความรู้ทางอายตนะ เมื่ออายตนะภายในและภายนอกที่คู่กัน มาประจวบกัน ดังกล่าวนี้
ก็คือ โลก ขันธ์โลก โลกคือขันธ์ ย่อเข้าก็เป็นนามรูป

รูปก็เป็นรูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็เป็นนาม
และที่เรียกว่ารูปนั้น ก็เพราะเป็นสิ่งที่ย่อยยับไปได้ สลายไปได้
ที่เรียกว่านามนั้น ก็เพราะเป็นสิ่งที่น้อมไป คือน้อมไปรู้ดังกล่าว
หากจะถามว่าเป็นความน้อมไปรู้ของใคร หรือของอะไร ที่เป็นนามนั้น
ก็ตอบว่าของจิตนี้เอง

คือทุกคนที่ดำรงชีวิตอยู่นี้มีกายและจิตประกอบกันอยู่ จึงเป็นกายที่มีชีวิต
ในเมื่อดับจิต จิตพรากออกไปเสียแล้ว กายนี้ก็สิ้นชีวิตกลายเป็นศพ
เพราะฉะนั้น ความมีชีวิตดำรงอยู่ ก็เพราะมีกายและจิตประกอบกันอยู่
และกายนี้เองที่เป็นรูปกาย ก็ประกอบด้วยธาตุทั้งหลายดังกล่าว และมีจิตเข้าประกอบจึงรู้อะไรได้
เพราะจิตนี้เป็นธรรมชาติที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ ธาตรู้ รู้อะไรได้
เป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้ และเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง
เพราะฉะนั้นจิตนี้เองจึงเป็นธรรมชาติอันสำคัญ อันมีอยู่ในทุกๆคน
ท่านเปรียบร่างกายเหมือนอย่างเรือ จิตเหมือนอย่างคนพายเรือ
อีกอย่างหนึ่งร่างกายเหมือนอย่างบ่าวหรือคนรับใช้ จิตเหมือนอย่างนายคือผู้ใช้
เพราะฉะนั้นจิตจึงมีความสำคัญมาก

จนถึงพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในหมวดธรรมะที่มี ๑ ข้อ จิตก็เป็นธรรมชาติที่มี ๑ ข้อ
หรือเป็นหนึ่งอยู่ในทุกๆคน และก็ตรัสสอนเอาไว้ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง
และได้ตรัสว่าเมื่อถูกอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรมา ก็ทำให้จิตนี้เศร้าหมองไป

แต่ว่าเมื่อปฏิบัติในจิตตภาวนาคือการอบรมจิต ก็จะวิมุติ คือหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามานั้นได้
และจิตก็ปภัสสรคือผุดผ่อง เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในจิตตภาวนาอบรมจิต จึงเป็นไปดังที่พระพุทธเจ้า
ได้ตรัสสอนเอาไว้นี้ และที่จิตเป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้นั้น ก็น้อมไปได้ทางอายตนะที่มีอยู่ที่กาย
เพื่อรู้ทางอายตนะนั้นเอง ซึ่งมีเป็นปรกติธรรมดา เพราะว่าจิตนี้เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้

ข้อที่ว่าเป็นวิญญาณธาตุนี้ ก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ ว่าบุรุษนี้ อันหมายถึงว่าบุคคลชายหญิง
ทุกคนนี้มีธาตุ ๖ ประกอบกันอยู่ คือ
ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ได้แก่สิ่งที่แข้นแข็ง
อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ได้แก่สิ่งที่เอิบอาบเหลวไหล
เตโชธาตุ ธาตุไฟ ได้แก่สิ่งที่อบอุ่น เร่าร้อน
วาโยธาตุ ธาตุลม ได้แก่สิ่งที่พัดไหว ตลอดถึงลมหายใจเข้าออก
อากาสธาตุ ธาตุอากาศ คือช่องว่าง อันได้แก่ช่องว่างทั้งหลายบรรดาที่มีอยู่ในร่างกายอันนี้
และวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ คือธรรมชาติที่รู้อะไรๆได้ ก็คือจิตนี้เอง

เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นธาตุรู้นี้ จึงน้อมไปรู้รูปทางตา เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก รสทางลิ้น
โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องทางกาย และเรื่องราวอะไรทั้งหลายทางมโนคือใจ
คือมโนอันเป็นข้อที่ ๖ นี้ อาจจะแสดงเป็นนามธรรมก็ได้ อาจจะแสดงเป็นรูปธรรมก็ได้
เมื่อเป็นรูปธรรมแล้ว ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาซึ่งมีความรู้ถึงวิทยาในปัจจุบัน
จึงได้ชี้เอามันสมองว่าเป็นตัวมโนที่เป็นรูปธรรม เพราะว่า จะต้องผ่านมันสมอง
จึงจะบังเกิดเป็นความรู้ความคิดต่างๆขึ้นได้

และที่เรียกว่ารู้รูปทางตา รู้เสียงทางหูเป็นต้นนั้น ตามวิทยาปัจจุบันก็แสดงว่ารูปเสียงเป็นต้น
ที่ผ่านจักขุประสาท โสตประสาทแล้ว ก็ต้องผ่านเข้าไปถึงมันสมอง
ในส่วนที่มีหน้าที่ให้รู้รูปคือเห็นรูป ในส่วนที่มีหน้าที่ให้รู้เสียงคือได้ยินเสียง
คือลำพังประสาททั้ง ๕ จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท
กายประสาท แต่อย่างเดียว ไม่อาจที่จะให้รู้รูปรู้เสียงรู้กลิ่นรู้รสรู้โผฏฐัพพะได้
ต้องผ่านเข้าไปถึงมันสมอง ในส่วนที่มีหน้าที่ให้รู้รูปรู้เสียงรู้กลิ่นรู้รสรู้โผฏฐัพพะ
จึงจะสำเร็จเป็นความรู้ขึ้นได้ ที่เราเรียกว่าเห็นรูปได้ยินเสียง
ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ และอันนี้เองคือตัวมโนที่เป็นรูปธรรม

จิตออกรู้อายตนะภายนอกทั้งหลาย ต้องอาศัยกายที่เป็นรูปธรรม
คือ ตา อันได้แก่ จักขุประสาท เป็นต้น ประกอบด้วยมโนที่เป็นรูปธรรมคือมันสมอง
จึงจะเป็นรู้ขึ้นได้ ที่เรียกว่าเห็นรูปได้ยินเสียงทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ
และก็สามารถที่จะอาศัยมโนที่เป็นรูปธรรมนี้คิดนึกดำริหมกมุ่นถึงเรื่องต่าง ๆ ได้
อาการที่จิตยังไม่น้อมไปไหน จะอยู่นิ่งเรียกกันว่าภวังคจิต

ภวังคะ แปลว่า องค์ของภพ จะเรียกว่าเป็นองค์ของภพชาติก็ได้
เพราะว่าที่เป็นภพเป็นชาติขึ้นนั้น ก็ต้องอาศัยกายและจิตอันนี้เอง
และในกายและจิตทั้งสองนี้ จิตเป็นสิ่งสำคัญ เป็นที่ตั้งของภพชาติ
เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่า ตัวภวังคะ คือองค์ของภพนี้ เป็นที่ตั้งของจิต
จิตอยู่ที่ภวังคะ คือ องค์ของภพชาติอันนี้
และเมื่อจิตอยู่เฉย ๆ ยังไม่น้อมออกรู้ ก็เรียกว่า ภวังคะจิต

ถ้าจะเปรียบเหมือนว่าเป็นคน อยู่ในบ้าน ๆ หนึ่ง
ซึ่งมีประตูชั้นนอก ๕ ประตู มีประตูชั้นใน ๑ ประตู
คือเป็นห้องที่มีฝาสองชั้น ฝาชั้นในมีประตูเดียว ฝาชั้นนอกมีห้าประตู
เมื่อบุคคลซึ่งอยู่ภายในห้องโดยปรกติธรรมดา ไม่ออกไปข้างไหน ไม่มีอะไรมาเรียก
ก็พักเฉยอยู่ในห้องนั้น เรียกว่า เป็นภวังคะจิต

คราวนี้ เมื่อมีใครมาเคาะประตู เช่นว่า เมื่อมีเสียงมากระทบกับหู
ก็เท่ากับว่าเสียงนั้นเองมาเคาะประตู คือมาเคาะโสตประสาท
และผ่านเข้าไปที่มโนซึ่งเป็นรูปธรรมชั้นในอันได้แก่สมอง ก็ไปกระทบถึงจิต
จิตก็ออกรับ คือออกไปทางมโน ซึ่งเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นประตูชั้นในนั้น
แล้วก็ออกไปทางประตูที่ถูกเคาะ คือทางหู ก็รู้เสียงได้ยินเสียง
อาการที่จิตน้อมออกไปดั่งนี้ ไปได้ยินเสียงขึ้นทีแรกก็เป็นวิญญาณก่อน เรียกว่าโสตวิญญาณ
และเมื่อเสียงกับโสตทวารคือประตูหู
และโสตวิญญาณที่เป็นตัวได้ยินเสียงนั้น รวมตัวกันเข้ามากระทบถึงจิตแรงขึ้น
ความรู้ของจิตคือที่น้อมไปรู้นั้นก็แรงขึ้น เป็นสัมผัสคือความกระทบ ก็เป็นความรู้กระทบ
เมื่อเป็นความรู้กระทบซึ่งเป็นสัมผัสดังนี้ ก็เป็นความรู้ที่แรงขึ้นอีก
เป็นรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข อันเรียกว่าเวทนา

และเมื่อเป็นเวทนา ก็เป็นสัญญาคือจำได้หมายรู้
จำสุข จำทุกข์ จำกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งจำรูปเสียงเป็นต้นที่มากระทบเป็นสัมผัส
อันเป็นเหตุให้เป็นทุกข์เป็นสุขเป็นกลางไม่ทุกข์ไม่สุขได้ เป็นสัญญา ก็เป็นรู้จำ
เมื่อเป็นรู้จำแล้ว ก็เป็นรู้ปรุงอันเรียกว่าสังขาร อันได้แก่เอาสิ่งที่รู้ทีแรก

สิ่งที่สัมผัส สิ่งที่เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางไม่ทุกข์ไม่สุขนั้นมาปรุงคิดหรือคิดปรุง
ก็เป็นสังขารคือรู้ รู้ปรุง ปรุงคิด ก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
และเมื่อถึงขั้นนี้ถ้าหยุดอยู่แค่นั้น จิตก็กลับเข้ามาสู่ห้องในใหม่ อันเรียกว่าภวังคะจิต
และเมื่อมีใครมาเคาะประตูอีกทางไหน ก็ออกไปทางนั้น น้อมออกไปทางนั้น
ก็เป็นวิญญาญ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร
แล้วก็กลับเข้ามาสู่ห้องในอีกเรียกว่าภวังคะจิต ท่านแสดงไว้ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น อาการที่จิตออกรับรู้สิ่งทั้งหลายภายนอกดังกล่าวนั้นจึงเป็นห้วงๆ
ได้ยินอะไรทีหนึ่งก็ออกไปรับรู้ทีหนึ่ง แล้วก็เข้ามาสู่ภวังค์ทีหนึ่ง
มีใครมาเคาะประตูอีกก็ออกไปรับรู้คราวหนึ่ง แล้วเข้าภวังค์คราวหนึ่ง เป็นอยู่ดั่งนี้
แต่ว่ามีความสืบเนื่อง คือสิ่งที่จิตออกรับรู้นั้นเรียกว่าอารมณ์
คือเรื่องที่จิตรู้ เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง
เมื่อเป็นอารมณ์แล้ว เมื่อจิตยึด ยึดทั้งหมด หรือยึดบางส่วน
ก็ทำให้เกิดอาสวะ คือความยินดีความยินร้ายไหลเข้ามาสู่จิต
ตั้งต้นเป็นอุปกิเลสคือสิ่งที่จรเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมอง
ทำให้จิตปรุงที่เรียกว่าสังขาร เรื่องที่จิตยึดและปรุงนั้นต่อเนื่องกันไป
จึงได้สืบต่อเป็นวิญญาณเป็นสัมผัสเป็นเวทนาเป็นต้น
สืบเนื่องกันไปในเรื่องนั้น ไม่จบ

ยินดียินร้ายที่มีขึ้นก็เพราะมีอวิชชาคือความไม่รู้ อันเป็นตัวความหลง
ก็มาเป็นอาสวะที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิต เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้น
เพราะจิตนี้แม้จะเป็นธาตุรู้ ก็ยังเป็นธาตุรู้ที่อ่อน เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้จริง
จึงยังยึดยังติด ยินดียินร้าย หลง แล้วก็ปรุงต่อเนื่องกันไป
ทุกคนจึงได้เก็บเรื่องทั้งหลายมาคิดปรุงหรือปรุงคิด รักบ้างชังบ้างหลงบ้างไปต่างๆ
ก็เพิ่มความเศร้าหมองขึ้นในจิตอีกมาก
เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่น้อมไปดั่งนี้ น้อมไปตามธรรมชาติธรรมดาทางอายตนะก่อน
และเมื่อน้อมไปในทางที่ติดยึดในสิ่งที่น้อมออกไปรู้ ยินดียินร้ายหลงอยู่
สิ่งเหล่านี้ก็ไหลเข้ามานอนจมหมักหมมอยู่ในจิต เป็นตัวอุปกิเลส
ตั้งต้นแต่เป็นอาสวะอนุสัยดองจิตหมักหมมจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้น้อมจิตมาในทางดี
เพราะสามารถจะน้อมมาได้ น้อมจิตมาปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา
ดั่งที่มาปฏิบัติทำจิตตภาวนาในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็เป็นการน้อมจิตมาในทางดี
แต่เมื่อน้อมจิตมาทางดีดั่งนี้ สิ่งดีที่จิตน้อมมานี้เอง คือศีลสมาธิปัญญา
หรือการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็ไหลเข้ามาเป็นบารมี
คือเป็นความดีที่สั่งสมเพิ่มพูนอยู่ในจิตเช่นเดียวกัน

ฉะนั้น ในจิตของทุกคนนี้จึงมีอาสวะอนุสัยอยู่ส่วนหนึ่ง บารมีอยู่ส่วนหนึ่ง
และเมื่ออาสวะอนุสัยมากบารมีก็น้อย เมื่อบารมีมากอาสวะอนุสัยก็น้อยลง
จนกระทั่งบารมีคือศีลสมาธิปัญญา หรือสติปัฏฐานที่อบรมนี้ ได้มากจนเต็มเปี่ยมแล้ว
เรียกว่าเป็นบารมีอยู่เปี่ยมจิต อาสวะอนุสัยก็สิ้นไปจากจิต คืออาสวะอนุสัยไม่อาจจะอยู่ได้
ก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ จิตที่บริสุทธิ์นี้ก็เป็นจิตที่มีสันติ และจิตที่มีสันตินี้เองเรียกว่านิพพาน
เป็นความดับแห่งทุกข์ทั้งปวง นั้นคือสันติ คือความสงบของใจ
ความสงบแห่งใจเรียกว่านิพพานดั่งนี้

นิพพานเป็นธรรมอันเอกในพระพุทธศาสนา สุดยอดในพระพุทธศาสนา
และจิตก็เป็นเอก สุดยอดในธรรมชาติของกายใจ ของคนเรานี้
เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งที่สุดยอดคือจิตกับนิพพานมาพบกัน ด้วยการที่มาปฏิบัติทำจิตตภาวนา
หรือปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา ในสติปัฏฐานเป็นต้นไปโดยลำดับ
จนเป็นบารมีที่เข้าครอบงำอาสวะอนุสัยในจิต
เหมือนกับการที่ได้ชำระล้างตะกอนสิ่งสกปรกในจิตให้หมดสิ้นไป
จิตบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองได้หมดสิ้น ก็เป็นความดับทุกข์ อยู่ตรงนี้
แล้วก็เป็นสันติของใจคือนิพพาน จิตกับนิพพานจึงบวกกัน เป็นอันว่าการปฏิบัติได้บรรลุถึงที่สุด
ในเมื่อจิตกับนิพพานมาพบกัน เรียกว่าบรรลุนิพพาน
ซึ่งทุกคนสามารถจะปฏิบัติให้พบกับความบริสุทธิ์ คือการชำระเครื่องเศร้าหมอง
และความดับทุกข์ และสันติแห่งใจได้โดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด
ให้ธรรมอันเอกคือจิตและธรรมอันเอกคือนิพพานพบกันอย่างสมบูรณ์
ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติธรรมะถึงที่สุด
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

ถอดจากเสียงธรรม...จิตบรรลุนิพพาน...
แนน / 6 มี.ค.53

ที่มา: LINK

65: รวมธรรมบรรยาย สมเด็จพระญาณสังวรฯ