วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

79: ดวงแก้วพุทโธ: องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ


ครั้งหนึ่ง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กับพระลูกศิษย์รูปหนึ่ง เที่ยวธุดงค์แสวงหาที่วิเวกตามอำเภอต่าง ๆ ในเขตเชียงใหม่ ได้เดินธุดงค์ข้ามเขาหลายลูก และไปพักอยู่ชายเขาแห่งหนึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านชาวเขาราวสองกิโลเมตร โดยพักอยู่ใต้ร่มไม้ เวลาฝนตกลงมาก็เปียกโชกแต่ก็ทนเอาไม่เดือนร้อนไม่สนใจเพราะทนได้

ตอนเช้าพากันเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านชาวเขา พวกชาวเขาเห็นท่านเข้าไปบิณฑบาตก็ถามว่า ตุ๊เจ้ามาธุระอะไร? ท่านบอกว่ามาบิณฑบาต เขาถามว่า มาบิณฑบาตคืออย่างไร? พวกเขาไม่เข้าใจ เขาเคยรู้จักพระเหมือนกัน แต่ไม่รู้จักขนบธรรมเนียมของพระ ท่านบอกว่าบิณฑบาตก็คือพระมาขอแบ่งข้าวจากชาวบ้านไปกิน เขาถามว่าจะเอาข้าวสารหรือข้าวสุก? ท่านตอบว่าข้าวสุก 

เขาก็บอกกันต่อ ๆ ไปให้เอาข้าวสุกมาใส่บาตรท่าน เมื่อได้ข้าวแล้วท่านก็พาพระลูกศิษย์กลับมายังร่มไม้ ที่พัก และฉันข้าวเปล่า ๆ อยู่นานวัน ขณะที่ท่านพักอยู่ใต้ร่มไม้ใกล้หมู่บ้านแห่งนี้พวกเขาใส่บาตรให้ก็จริง แต่พวกเขาไม่มี ความเลื่อมใสและไว้ใจท่านเลย พอตกกลางคืนหัวหน้าชาวบ้านตีเกาะนัดให้ชาวบ้านมาประชุมกันแล้วประกาศว่า ขณะนี้มีเสือเย็นสองตัว (หมายถึงพระอาจารย์มั่นและพระลูกศิษย์) มาพักอยู่ที่ป่าใกล้หมู่บ้าน 

คำว่า “เสือเย็น” หมายถึง “เสือสมิง” นั่นเอง ขอให้ชาวบ้านทั้งหลายอย่าได้ไว้ใจเสือเย็นสองตัวนี้ มันแปลงเป็นพระจะมาจับพวกเราไปกินเป็นอาหารห้ามไม่ให้เด็กและผู้หญิงเข้าไปในป่าเป็นอันขาด แม้ผู้ชายจะเข้าไปในป่าก็ควรจะมีพรรคพวกเป็นเพื่อนไป ด้วยหลาย ๆ คนและต้องมีอาวุธป้องกันตัวไปด้วย ไม่ควรเดินป่าตัวคนเดียวเป็นอันขาดจะมีอันตรายถูกเสือเย็นสองตัวตะครุบกัดกิน 

พวกชาวเขาได้จัดเวรยามครั้งละ 3 – 4 คน มีอาวุธมีดพร้าขวานแหละหน้าไม้ ให้มาคอยเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของพระอาจารย์มั่น แหละพระลูกศิษย์อยู่ใกล้ ๆ ที่พักอยู่ตลอดเวลาทั้งวันและทั้งคืนเป็นผลัด ๆ 

ไม่ว่าท่านจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนา พวกเขาจะคอยสอดส่ายสายตาจับตาดูความเคลื่อนไหวไม่ยอม ให้คลาดสายตาไปได้เลย ไม่พูดไม่จาไม่ไถ่ถามอะไรทั้งนั้น เอาแต่จ้องมองทมึนทึงท่าเดียว แต่เวลาเข้าไปบิณฑบาตพวกเขาก็ใส่ให้อย่างเสียไม่ได้ ใส่ให้ด้วยความเกรงกลัวต้องการเอาใจไว้บ้างมากกว่า ถ้าไม่ใส่บาตรให้เสียเลย เดี๋ยวเสือเย็นจะโกรธใหญ่หาเรื่องทำร้ายเอาได้ง่าย ๆ 

เหตุการณ์เป็นไปอย่างนี้อยู่หลายวันทีเดียว บรรยากาศภายในหมู่บ้าน ตึงเครียดมาก แต่พระอาจารย์มั่นก็หาได้หวั่นไหวไม่ ท่านกำหนดวาระจิตตรวจสอบดูจิตใจชาวบ้านทุกคนอยู่ทุกระยะ ในที่สุดหัวหน้าหมู่บ้านก็จัดให้มีการประชุมขึ้นอีก ได้มีการปรึกษาพิจารณาสถานการณ์ของหมู่บ้านอย่างเคร่งเครียดว่าจะเอายังไงกับพระสององค์นี้ต่อไป 

พวกเวรยามที่มาคอยเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของพระอาจารย์ มั่นได้รายงานว่า ไม่เห็นพระสององค์มีอะไรผิดแปลกเลย เห็นแต่ท่านนั่งหลับตาบ้าง เดี๋ยวลุกขึ้นเดินไปเดินมาบ้าง นอนงีบเดียวแล้วก็ลุกขึ้นมาเดินอีก เดินพักหนึ่งแล้วก็นั่งหลับตา ไม่รู้ว่าท่านนั่งหลับตาทำไมและเดินกลับไปกลับมาหาอะไร จะหาว่าของหายก็ไม่เห็นหาเจอสักที (หมายถึงเห็นท่านเดินจงกรม) 

หัวหน้าหมู่บ้านได้ฟังดังนั้นก็นิ่งอึ้ง มีชาวบ้านผู้อาวุโสคนหนึ่งเป็นผู้เฒ่าของหมู่บ้าน เคยเข้าไปในเมือง รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีคนเมืองอยู่บ้าง รู้จักพระสงฆ์องค์เจ้าปฏิบัติธรรมพอสมควร แกได้พูดขึ้นว่า...... 

"พระสององค์นี้เห็นจะเป็นพระจริง ๆ ไม่ใช่เสือเย็นปลอมแปลงมาหรอก พระพวกนี้ชอบท่องเที่ยวอยู่ในป่าปฏิบัติตัวเป็นนักบุญ การที่พวกเราชาวบ้านไปสงสัยและกล่าวหาพระสององค์นี้ว่าเป็นเสือเป็นสางน่ากลัวจะไม่ถูกต้องเสียแล้ว จะทำให้พวกเรามีบาปหนักผีป่าผีปู่ย่าตาทวดจะโกรธเอาเปล่า ๆ ทางที่ควรจะพากันไปพบพระสององค์นี้แล้วไถ่ถามเอาให้รู้ต้นสายปลายเหตุว่า มานั่งหลับตาทำไม มาเดินไปเดินมาหาอะไร" 

พอได้เวลาบ่ายวันนั้น ชาวบ้านก็พากันมาจริง ๆ พวกเขาถามว่า ตุ๊เจ้านั่งหลับตานิ่ง ๆ และเดินกลับไปกลับมาทั้งกลางวันกลางคืนมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว ตุ๊เจ้านั่งและเดินหาอะไร 

พระอาจารย์มั่นตอบว่า “พุทโธหาย เรานั่งและเดินหาพุทโธ” 

“พุทโธ เป็นตัวยังไง รูปร่างสูงต่ำดำขาวยังไงจะให้ชาวบ้านช่วยหาให้ได้ไหม ” หัวหน้าหมู่บ้านถามด้วยความสงสัย 

พระอาจารย์มั่นตอบว่า “ พุทโธ ที่ว่านี้ เป็น ดวงแก้วอันวิเศษ สุดประเสริฐ ใครได้ไว้แล้วจะโชคดี ถ้าพวกสูจะช่วยเราหาให้พบก็ยิ่งดีใหญ่ จะได้เห็นพุทโธเร็ว ๆ” 

“พุทโธ ของตุ๊เจ้าหายมานานแล้วหรือ” ผู้เฒ่าอาวุโสของหมู่บ้านถามบ้าง

“ไม่นานหรอก ถ้าพวกสูช่วยหาให้ยิ่งจะพบเร็วกว่าเราหาเพียงคนเดียว ” พระอาจารย์มั่นตอบอย่างเป็นปริศนาธรรม 

“พุทโธ เป็นดวงแก้วใหญ่ไหม” หัวหน้าหมู่บ้านถาม 

“ไม่ใหญ่ไม่เล็ก พอดีกับเราและกับพวกสูนั่นแหละ ใครหา พุทโธ พบคนนั้นจะเป็นผู้ประเสริฐ มีตาทิพย์มองเห็นอะไรได้ตามใจหวัง” พระอาจารย์มั่นตอบ 

“มองเห็นนรกสวรรค์ได้ไหมตุ๊เจ้า” 

“มองเห็นซิ ถ้ามองไม่เห็นจะเรียกว่าเป็นดวงแก้ววิเศษได้ยังไง” 

“ลูกตาย เมียตาย ผัวตาย มองเห็นได้ไหมตุ๊เจ้า” 

“เห็นซี เห็นหมดทุกอย่างถ้าต้องการอยากเห็น” 

“ดวงแก้วพุทโธนี้สว่างมากไหมตุ๊เจ้า” 

“สว่างมาก สว่างยิ่งกว่าพระอาทิตย์ตั้งร้อยดวงพันดวงเพราะพระอาทิตย์ไม่สามารถส่องให้เห็นนรกสวรรค์ได้ แต่ดวงพุทโธสามารถส่องเห็นหมด” พระอาจารย์มั่นตอบอย่างอารมณ์ดี 

“ผู้หญิงช่วยหาดวงแก้วพุทโธได้ไหมตุ๊เจ้า ” เขาถาม 

“ได้ซี ผู้หญิงก็หาได้ เด็ก ๆ ก็ช่วยกันหาได้” 

“ดวงแก้วพุทโธประเสริฐในทางใดบ้าง กันผีได้ไหม” 

“ดวงแก้วพุทโธประเสริฐใช้ได้หลายทางจนนับไม่ถ้วน ผีสางเทวดาต้องยอมกราบพุทโธทั้งนั้น ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าดวงแก้วพุทโธ ผีกลัวพุทโธมากต้องกราบพุทโธ ใครหาพุทโธแม้ยังไม่พบ ผีก็เริ่มกลัวแล้ว” พระอาจารย์มั่นตอบยิ้ม ๆ 

“พุทโธเป็นดวงแก้วสีอะไรตุ๊เจ้า” หัวหน้าหมู่บ้านถาม 

“พุทโธเป็นดวงแก้วสว่างไสว มีหลายสีจนนับไม่ถ้วน พุทโธนี้เป็นสมบัติอันวิเศษของพระพุทธเจ้า พุทโธเป็นองค์แห่งความรู้สว่างไสวไม่เป็นวัตถุ พระพุทธเจ้าท่านมอบไว้ให้เราหลายปีแล้ว แต่เราเองยังหาพุทโธที่ท่านมอบให้ยังไม่เจอ ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน แต่จะอยู่ที่ไหนไม่สำคัญนัก ที่สำคัญก็คือ ถ้าพวกสูจะพากันช่วยเราหาพุทโธจริง ๆ ให้พากันนั่งหรือเดินนึกในใจว่าพุทโธ ๆ ๆ อยู่ภายในใจโดยเฉพาะ ไม่ให้จิตส่งออกนอกกาย ให้รู้อยู่กับคำว่าพุทโธเท่านั้น ถ้าทำอย่างนี้พวกสูอาจเจอพุทโธก่อนเราก็ได้” 

“การนั่งหรือเดินหาพุทโธจะให้นั่งหรือเดินนานเท่าไรถึงจะพบพุทโธแล้วหยุดได้ตุ๊เจ้า” 

“ให้นั่งหรือเดินเพียงชั่วหม้อข้าวเดือดจนสุกหรือนาน กว่านั้นก่อน สำหรับผู้ตามหาพุทโธทีแรก พุทโธท่านยังไม่อยากจะให้เราตามหาท่านนานนัก กลัวจะเหนื่อยแล้วตามพุทโธไม่ทัน เดี๋ยวจะขี้เกียจเสียก่อน ทีหลังจะอยากตามหาท่านแล้วเลยจะไม่พบท่าน เอาเพียงเท่านี้ก่อน ถ้าอธิบายมากกว่านี้จะจำวิธีไม่ได้แล้วตามหาพุทโธไม่ พบ” พระอาจารย์มั่นให้อรรถาธิบาย 

พวกชาวป่าได้ฟังแล้วก็ชวนกันกลับไปโดยไม่มีการยกมือไหว้ร่ำลาอะไร เพราะเป็นนิสัยของชาวป่ายังงั้นเอง เมื่อพวกเขาจะไปก็ลุกไปเฉย ๆ พระอาจารย์มั่นก็กำหนดจิตติดตามดูความเคลื่อนไหวต่อไปก็พบว่า เมื่อพวกเขาไปถึงหมู่บ้านแล้ว พวกชาวบ้านทั้งหลายก็แห่กันมารุมซักถามเป็นการใหญ่ หัวหน้าหมู่บ้านก็อธิบายให้ฟังตามที่พระอาจารย์มั่นส ั่งสอนเรื่องดวงแก้วพุทโธ 

พวกชาวบ้านต่างก็ตื่นเต้นอยากจะได้ดวงแก้วพุทโธเอะอะ กันใหญ่ เพราะเป็นของดีของวิเศษ ต่างก็พากันแยกย้ายไปฝึกหัดนึกท่องพุทโธในใจโดยทั่วกันไม่นึกอย่างอื่น นึกแต่คำว่าพุทโธ ๆ ๆ นับตั้งแต่หัวหน้าหมู่บ้านลงมาถึงผู้หญิงและเด็ก ๆ ที่พอจะรู้วิธีนึกท่องในใจหาพุทโธได้ 

พวกชาวเขาเป็นคนซื่อโดยกำเนิด ถ้าเชื่อเลื่อมใสศรัทธาอะไรแล้วก็คิดเลื่อมใสเลยไม่มีอะไรสงสัยข้องใจ จิตของพวกเขาจึงเข้าถึงสมาธิได้รวดเร็วและเป็นที่อัศจรรย์ด้วยบารมีของพระพุทธเจ้า ปรากฏว่าไม่นานนัก ชาวป่าผู้หนึ่งซึ่งเดินท่องพุทโธนั่งท่องพุทโธตามหาดวงแก้วพุทโธนั้นบังเกิดประสบเข้ากับธรรมะ คือความสงบสุขทางใจด้วยอำนาจการนึกบริกรรมพุทโธตามวิธีสมาธิแยบยลที่พระอาจารย์มั่นใช้อุบายสอน เขารีบวิ่งออกจากหมู่บ้านมาเล่าให้พระอาจารย์มั่นฟัง ว่าก่อนหน้า 3 – 4 วันที่เขาจะประสบกับดวงแก้วพุทโธนั้น ได้นอนหลับและฝันไป ฝันเห็นพระอาจารย์มั่นเอาเทียนใหญ่จุดไฟสว่างไสวไปติดไว้บนศีรษะเขา ทำให้ร่างกายของเขาสว่างไสวไปหมดเขาดีใจมาก มีความสุขทางใจอย่างบอกไม่ถูก 

พระอาจารย์มั่นจึงได้เมตตาแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติมให้ฝึกขั้นสูงต่อไปโดยลำดับ ปรากฏว่าเขาไปฝึกอยู่ได้ไม่กี่วันก็เข้าถึงสมาธิขั้น สูงสามารถบังคับดวงแก้วพุทโธให้สว่างไสวใหญ่และเล็กได้ ให้เป็นไปตามต้องการได้จนเกิดอำนาจจิตอภิญญาสามารถล่วงรู้ใจผู้อื่นได้ว่า ใจของใครคิดอะไร มีความเศร้าหมองและผ่องใสเพียงใด แถมยังบอกพระอาจารย์มั่นอย่างซื่อ ๆ ตรงไปตรงมาว่าเขาสามารถรู้เห็นสภาพจิตของพระอาจารย์มั่นและพระที่อยู่ด้วยได้อย่างชัดเจน 

พระอาจารย์มั่นหัวเราะชอบใจจึงถามเป็นเชิงเล่น ๆ ว่า " จิตของเราเป็นยังไง มีบาปไหม? " 

เขารีบตอบทันทีว่า " จิตของตุ๊เจ้าไม่มีจุดไม่มีดวงเหลืออยู่แล้ว มีแต่ความสว่างไสวน่าอัศจรรย์เหมือนดาวประกายพรึกลอย สุกปลั่งอยู่ในอก ตุ๊เจ้าเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลกไม่มีใครเสมอเหมือน เฮาบ่ เคยเห็น แหม.....ตุ๊เจ้ามาอยู่ที่นี่นานตั้งร่วมปีแล้ว ทำไมไม่สอนเฮาบ้างก๊าแต่แรกมาอยู่ " (ก๊า แปลว่า เล่าหรืออะไร ๆ ได้อีกหลายอย่าง เป็นคำเหนือติดท้ายประโยคได้ทั้งคำถามคำตอบ) 

พระอาจารย์มั่นตอบว่า "จะให้เราสอนได้อย่างไรก็ไม่เคยเห็นพวกสูมาศึกษาไต่ถามเรานี่นา เขาตอบว่า เอาบ่ฮู้ก๊าว่าตุ๊เจ้าเป็นผู้วิเศษ ถ้าฮู้ เฮาจะทนอยู่ได้อย่างไร ต้องรีบแล่นมาหาแน่ ๆ ทีนี้พวกเฮาฮู้แล้วว่าตุ๊เจ้าเป็นคนฉลาดมาก เวลาพวกเฮามาถามว่าตุ๊เจ้านั่งหลับตานิ่ง ๆ และเดินกลับไปกลับมาทำไม กำลังหาอะไรหรือ ? ตุ๊เจ้าก็บอกพวกเฮาว่า 
พุทโธหาย กำลังหาพุทโธ ขอให้พวกเฮาช่วยตามหาที 

เมื่อถามถึงพุทโธเป็นลักษณะอย่างไร ตุ๊เจ้าก็บอกว่าเป็นดวงแก้ววิเศษสว่างไสวความจริงตุ๊ เจ้าเป็นพุทโธอยู่แล้ว มิได้ทำให้พุทโธสูญหายไปไหน แต่เป็นอุบายอันฉลาดของตุ๊เจ้าที่เมตตาสงสารพวกเฮาชาวป่าชาวดอย ให้พวกเฮาภาวนาพุทโธเพื่อให้จิตพวกเฮาสว่างไสวเหมือน จิตตุ๊เจ้าต่างหาก เฮาฮู้แล้วว่าตุ๊เจ้าเป็นผู้ประเสริฐเฉลียวฉลาด ปรารถนาให้พวกเฮาได้บุญใหญ่ มีความสุข พบพุทโธดวงแก้วประเสริฐที่ใจตัวเอง มิใช่ให้หาพุทโธให้ตุ๊เจ้าเลย !" 

อนึ่ง....ที่ชาวป่าผู้บรรลุสมาธิเข้าถึงฌานขั้นสูงนี้จนเกิดอำนาจจิตอภิญญาสามารถรู้เห็นจิตใจผู้อื่นได้ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เขาไม่สามารถจะรู้เห็นสภาวะจิตใจของผู้ที่มีภูมิธรรม สูงกว่าได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูง แต่ที่เขาสามารถเห็นสภาวะจิตของพระอาจารย์มั่นเป็นดวงแก้วประกายพรึกได้นั้นเป็นเพราะพระอาจารย์มั่นยินยอมให้เห็นได้ 

ทีนี้นับตั้งแต่ชาวป่าคนนั้นได้เห็นพุทโธหรือธรรมกายในใจตนเองแล้ว เรื่องก็กระจายไปทั่วหมู่บ้านในไม่ช้า ทำให้ชาวบ้านต่างก็พากันเร่งภาวนาพุทโธไปตาม ๆ กันเพราะอยากจะได้ดวงแก้วพุทโธบ้าง เพราะเกิดความเชื่อถือเลื่อมใสพระอาจารย์มั่นมาก เรื่องที่สงสัยว่าท่านจะเป็นเสือเย็นหรือเสือสมิงก็หายไป ไม่มีใครกล้ากล่าวถึงอีกเลย 

นับแต่นั้นมา เวลาท่านออกบิณฑบาตพวกชาวบ้านต่างก็พากันใส่บาตรเป็น แถวและติดตามส่งบาตรรพากันขอศึกษาธรรมเพิ่มเติมกับท่านทุกวัน อาหารการขบฉันที่เคยขาดแคลนก็กลายเป็นความสมบูรณ์ขึ้น ชาวป่ายังช่วยกันสร้างกระท่อมมุงหลังคาใบไม้ให้เป็นกุฏิที่พักถากถางป่ารกรุงรังให้เป็นที่เดินจงกรม ปัดกวาดคลานกุฏิให้สะอาดกว้างขวางน่าอยู่อาศัยกว่าเดิม 

ลงพวกชาวป่าได้เชื่อถือและเคารพศรัทธาเลื่อมใสแล้วเป็นต้องนับถืออย่างถึงใจจริง ๆ ถึงไหนถึงกัน เป็นก็เป็นด้วยกัน ตายก็ตายด้วยกัน แม้ชีวิตของพวกเขาก็ยอมสละได้ พระอาจารย์มั่นพูดอะไร พวกเขาเชื่อฟังและเคารพอย่างถึงใจ การบริกรรมภาวนาหาพุทโธ ท่านได้ค่อย ๆ สอนให้เขยิบขึ้นไปตามขั้นตามนิสัยของแต่ละคนซึ่งมีสติปัญญาไม่เหมือนกัน คนไหนฉลาดก็ได้รับการสอนวิปัสสนาสอดแทรกควบคู่ไปด้วย อุบายแปลก ๆ อันชาญฉลาดแยบยลให้เกิดความรอบรู้ชำนาญขึ้นตามลำดับ 

ชั่วเวลาไม่นาน ชาวบ้านหลายคนก็สำเร็จทางในได้พบดวงแก้วพุทโธเพิ่มขึ้นหลายคน ปีนั้นท่านเลยต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่นไปไหนไม่ได้ เพราะชาวป่าไม่ยอมให้ไป รวมเวลาแล้วนับปีกว่า จึงได้ลาจากกันในที่สุด

คัดลอกเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งบันทึกโดยท่านพระอาจารย์หลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน