วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

87: การสั่งสมบุญนำมาซึ่งความสุข


แสดงธรรมโดย
พระโพธินันทมุนี (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
ณ วัดป่าสาลวัน
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย มีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณราชเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา และท่านเจ้าคุณมงคลวัฒนคุณ รักษาการใหม่ ญาติโยมพุทธบริษัท ความเงียบ ความสบาย ความสงบสุข เป็นอาหารสำหรับจิตใจ ท่านทั้งหลายได้มาพร้อมเพรียงกัน รำลึกถึงคุณูปการของบูรพาจารย์องค์สุดท้ายของวัดอันได้แก่ พระเดชพระคุณหลวงปู่พุธ ฐานิโยของเรา ท่านเป็นพระราชาคณะชั้นราช ราชสังวรญาณ ท่านล่วงลับไป เข้ามาแล้วมองไปทางไหนล้วนเป็นอนุสรณ์แห่งความดี แห่งเกียรติคุณของท่าน ศาลาใหญ่ถาวรสวยงาม เกิดขึ้นเพียงไม่เท่าไหร่ ท่านก็ทิ้งอนุสรณ์ไว้ให้พวกเราผู้อยู่เบื้องหลังเป็นเครื่องรำลึก กุฏิ วิหาร ถนน หนทางในบริเวณล้วนเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงความดี ความสามารถของพระคุณท่านทุกอย่าง เมื่อพวกเราเข้ามาแล้ว ก็จะมีความรำลึกเหมือนหนึ่งว่า ท่านยังมีชนม์ชีพอยู่ คือท่านยังทรงขันธ์อยู่นั่นเอง นี่ความรู้สึกของพวกเรา

ท่านทั้งหลาย ท่านก็มาประจำไว้ให้เราได้กราบไหว้ทำบุญเป็นหลักแหล่งอยู่ที่นี้ เป็นเวลานาน คงจะนานกว่ารูปอื่นก็ได้ ในขณะที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองสะดวก ไปมา สบายทั่วทิศ ท่านจึงมีโอกาสได้เผยแผ่บำเพ็ญประโยชน์ เผยแผ่พระธรรมอย่างกว้างขวางรูปหนึ่ง สุรเสียงอันเยือกเย็น กังวาน ชัดเจน ลึกซึ้ง เปี่ยมด้วยเมตตาของท่านนั้น ยังตราตรึงในดวงใจของเราอยู่ ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ปฏิปทาของครูบาอาจารย์แต่ละรูปนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว แนวทางแสดงธรรม แนวทางการกล่าวธรรม ทักทายปราศรัย กิริยาท่าทางเยื้องย่างกรายของบูรพาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเรานั้นไม่เหมือนกันเลย ท่านผู้นี้รูปหนึ่ง อาตมาภาพเป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณเทพสุธาจารย์ วัดวชิราลงกรณ์ ท่านเป็นกรรมวาจา ไม่มีอนุสาวนาที่อาตมาบวชพระเมื่อนานมาแล้ว หลวงปู่ดูลย์เป็นอุปัชฌาย์ ปฏิปทาของพระเดชพระคุณนั้น ถ้าท่านทั้งหลายทัน ก็จะซาบซึ้งด้วยอิริยาบถสุรเสียง สำเนียงที่หาจุดตำหนิไม่ได้ องค์ที่รองจากลำดับนั้นมาในความรู้สึกของอาตมา ก็มีอยู่หลวงปู่พุธเรานั่นแหละ ที่เราเรียกว่าพระกรรมฐาน มันดูเหมือนกรรมฐาน ที่เราเรียกว่าพระธุดงค์เหมือนธุดงค์ ที่เราเรียกท่านว่าพระป่า พระวิปัสสนา ทุกอิริยาบถสำนวน สำเนียง สุรเสียง จำนรรจา เหมือนพระป่า เหมือนพระวิปัสสนา เหมือนพระธุดงค์ทุกอย่าง แผ่ขยายความเยือกเย็นมาสู่บรรยากาศในที่นั้น ๆ ใครจะตั้งปัญหาร้อน ๆ มา ท่านเจรจาปรกติ ปรกติภาพที่เป็นคุณสมบัติของท่านไว้อย่างสม่ำเสมอ ถามมาร้อนเย็นอย่างไร ไม่เกี่ยว แต่ท่านจะใช้ปรกติภาพของท่านในการตอบในการจำนรรจา ในการพูดอย่างสม่ำเสมอ เมื่อท่านทั้งหลายเข้าใจได้ดังนี้ พระเถระที่เพรียบพร้อมหาได้ยาก จริงอยู่พระเถระมีอยู่ทั่วไป คุณธรรมของท่านสูงส่งที่เราหยั่งรู้ไม่ถึง เข้าใจไม่ได้ก็มีเป็นจำนวนมาก แต่ที่เราเห็นแล้วไม่กลุ้มใจ สบายใจ ในขณะที่นับถือ ในขณะที่กราบไหว้ ในขณะที่เป็นศิษย์ อากัปกิริยาท่าทางสำนวนสำเนียงวาจาของท่าน ศิษย์ทุกคน ผู้นับถือทุกคน สบายใจ วางใจ เย็นใจ นี่คือปรกติของท่าน หลวงพ่อพุธ องค์ที่ 2 ที่อาตมามีความรู้สึกในใจนอกจากท่านเจ้าคุณเทพสุธาจารย์ โชติ ท่านท่านล่วงลับเมื่อ พ.ศ. 2518 บางท่านก็ทัน บางท่านก็ไม่ทัน นี่เป็นคุณสมบัติปฏิปทาสำหรับพระคุณท่านเหล่านั้น อาตมาไม่อาจจะกล่าวอะไรมากกว่านี้ ทุกท่านซาบซึ้งเอาเอง บัดนี้ท่านทิ้งความอาลัยไว้ให้เราในภายหลังเป็นอนุสรณ์ ท่านทำประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ส่วนบุคคลอื่น ประโยชน์ส่วนรวมอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะโบราณวัตถุ ถาวรวัตถุที่ท่านทิ้งไว้ให้เรามันสมบูรณ์แบบ เสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกอย่างในการที่จะใช้งาน ท่านทั้งหลายดีแล้ว ตรงนี้เป็นจุดศูนย์กลาง จุดศูนย์รวมสำหรับอีสาน อีสานใต้ และก็ผู้สำนึกในคุณงามความดีของครูบาอาจารย์อย่างไม่รู้ลืมและจืดจาง ขอฝากให้ท่านคำนึงคิดต่อเอาเอง

ต่อจากนี้อาตมาภาพจะนำแนวปฏิบัติธรรมะมาให้ท่านฟัง จงทำสติให้สมบูรณ์เพื่อทรงตัวของเราให้ได้ ไม่ใช่ว่าพอเริ่มเทศน์ก็มีความเคารพต่ออาตมา ด้วยการนั่งตัวตรง ๆ แสดงความเคารพ พอเทศน์ยังไม่กี่นาทีก็แสดงความอ่อนน้อมด้วยการคำนับเป็นจังหวะ ๆ อย่างนี้แสดงว่าสติสัมปชัญญะของเราควบคุมอัตภาพร่างกายไม่อยู่ ขอให้ญาติโยมตั้งสติไว้ให้สมบูรณ์ อาตมาได้ยกบาลีขึ้นไว้ในเบื้องต้น ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลายอาจจะนึกว่าธรรมดาเกินไป แต่อาตมาว่าไม่ธรรมดา มองได้ทุกแนว มองในแง่ปริยัติ มองในแง่ปฏิบัติ หรือในคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ได้อย่างถูกต้อง ในคำว่า สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโยการสั่งสมบุญไว้ย่อมนำสุขมาให้ อาตมามาติดใจอยู่กับคำที่พระองค์ใช้ว่า สั่งสม เรื่องของบุญ พระองค์อยากใช้คำว่า สั่งสม คือสั่งสมบุญไว้ เมื่อสั่งสมบุญไว้เรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องมาก ๆ ย่อมนำสุขมาให้เราทุกขณะหรือเป็นผลมาจากในอนาคตกาล กว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน เกิดขึ้นจากการสะสมบุญ มองไปข้างนอกเสียก่อน ท่านผู้เจริญทั้งหลายทรัพย์สมบัติ เครื่องอุปโภคบริโภคที่เรามี เราได้ เราเหลืออยู่ อบอุ่น ใช้สอยทุกวัน มีฐานะสูงบ้าง ปานกลางบ้าง ธรรมดาบ้าง ถึงเรียกว่าคนมั่งมี หรือคนร่ำรวยหรือเศรษฐี ท่านทั้งหลายสิ่งของเหล่านั้น ไม่ได้เนรมิตขึ้นมาชั่วพริบตาเดียว สมบัติที่เราเสวยทุกวัน จะเป็นมรดกหรือจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วพริบตาเดียว หากแต่ว่ามีการสั่งสมมานานแล้ว ตั้งแต่ปู่ย่าตายายจนกระทั่งถึงพวกเราล้วนสั่งสมเก็บหอมรอมริบ ตั้งแต่ไม่มีหรือตั้งแต่มีน้อยจนกระทั่งมากมายถึงขั้นเป็นเศรษฐี สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจากการสั่งสมของเรา คือสั่งสมสมบัติ

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรื่องสติปัญญาวิชาความรู้ที่เรามีอย่างสมบูรณ์และเต็มเปี่ยมในขณะนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วพริบตาเดียว หากแต่ว่าเริ่มสั่งสมตั้งแต่รู้เดียงสาตั้งแต่เข้าสู่ ก ไก่ ข ไข่ ทีละตัว ทีละพยัญชนะ แม้ตัวเลข 1 2 3 สั่งสมมาโดยลำดับ ตั้งแต่เล็กจนโตมา จนขณะนี้มีวิชาความรู้อย่างเต็มเปี่ยมทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง พระคุณเจ้าทุกรูป ที่ได้ความรู้ทางหลักธรรมทางแนวปฏิบัติ ล้วนแต่สั่งสมมาทีละน้อย ทีละน้อย จนกระทั่งมากมาย ใช้คำว่า “สั่งสม” แล้วยังจะต้องสั่งสมต่อไปอีก เมื่อสั่งสมทรัพย์สมบัติมากเราก็มีความสุขโดยไม่ฝืดเคืองในการใช้จ่าย เมื่อสั่งสมสติปัญญาไว้บ่อย ๆ ให้ได้มาก เราก็ไม่ขัดเคืองและขัดข้อง ในเมื่อเราติดขัดหรือคิดสิ่งใด เปรื่องปราชญ์อาจหาญเพราะสั่งสมไว้มาก

ท่านผู้เจริญทั้งหลายเพราะเหตุอย่างนี้กระมัง พระพุทธองค์จึงใช้เรื่องบุญด้วยว่า “การสั่งสมบุญย่อมนำสุขมาให้” ท่านทั้งหลายพวกท่านสั่งสมบุญไว้นานแล้ว ในคำว่า ทาน ศีล ภาวนา ท่านเริ่มสั่งสมตั้งแต่เป็นนักเรียน ป. 1 ป. 2 เคยใส่บาตรพระ 1 ทัพพี 2 ทัพพี เคยติดกัณฑ์เทศน์ 5 สตางค์ 10 สตางค์ บาท 2 บาท ในสมัยเป็นนักเรียน นักศึกษา เคยได้ลองรับศีล รักษาศีลมานับครั้งไม่ถ้วน และเคยสั่งสมบริจาคใหญ่ ๆ ๆ ๆ ตลอดมาตั้งแต่เราเดียงสามาจนขณะนี้ นี่ก็คือการสั่งสมเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นท่านที่มานั่งฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมวันนี้ แต่ละท่านนั้นมีการสั่งสม 3 ลักษณะ คือสั่งสมทรัพย์สมบัติจนเป็นคนสุขสบายในปัจจุบัน สั่งสมวิชาความรู้จนกระทั่งเป็นคนอบอุ่นในปัจจุบัน และขณะเดียวกัน สิ่งที่ท่านสั่งสมไว้มาก ๆ นั้นก็คือบุญกุศลที่ท่านสั่งสมไว้ตั้งแต่นานมาแล้ว นี่คือประเด็นที่ควรจะนำมาเปรียบเทียบทำความเข้าใจ ท่านทั้งหลายทรัพย์สมบัติที่ท่านสะสมได้ ท่านก็คิดถึง ท่านก็เก็บ ท่านรักษาไว้ให้ดี นึกถึงมันบ่อย ๆ ที่ธนาคารมีอยู่เท่านั้น บนบ้านเรือนมีอยู่เท่านั้น ที่ดินตามที่นาสาโทก็มีเท่านั้น ยิ้มแย้มแจ่มใสนึกถึงมันเรื่อย ๆ เสียอยู่อย่างบุญนั้นนึกไปแต่ข้างหน้า ทรัพย์นี่ท่านแก่แล้ว ท่านไม่เคยนึกไปข้างหน้าว่าจะแสดงเอามาอีกเท่าไหร่ แต่ถ้านึกย้อนหลังที่มี นึกได้ดีนัก หยั่งรู้มีเท่าไหร่ เก็บไว้ที่ไหนบ้าง และก็อบอุ่นใจกับสิ่งที่มี ส่วนบุญนั้นชอบนึกไกลไปข้างหน้า จะไปทำที่วัดโน้น จะไปช่วยศาลาหลังนี้ จะไปตัดลูกนิมิตที่โน่น ไอ้ที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งวันนี้ ท่านไม่ค่อยสำรวจ ท่านไม่ค่อยพิจารณา ท่านไม่สั่งสมไว้ในใจ ไม่ค่อยคิด น่าเสียดาย ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านลืม ท่านไม่นับ ท่านไม่สำรวจ ก็เท่ากับว่าท่านไม่เก็บ ท่านไม่เอา ท่านไม่ปกป้อง ท่านไม่รักษา จริงอยู่ที่ท่านนึกจะทำบุญใหญ่ ๆ ในกาลข้างหน้า ยิ่งแต่เป็นกุศลใหญ่ แต่ขอสะกิดนิดหนึ่ง อย่าทอดทิ้งเลย ทรัพย์สมบัติคือบุญที่เราสั่งสมมาตั้งแต่เด็ก เหมือนท่านไม่ทอดทิ้งสมบัติที่ท่านมีอยู่แล้ว ท่านคิดถึงมันอยู่เป็นประจำใช่มั๊ย ตรงนี้ใช่หรือเปล่า เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงสอนวิธีภาวนา การนึกถึงบุญมันเป็นเรื่องของการภาวนา เรียกว่าอนุสติ สติระลึกในการภาวนานั่นเอง ท่านผู้เจริญทั้งหลายมิได้หมายความว่า เมื่อภาวนานั้นจะต้องฟังเขาประกาศมีบวชที่ไหน ชวนนั่งภาวนาวิปัสสนาที่ไหน แล้วไปนั่ง จึงจะชื่อว่าภาวนา พระพุทธองค์แนะนำไว้ว่าทุกกาล ทุกเวลา ทุกสมัยเป็นภาวนา นั่งว่าง ๆ ไม่ได้ทำอะไร หรือขณะทำงานทำการอะไร เราก็สำรวจ ระลึกถึงบุญกุศลที่เราสั่งสมไว้ หลักก็คือว่าพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วท่านพูดถึงอนุสติ 10 นั่นคือตัวภาวนาและองค์ภาวนา ทำไมท่านไม่นึกถึงจาคานุสติ นึกถึงทรัพย์ที่ท่านเคยบริจาคมาแล้ว ตั้งแต่เด็กแต่ออดแต่อ้อนและจนถึงเดี๋ยวนี้ เรียกว่าจาคานุสติ ระลึกถึงทานที่เป็นบุญที่เคยสั่งสมไว้ บริจาคไว้ สีลานุสติ ระลึกถึงศีลที่เราเคยรักษา แม้จะขาด แม้จะเหลือ แม้จะอย่างไร ก็ชื่อว่าเคยทำมาแล้ว เคยปฏิบัติมาแล้ว สีลานุสติ จาคานุสติ จนกระทั่ง กายคตาสติ ธัมมานุสติ ทั้งหมด ล้วนเป็นองค์ของการภาวนา เพราะภาวนาแปลว่าทำให้เกิด ทำให้มี ท่านผู้ใดมีสติระลึกอยู่ในขอบเขตเหล่านี้ทุกขณะทุกเวลา นึกถึงทานที่ตนเคยบริจาค นึกถึงศีลที่ตนเคยรับเคยรักษา นึกถึงธรรมะที่ตนเคยปฏิบัติ ท่านทั้งหลายนั่นคือ เรารับ เรารักษา เราเก็บไว้ เราระลึก เป็นอนุสติ เป็นองค์ภาวนาด้วยและสิ่งเหล่านี้เป็นการนำเราให้พ้นจากอารมณ์อยาก เป็นการภาวนาอย่างสมบูรณ์ที่ทำได้ทุกกาล ทุกเวลา ก่อนหลับ ก่อนนอน ล้มตัวลงนอน สังเกตไหม ถ้ามานึกถึงที่อาตมาว่าแล้ว นึกถึงทานที่เคยบริจาค จาคานุสติ นึกถึงศีลที่เคยรักษา นึกถึงข้อวัตรปฏิบัติ นึกถึงปฏิปทาครูบาอาจารย์เป็นส่วนกุศล แม้จะเป็นกามาวจรกุศล ถ้าเกิดขึ้นที่ระดับที่ตรงนี้ จิตต้องไปสวรรค์ ไปสู่สุคติ แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้น นอนแล้วไม่หลับ นึกอยู่นั่นแหละ คนนั้นมันเป็นหนี้เราตั้ง 2 พัน 8 ปีแล้วไม่เห็นคืนเลย คนนั้นมันมาติฉินนินทาเราถึงขนาดนั้น ทำไมมาดูถูกเราถึงเพียงนั้น ลูกคนที่ 2 ไม่เคยเอื้อเฟื้อเราเลย ลูกคนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ อย่างงั้น อย่างงี้ จิตก็จะตกต่ำ จิตจะมัวหมอง เป็นฝ่ายหยาบ ฝ่ายอกุศล จนกระทั่งเมื่อนึกแล้วก็เกิดอารมณ์หยาบขึ้นมา โทสะ โมหะ ริษยา อาฆาต พยาบาท ปองร้าย มัวหมองทุกอย่าง ถ้าตายตอนนี้ไปทุคติ

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย วิธีปฏิบัติจึงมิใช่ของยากลำบากอะไรเลย การสั่งสมบุญนำ สุขมาให้ คิดถึงเมื่อไหร่ เราก็มีส่วนบุญด้วย อาตมาภาพว่าอย่างนี้นะ การสั่งสมและมีส่วน ท่านจึงมีโชค ท่านจำกำเนิดได้  วิญญาณของท่านจำได้ตลอด ล่องลอยไปไหนไปไหนก็รวดเร็ว ไปเห็นอะไรก็จำได้ ท่านทั้งหลาย ท่านสั่งสมบุญไว้ แล้วก็มีส่วนร่วมบุญไว้หลายจุดเหลือเกิน วิญญาณท่านจึงมีความสุข เมื่อเขาประกาศว่าเจดีย์ใหญ่หลวงปู่ศรีที่ร้อยเอ็ด โบสถ์ใหญ่สวยที่สุดที่วัดโสธร ผ้าป่าใหญ่ที่หลวงตามหาบัวชวนทำ ท่านทั้งหลาย กองบุญเหล่านั้นทุกท่านมีส่วนรวมด้วย เป็นเจ้าของด้วย ท่านนั่งรถไฟไปทางกรุงเทพฯ มองเห็นโบสถ์ทุกแห่งตามระยะทาง อนุสติก็จะตามมา อ๋อ! โบสถ์หลังใหญ่นี้ฉันร่วมด้วย 100 บาท อ๋อ! เจดีย์นี้ ฉันเคยบริจาค 10 บาท อ๋อ! พระเจดีย์ใหญ่ที่ร้อยเอ็ดโน้น ฉันร่วมด้วยตั้ง 50 บาท อ๋อ! โบสถ์ใหญ่หลวงพ่อโสธรที่ผ่านไปก็ช่วยกระเบื้องตั้งหลายใบ ท่านทั้งหลาย เรามีส่วนแห่งบุญเหล่านั้นด้วย คนโบราณ นักปฏิบัติสมัยโบราณ สมัยพระพุทธเจ้า เขาขอพรจากครูบาอาจารย์ เขาว่าอย่างไร เขาขอบารมีจากครูบาอาจารย์ว่าอย่างไร เมื่อเขาเคารพเขาเลื่อมใส เขากราบไหว้พระอริยเจ้าเหล่านั้น เขาขอพรว่าอย่างไร ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าหรือดิฉันขอเป็นผู้มีส่วนเข้าถึงธรรมที่พระคุณเจ้าเข้าถึงแล้ว ดิฉันขอมีส่วนแห่งกุศลธรรมที่พระคุณท่านเข้าถึงแล้วหรือได้ปฏิบัติมาแล้ว ขอมีส่วนด้วยเถอะ เขาขออย่างนี้ ไม่ใช่ขอแบบพวกเรา เห็นครูบาอาจารย์องค์ไหนดวงดี ๆ กราบเหมือนกัน ก็ขอ แต่ขอคนละแบบ   ท่านผู้เจริญ ท่านสำรวมอินทรีย์สงบเป็นหนึ่ง คงจะมีสมาธิดี ดิฉันขอพึ่งบารมีท่านด้วยเถิด ขอให้ท่านบอกเลขเด็ด ๆ ให้แก่ฉันด้วยเถิด นี่ขอเหมือนกันแต่ขอคนละแบบ ขออย่างนี้ไม่ใช่ขอส่วนแห่งคุณงามความดี

แต่ขอให้เข้าใจคำพูดที่อาตมภาพแง้มมาแต่ละข้อ แต่ละข้อ นั้นว่า เราควรวางหลักการปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นบุญเป็นกุศล เพราะฉะนั้นพวกเรา ถ้าบุญพาไปเกิดสวรรค์ ก็ไปสวรรค์ไปเลย ถ้าบาปพาลงนรก ก็ลงนรกไปซะ ถ้าบุญไม่มาก บาปมากเราก็จะเป็นผู้ลังเล ยังเป็นสัมภะเวสี แสวงหาที่เกิด วิญญาณก็จะล่องลอยไปเรื่อย ๆ แล้ววิญญาณนั้นจะมีความสุขก็ต่อเมื่อ สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย สั่งสมบุญไว้มาก นำสุขมาให้ กระทั่งล่วงลับไปแล้ว วิญญาณนั้นรู้ ลอยไปถึงร้อยเอ็ด สุรินทร์ หรือที่ไหนก็เถอะ โอ้ ฉันเคยบริจาคโบสถ์นะนี่ วันนี้ฉันเคยมาทอดผ้าป่า วิญญาณก็จะมีความสุข ฉันเคยร่วมกับหลวงตามหาบัว 100 บาท วิญญาณของท่านก็จะมีความสุขเพราะลอยไปไหนเจอแต่บุญของท่าน นี้คือการสั่งสมบุญย่อมนำสุขมาให้ แม้ยังไม่ตาย ไปไหนเขาก็เจอแต่บุญ

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

85: วิเวกธรรม

โน่นภูเขา นั้นต้นไม้ ชายป่าเขียว
เดินด้นเทียว วิเวกไป ในภูผา
เดินตามรอย องค์สมเด็จ พระศาสดา
เพื่อค้นหา ทางพ้นทุกข์ วิมุตติธรรม

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช
30 สิงหาคม 56

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

84: โลกธรรม

คติธรรมองค์พ่อแม่ครูอาจารย์



อาหาร ย่อมเป็นที่ต้องการและปรารถนาสำหรับผู้ที่ยังหิวโซอยู่ ฉันใด
อาหาร ย่อมไม่เป็นที่ต้องการและปรารถนาสำหรับผู้อิ่มแล้ว ฉันนั้น

"อุปมา"

ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ย่อมเป็นที่ต้องการและปรารถนาสำหรับผู้ที่ยังข้องด้วยกิเลสอยู่ ฉันใด
ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ย่อมไม่เป็นที่ต้องการและปรารถนาสำหรับพระอริยเจ้าผู้สินกิเลสแล้ว ฉันนั้น

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช
๒๒ สิงหาคม ๕๖

83: คนจริงไม่ทิ้งธรรม

คติธรรมองค์พ่อแม่ครูอาจารย์



ตัวเรา เป็นของโลก อยู่กับโลก อาศัยโลก พึ่งพาโลก
บางครั้งต้องทำตามกฏของโลก (สมมุติบัญญัติ)

แต่ใจเรา ให้พึ่งธรรม อาศัยธรรม อยู่กับธรรม
จึงจะอยู่เหนือโลก ไม่วุ่นวายไปตามโลก

"คนจริงไม่ทิ้งธรรม"
องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช
๒๒ สิงหาคม ๕๖

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

82: สรรพสิ่งย่อมอาศัยกันและกัน

คติธรรมองค์พ่อแม่ครูอาจารย์


สรรพสิ่งย่อมอาศัยกันและกัน

ในน้ำ ยังมีฝูงมัจฉา
บนเวหา ยังมีหมู่วิหค
ณ พื้นบก ยังมีก้อนหินผา
เหนือพสุธา ยังมีป่าพงไพร
เพราะฉะนั้นให้ใจเรา จงมีธรรม

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช
๒๑ สิงหาคม ๕๖
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙

81: มงคล ที่ ๕ มีบุญวาสนามาก่อน

มงคล ที่ ๕ มีบุญวาสนามาก่อน

 ผลไม้พันธุ์เลว ถึงจะใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดินดีอย่างไรก็ตาม อย่างมากก็ทำให้มีผลดกขึ้นบ้าง แต่จะทำให้มีรสโอชาขึ้นกว่าเดิมนั้นยาก ตรงกันข้าม ผลไม้พันธุ์ดี แม้รดน้ำพรวนดินเพียงพอประมาณ ก็ให้ผลมากเกินคาด  รสชาติก็โอชา เช่นกัน ผู้ที่ไม่ได้สั่งสมคุณความดีมาก่อน เมื่อประกอบกิจใดๆ ถึงขยันขันแข็งสักปานไหน ผลแห่งความดีกว่าจะปรากฏเต็มที่ ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักและเสียเวลามาก ส่วนผู้ที่สั่งสมคุณความดีมาก่อน เมื่อทำความดี ผลดีปรากฏเต็มที่ทันตาเห็น ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้า เหนือกว่าบุคคลทั้งหลายได้อย่างน่าอัศจรรย์

บุญคืออะไร ?
            บุญ คือสิ่งซึ่งเกิดขึ้นในจิตใจแล้วทำให้จิตใจใสสะอาด ปราศจากความเศร้าหมองขุ่นมัว  ก้าวขึ้นสู่ภูมิที่ดี  เกิดขึ้นจากการที่ใจสงบทำให้เลือกคิดเฉพาะสิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควร ที่เป็นประโยชน์  แล้วพูดดี ทำดี ตามที่คิดนั้น
            บุญ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลปรุงแต่งใจของเราให้มี คุณภาพดีขึ้น คือ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์ผุดผ่องสว่างไสว โปร่งโล่ง ไม่อึดอัด อิ่มเอิบ ไม่กระสับกระส่าย  ชุ่มชื่นเบาสบาย  ผ่อนคลายไม่ตึงเครียด  นุ่มนวลควรแก่การใช้งาน  และบุญที่เกิดขึ้นนี้ยังสามารถสะสมไว้ในใจได้อีกด้วย
            คนทั่วไปแม้จะมองไม่เห็น “บุญ” แต่ก็สามารถรู้อาการของบุญ หรือผลของบุญได้ คือเมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจชุ่มชื่นเป็นสุข เปรียบได้กับ “ไฟฟ้า” ซึ่งเรามองไม่เห็นตัวไฟฟ้าโดยตรง แต่เราสามารถรับรู้อาการของไฟฟ้าได้ เช่น เมื่อไฟฟ้าผ่านเข้าไปในหลอดไฟแล้วเกิดแสงสว่างขึ้น หรือเมื่อผ่านเข้าไปในเครื่องปรับอากาศแล้วเกิดความเย็นขึ้น เป็นต้น

มงคล ที่ 5 มีบุญวาสนามาก่อน มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
คุณสมบัติของบุญ
            ๑.        ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดได้
            ๒.        นำความสุขความเจริญก้าวหน้ามาให้
            ๓.        ติดตามตนไปทุกฝีก้าว แม้ไปเกิดข้ามภพข้ามชาติ
            ๔.        เป็นของเฉพาะตน ใครทำใครได้ โจรลักขโมยไม่ได้
            ๕.        นำมาซึ่งโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย
            ๖.        ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ นิพพานสมบัติ แก่เราได้
            ๗.        เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏฏสงสาร
            ๘.        เป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพาน

ประเภทของบุญในกาลก่อน
            บุญในกาลก่อนแบ่งเป็น ๒ ชนิด ได้แก่
            ๑.        บุญช่วงไกล คือคุณความดีที่เราทำจากภพชาติก่อน มาจนถึงวันคลอดจากครรภ์มารดา
            ๒.        บุญช่วงใกล้ คือคุณความดีที่เราทำในภพชาติปัจจุบันตั้งแต่คลอดจนถึงวันนี้
           บุญช่วงไกล การสั่งสมความดีมาแต่ภพชาติก่อน  ส่งผลให้เราเห็นในปัจจุบัน เปรียบเสมือนผลไม้ที่คัดพันธุ์มาดีแล้ว รสโอชะของมันย่อมติดมาในเมล็ด เมื่อนำเมล็ดนั้นมาปลูก ต้นของมันย่อมให้ผลที่รสอร่อยทันทีโดยไม่ต้องทะนุบำรุงมาก คนเราก็เช่นกัน ถ้าในอดีตชาติสะสมความดีมามากพอ เกิดมาชาตินี้ก็เป็นคนใจใส ใจสะอาดบริสุทธิ์มาตั้งแต่เด็ก มีสติปัญญาดีมาแต่กำเนิด รูปร่างสง่างาม ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีโอกาสสร้างความดีได้มากกว่าคน  ทั้งหลาย ถ้าไม่ประมาทหมั่นสะสมความดีในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีก ก็จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว  แต่ถ้าประมาทไม่เอาใจใส่ในการทำความดีในปัจจุบัน ก็เปรียบเสมือนต้นไม้ยอดด้วน  ยากที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้

            บุญช่วงใกล้ คนที่ทำความดีตั้งแต่เล็กเรื่อยมา เช่น ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร คบคนดีเป็นมิตร ฝึกใจให้ผ่องใสมาตั้งแต่เด็ก ความคิด คำพูด การทำงาน ย่อมดีกว่าบุคคลอื่นในวัยเดียวกัน เมื่อเติบโตขึ้น ย่อมมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าผู้อื่น
            เพราะฉะนั้นเราจึงควรสั่งสมบุญ  โดยทำความดีเสียตั้งแต่วันนี้  จะ ได้ส่งผลให้มีสติปัญญาดี มีความเฉลียวฉลาด มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตต่อไปในอนาคต ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงทำความดี สร้างสมบารมีมามากนับภพนับชาติไม่ถ้วนในภพชาติสุดท้ายก็ทรงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อทรงออกผบวชก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียรเจริญสมาธิภาวนาอย่างเติมที่ จึงสามารถตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เมื่อพระชนม์เพียง ๓๕ พรรษา

ผลของบุญ
            บุญเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีผลกับตัวเรา ๔ ระดับ คือ
            ๑.        ระดับจิตใจ เป็นบุญที่เกิดผลทันที คือทำความดีปุ๊บก็เกิดปั๊บ ไม่ต้อง รอชาติหน้า  เกิดขึ้นเองในใจของเรา  ทำให้
            -           สุขภาพทางใจดีขึ้น คือมีใจเยือกเย็น ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อคำ ยกยอหรือตำหนิติเตียน มีใจที่ปลอดโปรง เบาสบาย เป็นสุข
            -           สมรรถภาพของใจดีขึ้น คือเป็นใจที่สะอาดผ่องใส ใช้คิดเรื่องราวต่างๆ ได้รวดเร็ว ว่องไว ลึกซึ้ง กว้างไกล รอบคอบ เป็นระเบียบ  และตัดสิน ใจได้ฉับพลันถูกต้องไม่ลังเล
            ๒.        ระดับบุคลิกภาพ คนที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างสม่ำ-เสมอ จะทำให้มีใจที่สงบ แช่มชื่น เบิกบาน ชุ่มเย็น นอนหลับสบาย ไม่มีความกังวลหม่นหมอง หน้าตาผิวพรรณจึงผ่องใส ใจเปี่ยมไปด้วยบุญ ไม่คิดโลภอยากได้ของใคร ไม่คิดสร้างความเดือดร้อนให้ใคร มีแต่คิดช่วยเหลือเขา จึงมีความมั่นใจในตัวเอง มีความองอาจสง่างามอยู่ในตัว ไปถึงไหนก็สามารถวางตัว ได้พอเหมาะพอดี  บุคลิกภาพย่อมดีขึ้นเป็นลำดับ
            ๓.        ระดับวิถีชีวิต วิถีชีวิตของคนเรา เกิดจากการสรุปผลบุญและผลบาปที่เราได้ทำมาตั้งแต่ภพชาติก่อนๆ จนถึงภพชาติปัจจุบัน  เป็นผลของบุญระดับจิตใจและระดับบุคลิกภาพร่วมกัน ชักนำให้เราได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา ตอบสนองมาจากภายนอก เช่น ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่การที่เราทำดี แล้ววิถีชีวิตของเราจะดีเต็มที่หรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับบุญเก่าหรือบาปในอดีตที่เราเคยทำไว้ด้วย  เรื่องการให้ผลบุญและบาป จึงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน เช่นบางครั้งขณะที่เราตั้งใจทำความดีอยู่ แต่ผลบาปในอดีตตามมาทัน ทำให้ถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือประสบเคราะห์กรรม บางคนเข้าใจผิด คิดว่าทำทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำให้หมดกำลังใจในการทำความดี
            แท้จริงแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในขณะนั้น ผลบาปที่เราเคยทำในอดีตกำลังส่งผลอยู่ แต่บุญที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันย่อมไม่ไร้ผล เมื่อเราตั้งใจทำบุญ ไปโดยไม่ย่อท้อ และไม่ทำบาปนั้นอีก เคราะห์กรรมนั้นย่อมหมดสิ้นไป และได้รับผลของบุญคือความสุขความสำเร็จได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในที่สุด
            ๔.        ระดับสังคม เมื่อเราทำความดีมาแล้วอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะไปอยู่ สังคมใด บุญก็จะส่งผลให้เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับนับถือ ได้เป็นผู้นำของสังคม นั้น และจะเป็นผู้ชักนำสมาชิกในสังคมให้ทำความดีตามอย่าง ทำให้เกิดความสงบร่มเย็น  และความเจริญก้าวหน้าขึ้นในสังคมนั้นๆ โดยลำดับ

ตัวอย่างผลของบุญ
            ผู้ที่มีอายุยืน                        เพราะในอดีตไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
            ผู้ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ             เพราะในอดีตไม่รังแกหรือทรมานสัตว์
            ผู้ที่มีพลานามัยสมบูรณ์       เพราะในอดีตให้ทานด้วยข้าวปลาอาหาร มามาก
            ผู้ที่มีผิวพรรณงาม                 เพราะในอดีตรักษาศีล และให้ทานด้วยเสื้อผ้า  เครื่องนุ่งห่มมามาก
            ผู้ที่มีอำนาจมีคนเกรงใจ       เพราะในอดีตมีมุทิตาจิต ใครทำความดีก็ อนุโมทนา ไม่อิฉาริษยาใคร
            ผู้ที่ร่ำรวยมีโภคทรัพย์มาก       เพราะในอดีตให้ทานมามาก
            ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง                เพราะในอดีตบูชาบุคคลที่ควรบูชามามาก
            ผู้ที่ฉลาดมีสติปัญญาดี           เพราะในอดีตคบบัณฑิต ฝึกสมาธิเจริญ ภาวนา มามากและไม่ดื่มสุรายาเมา

วิธีทำบุญ
            การทำความดีทุกอย่างล้วนได้ผลออกมาเป็นบุญทั้งสิ้นแต่เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและนำไปปฏิบัติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งวิธีทำบุญออกเป็น  ๑๐  ประการ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่
            ๑.        ทาน     คือการบริจาคทรัพย์สิ่งของแก่ผู้ที่ควรให้
            ๒.        ศีล       คือการสำรวมกาย วาจา ให้สงบเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น
            ๓.        ภาวนา คือการสวดมนต์ทำสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะ ฯลฯ
            ๔.        อปจายนะ        คือการมีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม
            ๕.        เวยยาวัจจะ     คือการขวนขวายช่วยเหลือในกิจที่ชอบ
            ๖.        ปัตติทานะ       คือการอุทิศส่วนบุญแก่ผู้อื่น
            ๗.        ปัตตานุโมทนา คือการอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ
            ๘.        ธัมมัสสวนะ     คือการฟังธรรม
            ๙.        ธัมมเทสนา      คือการแสดงธรรม
            ๑๐.      ทิฏฐุชุกัมม์       คือการปรับปรุงความเห็นของตนให้ถูกต้อง
            บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้  สรุปลงได้เป็น บุญกิริยาวัตถุ ๓   ได้ดังนี้
            -           ทาน     ได้แก่   ทาน   ปัตติทานะ ปัตตานโมทนาเป็นการฆ่าความ ตระหนี่ออกจากใจ
            -           ศีล       ได้แก่     ศีล  อปจายนะ เวยยาวัจจะ   เป็นการป้องกันตนไม่ให้ทำชั่ว
            -           ภาวนา ได้แก่    ภาวนา ธัมมัสสวนะ   ธัมมเทสนา   เป็นการฝึกตัวเองให้ฉลาด มีสติปัญญาดี
        ส่วน ทิฏฐุชุกัมม์   นั้น สงเคราะห์เข้าได้ทั้งใน  ทาน ศีล และภาวนา
หมายเหตุอรรถกถาและฎีกาบางแห่ง จัดทิฏฐุชุกัมม์ไว้ในภาวนา ส่วนธัมมเทสนานั้นอาจจัดจัดไว้ในทานก็ได้ โดยถือเป็นธรรมทาน

บุญวาสนาไม่ใช่อภินิหาร
            บุญวาสนาไม่ใช่อภินิหาร แต่สามารถอธิบายด้วยหลักเหตุผลได้ดังนี้ คนที่จิตสั่งสมแต่บาปหรือความชั่ว  จะทำให้ใจมืดมัว  กิเลสต่างๆ เข้ายึดครอง ใจได้ง่าย ทำให้เกิดผลร้ายต่อตนเอง เช่น เวลาโกรธจัด ความโกรธเข้ายึดครองใจ ทำให้หัวใจเต้นแรงผิดปกติ ระบบสูบฉีดเลือดผันแปร โลหิตมีการเผาไหม้มาก เกิดอาการร้อนผ่าวตั้งแต่หน้าอกจรดใบหน้า ความร้อนจะทำให้ผิวหยาบกร้าน ไม่มีน้ำมีนวล อาหารไม่ย่อย ท้องอืด เกิดความเครียดคนโกรธง่าย     จึงเป็นคนเจ้าทุกข์ หงุดหงิด พูดจาห้วนแบบมะนาวไม่มีน้ำ เวลาโกรธจะขาดสติ คิดอ่านการใดก็ผิดพลาดได้ง่าย
            ส่วนคนที่จิตสั่งสมแต่บุญหรือความดี จะทำให้ใจผ่องใสอยู่เป็นปกติ กิเลสต่างๆ เข้ายึดครองใจได้ยาก  เพราะมีสติคอยควบคุมใจไว้  สามารถสอนตนเองและตักเตือนตนเองไม่ให้ทำความชั่วได้ จึงมีจิตใจที่สงบเยือกเย็น สดชื่น ผ่องใส ระบบการทำงานของร่างกายก็เป็นปกติ มีผิวพรรณงาม เสียงไพเราะ      กิริยาน่ารัก  คิดอ่านการใดก็แจ่มใส  ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้ง่าย

ข้อเตือนใจ
            เมื่อทราบว่าการทำบุญเป็นการสั่งสมความดีไว้เพื่อตนเองแล้ว เราจึงไม่ควรประมาทในการทำบุญ ควรทำบุญเท่าที่กำลังความสามารถจะอำนวย ผู้ที่ได้สั่งสมบุญมาดีแล้วแต่เพิกเฉยในการทำบุญเพิ่ม เปรียบเสมือนชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลิตผลแล้วแจกจ่ายขายกินหมด ไม่เหลือไว้ทำพันธุ์ต่อไปภายหน้าเลย เขาย่อมเดือดร้อนในฤดูกาลทำนาครั้งต่อไป
            ความดีทุกอย่างที่เราทำไว้ แม้จะไม่ให้ผลในปัจจุบันทันตาก็ไม่สูญเปล่า ความดีเหล่านั้นจะรวมกันเข้าปรุงแต่งจิตใจให้ดีขึ้น  สิ่งนี้แหละคือ บุญวาสนา
            เราจึงควรเร่งสร้างความดีเสียแต่บัดนี้ โดยหมั่นศึกษาวิชาการ ฝึกฝนตนเองทั้งทางด้านการปรับปรุงคำพูด ความขยันขันแข็ง ทำการงานให้ดีขึ้น และพยายามฝึกใจให้ผ่องใส ด้วยการหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ  คนเช่นนี้จึงเป็นคนมีบุญวาสนาที่แท้จริง

หลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
            เราต้องเร่งสร้างบุญใหม่ตั้งแต่บัดนี้ จะได้เป็นบุญเก่าติดตัวไปในวัน  หน้า โดยยึดหลักว่า
            ๑.        เช้าใดยังไม่ได้ทำทาน  เช้านั้นอย่าเพิ่งทานข้าว
            ๒.        วันใดยังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล  วันนั้นอย่าเพิ่งออกจากบ้าน
            ๓.        คืนใดยังไม่ได้สวดมนต์เจริญสมาธิภาวนา  คืนนั้นอย่าเพิ่งนอน
            เราต้องอดทนฝึกตนให้สร้างความดีเรื่อยไป แม้จะต้องกระทบกระทั่ง            กับสิ่งใด มีอุปสรรคมากเพียงไหนก็ปักใจมั่นไม่ย่อท้อ กัดฟันสู้ทำความดีเรื่อยไป

“น้ำหยดทีละหยด ยังสามารถเต็มตุ่มได้ฉันใด บัณฑิตหมั่นสั่งสมบุญทีละน้อย ย่อมเต็มเปี่ยมด้วยบุญฉันนั้น”

ขุ. ธ. ๒๕/๑๙/๓๑

อานิสงส์การมีบุญวาสนามาก่อน
            ๑.        ทำให้มีปัจจัยต่างๆ พร้อม  สามารถทำความดีใหม่ได้โดยง่าย
            ๒.        อำนวยประโยชน์ทุกอย่างดังได้กล่าวมาแล้ว
            ๓.        เป็นต้นเหตุแห่งความสุขทุกประการ
            ๔.        เป็นเสบียงติดตัวทั้งภพนี้ภพหน้า  จนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน
ฯลฯ

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

80: ชีวิตนี้ มีแต่บวก


(+) ชีวิตนี้ มีแต่บวก (+)
..........................................
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยเข้าสู่สังคมเมืองอย่างเต็มตัว ผู้คนละทิ้งถิ่นฐานในชนบทเข้าสู่ภาคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในเมือง เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตนเองมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยรายได้ที่มากกว่า ทว่าผลกระทบที่ตามมา คือ ปัญหาทางสังคมนานัปการ ทั้งการจราจรที่ติดขัด อาชญากรรม ครอบครัวที่แตกแยกเนื่องจากต่างฝ่ายต่างต้องทำงานทำให้ไม่มีเวลาให้กัน รวมไปถึงปัญหาสุขภาพ ซึ่งประเด็นสุขภาพนี้หากเป็นโรคภัยไข้เจ็บทางกายยังพอเห็นได้ชัดทำให้รักษาได้ทันท่วงที

แต่หากเป็นโรคทางใจแล้วหลายคนไม่รู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่และเต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันในทุกๆ พื้นที่ ทำให้ทุกวันนี้เรามีผู้ป่วยโรคเครียดและซึมเศร้ามากมาย หลายคนตัดสินใจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ขณะที่อีกหลายคนใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไร้ค่าไปวันๆ หนึ่ง ทั้งที่ยังมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง และพัฒนาประเทศชาติ จึงเป็นที่มาของการแสวงหาหนทางปรับกระบวนทัศน์ความคิด ผ่านคำพูดที่ง่าย แต่กลับเป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ นัก นั่นคือการ “คิดบวก”

วันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจ และวิธีเปลี่ยนความคิดจากลบเป็นบวก เผื่อผู้ที่กำลังท้อใจอยู่ตอนนี้ จะได้รับข้อคิดดีๆ และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีคุณภาพไม่มากก็น้อย

ความสำคัญของ “ความคิด”

แม้ประวัติศาสตร์ของมนุษย์จะเต็มไปด้วยการใช้กำลังเข้าต่อสู้กันยามเกิดเหตุขัดแย้ง แต่ผลลัพธ์ทุกครั้งมักจะเต็มไปด้วยความสูญเสียเสมอ และการชนะด้วยกำลังเพียงอย่างเดียวไม่อาจเป็นชัยชนะที่ยั่งยืน ในทางตรงกันข้าม การต่อสู้ทางความคิด หลักคิดที่ได้รับการยอมรับมักจะกลายเป็นกระแสที่ถูกสืบทอดไปอีกนานแสนนาน ดังที่เราจะพบว่าบุคคลที่กลายเป็นตำนานในประวัติศาสตร์มักจะมีแนวคิดที่ยิ่งใหญ่เสมอ เช่น นักปราชญ์หรือศาสดาของศาสนาต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี

“ท่านลองดูสิครับ มนุษย์เราจริงๆ ใช้กำลังสู้สัตว์ไม่ได้เลย แต่เรากลับอยู่เหนือกว่าสัตว์ทุกชนิด อย่างช้างตัวใหญ่กว่าเรา แต่เราเอาช้างมาลากซุง มาทำงานให้เราได้ เพราะจุดแข็งของมนุษย์อยู่ที่ความคิด และสังคมไหนที่สร้างให้คนคิดเป็น สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่มีพลังมาก” เป็นทรรศนะจาก ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเขียนหนังสือชุดการพัฒนาความคิดออกมาแล้วหลายเล่ม ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความคิด โดยห้วงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ล้วนมีเหตุมาจากแนวความคิดของนักคิดสำนักต่างๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม สังคมนิยม เสรีนิยม ฯลฯ

ทำไมต้อง “คิดบวก”

หลายคนคงจะเคยสังเกตตนเองหรือคนรอบข้าง เมื่อพบกับปัญหาแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาที่ต่างกันออกไป โดยบางคนจะเอาแต่บ่น ท้อ บอกว่าเราทำไม่ได้ ขณะที่บางคนมองว่าปัญหาคือความท้าทาย และลงมือสู้กับปัญหาด้วยความเชื่อมั่นว่าจะเอาชนะมันให้ได้ ซึ่งคนประเภทแรกนั้นคือพวก “คิดลบ” ซึ่ง ดร.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ผู้ที่คิดลบบ่อยๆ ก็เหมือนกับการกินยาพิษทุกวัน เป็นการบ่อนทำลายตนเองและคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว เพราะใครที่อยู่ใกล้คนคิดลบจะรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า ตรงข้ามกับคนประเภทหลังที่เป็นพวกคิดบวก ซึ่งบุคลิกภาพและพฤติกรรมจะเต็มไปด้วยพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างล้นเหลือ ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้คนคิดบวกจะรู้สึกอบอุ่น มีกำลังใจ

“คนส่วนใหญ่ล้มเหลวเพราะไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติได้ ส่วนใหญ่ที่เราแพ้ เราแพ้เพราะตัวเองทั้งนั้นครับ”

ทำไม่ง่าย..แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้

แม้ว่าการคิดบวกจะไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถฝึกให้เป็นนิสัยได้ เพราะขึ้นชื่อว่านิสัยแล้ว ไม่ว่าดีหรือไม่ดีล้วนเกิดจากความเคยชินทั้งสิ้น ดังนั้นการคิดบวกก็เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้เช่นกัน โดยก่อนอื่นลองถามตัวเองก่อนว่าต้องการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไหม ถ้าคำตอบคือ “ใช่” ก็ต้องเปลี่ยนกระบวนความคิด คือ

1.ให้มองหาแง่มุมที่ดีที่เป็นประโยชน์จากทุกๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น 2.หมั่นตั้งคำถามกับปัญหาด้วยประเด็น “เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร” 3.หัดนึกถึงภาพในแง่บวก เช่น โอกาส ความเป็นไปได้ และ 4.หมั่นพูดกับตัวเองเสมอว่า “เราทำได้” โดยทั้ง 4 ข้อนี้ ขอเพียงฝึกคิดฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง นานๆ ไปก็จะเกิดเป็นความเคยชิน กลายเป็นนิสัยประจำตัวไปในที่สุด

ขณะที่ในทางกลับกัน พฤติกรรมบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการคิดบวก หรือการคิดเชิงสร้างสรรค์ที่ต้องลด ละ เลิก มีดังนี้ 1.คิดในแง่ลบตลอดเวลา 2. พวกมากลากไป (ตามเพื่อน) เสียทุกเรื่อง 3.ปิดกั้นตนเองในวงแคบๆ 4.รักแต่งานสบาย 5.ไม่กล้าเสี่ยงไม่ว่าเรื่องใดๆ 6.ท้อใจเมื่อพบอุปสรรคหรือความล้มเหลว เป็นต้น

บุคคลตัวอย่างในการ “คิดบวก”

หากใครที่ติดตามข่าวต่างประเทศบ่อยๆ ในช่วงนี้คงได้ยินชื่อของ พ.ต.หญิง ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ (Ladda Tammy Duckworth) สตรีลูกครึ่งไทย-อเมริกัน อดีตนักบินเฮลิคอปเตอร์แบบ Black Hawk ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ที่ไปรบในสงครามอิรัก ผลจากเครื่องที่เธอขับถูกยิงตก แม้จะรอดชีวิตกลับมาได้แต่ก็ต้องเสียขาทั้ง 2 ข้าง แต่ด้วยความที่เธอไม่คิดว่าชีวิตของตนนั้นจบแล้วเนื่องด้วยความพิการ ตรงกันข้าม เธอกลับพยายามทำอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งการกลับมาฝึกขับเครื่องบินทั้งๆ ที่ใส่ขาเทียม และเธอ ยังได้รับการเลือกตั้งเป็น สส. ในรัฐอิลลินอยส์

เมื่อมีผู้ถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอไม่ยอมแพ้ พ.ต.หญิง ลัดดากล่าวว่า เพราะวิธีคิดที่ไม่ยอมถูกจำกัดอยู่ในกรอบตั้งแต่เข้ารับราชการทหาร ทั้งที่เป็นผู้หญิง แต่กลับไม่เคยคิดว่าตนเองด้อยกว่าเพื่อนทหารที่เป็นผู้ชาย กระทั่งปัจจุบัน แม้จะกลายเป็นคนพิการ แต่ก็ไม่ยอมแพ้เพียงเพราะเป็นคนพิการ สิ่งเหล่านี้เป็นการ “ทำลายกรอบ” ความคิดในแง่ลบทั้งสิ้น เช่นผู้หญิงต้องเป็นเพศที่อ่อนแอ หรือคนที่พิการไม่สามารถทำประโยชน์ใดๆ ได้ เป็นต้น

“คิดบวก” กับการพัฒนาบ้านเมือง

มีคำถามที่ยังคงถูกถามอย่าง ต่อเนื่องว่าประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนามาแล้วหลายสิบปี เมื่อไรจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเสียที คำถามนี้ถูกวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการนินทาว่าร้าย ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” ซึ่งความคิดดังกล่าวก็เป็นความจริง โดยจะเห็นได้จากพฤติกรรมชอบนินทา ปล่อยข่าวลือ หรือเมื่อเห็นใครล้มเหลวก็มักจะถากถางเยาะเย้ยมากกว่าจะให้กำลังใจ

“สังคมไทยกำลังมีปัญหา เต็มไปด้วยคนคิดลบที่จ้องจะจับผิด นินทาว่าร้าย เหยียบย่ำคนที่ล้มเหลว แต่หากใครที่ต่อสู้จนชนะขึ้นมา ก็กลับจะมาแสวงหาผลประโยชน์จากคนที่ตัวเองเคยดูถูก กลับมาเกาะเพื่อจะใช้เป็นเครื่องมือ”

นอกจากนี้แล้ว ดร.เกรียงศักดิ์ยังฝากเตือนไปยังพ่อแม่ที่ชอบดุด่าลูก ซึ่งในบางครั้งหากใช้คำที่รุนแรงโดยไม่ยั้งคิด เช่น ชอบด่าลูกว่าโง่ ชาตินี้ไม่มีทางแข่งขันกับใครได้ สิ่งเหล่านี้จะฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึกของเด็ก และจะทำให้เด็กกลายเป็นคนคิดลบ ไม่มั่นใจในตัวเองไปในที่สุด

“คนที่คิดบวก จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่คนรอบข้าง ดังนั้นแทนที่เราจะนั่งด่ากัน สู้ลุกขึ้นมาช่วยกันทำความดีจะดีกว่าไหม” นักวิชาการชื่อดังกล่าวทิ้งท้าย

ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ บุคคลที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จทั้งหลายมักมีช่วงเวลาที่ล้มเหลว บางคนล้มเหลวจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่สิ่งที่พวกเขาต่างไปจากคนทั่วไปที่เมื่อล้มเหลวก็มักจะล้มเลิก บุคคลผู้กลายเป็นตำนานเหล่านี้ไม่เคยท้อถอย เมื่อวิธีนี้ไม่ได้ผล ก็พร้อมจะทดลองวิธีอื่นๆ เรียกว่าตราบใดที่ชิวิตไม่สิ้นก็ไม่ยอมเลิกราที่จะต่อสู้

ซึ่งไม่ว่าตอนท้ายของชีวิตพวกเขาจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม แต่อย่างน้อยเรื่องราวของพวกเขาก็กลายเป็นตำนาน เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังศึกษาและเอาเป็นแบบอย่างต่อไป

ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า...เขาเหล่านั้นได้เป็น “ผู้ชนะ” แล้ว

จาก : SCOOP@NAEWNA.COM
..........................................

"วิธีการฝึกคิดบวก"

มนุษย์ เราสามารถสร้างนิสัยคิดบวกได้พอๆ กับนิสัยคิดลบ แต่นิสัยคิดลบเกิดได้ง่ายกว่า เพราะต่างทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ฉะนั้น ลองทำตามวิธีต่อไปนี้ดูนะคะ เพื่อสร้างนิสัยคิดในด้านดี และขจัดความคิดด้านร้ายให้หมดไป

วิธีการฝึกคิดบวกนั้นไม่ยาก ลองดู 12 ขั้นตอนง่ายๆ ต่อไปนี้ค่ะ

1. ให้มองไปข้างหน้า อย่ามองย้อนหลัง ทุกคนเคยทำผิดมาแล้วทั้งนั้น แต่ต้องไม่จมอยู่กับอดีตที่ผิดพลาด เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป จงวางเป้าหมายเล็กๆที่เป็นไปได้ และพยายามทำให้สำเร็จ

2. รู้จักให้อภัยตัวเองและผู้อื่น สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นผลพวงมาจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น ในบางครั้งบางคราว เราต่างตัดสินใจผิดพลาด แต่เมื่อรู้สำนึกแล้ว ก็ต้องปล่อยให้มันผ่านไป เรียกว่าเป็นการให้อภัย และต้องให้อภัยตัวเองเมื่อทำผิดพลาด เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไป รวมทั้งใช้ความผิดพลาดจากอดีตเป็นบทเรียน เพื่อก้าวย่างที่ดีกว่าในอนาคต

3. ถ้าแก้วมีน้ำแค่ครึ่งเดียว จงเติมให้เต็มแก้ว การมองว่า มีน้ำเหลืออยู่ครึ่งแก้ว หรือน้ำหายไปครึ่งแก้วนั้น ถูกทั้ง 2 อย่าง อยู่ที่ว่าผู้มองเป็นคนมองโลกในแง่ดีหรือร้าย และไม่ผิดอะไรที่คุณจะเติมน้ำให้เต็มแก้ว

4. มองหาบุคคลต้นแบบ ทุกคนควรมีบุคคลต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจ คนคนนั้นอาจเป็นผู้ที่เอาชนะอุปสรรคใหญ่ๆได้สำเร็จ และประสบความสำเร็จอย่างงดงามในที่สุด หรือเป็นผู้ที่ทำงานหนักและสัมฤทธิ์ผล จงเอาคนนั้นเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต

5. พาตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวงของคนที่ประสบความสำเร็จและมอง โลกในแง่ดี มันเป็นเรื่องมหัศจรรยู์ที่พลังอำนาจของคนอื่น สามารถส่งผลกระทบต่อพลังในตัวเราได้ คนที่คิดในด้านบวกจะช่วยกระตุ้นและเป็นแรงบันดาลใจให้เรา เชื่อมั่นในตัวเองว่า เราสามารถทำสิ่งที่มุ่งมั่นไว้ให้สำเร็จได้ จำไว้ว่า..จงอยู่ให้ห่างคนที่คิดแต่แง่ร้าย ซึ่งจะขัดขวางการเดินหน้าของคุณ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล”

6. เห็นคุณค่าสิ่งดีๆในชีวิต เมื่อเราพอใจกับทุกเรื่องดีๆที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม มันจะช่วยให้เราขจัดความคิดในด้านลบออกไป การโฟกัสแต่สิ่งดีๆเหล่านี้ จะทำให้อุปสรรคที่เราเผชิญอยู่ กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เราจัดการได้ง่ายขึ้น

7. รู้จักบริหารเวลาอย่างชาญฉลาด อย่าเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่คุณตั้งเป้าไว้ในชีวิต ข้อสำคัญคือ มุ่งทำในเรื่องที่ทำให้ชีวิตของคุณเป็นไปดังที่หวังไว้ ซึ่งจะส่งผลให้คุณมีทัศนคติที่ดี

8. จินตนาการว่ามีสิ่งดีๆเกิดขึ้น แปลกแต่จริงที่ว่า คนส่วนมากมักชอบวาดภาพเรื่องเลวร้ายกำลังเกิดขึ้น โดยมักจะพูดว่า “ถ้ามันเกิดขึ้น...” จงฝึกนึกถึงเรื่องดีๆกำลังเกิดขึ้น มองเห็นภาพงานที่กำลังทำเดินไปด้วยดี (ไม่ว่าจะเป็นงานที่บ้านหรือที่ทำงาน) และได้รับคำชมจากคนรอบข้างว่า“เยี่ยมมาก” เพราะนั่นจะเป็นกำลังใจให้คุณคิดบวกต่อไป

9. ความผิดพลาดมีไว้ให้เรียนรู้ มิใช่แส้ที่เอาไว้เฆี่ยนตี ทุกคนล้วนเคยทำผิดทั้งนั้น และถึงแม้ว่าได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ก็ยังทำพลาด ขอให้จำไว้ว่า ยังมีโอกาสให้เริ่มต้นใหม่ ความผิดพลาดต่างๆที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียน เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข สิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคต

10. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ถ้ารอบๆตัวเต็มไปด้วยข้าวของวางระเกะระกะ กระจัดกระจายไปทั่วห้อง ลองหาเวลาจัดเก็บ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งจะช่วยให้คุณเปลี่ยนมุมมอง ความคิดได้มาก ใครจะมองโลกในแง่ดีได้ ถ้าต้องอยู่ท่ามกลางสภาพสกปรกรกรุงรังตลอดเวลา เพราะสภาพแวดล้อมที่ดี จะช่วยสร้างและเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดทัศนคติด้านบวก

11. รับข้อมูลข่าวสารที่ดี หมั่นอ่านบทความที่สร้างแรงจูงใจ หรือฟังธรรมะที่กระตุ้นให้รู้สึกตื่นตัว และเกิดปัญญา ซึ่งจะช่วยให้มองโลกและชีวิตได้อย่างเข้าใจ มีความหวัง และความสุข

12. ให้คำมั่นสัญญากับตัวเอง และบอกตัวเอง ซ้ำๆ เพราะคำมั่นสัญญาดีๆมีผลต่อกระบวนการคิดของตัวเอง เช่น ถ้าคุณมีอาการซึมเศร้าเป็นประจำ คำมั่นสัญญาของคุณก็คือ “ฉันมีความสุข ฉันควบคุมตัวเองได้” บอกตัวเองเช่นนี้หลายๆครั้งในแต่ละวัน แล้วคุณจะรู้สึกถึงพลังความคิดด้านบวกที่เกิดขึ้น
..........................................
จะเห็นว่าการที่มนุษย์มีความคิดเชิงบวกแล้ว ผลดีก็คือ
- รู้จักให้อภัยตัวเองและผู้อื่น
- มนุษย์จะสามารถ มองโลกและชีวิตได้อย่างเข้าใจ
- มองอนาคตอย่างมีความหวัง และมีความสุขมากขึ้น
- เกิดแรงบันดาลใจ

จาก : khonsurin

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

79: ดวงแก้วพุทโธ: องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ


ครั้งหนึ่ง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กับพระลูกศิษย์รูปหนึ่ง เที่ยวธุดงค์แสวงหาที่วิเวกตามอำเภอต่าง ๆ ในเขตเชียงใหม่ ได้เดินธุดงค์ข้ามเขาหลายลูก และไปพักอยู่ชายเขาแห่งหนึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านชาวเขาราวสองกิโลเมตร โดยพักอยู่ใต้ร่มไม้ เวลาฝนตกลงมาก็เปียกโชกแต่ก็ทนเอาไม่เดือนร้อนไม่สนใจเพราะทนได้

ตอนเช้าพากันเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านชาวเขา พวกชาวเขาเห็นท่านเข้าไปบิณฑบาตก็ถามว่า ตุ๊เจ้ามาธุระอะไร? ท่านบอกว่ามาบิณฑบาต เขาถามว่า มาบิณฑบาตคืออย่างไร? พวกเขาไม่เข้าใจ เขาเคยรู้จักพระเหมือนกัน แต่ไม่รู้จักขนบธรรมเนียมของพระ ท่านบอกว่าบิณฑบาตก็คือพระมาขอแบ่งข้าวจากชาวบ้านไปกิน เขาถามว่าจะเอาข้าวสารหรือข้าวสุก? ท่านตอบว่าข้าวสุก 

เขาก็บอกกันต่อ ๆ ไปให้เอาข้าวสุกมาใส่บาตรท่าน เมื่อได้ข้าวแล้วท่านก็พาพระลูกศิษย์กลับมายังร่มไม้ ที่พัก และฉันข้าวเปล่า ๆ อยู่นานวัน ขณะที่ท่านพักอยู่ใต้ร่มไม้ใกล้หมู่บ้านแห่งนี้พวกเขาใส่บาตรให้ก็จริง แต่พวกเขาไม่มี ความเลื่อมใสและไว้ใจท่านเลย พอตกกลางคืนหัวหน้าชาวบ้านตีเกาะนัดให้ชาวบ้านมาประชุมกันแล้วประกาศว่า ขณะนี้มีเสือเย็นสองตัว (หมายถึงพระอาจารย์มั่นและพระลูกศิษย์) มาพักอยู่ที่ป่าใกล้หมู่บ้าน 

คำว่า “เสือเย็น” หมายถึง “เสือสมิง” นั่นเอง ขอให้ชาวบ้านทั้งหลายอย่าได้ไว้ใจเสือเย็นสองตัวนี้ มันแปลงเป็นพระจะมาจับพวกเราไปกินเป็นอาหารห้ามไม่ให้เด็กและผู้หญิงเข้าไปในป่าเป็นอันขาด แม้ผู้ชายจะเข้าไปในป่าก็ควรจะมีพรรคพวกเป็นเพื่อนไป ด้วยหลาย ๆ คนและต้องมีอาวุธป้องกันตัวไปด้วย ไม่ควรเดินป่าตัวคนเดียวเป็นอันขาดจะมีอันตรายถูกเสือเย็นสองตัวตะครุบกัดกิน 

พวกชาวเขาได้จัดเวรยามครั้งละ 3 – 4 คน มีอาวุธมีดพร้าขวานแหละหน้าไม้ ให้มาคอยเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของพระอาจารย์มั่น แหละพระลูกศิษย์อยู่ใกล้ ๆ ที่พักอยู่ตลอดเวลาทั้งวันและทั้งคืนเป็นผลัด ๆ 

ไม่ว่าท่านจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนา พวกเขาจะคอยสอดส่ายสายตาจับตาดูความเคลื่อนไหวไม่ยอม ให้คลาดสายตาไปได้เลย ไม่พูดไม่จาไม่ไถ่ถามอะไรทั้งนั้น เอาแต่จ้องมองทมึนทึงท่าเดียว แต่เวลาเข้าไปบิณฑบาตพวกเขาก็ใส่ให้อย่างเสียไม่ได้ ใส่ให้ด้วยความเกรงกลัวต้องการเอาใจไว้บ้างมากกว่า ถ้าไม่ใส่บาตรให้เสียเลย เดี๋ยวเสือเย็นจะโกรธใหญ่หาเรื่องทำร้ายเอาได้ง่าย ๆ 

เหตุการณ์เป็นไปอย่างนี้อยู่หลายวันทีเดียว บรรยากาศภายในหมู่บ้าน ตึงเครียดมาก แต่พระอาจารย์มั่นก็หาได้หวั่นไหวไม่ ท่านกำหนดวาระจิตตรวจสอบดูจิตใจชาวบ้านทุกคนอยู่ทุกระยะ ในที่สุดหัวหน้าหมู่บ้านก็จัดให้มีการประชุมขึ้นอีก ได้มีการปรึกษาพิจารณาสถานการณ์ของหมู่บ้านอย่างเคร่งเครียดว่าจะเอายังไงกับพระสององค์นี้ต่อไป 

พวกเวรยามที่มาคอยเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของพระอาจารย์ มั่นได้รายงานว่า ไม่เห็นพระสององค์มีอะไรผิดแปลกเลย เห็นแต่ท่านนั่งหลับตาบ้าง เดี๋ยวลุกขึ้นเดินไปเดินมาบ้าง นอนงีบเดียวแล้วก็ลุกขึ้นมาเดินอีก เดินพักหนึ่งแล้วก็นั่งหลับตา ไม่รู้ว่าท่านนั่งหลับตาทำไมและเดินกลับไปกลับมาหาอะไร จะหาว่าของหายก็ไม่เห็นหาเจอสักที (หมายถึงเห็นท่านเดินจงกรม) 

หัวหน้าหมู่บ้านได้ฟังดังนั้นก็นิ่งอึ้ง มีชาวบ้านผู้อาวุโสคนหนึ่งเป็นผู้เฒ่าของหมู่บ้าน เคยเข้าไปในเมือง รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีคนเมืองอยู่บ้าง รู้จักพระสงฆ์องค์เจ้าปฏิบัติธรรมพอสมควร แกได้พูดขึ้นว่า...... 

"พระสององค์นี้เห็นจะเป็นพระจริง ๆ ไม่ใช่เสือเย็นปลอมแปลงมาหรอก พระพวกนี้ชอบท่องเที่ยวอยู่ในป่าปฏิบัติตัวเป็นนักบุญ การที่พวกเราชาวบ้านไปสงสัยและกล่าวหาพระสององค์นี้ว่าเป็นเสือเป็นสางน่ากลัวจะไม่ถูกต้องเสียแล้ว จะทำให้พวกเรามีบาปหนักผีป่าผีปู่ย่าตาทวดจะโกรธเอาเปล่า ๆ ทางที่ควรจะพากันไปพบพระสององค์นี้แล้วไถ่ถามเอาให้รู้ต้นสายปลายเหตุว่า มานั่งหลับตาทำไม มาเดินไปเดินมาหาอะไร" 

พอได้เวลาบ่ายวันนั้น ชาวบ้านก็พากันมาจริง ๆ พวกเขาถามว่า ตุ๊เจ้านั่งหลับตานิ่ง ๆ และเดินกลับไปกลับมาทั้งกลางวันกลางคืนมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว ตุ๊เจ้านั่งและเดินหาอะไร 

พระอาจารย์มั่นตอบว่า “พุทโธหาย เรานั่งและเดินหาพุทโธ” 

“พุทโธ เป็นตัวยังไง รูปร่างสูงต่ำดำขาวยังไงจะให้ชาวบ้านช่วยหาให้ได้ไหม ” หัวหน้าหมู่บ้านถามด้วยความสงสัย 

พระอาจารย์มั่นตอบว่า “ พุทโธ ที่ว่านี้ เป็น ดวงแก้วอันวิเศษ สุดประเสริฐ ใครได้ไว้แล้วจะโชคดี ถ้าพวกสูจะช่วยเราหาให้พบก็ยิ่งดีใหญ่ จะได้เห็นพุทโธเร็ว ๆ” 

“พุทโธ ของตุ๊เจ้าหายมานานแล้วหรือ” ผู้เฒ่าอาวุโสของหมู่บ้านถามบ้าง

“ไม่นานหรอก ถ้าพวกสูช่วยหาให้ยิ่งจะพบเร็วกว่าเราหาเพียงคนเดียว ” พระอาจารย์มั่นตอบอย่างเป็นปริศนาธรรม 

“พุทโธ เป็นดวงแก้วใหญ่ไหม” หัวหน้าหมู่บ้านถาม 

“ไม่ใหญ่ไม่เล็ก พอดีกับเราและกับพวกสูนั่นแหละ ใครหา พุทโธ พบคนนั้นจะเป็นผู้ประเสริฐ มีตาทิพย์มองเห็นอะไรได้ตามใจหวัง” พระอาจารย์มั่นตอบ 

“มองเห็นนรกสวรรค์ได้ไหมตุ๊เจ้า” 

“มองเห็นซิ ถ้ามองไม่เห็นจะเรียกว่าเป็นดวงแก้ววิเศษได้ยังไง” 

“ลูกตาย เมียตาย ผัวตาย มองเห็นได้ไหมตุ๊เจ้า” 

“เห็นซี เห็นหมดทุกอย่างถ้าต้องการอยากเห็น” 

“ดวงแก้วพุทโธนี้สว่างมากไหมตุ๊เจ้า” 

“สว่างมาก สว่างยิ่งกว่าพระอาทิตย์ตั้งร้อยดวงพันดวงเพราะพระอาทิตย์ไม่สามารถส่องให้เห็นนรกสวรรค์ได้ แต่ดวงพุทโธสามารถส่องเห็นหมด” พระอาจารย์มั่นตอบอย่างอารมณ์ดี 

“ผู้หญิงช่วยหาดวงแก้วพุทโธได้ไหมตุ๊เจ้า ” เขาถาม 

“ได้ซี ผู้หญิงก็หาได้ เด็ก ๆ ก็ช่วยกันหาได้” 

“ดวงแก้วพุทโธประเสริฐในทางใดบ้าง กันผีได้ไหม” 

“ดวงแก้วพุทโธประเสริฐใช้ได้หลายทางจนนับไม่ถ้วน ผีสางเทวดาต้องยอมกราบพุทโธทั้งนั้น ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าดวงแก้วพุทโธ ผีกลัวพุทโธมากต้องกราบพุทโธ ใครหาพุทโธแม้ยังไม่พบ ผีก็เริ่มกลัวแล้ว” พระอาจารย์มั่นตอบยิ้ม ๆ 

“พุทโธเป็นดวงแก้วสีอะไรตุ๊เจ้า” หัวหน้าหมู่บ้านถาม 

“พุทโธเป็นดวงแก้วสว่างไสว มีหลายสีจนนับไม่ถ้วน พุทโธนี้เป็นสมบัติอันวิเศษของพระพุทธเจ้า พุทโธเป็นองค์แห่งความรู้สว่างไสวไม่เป็นวัตถุ พระพุทธเจ้าท่านมอบไว้ให้เราหลายปีแล้ว แต่เราเองยังหาพุทโธที่ท่านมอบให้ยังไม่เจอ ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน แต่จะอยู่ที่ไหนไม่สำคัญนัก ที่สำคัญก็คือ ถ้าพวกสูจะพากันช่วยเราหาพุทโธจริง ๆ ให้พากันนั่งหรือเดินนึกในใจว่าพุทโธ ๆ ๆ อยู่ภายในใจโดยเฉพาะ ไม่ให้จิตส่งออกนอกกาย ให้รู้อยู่กับคำว่าพุทโธเท่านั้น ถ้าทำอย่างนี้พวกสูอาจเจอพุทโธก่อนเราก็ได้” 

“การนั่งหรือเดินหาพุทโธจะให้นั่งหรือเดินนานเท่าไรถึงจะพบพุทโธแล้วหยุดได้ตุ๊เจ้า” 

“ให้นั่งหรือเดินเพียงชั่วหม้อข้าวเดือดจนสุกหรือนาน กว่านั้นก่อน สำหรับผู้ตามหาพุทโธทีแรก พุทโธท่านยังไม่อยากจะให้เราตามหาท่านนานนัก กลัวจะเหนื่อยแล้วตามพุทโธไม่ทัน เดี๋ยวจะขี้เกียจเสียก่อน ทีหลังจะอยากตามหาท่านแล้วเลยจะไม่พบท่าน เอาเพียงเท่านี้ก่อน ถ้าอธิบายมากกว่านี้จะจำวิธีไม่ได้แล้วตามหาพุทโธไม่ พบ” พระอาจารย์มั่นให้อรรถาธิบาย 

พวกชาวป่าได้ฟังแล้วก็ชวนกันกลับไปโดยไม่มีการยกมือไหว้ร่ำลาอะไร เพราะเป็นนิสัยของชาวป่ายังงั้นเอง เมื่อพวกเขาจะไปก็ลุกไปเฉย ๆ พระอาจารย์มั่นก็กำหนดจิตติดตามดูความเคลื่อนไหวต่อไปก็พบว่า เมื่อพวกเขาไปถึงหมู่บ้านแล้ว พวกชาวบ้านทั้งหลายก็แห่กันมารุมซักถามเป็นการใหญ่ หัวหน้าหมู่บ้านก็อธิบายให้ฟังตามที่พระอาจารย์มั่นส ั่งสอนเรื่องดวงแก้วพุทโธ 

พวกชาวบ้านต่างก็ตื่นเต้นอยากจะได้ดวงแก้วพุทโธเอะอะ กันใหญ่ เพราะเป็นของดีของวิเศษ ต่างก็พากันแยกย้ายไปฝึกหัดนึกท่องพุทโธในใจโดยทั่วกันไม่นึกอย่างอื่น นึกแต่คำว่าพุทโธ ๆ ๆ นับตั้งแต่หัวหน้าหมู่บ้านลงมาถึงผู้หญิงและเด็ก ๆ ที่พอจะรู้วิธีนึกท่องในใจหาพุทโธได้ 

พวกชาวเขาเป็นคนซื่อโดยกำเนิด ถ้าเชื่อเลื่อมใสศรัทธาอะไรแล้วก็คิดเลื่อมใสเลยไม่มีอะไรสงสัยข้องใจ จิตของพวกเขาจึงเข้าถึงสมาธิได้รวดเร็วและเป็นที่อัศจรรย์ด้วยบารมีของพระพุทธเจ้า ปรากฏว่าไม่นานนัก ชาวป่าผู้หนึ่งซึ่งเดินท่องพุทโธนั่งท่องพุทโธตามหาดวงแก้วพุทโธนั้นบังเกิดประสบเข้ากับธรรมะ คือความสงบสุขทางใจด้วยอำนาจการนึกบริกรรมพุทโธตามวิธีสมาธิแยบยลที่พระอาจารย์มั่นใช้อุบายสอน เขารีบวิ่งออกจากหมู่บ้านมาเล่าให้พระอาจารย์มั่นฟัง ว่าก่อนหน้า 3 – 4 วันที่เขาจะประสบกับดวงแก้วพุทโธนั้น ได้นอนหลับและฝันไป ฝันเห็นพระอาจารย์มั่นเอาเทียนใหญ่จุดไฟสว่างไสวไปติดไว้บนศีรษะเขา ทำให้ร่างกายของเขาสว่างไสวไปหมดเขาดีใจมาก มีความสุขทางใจอย่างบอกไม่ถูก 

พระอาจารย์มั่นจึงได้เมตตาแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติมให้ฝึกขั้นสูงต่อไปโดยลำดับ ปรากฏว่าเขาไปฝึกอยู่ได้ไม่กี่วันก็เข้าถึงสมาธิขั้น สูงสามารถบังคับดวงแก้วพุทโธให้สว่างไสวใหญ่และเล็กได้ ให้เป็นไปตามต้องการได้จนเกิดอำนาจจิตอภิญญาสามารถล่วงรู้ใจผู้อื่นได้ว่า ใจของใครคิดอะไร มีความเศร้าหมองและผ่องใสเพียงใด แถมยังบอกพระอาจารย์มั่นอย่างซื่อ ๆ ตรงไปตรงมาว่าเขาสามารถรู้เห็นสภาพจิตของพระอาจารย์มั่นและพระที่อยู่ด้วยได้อย่างชัดเจน 

พระอาจารย์มั่นหัวเราะชอบใจจึงถามเป็นเชิงเล่น ๆ ว่า " จิตของเราเป็นยังไง มีบาปไหม? " 

เขารีบตอบทันทีว่า " จิตของตุ๊เจ้าไม่มีจุดไม่มีดวงเหลืออยู่แล้ว มีแต่ความสว่างไสวน่าอัศจรรย์เหมือนดาวประกายพรึกลอย สุกปลั่งอยู่ในอก ตุ๊เจ้าเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลกไม่มีใครเสมอเหมือน เฮาบ่ เคยเห็น แหม.....ตุ๊เจ้ามาอยู่ที่นี่นานตั้งร่วมปีแล้ว ทำไมไม่สอนเฮาบ้างก๊าแต่แรกมาอยู่ " (ก๊า แปลว่า เล่าหรืออะไร ๆ ได้อีกหลายอย่าง เป็นคำเหนือติดท้ายประโยคได้ทั้งคำถามคำตอบ) 

พระอาจารย์มั่นตอบว่า "จะให้เราสอนได้อย่างไรก็ไม่เคยเห็นพวกสูมาศึกษาไต่ถามเรานี่นา เขาตอบว่า เอาบ่ฮู้ก๊าว่าตุ๊เจ้าเป็นผู้วิเศษ ถ้าฮู้ เฮาจะทนอยู่ได้อย่างไร ต้องรีบแล่นมาหาแน่ ๆ ทีนี้พวกเฮาฮู้แล้วว่าตุ๊เจ้าเป็นคนฉลาดมาก เวลาพวกเฮามาถามว่าตุ๊เจ้านั่งหลับตานิ่ง ๆ และเดินกลับไปกลับมาทำไม กำลังหาอะไรหรือ ? ตุ๊เจ้าก็บอกพวกเฮาว่า 
พุทโธหาย กำลังหาพุทโธ ขอให้พวกเฮาช่วยตามหาที 

เมื่อถามถึงพุทโธเป็นลักษณะอย่างไร ตุ๊เจ้าก็บอกว่าเป็นดวงแก้ววิเศษสว่างไสวความจริงตุ๊ เจ้าเป็นพุทโธอยู่แล้ว มิได้ทำให้พุทโธสูญหายไปไหน แต่เป็นอุบายอันฉลาดของตุ๊เจ้าที่เมตตาสงสารพวกเฮาชาวป่าชาวดอย ให้พวกเฮาภาวนาพุทโธเพื่อให้จิตพวกเฮาสว่างไสวเหมือน จิตตุ๊เจ้าต่างหาก เฮาฮู้แล้วว่าตุ๊เจ้าเป็นผู้ประเสริฐเฉลียวฉลาด ปรารถนาให้พวกเฮาได้บุญใหญ่ มีความสุข พบพุทโธดวงแก้วประเสริฐที่ใจตัวเอง มิใช่ให้หาพุทโธให้ตุ๊เจ้าเลย !" 

อนึ่ง....ที่ชาวป่าผู้บรรลุสมาธิเข้าถึงฌานขั้นสูงนี้จนเกิดอำนาจจิตอภิญญาสามารถรู้เห็นจิตใจผู้อื่นได้ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เขาไม่สามารถจะรู้เห็นสภาวะจิตใจของผู้ที่มีภูมิธรรม สูงกว่าได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูง แต่ที่เขาสามารถเห็นสภาวะจิตของพระอาจารย์มั่นเป็นดวงแก้วประกายพรึกได้นั้นเป็นเพราะพระอาจารย์มั่นยินยอมให้เห็นได้ 

ทีนี้นับตั้งแต่ชาวป่าคนนั้นได้เห็นพุทโธหรือธรรมกายในใจตนเองแล้ว เรื่องก็กระจายไปทั่วหมู่บ้านในไม่ช้า ทำให้ชาวบ้านต่างก็พากันเร่งภาวนาพุทโธไปตาม ๆ กันเพราะอยากจะได้ดวงแก้วพุทโธบ้าง เพราะเกิดความเชื่อถือเลื่อมใสพระอาจารย์มั่นมาก เรื่องที่สงสัยว่าท่านจะเป็นเสือเย็นหรือเสือสมิงก็หายไป ไม่มีใครกล้ากล่าวถึงอีกเลย 

นับแต่นั้นมา เวลาท่านออกบิณฑบาตพวกชาวบ้านต่างก็พากันใส่บาตรเป็น แถวและติดตามส่งบาตรรพากันขอศึกษาธรรมเพิ่มเติมกับท่านทุกวัน อาหารการขบฉันที่เคยขาดแคลนก็กลายเป็นความสมบูรณ์ขึ้น ชาวป่ายังช่วยกันสร้างกระท่อมมุงหลังคาใบไม้ให้เป็นกุฏิที่พักถากถางป่ารกรุงรังให้เป็นที่เดินจงกรม ปัดกวาดคลานกุฏิให้สะอาดกว้างขวางน่าอยู่อาศัยกว่าเดิม 

ลงพวกชาวป่าได้เชื่อถือและเคารพศรัทธาเลื่อมใสแล้วเป็นต้องนับถืออย่างถึงใจจริง ๆ ถึงไหนถึงกัน เป็นก็เป็นด้วยกัน ตายก็ตายด้วยกัน แม้ชีวิตของพวกเขาก็ยอมสละได้ พระอาจารย์มั่นพูดอะไร พวกเขาเชื่อฟังและเคารพอย่างถึงใจ การบริกรรมภาวนาหาพุทโธ ท่านได้ค่อย ๆ สอนให้เขยิบขึ้นไปตามขั้นตามนิสัยของแต่ละคนซึ่งมีสติปัญญาไม่เหมือนกัน คนไหนฉลาดก็ได้รับการสอนวิปัสสนาสอดแทรกควบคู่ไปด้วย อุบายแปลก ๆ อันชาญฉลาดแยบยลให้เกิดความรอบรู้ชำนาญขึ้นตามลำดับ 

ชั่วเวลาไม่นาน ชาวบ้านหลายคนก็สำเร็จทางในได้พบดวงแก้วพุทโธเพิ่มขึ้นหลายคน ปีนั้นท่านเลยต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่นไปไหนไม่ได้ เพราะชาวป่าไม่ยอมให้ไป รวมเวลาแล้วนับปีกว่า จึงได้ลาจากกันในที่สุด

คัดลอกเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งบันทึกโดยท่านพระอาจารย์หลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน