วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

79: ดวงแก้วพุทโธ: องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ


ครั้งหนึ่ง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กับพระลูกศิษย์รูปหนึ่ง เที่ยวธุดงค์แสวงหาที่วิเวกตามอำเภอต่าง ๆ ในเขตเชียงใหม่ ได้เดินธุดงค์ข้ามเขาหลายลูก และไปพักอยู่ชายเขาแห่งหนึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านชาวเขาราวสองกิโลเมตร โดยพักอยู่ใต้ร่มไม้ เวลาฝนตกลงมาก็เปียกโชกแต่ก็ทนเอาไม่เดือนร้อนไม่สนใจเพราะทนได้

ตอนเช้าพากันเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านชาวเขา พวกชาวเขาเห็นท่านเข้าไปบิณฑบาตก็ถามว่า ตุ๊เจ้ามาธุระอะไร? ท่านบอกว่ามาบิณฑบาต เขาถามว่า มาบิณฑบาตคืออย่างไร? พวกเขาไม่เข้าใจ เขาเคยรู้จักพระเหมือนกัน แต่ไม่รู้จักขนบธรรมเนียมของพระ ท่านบอกว่าบิณฑบาตก็คือพระมาขอแบ่งข้าวจากชาวบ้านไปกิน เขาถามว่าจะเอาข้าวสารหรือข้าวสุก? ท่านตอบว่าข้าวสุก 

เขาก็บอกกันต่อ ๆ ไปให้เอาข้าวสุกมาใส่บาตรท่าน เมื่อได้ข้าวแล้วท่านก็พาพระลูกศิษย์กลับมายังร่มไม้ ที่พัก และฉันข้าวเปล่า ๆ อยู่นานวัน ขณะที่ท่านพักอยู่ใต้ร่มไม้ใกล้หมู่บ้านแห่งนี้พวกเขาใส่บาตรให้ก็จริง แต่พวกเขาไม่มี ความเลื่อมใสและไว้ใจท่านเลย พอตกกลางคืนหัวหน้าชาวบ้านตีเกาะนัดให้ชาวบ้านมาประชุมกันแล้วประกาศว่า ขณะนี้มีเสือเย็นสองตัว (หมายถึงพระอาจารย์มั่นและพระลูกศิษย์) มาพักอยู่ที่ป่าใกล้หมู่บ้าน 

คำว่า “เสือเย็น” หมายถึง “เสือสมิง” นั่นเอง ขอให้ชาวบ้านทั้งหลายอย่าได้ไว้ใจเสือเย็นสองตัวนี้ มันแปลงเป็นพระจะมาจับพวกเราไปกินเป็นอาหารห้ามไม่ให้เด็กและผู้หญิงเข้าไปในป่าเป็นอันขาด แม้ผู้ชายจะเข้าไปในป่าก็ควรจะมีพรรคพวกเป็นเพื่อนไป ด้วยหลาย ๆ คนและต้องมีอาวุธป้องกันตัวไปด้วย ไม่ควรเดินป่าตัวคนเดียวเป็นอันขาดจะมีอันตรายถูกเสือเย็นสองตัวตะครุบกัดกิน 

พวกชาวเขาได้จัดเวรยามครั้งละ 3 – 4 คน มีอาวุธมีดพร้าขวานแหละหน้าไม้ ให้มาคอยเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของพระอาจารย์มั่น แหละพระลูกศิษย์อยู่ใกล้ ๆ ที่พักอยู่ตลอดเวลาทั้งวันและทั้งคืนเป็นผลัด ๆ 

ไม่ว่าท่านจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนา พวกเขาจะคอยสอดส่ายสายตาจับตาดูความเคลื่อนไหวไม่ยอม ให้คลาดสายตาไปได้เลย ไม่พูดไม่จาไม่ไถ่ถามอะไรทั้งนั้น เอาแต่จ้องมองทมึนทึงท่าเดียว แต่เวลาเข้าไปบิณฑบาตพวกเขาก็ใส่ให้อย่างเสียไม่ได้ ใส่ให้ด้วยความเกรงกลัวต้องการเอาใจไว้บ้างมากกว่า ถ้าไม่ใส่บาตรให้เสียเลย เดี๋ยวเสือเย็นจะโกรธใหญ่หาเรื่องทำร้ายเอาได้ง่าย ๆ 

เหตุการณ์เป็นไปอย่างนี้อยู่หลายวันทีเดียว บรรยากาศภายในหมู่บ้าน ตึงเครียดมาก แต่พระอาจารย์มั่นก็หาได้หวั่นไหวไม่ ท่านกำหนดวาระจิตตรวจสอบดูจิตใจชาวบ้านทุกคนอยู่ทุกระยะ ในที่สุดหัวหน้าหมู่บ้านก็จัดให้มีการประชุมขึ้นอีก ได้มีการปรึกษาพิจารณาสถานการณ์ของหมู่บ้านอย่างเคร่งเครียดว่าจะเอายังไงกับพระสององค์นี้ต่อไป 

พวกเวรยามที่มาคอยเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของพระอาจารย์ มั่นได้รายงานว่า ไม่เห็นพระสององค์มีอะไรผิดแปลกเลย เห็นแต่ท่านนั่งหลับตาบ้าง เดี๋ยวลุกขึ้นเดินไปเดินมาบ้าง นอนงีบเดียวแล้วก็ลุกขึ้นมาเดินอีก เดินพักหนึ่งแล้วก็นั่งหลับตา ไม่รู้ว่าท่านนั่งหลับตาทำไมและเดินกลับไปกลับมาหาอะไร จะหาว่าของหายก็ไม่เห็นหาเจอสักที (หมายถึงเห็นท่านเดินจงกรม) 

หัวหน้าหมู่บ้านได้ฟังดังนั้นก็นิ่งอึ้ง มีชาวบ้านผู้อาวุโสคนหนึ่งเป็นผู้เฒ่าของหมู่บ้าน เคยเข้าไปในเมือง รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีคนเมืองอยู่บ้าง รู้จักพระสงฆ์องค์เจ้าปฏิบัติธรรมพอสมควร แกได้พูดขึ้นว่า...... 

"พระสององค์นี้เห็นจะเป็นพระจริง ๆ ไม่ใช่เสือเย็นปลอมแปลงมาหรอก พระพวกนี้ชอบท่องเที่ยวอยู่ในป่าปฏิบัติตัวเป็นนักบุญ การที่พวกเราชาวบ้านไปสงสัยและกล่าวหาพระสององค์นี้ว่าเป็นเสือเป็นสางน่ากลัวจะไม่ถูกต้องเสียแล้ว จะทำให้พวกเรามีบาปหนักผีป่าผีปู่ย่าตาทวดจะโกรธเอาเปล่า ๆ ทางที่ควรจะพากันไปพบพระสององค์นี้แล้วไถ่ถามเอาให้รู้ต้นสายปลายเหตุว่า มานั่งหลับตาทำไม มาเดินไปเดินมาหาอะไร" 

พอได้เวลาบ่ายวันนั้น ชาวบ้านก็พากันมาจริง ๆ พวกเขาถามว่า ตุ๊เจ้านั่งหลับตานิ่ง ๆ และเดินกลับไปกลับมาทั้งกลางวันกลางคืนมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว ตุ๊เจ้านั่งและเดินหาอะไร 

พระอาจารย์มั่นตอบว่า “พุทโธหาย เรานั่งและเดินหาพุทโธ” 

“พุทโธ เป็นตัวยังไง รูปร่างสูงต่ำดำขาวยังไงจะให้ชาวบ้านช่วยหาให้ได้ไหม ” หัวหน้าหมู่บ้านถามด้วยความสงสัย 

พระอาจารย์มั่นตอบว่า “ พุทโธ ที่ว่านี้ เป็น ดวงแก้วอันวิเศษ สุดประเสริฐ ใครได้ไว้แล้วจะโชคดี ถ้าพวกสูจะช่วยเราหาให้พบก็ยิ่งดีใหญ่ จะได้เห็นพุทโธเร็ว ๆ” 

“พุทโธ ของตุ๊เจ้าหายมานานแล้วหรือ” ผู้เฒ่าอาวุโสของหมู่บ้านถามบ้าง

“ไม่นานหรอก ถ้าพวกสูช่วยหาให้ยิ่งจะพบเร็วกว่าเราหาเพียงคนเดียว ” พระอาจารย์มั่นตอบอย่างเป็นปริศนาธรรม 

“พุทโธ เป็นดวงแก้วใหญ่ไหม” หัวหน้าหมู่บ้านถาม 

“ไม่ใหญ่ไม่เล็ก พอดีกับเราและกับพวกสูนั่นแหละ ใครหา พุทโธ พบคนนั้นจะเป็นผู้ประเสริฐ มีตาทิพย์มองเห็นอะไรได้ตามใจหวัง” พระอาจารย์มั่นตอบ 

“มองเห็นนรกสวรรค์ได้ไหมตุ๊เจ้า” 

“มองเห็นซิ ถ้ามองไม่เห็นจะเรียกว่าเป็นดวงแก้ววิเศษได้ยังไง” 

“ลูกตาย เมียตาย ผัวตาย มองเห็นได้ไหมตุ๊เจ้า” 

“เห็นซี เห็นหมดทุกอย่างถ้าต้องการอยากเห็น” 

“ดวงแก้วพุทโธนี้สว่างมากไหมตุ๊เจ้า” 

“สว่างมาก สว่างยิ่งกว่าพระอาทิตย์ตั้งร้อยดวงพันดวงเพราะพระอาทิตย์ไม่สามารถส่องให้เห็นนรกสวรรค์ได้ แต่ดวงพุทโธสามารถส่องเห็นหมด” พระอาจารย์มั่นตอบอย่างอารมณ์ดี 

“ผู้หญิงช่วยหาดวงแก้วพุทโธได้ไหมตุ๊เจ้า ” เขาถาม 

“ได้ซี ผู้หญิงก็หาได้ เด็ก ๆ ก็ช่วยกันหาได้” 

“ดวงแก้วพุทโธประเสริฐในทางใดบ้าง กันผีได้ไหม” 

“ดวงแก้วพุทโธประเสริฐใช้ได้หลายทางจนนับไม่ถ้วน ผีสางเทวดาต้องยอมกราบพุทโธทั้งนั้น ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าดวงแก้วพุทโธ ผีกลัวพุทโธมากต้องกราบพุทโธ ใครหาพุทโธแม้ยังไม่พบ ผีก็เริ่มกลัวแล้ว” พระอาจารย์มั่นตอบยิ้ม ๆ 

“พุทโธเป็นดวงแก้วสีอะไรตุ๊เจ้า” หัวหน้าหมู่บ้านถาม 

“พุทโธเป็นดวงแก้วสว่างไสว มีหลายสีจนนับไม่ถ้วน พุทโธนี้เป็นสมบัติอันวิเศษของพระพุทธเจ้า พุทโธเป็นองค์แห่งความรู้สว่างไสวไม่เป็นวัตถุ พระพุทธเจ้าท่านมอบไว้ให้เราหลายปีแล้ว แต่เราเองยังหาพุทโธที่ท่านมอบให้ยังไม่เจอ ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน แต่จะอยู่ที่ไหนไม่สำคัญนัก ที่สำคัญก็คือ ถ้าพวกสูจะพากันช่วยเราหาพุทโธจริง ๆ ให้พากันนั่งหรือเดินนึกในใจว่าพุทโธ ๆ ๆ อยู่ภายในใจโดยเฉพาะ ไม่ให้จิตส่งออกนอกกาย ให้รู้อยู่กับคำว่าพุทโธเท่านั้น ถ้าทำอย่างนี้พวกสูอาจเจอพุทโธก่อนเราก็ได้” 

“การนั่งหรือเดินหาพุทโธจะให้นั่งหรือเดินนานเท่าไรถึงจะพบพุทโธแล้วหยุดได้ตุ๊เจ้า” 

“ให้นั่งหรือเดินเพียงชั่วหม้อข้าวเดือดจนสุกหรือนาน กว่านั้นก่อน สำหรับผู้ตามหาพุทโธทีแรก พุทโธท่านยังไม่อยากจะให้เราตามหาท่านนานนัก กลัวจะเหนื่อยแล้วตามพุทโธไม่ทัน เดี๋ยวจะขี้เกียจเสียก่อน ทีหลังจะอยากตามหาท่านแล้วเลยจะไม่พบท่าน เอาเพียงเท่านี้ก่อน ถ้าอธิบายมากกว่านี้จะจำวิธีไม่ได้แล้วตามหาพุทโธไม่ พบ” พระอาจารย์มั่นให้อรรถาธิบาย 

พวกชาวป่าได้ฟังแล้วก็ชวนกันกลับไปโดยไม่มีการยกมือไหว้ร่ำลาอะไร เพราะเป็นนิสัยของชาวป่ายังงั้นเอง เมื่อพวกเขาจะไปก็ลุกไปเฉย ๆ พระอาจารย์มั่นก็กำหนดจิตติดตามดูความเคลื่อนไหวต่อไปก็พบว่า เมื่อพวกเขาไปถึงหมู่บ้านแล้ว พวกชาวบ้านทั้งหลายก็แห่กันมารุมซักถามเป็นการใหญ่ หัวหน้าหมู่บ้านก็อธิบายให้ฟังตามที่พระอาจารย์มั่นส ั่งสอนเรื่องดวงแก้วพุทโธ 

พวกชาวบ้านต่างก็ตื่นเต้นอยากจะได้ดวงแก้วพุทโธเอะอะ กันใหญ่ เพราะเป็นของดีของวิเศษ ต่างก็พากันแยกย้ายไปฝึกหัดนึกท่องพุทโธในใจโดยทั่วกันไม่นึกอย่างอื่น นึกแต่คำว่าพุทโธ ๆ ๆ นับตั้งแต่หัวหน้าหมู่บ้านลงมาถึงผู้หญิงและเด็ก ๆ ที่พอจะรู้วิธีนึกท่องในใจหาพุทโธได้ 

พวกชาวเขาเป็นคนซื่อโดยกำเนิด ถ้าเชื่อเลื่อมใสศรัทธาอะไรแล้วก็คิดเลื่อมใสเลยไม่มีอะไรสงสัยข้องใจ จิตของพวกเขาจึงเข้าถึงสมาธิได้รวดเร็วและเป็นที่อัศจรรย์ด้วยบารมีของพระพุทธเจ้า ปรากฏว่าไม่นานนัก ชาวป่าผู้หนึ่งซึ่งเดินท่องพุทโธนั่งท่องพุทโธตามหาดวงแก้วพุทโธนั้นบังเกิดประสบเข้ากับธรรมะ คือความสงบสุขทางใจด้วยอำนาจการนึกบริกรรมพุทโธตามวิธีสมาธิแยบยลที่พระอาจารย์มั่นใช้อุบายสอน เขารีบวิ่งออกจากหมู่บ้านมาเล่าให้พระอาจารย์มั่นฟัง ว่าก่อนหน้า 3 – 4 วันที่เขาจะประสบกับดวงแก้วพุทโธนั้น ได้นอนหลับและฝันไป ฝันเห็นพระอาจารย์มั่นเอาเทียนใหญ่จุดไฟสว่างไสวไปติดไว้บนศีรษะเขา ทำให้ร่างกายของเขาสว่างไสวไปหมดเขาดีใจมาก มีความสุขทางใจอย่างบอกไม่ถูก 

พระอาจารย์มั่นจึงได้เมตตาแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติมให้ฝึกขั้นสูงต่อไปโดยลำดับ ปรากฏว่าเขาไปฝึกอยู่ได้ไม่กี่วันก็เข้าถึงสมาธิขั้น สูงสามารถบังคับดวงแก้วพุทโธให้สว่างไสวใหญ่และเล็กได้ ให้เป็นไปตามต้องการได้จนเกิดอำนาจจิตอภิญญาสามารถล่วงรู้ใจผู้อื่นได้ว่า ใจของใครคิดอะไร มีความเศร้าหมองและผ่องใสเพียงใด แถมยังบอกพระอาจารย์มั่นอย่างซื่อ ๆ ตรงไปตรงมาว่าเขาสามารถรู้เห็นสภาพจิตของพระอาจารย์มั่นและพระที่อยู่ด้วยได้อย่างชัดเจน 

พระอาจารย์มั่นหัวเราะชอบใจจึงถามเป็นเชิงเล่น ๆ ว่า " จิตของเราเป็นยังไง มีบาปไหม? " 

เขารีบตอบทันทีว่า " จิตของตุ๊เจ้าไม่มีจุดไม่มีดวงเหลืออยู่แล้ว มีแต่ความสว่างไสวน่าอัศจรรย์เหมือนดาวประกายพรึกลอย สุกปลั่งอยู่ในอก ตุ๊เจ้าเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลกไม่มีใครเสมอเหมือน เฮาบ่ เคยเห็น แหม.....ตุ๊เจ้ามาอยู่ที่นี่นานตั้งร่วมปีแล้ว ทำไมไม่สอนเฮาบ้างก๊าแต่แรกมาอยู่ " (ก๊า แปลว่า เล่าหรืออะไร ๆ ได้อีกหลายอย่าง เป็นคำเหนือติดท้ายประโยคได้ทั้งคำถามคำตอบ) 

พระอาจารย์มั่นตอบว่า "จะให้เราสอนได้อย่างไรก็ไม่เคยเห็นพวกสูมาศึกษาไต่ถามเรานี่นา เขาตอบว่า เอาบ่ฮู้ก๊าว่าตุ๊เจ้าเป็นผู้วิเศษ ถ้าฮู้ เฮาจะทนอยู่ได้อย่างไร ต้องรีบแล่นมาหาแน่ ๆ ทีนี้พวกเฮาฮู้แล้วว่าตุ๊เจ้าเป็นคนฉลาดมาก เวลาพวกเฮามาถามว่าตุ๊เจ้านั่งหลับตานิ่ง ๆ และเดินกลับไปกลับมาทำไม กำลังหาอะไรหรือ ? ตุ๊เจ้าก็บอกพวกเฮาว่า 
พุทโธหาย กำลังหาพุทโธ ขอให้พวกเฮาช่วยตามหาที 

เมื่อถามถึงพุทโธเป็นลักษณะอย่างไร ตุ๊เจ้าก็บอกว่าเป็นดวงแก้ววิเศษสว่างไสวความจริงตุ๊ เจ้าเป็นพุทโธอยู่แล้ว มิได้ทำให้พุทโธสูญหายไปไหน แต่เป็นอุบายอันฉลาดของตุ๊เจ้าที่เมตตาสงสารพวกเฮาชาวป่าชาวดอย ให้พวกเฮาภาวนาพุทโธเพื่อให้จิตพวกเฮาสว่างไสวเหมือน จิตตุ๊เจ้าต่างหาก เฮาฮู้แล้วว่าตุ๊เจ้าเป็นผู้ประเสริฐเฉลียวฉลาด ปรารถนาให้พวกเฮาได้บุญใหญ่ มีความสุข พบพุทโธดวงแก้วประเสริฐที่ใจตัวเอง มิใช่ให้หาพุทโธให้ตุ๊เจ้าเลย !" 

อนึ่ง....ที่ชาวป่าผู้บรรลุสมาธิเข้าถึงฌานขั้นสูงนี้จนเกิดอำนาจจิตอภิญญาสามารถรู้เห็นจิตใจผู้อื่นได้ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เขาไม่สามารถจะรู้เห็นสภาวะจิตใจของผู้ที่มีภูมิธรรม สูงกว่าได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูง แต่ที่เขาสามารถเห็นสภาวะจิตของพระอาจารย์มั่นเป็นดวงแก้วประกายพรึกได้นั้นเป็นเพราะพระอาจารย์มั่นยินยอมให้เห็นได้ 

ทีนี้นับตั้งแต่ชาวป่าคนนั้นได้เห็นพุทโธหรือธรรมกายในใจตนเองแล้ว เรื่องก็กระจายไปทั่วหมู่บ้านในไม่ช้า ทำให้ชาวบ้านต่างก็พากันเร่งภาวนาพุทโธไปตาม ๆ กันเพราะอยากจะได้ดวงแก้วพุทโธบ้าง เพราะเกิดความเชื่อถือเลื่อมใสพระอาจารย์มั่นมาก เรื่องที่สงสัยว่าท่านจะเป็นเสือเย็นหรือเสือสมิงก็หายไป ไม่มีใครกล้ากล่าวถึงอีกเลย 

นับแต่นั้นมา เวลาท่านออกบิณฑบาตพวกชาวบ้านต่างก็พากันใส่บาตรเป็น แถวและติดตามส่งบาตรรพากันขอศึกษาธรรมเพิ่มเติมกับท่านทุกวัน อาหารการขบฉันที่เคยขาดแคลนก็กลายเป็นความสมบูรณ์ขึ้น ชาวป่ายังช่วยกันสร้างกระท่อมมุงหลังคาใบไม้ให้เป็นกุฏิที่พักถากถางป่ารกรุงรังให้เป็นที่เดินจงกรม ปัดกวาดคลานกุฏิให้สะอาดกว้างขวางน่าอยู่อาศัยกว่าเดิม 

ลงพวกชาวป่าได้เชื่อถือและเคารพศรัทธาเลื่อมใสแล้วเป็นต้องนับถืออย่างถึงใจจริง ๆ ถึงไหนถึงกัน เป็นก็เป็นด้วยกัน ตายก็ตายด้วยกัน แม้ชีวิตของพวกเขาก็ยอมสละได้ พระอาจารย์มั่นพูดอะไร พวกเขาเชื่อฟังและเคารพอย่างถึงใจ การบริกรรมภาวนาหาพุทโธ ท่านได้ค่อย ๆ สอนให้เขยิบขึ้นไปตามขั้นตามนิสัยของแต่ละคนซึ่งมีสติปัญญาไม่เหมือนกัน คนไหนฉลาดก็ได้รับการสอนวิปัสสนาสอดแทรกควบคู่ไปด้วย อุบายแปลก ๆ อันชาญฉลาดแยบยลให้เกิดความรอบรู้ชำนาญขึ้นตามลำดับ 

ชั่วเวลาไม่นาน ชาวบ้านหลายคนก็สำเร็จทางในได้พบดวงแก้วพุทโธเพิ่มขึ้นหลายคน ปีนั้นท่านเลยต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่นไปไหนไม่ได้ เพราะชาวป่าไม่ยอมให้ไป รวมเวลาแล้วนับปีกว่า จึงได้ลาจากกันในที่สุด

คัดลอกเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งบันทึกโดยท่านพระอาจารย์หลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน 

78: รวมพลังให้เล็ก พลังยิ่งมาก

พระโพธิธรรมาจารย์เถระ (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)

วัดป่าเขาน้อย ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

ต่อไปนี้ ตั้งใจ ความตั้งใจของเราอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมมีแก่เราในที่นั่น นี้เป็นคำสำคัญที่ท่านกล่าวไว้ เพราะฉะนั้น ความตั้งใจ หรือ ใจของเราตั้ง เราภาวนาก็เพื่อให้จิตตั้งอยู่ในธรรม อันเป็นความสงบ จิตจะตั้งมั่นด้วยอำนาจแห่งสติของเรา เข้าไปช่วยเหลือ คุ้มครองรักษา และป้องกันไม่ให้อารมณ์จากภายนอกเข้ามาชักจูง ชักพาจิตของเราไปตามลำพังของอารมณ์ต่าง ๆ และต้องการกำจัดกิเลสภายในไม่ให้มันฟุ้งซ่านออกไป

เกี่ยวกับอารมณ์ภายนอก ทั้ง ๒ อย่างนี้ เราจะป้องกันและรักษาได้ต้องอาศัยสติ กับความรู้ตัว เพราะฉะนั้น เมื่อเราภาวนา เราก็พยายามระลึก จะระลึกกายดูกายของเรา นั่งให้เรียบร้อย นั่งขาขวาบนขาซ้าย มือขวาวางบนมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ทำใจให้ดี อย่าเคร่งเครียด เพราะความดีนั่นแหละ ที่ทำให้จิตของเรามีความพยายาม มีความเพียรไม่ท้อถอย ทำให้จิตของเรามีศรัทธา เพราะความดี เรามีความพยายาม ความตั้งใจ ก็เพราะถือว่าการกระทำเป็นความดี ความสุขทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นด้วยอาศัยความดี

เพราะฉะนั้นเมื่อเรานั่งดีแล้ว ตรวจดูกายของเราเรียบร้อยแล้ว ขยับมาดู เข้ามาดูใจของเรา ใจเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่ละเอียด เราไม่ทราบได้ด้วยอย่างอื่นนอกจากนามธรรมด้วยกัน คือ สติกับความรู้ กำหนดรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้น เราจะต้องอาศัยสติ ระลึกเข้ามาหาตัวของเราด้วยอาศัยอารมณ์บริกรรมภาวนา พุทโธ พุทโธ ไว้ในใจ

ทีแรกก็ระลึกคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของเราเสียก่อน

พุทโธ ธัมโม สังโฆ

พุทโธ ธัมโม สังโฆ

พุทโธ ธัมโม สังโฆ

ต่อไปให้ระลึก พุทโธ พุทโธ คำเดียว การระลึกพุทโธ พุทโธคำเดียวนั้น เป็นงานของเราเรียกว่า กรรมฐาน คือการกระทำ เมื่อมีงานแล้วก็มีการกระทำ การปฏิบัติ เมื่อมีการปฏิบัติแล้วก็ต้องมีการรักษา กำกับดูแลไม่ให้งานของเราชะงักหยุด เลื่อนลอย เถลไถลไปที่อื่น เราจะต้องเพียรพยายามเพื่อให้งานของเราสำเร็จลุล่วง ถึงจุดหมายปลายทางไปด้วยดี

งานกรรมฐานการภาวนานี้เป็นงานชั้นละเอียด เพราะฉะนั้น เครื่องมือก็ต้องละเอียด สติของเราก็จะต้องละเอียด ความรู้ความระลึกจะต้องรักษาละเอียดไปด้วย เราจะคะนองไม่ได้

เหมือนกับงานที่เกี่ยวเนื่องด้วยน้ำ เราต้องการดูสิ่งของที่วางอยู่ในน้ำ ถ้าน้ำกระเพื่อมนิดเดียว สิ่งของก็มองไม่เห็น ถ้าน้ำนิ่งใสสะอาด ของที่อยู่ในนั้นเป็นสีเขียวก็เขียว ขาวก็ขาว แดงก็แดง ถ้าน้ำมันใสน้ำมันนิ่ง น้ำใสก็จริง ถ้าไม่นิ่งก็เห็นไม่ชัด ฉันใดก็ดี จิตใจของเราก็เหมือนกัน แม้แต่ลมหายใจเข้าออก ก็ไม่ให้กระเพื่อมแรง พยายามกำหนดปล่อยตามสบาย พยายามรู้ละเอียดไปตามลำดับ แม้แต่เส้นเลือดลมหมุนเวียน ถ้าจิตใจเข้าถึงสมาธิแล้วอวัยวะทุกส่วนทำงาน การสูบฉีดโลหิตหมุนเวียนทั่วร่างกายก็ค่อยละเอียดลงตามเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าสมาธิถึงจิตละเอียดแล้ว เป็นการพักผ่อนสังขาร จะเป็นกายสังขาร ลมหายใจก็ค่อยละเอียดไม่รุนแรง แม้แต่การหมุนเวียนของสิ่งต่าง ๆ ในร่างกายค่อยชักช้าลง เพราะงานไม่หนัก งานเบา ท่านถือว่าเป็นการพักผ่อน ต่ออายุให้ยืนนานให้ทนทานต่อไป เพราะฉะนั้นพระอริยเจ้าท่านจึงชอบเข้าฌานเข้าสมาบัติ เพื่อเป็นเครื่องพักผ่อนและต่อกำลังทางประสาท และร่างกาย และจิตใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราทั้งหลายก็พยายามพักผ่อนด้วยวิธีผ่อนคลายความเคร่งเครียด แม้แต่ลมหายใจ แม้แต่การคิดนึกต่าง ๆ เราผ่อนคลายให้ละเอียดไปตามลำดับ ทำจิตของเราคอยสละละวางจากรูป จากเวทนา รูปมีอยู่ เราก็พิจารณารูปนี้สักแต่ว่ารูป กายนี้สักแต่ว่ากาย เหมือนกับรูปภาพ เหมือนกับหุ่นที่เขาตั้งไว้ กายนี้เต็มไปด้วยของต่าง ๆ มีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน มีหนัง มีเนื้อ สิ่งเหล่านี้ก็มาประกอบกันก็เรียกว่ากาย เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เราตรงไหน ไม่มีเรา

เมื่อเราแยกออกมาเป็นชิ้นส่วนแล้ว มันก็ไม่เป็นอะไร ก็ไม่มีความสุข ไม่มีความทุกข์อยู่ในสิ่งเหล่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่มีหญิง ไม่มีชาย เป็นสิ่งนั้นอยู่สภาพอย่างนั้น เราก็พยายามดูให้ละเอียดไปให้ชัดให้แจ้ง เพื่อกำจัดความหลงที่เราถือเข้าใจผิด

เราทุกข์เพราะเราไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ เราจะได้ความสุขเพราะเรารู้จักสิ่งเหล่านี้ เห็นสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง ความไม่รู้เราเรียกว่าเป็นสมุทัยก็ได้ ความรู้จริงจะเป็นมรรคก็ได้ ก็เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ เพราะเหตุนั้น เราจะละสมุทัยได้เพราะเรามาเจริญความรู้ เพื่อกำจัดความไม่รู้ ความหลงเข้าใจผิด ความหมายผิด สัญญาผิด มาคิดมาปรุงแต่งผิด ยึดถือผิด เราจะได้ปรุงแต่งในทางที่ถูก ปรุงแต่งในทางที่ชอบ ปรุงแต่งให้ได้ประโยชน์ ให้ได้กำลังคือ ศรัทธา ความเพียร ได้สติ ได้สมาธิ ได้ปัญญาตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เราพยายามรู้ตามความเป็นจริง ให้ละเอียดไปตามลำดับ

เมื่อเราดูส่วนกายต่างๆ รู้ความจริงของร่างกายแล้ว กายนี้สักแต่ว่ากาย แล้วมาระลึกจิตผู้รู้กาย ผู้พิจารณากาย จิตนี้สักแต่ว่าจิต สักแต่ว่ารู้ จะเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลไม่ได้ ก็สักแต่ว่ารู้เฉยๆ เมื่อจิตผู้รู้นี้ละเอียด ปล่อยวางกาย รู้ตามความเป็นจริงแล้ว เวทนาอันหยาบคือทุกข์มันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะจิตก็ละเอียด ความรู้ก็ละเอียด เพราะฉะนั้นเวทนาหยาบมันก็เหลืออยู่ไม่ได้ ต้องตกไป

เหมือนกับน้ำที่เขากลั่น ถ้าน้ำที่หยาบที่สกปรกที่ผสมต่าง ๆ มันก็เหลืออยู่ไม่ได้ มันก็ถูกขับไล่ไปทางอื่น ไปที่อื่นติดตามด้วยไม่ได้ เพราะเครื่องกลั่นผ่านไปได้ก็เฉพาะของที่ละเอียดที่ใสบริสุทธิ์ ฉันใด สติกับความรู้ตัว กับสมาธิ เมื่อทำงานตั้งมั่นละเอียดไปตามลำดับแล้ว เวทนาอันหยาบ ๆ คือทุกข์มันค่อยหมดไป จางไป จางไป ความสุขย่อมเกิดขึ้น ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความก่อกวน ความไม่สบาย ความหนักหน่วง แล้วก็อะไรที่ไม่สบายที่มีอยู่ในจิตใจในอารมณ์ ในจิตใจเหล่านั้นก็ดี ในกายก็ดี หมดไป หมดไป กายก็เบา จิตก็เบา กายปัสสัทธิ จิตปัสสัทธิ กายก็สงบ จิตก็สงบ กายมุทุตา จิตมุทุตา มีแต่เบาทั้งกายทั้งจิต เพราะอ่อนทั้งกายทั้งจิต จิตเริ่มสงบเริ่มละเอียดตามลำดับ เวทนาที่อยู่กับจิตก็ละเอียด มีแต่สุข มีแต่ความอิ่ม เพราะจิตละเอียด

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจะได้สัมผัสกับความสุขอันละเอียดที่ทางธรรม ศาสนธรรมที่เราทั้งหลายเลื่อมใสนับถือ เราก็ได้สัมผัสด้วยภาวนาวิธี การทำสมาธิภาวนาทำให้จิตใจของเราละเอียด ถ้าจิตของเราหยาบ ๆ แล้ว เราก็ไม่ได้สัมผัสกับสิ่งที่ธรรมชาติสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนกับน้ำที่เราไม่ได้กลั่น เราไม่มีเครื่องกลั่น หรือเราไม่ได้กลั่น เราก็จะได้สัมผัสกับแต่น้ำที่ขุ่น ๆ น้ำที่ไม่สะอาด เราคลุกคลีใช้สอยแต่น้ำที่ไม่สะอาดนั้น เราไม่สามารถที่จะทำให้ละเอียดได้

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายควรพยายามภาวนา เพื่อจิตใจของเราได้ชำระซักฟอก เรียกว่าทำจิตของตนให้ผ่องใส เอตํ พุทฺธสาสนํ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า การทำจิตของเราให้สงบ ให้ผ่องใสสะอาด มีความสุข

เราระลึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ พระพุทธเจ้านั้น พระองค์ที่จิตใจสะอาด เราก็ทำพุทโธของเราให้สะอาด ใจของเราให้สะอาด

ระลึกพุทโธ พุทโธ พระพุทธเจ้ามีจิตใจสงบ เราก็ทำจิตใจ พุทโธของเรานี้ ที่เราระลึกอยู่นี้ให้สงบ

พุทโธ พุทโธ พระพุทธเจ้ามีจิตใจเบิกบานในธรรม เราก็พุทโธ พุทโธ ก็ทำจิตใจของเรา พุทโธของเรา ให้เบิกบานในการรู้ธรรม ในการปฏิบัติธรรม เบิกบานในธรรม เราก็พุทโธ พุทโธ เพื่อให้เกิดความปลื้มปิติ เบิกบานในใจ เราจะได้พ้นทุกข์ เราจะได้ห่างจากทุกข์ เราจะได้ถึงความสงบ เพราะการมาอบรมจิตใจอย่างนี้

เราได้ทำอย่างนี้เป็นการทำถูกต้องเดินตามทางของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้า ควรทำด้วยความเต็มอกเต็มใจ อย่าทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ สักแต่ว่าทำ กำหนดปล่อยละปล่อยวาง ให้รู้ละเอียดไปตามลำดับจริง ๆ เมื่อเราอยากรู้ธรรมที่ละเอียดด้วย เราก็ควรปล่อยวางอารมณ์ปัจจุบันอันหยาบ ๆ แม้แต่ลมหายใจ พุทโธ พุทโธ ก็ละเอียดไปตามลำดับ ทำให้สงบไปตามลำดับ เหมือนกับเราจะนอนหลับอย่างนั้นแหละ

เตรียมนอนให้จิตเข้าที่อย่างนั้นแหละ แต่ต่างจากการนอนหลับอยู่นิดหนึ่ง คือเราไม่ปล่อยให้ลืม เป็นโมหะ คือไม่ขาดสติขาดความรู้ตัว เราให้ประสาททั้งหลาย มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ห้าอย่างนี้พักตามลำพัง ให้หลับประสาททั้งห้าอย่าง เหลือแต่ พุทโธธรรม มโนธรรม ประสาททำงานของพุทโธละเอียด ๆ โดยเฉพาะอย่างเดียว เหลือประตูเดียวเราเอาไว้ เหมือนบ้านเรือนของเรามีไฟหลายดวง เราก็ดับพักผ่อน ดับดวงนอก ๆ ออกเสีย เหลือแต่ในห้องของเราดวงเดียว ดวงทั้งห้าดวงอยู่บันได ดวงอยู่ในครัว ดวงอยู่ในห้องน้ำ ดวงอยู่ในห้องทำงาน ใด ๆ เราดับไว้ เหลือดวงเดียวที่เฉพาะเราอยู่ เราทำงานอยู่ จะอ่านหนังสือก็ตาม จะเขียนหนังสือก็ตาม เราก็เหลือดวงเดียวเท่านั้น ทำงานของเราโดยเฉพาะ ฉันใดก็ดี เราดับประสาททั้งห้า เหลือพุทโธดวงเดียว

เราก็ทำงานในพุทโธของเรานี้แหละ เราจะได้พบความสงบ ชมความวิเวก ชมความสุขที่เราปล่อยวาง ห้าสิ่งห้าอย่างที่เราเก็บปิดไว้ดีแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องเป็นภาระ ไม่มีภัยเกิดขึ้นจากสิ่งนั้นๆ เพราะเราปล่อยวางแล้ว ไม่มีอะไรมากระทบกระเทือน เหลือแต่อันเดียว สติเป็นเครื่องรักษา อยู่ก็ปลอดภัยเช่นเดียวกัน เราก็พยายามทำงานโดยเฉพาะไม่ลดละ ระลึกไป ระลึกไป อย่าเพิ่งอยากรู้อยากเห็น ถ้าอยากเกิดขึ้นแล้ว อารมณ์อยากที่เกิดขึ้นจะไปก่อกวน แล้วน้ำก็ไม่นิ่ง เงาก็หาย สิ่งที่อยู่ในนั้น ที่เราเห็นชัดก็หายไป

เพราะฉะนั้น อย่าอยากสงบ อย่าอยากรู้อยากเห็น เพราะมันธรรมชาติ พุทโธ รู้อยู่แล้ว เราไม่ต้องอยากรู้เราก็รู้ แต่ขอให้สงบขอให้ละ ขอให้รวมเป็นจุดอันเดียวแน่วแน่ ให้ตั้งมั่นรวมเล็กลงเท่าไหร่ ยิ่งมีพลังมาก

พลังของจิตเป็นอย่างนั้น มีกระแสแรงรวมมากเท่าไหร่ยิ่งดี เหมือนกับกระแสน้ำ เราสามารถบีบให้ช่องเล็กแล้วละยิ่งพุ่งแรง ถ้าเราปล่อยกว้างแล้ว กระแสมันไม่แรง จิตของเราก็เหมือนกัน เมื่อยิ่งให้ละเอียดไปเท่าไหร่ยิ่งดี เหมือนเขาใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ทุกวันนี้เขาไม่ได้ใช้สิ่งใหญ่ ๆ เขาเอาสิ่งที่ละเอียดที่สุดเป็นพลังมหาศาล

พระพุทธเจ้าพระองค์ค้นพบเห็นก่อนใครในโลก จิตที่รวมลงละเอียดสามารถชนะมาร สามารถชนะกิเลส ส่วนไหน ส่วนไหนก็สู้พระองค์ไม่ได้ สามารถมีอิทธิฤทธิ์มีอานุภาพทุกอย่าง ในร่างกาย ในโลก ถ้าหากว่ามันมั่นคงได้ รวมตัวได้อย่างหนักแน่นมั่นคง แต่โดยมากมักจะแตกกระจายเป็นจุณเป็นจุณ ก็เลยไม่มีกำลัง ถึงละเอียดก็ละเอียดแตก ๆ อย่างนั้นไม่มีกำลัง ไม่ละเอียดรวม ถ้าละเอียดรวมล่ะมีกำลังมาก

เพราะฉะนั้น เรารวมพุทโธ รวมความรู้อยู่จุดเดียว หายใจให้สบาย ทำความสบาย รวม พุทโธ พุทโธ ระลึกไป ระลึกไป ระลึกไป ทำให้สบายอย่าไปคิดกลางวันกลางคืน คิดไปบ้านไปช่อง คิดง่วงหาวนอน อย่าคิดขี้เกียจขี้คร้าน ให้คิดพุทโธ พุทโธ ผู้ตื่นผู้เบิกบาน รู้ตัวโดยเฉพาะ ทำไป ทำไป เพ่งจิตมันตั้งมั่นแล้ว สติกับจิต กลับรักษาเราละทีนี้ เราปล่อยวางได้ คอยแสวงแต่ความรู้ ความเห็นโดยอัตโนมัติโดยธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติที่มีสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นมาโดยลำพังของเขาเอง โดยไม่ต้องหา เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลายพยายามตามที่อธิบายนี้ ที่แสดงบรรยายมานี้ ก็จะยุติเพียงเท่านี้ก่อน พากันภาวนาจนกว่าจะถึงเวลาแล้วค่อยออก

คัดลอก : http://www.dharma-gateway.com/monk/p...p-suwat_13.htm
เพิ่มเติม : http://www.pra-nakhon.com/index.php?topic=237.15