วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

90: มงคลชีวิต 38 ประการ


มงคล คือเหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำรงชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัตินำมาจากบทมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญหรือมี "มงคลชีวิต" ซึ่งมี ๓๘ ประการได้แก่



มงคลที่ 1.ไม่คบคนพาล

อย่าคบมิตร ที่พาล สันดานชั่ว         จะพาตัว เน่าดิบ จนฉิบหาย
แม้ความคิด ชั่วช้า อย่ากล้ำกราย     เป็นมิตรร้าย ภายใน ทุกข์ใจครัน


มงคลที่ 2.การคบบัณฑิต
ควรคบหา บัณฑิต เป็นมิตรไว้         จะช่วยให้ พ้นทุกข์ สบสุขสันต์
ความคิดดี เลิศล้ำ ยิ่งสำคัญ            ควรคบกัน อย่าเขว ทุกเวลา

มงคลที่ 3.การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
ควรบูชา ไตรรัตน์ ขัตติเยศร์           ผู้วิเศษ ก่อเกื้อ เหนือเกศา
ครูอาจารย์ เจดีย์ ที่สักการ์             ด้วยบุปผา ปฏิบัติ สวัสดิ์การ

มงคลที่ 4.การอยู่ในถิ่นอันสมควร
เป็นเมืองกรุง ทุ่งนา หรือป่าใหญ่      ทางมา-ไป ครบครัน ธัญญาหาร
มีคนดี ที่ศึกษา พยาบาล                ปลอดภัยพาล ควรอยู่กิน ถิ่นนั้นแล


มงคลที่ 5.เคยทำบุญมาก่อน
กุศลบุญ คุณล้ำ เคยทำไว้              จะส่งให้ สวยเด่น เช่นดวงแข
ทั้งทรัพย์ยศ ไมตรี มีเย็นแด           เพราะกระแส บุญเลิศ ประเสริฐนัก

มงคลที่ 6 การตั้งตนชอบ
ต้องตั้งตน กายใจ ในทางถูก          เร่งฝังปลูก ตนไว้ ให้ถูกหลัก
เมื่อตัวตน ยังมี เป็นที่รัก                ควรพิทักษ์ ให้งาม ตามเวลา

มงคลที่ ความเป็นพหูสูต
การสนใจ ใฝ่คว้า หาความรู้            ให้เป็นผู้ แก่เรียน เพียรศึกษา
มีศีลดี สติมั่น เกิดปัญญา               ย่อมนำพา ตัวรอด เป็นยอดดี

มงคลที่ 8 การรอบรู้ในศิลปะ
ศิลปะ ต่างอย่าง ทางอาชีพ             ควรเร่งรีบ เรียนรู้ ชูศักดิ์ศรี
มีบางคน จนอับ กลับมั่งมี               ฉลาดดี มีศิลป์ หากินพอ

มงคลที่ มีวินัยที่ดี  
อันวินัย นำระเบียบ สู่เรียบร้อย        คนใหญ่น้อย เปรมปรีดิ์ ดีนักหนา
วินัยสร้าง กระจ่างข้อ ก่อศรัทธา      เพราะรักษา กติกา พาร่วมมือ
ไม่พูดเท็จ พูดสอดเสียดและพูดมาก ละความยาก สร้างวิบาก ฝากยึดถือ
คนหมู่มาก มักถางถาก ปากข่าวลือ   ต้องสัตย์ซื่อ ถือวินัย ใช้ร่วมกัน

มงคลที่ 10 กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต
เปล่งวจี สัจจะ นวลละม่อม             กล่าวเกลี้ยกล่อม ไพเราะ กาลเหมาะสม
เจือประโยชน์ เมตตา ค่านิยม          รื่นอารมณ์ ผู้ฟัง ดังเสียงทอง

มงคลที่ 11 การบำรุงบิดามารดา
คนที่หา ได้ยาก มากไฉน               เพราะว่าใน โลกนี้ มีเพียงสอง
คือพ่อแม่ เกิดเกล้า เหล่าลูกต้อง     ตอบสนอง พระคุณ ได้บุญแรง


มงคลที่ 12 การสงเคราะห์บุตร
เป็นมารดา บิดา ทำหน้าที่              ให้บุตรมี พำนัก เป็นหลักแหล่ง
ส่งเสริมบุตร ธิดาตน กุศลแรง         ย่อมส่องแสง เพิ่มพูน ตระกูลวงศ์

มงคลที่ 13.การสงเคราะห์ภรรยา
มีคู่ครอง ต้องไม่ทำ ให้ช้ำจิต          จะพาผิด ไปข้าง ทงผุยผง
ต้องสงเคราะห์ แก่กัน ให้มั่นคง        รักยืนยง ด้วยกัน ถึงวันตาย

มงคลที่ 14.ทำงานไม่คั่งค้าง
จะทำงาน การใด ตั้งใจมั่น              อย่าผัดวัน ทำเล่น เช้า เย็น สาย
ไม่ทิ้งคา อากูล มากมูลมาย            เร่งคลี่คลาย ให้เสร็จ สำเร็จการ

มงคลที่ 15.การให้ทาน
ควรบำเพ็ญ ซึ่งทาน คือการให้         ท่านว่าไว้ สวยงาม สามสถาน
หนึ่งให้ของ สองธรรมะ ขนะมาร       อภัยทาน ที่สาม งามเหลือเกิน

มงคลที่ 16.การประพฤติธรรม
การประพฤติ ตามธรรม คำพระสอน   ไม่เดือดร้อน ถอนทุกข์ ยามฉุกเฉิน
คนรักธรรม ธรรมรักษ์คน ผลเจริญ    นั่ง,ยืน,เดิน นอน,สุข ทุกข์ไม่มี


มงคลที่ 17.การสงเคราะห์ญาติ
เมื่อยามญาติ อัตคัด เกินขัดข้อง       ควรหาช่อง สงเคราะห์ ไม่เลาะหนี
เขาซาบซึ้ง ถึงคุณ อบอุ่นดี              หากถึงที เราจน ญาติสนใจ

มงคลที่ 18 ทำงานไม่มีโทษ
งานรับจ้าง ล้างชาม ก็ตามเถิด          หากไม่เกิด โทษทัณฑ์ นั่นสดใส
เมื่อได้ช่อง ต้องจำ กระทำไป          ได้กำไร ทุกทาง ไม่ว่างงาน

มงคลที่ 19 ละเว้นจากบาป

กรรมชั่วช้า ลามก ต้องยกเว้น          หากขืนเล่น ด้วยกัน ถูกมันผลาญ
งดเว้นบาป กำราบให้ ไกลสันดาน     ในดวงมาลย์ ไม่ร้อน และอ่อนเพลีย

มงคลที่ 20 สำรวมจากการดื่มน้ำเม
ของมึนเมา ทุกชนิด พิษคล้ายเหล้า   ใครเสพเข้า น่าตำหนิ สติเสีย
เกิดโรคร้าย แรงร้อน กายอ่อนเพลีย  ใครงดเสีย เป็นสุข ไปทุกวัน


มงคลที่ 21 ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
ไม่ประมาท คือมี สติพร้อม               คอยหน่วงน้อม ธรรมคุณ ไม่ผลุนผลัน
ธรรมอันใด ไม่ดี หลีกหนีพลัน           ธรรมดีนั้น ยึดแน่น ไม่แคลนคลอน

มงคลที่ 22 มีความเคารพ
ความเคารพ นับถือ คือเสน่ห์             ไม่โลเล เหมือนลิง วิ่งหลอกหลอน
ทั้งต่อหน้า ลับหลัง พึงสังวร              ย่อมงามงอน สวยสง่า ราคาแพง

มงคลที่ 23 มีความถ่อมตน
ไม่พองลม ก้มหัว เจียมตัวด้วย          มรรยาทสวย นิ่มนวล สิ้นส่วนแข็ง
เหมือนงูพิษ ถอดเขี้ยว หมดเรี่ยวแรง  ยามแถลง นอบน้อม พร้อมใจกาย

มงคลที่ 24 มีความสันโดษ
ความสันโดษ พอใจ ในสิ่งของ          เช่นเงินทอง ของตน แม้ล้นหลาย
เมื่อมีน้อย จ่ายน้อย ค่อยสบาย         ความจนหาย เลยลับ กลับมั่งมี


มงคลที่ 25 มีความกตัญญู
กตัญญู รู้บุญ คุณพ่อแม่                  คนเฒ่าแก่ แลอาจารย์ ท่านทรงศีล
จอมมุนินทร์ ปิ่นเกล้า เจ้าธานี           หาวิธี แทนคุณ สมดุลกัน

มงคลที่ 26 การฟังธรรมตามกาล
การฟังธรรม ตามกาล ผ่านมาถึง        ควรคำนึง นิ่งนั่ง ฟังขยัน
ย่อมจะเกิด ปัญญา สารพัน              ตั้งใจมั่น ฟังดี นี่สมควร

มงคลที่ 27 มีความอดทน
ความอดทน ตรากตรำ ยามลำบาก     เจ็บไข้มาก ทนได้ ไม่โหยหวน
ถูกเขาด่า ให้ฟัง นั่งหน้านวล             ยิ้มเสสรวล ด้วยขันติ งามวิไล


มงคลที่ 28 เป็นผู้ว่าง่าย
ควรเป็นคน สอนง่าย ไม่ตายด้าน       ก่อรำคาญ ค่ำเช้า ไม่เข้าไหน
ไม่ซัดโทษ ของตน ให้คนใด            เมื่อมีใคร สอนพร่ำ ให้นำมา

มงคลที่ 29 การได้เห็นสมณะ
การพบเห็น สมณะ ผู้สงบ                 แล้วนอบนบ ถามไถ่ ไตรสิกขา
หมั่นฝึกหัด ทุกวัน ด้วยปัญญา           ย่อมชักพา จิตตรง มงคลมี


มงคลที่ 30 การสนทนาธรรมตามกาล
ยามหดหู่ ฟุ้งซ่าน กาลสงสัย             เป็นสมัย ไต่ถาม ตามเหตุผล
เพื่อบรรเทา คลี่คลาย หายกังวล        ควรจะสน- ทนาธรรม ตามที่ควร


มงคลที่ 31 การบำเพ็ญตบะ
พึงบำเพ็ญ ตบะ ละกิเลส                  อันเป็นเหตุ หักห้าม กามฉันท์
มุ่งทำลาย ถ่ายบาป สาบสูญพันธุ์       เข้าสู่ขั้น สุโข ฌาณโกลีย์


มงคลที่ 32 การประพฤติพรหมจรรย์
เร่งประพฤติ พรหมจรรย์ อันประเสริฐ์   เพื่อให้เกิด สุขล้วน โดยถ้วนถี่
ตั้งแต่ทาน ถึงสิกขา บรรดามี             สมบูรณ์ดี พรหมจรรย์ ย่อมมั่นคล


มงคลที่ 33 การเห็นอริยสัจ
การรู้เห็น ความจริง สิ่งเที่ยงแท้          ไม่ผันแปร สี่ชนิด ไม่ผิดหลง
ตัดตัณหา มูลราก พรากทุกข์ลง          เป็นการส่ง ข้ามฟาก จากสาคร


มงคลที่ 34 การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
ทำให้แจ้ง นิพพาน ผลาญสังโยชน์       ตรวจตราโทษ ธาตุ ขันธ์ หมั่นฝึกถอน
เอาอรหัต มรรคญาณ เผาราญรอน       ดับทุกข์ร้อน นิพพาน สำราญนัก


มงคลที่ 35 การมีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
ท่านผู้ใด ใจดำรง อยู่คงที่                  ในเมื่อมี โลกธรรม ครอบงำหนัก
เช่น ลาภ ยศ สุข เศร้า เข้าง้างชัก         มิอาจยัก โยกท่าน ให้หวั่นใจ


มงคลที่ 36 การมีจิตไม่โศกเศร้า
คราวพลัดพราก จากญาติ ขาดชีวิต       ถูกพิชิต จองจำ ทำโทษใหญ่
มีสติ คุมจิต เป็นนิตย์ไป                     ไม่เสียใจ โศกเศร้า เฝ้าประคอง


มงคลที่ 37 มีจิตปราศจากกิเลส
หมดราคะ โทสะ โมหะแล้ว                  จิตผ่องแผ้ว เลิศดี ไม่มีสอง
ย่อมมีค่า สูงจริง ยิ่งเงินทอง                 เหมือนสูริย์ส่อง ท้องฟ้า สง่างาม


มงคลที่ 38 มีจิตเกษม
จิตเกษม เปรมปรีดิ์ ดีตลอด                 เป็นจิตปลอด จากโอฆ ในโลกสาม
เครื่องผูกมัด สลัดหมด แสนงดงาม      เข้าถึงความ สุขสันต์ นิรันดร 


ที่มา: กลอน : http://siraprapha22.blogspot.com/ , ภาพ : http://ekapatra2514.myreadyweb.com/ สาธุๆ

วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

89 : มรรควิธีแก้ความหลง

สิ่งสำคัญเราดูให้ดีนะ เราต้องดูว่าเราทุกข์เพราะอะไร คนเราทุกข์เพราะหลงยึดติดถูกมั้ย คนเราหลงยึดติดเพราะอะไร เพราะทะยานอยากไปในมัน ตัณหาถูกมั้ย ตัณหาเกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดขึ้นเพราะหลงอยู่สามอย่างกับมัน คือ หนึ่ง หลงความพอใจในมัน, สอง หลงความไม่พอใจในมัน, สาม หลงตัวตนของมัน เข้าใจมั้ยไม่รู้จักตัวตนของมัน เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่รู้มันตามสภาพความเป็นจริง การไม่รู้มันตามสภาพความเป็นจริงทำให้เราหลงในความเป็นจริงของมัน คิดว่ามันจริงๆ เราเลยเกิดสิ่งที่เรียกว่า ภวตัณหา ขึ้น หรือ วิภวตัณหา ก็แล้วแต่

การที่เราไม่เข้าใจตามความเป็นจริง เราจึงหลงชอบมัน เกิดกามตัณหา อยากได้ไว้ก็ตาม อยากมีอยากเป็นอะไรก็ตาม เพราะความหลงไม่เข้าใจความเป็นจริงแท้ของมัน เราก็เลยเกิดความไม่พอใจกับมัน มันก็เกิดวิภวตัณหา ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี รังเกียจเดียดฉันท์มันก็ตาม เพราะความไม่พอใจ สรุปก็คือ จิตมันเริ่มทำอะไรสักอย่าง เข้าไปแช่กับมัน จิตที่จะเริ่มจับดึงเข้ามาไว้ จิตที่ต้องการจะผลักไสออกไป นี่คือต้นเหตุที่เข้าไปยึด พอยึดแล้วก็ทุกข์ ถูกมั้ย

สาเหตุที่เราเกิดอารมณ์ทั้งหลายพวกนี้ พอใจ ไม่พอใจ และเฉยๆโดยไม่รู้แต่หลงว่ามันคือสภาวะหรือคือความเป็นจริง ทั้งหมดนี้เกิดมาจากอะไร เกิดจากความไม่รู้ ถูกมั้ยหรือที่เราเรียกว่า อวิชชา ความไม่รู้ก็มีอยู่สองอย่าง คือ หนึ่ง ไม่เห็นมัน คือมันปรากฏแล้วเราไม่รับรู้มัน มันปรากฏขึ้นแต่เราไม่รับรู้มัน แล้วปล่อยให้จิตเข้าไปแช่จม สอง ไม่รู้เท่าทันยามเมื่อมันปรากฏ แม้มันรับรู้อยู่แต่เราไม่รู้เท่าทันยามเมื่อมันปรากฏ มันรับรู้แต่ไม่มีปัญญารู้เท่าทันการรับรู้นั้น

ตัวอย่างเช่น ตาเราจ้องอยู่ หูเราฟังเสียงอาจารย์พูดอยู่ใช่มั้ย แต่เราไม่รู้เท่าทันอาการที่ก้นที่สัมผัสพื้น ถ้าอาจารย์ไม่พูดเราจะไม่รู้สึกเลย เพราะจิตมันเข้ามาสนใจอันนี้ จิตมันมาสนใจกับการฟังเสียง กับตาที่ดู ไม่ได้ไปสนใจกับก้นที่สัมผัสพื้น หรือลิ้นที่มีรสจืดๆอยู่ข้างใน หรือจมูกที่ไม่มีกลิ่นอะไรเลย เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่น่าสนใจ แต่บนความไม่น่าสนใจนั้นมันมีสิ่งอื่นน่าสนใจมากกว่า มันเลยมาจมแช่กับหูที่ฟังเสียงอาจารย์ และตาที่นั่งดูอาจารย์อยู่ นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นตลอดเวลา

ขณะที่เราบอกว่ามันมาสนใจที่หูและตา จิตมันก็ยังคงรับรู้การสัมผัสที่ก้นสัมผัสอยู่ การสัมผัสที่ลิ้น ลิ้นมีรสที่จืดๆอยู่ การสัมผัสที่จมูกที่เฉยๆอยู่ ถูกมั้ย จิตมันยังคงทำงานวิ่งผุบผับๆๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าขณะที่เราสนใจที่ตา สนใจที่หูแล้วตรงนั้นจะดับหมด มันไม่รับรู้ แสดงว่าขณะนั้นมันไม่มีการรับรู้ที่ขา ที่กายสัมผัส ไม่มีการรับรู้ที่ลิ้น ไม่มีการรับรู้ที่จมูกหรือเปล่า? เปล่าเลย!การรับรู้หรือเรียกว่าวิญญาณมันยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าจิตตัวปรุงแต่งหรือที่เรียกว่า มานัส (จิตที่หลงในความเป็นตัวตน)ที่ถูกปรุงแต่งโดยความหลง มันไม่ได้ไปให้คุณค่าความหมายกับสิ่งนั้น เพราะว่ามันไม่ได้ให้ความสนใจ สิ่งนั้นมันไม่มีค่าให้สนใจมัน มันเฉยๆ

จิตจะวิ่งหาอารมณ์ตามคุณค่าของอารมณ์นั้น อารมณ์พอใจอารมณ์ไม่พอใจย่อมมีคุณค่ามากกว่าอารมณ์เฉย ถูกมั้ย เพราะฉะนั้น อะไรที่เฉยๆมันก็ไม่ไปยุ่ง แต่ความเฉยๆ มันก็ไม่ได้แปลว่าจิตอิสระเพราะเฉย มันก็มีเฉยอันแรกที่เกิดขึ้นเสมอคือ เฉยโง่ คือไม่รู้ตามความเป็นจริง เราเฉยก็จริงแต่ก็ยังหลงอารมณ์นั้นเป็นตัวเป็นตนอยู่

เพราะฉะนั้น ขณะหนึ่งๆที่มีการรับรู้แต่จิตไม่ได้ไปรู้กับมัน ไม่ได้ไปใส่ใจมัน มันไปรับรู้อะไรอย่างอื่นตั้งเยอะแยะ นี่ทั้งหมดก็เพราะว่าความหลง ถึงบอกว่าความหลงมีสองอย่าง คือ หนึ่ง จิตมันไม่ไปสนใจสิ่งนั้นไม่ไปสนใจลิ้นรับรส ไม่ไปสนใจจมูกที่ได้กลิ่นเพราะอารมณ์นั้นมันเฉยๆ มันเลยไปแช่กับหูและตาที่เรากำลังได้ยินอยู่ตรงนี้ ขณะที่มันไม่สนใจสิ่งนั้นมันจึงไม่สามารถที่จะเข้าใจลิ้นรส ไม่เข้าใจจมูก ไม่เข้าใจสัมผัสได้เลย ในขณะที่มันไม่เข้าใจอย่างนั้นมันก็หลง โง่กับสิ่งนั้นเหมือนกัน ไม่ได้จมแต่มันก็โง่ ไม่เข้าใจสิ่งนั้น นี่คือ ความโง่ไม่เข้าใจตามความเป็นจริง

ขณะเดียวกัน ขณะที่มันหลงหูได้ยินเสียงและก็ตาเห็นรูปเนี่ย มันพึงพอใจที่จะดูมันจมอยู่กับสิ่งนี้ จมโดยไม่รู้ความจริงเหมือนกัน แม้มีสติรู้อยู่ว่าเราได้ยิน แต่ถ้าเราไม่รู้ตามความเป็นจริงมันก็ยึด ฉะนั้นขบวนการแห่งการหลงมันจึงมีสองอันอยู่เสมอ คือไม่รับรู้การรับรู้นั้น กับ ไม่เข้าใจตามความเป็นจริงในสิ่งต่างๆ เข้าใจมั้ย ความไม่รับรู้ในการรับรู้นั้นเรียกว่า ขาดสติ สติคือระลึกรู้ได้ ความขาดสติ คือ ไม่สามารถระลึกรู้ได้ ความไม่รู้ไม่เข้าใจในความจริงของสิ่งนั้น คือ ขาดปัญญา

ทั้งหมดนี้จึงทำให้เราทุกข์เพราะ ความไม่เข้าใจ ความไม่รับรู้ จึงทำให้เราหลงสร้างความพอใจ ความไม่พอใจ หรือ ความเฉยแบบโง่ๆ ไม่รู้อะไรเลย เมื่อเป็นอย่างนี้จึงทำให้เกิดตัณหา ตัณหาในการที่จะชอบในสิ่งที่กูพอใจ ไม่ชอบในสิ่งที่กูไม่พอใจ ผลักใสในสิ่งที่ไม่พอใจ และจมเบลอๆบื้อๆอยู่กับสิ่งที่เฉยๆ โดยกูไม่รู้อะไร เมื่ออย่างนี้ปั๊บ ก็เข้าไปยึดติดยึดมั่นกลายเป็นเรา จนกระทั่งเราทุกข์ นี่คือกระบวนการที่มันเกิดขึ้นในตัวเรา มันเป็นเช่นนี้

เมื่อเรามาปฏิบัติ เราจึงจำเป็นต้องแก้ไข ถ้าเราปล่อยให้วิถีชีวิตของเราเดินไปอย่างนี้เรื่อยๆๆ มันก็ไม่มีทางเลยที่เราจะหลุดพ้นได้ ซึ่งจะเห็นว่าประเด็นสำคัญที่สุด ก็คือ การไม่รับรู้อยู่ หรือ การขาดสติ และการไม่เข้าใจ หรือ การขาดปัญญา ที่ยกตัวอย่างว่า เมื่อเราสนใจฟังเสียง และตาดูรูปอาจารย์อยู่ ขณะเดียวกันลิ้นรับรส จมูกได้กลิ่น กายสัมผัสพื้นเราไม่สนใจ เราไม่สามารถรู้เท่าทันการรับรู้อันนั้นได้เลย จน กว่ามันจะเด่นขึ้นมา ในขณะนั้นจิตของเรามันรู้แค่ตาและหู ถูกมั้ย โดยขาดสติกับการสัมผัส ขาดสติกับการรับรส และขาดสติกับจมูก เพราะจิตมันรู้อะไรได้ทีละอย่างแล้วมันก็วิ่งเข้ามา แล้วมันก็มาจมวนอยู่อย่างนี้ จมวนอยู่กับเรื่องหูกับตา แต่ตรงอื่นมันก็วิ่งไปแต่มันไม่ได้ให้คุณค่าความหมาย คือมันไม่สนใจ

มันเหมือนกับเวลาเราขาดสติ ชอบไหลเพลินแช่ นั่งคิดอะไรใจลอยๆ เราก็ไปอยู่กับความคิดเราก็ใจลอย ทำงานอยู่คิดถึงบ้าน หั่นผักอยู่คิดถึงบ้าน เลยหั่นมีดโดนนิ้วเราจึงค่อยกลับมารู้สึกว่ากายสัมผัสเป็นอย่างไร ถามว่าขณะที่เราหั่นผักอยู่ตาดูหั่นผักตาเห็นรูปมั้ย เห็นใช่มั้ย มือสัมผัสก็รู้ถูกมั้ยแต่มัวไปสนใจเรื่องความคิดเลยหั่นพลาด นี่เรียกว่าขาดสติ เห็นมั้ย ทำงานไม่มีสติเลย แต่มันทำอยู่มั้ย ก็ทำอยู่… แต่มันไปสนใจสิ่งอื่น

เพราะฉะนั้น ความขาดสติเกิดจากอะไร เกิดจากจิตที่รู้ ไปจมแช่การรับรู้อันใดอันหนึ่งที่เดียวหรือสองที่ที่เด่นๆ จึงทำให้ทิ้งการรับรู้ที่เหลือ เช่นมาอยู่กับความคิดก็ไม่รู้ทางกายแล้ว ก็ไม่รู้รูปรส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกายแล้วใช่มั้ย สัมผัสก็ไม่รู้ กลิ่นก็ไม่รู้ ไปอยู่กับความคิด มีดเลยหั่นนิ้วเอา เราก็บอกว่า เราขาดสติ นั่งๆอยู่ใจลอย พอใครแตะตัวนิดนึงสะดุ้งเลย เพราะจิตมันกลับมา นั่นมันก็คือ มันเข้าไปจมอยู่ที่หนึ่งแล้วค่อยกลับมา มันเลยสะดุ้ง ตรงนี้เพราะจิตเรามันจมแช่ พุ่งไปและจมแช่อยู่กับที่ใดที่หนึ่ง การจมแช่เช่นนี้เรียกว่า ที่เกิด หรือ ราคะ มันมีราคะเข้าไปจมแช่ เพลินแช่อยู่กับสิ่งนั้น มันจึงทำให้จิตเข้าไปเกาะอยู่ตรงนั้น เกาะที่ใดก็เกิดตรงนั้น ตรงนี้ทำให้เราขาดสติทำให้เราไม่รู้สิ่งต่างๆ

เมื่อมองในมุมของสติ เห็นมั้ยว่าพวกเราฝึกสติแบบจดจ้อง ถ้าเราฝึกสติจดจ้อง เราจะวิ่งไปรู้ที่ใดที่หนึ่งเหมือนไฟฉายที่ส่องไปเฉพาะที่ เราไม่เคยเปิดกว้างปล่อยให้มันรู้สบายๆทั้งหกอายตนะ ดังนั้นการขาดสติย่อมมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราจ้องสิ่งหนึ่งมันย่อมขาดอีกห้า ถ้าเราจดจ่ออยู่กับสองสิ่ง เราก็ย่อมขาดอีกสี่

พูดในเรื่องละเอียดก่อน ถ้าจะแก้เกมตรงนี้เราจะฝึกอย่างไร เราจึงต้องรู้โดยไม่ไปจ้องสิ่งใด ผ่อนคลายเพื่อให้มันรับรู้แบบกว้าง เพื่อให้อายตนะมันเปิดกว้างรับรู้แบบสบายอิสระ แต่ปัญหาของพวกเราก็คือด้วยความเคยชินต่อการจดจ้อง และด้วยความที่จิตมันรู้อะไรได้เร็วมาก พอบอกให้ดูแบบเปิดกว้าง รู้แบบทั่วๆ พวกเราก็เลยเป็นลักษณะที่ ไปดู 1 แล้วก็ 2 แล้วก็ 3แล้วก็ 4แล้วก็ 5แล้วก็ 6แล้วก็กลับมาวน 1 อีก มันก็ไม่ใช่อีก เพราะพอดูตรงนี้ก็เป็นกูไปดูตรงนี้ ขณะที่ดูตรงนี้ก็แช่มันตรงนี้ เข้าไปมองหา ดูรูปก็แช่รูป ฟังเสียงสนใจก็แช่เสียง สนใจสัมผัสก็แช่สัมผัส สนใจกลิ่นก็แช่กลิ่น ไปเรื่อยๆตามนั้น เพราะอะไร เพราะจิตมันรู้ได้รวดเร็วมาก 1 วินาทีได้เป็นพันเป็นหมื่นครั้ง ถ้าเรามีเจตจำนงที่จะเข้าไปดูอะไรซักอย่างมันจะอยู่ในนั้นอย่างน้อยก็ 1 วินาทีหรือ 2 วินาที ซึ่งหมายถึงหมื่นถึงสองหมื่นขณะจิต จิตแช่มั้ย?โอกาสเกิดมากมายเต็มไปหมด ซึ่งอันนี้มันเกิดจากตัณหาของเราที่อยากจะไปดู มันพาไปด้วย ความคิดผิดหรือความหลงผิดที่อยากเข้าไปจ้อง พอเข้าไปมันก็เลยจับ เลยจม เลยแช่

ถึงได้บอกว่ามันไม่ใช่การมองหา ถ้าเรามองหาเราจะเข้าไปจับ เข้าไปเช็ค เช็ครูป เช็คเสียง เช็คนู่นเช็คนี่ มันก็เข้าไปจับ เพราะมันไปด้วยอย่างนี้ มันก็เหมือนไฟฉายที่ส่องไปทีละจุดๆหกจุด ซึ่งวิธีการแก้ก็คือ อย่ามีตัณหา ปล่อยให้รู้กว้างๆ ไม่ได้จมอยู่ ณ ที่ใด ปล่อยให้มันรู้กันอิสระธรรมดา คลี่คลายออก ผ่อนคลาย สบายๆ

การรู้กว้างๆอย่างนี้ไม่ใช่เราจะรู้ได้ทีเดียวพร้อมกัน โดยทาง Physiology จริงๆของจิตมันก็รู้ทีละอย่าง แต่มันอาจไปอยู่ทีละร้อยขณะจิต ร้อยขณะจิตๆๆ รวมกันทั้งหมดวินาทีหนึ่งมันก็รู้ได้ทั้งหมดโดยกว้างๆ แต่ขณะจิตหนึ่งๆน่ะ ไม่ต้องไปฝันจะเห็นหรอก มันจะร้อยขณะจิตหรืออะไรก็ตามไม่มีทาง ชาตินี้ยังไงก็ไม่มีทางจะเห็นขณะจิตได้หรอก มันไม่มีทางที่ใครจะเห็นได้ เพราะคุณสมบัติของเรามันไม่พอ เราไม่ใช่พวกโลกทิพย์ ถ้าโลกทิพย์เขารู้ได้อยู่ มันคนละเรื่องกัน

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่เราต้อง concern ก็คือ ตัณหาต่างหาก ความคิดปรุงแต่งของเราเองต่างหาก เราจึงต้องเข้าใจให้ถูกว่ารู้แบบผ่อนคลายกว้างๆ อย่าไปจดจ้องมัน บนความผ่อนคลายกว้างๆมันจะเกิดความสบายขึ้นซึ่งตรงกันข้ามกับความจดจ้อง แต่บนความจดจ้องมันก็ตั้งมั่นได้ง่าย ข้อเสียของการรู้แบบสบายกว้างๆมันก็อยู่ตรงนี้ มันจะล่องลอยได้ง่าย ตั้งมั่นได้ยาก อีกอย่างหนึ่งบนความผ่อนคลายกว้างๆมันก็เกิดความสบาย เมื่อมันเกิดความสบายเราก็จะเข้าไปพึงพอใจกับความสบายนั้น คราวนี้เราก็ไหลลงไปสู่ความพอใจและความสบาย พอจมอยู่กับความสบายเราก็ขาดความตั้งมั่น ก็เลยไหลไปสู่ความคิดปรุงแต่ง เพราะมันไม่มี marking ว่าตอนนี้ที่ว่ากว้างๆนี้ มันไหลจมในสบายแล้ว เราไม่รู้ว่ากำลังจมหรือสบายโดยไม่จม ตรงกว้างๆผ่อนคลายนี้เราจะรู้หมดทั้งหกอายตนะ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องตระหนักถึงให้ดี ก็คือธรรมารมณ์ ซึ่งก็คือความพอใจนั่นเอง

ดังนั้นจริงๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดของเราก็คือรู้ รูป เจตสิก และ จิต เริ่มต้นมาได้ยกเอาอายตนะขึ้นมาพูดก่อนให้เราเข้าใจง่ายๆ ทีนี้อายตนะทั้งหกก็ย่นลงมาเหลือสาม คือสิ่งที่มีอยู่จริงที่เราหลงจมหลงเกิดอยู่เสมอ ซึ่งก็คือ รูป เจตสิก และจิต นั่นเอง อันนี้ละเอียดลงมาอีก เรื่องรูปยกไปเลย ซึ่งหมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เจตสิก ก็คือธรรมารมณ์ทั้งหลาย และจิตก็คืออาการรู้ของตัวจิตเองเท่านั้น

บนความผ่อนคลายที่รู้สบายๆกว้างๆ เราอย่าไปจมที่รูปนะ อย่าไปจมที่เวทนานะ อย่าไปจมที่ตัวความคิดนะ และอย่าไปจมที่ตัวจิตเองนะ ตอนแรกที่บอกว่า พอสบายๆไม่จมอันไหนเลย เราก็เลยไม่รู้ว่าเราเคลิ้มไหลไปอยู่กับความสบายตอนไหน นี่ล่ะ marking ตรงนี้ถึงสำคัญ มันจะรู้เดียวแต่มีสาม ก็เหมือนการมองกว้างๆก็จะเห็นได้หลากหลายการเปิดอายตนะกว้างก็เหมือนกัน รู้หนึ่งตรงนี้มันก็มีสาม

แต่มันก็มีปัญหาอีกว่า เราไม่เคยรู้จัก เรายังไม่รู้จักว่า เจตสิกเป็นอย่างไร นี่เวทนาอยู่นะ เราพอใจอยู่นะ เรากำลังปรุงอยู่นะ เราจึงต้องมาเรียนรู้สิ่งต่างๆเหล่านี้ที่เกิด พอเรียนรู้เข้าใจเสร็จแล้ว อีกอันที่เราไม่ค่อยรู้จักเลย ก็คือภพของจิตรู้ อาการรู้อันนิ่งเฉยๆของจิต ซึ่งเป็นภพของพรหม ซึ่งเป็นที่เกาะของจิตได้ด้วย เราก็ต้องเรียนรู้อาการตรงนี้ ให้เห็นตรงนี้ด้วย เพราะถ้าเราไม่รู้จักตรงนี้ เราก็จะไปเกาะตรงนี้ กลายเป็นภพของอรูปพรหม ซึ่งมันไม่มีอะไรให้หมาย ไม่มีความคิดปรุงแต่งแต่มันหมายอยู่ตรงนี้ รูปเราก็ไม่สน รูปเราก็ไม่แช่ เจตสิกความคิดปรุงแต่งอะไรทั้งหลายเราก็ไม่มีเพราะมันสงบ แต่เรากลับไปแช่รู้อยู่นี่ล่ะ เลยกลายเป็นภพของพรหม เราจึงต้องรู้จักรู้ เรียกว่า รู้ในรู้ นี่พูดถึงเหตุผลให้ฟังนะ พระพุทธเจ้าจึงสอนเราใหม่เพื่อให้เรารู้จักสิ่งเหล่านี้ ทั้งหมดนี่พูดแค่มุมของสติอย่างเดียวนะ นี่คือนัยยะของการไปรู้ในสิ่งที่ถูกรับรู้อย่างเดียว หรือรู้ในอารมณ์ทั้งหลาย หรือรู้ในวัตถุที่มีอยู่เพื่อให้เรารับรู้อย่างเดียว นี่พูดเรื่องสติอย่างเดียว

คราวนี้แบบที่บอกตอนต้น ปัญหาอีกอันที่เราหลงคืออะไร เราไม่เข้าใจมัน ไม่มีปัญญารู้จักมันตามความเป็นจริง สิ่งทั้งหลายที่มีมามันเป็นสังขารปรุงแต่งไม่ใช่ตัวตน แต่พวกเราไม่เข้าใจมัน หลงว่าเป็นตัวตนตลอดเวลา เราจึงต้องมีปัญญาเข้าใจมันอีกว่า มันไม่ใช่ตัวตน นั่นหมายความว่า เราจะต้องมองมันและเห็นธรรมชาติของมันอีก นอกจากรู้จักมันแล้ว รู้มันแล้วว่า อ๋อ!..นี่รูปเป็นอย่างนี้ เสียงเป็นอย่างนี้ อายตนะอื่นเป็นอย่างนี้ เจตสิกเป็นอย่างนี้ จิตเป็นอย่างนี้ เรายังต้องรู้จักธรรม-ชาติแท้จริงของมันว่า มันไม่มีตัวตนนะ มองให้เห็นตามเป็นจริง ไม่ใช่คิดเอา ไม่ใช่พอมาแล้วก็ไปสั่งตัวเองว่าไม่มีตัวตน มันว่างเปล่า เราต้องแจ้งชัดในธรรมชาติของมันจริงๆ เมื่อเราบังเกิดความแจ้งชัดตรงนี้ เห็นแจ้งรู้จักมันหมดอย่างเต็มที่ เราจึงจะหลุดพ้นจากมันได้ จึงเรียกว่ารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งเหล่านั้น เราจึงต้องรู้มันให้แจ้งชัด เห็นมัน หรือเรียกว่า รู้แจ้งประจักษ์เข้าใจชัดถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้ ซึ่งก็คือ รูป เจตสิก และจิตนั่นเอง

ทั้งหมดเราจึงต้องฝึก เริ่มแรก เรื่องสติอย่างเดียวก่อนง่ายๆ คือกลับมารู้ตัวทั่วพร้อม รู้กว้างๆเพื่อที่เราจะได้มีความตระหนักชัดในฐานทั้งหมด อันที่สองคือรู้ธรรมชาติของแต่ละสิ่งที่เรารู้นั่นล่ะตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามความคิดหรือสัญญาที่เราเคยได้ยินมา เมื่อเรารู้อย่างนี้ได้เราถึงค่อยๆฝึกไปเรื่อยๆๆ จนแจ้งชัดถึงธรรมชาติต่างๆของมัน โดย เฉพาะข้อสุดท้าย คือแจ้งชัดต่อธรรมชาติอันแท้จริง(ปรมัตถสัจ)ของมัน เนี่ยล่ะ มันถึงจะทำให้เรารู้แจ้งประจักษ์เข้าใจชัดตามความเป็นจริง มันถึงจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า สลัดทิ้งออกมาได้ ปล่อยวางออกมาได้ ถ้ามันยังไม่เห็นแจ้งชัดถึงธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ จิตมันก็ยังหลงตามเดิมอยู่ดีว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นตัวตน ต่อให้เรารู้มัน มันก็ยังหลงยึด เข้าใจมั้ย เรารู้อยู่แต่เรารู้แค่ด้วยสติ เรายังไม่มีปัญญาอย่างแท้จริงที่จะเห็นว่า มันไม่มีตัวตน

เพราะฉะนั้นวิธีฝึกที่จะแก้ไขความหลงตรงจุดนี้ พระพุทธเจ้าจึงคิดอุบายขึ้นมาเรียกว่ากุศโลบาย อุบายอันเป็นกุศล อุบายไม่ใช่สิ่งลวงหลอกนะ มันคือ method มันคือ means คือเครื่องมือ เพื่อให้เราได้ปฏิบัติและฝึกตัวเราเอง ยกตัวอย่างเช่น อานาปานสติ และมหาสติปัฏฐานสี่ เป็นต้น

ท่านมักจะเริ่มจากสิ่งหยาบไปหาละเอียด เอาอานาปานสติก่อนให้เข้าใจได้ง่ายหน่อย อานาปานสติท่านเริ่มให้เรารู้จักลมหายใจก่อน หนึ่งมาทำความรู้จักกายก่อน ในขณะที่ทำความรู้จักลมหายใจ ให้รู้จักลมหายใจในลักษณะต่างๆ เราก็จะเห็นลมหายใจ กำหนดรู้ลมหาย ใจในลักษณะต่างๆ เราก็จะเห็นว่าลมหายใจเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก เดี๋ยวยาวเดี๋ยวสั้น เดี๋ยวเบาๆ เดี๋ยวเราก็ไปควบคุมมัน เดี๋ยวก็มีนู่นมีนี่ เพราะฉะนั้นลักษณะต่างๆของลมหายใจตรงนี้ ท่านก็ให้เราเรียนรู้ เมื่อเรารู้เท่าทันมัน ก็เรียกว่า เรารู้อาการของรูปในรูป หรือกายในกาย รู้จักลมหายใจ พอตอนนี้มันสั้นก็รู้ว่าสั้น เราก็จะไม่fixว่าลมหายใจมันจะคงที่แบบไหน มีตัวตนที่แท้จริงอย่างไร ในขณะที่เราเริ่มรู้ลมหายใจ จิตก็ฝึกที่จะมีสติรู้เท่าทันกายซึ่งมันหยาบที่สุด ง่ายที่สุด เข้าใจมั้ย

ในการฝึกเรื่องสติเพื่อลดการจดจ้อง หรือเพื่อให้เกิดความตั้งมั่นอย่างผ่อนคลายในที่สุด ท่านก็เริ่มตั้งแต่หายใจยาวก็ให้รู้จัก มันยังใช้การ control อยู่ พอเราบังคับอะไร เราก็จะไปจดจ้องมัน ก็รู้แบบนี้เพื่ออะไร เพื่อเรียกกลับบ้านให้ตั้งมั่นเสียก่อน เพราะหากอยู่ดีๆเราจะเปิดกว้างเลยแต่ต้น มันก็จะไหลตามความสบาย แต่ถ้าเราใช้การกำหนดจดจ้องก่อน จิตมันก็จะตั้งมั่นง่าย เพราะปัญหาคือเราชอบอยู่นอกบ้าน เราต้องกลับบ้านก่อน ถึงบอกว่า 2-3อันแรก มันเป็นอุบายเพื่อเรียกกลับบ้านก่อน ท่านถึงบอกว่าให้มีสติรู้ลมหายใจ เข้า ออก ยาว สั้น

พอทำตรงนี้ได้ คราวนี้ท่านก็ให้เรารู้ตัวทั่วพร้อมขณะที่หายใจเข้าและออก เห็นมั้ยตอนนี้เราเริ่มรู้กายกว้างๆทั่วทั้งตัวล่ะ หมายความว่า รู้สึกทั่วพร้อม ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ถ้าเราไม่ได้หลับตา การรู้ทั่วพร้อม มันก็คือ สัมผัสกายทั้งหมด ในขณะที่หายใจเข้าหายใจออก เห็นมั้ยเราเริ่มรู้กว้างขึ้น รู้ทั่วทั้งตัวในขณะที่ยังมีลมหายใจที่เป็น marking อยู่ได้ เรียกว่าเราเริ่มขยายการรับรู้ให้กว้างขึ้นๆ

ที่ผ่านมาเราใช้การควบคุม หรือ controlลมหายใจอยู่ตลอด เวลา ซึ่งหมายความว่าเรามีเจตจำนงเข้าไปกระทำ จุดประสงค์เพื่อให้เรากลับมา เพื่อให้เราตั้งมั่นได้ง่าย ตอนนี้เมื่อผ่านไปถึงขั้นที่ตั้งมั่นอยู่บนการรู้ตัวทั่วพร้อมได้ เรียกว่า จิตเริ่มตั้งมั่นบนความผ่อนคลายได้แล้วระดับหนึ่งจึงปล่อย เลิกควบคุมลมหายใจ ปล่อยให้มัยหายใจกันเองตามธรรมชาติ หากยังคงตั้งมั่นต่อไปได้ ตอนนี้กายเราจะระงับ ลมหายใจจะละเอียด กายจะระงับ ถ้าเราสังเกตจะเห็น กายเราจะเบา ลมหายใจเราจะละเอียด นี่เรียกว่าเราตั้งมั่น เราพักอยู่กับบ้านได้เต็มที่

ในขณะนั้น เรารู้ลมหายใจอยู่มั้ย.....รู้ รู้กายทั้งปวงอยู่มั้ย.....รู้

เห็นมั้ยตอนนี้เราเริ่มจากหยาบๆ รู้กายทั้งปวง รู้ทั่วทั้งตัว และลมหายใจ รู้กายทั้งหมดทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เราไม่ได้ไปจดจ้องมันเราผ่อนคลาย ตอนแรกเราจดจ้องลมหายใจ แล้วค่อยๆผ่อนคลายขึ้น ผ่อนคลายขึ้นๆๆ กลายมารู้ตัวทั่วพร้อม แล้วคลายขึ้นอีกไม่ต้องควบคุมลมหายใจ จิตเราก็เริ่มเปิดกว้าง เป็นการแก้นิสัยรู้แบบเก่าๆให้มันหมด ไม่ใช่ไปจ้องนี่ทีจ้องนู่นที รู้ลม แล้วรู้มือ แล้วรู้แขน แล้วรู้ขา รู้ไปทีละอย่าง กระดึบๆๆๆอยู่อย่างนั้น นั่นมันคนละแบบกัน เข้าใจมั้ย

มันเป็นอุบายให้เรากลับมารู้ตัว แล้วค่อยๆคลายออก จนรู้ตัวทั่วพร้อม ขณะที่หายใจเข้าก็รู้อยู่ แล้วตอนหลังก็เลิก control นี่เราก็เริ่มเปิด vision คือเปิดการรับรู้ให้กว้างขึ้น เรียกว่า relax เต็มที่ เปิดธรรมชาติให้กว้างขึ้น เปิดอายตนะให้กว้าง สบายๆ อย่าลืมนะว่า พระพุทธรูปจะไม่ค่อยหลับตา การนั่งสมาธิของพระพุทธเจ้าจึงลืมตาอยู่ พระพุทธรูปที่ปั้นมักจะลืมตาอยู่แสดงถึงความตื่นอยู่ ไม่ใช่จมอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านนั่งท่านรู้ ตาก็เห็น กายทั้งปวงก็รู้ รูปก็เห็น ไม่ได้ไปจดจ้องแต่ลมหายใจอย่างเดียว ท่านจึงรู้กว้าง จับความรู้สึกนี้ให้ได้นะ เพราะถ้าเราจับความรู้สึกนี้ในเบื้องต้นได้ เราถึงจะเข้าไปรู้กว้างๆในจิตได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าตรงนี้เรายังจับไม่ได้ เราไม่มีทางจะเข้าไปรู้จิตโดยกว้างๆได้หรอกเราก็จะมีแต่จ้องจิตและจมจิตกันทั้งนั้น

พอทำตรงนี้ได้ ต่อไปท่านก็ให้สังเกตในความเบานั่นล่ะ จะรู้สึกสุขและพอใจขึ้น ปีติจะเกิดขึ้นความเบาสบายสุขจะเกิดขึ้น ท่านก็บอกให้แค่รู้ แค่รู้เท่าทันว่าปีติเกิดขึ้น ความเบา ความสุข ความพอใจเกิดขึ้น อารมณ์อันเป็นสุขเกิดขึ้น สุขเวทนาเกิดขึ้น รู้แล้วก็เฉยๆ และ ณ.ตรงนั้นขณะที่รู้สุขเวทนา รู้ลมหายใจอยู่มั้ย...ก็รู้ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่มั้ย...ก็รู้ รู้กายทั้งปวงอยู่มั้ย...ก็รู้ ดูให้มันละเอียด เพราะอะไร เพราะเวทนาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนาก็ตาม มันไม่ได้อยู่นอกกายนี้เลย

ตอนนี้เมื่อเรารู้กายทั่วพร้อมได้เราก็จะเริ่มกว้างขึ้น ความกว้างไม่ใช่ออกไปนอกโลก ไม่ใช่ส่งออกไปไกลๆ บางคนไม่เข้าใจพอท่านพูดว่า รู้กว้างๆ รู้อิสระ ก็กลายเป็นขยายออกไปทั่วจักรวาล รู้ทั่วทั้งท้องฟ้าออกไปหมด พยายามทำความรู้สึกให้ไปรู้รูปรู้เสียงตรงนู้น ออกไปนู่นเพื่อให้มันกว้าง..ไม่ใช่ มันไม่ได้กว้างในความหมายนั้น มันกว้างในความหมายของรูป เจตสิก จิต อายตนะรับรู้เปิดกว้าง แต่ไม่ใช่ส่งใจออกไปข้างนอก ใช่อยู่..บางครั้งท่านเปรียบว่า กว้างแบบท้องฟ้า อันนั้นมันขั้นสุดท้ายแล้ว มันเป็นจิตที่ไร้ฐานที่ตั้ง เป็นขั้น Non-meditation ไม่ใช่ขั้นสมถะที่กำลังทำอยู่

เมื่อเรารู้อยู่ที่ตัวเราอย่างนี้ เราเปิดกว้างที่อายตนะทั้งหก มันก็หมายถึงเปิดกว้างรับรู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเข้ามาหมด และในขณะเดียวกันอายตนะที่หก คือจิตหรือธรรมารมณ์ทั้งหลายเราก็รู้ รู้ทั้งเจตสิกและจิต และในโลกนี้ทั้งหมดรวมทั้งจักรวาลมันจะมีอะไรนอกไปจากนี้ล่ะ มันไม่มีอะไรนอกไปจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เจตสิก ธรรมารมณ์แล้ว นั่นก็คือรู้กว้างแบบท้องฟ้าในความหมายตรงนี้ ซึ่งเห็นมั้ยว่ามันไม่ใช่ความรู้สึกแบบที่เราเคยชิน หรือเคยใช้อยู่ประจำ

การที่เรามารู้ความรู้สึกเวทนา คือการรู้สึกภายใน คือรู้รสชาติแห่งเวทนาซึ่งเป็นรสจิตผสมกับกายอันแรก ซึ่งมันเป็นอุบายให้เราเริ่มเรียนรู้จิต มันเป็นคลื่นแห่งจิตหรือรสชาติแห่งจิต หรืออาการของจิตที่เราจะเริ่มเรียนรู้จิต เมื่อเราตั้งมั่นอยู่กับตัวเราเอง เราก็เริ่มเรียนรู้เข้ามารู้จักเวทนาตามเป็นจริง เมื่อรู้แล้วทำอะไร รู้แล้วก็แค่รู้เฉยๆ สังเกตมัน เอาแค่นี้ก่อน ท่านเอาแค่รู้ก่อนตอนนี้ เพราะตอนนี้ทั้งหมดยังอยู่ในขั้นสมถะ ยังไม่ได้พูดเรื่องวิปัสสนาเต็มขั้นเลย กำลังขยายฐานของสมถะให้มันได้ก่อน

พอรู้อย่างนี้ สุขก็แค่รู้ว่าสุข ปีติก็แค่รู้ว่าปีติ แบบนี้เราก็ไม่หลงจมแช่ เพราะสิ่งที่เรามักหลงจมแช่มากที่สุดก็คือความสุข ท่านจึงตั้งด่านตรงนี้เอาไว้ กันความสุขไว้นะ เพราะในอานาปานสตินั้น ถ้าจิตลงไปรวมถึงตรงนั้นแล้วจิตจะละเอียดเกิดความเบาสบาย ที่เราบอกนั่งแล้วสบายเบา สุขดีแฮะ นั่นแหละปีติมันเกิด ความเบามันเกิด ความสุขมันเกิด เราก็แค่รู้มัน ถ้าเราไม่จมตรงนั้นเราก็จะสงบลงอีก แต่ถ้าเราไปจมอยู่ตรงนั้น เราก็จะแช่อยู่ตรงแค่ความสุขนั่นล่ะ เราก็จะติดใจวิ่งหาแต่สุขและยึดสุขอยู่ตรงนั้น

คราวนี้พอมันแค่รู้เราก็ไม่จม เราก็เฉยๆ สุขก็รู้ว่าสุข ท่ามกลางหายใจเข้าและหายใจออก ลมหายใจเข้าออก รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ สุขก็รู้ว่าสุข ไม่ไหลเข้าไปจม ไม่ใช่ว่าพอรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รู้กายทั้งปวง เกิดสุขขึ้น แล้วเข้าไปจมอยู่ในสุข คราวนี้สติรู้ลมหายใจมันก็จะขาดหาย นี่ไงมี 2 marking แล้วให้เราเห็น มีสุขก็รู้ ปีติก็รู้ และรู้ท่ามกลางรู้ลมหายใจเข้าและหายใจออก เห็นมั้ย ท่านให้เรารู้คู่กันไป รูปและเจตสิก ตอนนี้เรารู้รูปและเจตสิก ตอนนี้เราขยาย vision จากรูปอย่างเดียว ออกมารับรู้เจตสิกเพิ่มขึ้น เข้าใจมั้ย

ก็ดูไปๆๆๆๆดูไปอย่างนี้เรื่อยๆ พอเราไม่จมแช่อยู่ในความสุข ซึ่งเป็นเจตสิกอันหยาบๆ เดี๋ยวมันก็จะมีเจตสิกอื่นลอยขึ้นมา เช่น ความคิด ไม่ว่าจะเป็นความคิดจนกระทั่งอะไรนิดๆหน่อยๆ ที่เป็นการปรุงแต่งของจิต นั่นก็ล้วนเป็นจิตสังขารทั้งสิ้น เมื่อมันเกิดขึ้นก็รู้ว่ามันเกิดขึ้น เมื่อจิตสังขารนั้นดับไปก็รู้ว่าจิตสังขารดับไป ก็รู้อยู่เช่นนี้ เหมือนทะเลที่ยังมีระลอกคลื่นอยู่ เมื่อมีคลื่นมาเราก็รู้เท่าทัน  ขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก ฐานกายเหมือนเดิมตั้งมั่นอยู่

หายใจเข้าหายใจออกรู้ตัวกว้างอยู่ พอระลอกของเจตสิกเกิดขึ้นเราก็รู้อยู่โดยไม่หวั่นไหวไปกับมัน ตอนนี้เราจึงรู้รูปและเจตสิกชัดเจน คราวนี้บางจังหวะที่เจตสิกหรือจิตสังขารที่เกิดขึ้น มันดับไปและมันยังไม่เกิดอันใหม่ ท่านก็บอกให้สังเกตดูอาการรู้ของจิตนี้ ท่ามกลางหายใจเข้าและหายใจออก เป็นผู้มีสติรู้อาการรู้ของจิต รู้เนื้อหาสาระของจิตอันได้แก่อาการรู้ของจิต หรือคุณสมบัติในการสำนึกรู้ได้ของจิต รู้ในอาการรู้ของจิต อาการเบา โปร่งโล่งของจิต อาการตั้งมั่นของจิต

ความตั้งมั่นของจิตเป็นยังไง สมาธิจิตเป็นยังไง จิตที่มันตั้งมั่นเป็นยังไง นี่คือเนื้อหาของจิตอย่างเดียว เพราะตอนนั้นจิตของเรานิ่ง แล้วท่านก็ให้ดูอีกว่าที่นิ่งมันเป็นยังไง มันใสอยู่ มันรู้ยังไง มันตั้งมั่นอยู่ยังไง มันใสยังไง มันอิสระจากสิ่งอื่นยังไง เป็นอาการธรรมชาติเดิมๆของมันที่มีอยู่จริงยังไง

ตอนนี้ ท่ามกลางการหายใจเข้าและหายใจออก หากมีเจตสิกเกิดขึ้น ก็ไม่เป็นไร ก็แค่รู้ว่าเจตสิกเกิดขึ้น เดี๋ยวพอไม่มีเจตสิก ก็สังเกตจิตไป ไปๆมาๆ พอสติมันจำได้คล่องตัว จิตก็ยังเห็นอยู่ เจตสิกเกิดขึ้นก็เห็นอยู่ ในขณะที่ลมหายใจก็ยังคงเห็นอยู่ เห็นมั้ย รู้กายทั้งปวง รู้ลมหายใจเข้าออก รู้เจตสิกที่เกิดขึ้น รู้ในจิตรู้ที่เฉยอยู่ นี่เรียกว่าเราเห็นสามอันแล้ว เราเห็นความจริงแล้ว และตอนนี้จิตเราก็กว้างแบบท้องฟ้าแล้ว ทั้งรู้กายด้วยความเปิดกว้าง รู้ภายในคือเจตสิก จิต เรียกว่า รู้ตัวทั่วพร้อมอย่างสมบูรณ์ เรียกว่า รู้ 1 เท่ากับ 3 แล้วเราก็วางสาม เพราะว่าเมื่อเรารู้รูป เราก็ไม่ได้จมอยู่เฉพาะที่รูป ไม่ได้จมอยู่เฉพาะที่ลมหายใจเพราะเรารู้ตัวกว้างๆ เราไม่ได้รู้ที่จุดใดจุดหนึ่งอย่างเดียว เรารู้ทั้งลมหายใจรู้ทั้งกาย เรารู้เจตสิกเราก็ไม่ได้จมเจตสิก ความสุขเกิดขึ้นเราก็แค่รู้ ไม่ได้ไปจมแช่มัน ความคิดเกิดขึ้นก็แค่รู้ ไม่ได้ไปจมแช่มัน มันดับไปก็เฉยๆไม่ได้เรียกหา นั่นเรียกว่า วางเฉยต่อเจตสิก รู้จิต รู้ในรู้ อาการรู้ของจิตที่ตั้งอยู่นี้ เราก็รู้ แต่เราก็ไม่ได้ไปจมอยู่ หรือพยายามทรงอยู่แค่ในรู้นั้น เพราะขณะที่รู้ในรู้อยู่นี้ ก็รู้ลมหายใจ ขณะที่รู้อยู่นี่มีเจตสิกเกิดขึ้นก็รู้ เพราะฉะนั้นเราจึงมิได้อยู่ที่ใด เพราะเรามิได้มีเจตนาที่จะอยู่ที่ใดที่หนึ่ง หรืออยู่ที่เฉพาะที่ฐานใดฐานหนึ่ง มันไม่ได้มีตัณหา เพราะทิฐิมันถูก ทิฐิที่มันไม่ผิดเพี้ยน เราจึงรู้แล้ววาง ไม่ใช่รู้แล้วจมจดจ้องแช่อยู่ ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่า เรารู้ตัวทั่วพร้อมอย่างสมบูรณ์ นั่นแหละสติสัมปชัญญะเราจะเกิด นี่มันเป็นฐานที่เราจะใช้เรียนรู้ความจริงได้ นี่เรียกว่าตั้งฐานสามได้ล่ะ

เมื่อตั้งฐานสามได้ ท่านก็ให้เรียนรู้ธรรมชาติที่เกิดขึ้นอีก

เรียนรู้ตัวเรา ตัวเรามันเป็นอย่างนี้ มีอยู่แค่นี้ ตัวเรา มีรูป เจตสิกและจิต คราวนี้ก็สังเกตดูว่า แต่ละอันมันมีอะไรเที่ยงแท้มั้ย ดูให้เห็นตามสภาพความเป็นจริง เมื่อเราตั้งมั่นอย่างนี้ได้ ท่านก็ให้มองในมุมของอนิจจานุปัสสี “จงเป็นผู้เห็นแจ้งประจักษ์เข้าใจชัด ถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขารทั้งปวง” ทั้งหมดนี่ คือสังขารที่มันปรุงแต่งขึ้นเป็นเราถูกมั้ย ท่านก็ให้ดูความไม่เที่ยงแท้ของมัน อนิจจานุปัสสี เพราะฉะนั้นในขณะที่รู้อยู่อย่างนี้ รู้รูป เจตสิก จิต องค์ประกอบทั้งสามนี้ซ้อนกันอยู่ในตัวเรา เราก็สังเกตความไม่เที่ยงแท้ของมันไปเรื่อยๆ สังเกตดูตามที่มันเป็นอยู่จริง ตามที่มันแสดงจริงๆ ไม่ใช่การคิดเอา

ธรรมชาติที่มันอยู่ในตัวเรานี่ ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้เลย ความคิดเกิดขึ้นเดี๋ยวก็หายไป แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ลมหายใจก็แปรปรวน เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งมันก็หยาบ เมื่อมีเหตุปัจจัยเปลี่ยนไปมันก็ละเอียด กายนี้ก็ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้ เดี๋ยวมันก็หนัก เดี๋ยวก็เบา ตามแต่เหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งมัน จิตรู้เองก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ไปรู้นั่น เดี๋ยวก็ไปรู้นี่ เดี๋ยวก็หนัก เดี๋ยวก็เบาโปร่ง เดี๋ยวก็หวั่นไหว เดี๋ยวก็ตั้งมั่น มันล้วนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งมันทั้งสิ้น

ตอนแรกพอเห็นอย่างนี้ เราก็เห็นความไม่เที่ยงแท้ ต่อไปถ้าละเอียดกว่านั้นก็คือ ดูถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งอื่นๆ เพราะมีปัจจัยเช่นนี้ สิ่งนี้ก็แปรปรวนไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง พอเหตุปัจจัยเปลี่ยนไป มันก็กลายเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะรับรู้รูปเช่นนี้เจตสิกก็เปลี่ยนไป เจตสิกเป็นอย่างนี้ก็มีผลกับจิตรู้อย่างนี้ จิตรู้เป็นอย่างนี้ก็มีผลกับเจตสิกอย่างนี้ จนกระทั่ง ดูไปเรื่อยๆๆๆ จนเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความไม่ยึดติดในมัน จิตคลายออกๆ วางเฉยได้ชัดขึ้นอีก

เพราะที่จริงจิตเราเริ่มคลายได้ตั้งแต่ตอนที่เราตั้งมั่นแล้ว แต่การคลายตอนนั้นมันมีพลังของการกำหนดสติของเราอยู่ คือพยายามรักษาจิตของเราไม่ให้เข้าไปยุ่งในอารมณ์ แต่คลายตอนนี้เป็นคลายจากเห็นตามความเป็นจริง สังเกตอาการจิตที่ไม่ได้เข้าไปยุ่งอารมณ์ใดๆ มันจะต่างกัน เราสังเกตให้เห็นแจ้งประจักษ์เข้าใจชัดถึงอาการที่จิตรู้รูปก็ไม่ไปจับรูป อาการที่มันคลายออกมันเป็นอย่างไร อาการรู้ของจิตที่สงบนิ่งเฉย ไม่เข้าไปจับ ณ.ที่ใดมันเป็นอย่างไร การที่มันคลายออกแล้วจิตมันนิ่งเฉยอยู่ ไม่ไปเกิดแล้ว ไม่ไปจับอารมณ์ใดแล้ว จิตรู้นั่นล่ะมันนิ่งเฉยอยู่ ไม่ไปยุ่งกับอารมณ์ใด ลองสังเกตอาการพวกนี้ดูให้เห็นแจ้ง

อันนี้เพื่ออะไรต่อไป เพื่อให้รู้ว่าเรายึดอยู่ หรือว่าเราวางอยู่หรือเปล่า ที่หลายๆคนมักจะพูดว่า “เราวาง” นั่นยังไม่ใช่การวางจริง มันยังเป็นความคิด เรายังไม่ได้เห็นเลยว่าจิตมันเข้าไปจับ จิตมันเข้าไปจมอย่างไร ถ้าเรายังไม่เห็นอาการที่มันเข้าไปจับไปยึด ที่แตกต่างกับอาการที่มันปล่อยมันวาง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันวางจริง

มันจึงต้องค่อยๆ เรียนรู้ สังเกตไปเรื่อยๆ สังเกตดูว่า อาการจิตที่เข้าไปจับอารมณ์เป็นอย่างนี้ อาการที่จิตมันนิ่งอยู่ไม่สนใจอารมณ์เป็นอย่างนี้ อาการที่จิตถอยออกมา คลายออกมาจากอารมณ์เป็นอย่างนี้อาการที่จิตพุ่งเข้าไปหาอารมณ์เป็นอย่างนี้ นี่เห็นไปเรื่อยๆๆๆ มันก็จะแจ้งชัดในอาการของจิตที่วางเฉย นิ่งอยู่ สงบอยู่ ไม่ไปจับกับอารมณ์ใด ไม่ไปเกิด ณ.ที่ใด

อาการที่ถอยออกมาของจิต กับอาการที่จิตนิ่งสงบอยู่เฉยๆ อันไหนจะเห็นง่ายกว่ากัน อาการเคลื่อนไหวย่อมง่ายกว่าอาการอยู่นิ่ง อาการที่มันคลี่คลายออกมากับอาการที่นิ่งล่ะ เข้าใจมั้ย อย่าลืมนะจิตมันไม่มีอะไร ไม่มีตัวตนไม่มีรูปลักษณ์ พอพูดอย่างนี้มันก็ยากสำหรับพวกเราอีก อัตตาทิฐิมันจะครอบงำ มันจะพาไปคิดว่าจิตเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่จริงๆจิตมันไม่มีอะไร ไม่มีรูปลักษณ์

จิตคือความว่าง แต่พอมันหลงมันจะเกิดขึ้น แล้วมันก็รวมเข้าไปจับสิ่งหนึ่ง ความเป็นจริงธรรมชาติของจิตไม่มีอะไรเลยมันว่างเปล่า แล้วจิตมันจะเกิดเมื่อไร จิตมันจะเกิดเมื่อมันหลงยึดตัวมันเอง การหลงยึดตัวมันเองเกิดขึ้นเมื่อมีอารมณ์กระทบ การเกิดของจิตคือการรวบพลังเข้ามาเป็นตัวตนแล้วก็พุ่งไป แล้วก็ไปจับ ถ้าไม่มีความหลงจิตมันก็ไม่มีอะไร ว่างเปล่า ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ เป็นจิตเดิมๆ หรืออาลย-วิญญาณ เป็นแหล่งพลังงานแห่งธาตุรู้ แต่เมื่อมันมีความหลง มันรวบพลังงานกันเข้ามาเป็นกูไปรู้สิ่งใด ความเป็นกูรู้สิ่งใดเกิดตอนไหน เกิดเมื่อมีสิ่งถูกรู้ที่มันหลง พอมันหลงสิ่งนี้มันก็จับ ดังนั้นเห็นมั้ย อาการที่มันคลี่คลายออกก่อน มันจึงง่ายกว่าอาการที่ไม่มีอะไร ดับสนิท นึกออกมั้ย คลี่คลายออกก่อน มันยังมีเราเล็กๆในการคลี่คลายออก วิราคะ วิราคานุปัสสีจึงเห็นง่ายกว่านิโรธานุปัสสี นิโรธานุปัสสีคือจิตไม่เกิด นิ่ง ไม่มีอะไร ไม่รวม ไม่รวบเข้ามาเลย

จิตเป็นพลังงาน ให้คิดเอาก็ได้ จิตเปรียบเหมือนพลังงานที่ไม่มีของใคร ว่างเปล่าไม่มีขอบเขต มีแต่คุณสมบัติในการรู้ได้ และใสกระจ่างอยู่ในตัวมันเอง ต่อเมื่อเกิดความหลง หรือรู้นั้นประกอบด้วยความหลง คือมีอัตตาทิฐิเข้าแทรก มันจึงปรากฏขึ้น เดิมแท้ไม่มีอะไรเลย ตัวเราก็ไม่มี เมื่อพลังงานนี้มันไหลผ่านเครื่องรับคืออายตนะ นี่โดยสมมุตินะ ถ้ามันฉลาดมันจะไม่สะดุดอะไรเลย มันไปเรื่อย มันแผ่ซ่านกระจายไปทั่ว แต่ในขณะหนึ่ง ที่มันกระทบอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วตอนนั้นมันประกอบไปด้วยความหลง มีอวิชชาครอบงำ มันจะรวบตัวขึ้น ฝับ!เมื่อหลงมีสิ่งรับรู้เกิดขึ้น ก็เกิดผู้รู้ขึ้นมาทันที เมื่อมีผู้รู้ก็มีสิ่งถูกรู้ขึ้นมาทันที มันเกิดขึ้นพร้อมๆกัน

ขณะนั้นมันเกิดเพราะอะไร เพราะมันมีความหลงเป็นปัจจัยประกอบ เมื่อมันมีจุดบอดมันก็ก่อตัวขึ้น เกิดผู้รู้ เกิดกูรู้ขึ้นมาทันที เกิดกูรู้สิ่งถูกรู้ขึ้นมาทันที เพราะว่ามันไม่เข้าใจในการรับรู้นั้น ไม่เข้าใจในธรรมชาติธาตุรู้ ไม่เข้าใจในการรู้ ไม่เข้าใจในสิ่งถูกรู้ ไม่ว่าสิ่งที่ถูกรับรู้จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือเจตสิก หรือจิตเองก็ตาม เมื่อมันเกิดอย่างนี้มันก็รวมขึ้นมา แล้วก็เข้าไปจมแช่ นี่โดยสมมุตินะ อย่าหลงยึดว่าจะมีภาพลักษณ์อย่างนี้จริงๆ นี่เปรียบให้ดูเป็นสมมุติ เพื่อให้เราเข้าใจง่ายๆ

เพราะฉะนั้นในการรับรู้ของเรา ถ้าไม่มีอวิชชาครอบงำ มันจะถอยออกมา จิตมันนิ่งเฉย มันไม่เกิด มันดับสนิทต่ออารมณ์ หากเราเห็นได้เช่นนี้ ต่อไปก็ค่อยๆไปสังเกตธรรมชาติอันสุดท้าย คือความเป็นธรรมชาติเดิมของมัน ปฏินิสสัคคานุปัสสี ธรรมชาติเดิมแท้ของจิต (จิตโดยสมมุติ) ที่ไม่อยู่ ณ.ที่ใด เป็นธรรมชาติที่ไม่ข้องเกี่ยวกับอะไร สลัดทิ้งทุกอย่าง อิสระจากทุกสิ่ง เป็นธรรมชาติของพลังงานอันนั้น แต่ก็อย่าหมายว่ามันเป็นตัวตนอันใดนะ มันเป็นพลังงานแห่งความว่างเปล่า ไม่มีตัวตน ไม่มีขอบเขต เข้าใจมั้ย ซึ่งตรงนี้ยากมาก มันต้องสมบูรณ์พร้อมด้วยสติสมาธิปัญญาจริงๆ ไม่ใช่จะไปคิดเอาหรือปรุงเอาจากสัญญา มันต้องค่อยๆฝึกไป มันจะต้องฝึกไปเรื่อยๆทีละขั้นๆๆ นั่นล่ะ แล้วมันจะเกิดขึ้นเอง ของจริงมันจะเกิดเองเป็นเอง ไม่ใช่เราไปกระทำอะไร ไม่เลย ไม่มีเลยแม้แต่นิดเดียว ถึงตรงนี้จึงเรียกว่า อานาปานสติสมบูรณ์

เห็นมั้ยว่า ช่วงสี่อันหลังคือ การเฝ้าสังเกต รูป เจตสิก และจิต ตามความเป็นจริง ให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของมัน มันต้องเริ่มมาจากตั้งฐานให้ได้ แล้วก็เห็นความจริงไปเรื่อยๆๆๆ จะเห็นด้วยอนิจจังทุกขังอนัตตาก็แล้วแต่ ถ้าจะให้ถึงแบบสมบูรณ์ Perfection ที่พูดเมื่อกี้ แบบที่เห็นแจ้งถึงธรรมชาติเดิมแท้อย่างนั้น มันก็ต้องเห็นด้วยสุญญตาหรืออนัตตาเป็นอย่างน้อย อนิจจาเฉยๆจะไปได้ยากมาก มันก็จะคาตัวหนึ่งเป็นผู้ดูอยู่ ยังไปได้ไม่หมด เอาล่ะ เอาแค่ตรงนี้ก็พอ พูดให้ฟังคร่าวๆพอจะได้ Idea ว่าเราจะต้องดำเนินอย่างไร ไปถึงไหน ไม่อยากให้ยึดไปเป็นสัญญา ให้ตั้งใจปฏิบัติไปตามขั้นตอนที่ท่านวางไว้นั่นล่ะ วิเศษที่สุดแล้ว ซึ่งทั้งหมดที่พูดมานี่คือ มุมของภายใน Inner Aspectหรือเกี่ยวกับการปฏิบัติใน Intensive เป็นสำคัญ

การนั่งอย่างเดียวนั้น หรือ อานาปานสติในแบบสมถะวิปัสสนา จะใช้ในการดูสภาวะละเอียดภายใน ซึ่งเราไม่สามารถเห็นอย่างนี้ได้ในชีวิตประจำวันอย่างชัดแจ้ง ในมุมของภายนอก หรือการปฏิบัติในชีวิต ประจำวัน (Habit) ส่วนมากเราจะใช้สติปัฏฐานสี่ ซึ่งถ้าเราเข้าใจอานาปานสติอย่างชัดแจ้ง สติปัฏฐานสี่ก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก

ในมหาสติปัฏฐานสี่นั้น ก็เริ่มต้นด้วยฐานกายก่อนเช่นกัน รู้กายในกาย จะเอาลมหายใจก็ได้ ถ้านั่งเฉยก็รู้ลมหายใจไป จะรู้อิริยาบถเล็ก กระพริบตา เคี้ยวนู่น ขยับนิ้วก็ได้ หรือ อิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอนก็ได้ทำงานอะไรก็ได้ เราจะรู้อยู่อย่างนี้ เป็นผู้มีสัมปชัญญะ มีสติรู้อยู่กับกาย และท่านยังพูดกว้างออกไปอีก ให้ใช้การพิจารณาในหมวดของกาย เพื่อ ให้เรารู้จักกายตามเป็นจริง เพื่อเดินปัญญาสร้างสัมมาทิฐิให้ตรง

มหาสติปัฏฐานสี่ เป็นสูตรการปฏิบัติที่มีความสมบูรณ์อย่างยิ่ง ซึ่งมีรายละเอียดมาก แต่วันนี้จะขอพูดถึงเพียงเคร่าๆ เริ่มต้นที่หมวดแรก ในฐานกายหรือหมวดกายานุปัสสนา ซึ่งมีถึงหกหมวดย่อย โดยที่สามหมวดแรก เป็นการใช้สติกำหนดรู้เท่าทันสภาวะธรรมของกาย เพื่อให้เกิดความตั้งมั่นในการรู้ตัวเอง ส่วนสามหมวดหลังเป็นหมวดของการฝึกปัญญาพิจารณากายเพื่อให้เกิดสัมมาทิฐิ

เรามาพูดในสามหมวดแรกก่อน ซึ่งเป็นเรื่องของสติ มีสติรู้ลมหายใจ รู้อิริยาบถทั้งหลายไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน หรือ รู้อิริยาบถย่อยคือ การขยับกาย ขยับมือ กระพริบตา พูด กิน เคี้ยว กลืนน้ำลาย ฯลฯพอเรารู้อย่างนี้ได้ตั้งมั่น เราเป็นผู้มีสัมปชัญญะ มีสติรู้กายในกาย ถ้าสติตรงนั้นกำหนดรู้ลมหายใจ เราก็รู้ลมหายใจในขณะที่รู้ตัวทั่วพร้อม ถ้าสตินั้นคือการรู้การเคลื่อนไหวย่อย ก็รู้การเคลื่อนไหวนั้นในขณะที่รู้ตัว ทั่วพร้อม ถ้าสตินั้นคือการกวาดใบไม้ หรือการทำงาน เราก็รู้กายที่เคลื่อนไหวนั้นในขณะที่รู้ตัวทั่วพร้อม เรียกว่ารู้กายในกาย ท่านจึงว่า เราเป็นผู้มีสัมปชัญญะ เรารู้ตัวทั่วพร้อมและมีสติ คือหนึ่งรู้ตัวทั่วพร้อม และสองกำหนดรู้วัตถุที่ให้เกาะไว้เพื่อให้ตั้งมั่น

พูดให้ฟังง่ายๆ เมื่อเรารู้ตัวทั่วพร้อม หากขณะนี้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกก็รู้ กระพริบตาก็รู้ ขยับนิ้วก็รู้ มือเคลื่อนไหวก็รู้ ขาเดินก็รู้ มันเป็นเรื่องอาการของกายในกายทั้งปวง อย่างนี้เราเป็นผู้มีฐานกายแล้ว ท่านก็ให้ดูเจตสิกอีกสองตัว คืออย่าให้ทิฐิความเห็นทั้งหลาย และตัณหาความอยากทั้งหลายมาครอบงำ หมายความว่า อย่าไปคิดอะไร ไม่ต้องคิดนู่นคิดนี่ ไม่ต้องเอาความเห็นนู่นนี่ อย่าไปดิ้นรนหาอะไร อย่าไปเกลียดอะไร เฉยๆ แค่รู้เฉยๆ

ตรงนี้ท่านให้เรารู้เท่าทันเจตสิก เจตสิกที่มันมีผลกับเรามากคือตัณหาและความคิดทั้งหลาย และท่านก็บอกให้ถอนใจออกจากความพอใจและความไม่พอใจในโลกเสีย คือจิตที่รู้นั้นมันสงบเย็นอยู่ อย่าเข้าไปสนใจกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสหรืออะไรทั้งหมด

โลกคืออะไร โลกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือทั้งหมดที่เรารับรู้ โลกที่เรารับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายทั้งหมดคือกามโลก กามภพ เจตสิก และจิต เป็นรูปภพและอรูปภพ ถอนความพอใจในโลกทั้งหมดออกเสียอย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปเกาะ ณ.ที่ใด ก็คือวางเฉยอยู่ กลับมารู้อยู่เฉยๆ ถอนใจออกมาจากสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจก็ตาม อย่าไปจมแช่กับสิ่งใด ทั้งรูป จิตและเจตสิก แค่หมวดกายหมวดเดียวถ้าเราปฏิบัติได้ถูกก็ครบหมดแล้ว ก็คือรู้สาม และก็วางสามแล้ว

แต่ทำไมท่านต้องบอกไว้ตั้งสี่หมวดล่ะ ก็เพราะว่า นี่มันแค่ฐานหยาบ มันยังไม่ละเอียด เรายังไม่มีสติรู้สภาวะจิตที่ละเอียด มันยังรู้แค่ทิฐิ ความเห็น ความคิด ตัณหาหยาบๆ

ในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อย่างสมบูรณ์แล้ว หากเราไม่รู้เท่าทันอาการต่างๆทั้งหมดของจิตตามความเป็นจริง มันก็เป็นการยากที่จะพ้นทุกข์ไปได้

ขณะที่เราอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น มันมีกิเลสเกิดครบตั้งแต่กิเลสละเอียดภายใน จนถึงหยาบๆภายนอก มันไม่เหมือนในอานาปาน-สติ ซึ่งมีแค่จิตสังขารที่ละเอียด ตัวที่หยาบและรุนแรงนั้นแทบไม่มีโอกาสเกิดให้เห็นได้เลย แต่ขณะที่ทำงานมันมีหมด โลภะ โทสะ โมหะ อิจฉา มานะ ขุ่นเคือง เศร้าโศก หงุดหงิด ฯลฯ มันมีเจตสิกมากมายให้เรียนรู้ ซึ่งเราต้องเรียนรู้ ต้องค่อยๆรู้จักไปเรื่อยๆ ตามที่มันมีในตัวเรา เพราะไม่อย่างนั้น เจตสิกทั้งหลายพวกนี้จะเป็นที่เกาะ ที่ยึดของเรา เราจะหลงเข้าไปยึดมันโดยไม่รู้ตัว เพราะเราไม่รู้จักมัน

เราหลงเข้าไปยึดเพราะเราไม่รู้จักมัน ไม่รู้เท่าทันมัน ขาดสติในมัน เปรียบเหมือนเราไม่รู้ว่าใครเป็นโจร เราไม่รู้ว่ามันเป็นตัวร้าย เราไม่รู้ว่านี่เป็นทางเสื่อม เราไม่รู้ว่าคนนี้ดี หวังดีกับเรา เราก็เลยปล่อยให้เขาผ่านไป หรือปล่อยให้โจรคงอยู่ ปล่อยให้คนดี คนที่ปรารถนาดีกับเราผ่านไป เราไม่ได้แคร์คนดีแต่กลับไปเอาใจใส่คนเป็นโจร นั่น! ชีวิตของเรา ก็ต้องทุกข์แน่ ชีวิตเราจะต้องระวังโจรให้ดี และคอยเอาใจใส่คนที่ปรารถนาดีต่อเรา ชีวิตเราต้องละสิ่งที่เป็นทางเสื่อม แล้วก็คอยเจริญสิ่งที่เป็นทางกุศล

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเราต้องรู้จักแยกแยะ อะไรคือทางเสื่อมและอะไรคือกุศล เราต้องรู้จักว่าอะไรคืออะไร และจะต้องรู้ว่ามันมีอะไรมั่งให้เรารู้ มันก็คือ มหาสติปัฏฐานในสามหมวดแรกคือ กาย เวทนา จิต นี่คือ มีอะไรที่เราควรรู้มั่ง กายเราต้องรู้จักนะ กายมันเป็นยังไง ท่านก็ให้พิจารณา กายโดยความเป็นแค่องค์ประกอบ 32 อย่างมาประกอบกัน, กายโดยความเป็นเพียงธาตุสี่มาประกอบกัน, หรือกายที่ต้องเน่าเปื่อยแตกสลายไปในที่สุด กายมันมีอย่างนี้ เมื่อรู้ว่ากายมันเป็นอย่างนี้ หาความเที่ยงแท้ หาความเป็นตัวตนไม่ได้เช่นนี้ จะได้ไม่ไปหลงยึดกายนี้

หมวดเวทนา เราก็ต้องรู้จักสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุข-เวทนา ตามความเป็นจริงว่า มันมีอาการเช่นไร เกิดขึ้นได้อย่างไร เสื่อมสลายไปอย่างไร หมวดจิต ก็ต้องเรียนรู้ให้เท่าทันอาการของจิตในแบบต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงที่เรามีอยู่ จิตมีอันนี้อยู่ก็รู้ จิตไม่มีอันนี้อยู่ก็รู้, จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้, จิตมีสมาธิก็รู้ จิตไม่มีสมาธิก็รู้ และอาการอื่นๆของจิตอีกมากมาย เพื่อให้เรารู้จักและรู้เท่าทันยามเมื่อมันปรากฏขึ้นกับเราจริงๆ

ต่อไปในหมวดของธรรม ซึ่งเป็นหมวดที่เราจะเรียนรู้สภาวะ ธรรมที่มันมีผลกับความทุกข์ของเรา ซึ่งมันก็คือ รูป,เจตสิก,จิต หรือ กายเวทนา,จิต ที่เราเรียนรู้มาในสามหมวดแรกนั่นเอง แต่คราวนี้เราจะมารู้มันโดยธรรมลักษณะ เข้าใจมั้ย ในสามหมวดแรกนั้นเราจะเน้นที่เรียนรู้ตัวมัน อาการของมัน เข้าใจเหตุแห่งการเกิดขึ้น และเสื่อมสลายไปของมัน เพื่อให้เรามีสติรู้เท่าทันยามเมื่อมันมีอยู่ เปรียบเหมือน เราเรียนรู้ว่าคนนี้หน้าตาอย่างนี้ คนนั้นหน้าตาอย่างนั้น คนนี้มาจากเมืองนั้น คนนั้นมาจากเมืองนี้

แต่พอในหมวดธรรม เราจะลงรายละเอียดไปทางด้านธรรม-ลักษณะของมัน เหมือนกับว่า เราเรียนรู้ว่าคนนี้นิสัยดี คนนั้นนิสัยไม่ดี คนนี้เก่งทางนั้น คนนั้นเก่งทางนี้ คนนี้ชอบกินอย่างนี้ คนนั้นไม่ชอบอย่างนี้ ฯลฯ ตอนแรกเรารู้จักแค่ผิวเผิน ตอนนี้เราจะลงรายละเอียดมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับการนำไปใช้ในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ได้ จริงๆ เพราะในหมวดแรกๆ ท่านจะเน้นหนักที่การมีสติรู้เท่าทันรูปนามในลักษณะต่างๆ แต่ในหมวดธรรมนั้น ท่านจะเน้นเพื่อให้เราเกิดปัญญาเข้าใจรูปนามต่างๆนั้นอย่างละเอียด ในแง่มุมอันเกี่ยวเนื่องกับความเป็นจริงของมัน ทั้งสมมุติและปรมัตถ์ และความเป็นจริงในเรื่องทุกข์ เพื่อเราจะได้ใช้ดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์

เริ่มต้นท่านให้เราเรียนรู้ที่นิวรณ์ก่อน นิวรณ์มันก็คือรูปนาม หรือ รูป,เจตสิก,จิต มันเป็นปากประตูแห่งความสงบตั้งมั่นของจิต และเป็นปากประตูที่จะพาให้ไปปรุงแต่งเจตสิกหยาบๆไปได้มากมาย เราจึงควรต้องแจ้งชัดในตัวมันให้ดี ในหมวดธัมมานุปัสสนา ท่านจึงให้เราลงรายละเอียดที่นิวรณ์ทั้งห้าอีกทีหนึ่ง นิวรณ์เป็นตัวเริ่มของกิเลสที่จะทำให้เราทุกข์ เป็นตัวจะเริ่มไปสู่ตัณหา นอกจากแค่การเรียนรู้จักตัวมันในหมวดจิตแล้ว ตอนนี้เราต้องลงรายละเอียดให้มากที่จะเรียนรู้ธรรมอันเป็นเหตุเกิดขึ้นของนิวรณ์ ธรรมอันเป็นอาการเสื่อมไปของนิวรณ์ ธรรมอันเป็นเหตุดับไปของนิวรณ์ เรามาเรียนรู้ตรงนี้ มาดูว่ามันเป็นอย่างไร ดูว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันดับไปได้อย่างไร ด้วยเหตุใด และมันหมดไปหรือยัง หรือว่า มันยังมีอยู่

เมื่อเราแจ้งชัดในนิวรณ์ และเป็นอิสระจากมันได้ จิตเราจะสงบและละเอียดมากขึ้น ต่อไปท่านให้เราเรียนรู้ที่อายตนะ คราวนี้ลงราย ละเอียดกับมัน แทนที่เราจะรู้แค่กายแบบตอนต้น คราวนี้เรามาดูว่ารูปมันปรากฏขึ้นได้อย่างไร รูป,เสียง,กลิ่น,รส,สัมผัส และธรรมารมณ์ มันปรากฏขึ้นได้ด้วยอาการอย่างไร มันเสื่อมสลายไปอย่างไร ด้วยเหตุใดท่านใช้คำว่า สมุทยธัมมานุปัสสี วะยะธัมมานุปัสสี สมุทยวะยะธัมมานุปัสสี เราต้องรู้เหตุรู้ผล

นอกจากนั้นท่านยังบอกให้เราสังเกตแยกแยะ ความแตกต่างระหว่างอายตนะที่ถูกยึดติด ถูกร้อยรัดด้วยสังโยชน์ กับอายตนะที่ไม่ถูกร้อยรัด ซึ่งเราก็ต้องรู้จักมันตามสภาพความเป็นจริงว่า สังโยชน์เป็นอย่างไร การแสดงออกของมันเป็นอย่างไร มันร้อยรัดอย่างไร ถูกยึดติดเป็นอย่างไร ต่อไปก็ต้องเรียนรู้ดูขันธ์ห้า ซึ่งอันนี้อาจไม่เรียงลำดับก็ได้ อาจเรียนรู้ไปพร้อมๆกันก็ได้ แต่ท่านยกขึ้นมาจากหยาบไปหาละเอียด

เช่นเดิม เราต้องสังเกตดูตามเป็นจริงว่า ขันธ์ห้ามันเกิดขึ้นยังไง ขันธ์ห้าที่มีอุปาทานยึดติดเป็นอย่างไร ขันธ์ห้าที่ไม่มีอุปาทานยึดติดเป็นอย่างไร รู้เหตุรู้ผลว่าอุปาทานนั้นมันเกิดขึ้นด้วยเหตุใด สลายไปด้วยเหตุใด พอเราเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆๆ ในที่สุดเราก็จะแจ้งชัดในสองสภาวะธรรมชาติที่แตกต่างกัน สภาวะหนึ่งคือความยึดติด อีกอันหนึ่งคือความอิสระ ขันธ์ห้าและอายตนะที่ถูกยึดติดเป็นเช่นนี้ๆ ขันธ์ห้าและอายตนะที่เป็นอิสระเป็นเช่นนี้ๆ

เมื่อแจ้งชัดเช่นนี้ เราก็ต้องเรียนรู้เหตุผลของมันอีกว่า ที่มันอิสระ ไม่มีการยึดติดนั้น มันประกอบด้วยเหตุปัจจัยอะไร อะไรเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการไม่ยึดติดนั้น นี่เราจะต้องฝึกให้มาก กว่าเราจะแจ้งชัดในจุดนี้ เราจะต้องสังเกตดูให้มาก เรียนรู้มันบ่อยๆๆ มันจะค่อยๆ รู้ทีละชั้นไปเรื่อยๆ ซึ่งอันนี้จะช้าหรือเร็วขึ้นกับโยนิโสมนสิการของแต่ละคนที่ได้สร้างสมฝึกฝนไว้

นี่คือโพชฌงค์ เมื่อเราแจ้งชัดตรงนี้ เราจะเกิดความเข้าใจชัดถึงเหตุและผลทั้งหมด เพราะมีเหตุอย่างนี้ๆ จึงทำให้เราเข้าไปยึดติดสิ่งนี้ จึงทำให้เกิดอาการรู้แล้วยึดติด เพราะมีเหตุอย่างนี้จึงทำให้เราเกิดอาการไม่ยึดติด ในขณะที่ไม่ยึดติดมีอาการอย่างนี้ มีองค์ประกอบอย่างนี้ เมื่อแจ้งชัดเช่นนี้ก็ต้องเจริญให้มาก ทำให้มาก เพื่อสร้างสมประสบ-การณ์ต่อไปอีก เพราะตรงนี้เราอาจจะแจ้งชัดในท่ามกลางการกระทบที่ไม่รุนแรงนัก เราจึงต้องสร้างสมความชำนาญให้มากเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกระทบที่รุนแรงมากขึ้นต่อไป

คราวนี้ในชีวิตประจำวันของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอก็คือ ทุกข์ บนความทุกข์ เราก็ใช้สิ่งที่เราพากเพียรปฏิบัติมาทั้งหมดนี้ล่ะ มา deal กับทุกข์ สิ่งที่เรียนรู้มาทั้งหมดนี่ล่ะ รูป,เจตสิก,จิต ทั้งหมดนี่ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากขันธ์ห้า ที่พูดมาตั้งแต่กาย เวทนา จิต และธรรมเบื้องต้นจน กระทั่งถึงสังโยชน์ ก็คือขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ต่อไปนี้ก็มาใช้ในสนามประลองนี่ล่ะ ทุกข์จึงเปรียบเสมือนสังเวียน หรือสนามประลองยุทธ์ ว่าสิ่งที่สร้างสมเรียนรู้มาทั้งหมด เราจะใช้ประโยชน์ทำให้เราพ้นทุกข์ได้หรือไม่ หรือเรียกว่า เอามาเดินอริยสัจได้หรือไม่

แล้วที่เรียกว่าเดินอริยสัจนั้นเป็นอย่างไร มันก็คล้ายๆกับที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่หมวดแรกนั่นล่ะ แต่ตรงนี้มันรวมกันหมด ทั้งสติรู้เท่าทันสภาวะ และปัญญาเข้าใจแจ้งชัดในเหตุ ในผล ในธรรมชาติธาตุแท้ของสิ่งต่าง หรือรูปนามที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อเจอทุกข์ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม ก็ให้เรียนรู้มัน ทำความเข้าใจมัน หาเหตุของมันให้ได้ว่าอะไร มีอาการยังไงที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น รู้จักตัวมันให้ได้ตามสภาพความเป็นจริง เมื่อรู้เท่าทันมัน ก็ละมันให้ได้ วางมันให้ได้ เมื่อวางได้ก็ให้สังเกตสภาวะที่พ้นจากทุกข์ อันจะพ้นออกมาเป็นชั้นๆจากหยาบไปหาละเอียด เมื่อพ้นมาได้ก็ให้ทบทวนดูมรรค หรือวิถีทางที่เราเดินมา เมื่อเข้าใจแจ้งชัดว่าเราดำเนินมาอย่างไร อาศัยเหตุปัจจัยอะไรบ้าง เมื่อเข้าใจชัดในวิถีทางก็ให้ปฏิบัติเช่นนั้นให้มาก เรียกว่าเจริญให้มาก เพื่อเสริมสร้างพลังในการพ้นทุกข์ของเราให้เข้มแข็ง

ถ้าเราไม่เห็นทุกข์ เราก็จะไม่เห็นตัณหา ถ้าเราไม่เห็นตัณหา ก็พ้นทุกข์ไม่ได้ ถ้าเราไม่แจ้งในนิโรธ เราก็จะไม่มีทางเข้าใจมรรคที่ถูกต้อง ถ้าเราไม่เข้าใจมรรคที่ถูกต้อง เราก็พ้นทุกข์ไม่ได้ ปัญญาทั้งหมดจะมารวมที่อริยสัจ ที่เราฝึกมาทั้งหมดก็มารวมตัวกันใช้ในอริยสัจนี่ล่ะ

ถ้าเราไม่เห็นทุกข์เราก็ไม่เห็นตัณหา ถ้าเราไม่เห็นตัณหาเราจะละตัณหาได้มั้ย ถ้าเราไม่ละตัณหาเราจะมีนิโรธมั้ย ถ้าไม่มีนิโรธเราจะแจ้งประจักษ์ในนิโรธได้มั้ย เพราะถ้าไม่ละตัณหามันก็ยังคงจะยึดมั่นอยู่อย่างนั้น จิตมันก็ไม่มีทางสงบเย็นอยู่ได้ ไม่มีทางนิ่งอยู่ได้โดยไม่ไปจับอะไร ไม่มีทางคงอยู่ในสภาพเดิมแท้ของมันได้

เมื่อเข้าใจแจ้งชัดเช่นนี้ เราจึงต้องค่อยๆเดินไปทีละขั้น โดยไม่ลัดขั้นตอน ปริวัฏฏ์สาม อาการสิบสอง ไปทีละขั้นๆ อย่าประมาทคำพระพุทธองค์เด็ดขาด เริ่มแรกก็เดินไปจนกว่าเราจะแจ้งชัดในมรรค เมื่อแจ้งชัดในมรรคมันก็เหมือนเรารู้ใบไม้หยิบมือ รู้วิธีที่จะจัดการกับทุกข์แล้วต่อไปก็ต้องเดินมรรคให้มากๆๆ หากเราแจ้งชัดในมรรคแล้ว ไม่ว่า ในองค์ประกอบภายในหรือในปัจจัยเสริมภายนอก เราแจ้งชัดหมดแล้วต่อไปเวลาเดินมรรค อาการทั้งหมดมันก็เหมือนๆกัน มันจะไปในรูปแบบเดียวกัน

กับอารมณ์หยาบๆ เช่น โลภ โกรธ หลง อิจฉา มานะ ก็ใช้มรรคในรูปแบบเดียวกัน ต่อไปก็ลงไปจัดการกับความคิดความเห็น จนกระทั่งลงไปจัดการกับจิต จัดการกับอุปาทานในวิญญาณ ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้าไม่รู้จักเท่าทันรูป,เสียง,กลิ่น,รส,สัมผัส ไม่เคยรู้จักเท่าทันเจตสิก ไม่เคยรู้จักเท่าทันจิตมาก่อน มันย่อมจะเป็นไปไม่ได้ มันจึงต้องตั้งฐานให้ถูกต้องและเชี่ยวชาญมาก่อน

เมื่อเราสามารถเดินมรรคมาเรื่อยๆ จนวางอุปาทานในจิตได้ ก็เรียกว่าเราละอุปาทานในขันธ์ห้าได้สมบูรณ์ นั่นจึงจะเรียกว่า ความพ้นทุกข์จริงๆ ตอนแรกที่ว่า รู้ 1=3วาง 3=1วางอันนั้นยังเป็นแค่สมถะตั้งฐานเฉยๆ สมถะเพื่อจะลองรับวิปัสสนา เพราะมันยังเป็นเพียงการวางเฉยโดยสัญญา มันยังไม่ใช่การวางแบบหลุดพ้น วางด้วยปัญญาภาวนา หรือวางด้วยภาวนามยปัญญา ซึ่งตรงนี้จึงจะเรียกว่า ที่สุดแห่งกองทุกข์มันก็เริ่มมาจากการหลุดมาทีละเปราะๆๆๆ พอถึงตรงนี้ไม่ต้องไปวางแล้ว คืนสู่ธรรมชาติอันแท้จริงของมัน คืนสู่ธรรมชาติเดิมของมัน ทำอย่างไรมันก็ไม่ยึด มันถึงต้องมีขั้นตอนแห่งการพัฒนามากมาย ซึ่งมันจะข้ามขั้นไม่ได้เลย เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล ตอนแรกเป็นวิกขัมภนะ ต่อไปตทังคะ แล้วก็สมุจเฉท ต่อไปก็เป็น ปฏิปัสสัทธิ จบสมบูรณ์ที่นิสสรณะ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ละเอียดลงไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด

เพราะฉะนั้น ทุกๆ อย่างมัน จึงต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แต่นักปฏิบัติเราชอบไปยึดมันทุกที วางแค่ข้างนอกได้ครั้งเดียวก็ไปยึดแล้ว ยังมีอีกตั้งหลายชั้น ถึงบอกว่าเหมือนลอกหัวหอม ลอกกาบกล้วยนั่นล่ะ ลอกเข้าไปทีละชั้นๆใจเย็นๆ ในที่สุดข้างในมันว่างเปล่า ไม่มีอะไรๆอะไรจริงๆ แต่กว่าจะเข้าไปถึงความว่างนั้นมันไม่ใช่ง่าย ใจเย็นๆ

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคืออะไร ที่พูดเมื่อวาน address ให้เป็น เริ่มตั้งแต่ จับไม้,จับ grip ให้ถูก,forehand เป็นอย่างไรหัดตีให้คล่อง,backhand เป็นอย่างไรก็ตีให้คล่องก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยลงสนาม พวกเราพอได้ยินของดีจะลัดสั้นแล้ว จะรีบไปลงสนามแล้ว พอลงตีลูกได้นิดนึงก็ว่ากูเล่น tennis เป็นแล้ว อีกไม่นานหรอก ยังไม่ทันชนะระดับหมู่บ้านมั๊ง ระดับโรงเรียนก็ไม่ชนะหรอก มันก็เสร็จเสียก่อน ซึ่งทั้งหมดมันก็เกิดจากตัวร้ายที่สุด ซึ่งก็คือความหลง

ความหลงมันทำให้เราเกิดอะไร? ความหลงมันทำให้เราเกิดตัณหา โดยอาการที่เราจะเห็นมันได้ มันแสดงออกเป็นตัณหาความทะยานอยาก ตัวความหลงนั้น มันเห็นไม่ได้หรอก มันเป็นอวิชชา เป็นความไม่รู้ เป็นความรู้ที่ผิดเพี้ยน มันไม่มีอาการให้เราเห็นหรอก จะมีอาการให้เห็นได้ก็ที่ตัวตัณหาที่มันทะยานไปพุ่งไปนี่ล่ะ เราจึงต้อง relax ใจเย็นๆ สบายๆ อย่าไปยึดกับอะไร อย่าไปอยากกับอะไร อย่าไปทำด้วยความอยากจะเอานู่นเอานี่ อยากได้ดีมีเป็น แต่ทำด้วยความผ่อนคลาย แต่บนความผ่อนคลายก็ไม่ใช่หมดความกระตือรือร้น หมดความมุ่งมั่นตั้งใจ ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีฉันทะ จิตตะ ไม่งั้นไม่มีทางประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเรามีฉันทะ จิตตะ แต่ขาดความเข้าใจ ฉันทะก็จะแปรเปลี่ยนเป็นตัณหา เพราะเราไปอยากได้ดีมีเป็นแบบโลก เพราะเราเคยชินมาอย่างนั้น พอพูดถึงฉันทะในอิทธิบาทสี่ เราเคยใช้มามากมายในการทำงานให้สำเร็จในทางโลก แต่เรามักจะใช้ตัณหาตั้งขึ้น เราไม่ค่อยใช้เหตุผล เราก็คิดว่านั่นคือฉันทะเพราะเราทำงานสำเร็จ แต่แท้จริงคือตัณหา แต่ถ้าเราเข้าใจได้ถูกต้อง เราก็อย่าใช้ตัณหา ใช้ฉันทะในการปฏิบัติทางธรรม เพราะทางธรรมต้องใช้ฉันทะ

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ การปฏิบัติของเราตั้งแต่ต้น ต้องครอบด้วยอิทธิบาทสี่ แปลว่าเราต้องมีฉันทะ เราต้องมีความตั้งใจ มีศรัทธาที่จะทำ ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฉันทะมันจะเกิดจากตรงนี้ เมื่อมีตรงนี้มันถึงจะมีความมุ่งมั่นและมีความตั้งใจแน่วแน่คือมีจิตตะ มีความพากเพียรอย่างสูงยิ่งคือ วิริยะ และสิ่งสำคัญคือใช้ปัญญา ไม่ใช่บื้อๆ มันต้องหัดสังเกต หัดดู หัดแก้ไขปัญหา อันนี่เป็นอย่างนู้น อันนู้นเป็นอย่างนี้ แต่ใช้ปัญญาก็อย่าเลยไปสู่ความฟุ้งซ่าน ต้องเบรกให้เป็น ปัญญามากก็ฟุ้งซ่าน ปัญญาน้อยก็บื้อ เอาพอดีๆ ทุกอย่างพอดีหมด เราจะต้องสังเกตไม่ใช่ต้องคอยให้อาจารย์สั่ง ถ้ามัวคอยแต่ให้อาจารย์สั่ง บอกมาเถอะครับแล้วจะทำตาม....มันก็ดีอยู่ แต่เราก็ต้องมีคุณสมบัติทั้งสี่ นี้ครอบสวมลงไปทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติขั้นไหนหรือมหาสติปัฏฐานสี่ขั้นไหน

เพราะฉะนั้น ขยันๆเถอะ พากเพียรให้ดี ใจเย็นๆ สิ่งสำคัญก็คือ ใจเย็นๆ อย่าให้หลงและก็อย่าใช้ตัณหา ข้อแรกเลยพระพุทธเจ้ายกขึ้นมา คืออย่าให้ทิฐิและตัณหาครอบงำ นี่ไงคือตัวอำนาจของความหลง ทิฐิของเราก็มาจากความไม่รู้ทั้งนั้น มันก็คือทิฐิที่หลง ตัณหานั่นคือผลแห่งความไม่รู้ เพราะตัณหามันมาจากอวิชชา ถ้าเรายังอยากในสิ่งใดแสดงว่าเรายังไม่รู้รอบในสิ่งนั้น ไม่รู้ชัด อย่าให้ทิฐิและตัณหาครอบงำ ทิฐินั้นหมายถึงมิจฉาทิฐิ และตัณหาคือความอยากนู่นอยากนี่

นี่ล่ะคือทั้งหมด นี่คือการอธิบายความหมายของคำว่า รู้ 1=3 วาง 3=1 และนี่คือฐาน เมื่อตั้งฐานได้แล้วจึงมาดูต่อ แต่หากเรายังไม่เข้าใจอย่างนี้ วิธีการปฏิบัติง่ายๆก็คือ relaxอย่าให้ทิฐิและตัณหาครอบงำ สบายๆ ปล่อยให้มันรู้ไปเรื่อยๆ แล้วเราค่อยสังเกต อ๋อ! ขณะที่รู้สบายๆนั้น จิตเป็นยังไง เจตสิกเป็นยังไง รูปเป็นยังไง จะเล่นอย่างงั้น ก็ได้ แต่ที่อธิบายมาทั้งหมดมันเป็นขั้นตอน เอามาอธิบายให้พวกเรามองเห็นในอีกมุมนึงที่เราไม่เคยเห็นเท่านั้นเอง พวกเราจะเข้าใจในมุมเก่าๆ ที่เราเคยเข้าใจก็แล้วแต่ เลือกเอาเองแล้วกัน มองให้ดีก็แล้วกัน

ทุกอย่างมันต้องอาศัยองค์ประกอบมากมาย ซึ่งถ้าเราพิจารณาไล่ไปอีก เรื่องขององค์ประกอบที่เกื้อหนุน ก็ยังมีอื่นๆอีกหลายอย่าง เช่น สุจริต 3, การคบสัตบุรุษ, การอยู่ในหมู่กัลยาณมิตร, การละทิฐิมานะ, การเชื่อฟังคำแนะนำของครูบาอาจารย์, การนำความรู้นั้นไปพิจารณาอย่างแยบคายและตั้งใจปฏิบัติ และอีกสิ่งที่สำคัญมากคือ จงอย่าได้ประกอบกรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย ให้เจริญกุศลและสุจริต 3 ให้มาก นั่นล่ะมันจะเกื้อกูล ทำให้เราลดนิวรณ์ แล้วเราจะตั้งฐานได้ง่าย เมื่อเราตั้งฐานได้เรื่อยๆจนมั่นคง อีกหน่อยเราก็จะได้เห็นตามเป็นจริง พอเห็นตามเป็นจริงจนสามารถอิสระละวางได้ ก็จะเกิดโพชฌงค์ พอเกิดโพชฌงค์ก็จะมีวิมุตติ ซึ่งทั้งหมดก็อยู่ในสติปัฏฐานนั่นล่ะ เข้าใจมั้ย

เพราะฉะนั้น จงอย่าได้ประมาท เรียนรู้ทำความเข้าใจให้ดี จะได้ไม่หลงทาง…

ที่มา : http://dmbodhiyan.com/ (สวนธรรมโพธิญาณ) สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ