วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

06: ไม่สุขล้น ไม่จ่อมจมในทุกข์

ไม่สุขล้น ไม่จ่อมจมในทุกข์

ไม่ต้องย้อนคิดในสิ่งที่ผ่านมา ไม่คาดหวังในอนาคต จงพิจารณาในปัจจุบัน
สิ่งที่เคยมี เคยเห็น เคยเป็นในอดีต (การงาน การเงิน ชื่อเสียง ฯลฯ) ก็ให้มันผ่านไป เพราะแก้ไขหรือเรียกร้องมันมาเหมือนเดิมไม่ได้

สิ่งที่จะเกิดขึ้น จะเห็น จะเป็น ในอนาคต ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามวาระ อะไรจะเกิด จะเห็น จะเป็น ก็ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ

ปัจจุบัน จงมีสติระลึกได้ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น พยายามละวางในสิ่งที่เราเคยมี เคยเห็น เคยเป็นมาในอดีต อย่าย้อนไปคิดมัน การละวางคือการลดมานะทิฏฐิในเบื้องต้น ให้ระลึกเสมอว่า เราเคยเกิด เคยเจ็บ เคยปวด เคยสุข เคยทุกข์ เคยฆ่าเขา เคยถูกเขาฆ่า เคยตกนรก เคยขึ้นสวรรค์ เคยบวช เคยสึก เคยเป็นสัตว์ เคยเป็นจิปาถะ นับไม่ถ้วนเรื่องชาติภพ.... หากมันจะเกิดขึ้นอีกในชาตินี้ ก็ไม่เห็นจะไปทุกข์อะไรกับมันอีก มันอยากเป็นก็ให้มันเป็น มันจะตายก็ให้มันตาย เพราะตายมาหลายภพแล้ว อย่างไรมันก็ต้องตาย... นี่เป็นอุบายให้เราลืมความทุกข์เศร้าหมองได้ในเบื้องต้น(ผมผ่านเรื่องนี้มาแล้ว)... ส่วนการจะปล่อยวางในระดับสูงขึ้น(ระดับกลาง) ก็ต้องฝึกจิตให้ละวางคือ อุเบกขาให้เป็นนิจศีล คือ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบทั้งสุขและทุกข์ ก็ให้รู้เร็ว และละวางเร็ว ภายในหนึ่งวัน หนึ่งชั่วโมง สามสิบนาที สิบนาที ห้านาที หนึ่งนาที สามสิบวินาที หนึ่งวินาที ลงไปตามลำดับ... นี่คือการละวางในระดับกลาง ต้องฝึกจิตระงับความรัก โลภ โกรธ หลง ให้เป็นปรกติ (ผมกำลังเข้าสู่ช่วงการปฏิบัตินี้)... ขั้นสูงสุดขึ้นไปอีกคือ การรู้ในสิ่งที่มี ที่เห็น ที่เป็น ที่มากระทบอายตนะทั้งหมด แล้ววางมันลงทันที ไม่มีสิ่งใดไปเกาะเกี่ยวในสภาวะจิตใจได้เลยแม้แต่น้อย คือสภาวะสุญญตาในขั้นปฏิบัติสูงสุด อันเป็นหนทางพระนิพพานนั่นเอง

พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย แม้ท่านจะตัดกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว แต่กายสังขารท่านยังดำรงอยู่ ท่านก็ยังต้องใช้สิ่งสมมุติหรือแสดงรูปสมมุติในโลกของสมมุติเช่นเดียวกันกับพวกเรา เพียงแต่ท่านไม่ได้ยึดถือเอามันอีกแล้ว ปัจจัยทั้งสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ก็ยังต้องใช้อยู่ แต่ใช้เพื่อการดำรงธาตุขันธ์ให้อยู่ในโลกสมมุติได้นั่นเอง...เมื่อท่านนิพพาน(กายแตกดับลงไป) ก็ไม่เหลืออะไรเป็นสิ่งสมมุติอีกต่อไป

นักปฏิบัติจะต้อง ไม่สุขจนล้น ไม่จ่อมจมในทุกข์ ความว่างความกลาง คือ หนทางความหลุดพ้นครับ

ดร.นนต์