วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

07: ธรรมใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่ทำ

โดย โดยพระชุมพล พลป...

  • จะนับว่าเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างยิ่งที่เราจะรู้สึกว่าสิ่งที่บีบคั้นเรา อย่างแสนจะที่สุดนั้นก็คือกายและจิตของเรานั่นเอง
  • ภูติผีปีศาจ สัตว์ร้าย คนดุทั้งหลาย ไม่น่ากลัวเลย จิตที่ตั้งไว้ผิดนั้น น่ากลัวมากกว่านัก
  • ทุกข์ทั้งหลายมีอยู่อย่างพร้อมมูล ชนิดครบวงจรอยู่ที่กายและจิตของเราแล้ว ไม่ต้องไปแสวงหาจากที่ไหนเลย
  • สถานที่ใดที่ยังมีรูปธรรม นามธรรม สถานที่นั้นย่อมจะประกอบไปด้วยทุกข์อย่างมิอาจที่จะหลบเลี่ยงไปได้
    นิพพาน สุขัง เนื่องจากนิพพานปราศจากรูปธรรม นามธรรม จึงปราศจากการถูกบีบคั้นจากรูปธรรม นามธรรม เพราะฉะนั้น นิพพานจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขอย่างแท้จริง เพราะว่าไม่อิงอาศัยรูปธรรมและนามธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น
  • ความคิดที่จะมาเอาอะไรจากโลกนี้นั้น เดือดร้อนที่สุด
  • เมื่อไหร่ เราจึงจะเลิกเกิดเสียที
  • ที่เราพอจะเอาตัวรอดไปได้เรื่อย ๆ ก็เพราะว่าเรารู้สึกว่าเราไม่มีดีอะไร และต้องคอยแก้ไข ปรับปรุงสภาวะจิตไปเรื่อย ๆ นักปฏิบัติธรรมคนไหน ถ้าหากไปรู้สึกว่า ตัวดี ตัวเก่ง ตัววิเศษ แล้วละก้อ เจ๊งทุกรายไป
  • ความคิดมุ่งมั่นตั้งเป้าว่าจะทำอะไรให้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ เป็นมานะอย่างหนึ่ง มานะที่ว่านี้เอง เป็นรากเหง้าทั้งราคะและโทสะ
  • อวิชชาตัวสุดท้าย คือ อุปาทานยึดมั่นในความมีอยู่
  • ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม ไม่กำหนดหยั่งรู้ทุกข์ ไม่บรรลุธรรม
  • ต้นเหตุแห่งความเดือดร้อนทั้งหมด อยู่ที่กายและจิตเราเท่านั้น
  • ยิ่งเข้ามาพิจารณากายและจิตอย่างใกล้ชิดมากเท่าไหร่ ยิ่งเห็นแต่ความน่าเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ยิ่งเห็นแต่ความน่าถอนความยึดมั่น อุปาทาน ว่าเป็นตัวเราของเรายิ่งขึ้นเท่านั้น
  • จิตเอ๋ย มึงจะขึ้นลงอย่างไร กูก็ไม่เอากับมึงแล้วโว้ย (อตัมมยตา)
  • จิตเอ๋ย มึงเอาการบรรลุธรรมมาล่อ ให้กูไปหลงยึดมึงเป็นตัวกูของกูต่อไป ก็เลยต้องเดือดร้อนกับมึงไปอีกไม่รู้จักจบ กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย (อตัมมยตา)
  • ที่มันยากก็ตรงนี้เอง คือ ตั้งหน้าตั้งตารักษาจิตโดยไม่ยึดว่าจิตเป็นตัวเราของเรา
  • สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ สิ่งที่เรายึดมั่นที่สุดนั่นเอง สิ่งที่ทำให้เราเดือดร้อนที่สุดก็คือ สิ่งที่เรารักที่สุดนั่นเอง
  • ของที่บังคับบัญชาไม่ได้ ไปยึดเอาไว้ทำไม
  • ตา รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้
  • หู เสียง โสตวิญญาณ โสตสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้
  • จมูก กลิ่น ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้
  • ลิ้น รส ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้
  • กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ กายสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้

  • ใจ ธัมมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้
  • สิ่งเหล่านี้ไปยึดเอาไว้ทำไม
  • กิเลสทั้งหลาย ย่นลงมาเหลือตัณหา ๓ คือ อยากให้มา อยากให้อยู่ อยากให้ไป

  • ยิ่งปล่อยให้จิตเตลิดเปิดเปิงไปไหน ก็ยิ่งเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นทุกที ดึงจิตให้มาหยุดในหยุดดีกว่า วิ่งตามโลกจะไปจบลงเมื่อไหร่เล่า
  • ผมชอบฉายาของพระมาก ๆ อยู่ ๓ ฉายา
  • ๑. อนาลโย แปลว่า ผู้ไม่มีอาลัยในสิ่งใด
  • ๒. ทานรโต แปลว่า ผู้ยินดีในการให้ ยินดีในการเสียสละ
  • ๓. จันทูปโม แปลว่า ผู้อุปมาด้วยพระจันทร์ หมายถึง ผู้ไม่ข้องติดด้วยตระกูล คือ พระพุทธองค์ทรงเปรียบภิกษุผู้ไม่ข้องติดหมู่ญาติโยมผู้อุปัฏฐากทั้งหลาย เป็นประดุจกับพระจันทร์ที่โคจรผ่านบ้านแล้วบ้านเล่า แล้วก็จากไปอย่างไม่อาลัยติดข้อง ซึ่งพระองค์ได้ทรงยกย่องพระมหากัสสปะในเรื่องนี้เอาไว้มากทีเดียวว่าเป็นผู้ จันทูปโม บุคคลผู้อุปมาด้วยพระจันทร์
  • พระมหาสาวกอีกองค์ที่ผมเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านมาก คือ พระนาลกะ ผู้ประพฤติโมเนยยปฏิปทา เป็นทั้งผู้ไม่มีอาลัย และผู้อุปมาด้วยพระจันทร์ ประวัติของท่านช่างน่าเลื่อมใสศรัทธาในความใจเด็ด และความมักน้อยสันโดษเสียเหลือเกิน
  • หาคนอื่นทำไม หาตัวเองดีกว่า คิดถึงคนอื่นทำไม คิดถึงตัวเองดีกว่า ระลึกถึงคนอื่นทำไม ระลึกถึงตัวเองดีกว่า
  • เที่ยวหาคนอื่น ไปหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ จงหันเข้ามาหาตัวเองเถิด เจอแน่
  • มองขันธ์ ๕ ให้เป็นมายาให้หมด
  • เราเหมือนหลับฝันอยู่ในบ้านไฟไหม้ นั่งเพลินอยู่ในถ้ำมีเสือซะแล้ว ขันธ์ ๕ มันเจ็บปวดเดือดร้อนทุกข์เข็ญเป็นสาหัสอย่างนี้ ยังมานิ่งนอนใจอยู่ได้
  • จิตที่คอยเดือดร้อน กระวนกระวาย ห่วงหาอาทรขันธ์ ๕ นั้น เป็นจิตที่งี่เง่าที่สุด
  • ที่เราเที่ยวไปเนี่ย เที่ยวไปหาใคร ? ทำไมไม่หันเข้ามาหาตัวเอง
  • เวลาเจอปัญหาอย่าเพิ่งรีบท้อแท้ ตั้งสติให้ดี เดี๋ยววิธีแก้จะผุดขึ้นมาเอง
  • ฟ้าไม่โหดร้ายกับผู้ที่ใฝ่กุศลด้วยใจบริสุทธิ์หรอกน่า
  • อย่าเพิ่งรีบตีโพยตีพายไปกับสิ่งใดๆ ถ้าจิตเราบริสุทธิ์ จะไม่เจอทางตันแน่ๆ
  • หน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรม คือ มาชนะใจตนเอง
  • ถ้าเป็นสุขอยู่ได้ด้วยการเพลิดเพลินอดีต ปรุงแต่งอนาคต ก็แสดงว่าก้าวพลาดเสียแล้ว
  • อย่าปล่อยให้จิตอยู่ในระดับแห่งความคิดคำนึงอันเกี่ยวเนื่องด้วยกาย ถอนจิตให้หลุดลอยออกไปจากระดับแห่งความคิดคำนึงอันเกี่ยวเนื่องด้วยกายทั้งมวลเสีย วางจิตให้อยู่ในระดับที่มีกายเหมือนไม่มีกาย สักแต่ว่าอาศัยกายนี้ประกอบกิจต่างๆ ไปเท่านั้น ไม่ยินดียินร้าย ตื่นเต้นลิงโลด ดีใจเสียใจ ไปกับความเปลี่ยนแปลงขึ้นลง เจริญเสื่อม ของกายเลยแม้แต่น้อย
  • แม้แต่กายเราเองก็ยังต้องละ กายคนอื่นไม่ต้องพูดถึงแล้ว
  • เบื้องต้นของการปล่อยวางตัวตน ให้ถอนตรงกาย เวทนา และจิต ว่าไม่ใช่ตัวเราของเราก่อน แล้วต่อไปให้ไปพิจารณาถอนอุปาทานตรงธรรมะ ว่าสภาวะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แล้วปล่อยวางความยึดมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเสียให้สิ้นเชิง
  • การหนีปัญหา คือ การเริ่มต้นของปัญหาใหม่อีกอันหนึ่ง
  • เราบังคับบัญชารูปไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อตาเห็นรูป ก็เดือดร้อนนะซิ
    เราบังคับบัญชาเสียงไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อหูยินเสียง ก็เดือดร้อนนะซิ

    เราบังคับบัญชากลิ่นไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อจมูกได้กลิ่น ก็เดือดร้อนนะซิ
    เราบังคับบัญชารสไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อลิ้นได้รส ก็เดือดร้อนนะซิ
    เราบังคับบัญชาโผฏฐัพพะไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อกายได้โผฏฐัพพะ ก็เดือดร้อนนะซิ
    เราบังคับบัญชาธัมมารมณ์ไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อใจได้ธัมมารมณ์ ก็เดือดร้อนนะซิ
  • ถ้าถอนความยึดมั่นยินดียินร้ายจากคำพูดของคนไปได้ ก็หมดความเดือดร้อนไปเยอะเลย
  • อายตนะทั้ง ๖ คู่ ประดุจก้อนเหล็กที่ไฟเผาจนโชนแดง ใครเข้าไปจับก็เดือดร้อนเอง
  • ยุทธภูมิในการสู้กิเลส จะไปรวมลงที่ใจกับธัมมารมณ์
  • สิ่งที่เห็นด้วยตาทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สิ่งที่ได้ยินด้วยหูทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สิ่งที่ได้กลิ่นด้วยจมูกทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สิ่งที่ลิ้มรสด้วยลิ้นทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สิ่งที่รับสัมผัสด้วยกายทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สิ่งที่รู้ด้วยใจทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สภาวธรรมทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น
  • มันเป็นมายาทั้งสิ้น เพราะว่าเกิดแล้วดับทั้งนั้น ไม่มียืนยงคงอยู่ถาวรไปจริงแม้แต่นิดเดียว
  • มันเป็นจริงเป็นจังเพราะถูกกิเลสหลอกนั่นเอง
  • กายก็เป็นมายา เวทนาก็เป็นมายา จิตก็เป็นมายา สภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วแต่เป็นมายา
  • จะละกายได้ต้องตีให้แตกในด่านเวทนา จะละเวทนาได้ต้องตีให้แตกในด่านจิต จะละจิตได้ต้องตีให้แตกในด่านธรรม
  • เรามาแสวงหาความสุขในโลกนี้ ที่ไหนจะมีให้เล่า
  • กาย เวทนา และจิต มันก็ไม่อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อุปาทานไปยึดมันไว้เอง
  • สภาวะที่ไร้อุปาทานนั่นเอง คือสภาวะที่ไร้ทุกข์
  • ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติธรรมดา อุปาทานนั่นเองที่เป็นตัวไปขวางกระแสของธรรมชาติธรรมดา
  • ขวางไว้ก็ได้แต่เพียงทุกข์เป็นผลตอบแทน
  • อวิชชาคือตัวหลงมายาเป็นของจริง
  • ผู้ประมาทเพราะไม่เห็นทุกข์
  • ความจริงที่หนีไม่พ้น คือ ทุกข์
  • ความสุขไม่มีอยู่จริงในทุกกาล ทุกสถานที่
  • จิตได้เข้ามายึดมั่นในกายโดยหลงว่าเป็นสุข
  • อยากจะกู่ตะโกนร้องให้ก้องฟ้า ว่าสังขารมันทำให้เราทุกข์เดือดร้อนจนแทบบ้า แล้วยังไปยึดมันเอาไว้อีก
  • เราเป็นทุกข์เนื่องจากเวทนา เพราะไปยึดมั่นกับการเสวยมากเกินไป
  • เมื่อเข้ามาหาในตัวเอง ก็ไม่เจอตัวเอง
  • สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในโลก คือ ความยึดมั่นเป็นตัวกูของกู
  • อยู่ให้เห็นทุกข์ ไม่ใช่อยู่ให้เห็นสุข
  • กายนี้ช่างเป็นของสาธารณะของหมู่หนอน หมู่แมลง และเชื้อโรคชนิดต่างๆ โดยแท้
  • ความสืบต่อแห่งกายเป็นไปด้วยความยากลำบาก ความแตกดับ ฉิบหายทำลายแห่งกายเป็นไปได้ ในทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกกาลโดยไม่ยากลำบากเลย
  • ความสามารถในการควบคุมสิ่งต่างๆ ในโลกจะมีประโยชน์อะไรขึ้นมาเล่า ถ้ายังไม่สามารถควบคุมใจตนเอง
  • รู้เรื่องตัวเราดีกว่าไปรู้เรื่องคนอื่น รู้เรื่องจิตเราดีกว่าไปรู้เรื่องจิตคนอื่น
  • สอนตัวเองดีกว่าสอนผู้อื่น ฝึกตัวเองดีกว่าฝึกผู้อื่น ควบคุมตัวเองดีกว่าควบคุมผู้อื่น ปราบตัวเองดีกว่าปราบผู้อื่น ชนะตัวเองดีกว่าชนะผู้อื่น
  • อย่ายึดมั่นอะไรเป็นจริงเป็นจัง เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรจริงจัง
  • สักแต่ว่าดูมัน เกิดเกิด ดับดับ
  • ความรู้สึกที่ว่ามีตัวกูของกู มันฝืนธรรมชาติ
  • ธรรมชาติของโลกคือการยึดถือเอาไว้ไม่ได้
  • ปล่อยได้เมื่อไหร่ก็หมดทุกข์เมื่อนั้น
  • ขอบพระคุณทุกข์ ที่มาสอนให้เราเจียมตัวเจียมตนและไม่ประมาท
  • กายและป่าช้า เป็นเนื้อคู่ของกันและกัน โดยไม่มีใครที่จะมากีดกันบุพเพสันนิวาสของทั้งสองได้เลย
  • การกำเนิดคือการจับจองป่าช้า
  • สวัสดีท่านนักจับจองป่าช้าผู้ไม่เห็นโทษของสังสารวัฏทั้งหลาย ท่านชอบใจชนิดฝัง ชนิดเผา หรือชนิดปล่อยไว้ให้เป็นทานแก่หมู่หนอน สุนัข และแร้งกาทั้งหลายเล่า
  • หนีเท่าไหร่ก็ไม่พ้นหรอก ความตายน่ะ เจ้าโง่เอ๋ย
  • ไม่มีใครที่จะบริสุทธิ์หมดจดประดุจผ้าขาวที่ไร้รอยด่าง การมีข้อบกพร่องเป็นธรรมชาติธรรมดาของคน
  • ราคะเกิดเพราะส่งจิตออกนอก โทสะเกิดเพราะส่งจิตออกนอก โมหะคือตัวทำให้ส่งจิตออกนอก วิชชาและวิมุติ คือ จิตเห็นจิต จิตแจ้งจิต
  • บรรยากาศแห่งการบรรลุธรรม คือ ไม่วุ่นวายไปกับความวุ่นวาย ไม่เดือดร้อนไปกับความเดือดร้อน และไม่ทุกข์ไปกับความทุกข์
  • อยู่ที่นี่ ไม่หนี ไม่สู้ นั่นแหละคือตัวรู้แจ้งเห็นจริง
  • พระยามัจจุราช ได้มาจับจองพื้นที่อยู่ในทุกอณูของอัตภาพนี้ มาตั้งแต่การตั้งขึ้นของความเกิดแล้ว
  • เรากำลังต่อสู้กับความตายที่รู้ผลลัพท์มาตั้งนานแล้วว่าต้องแพ้พันเปอร์เซนต์
  • ทุกอณูของชีวิต ก็คือ ความตาย
  • ทิศทางแห่งการก้าวเดินของทุกชีวิตคือการเดินทางไปสู่ป่าช้า
  • ความสะอาดคือบ่อเกิดแห่งความสกปรกโสโครก ความฉลาดคือบ่อเกิดแห่งความโง่เขลางมงาย
  • ห่วงอะไรไม่ห่วง ดันไปห่วงขันธ์ ๕
  • ตัวหิวกับตัวลุ่มหลงเป็นตัวเดียวกัน ตัวอยากกับตัวยึดเป็นตัวเดียวกัน
  • ตัวรังเกียจกับตัวต้องการเป็นตัวเดียวกัน ตัววิ่งหนีกับตัวเข้าหาเป็นตัวเดียวกัน
  • เพราะเราต้องการจะหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการไปกับเราจึงหาได้ยาก
  • เพราะสัตว์โลกยินดีในทุกข์ จึงพ้นทุกข์ไปไม่ได้ เพราะสัตว์โลกเทิดทูนบูชาทุกข์ จึงพ้นทุกข์ไปไม่ได้
  • สัตว์โลกทั้งหลาย ช่างหิวกระหายอยากในทุกข์เสียนี่กระไร
  • ทางดับทุกข์ของผู้ยินดีในทุกข์ จักมีมาแต่ที่ไหนเล่า ทางดับทุกข์ของผู้ยินดีในขันธ์ ๕ จักมีมาแต่ที่ไหนเล่า
  • สิทธิพิเศษทำให้เราอ่อนแอ และเห็นแก่ได้
  • รู้ได้ จึงละได้ ละได้ จึงรู้ได้ ถ้ารู้แล้วยังไม่ละก็แสดงว่ายังไม่รู้ ถ้าละแล้วยังไม่รู้ก็แสดงว่ายังไม่ละ
  • ถ้าเห็นโทษแล้วแต่ยังละไม่ได้ ก็แสดงว่ายังไม่เห็นโทษ
  • ต้องปล่อยวางให้หมดนั่นแหละ จึงถึงความสวัสดี ยึดเอาไว้นิดเดียวก็ต้องเดือดร้อนเต็มที่
  • สาธุ โข บรรพชา หาคนอื่นก็ไม่เจอสักที หาตนเองดีกว่า บรรพชา คือ การเข้าหาตนเอง บรรพชา คือ การดับทุกข์
  • การนำจิตให้มาหยุดในหยุด คือ การดับทุกข์อันประเสริฐ โดยไม่ต้องเปลืองปัญญา โดยไม่ต้องเปลืองสมอง
  • การดับทุกข์ต้องเป็นไปในทางสายเอก ทางเส้นเดียวของบุคคลผู้เดียว เป็นไปในที่แห่งเดียว กายเดียว ใจเดียว ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ไป ไม่มีญาติ ไม่มีมิตร ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีหญิง ไม่มีชาย ไม่มีคู่รัก ไม่มีคู่เกลียด นั่นแลคือการดับทุกข์ ที่ปราศจากความอาลัยในโลกทั้งปวง เป็นอนาลโยแห่งนิพพานธรรมโดยแท้จริง
  • ที่นำจิตเข้ามาสู่กาย ไม่ใช่เข้ามายึดกาย แต่เพื่อมาอาศัยเป็นฐานที่ตั้งแห่งสติและเพื่อมาเห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาของกายแล้วก็ปล่อยวางไป
  • มานะ ทิฏฐิ ถือเรา ถือเขา อวดดี อวดเก่ง อวดกล้า อวดดื้อ ถือดี ยกตัว ยกตน ยกหู ชูหาง เป็นผลพวงมาจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนทั้งสิ้น
  • โทษของผู้อื่นเท่าเมล็ดงา ปองติฉินนินทาไม่วายเว้น โทษของตนเองเท่าภูผา ปกปิดรักษาไม่ให้คนอื่นเห็น
  • จะค้นหาอมตะต้องค้นหาในความตาย
  • ต้องผ่านด่านแห่งความตายไป จึงเจอความไม่ตาย
  • กายนี้ยึดไว้ไม่ได้ ถือไว้ไม่ได้เด็ดขาด
  • คอยแบกความดี ความชั่ว ความเจริญ ความเสื่อม ของโลกเอาไว้ มันหนักไม๊วะ
  • พอกันทีกับการเก๊กท่าเพื่อให้ชาวโลกเคารพ ศรัทธา ยกย่อง สรรเสริญ บูชา
  • อุปสรรคที่เป็นเพียงมโนภาพนึกคิดที่คาดเดาว่าจะเกิดนั้น เราฝ่าฟันได้แล้ว แต่กับอุปสรรคที่เป็นของจริงน่ะ เราผ่านได้หรือยัง
  • รู้จากตำรา สู้รู้จากประสบการณ์ในเหตุการณ์จริงไม่ได้
  • อย่ามั่นใจว่าตนเองไม่กลัวตาย ตราบใดที่ยังไม่ได้เผชิญหน้ากับความตาย
  • จงฆ่ากิเลสให้ได้เสียก่อน ก่อนที่มันจะมาฆ่าเรา
  • อย่าทำร้ายตัวเองโดยการประคบประหงมกิเลส
  • ถ้าเราแสวงหาสถานที่ปลอดภัย จะต้องกลัวต่อสถานที่อันตราย
  • ถ้าเราแสวงหาสถานที่สงบ จะต้องกลัวต่อสถานที่วุ่นวาย
  • ถ้าเราแสวงหาสถานที่รื่นรมย์ จะต้องกลัวต่อสถานที่สยดสยอง
  • เราจะเกิดมาทุกข์ทรมานอีกหลายชาติ เพราะติดและอาลัยในรสอาหารหรือไม่
  • คิดถึงคนอื่นทำไม มากำหนดสภาพความเกิดดับของใจดีกว่า
  • คุยกับคนอื่นทำไม คุยกับสภาวะปัจจุบันอารมณ์ของกาย เวทนา จิต และธรรมดีกว่า
  • การหลงเพลินปรุงแต่งไปกับอดีต อนาคต เป็นยาพิษแห่งใจ ขนานร้ายแรงเหลือเกิน
  • อยู่อย่างไร้ค่าเหมือนก้อนหิน ท่อนไม้ ยังดีกว่าที่จะต้องไปแบกความหมกมุ่นกังวล ดีใจ เสียใจ ไปกับเรื่องของคนอื่น
  • อย่าเป็นห่วงกังวลหมกมุ่นกับการดำเนินไปตามกฎแห่งกรรมของสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง
  • ปัจจุบันอารมณ์มีค่ายิ่งกว่าทองพันชั่ง เพชรหมื่นกะรัต
  • การกราบไหว้เคารพบูชาของคนทั้งโลก ก็ไม่มีค่าแม้แต่เสี้ยวเดียวของการตั้งจิตอย่างมั่นคงแข็งแกร่งในปัจจุบันอารมณ์
  • ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง สามารถแก้ได้ด้วยการตั้งสติให้มั่นคง ในปัจจุบันอารมณ์ในฐานทั้ง ๔ ฐานใดฐานหนึ่ง คือ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
  • จิตที่สิ้นความอาลัยอาวรณ์ ในโลกียสมบัติทั้งปวง แล้วมาตั้งอย่างแน่วแน่ในปัจจุบันอารมณ์ คือ จิตหลุดพ้น
  • ดับทุกข์ได้ก็พอแล้ว ไม่ต้องบรรลุเป็นอะไรหรอก
  • ต้องเผชิญกับทุกข์สุดขีด ปัญญาตัวแท้จึงจะโผล่
  • ปัญญามาพร้อมกับความทุกข์ ไม่ใช่มาพร้อมความสบาย
  • การที่จะอยู่โดยปราศจากทุกข์ ต้องอยู่อย่างปราศจากตัวตนเท่านั้น
  • การหลงติดกับสุขเวทนาไม่ว่าจากอายตนะใดก็ตาม คือการฆ่าตัวตาย
  • มัจจุราช ย่อมตามฆ่าบุคคลผู้เพลิดเพลินหลงเสวยสุขเวทนา เหมือนพรานเบ็ดฆ่าปลาที่หลงเหยื่อ ฉะนั้น
  • ถ้าจะทิ้งกายให้ได้ ต้องทิ้งเวทนาให้ได้ด้วย และต้องทิ้งจิตให้ได้ด้วย
  • ข้าพเจ้าขอร้องไห้ ให้กับความคิดที่อยากจะให้คนมาเคารพยกย่องบูชา จนน้ำตาเป็นสายเลือด
  • การหวั่นไหวต่อโลกธรรม คือความฉิบหายวอดวายของสัตว์โลก
  • โครงการทั้งหลายของเราสามารถผิดพลาดล้มเหลวได้ทั้งสิ้น
  • นิสัยร่าเริง รื่นเริง ของเรา เกิดมาจากการไม่เห็นทุกข์เห็นโทษของโลกหรือเปล่า ?
  • โลกนี้ ย่อมสวยสดงดงามสำหรับคนโง่เสมอ
  • ลาภสักการะและการเคารพบูชาในตระกูลต่างๆ ปรากฏแก่เราประดุจหลุมถ่านเพลิง
  • สังขารที่เที่ยง ไม่มีในโลก
  • ความเข้าใจผิดนั่นเองที่ทำให้เราแสดงออกมาอย่างผิดๆ เราต้องแก้ความเข้าใจผิด เพื่อจะให้เลิกแสดงออกมาอย่างผิดๆ เข้าใจผิด ว่า กายเป็นของเรา เวทนาเป็นของเรา และจิตเป็นของเรา
  • ความยึดมั่นถือมั่นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเดือดร้อนทั้งปวง
  • จะเป็นกำไรชีวิตมากเหลือเกิน ถ้าหากจะมีเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม ที่จะมาทำให้เรารู้ว่า ตัวเองยังไม่เก่งจริง ตัวเองยังไม่ดีจริง
  • สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ การหลงว่าสังขารที่แสนทุกข์นั้นเป็นสุข
  • อารมณ์รักที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ใด คือ ปริมาณที่บ่งบอกออกมา ถึงความอ่อนแอของจิต ความหิวโหยของจิต ความไม่เป็นตัวของตัวเองของจิต และความพึ่งตัวเองไม่ได้ของจิต
  • ขอบพระคุณมารที่มาช่วยให้เราได้ธรรมะ
  • อย่าให้คะแนนคนจากรูปร่างหน้าตา
  • สำหรับผู้ที่บรรลุธรรมที่แท้จริง จะไม่มีความรู้สึกอยากจะบอกให้ใครรู้ว่าตัวเองบรรลุธรรมเลย
  • เมื่อถอนอุปาทานได้หมดก็อยู่อย่างไม่ต้องห่วงอะไร
  • ยึดเอาไว้แล้วมันเป็นไปได้อย่างที่ยึดซะเมื่อไหร่
  • ความรักตัดง่าย ความเสียดายตัดยาก
  • อุปาทานคือความยึดว่าเป็นตัวกูของกู ตัณหาคือความเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการสรรพสิ่งทั้งหลาย ๓ ประการ คือ อยากให้มา อยากให้อยู่ และอยากให้ไป ตัณหาและอุปาทานทั้ง ๒ นี้ ต่างก็เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
  • อยากละอุปาทาน ต้องละตัณหาให้ได้ อยากละตัณหาต้องละอุปาทานให้ได้
  • จะละตัณหา ต้องทำทุกสิ่งตามหน้าที่ ไม่ทำด้วยความอยาก
  • ตัณหา ๓ สรุปลงเหลือ ความยินดีและยินร้าย
  • กายนี้ไม่ใช่ของเรา ความเจริญและความเสื่อมของกายนี้ เราไม่รับผิดชอบ
  • ความผิดพลาดทั้งหมดอยู่ตรงที่ การดำรงจิตอยู่ในโลกอย่างมีอุปาทานนั่นเอง
  • ความคิดที่จะเสวยโลกเกิดจากความคิดที่ว่ามีตัวกูของกู
  • และแล้วเราก็เข้าใจผิดคิดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีอยู่จริง
  • ความเดือดร้อนของเราเกิดมาจากชอบทำอะไรตามใจตัวเอง
  • สิ่งใดร้อน สิ่งนั้นยึดไว้ไม่ได้ สิ่งใดทุกข์ สิ่งนั้นยึดไว้ไม่ได้
  • สถานที่ใดหรือเวลาใดที่อยู่อย่างไม่ได้สัมผัสทุกข์ จงระวังให้ดีว่าความประมาทจะขึ้นขี่คอโดยไม่รู้ตัว
  • จะรู้ว่าใจเราแข็งแกร่งหรือไม่ ต้องดูในสถานการณ์ที่ผจญกับความทุกข์ ไม่ใช่สถานการณ์ที่เสวยความสบาย
  • ขณะที่เผชิญทุกข์นั่นเอง ที่เราจะรู้ได้ว่าเราประมาทในเรื่องอะไรมาบ้างในกาลก่อน
  • จงระวังตนเองจะเป็นคนแข็งกร้าวโดยปราศจากความแข็งแกร่ง
  • เธอไม่ผิดหรอก แต่วิธีที่เธอใช้น่ะมันผิด
  • ความทุกข์เป็นสัญญาณบอกล่วงหน้า ว่าภาวนามยปัญญาจะเกิด
  • จิตที่คิดแสวงหาลาภสักการะ ยศถาบรรดาศักดิ์ การยกย่องสรรเสริญจากฝูงชน เป็นจิตที่นำไปสู่ความฉิบหาย
  • ความประเสริฐอยู่ที่ความบริสุทธิ์ของใจ ไม่ใช่อยู่ที่การยอมรับของสังคม
  • ถอนความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน ถอนความคิดอยากให้มา อยากให้อยู่ อยากให้ไป แล้วตั้งจิตเป็นกลางวางเฉยนิ่งอยู่
  • เมื่อถอนอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นในจิตออกเสียได้ ก็ไม่ต้องไปสนใจแล้วว่าจิตจะบรรลุธรรมหรือไม่ บรรลุธรรมเมื่อไหร่
  • สันติสุขจะหาได้จากใจที่เป็นกลางเท่านั้น
  • และแล้ว ดอกรักก็กลายเป็นดอกโศก
  • ในฐานะที่ไม่มีใครโอ๋ ไม่มีใครช่วยเหลือ ไม่มีใครประคบประหงม ไม่มีใครช่วยปกป้อง ไม่มีใครคอยคุ้มภัย ไม่มีใครคอยอำนวยความสะดวกนั่นแล จึงเป็นโอกาสที่สามารถจะสร้างและบำเพ็ญบารมีขั้นสูงได้
  • เมื่อผ่านสภาวการณ์ที่โหดร้าย จะได้จิตใจที่เข้มแข็งมา
  • ชีวิตคือการเล่นขายของที่โง่เขลาที่สุด เนื่องจากว่าผู้ที่เข้ามาเล่น กลับหลงว่าเป็นเรื่องจริงเรื่องจัง
  • การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ต้องหนีความเดือดร้อน แต่ในขณะที่ความเดือดร้อนบังเกิดขึ้น แล้วเราตั้งจิตให้มั่นคงปล่อยวางได้ นั่นแหละเรียกว่า การบรรลุธรรม
  • ความทุกข์เดือดร้อนทุกชนิดของโลก ถือว่าเป็นครูที่แสนดีที่มาสอนและมาเตือนให้ปล่อยวาง
  • เมื่อสติออกนอกฐาน ญาณก็ตก กิเลสก็เกิด
  • ความสุขที่ต้องอาศัยคนอื่น เป็นความสุขของทาสหรือขี้ข้า
  • จิตที่ไร้อุปาทานคือความมีขอบเขตที่ไร้ขอบเขต
  • ถอนตัณหาออกเสียกระทั่งราก แล้วอยู่อย่างไร้ปัญหาไปตราบจนกระทั่งถึงวันตาย
  • ความไร้ตัวไร้ตน คือ ความที่ทั้งไม่สะอาดและไม่แปดเปื้อน
  • ถ้ายังสะอาดอยู่ ก็ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้ายังแปดเปื้อนอยู่ ก็ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์
  • สิ่งที่ปิดกั้นขวางทางนิพพานของสัตว์ทั้งหลายอย่างไม่เห็นช่องว่าง คือ ความอวดดื้อ และถือทิฏฐิมานะ
  • ความเข้าใจที่ว่า มีตัวเราตั้งอยู่ตลอดเวลาตลอดกาล เป็นความเห็นผิด
  • ในเมื่อไม่มีตัวเราตั้งอยู่ตลอดเวลา แล้วจิตจะต้องไปแบก ไปหาบ ไปคอน ไปหมกมุ่นกังวล ในสิ่งใดทำไมเล่า
  • สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ชั่วขณะแห่งการผัสสะของอารมณ์เท่านั้น
  • เมื่อตัวแสดงไม่มีเสียแล้ว ละครทั้งเรื่องก็กลายเป็นโมฆะไป เมื่อตัวเราและตัวเขากลายเป็นอนัตตาไปเสียแล้ว เรื่องราวทั้งมวลในโลกจะมีได้อย่างไร
  • ตัวเราก็ไม่มี ตัวเขาก็ไม่มี แล้วจะรักใคร แล้วจะโกรธใคร
  • การบรรลุธรรมไม่ใช่เรื่องของกาย แต่เป็นเรื่องของจิตที่ไปยึดกาย การบรรลุธรรมไม่ใช่เรื่องของจิต แต่เป็นเรื่องของจิตที่ไปยึดจิต
  • ของอะไรก็ตามที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ต้องไม่ใช่ของเราแน่ จิตเป็นของที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งจากภายนอกบ้าง จากภายในบ้าง ฉะนั้นจิตต้องไม่ใช่ของเราแน่ ฉะนั้นการที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในจิตอันไม่ใช่ของเรานั้น ไม่เป็นการสมควรเลย
  • อะไรหนอที่จะเปลี่ยนแปลงได้ไวเท่ากับจิต ฉะนั้นอะไรหนอที่จะไม่น่ายึดมั่นถือมั่นเท่ากับจิต
  • จิตเป็นสิ่งที่ต้องรักษา แต่ก็ต้องรักษาอย่างปล่อยวาง คือรักษาอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจิตเป็นเรา เราเป็นจิต
  • อย่าหิวกระหายในการเลื่อนชั้นของจิต
  • เพราะสิ่งทั้งหลายมันไม่แน่นอน จึงยึดเอาไว้ไม่ได้
  • อุปาทานนั่นเองที่เข้ามาตีกรอบไว้ ไม่ให้จิตมีอิสระ
  • ถ้าคิดจะหาความสุขจากสังขารละก้อ งี่เง่าสิ้นดี
  • ธรรมชาติของสังขารทั้งปวงนั้นมันเป็นของว่างอยู่แล้ว แต่ว่าอุปาทานนั่นเองที่เข้าไปยึดไว้ บังตาไว้ ไม่ให้มันว่าง
  • ธรรมชาติเค้าไม่ยอมให้ยึด ไปยึดทำไม
  • ไม่เที่ยงก็เท่านั้น เดือดร้อนก็เท่านั้น บังคับไม่ได้ก็เท่านั้น เจ้าสังขารเอ๋ย
  • เมื่อเข้าไปค้นในกายในใจด้วยปัญญาญาณ ก็เจอแต่ทุกข์ทั้งสิ้น
  • เวลาเบื่อโลกไม่ใช่ต้องหนีโลก แต่ให้ถอนความยึดมั่นถือมั่นเป็นเราเป็นเขาออกจากโลกเสีย
  • ทุกข์ที่ตรงไหน ให้ถอนความยึดมั่นถือมั่นออกจากตรงนั้นก่อน ถอนให้หมด ถอนให้ไม่มีเหลือ
  • ถอนสมมุติทั้งมวลออกให้หมด แล้วอยู่อย่างไร้ตัวกูของกู
  • ของในปัจจุบันเท่านั้นที่มีอยู่ ของในอดีตและของในอนาคตไม่มี
  • รูปธรรมก็สักแต่ว่าเป็นรูปธรรม นามธรรมก็สักแต่ว่าเป็นนามธรรม ไม่มีตัวไม่มีตน
  • อาการยึดมั่นถือมั่นของจิต เกิดจากอำนาจของโมหะ ความไม่รู้
  • เมื่อญาณปัญญาเข้าไปเจาะลึกในขันธ์ ๕ รูปธรรมและนามธรรมก็มีค่าเท่ากัน คือ ไร้ค่าเท่ากัน
  • ทอดอาลัยในกายและจิตอันนี้เสียทีได้แล้ว
  • ถอนอุปาทานออกให้หมด แล้วขันธ์ ๕ นี้มันจะเจริญหรือเสื่อม ได้ดีหรือได้ชั่ว ก็ช่างมันแล้ว
  • ไปบีบเค้นของไร้สาระให้เป็นสาระแก่นสาร มันจะได้หรือ ?
  • ความทุกข์เข็ญ คือ มิตรแท้ของผู้ปฏิบัติธรรม
  • วางอุเบกขาเป็นไม๊ วางอุเบกขาเป็นไม๊ วางอุเบกขาต่อโลกเป็นไม๊
  • เรายังให้คุณค่าความหมายความสำคัญต่อกายมนุษย์อยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นทุกข์อยู่ตราบนั้น
  • นึกถึงความเจริญรุ่งเรืองของเราแล้วจิตมันรู้สึกเฉยๆ นึกถึงความเสื่อมตกอับของเราแล้วจิตมันรู้สึกเฉยๆ
  • อุเบกขาที่สมบูรณ์ด้วยสตินั่นจึงเป็นอุเบกขาแท้
  • การถอนอุปาทาน จะถอนได้ก็ในขณะที่สติเต็มเปี่ยมเท่านั้น
  • การบรรลุธรรม ไม่ต้องให้ใครมายอมรับและรับรู้ด้วย
  • คิดกำไร ขาดทุน รายได้ รายเสีย มากๆ ทำให้เป็นบ้าได้
  • รู้มากถ้าหากละไม่เป็น ก็ยิ่งบ้ามากขึ้นทุกที
  • จิตที่มีอุปาทานทรงอยู่ในโลกเพื่อรับความเดือดร้อนแท้ ๆ
  • ต้องละอวิชชาให้สิ้นนั่นแล มานะจึงจะขาดลอย
  • คนเรามันพลาดกันได้ แต่ในเมื่อพลาดแล้วก็ขอให้ฉลาดขึ้นกว่าเดิม ไม่งั้นก็จะไม่คุ้มค่าที่พลาด
  • การเข้าไปเสพเสวยรสของโลกคือตัวกาม
  • ความทุกข์ดัดนิสัยคนได้ดีเหลือเกิน
  • การดับทุกข์มีวิธีเดียว คือ เลิกยึดมั่นถือมั่นในทุกข์
  • ปัญญาหมาจนตรอกนั่นแหละ คือ ปัญญาละกิเลส
  • ถามตัวเองดูซิว่า บังคับได้หรือไม่
  • กิเลสทุกตัวมีรากเหง้าอยู่ที่อวิชชา ตราบใดที่ยังไม่ถอนอวิชชาจนรากขาดสะบั้น ตราบนั้นกิเลสทุกตัวก็จะยังไม่หายสาบสูญไปได้อย่างสิ้นเชิง
  • ขอนิยามความหมายของคำว่า กามราคสังโยชน์ และปฏิฆสังโยชน์ ที่พระอนาคามีละ ว่าดังนี้ คือ กามราคสังโยชน์ คือ ความกระตือรือร้นในการยินดี ปฏิฆสังโยชน์ คือ ความกระตือรือร้นในการยินร้าย บุคคลที่เป็นพระอนาคามี ยังมีความยินดีและยินร้ายอยู่ แต่ไม่มีความกระตือรือร้นในการยินดี และไม่มีความกระตือรือร้นในการยินร้าย
  • เราขอมีชีวิตอยู่เพื่อเทิดทูนบูชาความสละ
  • ความสันโดษมักน้อยคือมิตรแท้ของเรา
  • เกี่ยวกับเรื่องธรรมะนั้น เราไม่สามารถที่จะเป็นครูของใครได้ เป็นได้แค่ผู้แนะนำเท่านั้น ครูของคนทั้งหลายก็คือความทุกข์ที่เขาเผชิญอยู่นั่นเอง
  • ชีวิต คือ อะไร ? ชีวิตก็คือสิ่งที่เริ่มต้นด้วยความเกิด และปิดท้ายด้วยความตายยังไงล่ะ
  • … และแล้ว เขาก็กลับคืนสู่ป่าตามเดิม
  • การเจริญสติกับปัจจุบันอารมณ์ให้มากๆ คือทักษะแห่งการดับทุกข์โดยตรง
  • จิตที่ทรงอยู่ด้วยอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อยู่โดยปกติ จะถูกธรรมชาติบีบบังคับให้เข้าสู่นิพพานเป็นเที่ยงแท้
  • บุคคลที่เข้มแข็ง คือ บุคคลผู้อยู่คนเดียว บุคคลที่มีคู่และต้องการคู่ เป็นบุคคลอ่อนแอทั้งสิ้น
  • นะโม ตัสสะ ตัสสะ ตัด ใครผูกใครมัด ตัดด้วย นะโม ตัสสะ … ตัสสะ
  • จิต คือ สภาวะธรรมที่สมบูรณ์อยู่ในตัวของตัวเองแล้ว คือว่าไม่ต้องรักใครก็สามารถดำรงอยู่ได้ และไม่ต้องให้ใครมารักก็สามารถดำรงอยู่ได้
  • ต้องทำตัวให้โดดเด่นนั้น เป็นเงื่อนไขของธรรมะ หรือ ของกิเลส
  • เมื่อหมดตัวหมดตนก็เหลือแต่อุเบกขา และสติ
  • ศีลของเราคือ ‘จาคะ’
  • การจะถอนอุปาทานในบุญนั้น สามารถสร้างบุญได้ แต่ให้ถอนจิตจากการอิงอาศัยสุขโสมนัสอันเนื่องมาจากการสร้างบุญ
  • อย่าหวังอะไรจากใครอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าคนนั้นจะใกล้ชิดสนิทสนมแค่ไหน จนกระทั่งแม้แต่ตัวเองก็หวังอะไรไม่ได้
  • เราหวังอะไรจากสิ่งใดๆ ในปริมาณเท่าใด จะต้องทุกข์เดือดร้อนจากความผิดหวังโดยประมาณเท่านั้น ยิ่งหวังในปริมาณมาก ยิ่งทุกข์เดือดร้อนจากความผิดหวังเป็นปริมาณมากเป็นเงาตามตัว
  • ผลแห่งความสำเร็จทั้งหลาย ไม่ได้เป็นไปตามใจที่หวัง ฉะนั้น ผู้ใดหวังมากย่อมเดือดร้อนมาก
  • ทำทุกสิ่งไปตามหน้าที่แล้วอย่าหวังอะไรให้มาก
  • ตัวหวังกับตัวยึดมั่นถือมั่นก็อันเดียวกันเปี๊ยะเลย
  • ระหว่างคนต่อคน ถ้าหากมีน้ำมิตรซึ่งกันและกันแล้ว อย่าไปดูเพียงมารยาทที่แสดงต่อกันว่าดีหรือเปล่า จงดูเข้าไปถึงว่า มีความจริงใจต่อกันหรือเปล่า หวังประโยชน์เกื้อกูลต่อฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า หวังความเจริญรุ่งเรืองของฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า ขวนขวายเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า
  • อย่าให้คะแนนมารยาท มากกว่าความจริงใจ
  • อย่าให้คะแนนวาจาอ่อนหวาน มากกว่าวาจายังประโยชน์
  • ขอให้น้ำตาแต่ละหยดที่หลั่งไหล จงเป็นน้ำตาแห่งความเด็ดเดี่ยวและเอาจริงเถิด อย่าเป็นน้ำตาแห่งความอ่อนแอและท้อแท้เลย
  • จิตที่ไม่ต้องรักใคร และไม่ต้องการให้ใครมารัก เป็นสุขยิ่งกว่าจิตที่สมหวังในรัก หลายพันเท่านัก
  • ความรักกับความเจ็บปวดเดือดร้อน ไม่ได้มีความหมายแตกต่างกันเลย
  • การงานที่มีสาระที่แท้จริงก็คือ การงานที่ทำเพื่อเป็นปัจจัยแห่งการพ้นโลกเท่านั้น
  • ชีวิตที่มีสาระคือชีวิตที่ไม่มีความอาลัยในชีวิต
  • กายก็มีของมันอยู่อย่างนั้น จิตก็มีของมันอยู่อย่างนั้น แต่ความรู้สึกว่าเรามันไม่มี
  • ความสิ้นอุปาทาน คือ มีจิต มีกาย แต่ไร้เรา
  • เมื่อจิตไม่ต้องการอะไร จึงได้ทุกสิ่ง
  • เมื่อจิตเข้าใจสภาพความจริงอย่างถ่องแท้ แล้วก็ปล่อยให้กระแสทั้งหลายไหลไปอย่างเดิม อยู่อย่างเดิม เป็นอย่างเดิม
  • ที่เรียกว่า บรรลุธรรม นั้น ความจริงไม่บรรลุอะไรเลย
  • เมื่อถอนเราออกเสียได้ ปัจจุบันก็กลายเป็นคำตอบ ไม่ต้องแสวงหาคำตอบจากอดีต และไม่ต้องแสวงหาคำตอบจากอนาคต ปัจจุบันกลายเป็นจุดหมายปลายทางอยู่ในตัวมันตลอดทุกขณะจิต
  • หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เมื่อเลิกหาจึงเจอ เมื่อเจอแล้วก็ไม่รู้หาทำไม ไม่รู้เจอทำไม
  • เมื่อรู้รอบจนจบกระบวนการแล้ว สติและปัญญามันก็ทำงานของมันเองอย่างไม่มีติดขัด ขัดข้องในประการใดเลย
  • พวงหรีดเตือนจิตได้ดีกว่าพวงมาลัย
  • ปริมาณความเข้มข้นแห่งความต้องการเสพโสมนัสเวทนาก็คือ ปริมาณความเข้มข้นแห่งความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน และก็คือปริมาณความเข้มข้นแห่งความทุกข์เดือดร้อน
  • ปริมาณความเข้มข้นของอุปาทานดูได้จากปริมาณความเข้มข้นของตัณหา ปริมาณความเข้มข้นของตัณหาดูได้จากปริมาณความเข้มข้นของอุปาทาน
  • ความวางเฉยต่อทุกข์ได้นั่นแหละ คือความดับทุกข์
  • การหนีทุกข์ไม่ใช่การดับทุกข์ แต่เป็นการทวีคูณให้แก่ทุกข์
  • การรอคอยสิ่งใดก็ตาม เป็นการกระทำของคนโง่ จิตที่หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงจะไม่รอคอยต่อสิ่งใดทั้งสิ้น
  • จิตที่ตกเป็นทาส จะมีความเปรื่องปราชญ์มาจากไหน
  • จิตที่บ้าอำนาจจะไม่ตกเป็นทาสได้อย่างไร
  • ความเฉยชาต่อปีติ และโสมนัสเวทนา คือแง่มุมหนึ่งของความดับทุกข์
  • จะดับทุกข์ได้ต้องที่ใจที่ถึงพร้อมเต็มเปี่ยมด้วยสติ และอุเบกขาเท่านั้น
  • สติที่เป็นไปในกาย คือ กุญแจดอกสำคัญสำหรับไขปัญหาที่แก้ไขได้ยาก นานับประการเลยทีเดียว
  • ผู้ที่บรรลุถึง วิริยะและขันตินั่นแล จึงจะบรรลุแล้วเห็นเอง
  • การปล่อยวางที่ไม่ถึงพร้อมด้วยสติ ไม่ใช่การปล่อยวาง การบรรลุธรรมที่ไม่ถึงพร้อมด้วยสติ ไม่ใช่การบรรลุธรรม
  • เจอคนรัก มิสู้เจอคนไร้รัก
  • … และแล้ว ก็ไม่รู้จะยึดเอาไว้ทำไม
  • กายนี้ไม่ใช่ของเรา และกายที่เป็นของเราก็ไม่มีด้วย ใจนี้ไม่ใช่ของเรา และใจที่เป็นของเราก็ไม่มีด้วย
  • ผู้ยิ่งใหญ่ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ได้อย่างหน้าชื่น
  • การยึดมั่นถือมั่นเป็นการสวนทางกับความจริง เพราะว่าสรรพสิ่งล้วนว่างเปล่า
  • จะขัดแย้งกับอะไรก็ขัดแย้งไปเถอะ แต่ถ้าหากไปขัดแย้งกับความจริงเข้าละก้อ จะมีแต่การขาดทุนฝ่ายเดียว
  • โลกแห่งการปรุงแต่ง น่ากลัวที่สุด
  • ความหลุดพ้นเป็นสิ่งไร้ภาษา
  • กิจกรรมแห่งความไม่ประมาท คือ การกำหนดหยั่งรู้ทุกข์เป็นนิจศีล
  • ความทุกข์คือยาขม สำหรับแก้โรคประมาท
  • ความเจริญรุ่งเรืองในทางธรรม ก็ยังถูกกิเลสนำเอามาเป็นเหยื่อล่อหลอก ให้ผู้ปฏิบัติธรรมลุ่มหลงยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน เป็นดีเป็นวิเศษเหนือมนุษย์จนได้
  • ผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตัวโดยปริมาณ ยิ่งจะถูกพญามารหลอกให้หลงทางได้ง่ายดายเหลือเกิน
ธรรมภาษิตเหล่านี้ผุดขึ้นมาในจิตขณะปฏิบัติธรรม ขอให้ถือว่า ธรรมเหล่านี้เป็นสมบัติกลางของธรรมชาติ ไม่ใช่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้บันทึกเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่สงวนลิขสิทธิ์
สถานที่บันทึก แม่ฮ่องสอน – เชียงใหม่ (๒๕๓๗)
คุณความดีของบันทึกชุดนี้ ขอถวายบูชาพระคุณของท่านพระครูภาวนานุศาสก์ (แป้น ธมฺมธโร) วัดไทรงาม อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ผู้มีเมตตาต่อศิษยานุศิษย์อย่างหาประมาณมิได้