วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

64: "มีสติ"อยู่กับ"รู้"

วันนี้ได้มีโอกาสพบกับนักเดินทางไกลคือท่านซึ้งบน หรือคุณสันติ-คุณมลจากจันทบุรี ผู้ที่ขับรถไปกลับ จันทบุรี-กรุงเทพฯเป็นว่าเล่น เหมือนขับรถหาข้าวกลางวันทานอย่างไรอย่างนั้น หากผมจะเดินทางอย่างนี้คงต้องเตรียมการและตัดสินใจอยู่นานพอควร (นับถือจริงๆ)

ได้พูดคุยกันหลายเรื่องราว จากที่คุณสันติได้มีโอกาสเดินทางไปกับองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งมีทั้งเรื่องราวที่คนทั้งหลายใคร่รู้ เรื่องราวที่สร้างปิติและกำลังใจ ที่สำคัญผมมักอดที่จะถามเสียไม่ได้กับเพื่อน นรธ.หลายๆท่านทุกวาระที่กลับจากภูดานไห ว่าได้รับธรรมอะไรมาเป็นพิเศษ

ในครั้งนี้ก็เช่นกันได้รับคำตอบจากคุณสันติว่า องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านได้เมตตาเน้นย้ำในเรื่อง
"มีสติ"อยู่กับ"รู้"
ซึ่งคุณสันติคงได้แบ่งปันแก่นแกนแห่งธรรมจากองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ แห่งภูดานไห ให้ได้รับฟังกัน(อ่าน) ในเร็วๆนี้นะครับ

ได้สนทนาถึงเรื่องการมาพูดคุยแบ่งปันกันในบอร์ด ผมก็พูดเชิงขำว่า ผมโพสต์ทีไรก็มักจะร่ายยาวเสียทุกทีเลย มักเพลินลืมตัวว่าคนที่ได้มาอ่านจะเบื่อหรือเปล่า ต้องขออภัยหากทำให้รู้สึกเช่นนั้น แนะนำว่ากระโดดข้ามไปยังโพสต์ถัดไป เพราะคงจะแก้ไขตัวเองยาก หึหึ..

เรื่องร่ายยาวนี้อย่าว่าแต่เขียนเลย แม้แต่บางทีภายในจิตหรือในความคิด บางขณะเหมือนธรรมะพรั่งพรูออกมามากมาย เคยทำให้หลงไปว่านี่เราคงได้ธรรม หรือหลงคิดไปว่าเบื้องบนมาสอนธรรมกระมัง กลับไม่รู้ตัวว่ากำลังฟุ้งถูกกิเลสนั้นหลอกให้จิตนั้นวิตกวิจารณ์อยู่ในธรรมะนั้น จนลืมภาวะปัจจุบันขณะไปเสีย ไม่รู้ตัวว่าไหลลงไปอยู่กับความคิดนั้นเสียแล้ว ก็เพราะการไม่มีสติรู้อยู่กับปัจจุบันนี่เอง

จากที่ได้ศึกษาและลองปฏิบัติมา ทำให้ทราบว่าการมีสติอยู่กับรู้ เมื่อกระทำให้มากแล้ว ทำให้เห็นเลยว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเหตุเป็นผล เป็นอกาลิโกไม่มีกาลเวลา เป็นปัจจัตตังพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ได้ด้วยตัวเอง

ท่ามกลางความวุ่นวายทั้งหลาย(สภาวะ)นั้น ก็มีความสงบ(รู้อยู่ภายใน)อยู่ด้วยเช่นกัน


จาก : http://board.palungjit.org/f131/หลวงปู่แหวนมาโปรดในนิมิตร-ฝัน-231506-441.html#post6623145

ขออนุโมทนาบุญทุกประการ ในวาระทำบุญบ้าน ขอให้เจริญทั้งทางโลก-ทางธรรมนะครับ

ถ้าจะจัดอันดับ ผู้ที่เข้าใจธรรมที่พ่อแม่ครูอาจารย์ ท่านเมตตาสอนผมคงอยู่ลำดับต้นๆ ของผู้ที่เข้าใจยากเรียนรู้ช้าคนหนึ่งเลยละครับ อย่างครั้งล่าสุดที่ไปที่ภูดานไห องค์ท่านเมตตาสอนเรื่อง มีสติอยู่กับผู้รู้ กว่าจะพอเข้าใจได้ก็ต้องกลับมาทบทวนแล้วทบทวนอีก


พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านพูดอยู่เสมอว่า สติเปรียบเสมือนโล่ห์ เอาไว้ป้องกันกิเลสต่างๆที่จะเข้ามาทำร้ายตัวเรา ส่วนปัญญาเปรียบเสมือนดาบ เอาไว้คอยฟาดฟันกิเลสให้สิ้นซาก ถ้าพวกเราคือ นรธ. อาวุธประจำกายของแต่ละคน ก็คือดาบกับโล่ห์นั่นแหละครับ

ความรู้ความเข้าใจในเบื้องต้น เป็นเรื่องสำคัญมากในการเริ่มต้น เพราะว่าหากเป็นความรู้ถูก เราก็เข้าใจถูก นำไปปฏิบัติได้ถูก ผลออกมาก็ถูกต้อง ผู้รู้ หรือ จิต เท่านั้นที่จะรู้อะไรได้ จิตนั้นมีเพียงหนึ่งเดียวแต่สามารถรับรู้เรื่องราว ของอารมฌ์ต่างๆได้เป็นร้อยเป็นพัน เมื่อมีผู้รู้ ก็ต้องมีผู้ถูกรู้ ซึ่งเป็นคนละส่วนกันอันได้แก่ อารมฌ์และเรื่องราวต่างๆทั้งปวง ซึ่งเข้ามากระทบทาง ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ

อันอารมฌ์ โกรธ,โลภ,หลง,สุข-ทุกข์,สงบ-ไม่สงบ,เหตุ-ผล,กังวล,กลัว ฯลฯสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่โลกเขาสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น สุขก็รู้ว่าสุข ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ กลัวก็รู้ว่ากลัว แต่ไม่ยึดติดทั้ง สุข-ทุกข์-กลัว ฯลฯ ต้องมีสติรู้ทัน อย่าเอาจิต (ผู้รู้)ของเราไปยึดติดกับตรงนั้น อย่าปล่อยให้จิตไหลไปกับอารมฌ์เหล่านั้น ให้สักแต่ว่ารู้ รู้อยู่เฉยๆ รู้แล้วก็ปล่อยมันไป หัดทำบ่อยๆทำให้เป็นนิสัย จะค่อยๆแยกผู้รู้ กับผู้ถูกรู้ได้ แต่ถ้าเราปล่อยให้จิต(ผู้รู้) ไหลไปกองอยู่กับความรู้สึกหรืออารมฌ์เหล่านั้น นานเข้าจะกลายเป็นอุปนิสัย นั้นจะแก้ไขได้ยาก พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านบอกว่า จิต(ผู้รู้)จะต้องอยู่ตรงข้ามกับผู้ถูกรู้เสมอ ดังเช่น แม่น้ำสายหนึ่งที่ไหลผ่านมา ตัวผู้รู้จะแยกขึ้นไปอยู่บนฝั่ง ยืนมองดูผู้ถูกรู้ ซึ่งก็คือ เศษขยะ เศษใบไม้ เศษกระดาษ ฯ ไหลตามกระแสน้ำออกไปสู่ทะเลต่อไป ถ้าเราแยกผู้รู้กับผู้ถูกรู้ ไม่ออกเราก็จะเป็นดังเช่นเศษขยะ เศษใบไม้ ไหลไปตามกระแสน้ำแห่งวัฏสังสารต่อไป

การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิหรือเดินจงกลม เท่านั้น การมีสติระลึกอยู่กับปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นการปฎิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ที่เราสามารถทำได้ทุกวันทุกเวลา พยายามให้มีสติ หัดรู้กาย รู้ใจ เมื่อจิตมีกำลังตั้งมั่น จิตจะแยกออกมาเป็นผู้รู้เอง แม้แต่เรื่องของการภาวนา ลมหายใจเข้าก็รู้ว่าลมหายใจเข้า ลมหายใจออกก็รู้ว่าลมหายใจออก ตัวผู้รู้จับไปที่ลมหายใจ เข้า-ออก จะช่วยทำให้จิตตั้งมั่นได้ง่ายขึ้น ให้รู้เฉพาะชั่วขณะจิตหนึ่ง อย่างนี้เสมอไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น จะขาด สติ ไม่ได้เลย สติจะต้องอยู่กลับผู้รู้ตลอด

ฝึกอบรมตนของตนให้มีสติ
มีสติแล้วจึงจะรักษาตนได้
การรู้จักจิตของตน ไม่ใช่การรู้ด้วยความคิด แต่รู้ขึ้นเองเฉพาะในจิตของตน

ต้องศึกษาจากผู้ที่เคยผ่านมาก่อน ศึกษาจากองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ที่ท่านผ่านมาก่อน

ผู้ข้าน้อมกราบ กราบ กราบ องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ ที่เมตตาอบรมสั่งสอนศิษย์โง่เขลาผู้นี้
จาก: http://board.palungjit.org/f131/หลวงปู่แหวนมาโปรดในนิมิตร-ฝัน-231506-442.html#post6639041

สาธุ สมกับการรอคอยที่จะได้รับฟังการถ่ายทอดธรรมที่ ชัดเจน แจ่มแจ้ง
ผู้ที่ได้เข้าใจแล้วจึงสามารถแจกแจงได้แจ่มชัดดังเช่นนี้ อนุโมทนาครับ

ธรรมที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์(พ.สุรเตโช) แห่งภูดานไห ได้แนะแนวทางนั้น ผู้ที่ได้รับธรรมตรงจากองค์ท่าน จะสามารถเข้าใจได้ง่าย และโดนใจ เพราะเป็นไปตามสมควรแก่ธรรมภายในจิตเรา เป็นทางสายเอกที่ตรง ลัดสั้น เป็นมรรควิถีที่จะทำให้เราได้เข้าใจความเป็นจริง และนำพาตนให้ออกจากกองทุกข์ได้

คำสอนและคำชี้แนะจากองค์ท่าน จึงเป็นวิถีสู่ความรู้แจ้ง อย่างแท้จริง
ขอน้อมศิรวาทต่อความเมตตาขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์พ.สุรเตโช แห่งภูดานไห
กราบ กราบ กราบ

จาก: http://board.palungjit.org/f131/หลวงปู่แหวนมาโปรดในนิมิตร-ฝัน-231506-442.html#post6646702

มาแล้วครับ.....กำลังมุ่งมั่นหาเวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ครับ ก็ลองผิดลองถูกอยู่เช่นกัน แถมหลงทางถอยหล้ง ถอยลงเขาและหลงเขาอยู่พอสมควร ใจตนกลับคิดในใจว่าเดินไปข้างหน้าอยู่นี่นา.....ที่ไหนได้หันไปข้างหน้าแต่กลายเป็นก้าวถอยหลัง.....หึหึ ความสามารถที่พิเศษ คือเดินถอยหลัง

วาระก่อนโน้นพ่อแม่ครูอาจารย์ให้ข้อคิดอยู่ว่า สมมุติว่าเราเดินขึ้นภูเขาไปได้ครึ่งทางแล้ว ทำไมจะต้องลงมาแล้วย้อนเริ่มต้นใหม่เดินขึ้นไปใหม่ได้กลางๆเขาก็ลงมาอีก มันก็ได้แค่นั้น ไม่ถึงยอดเขาสักที ไปไม่ถึงไหนหรอกเสียเวลาเปล่า(ไม่มีใครเขาทำหรอก).....นับเป็นการบ้านกองโตสำหรับผมเลยหล่ะครับ

อุปมาว่า.....เป้าหมายเราจะเดินขึ้นตึกสูงสี่ชั้น เราก็ควรที่จะเดินตรงไปให้ถึงซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลังจากนั้นแล้วค่อยพิจารณาย้อนกลับลงมาแต่ละชั้นแต่ละห้องว่ามีกี่ห้อง แต่ละห้องเป็นอย่างไรบ้างไปตามสภาวะธรรม ไล่เป็นชั้นๆเป็นห้องๆไปอย่างละเอียดรอบคอบช้าๆได้โดยไม่รีบร้อน เพราะถึงซึ่งเป้าหมายแล้วนั่นเอง

ในทางปฏิบัติที่ติดจนกลายเป็นนิสัย คือความสงสัยใคร่รู้ ต้องรู้ ต้องเข้าใจให้หมด ให้เคลียร์ทุกเรื่องที่สงสัยก่อนจึงจะก้าวผ่านไป ไม่งั้นก็จะค้างคาอยู่ร่ำไป กลายเป็นนิวรณ์.....ซึ่งเป็นผลเสียอย่างมากสำหรับผม สงสัยในอาการและสิ่งที่พบที่เจอ แล้วก็ตั้งตารอสิ่งที่พบเจอลมๆแล้งๆเป็นสายบัวรอเก้อว่า.....จะมาอีกไหมหนอ.....เสียเวลาไปมากเลยกว่าจะเข้าใจ สุดท้ายก็ต้องขอน้อมนำเอาธรรมะขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช มาเป็นแนวทางยึดถือและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ.....

"วางทุกอย่างที่รู้ ไม่ต้องรู้ทุกอย่างจึงค่อยวาง"
หลงอยู่.....ไม่ลืมตาย
สมาชิกธรรม/นรธ.พิเชฐ
จาก: http://board.palungjit.org/f131/หลวงปู่แหวนมาโปรดในนิมิตร-ฝัน-231506-442.html#post6645957
 
หายไปปลีกวิเวกนี่เอง
ได้ข้อคิดข้อธรรมที่ท่านสมาชิกธรรมได้นำมาแบ่งปันกันในสิ่งที่ยังไม่เคยได้รับรู้ ให้ได้นำมาพิจารณา ต้องขอบพระคุณมากครับ

ครั้งหนึ่ง.. ในช่วงเวลาที่ผมบวชศึกษาธรรมกับองค์พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่สิม ถ้ำผาปล่อง ได้นิมิตว่า..ท่านได้ยื่นเหรียญบาทให้กับผม4เหรียญ เป็นที่ประหลาดใจ ได้ตีความหมายถึงความเมตตาของท่าน ให้น้อมนำองค์ธรรมแห่งอิทธิบาท4 มาเป็นบาทแห่งการปฏิบัติ ซึ่งผมก็ได้ยึดถือและน้อมนำมาเป็นหลักธรรมประจำใจเสมอมา
อิทธิบาท4ได้ยังประโยชน์ให้ได้เดินอยู่บนวิถีแห่งการปฏิบัติได้มั่นคง ไม่หลงทางเตลิดเปิดเปิงไป หรือหลงไปก็ได้รู้ เพราะธรรมแห่งข้อวิมังสา คือการได้พิจารณาทบทวน ตรวจสอบใคร่ควร ถึงเหตุและผล ในการปฏิบัติของเรา

ก็ขออนุโมทนากับท่านสมาชิกธรรม กับการก้าวเดินไปอย่างไม่หยุดยั้งครับ

จาก: http://board.palungjit.org/f131/หลวงปู่แหวนมาโปรดในนิมิตร-ฝัน-231506-442.html#post6646971

สาธุกับคุณภูเบศวร์ คุณนครและท่านอื่นๆด้วยครับ ถ้าข้อความที่ผมโพสออกไปสามารถยังประโยชน์ให้เกิดขึ้น กับพี่น้องญาติธรรมหลายๆท่าน เข้าใจถึงธรรมที่พ่อแม่ครูอาจารย์ได้เมตตาสั่งสอน อย่างน้อยก็ทำให้ผมรู้สึกถึงความไม่สูญเปล่า กับการที่มีโอกาสได้รับธรรมโดยตรงจากองค์ท่าน

ผมเคยอ่านเรื่อง จิตกับสติ มาบ้างแต่ไม่เคยเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร จนกระทั่งได้มาฟังจากพ่อแม่ครูอาจารย์ เรื่องที่เคยคิดว่ายากก็ค่อยๆง่ายขึ้น ผู้ที่เคยมีโอกาสได้ฟังธรรมจากองค์ท่าน คงพอเข้าใจได้กับภาษาง่ายๆ ในการอธิบายข้อธรรมขององค์ท่าน ที่จริงแล้วท่านสอนผมมากกว่าที่ผมโพสออกไป เพียงแต่บางอย่างมันเกินกำลัง สติปัญญาของผมที่จะปฎิบัติได้ อย่างเช่น เรื่องหลังจากเราสามารถแยก ผู้รู้กับผู้ถูกรู้ ได้อย่างเด็ดขาดแล้ว ก็ให้ทำลาย(ปล่อยวาง)ผู้รู้นั้นเสีย เพราะผู้รู้นั้นเปรียบเสมือนเชื้อที่จะทำให้ เกิดภพเกิดชาติ(การเวียนว่ายตายเกิด) เมื่อเราทำลายผู้รู้แล้ว ก็เท่ากับตัดการกลับมาเกิดอีก แต่การเกิดภพเกิดชาตินั้น มันมีของมันอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะทำลายผู้รู้ได้หรือไม่ได้ มันก็มีของมันอยู่อย่างนั้น เพียงแต่เราทำลายที่เหตุ ที่จะทำให้เกิดเท่านั้น


มองไปที่หนทางเบื้องหน้าแล้ว ยังคงต้องหมั่นฝึกฝนและอดทนต่อไป บอกตนเองอยู่เสมอว่า อย่าตั้งเป้าหมายในการปฎิบัติให้สูงนัก ในการที่จะเข้าถึงมรรค-ผล ให้ค่อยๆเดินต่อไปเป็นขั้นเป็นตอน ตามคำสั่งสอนขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์ ณ.ตอนนี้ ขอเพียงหาผู้รู้ให้เจอ แล้วกำหนดให้รู้ว่า จิตส่วนจิต(ผู้รู้ส่วนผู้รู้) - กิเลสส่วนกิเลส(ผู้ถูกรู้ส่วนผู้ถูกรู้) และมีสติขอรู้อยู่กับปัจจุบัน(ชั่วขณะจิตหนึ่ง) เท่านี้ก่อนครับ

ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงกับคุณสมบัติ ที่นำพาให้ผมได้มาพบ องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ เมื่อ 12 ส.ค.54 วาระวันแม่ ผมมีโอกาสได้ไป ภูดานไห นับเวลา 1 ปีที่ผ่านมากับปัจจุบัน ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อก่อนไม่รู้ว่าถูกกรรมเหวี่ยงไปอยู่ ณ.ที่แห่งใด แต่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ก็เมตตาหยิบผมกลับเข้ามา บนเส้นทางแห่งธรรมสายนี้ มีชีวิตใหม่ในร่างเก่า มีมุมมองชีวิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆขอบคุณหลายๆเด้อ

วันที่ได้มีโอกาสเดินตามพ่อแม่ครูอาจารย์บิณฑบาตร ผมเห็นรอยบาทขององค์ท่าน ที่เดินอยู่ข้างหน้า จิตของผมบอกตัวเองว่า ผมจะไม่เหยียบซ้ำรอย รอยบาทขององค์ท่านเป็นอันขาด และขอตั้งจิตอธิฐานว่าจะเดินตามรอยบาทนี้ ไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์

ศิษย์โง่ ขอกราบ กราบ กราบ แทบบาทองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ ครับ
จาก : http://board.palungjit.org/f131/หลวงปู่แหวนมาโปรดในนิมิตร-ฝัน-231506-442.html#post6649170

สวัสดีครับ พี่สันติ

กราบขอบคุณพี่สันติอีกครั้งนะครับ และผมเองยังไม่มีโอกาสได้กราบองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ เลยแม้แต่สักครั้งเดียว เวลาของผมคงยังมาไม่ถึง หรือไม่ก้อคงยังไม่โดนท่านหยิบกลับมาเข้าแถวกระมังครับ พี่สันติได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมท่านอยู่เสมอ และได้รับการอบรมจากท่านเป็นนิจ ผมขอโมทนาในบุญบารมีที่พี่สันติ ได้เพิ่มให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้ ธรรมะ-คำสอน ขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์นั้น นครเองได้รับต่อมาจากพี่ๆทุกท่านในที่นี้ แต่ก็ยังคงความเป็นจริงและเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การพิสูจน์ในทุกเรื่องที่ได้รับทราบ บางเรื่องอาจจะเกินปัญญาของนครไป แต่บางเรื่องนครสามารถทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้องและถ่องแท้ ยังผลให้ตัวนครเองนั้นไม่ถูกดึงลงล่างมากเกินไปนัก มีความรู้สึกเหมือนพี่ท่านหนึ่งที่พูดว่า "คิดว่าตัวเองเดินไปข้างหน้า แต่ที่ไหนได้พอมาพิจารณาดูดีๆ เราถอยหลังไปเรื่อยๆ"

ตั้งใจครับว่าต่อจากนี้ไป จะเดินไปข้างหน้า ตามพวกพี่ๆไป "ไปด้วยกัน"
และมีองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ เป็นผู้เดินนำ ครับ

นคร-0813198446

สวัสดีครับคุณนคร และพี่น้องญาติธรรมทุกท่านครับ ไม่ต้องเดินตามหรอกครับ เดินไปด้วยกัน เดินทางเดียวกัน เดินตามรอยบาทของพ่อแม่ครูอาจารย์องค์เดียวกัน ขอให้แน่ใจเลยว่าเดินถูกทางแล้ว บางคนอาจเดินเร็ว บางคนอาจเดินช้า แต่ถึงที่หมายแน่นอนครับ

คืนหนึ่งหลังจากสวดมนต์ไหว้พระ ก็จะนั่งสมาธิต่อ แวบหนึ่งคิดถึงคำที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านเคยสอนว่า ต้องมีสติรู้อยู่กับคำภาวนาให้ตลอดสาย ถ้าเผลอไม่มีสติเมื่อไร จิตก็จะไหลไปรวมกับอารมฌ์ที่จะคอยแทรกเข้ามา จะทำให้ไม่เกิดสมาธิ ก็คิดได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว ถ้าเราทำสติให้รู้กับปัจจุบันได้ตลอด สมาธิก็จะเกิดขึ้นมาเอง ดังนั้นจึงไม่ใช่การนั่งสมาธิอย่างที่เข้าใจมา เพราะสมาธิเป็นผลที่เกิดจากการเจริญสติต่างหาก ที่สำคัญคือสติเท่านั้น ต้องชัดเจนและทันกับปัจจุบันจริงๆ จึงจะใช่ มีสติจับกับคำภาวนาไปเรื่อยๆ พอถึงจุดๆหนึ่งหรือสติเต็มรอบ ก็จะเห็นผลคือเกิดสมาธิขึ้นมาเองในทันที


โดยทั่วไป สติ คือ ความระลึกได้ ใช้กับเรื่องที่ผ่านมาแล้วหรือเรื่องที่ยังมาไม่ถึง (อดีตและอนาคต)
สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว ใช้กับเรื่องที่กำลังทำ คิด พูด ในปัจจุบัน
แต่ในความหมายทางธรรม สติ คือ อาการที่รู้สึกตัวขึ้นมาในขณะปัจจุบัน ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

ทุกวันนี้ก็พยายามที่จะฝึก รู้กาย-รู้ใจ ในขณะปัจจุบันเสมอว่า ตอนนี้กำลังทำอะไร ก็ให้มีสติรู้เฝ้าสังเกตุดู กาย-ใจ ในทุกอิริยาบถ ทุกการกระทำ ไม่ว่าจะทำ พูด คิด ก็ให้รู้เท่าทันเสมอไม่ให้ใจของเราเผลอ ไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ แต่ก็ไม่สามารถตั้งสติได้ตลอดเวลา บางครั้งก็เผลอแต่อย่างน้อยก็รู้ว่าเผลอ แล้วค่อยดึงสติกลับมา อย่างเช่นการใช้ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอน ล้างหน้า แปรงฟัน กินข้าว ขับรถ ฯลฯ คุณภูเบศวร์เคยแนะนำให้มีสติรู้ ในเวลากินข้าว กำลังกินก็รู้ มือจับช้อนก็รู้ กำลังตักอาหารก็รู้ ส่งเข้าปากก็รู้ จนกระทั่งอิ่มหากเราลองทำ อย่างตั้งใจ ผลคือจิตมันจะไม่เผลอ มีสติรู้อยู่กับการกระทำทุกขั้นตอน หลังจากกินข้าวเสร็จ ก็จะต้องเดินทางต่อ ก็เริ่มตั้งสติกับการขับรถ เราก็ทำความรู้สึกตัวว่าเรากำลังขับรถ พอจะเปลี่ยนอิริยาบถ ก็ทำความรู้สึกให้ทันกับอาการนั้นๆ เช่น จะเปลี่ยนเกียร์ก็ให้รู้ว่าเรากำลัง จะเปลี่ยนเกียร์ กำลังจับเกียร์ เราเปลี่ยนเกียร์เสร็จแล้ว เรากำลังจะกลับมาจับพวงมาลัย พอจะเหยียบคันเร่ง ก็ให้รู้มาที่เท้าที่กำลังจะเหยียบ พอจะเหยียบเบรคก็ให้รู้ มีสติรู้ทับอีกทีหนึ่งในการกระทำต่างๆนั้น โดยการกำหนดรู้ในใจ (หรือจะออกเสียงก็ได้) ผลก็คือจิตมันไม่เผลอหลุดไปคิดเรื่องอื่น จิตมันจะจับกับปัจจุบันคือการขับรถ เท่านั้น

บางสิ่งบางอย่างเป็นเรื่องที่เราทำมาตลอดชีวิต ทำจนมีความรู้สึกชาชิน ทำโดยไม่ต้องคิดอะไรมันเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะจิตของเรามันหยาบมองข้าม สิ่งละเอียดอันละเล็กละน้อย ที่มีความสำคัญอย่างที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน พอผมเริ่มหันมามองสิ่งเหล่านี้ มันเป็นมุมมองอีกมิติหนึ่ง ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนครับ ถ้าเราคิดอยากดูกายดูใจของเรา ให้เราดูจากสิ่งต่างๆเหล่านี้ เพียงแต่เราบอกตัวเราเองซ้ำอีกที่หนึ่ง ว่าเรากำลังจะทำหรือทำอะไร มันจะรู้สึกถึงการมีสติรู้กับการกระทำอย่างนั้นตลอด โดยที่สติของเรา จะจับอยู่กับสิ่งเหล่านั้นโดยไม่เผลอไปที่อื่น

เรื่องที่กล่าวมาแล้วนั้น เราสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น เราจะทำอะไร เห็นอะไร จิตเป็นอย่างไรรู้ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็รู้ รู้ปัจจุบันขณะหนึ่งๆ รู้ได้ตลอดสายในเรื่องนั้นๆ ทำได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะใช้ความรู้สึกเป็นผู้ทำ ใช้ร่างกายเป็นที่ทำ ทำอยู่ภายในกายในใจของเรานั่นแหละ สิ่งภายนอกเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น

มีข้อคิดมาฝาก นิดนึงครับ

เมื่อคิดจะเอาแต่ได้ ก็ดูมีแต่จะเสีย
เมื่อยอมที่จะเสีย กลับมองเห็นทางที่จะได้
ดีไม่ทำ คือ ธรรมที่ไม่ดี
พุธโธ-ใจรู้ พุธโธ-รู้ใจ
คนเราทุกข์แล้วก็ลืม คนเราลืมแล้วก็ทุกข์
นั่นคือทุกข์ของคนขี้ลืม

ศิษย์โง่น้อม กราบ กราบ กราบ แทบบาทพ่อแม่ครูอาจารย์ ครับ
จาก: http://board.palungjit.org/f131/หลวงปู่แหวนมาโปรดในนิมิตร-ฝัน-231506-443.html#post6674642

ขออนุโมทนาสาธุกับคุณสันติอย่างมากครับ ที่ได้นำธรรมะขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์ถ่ายทอดอย่างละเอียด การภาวนาก็คือการฝึกจิตให้มีสติอยู่กับปัจจุบันให้เรารู้อยู่กับปัจจุบันทุกขณะจิต องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านเคยสั่งสอนว่า สติ และ สัมปชัญญะ เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก เป็นธรรมะที่ทำให้คนเรา เป็นมนุษย์ ขึ้นสวรรค์ เป็นเทวดา หรือแม้กระทั่งเป็นพระอรหันต์ก็อาศัยธรรม 2 ข้อนี้ ลองคิดดูหากเราขาดสติก็จะเกิดประมาทขาดการยับยั้งชั่งใจ เราก็จะกระทำไปตามอารมณ์ของเราคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ดังนั้นสิ่งที่คุณสันติได้ถ่ายทอดออกมาเหมือนกับเป็นเครื่องเตือนสติของเรา เปรียบเสมือนกับเราได้เข้ากราบองค์พ่อแม่ครูอาจารย์และได้ฟังธรรมะขององค์ท่านอยู่เนื่องๆ ขอขอบคุณผู้ที่นำมาเผยแพร่ และขอน้อมกราบ กราบ กราบ องค์พอ่แม่ครูอาจารย์ที่ท่านได้ทรงสอนสั่ง ข้าพเจ้าขอเดินตามรอยบาทแห่งองค์ท่าน แต่ด้วยความที่ยังเป็นผู้ที่ยังเขลาเบาปัญญา เป็นผู้เริ่มฝึกหัดเดิน การประพฤติปฏิบัติธรรม ในบางครั้งอาจพลั้งเผลอสติไปบ้าง เมื่อได้สติก็ขอตั้งใจเดินตามรอยแห่งองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ ขอรับใช้สนองงานองค์ท่านจนถึงที่สุดแห่งธรรม.....
ขอน้อมกราบ กราบ กราบ องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช ด้วยเศียรเกล้า....
จาก: http://board.palungjit.org/f131/หลวงปู่แหวนมาโปรดในนิมิตร-ฝัน-231506-443.html#post6675624

ได้รับฟังประสบการณ์การมีสติระลึกรู้กายจากคุณสันติที่นำมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟัง เพื่อความสอดรับต่อเนื่องจึงขอนำประสบการณ์การมีสติระลึกรู้จิต(ใจ)มาเล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าอาจเกิดประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มสนใจศึกษาเรียนรู้ภายในตนเองให้มากขึ้น แต่อาจเป็นเรื่องที่หลายท่านได้รู้และได้ผ่านจุดนี้ไปแล้ว ก็ถือเสียว่าเป็นประสบการณ์มุมเล็กๆของนักเรียนธรรม(นรธ.)แห่งภูดานไห

การระลึกรู้จิต เป็นการระลึกรู้ในสิ่งที่เป็นนามธรรม อาจเป็นความคิด อารมณ์ต่างๆซึ่งในวันๆหนึ่งเกิดขึ้นมากมาย เพียงแต่เราไม่ได้มองเห็นแต่เรากลับตกอยู่ในสภาวะนั้น อุปมาดังเช่นที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านยกตัวอย่างให้ได้เห็นชัดว่าเราอยู่ในกระแสน้ำ ไม่ได้ขึ้นฝั่งนำตัวเองออกมาจากกระแสน้ำนั้น
หรือเหมือนกับเราเป็นผู้เล่นเกมส์ในสนาม มัวคลุกอยู่กับเกมส์การเล่นไม่ได้เห็นภาพรวม แต่ผู้ดูนอกสนามกลับมองเห็นทั้งหมดของสนามและรู้ว่าควรจะเล่นอย่างไร

จึงขอนำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นของอารมณ์โกรธมาเป็นตัวอย่างของการดูจิต ที่นำเรื่องนี้มาเพราะอารมณ์โกรธนั้น เป็นสภาวะที่หยาบมองเห็นได้ง่าย ทั้งยังเกิดขึ้นได้บ่อยในชีวิตประจำวันของสังคมปัจจุบัน จะได้นำไปเปรียบกับสภาวะอารมณ์ของแต่ละท่านดู

ผมได้สังเกตุขณะความไม่พอใจเกิดขึ้น อาจด้วยสัญญาความจำว่าอย่างนี้ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ จนเกิดเป็นความโกรธขึ้นมา ในส่วนตัวผม(มุมมอง)ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน
2ด้าน

ด้านหนึ่งคือร่างกาย จะเกิดความ เปลี่ยนแปลงของธาตุ4 ดิน น้ำ ลม ไฟ เช่น ธาตุลมภายในแปรปรวนเคลื่อนตัวเร็ว ลมหายใจถี่สั้น หัวใจเต้นแรงเร็ว และขับดันธาตุน้ำอันได้แก่การไหลเวียนของของเหลวภายในร่างกาย เช่น เลือดสูบฉีดแรง ปฏิกิริยาความร้อนของธาตุไฟในตัวสูง ส่งผลให้ร้อนรุ่ม กระวนกระวาย และทำให้ธาตุดินเกิดการสั่นสะเทือนจนอาจสังเกตุเห็นร่างกายมือไม้สั่น

ในอีกด้านหนึ่งส่วนของภายใน(ใจ) ความโกรธซึ่งเปรียบเสมือนไฟ เมื่ออยู่ในภาวะอารมณ์นั้น อาจถูกพัดโหมให้เพิ่มขึ้นจากการปรุงแต่งหมุนวนของจิตเรา จิตรู้สึกอัดแน่นและหนักๆเหมือนมีมวลเป็นเวทนาที่จิตแบกรับอยู่ หากไม่มีสติระลึกรู้ก็จะไหลตามกระแสอารมณ์ไป จนความร้อนแห่งไฟที่อัดแน่นจากภายในนั้นอาจระเบิดแผ่กลับออกมาภายนอก ทางกิริยาอาการทางกาย

หากมีสติบ้าง ได้ยั้งคิด ได้อุบายธรรมสอนใจ เป็นการเบรคกระบวนการ ไฟที่รนจิตใจนั้นก็ค่อยๆอ่อนแรงลง กระบวนการต่างๆในกายและในจิตก็ค่อยๆคลายตัวลง

แต่หากมีสติระลึกรู้ที่สภาวะนั้น จิตผู้รู้ดีดตัวออกมา ดูสภาวะนั้นโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยววุ่นวายด้วย ตั้งมั่นดูเฉยๆ(สมาธิ) จะเห็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดสภาวะนั้นถูกตัดตอนไป จิตผู้รู้เหมือนเป็นอิสระจากสภาวะ มีความเบาและสงบอยู่(เป็นกลาง) ไม่ถูกบีบคั้น ชักนำ จากอารมณ์ ไม่แบกรับทุกขเวทนาที่อัดแน่นในใจ และดูสภาวะนั้นเหมือนดูปรากฏการณ์ธรรมดาๆอันหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา จะเป็นยังไงก็ช่าง

จิตเป็นอันได้รับรู้กระบวนการที่เกิดขึ้นจากการกระทบของอายตนะภายนอกแล้วส่งเข้ามาภายใน จากเหตุแห่งความยึดถือในสัญญา(ความจำได้หมายรู้) เกิดความไม่ยินดี ไม่พอใจ
และสังขารปรุงแต่งคือคิดไปต่างๆนานา วนเวียนอยู่ (ลืมปัจจุบันขณะ) รับรู้ถึงเวทนาที่เกิดขึ้นและแบกรับไว้ (อยู่ในช่วงที่อารมณ์นั้นตั้งอยู่)
พอมีสติระลึกรู้ ผู้รู้ลอยตัวออกมาดู รู้เฉยๆ เห็นกระบวนการภายในนั้นขาดลง (ดับไป) และจิตยังคงระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ

ส่วนปฏิกริยาเคมีทางร่างกายอาจยังกรุ่นอยู่ แม้ภายในจิตนั้นดับไปแล้ว ภายในร่างกายก็จะค่อยๆคลายลง (ด้วยจิตมีความเร็วมากจึงดับไปก่อนภาวะทางกาย)

เมื่อจิตผู้รู้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ได้เกิดปัญญามองเห็นเหตุ ว่าเกิดจากจิตส่งออกไปรับรู้และยึดมั่นถือมั่น ปรุงแต่งไปจนเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา ซ้ำยังยึดถือทุกข์ที่เกิดขึ้นว่านั่นคือเรา
และได้เห็นความดับไปของทุกข์ ด้วยจิตปล่อยวางแยกตัวออกจากทุกข์นั้น
ไม่ยึดถือสิ่งที่ปรากฏ


ด้วยเป็นผลจากการมีสติระลึกรู้ มีสมาธิตั้งมั่นดูปรากฏการณ์นั้นด้วยใจเป็นกลาง มีปัญญารู้ เข้าใจความเป็นไปอันเป็นธรรมชาติของจิต ของกระบวนการที่เกิดขึ้นและไม่ยึดถือ

เป็นประสบการณ์เล็กๆส่วนหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าเป็นมุมมอง ที่เป็นผลจากการน้อมนำธรรมะ ความรู้ วิธีการ จากคำสั่งสอนชี้แนะขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์(พ.สุรเตโช) ที่ได้ให้แนวทางและความกระจ่างในการปฏิบัติ
ซึ่งน้อมนำมาปฏิบัติและเล่าสู่กันฟังตามความเข้าใจของตนเอง ซึ่งยังคงมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องฝึกฝนเรียนรู้ นับเป็นบุญวาสนาที่ได้รับความเมตตาจากท่านที่ชี้ทางสว่างให้เดิน
และเดินไปด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่นว่า..นี้คือมรรควิถีแห่งความหลุดพ้น

ขอน้อมศิรวาทกราบบาทองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ทุกๆองค์ อันมีองค์พ่อแม่ครูอาจารย์(พ.สุรเตโช)เป็นที่สุด

นรธ.ภูเบศวร์