วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

61: นิพพาน ๓ อย่าง

นิพพาน ๓ อย่าง
นิพพานนั้นองค์สมเด็จพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนได้ว่า มีอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. นิพพานชั่วขณะเรียกว่า “ตะทังคะนิพพาน” หมายความว่าจิตเข้าสู่ความพ้นจากกิเลส คือความหลุดพ้นชั่วขณะ ในขณะที่จิตเข้าสู่ความหลุดพ้นอย่างนั้นก็เป็นเหตุให้พบความสุขอย่างสุดยอดทีเดียวแต่เมื่อเหตุยังมี ทิฏฐิคือความคิดความเห็นยังอยู่ ย่อมนำจิตเข้ามาสู่ในโลกีย์วิสัยอีกได้ นิพพานอย่างนี้ท่านเปรียบเสมือนหนึ่งลิงที่อยู่นิ่งได้ชั่วขณะเดียว แต่ก็ยังดีกว่าผู้ที่ไม่ได้เสียเลยนิพพานชนิดนี่ท่านเรียกว่า “ตะทังคะนิพพาน” คือนิพพานชั่วขณะ
ส่วนอีกสองประการนั้น เป็นนิพพานอยู่ชั่วกาลนาน เรียกว่า “สะอุปาทิเสสะนิพพาน” เป็นการที่นำดวงจิตเข้าสู่นิพพานอย่างถาวร ไม่กลับออกมาอีกแล้ว เพราะว่าตัดเสียหมดทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเหลือคงอยู่แต่ร่างกายเท่านั้น ยังกิน ยังเดิน ยังพูด ยังนอนอยู่
ส่วนอีกอย่างหนึ่งนั้นเรียกว่า “อะนุปาทิเสสะนิพพาน” นิพพานชนิดนี้ไปหมดทีเดียว ร่างกายก็ไปแล้ว ดวงจิตก็หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวงเข้าสู่นิพพาน เรียกกันว่าดับสนิททีเดียว ไม่มีเชื้อให้ลุกติดอีกได้ เหมือนเมล็ดพืชที่ปราศจากยางงาเพราะถูกคั่วเสียแล้ว แต่ไม่ใช่หมายความว่าเมล็ดพืชนั้นจะสูญหายไปจากโลก

ถาม ขอถามปัญหาเกี่ยวกับคำว่า “สะอุปาทิเสสะนิพพาน” กับ “อะนุปาทิเสสะนิพพาน” นั้นหมายถึงว่าดับกิเลสมีเบ็ญจขันธ์เหลือหรือดับเฉพาะบางส่วน มีบางท่านได้ยืนยันว่า “สะอุปาทิเสสะนิพพาน” คือว่าดับกิเลสที่มีเบ็ญจขันธ์อยู่
ตอบ “สะอุปาทิเสสะนิพพาน” คือการดับกิเลสที่มีเบ็ญจขันธ์อยู่ เพราะเหตุว่า อุปาทานยังครองสังขารนั้น

ถาม หมายถึงพระโสดา สกิทาคา อนาคาใช่ไหม ส่วน ”อะนุปาทิเสสะนิพพาน” นั้นหมายถึงพระอรหันต์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งปวง ปัจเจกพุทธทั้งหลายเช่นนี่ ขอทราบความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ครับ
ตอบ ใครเป็นคนอุตตริที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจเช่นนี้ เออ เรื่องนี้จะต้องพูดกันยืดยาว เอาละ ให้ตั้งใจฟังกันทุกคน

เรื่องนี้ครั้งหนึ่งเคยได้พูดกันมาแล้ว่า นิพพานในพุทธศาสนา หรือขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีอยู่ ๓ ประการ คือ เรียกว่า นิพพานสามขั้น

ขั้นที่ ๑ เรียกว่านิพพานชั่วคราว หรือ “ตะทังคะนิพพาน” คือเมื่อเข้าสู่นิพพานแล้ว ทิฏฐิก็นำจิตนั้นออกจากแดนนิพพาน การเข้านิพพานในขั้นนี้ เมื่อผู้ที่ทำจิตถึงซึ่งการที่จะเข้าสู่นิพพานแล้วย่อมเข้าได้ทุกคน แต่ไม่เป็นการถาวร “สะอุปาทิเสสะนิพพาน” นั้น หมายถึงนิพพานที่ยังมีร่างกายอยู่ เพราะเหตุว่าสังขารยังมีอุปาทานครอง แต่เป็นนิพพานที่ไม่กลับออกมาอีกแล้ว เป็นอรหันต์ตั้งแต่ครั้งยังมีชีวิตได้แก่พระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่นั้น ตั้งแต่สมัยพุทธันดรมาจนกระทั่งสมัยนี้

ส่วน “อะนุปาทิเสสะนิพพาน” นั้น หมายความว่า ร่าง หรือดวงจิตที่อยู่ในร่างที่เข้าสู่นิพพานแล้วนั้น ได้แตกดับขันธ์ไป ทำให้การนำจิตเข้าสู่นิพพานเป็นการถาวรไม่กลับออกมาอีก ไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย โศกปริเทวทุกข์ทั้งปวง

ไม่ใช่แบ่งชั้นวรรณะว่า ถ้าเป็นสะอุปาทิเสสะนิพพานแล้ว จะได้ตั้งแต่ชั้นโสดาบันไปจนถึงอนาคา ส่วนอะนุปาทิเสสะนิพพาน คือ นิพพานของสังขารที่ปราศจากอุปาทานครองนั้น จะเป็นนิพพานเฉพาะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทังหลาย ๒๘ พระองค์ก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายดุจเมล็ดทรายในท้องมหาสมุทรก็ดี ประดุจพระอรหันต์ทั้งปวงที่เข้าสู่นิพพานแล้วเท่านั้นหามิใช่เป็นการแบ่งชั้นวรรณะว่านิพพานอย่างนั้นเฉพาะคนชั้นนั้น นิพพานอย่างนี้เฉพาะคนชั้นนี้ ฉันใดก็ตาม เมื่อทำจิตให้เข้าถึงซึ่งแดนพระนิพพาน คือแดนแห่งความสงบแล้วย่อมจะเป็นได้ทั้งสิ้นเสมอเหมือนกันหมด หากแต่ว่ายังมีสังขารที่มีอุปาทานครองอยู่ หรือเป็นสังขารที่ปราศจากอุปาทานครองแล้วเท่านั้น

ถาม ภาวะนิพพานนี้จะประสพได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่หรือว่าตายไปแล้วจึงจะได้ประสพ
ตอบ ไม่น่าจะเป็นปัญหาเลย เมื่อเข้าใจถึงนิพพาน ๓ ประการที่พูดให้ฟังแล้ว ย่อมจะพิจารณาเห็นว่าภาวะนิพพานนั้น จะประสพเมื่อมีชีวิตอยู่ หรือเมื่อหาชีวิตไม่แล้วได้ทั้งสิ้น เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ได้ ”สะอุปาทิเสสะนิพพาน” เมื่อดับชีวิตไปแล้วก็พึ่งอะนุปาทิเสสะนิพพานและ ตะทังคะนิพพานนั้น ย่อมได้แก่บุคคลทั่วที่มีชีวิตอยู่ หรือผู้ที่ไม่มีชีวิตแล้ว แต่เมื่อทำจิตให้เข้าถึงซึ่งแดนนิพพานนั้นชั่วขณะและเมื่ออยู่ในแดนนิพพานชั่วขณะแล้ว ทิฏฐิอันประกอบไปด้วย กามสุขัลลิกานุโยคก็ดี ตัณหา อุปาทานทั้งปวงก็ดี เป็นผู้นำจิตนั้นออกจากแดนนิพพาน

ถาม “ภาวะนิพพาน” กับ “จิตที่บรรลุนิพพานนั้น” มีความแตกต่างหรือเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ตอบ ต่างกัน จะพูดให้ฟัง “ภาวะนิพพาน” หมายถึง ความเป็นอยู่แห่งแดนนิพพาน หรือเราจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ในเมื่อเข้าไปสู่ในที่นั้น เมื่อนำจิตเข้าไปสู่ภาวะนิพพานได้แล้ว จิตนั้นก็เป็นจิตที่เข้าสู่นิพพาน ภาวะนิพพานก็คือภพแห่งนิพพานนั้นเอง “ส่วนจิตนิพพานนั้น” เป็นจิตที่อยู่ในรูป หรือจิตที่ปราศจากรูป หากบำเพ็ญจนกระทั่งจิตนั้นเข้าสู่ภาวะนิพพาน หรือภพแห่งนิพพาน หรือวความเป็นอยู่แห่งนิพพานแล้ว ก็ได้ความเป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ ดังจะยกตัวอย่างให้เข้าใจ
ภาวะนิพพาน หรือ ภพนิพพานนั้นอยู่ที่ใด ไม่มีผู้ใดที่จะชี้แจงแถลงไข หรือว่าจะวาดรูปให้เห็นได้ แต่มีข้อที่จะพึงอุปมาได้ว่า ประดุจนั่งอยู่ในห้องนี้เป็นแดนแห่งสามัญธรรมดาทั่วไป ครั้นออกจากประตูห้องนี้ไปสู่ห้องอื่น ก็เข้าสู่แดนนิพพานนั้น เพียงชั่วมีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากั้นกลางไว้ อาจจะมองเห็นภาวะนิพพานได้ แต่ไม่สามารถจะนำจิตเข้าส่ภาวะนิพพานนั้น แต่เมื่อใดสามารถนำจิตเข้าสู่ภาวะนิพพานนั้นได้แล้ว จะรู้แจ้งแก่ตนเอง เป็นปัจจัตตัง ผู้อื่นจะรู้ได้กับตัวเรายากที่สุด และตัวเราก็ไม่อาจจะชี้แจงแถลงให้ผู้ใดทราบ เรื่องนี้จะต้องไปพิจารณาด้วยจิตของตัวเองแล้วจะเข้าใจอย่างซาบซึ้ง ไม่สามารถจะอธิบายให้เห็นแจ่มชัดได้หรือนัยหนึ่งเปรียบประดุจมีฉากใสๆ ที่ทำด้วยเส้นใยแมลงมุมซึ่งสามารถจะมองทะลุฉากนั้นไปได้ แต่ว่าไม่สามารถจะเข้าไปยังหลังฉากนั้นได้ ถ้าหากเมื่อใดผ่านฉากนั้นไปได้แล้วจะรู้สึกว่าจิตของตัวเราในภาวะนิพพานนั้นเป็นจิตอีกรูปหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกับจิตเดิมอย่างยิ่งทีเดียว

ถาม เมื่อจิตบรรลุนิพพานแล้วยามที่มีชีวิตอยู่ สุขอย่างไรก็พอจะอนุมานได้ ทีนี้เมื่อเป็น อะนุปาทิเสสะนิพพาน คือ เบ็ญจขันธ์ทำลายลงไปแล้ว จิตนั้นยังมีอยู่หรือเปล่าว จิตที่เหนี่ยวนิพพานเป็นอารมณ์นั้นมีอยู่หรือเปล่า
ตอบ มีอยู่ตลอดไปไม่มีวันเสื่อมคลาย เพราะจิตหรือวิญญาณนั้นเป็น “อมตะ”

ถาม และเมื่อจิตอยู่อย่างนั้น ทำไมจิตจึงไม่ทำหน้าที่เกิดอีก
ตอบ เพราะว่าจิตหลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล ไม่มีสิ่งใดมาข้องเกี่ยวอีกต่อไป สิ้นกังวลแล้ว สิ้นความอยาก สิ้นตัณหาอุปทานแล้ว เห็นแจ้งแล้วในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็นจึงไม่ต้องการจะกลับมาด้วยความเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง

ถาม แล้วจิตที่บรรลุนิพพนานหลังจากจากดับเบ็ญจขันธ์แล้วนั้นมันอยู่อย่างไร เพราะไม่มีร่างที่จะอาศัยอยู่
ตอบ ไม่จำเป็นจะต้องมีร่าง ถ้ามีร่างอีกเมื่อใด ก็หมายความว่ากลับมาเกิดใหม่ ซึ่งผิดไปจากหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงกล่าวไว้ว่า “นิพพานนัง ปรมัง สุญญัง” หมายความว่าในนิพพานนั้น สูญการเกิด สูญกิเลส ยังอยู่แต่วิญญาณที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส เป็นวิญญาณบริสุทธิ์แท้ หรือจิตเดิมแท้ซึ่งไม่มีสิ่งใดมาเคลือบคลุม เป็นจิตที่สว่างแล้ว ไม่มีกิเลสมาหุ้มห่อ ไม่มีอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น เป็นจิตที่ไม่ต้องมีชาติ ชรา มรณะ ทุกข์โศกปริเทวอุปายาสใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อจิตซึ่งปราศจากกิเลสอาสวะทั้งมวลเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นจิตที่บริสุทธิ์ผ่องใสประดุจดวงไฟที่รุ่งโรจน์ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมาหาความดับของความรุ่งโรจน์นั้นอีก

ถาม ถ้าเช่นนั้นหากมีความต้องการที่จะติดต่อกับจิตของพระพุทธเจ้า จะติดต่อได้ไหม
ตอบ ติดต่อได้แน่นอนที่สุด ก็การที่เข้าไปในพระอุโบสถแล้วทำสังฆกรรมทั้งหลาย มีการทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ มีการสวดเจริญพระพุทธมนต์ มีการภาวนาทั้งหลายเหล่านี้ ทำอะไร

ถาม น้อมจิตนึกถึงพระพุทธเจ้าครับ
ตอบ นั้นแหละเป็นคำตอบที่ตรงอยู่แล้ว สมเด็จพระบรมศาสดา และบรรดาพระอริยะทั้งหลายก็ย่อมทราบการกระทำนี้ แม้แต่ว่าในขณะนั้นจะได้กระทำไปโดยไม่มีความตั้งใจหรือตั้งใจท่านย่อมทราบหมดสิ้น

ถาม ก็เมื่อจิตอรหันต์หลังจากนิพพานแล้วอย่างพระพุทธเจ้าเป็นจิตซึ่งไม่มีรูป ไม่มีอายตนะเป็นเครื่องสืบต่อไป จิตนั้นจะมีอานุภาพบันดาลให้ผู้นั้นติดต่อกับพระองค์ได้อย่างไร
ตอบ อาจจะลืมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบางตอนแล้วก็ได้กระมังจึงได้ถามอย่างนี้ พระองค์ได้ทรงตรัสสั่งสอนไว้ว่า อันจิตของผู้ใดเป็นจิตที่สงบแล้ว จิตนั้นย่อมสามารถทำสมาธิให้เกิดขึ้นได้ จิตของผู้ใดมีสมาธิแล้ว จิตของผู้นั้นย่อมมีพลัง จิตของผู้ใดมีพลังแล้วย่อมสามารถกระทำการใด ๆ ที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากการกระทำของคนสามัญธรรมดาทั้งหลายได้

คัดลอกโดย huayhik จากหนังสือ : คำสั่งสอนอบรมของสมเด็จท่านพระพุฒาจารย์ (โต พหรมรังสี)