วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

10: phoobes:ดร.นนต์

Phoobes: 23-08-2011, 11:33 PM

ท่านนักรบธรรมครับ การสนทนา เล่าสู่กันฟัง ถึงการปฏิบัติในกลุ่ม เป็นที่น่านิยมอย่างยิ่งครับ เพราะยังประโยชน์ให้ทั้งตัวเราและผู้สนใจท่านอื่นๆที่ได้เข้ามาอ่าน ศึกษา ซึ่งอาจมีผลปฏิบัติพอเทียบเคียงกันได้ และเนื่องจากเราไม่ได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ครูอาจารย์ ที่จะคอยสงเคราะห์ตรวจสอบให้เราทุกวันเวลา จุดนี้ก็ได้อาศัยเพื่อนนักรบธรรมในกลุ่มของเราที่ท่านมีภูมิจิตภูมิธรรมเกื้อกูล แนะแนวทาง ให้เราผ่านที่ติดขัดและไปต่อได้

ผมว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราได้รับการเติมเต็มวิถีทางการปฏิบัติ แม้จะอยู่ห่างไกลท่านพ่อแม่ครูอาจารย์ บางครั้ง บางท่าน รวมทั้งตัวผมด้วยอาจเคยคิดว่าการแสดงออกทางความคิดเห็น การแสดงออกถึงการปฏิบัติของเราให้ผู้อื่นรับรู้รับทราบอาจจะถูกมองว่าเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน จึงเก็บงำไว้ไม่แสดงออกมา น่าจะเป็นการเสียโอกาสของเราที่จะยกระดับจิตขึ้นไปอย่างยิ่ง และผมเชื่อว่าในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมในกลุ่มของเราไม่มีใครคิดเช่นนั้น เพราะจิตใจของหลายท่านทรงอยู่ในพรหมวิหารธรรม อีกด้านหนึ่งยังยังประโยชน์แก่ท่านที่กรุณาแนะแนวทางให้เรา ด้วยจิตของท่านก็ยกระดับละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก เหมือนกับว่าได้รับถ่ายทอดกระแสธรรมมาจากธาตุธรรมเบื้องสูงผ่านจิตท่านและมาสู่จิตเรา ผมจึงขอยกย่องและชื่นชมแนวทางนี้ ซึ่งสังเกตุว่าได้มีมากขึ้น หลังจากที่ท่านนักรบธรรมกลับจากภูดานไห จึงขออนุโมทนา ทั้งท่านผู้อนุเคราะห์เกื้อกูลให้คำแนะนำและท่านผู้กล้าแสดงตัวตนในธรรมปฏิบัติของท่าน สมกับได้ขึ้นชื่อนักรบธรรมครับ


ที่ผมยกข้อนี้ขึ้นมาสรรเสริญ เพราะในส่วนตัวผมก่อนหน้านี้ก็เป็นเพียงผู้ติดตามอ่าน ศึกษา เนื่องเพราะตอนนั้นคิดว่าภูมิรู้เรามีเพียงหางอึ่ง จะเอาความรู้อะไรมาแลกเปลี่ยน แบ่งปัน รู้แต่เรื่องใกล้ตัว พอได้รู้กายตนบ้าง จิตตนบ้าง ธรรมชาติรอบข้าง รอบตัว ก็พอจะโอปนยิโก นึกน้อมยังประโยชน์มาสู่ใจได้บ้าง แต่ก็วนเวียนอยู่กับความเผลอ ความระลึกรู้ อยู่อย่างนั้น ใจก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรที่วิเศษกว่าเดิม ก็ยังเป็นใจแบบธรรมดาๆ พอจะให้นึกน้อยใจในวาสนาบารมีของตนอยู่บ้าง ดีที่ได้รับกำลังใจจากพ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้ความรู้ในข้อนี้ว่า ใจที่เข้าสู่อริยมรรค อริยผลก็เป็นใจธรรมดาๆนี่แหละ ไม่ได้เป็นใจที่ถูกทำให้วิเศษวิโสอะไร เพียงแต่ไม่ยึดถือกายใจ แม้แต่ตัวผู้รู้ก็ตาม นั่นแหละที่แตกต่างจากใจทั่วไป ก็ทำให้ได้ข้ามผ่านความหลงผิดในข้อนี้ พอให้มีกำลังใจปฏิบัติต่อไปได้
และหลังจากได้รับการกระทุ้งจากหลายท่านที่นี่ ว่าให้แสดงตัวตนออกมาบ้างเพื่อจะได้รู้จักกันมากขึ้น จึงได้ผ่านจุดนั้น กล้าออกมา สนทนา แลกเปลี่ยนในกลุ่มนักรบธรรม ก็ต้องกราบขอบพระคุณท่านที่ช่วยกระทุ้ง มา ณ ที่นี้ด้วยครับ


ดร.นนต์:
ความจริง ย่อมไม่กลัว ความไม่จริงในเมื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ของเราทำเป็นตัวอย่างแล้ว พวกเราเหล่านักรบธรรมจึงชอบแล้ว ที่จะดำเนินตามรอยของพ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งเสมือนเป็นการเจริญรอยตามพระพุทธเจ้าทุกพระองค์นั่นเอง ธรรมนั้นเป็นอันเดียวกัน การเปิดเผยความจริงบางอย่างที่เพียงพอต่อพื้นธรรมของผู้แสวงหาธรรมนั้น ย่อมไม่ผิด และสมควรแล้ว

เมื่อเราปฏิบัติมาดีมาชอบได้ระยะหนึ่ง ความระลึกรู้บางอย่างเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากลังเลสงสัยในตัวเอง ค่อยๆเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง จนในที่สุด เมื่อมันตกผลึกแล้ว ความจริง ความเชื่อมั่น ความไม่ลังเลสงสัย ความศรัทธา ความระลึกรู้บุญคุณของพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ ย่อมหลั่งไหลออกมาโดยอัตโนมัติ ความปีติมิมีวันเหือดหาย

ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่กำลังเดินเข้าสู่กระแสมรรค
ใครจะรู้บ้างหนอว่า จะมีอริยะบุคคลเกิดขึ้นที่ภูดานไหจำนวนกี่องค์ (พ่อแม่ครูอาจารย์ใช้คำว่า อรหันต์)
ขออนุโมทนาสาธุด้วยนะครับ

09: คุณสมบัติผู้นำ 11 ประการ

คุณสมบัติผู้นำ 11 ประการ ที่คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ขับเคลื่อนในหมู่ผู้นำ
                       

1. มีความจริงใจ

มีจิตใจดี ไม่หลอกใช้ผู้อื่น ส่งเสริมผลงานและผลักดันให้ลูกน้องประสบความสำเร็จ
2. ไม่ศักดินา
เคารพในคุณค่าของผู้อื่น ทั้งในความคิดและการกระทำ ไม่แบ่งชั้นวรรณะ ไม่แบ่งแยกสถาบัน ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง ไม่ดูถูกเหยียดหยามผู้ที่ด้อยกว่า ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่ยึดปมเด่นของตนเพื่อข่มผู้อื่น
3. ใช้ปิยวาจา
เป็นผู้ฟังที่ดี ใช้วาจาสุภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการสอนงานและตักเตือนลูกน้องควรพูดด้วยความระวังไม่ให้กระทบผู้อื่น รู้จักใช้คำพูดในเชิงสร้างสรรค์ ชมเชยให้กำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชา หากจะตำหนิข้อผิดพลาดก็ด้วยเหตุผลเฉพาะเรื่องไม่ใช้อารมณ์ด่วนสรุปและตีตราประณาม ไม่ใช้จาจาเสียดสีประชดประชัน
4. อย่าหลงอำนาจ
ไม่ยึดติดกับอำนาจ ตำแหน่งหน้าที่ ไม่หลงตนว่าเป็นใหญ่และถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว ไม่กดขีข่มเหงผู้น้อย ไม่สั่งงานโดยใช้น้ำเสียงแข็งกระด้าง ไม่บังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้ลูกน้องเคารพนับถือด้วยพลังแห่งคุณความดี มิใช่โดยความเกรงกลัวต่ออำนาจ
5. เป็นแบบอย่างที่ดี
เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในการประพฤติปฏิบัติตนและการทำงานอย่างเป็นทีม โดยมุ่งความสำเร็จขององค์กรในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีความขยันซื่อสัตย์ ตั้งใจทำงาน มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน มีวินัยในตัวเอง ประพฤติตนตามหลักทำนองคลองธรรม ให้ลูกน้องนับถือได้อย่างสนิทใจ เมื่อสั่งสอนสิ่งใดก็ทำได้เช่นเดียวกัน
6. มีความยุติธรรม
ตระหนักถึงความยุติธรรมอยู่เสมอ ไม่ลำเอียงเข้าข้างเฉพาะลูกน้องของตนหรือคนใกล้ชิด ไม่หลงเชื่อคนง่าย ไม่ฟังความฝ่ายเดียว เมื่อประเมินผลต้องให้คุณให้โทษตามเนื้องานที่เป็นจริง มีเหตุผลสนับสนุนที่สามารถอธิบายให้ผู้เกียวข้องเข้าใจหรือยอมรับได้
7. ให้ความเมตตา
ดูแลลูกน้องด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ให้ความช่วยเหลือลูกน้องด้วยความเต็มใจ และปรารถนาที่จะช่วยให้ลูกน้องทำงานอย่างมีความสุข แนะนำสั่งสอนลูกน้องด้วยความปรารถนาดี
8. กล้าตัดสินใจ
ตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักการ ข้อเท็จจริงและประสบการณ์ที่สั่งสมมา รวมทั้งสร้างความเข้าใจให้ลูกน้องยอมรับเหตุผลของการตัดสินใจ ไม่รีรอลังเลเพราะกลัวการรับผิดขอบจนงานชะงักเสียหาย ต้องกล้าคิด กล้านำ กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ
9. อาทรสังคม
มองส่วนรวม สนับสนุนและส่งเสริมสังคมด้วยความรับผิดชอบ โดยการไม่ดำเนินธุรกิจและกิจกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม ในขณะเดียวกันก็ควรช่วยสร้างสังคมให้เข้มแข็งและมีความสุข
10. บ่มเพาะคนดี
รู้จักเลือกสรรและสร้างคนดีมีความสามารถให้กับองค์กร ช่วยลูกน้องด้วยการเป็นพี่เลี้ยง ถ่ายทอดความรู้ความสามารถและประสบการณ์ รวมทั้งสอนงานให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาลูกน้องให้เป็นกำลังสำคัญขององค์กรทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
11. มีใจเปิดกว้าง
ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของลูกน้องและผู้ร่วมงานในทุกระดับ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นความรู้ซึ่งกันและกัน ยินดีที่จะมอบอำนาจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาให้สัมพันธ์กับความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งยอมรับความสามารถที่เหนือกว่าของผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ละอายที่จะขอโทษเมื่อทำผิด และแก้ไขโดยไม่กลัวเสียหน้า สามารถรองรับปัญหาและอารมณ์ของลูกน้อง และเปิดใจรับแนวคิดใหม่ ๆ ของโลก

08: พระคาถาชินบัญชร

ดร.นนต์.....
พระคาถาชินบัญชร โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) บทนี้ ยังมีที่ผิดอยู่หลายตำแหน่ง และผิดมาหลายปีมากแล้วไม่น้อยกว่า 50 ปี แต่ก็ยังสวดและตีพิมพ์ลอกกันไปลอกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน ผู้เขียนได้ตรวจสอบร่วมกันกับ ดร.ณัฐชัย หลายรอบ โดยอาศัยขอบารมีพระเบื้องบนสงเคราะห์แก้ไขให้ถูกต้อง ดังจะแก้ไขต่อไปนี้
บทพระคาถาเดิม (คำสีแดงที่ผิด)
  • เริ่มสวด นโม 3 จบ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 
    นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
  • นึกถึงหลวงปู่โตแล้วตั้งอธิษฐานปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง 
    อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา 
    อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ 
    มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ
  • เริ่มบทพระคาถาชินบัญชร
  1. ชะยาสะนากะตา พุทธา      เชตวา มารัง สะวาหะนัง 
    จะตุสัจจาสะภัง ระสัง         เย ปิวิงสุ นะราสะภา.
  2. ตัณหังกะราทะโย พุทธา     อัฏฐะวีสะติ นายะกา 
    สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง      มัตถะเกเต มุนิสสะรา.
  3. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง        พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน 
    สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง      อุเร สัพพะคุณากะโร.
  4. หะทะเย เม อะนุรุทโธ        สารีปุตโต จะทักขิเณ
    โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง   โมคคัลลาโน จะ วามะเก.
  5. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง       อาสุง อานันทะ ราหุโล                                                   กัสสะโป จะ มะหานาโม      อุภาสุง วามะโสตะเก.
  6. เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง        สุริโย วะ ปะภังกะโร
    นิสินโน สิริสัมปันโน          โสภิโต มุนิปุงคะโว
  7. กุมาระกัสสโป เถโร           มะเหสี จิตตะ วาทะโก
    โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง     ปะติฏฐาสิคุณากะโร.
  8. ปุณโณ อังคุลิมาโร จะ        อุปาลี นันทะ สีวะลี
    เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา        นะลาเต ติละกา มะมะ.
  9. เสสาสีติ มะหาเถรา            วิชิตา ชินะสาวะกา
    เอเตสีติ มะหาเถรา
                 ชิตะวันโต ชิโนระสา
    ชะลันตา สีละเตเชนะ          อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.
  10. ระตะนัง ปุระโต อาสิ           ทักขิเณ เมตตะ สุตตะกัง
    ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ        วาเม อังคุลิมาละกัง
  11. ขันธะโมระปะริตตัญจะ         อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง 
    อากาเส ฉะทะนัง อาสิ         เสสา ปาการะสัณฐิตา
  12. ชินา นานาวะระสังยุตตา       สัตตัปปาการะ ลังกะตา
    วาตะปิตตาทะสัญชาตา        พาหิรัช ฌัตตุปัททะวา.
  13. อะเสสา วินะยัง ยันตุ           อะนันตะชินะ เตชะสา
    วะสะโต เม สะกิจเจนะ         สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.
  14. ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ          วิหะรันตัง มะฮี ตะเล 
    สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ      เต มะหาปุริสาสะภา.
  15. อิจเจวะมันโต                   สุคุตโต สุรักโข
    ชินานุภาเวนะ                   ชิตุปัททะโว
    ธัมมานุภาเวนะ                  ชิตาริสังโฆ
    สังฆานุภาเวนะ                  ชิตันตะราโย
    สัทธัมมานุภาวะปาลิโต         จะรามิ ชินะ ปัญชะเรติ.
      คำแปล
    1. พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลาย ผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์ ทรงพิชิตพระยามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวยอมตรสคือ อริยะสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์
    2. มี 28 พระองค์คือ พระผู้ทรงพระนามว่า ตัณหังกรเป็นต้น พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนีทั้งหมดนั้น
    3. ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้า
      องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนศีรษะ
      พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก
    4. พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจพระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา
      พระโมคคัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณทัญญะอยู่เบื้องหลัง
    5. พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา
      พระกัสสะปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย
    6. มุนีผู้ประเสริฐคือพระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริดังพระอาทิตย์ส่องแสงอยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
    7. พระเถระกุมาระกัสสะปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ 
      มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากเป็นประจำ
    8. พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวะลี 
      พระเถระทั้ง 5 นี้ จงปรากฏเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก
    9. ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือผู้มีชัยและเป็นพระโอรส
      เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย แต่ละองค์ล้วน 
      รุ่งเรืองไพโรจน์ด้วยเดชแห่งศีลให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่
    10. พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้าพระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา
      พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตรอยู่เบื้องหลัง
    11. พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร 
      เป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ
    12. อนึ่งพระชินเจ้าทั้งหลาย นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ 
      ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิด มีศีลาทิคุณอันมั่นคง
      สัตตะปราการเป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น
    13. ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้าไม่ว่าจะทำกิจการใดๆ 
      เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อม 
      แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวะทุกข์ทั้งภายนอกและภายใน อันเกิดแต่โรคร้าย คือ โรคลมและโรคดีเป็นต้น 
      เป็นสมุฏฐานจงกำจัดให้พินาศไปอย่าได้เหลือ
    14. ขอพระมหาบุรุษผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น จงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้น ท่ามกลางพระชินบัญชร ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล
    15. ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม 
      จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวอันตรายใดๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้า ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติ และรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญฯ
บทพระคาถาที่แก้ไขถูกต้องแล้ว ตามนี้ครับ
  1. ชิยาสะรากะตา พุทธา       เชตวา มารัง สะวาหะนัง 
    จะตุสัจจาสะภัง ระสัง        เย ปิวิงสุ นะราสะภา.
  2. ตัณหังกะราทะโย พุทธา    อัฏฐะวีสะติ นายะกา 
    สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง     มัตถะเกเต มุนิสสะรา.
  3. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง       พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน 
    สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง     อุเร สัพพะคุณากะโร.
  4. หะทะเย เม อะนุรุทโธ       สารีปุตโต จะทักขิเณ
    โกณฑัญโญ (ตัดออก)     โมคคัลลาโน จะ วามะเก.
  5. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง      อาสุง อานันทะ ราหุลา                                                   กัสสะโป จะ มะหานาโม      อุภาสุง วามะโสตะเก.
  6. เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง        สุริโย วะ ปะภังกะโร
    นิสินโน สิริสัมปันโน          โสภิโต มุนิปุงคะโว
  7. กุมาระกัสสโป เถโร           มะเหสี จิตตะ วาทะโก
    โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง     ปะติฏฐาสิคุณากะโร.
  8. ปุณโณ อังคุลิมาโร จะ        อุปาลี นันทะ สีวะลี
    เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา        นะลาเต ติละกา มะมะ.
  9. เสสาสีติ มะหาเถรา            (......ตัดออก......)                                              (......ตัด......ออก)         (......ตัดออก......)
  10. (ตัดออก)                       ชิตะวันโต ชิโนระสา
    ชะวัตา สีละเตเชนะ          อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.
  11. ระตะนัง ปุระโต อาสิ           ทักขิเณ เมตตะ สุตตะกัง
    ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ        วาเม อังคุลิมาละกัง
  12. ขันธะโมระปะริตตัญจะ         อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง 
    อากาเส ฉะทะนัง อาสิ         เสสา ปาการะสัณฐิตา
  13. ชินา นานาวะระสังยุตตา       สัตตัปปาการะ ลังกะตา
    วาตะปิตตาทะสัญชาตา        พาหิรัช ฌัตตุปัททะวา.
  14. อะเสสา วินะยัง ยันตุ           อะนันตะชินะ เตชะสา
    วะสะโต เม สะกิจเจนะ         สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.
  15. ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ          วิหะรันตัง มะฮี ตะเล 
    สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ      เต มะหาปุริสาสะภา.
  16. อิจเจวะมันโต                    สุคุตโต สุรักโข
    ชินานุภาเวนะ                    ชิตุปัททะโว
    ธัมมานุภาเวนะ                   ชิตาริสังโฆ
    สังฆานุภาเวนะ                   ชิตันตะราโย
    สัทธัมมานุภาวะปาลิโต          จะรามิ ชินะ ปัญชะเรติ.

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

07: ธรรมใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่ทำ

โดย โดยพระชุมพล พลป...

  • จะนับว่าเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างยิ่งที่เราจะรู้สึกว่าสิ่งที่บีบคั้นเรา อย่างแสนจะที่สุดนั้นก็คือกายและจิตของเรานั่นเอง
  • ภูติผีปีศาจ สัตว์ร้าย คนดุทั้งหลาย ไม่น่ากลัวเลย จิตที่ตั้งไว้ผิดนั้น น่ากลัวมากกว่านัก
  • ทุกข์ทั้งหลายมีอยู่อย่างพร้อมมูล ชนิดครบวงจรอยู่ที่กายและจิตของเราแล้ว ไม่ต้องไปแสวงหาจากที่ไหนเลย
  • สถานที่ใดที่ยังมีรูปธรรม นามธรรม สถานที่นั้นย่อมจะประกอบไปด้วยทุกข์อย่างมิอาจที่จะหลบเลี่ยงไปได้
    นิพพาน สุขัง เนื่องจากนิพพานปราศจากรูปธรรม นามธรรม จึงปราศจากการถูกบีบคั้นจากรูปธรรม นามธรรม เพราะฉะนั้น นิพพานจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขอย่างแท้จริง เพราะว่าไม่อิงอาศัยรูปธรรมและนามธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น
  • ความคิดที่จะมาเอาอะไรจากโลกนี้นั้น เดือดร้อนที่สุด
  • เมื่อไหร่ เราจึงจะเลิกเกิดเสียที
  • ที่เราพอจะเอาตัวรอดไปได้เรื่อย ๆ ก็เพราะว่าเรารู้สึกว่าเราไม่มีดีอะไร และต้องคอยแก้ไข ปรับปรุงสภาวะจิตไปเรื่อย ๆ นักปฏิบัติธรรมคนไหน ถ้าหากไปรู้สึกว่า ตัวดี ตัวเก่ง ตัววิเศษ แล้วละก้อ เจ๊งทุกรายไป
  • ความคิดมุ่งมั่นตั้งเป้าว่าจะทำอะไรให้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ เป็นมานะอย่างหนึ่ง มานะที่ว่านี้เอง เป็นรากเหง้าทั้งราคะและโทสะ
  • อวิชชาตัวสุดท้าย คือ อุปาทานยึดมั่นในความมีอยู่
  • ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม ไม่กำหนดหยั่งรู้ทุกข์ ไม่บรรลุธรรม
  • ต้นเหตุแห่งความเดือดร้อนทั้งหมด อยู่ที่กายและจิตเราเท่านั้น
  • ยิ่งเข้ามาพิจารณากายและจิตอย่างใกล้ชิดมากเท่าไหร่ ยิ่งเห็นแต่ความน่าเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ยิ่งเห็นแต่ความน่าถอนความยึดมั่น อุปาทาน ว่าเป็นตัวเราของเรายิ่งขึ้นเท่านั้น
  • จิตเอ๋ย มึงจะขึ้นลงอย่างไร กูก็ไม่เอากับมึงแล้วโว้ย (อตัมมยตา)
  • จิตเอ๋ย มึงเอาการบรรลุธรรมมาล่อ ให้กูไปหลงยึดมึงเป็นตัวกูของกูต่อไป ก็เลยต้องเดือดร้อนกับมึงไปอีกไม่รู้จักจบ กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย (อตัมมยตา)
  • ที่มันยากก็ตรงนี้เอง คือ ตั้งหน้าตั้งตารักษาจิตโดยไม่ยึดว่าจิตเป็นตัวเราของเรา
  • สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ สิ่งที่เรายึดมั่นที่สุดนั่นเอง สิ่งที่ทำให้เราเดือดร้อนที่สุดก็คือ สิ่งที่เรารักที่สุดนั่นเอง
  • ของที่บังคับบัญชาไม่ได้ ไปยึดเอาไว้ทำไม
  • ตา รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้
  • หู เสียง โสตวิญญาณ โสตสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้
  • จมูก กลิ่น ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้
  • ลิ้น รส ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้
  • กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ กายสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้

  • ใจ ธัมมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัสสชาเวทนา บังคับบัญชาไม่ได้
  • สิ่งเหล่านี้ไปยึดเอาไว้ทำไม
  • กิเลสทั้งหลาย ย่นลงมาเหลือตัณหา ๓ คือ อยากให้มา อยากให้อยู่ อยากให้ไป

  • ยิ่งปล่อยให้จิตเตลิดเปิดเปิงไปไหน ก็ยิ่งเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นทุกที ดึงจิตให้มาหยุดในหยุดดีกว่า วิ่งตามโลกจะไปจบลงเมื่อไหร่เล่า
  • ผมชอบฉายาของพระมาก ๆ อยู่ ๓ ฉายา
  • ๑. อนาลโย แปลว่า ผู้ไม่มีอาลัยในสิ่งใด
  • ๒. ทานรโต แปลว่า ผู้ยินดีในการให้ ยินดีในการเสียสละ
  • ๓. จันทูปโม แปลว่า ผู้อุปมาด้วยพระจันทร์ หมายถึง ผู้ไม่ข้องติดด้วยตระกูล คือ พระพุทธองค์ทรงเปรียบภิกษุผู้ไม่ข้องติดหมู่ญาติโยมผู้อุปัฏฐากทั้งหลาย เป็นประดุจกับพระจันทร์ที่โคจรผ่านบ้านแล้วบ้านเล่า แล้วก็จากไปอย่างไม่อาลัยติดข้อง ซึ่งพระองค์ได้ทรงยกย่องพระมหากัสสปะในเรื่องนี้เอาไว้มากทีเดียวว่าเป็นผู้ จันทูปโม บุคคลผู้อุปมาด้วยพระจันทร์
  • พระมหาสาวกอีกองค์ที่ผมเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านมาก คือ พระนาลกะ ผู้ประพฤติโมเนยยปฏิปทา เป็นทั้งผู้ไม่มีอาลัย และผู้อุปมาด้วยพระจันทร์ ประวัติของท่านช่างน่าเลื่อมใสศรัทธาในความใจเด็ด และความมักน้อยสันโดษเสียเหลือเกิน
  • หาคนอื่นทำไม หาตัวเองดีกว่า คิดถึงคนอื่นทำไม คิดถึงตัวเองดีกว่า ระลึกถึงคนอื่นทำไม ระลึกถึงตัวเองดีกว่า
  • เที่ยวหาคนอื่น ไปหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ จงหันเข้ามาหาตัวเองเถิด เจอแน่
  • มองขันธ์ ๕ ให้เป็นมายาให้หมด
  • เราเหมือนหลับฝันอยู่ในบ้านไฟไหม้ นั่งเพลินอยู่ในถ้ำมีเสือซะแล้ว ขันธ์ ๕ มันเจ็บปวดเดือดร้อนทุกข์เข็ญเป็นสาหัสอย่างนี้ ยังมานิ่งนอนใจอยู่ได้
  • จิตที่คอยเดือดร้อน กระวนกระวาย ห่วงหาอาทรขันธ์ ๕ นั้น เป็นจิตที่งี่เง่าที่สุด
  • ที่เราเที่ยวไปเนี่ย เที่ยวไปหาใคร ? ทำไมไม่หันเข้ามาหาตัวเอง
  • เวลาเจอปัญหาอย่าเพิ่งรีบท้อแท้ ตั้งสติให้ดี เดี๋ยววิธีแก้จะผุดขึ้นมาเอง
  • ฟ้าไม่โหดร้ายกับผู้ที่ใฝ่กุศลด้วยใจบริสุทธิ์หรอกน่า
  • อย่าเพิ่งรีบตีโพยตีพายไปกับสิ่งใดๆ ถ้าจิตเราบริสุทธิ์ จะไม่เจอทางตันแน่ๆ
  • หน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรม คือ มาชนะใจตนเอง
  • ถ้าเป็นสุขอยู่ได้ด้วยการเพลิดเพลินอดีต ปรุงแต่งอนาคต ก็แสดงว่าก้าวพลาดเสียแล้ว
  • อย่าปล่อยให้จิตอยู่ในระดับแห่งความคิดคำนึงอันเกี่ยวเนื่องด้วยกาย ถอนจิตให้หลุดลอยออกไปจากระดับแห่งความคิดคำนึงอันเกี่ยวเนื่องด้วยกายทั้งมวลเสีย วางจิตให้อยู่ในระดับที่มีกายเหมือนไม่มีกาย สักแต่ว่าอาศัยกายนี้ประกอบกิจต่างๆ ไปเท่านั้น ไม่ยินดียินร้าย ตื่นเต้นลิงโลด ดีใจเสียใจ ไปกับความเปลี่ยนแปลงขึ้นลง เจริญเสื่อม ของกายเลยแม้แต่น้อย
  • แม้แต่กายเราเองก็ยังต้องละ กายคนอื่นไม่ต้องพูดถึงแล้ว
  • เบื้องต้นของการปล่อยวางตัวตน ให้ถอนตรงกาย เวทนา และจิต ว่าไม่ใช่ตัวเราของเราก่อน แล้วต่อไปให้ไปพิจารณาถอนอุปาทานตรงธรรมะ ว่าสภาวะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แล้วปล่อยวางความยึดมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเสียให้สิ้นเชิง
  • การหนีปัญหา คือ การเริ่มต้นของปัญหาใหม่อีกอันหนึ่ง
  • เราบังคับบัญชารูปไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อตาเห็นรูป ก็เดือดร้อนนะซิ
    เราบังคับบัญชาเสียงไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อหูยินเสียง ก็เดือดร้อนนะซิ

    เราบังคับบัญชากลิ่นไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อจมูกได้กลิ่น ก็เดือดร้อนนะซิ
    เราบังคับบัญชารสไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อลิ้นได้รส ก็เดือดร้อนนะซิ
    เราบังคับบัญชาโผฏฐัพพะไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อกายได้โผฏฐัพพะ ก็เดือดร้อนนะซิ
    เราบังคับบัญชาธัมมารมณ์ไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นเมื่อใจได้ธัมมารมณ์ ก็เดือดร้อนนะซิ
  • ถ้าถอนความยึดมั่นยินดียินร้ายจากคำพูดของคนไปได้ ก็หมดความเดือดร้อนไปเยอะเลย
  • อายตนะทั้ง ๖ คู่ ประดุจก้อนเหล็กที่ไฟเผาจนโชนแดง ใครเข้าไปจับก็เดือดร้อนเอง
  • ยุทธภูมิในการสู้กิเลส จะไปรวมลงที่ใจกับธัมมารมณ์
  • สิ่งที่เห็นด้วยตาทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สิ่งที่ได้ยินด้วยหูทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สิ่งที่ได้กลิ่นด้วยจมูกทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สิ่งที่ลิ้มรสด้วยลิ้นทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สิ่งที่รับสัมผัสด้วยกายทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สิ่งที่รู้ด้วยใจทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น สภาวธรรมทั้งหมดเป็นมายาทั้งสิ้น
  • มันเป็นมายาทั้งสิ้น เพราะว่าเกิดแล้วดับทั้งนั้น ไม่มียืนยงคงอยู่ถาวรไปจริงแม้แต่นิดเดียว
  • มันเป็นจริงเป็นจังเพราะถูกกิเลสหลอกนั่นเอง
  • กายก็เป็นมายา เวทนาก็เป็นมายา จิตก็เป็นมายา สภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วแต่เป็นมายา
  • จะละกายได้ต้องตีให้แตกในด่านเวทนา จะละเวทนาได้ต้องตีให้แตกในด่านจิต จะละจิตได้ต้องตีให้แตกในด่านธรรม
  • เรามาแสวงหาความสุขในโลกนี้ ที่ไหนจะมีให้เล่า
  • กาย เวทนา และจิต มันก็ไม่อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อุปาทานไปยึดมันไว้เอง
  • สภาวะที่ไร้อุปาทานนั่นเอง คือสภาวะที่ไร้ทุกข์
  • ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติธรรมดา อุปาทานนั่นเองที่เป็นตัวไปขวางกระแสของธรรมชาติธรรมดา
  • ขวางไว้ก็ได้แต่เพียงทุกข์เป็นผลตอบแทน
  • อวิชชาคือตัวหลงมายาเป็นของจริง
  • ผู้ประมาทเพราะไม่เห็นทุกข์
  • ความจริงที่หนีไม่พ้น คือ ทุกข์
  • ความสุขไม่มีอยู่จริงในทุกกาล ทุกสถานที่
  • จิตได้เข้ามายึดมั่นในกายโดยหลงว่าเป็นสุข
  • อยากจะกู่ตะโกนร้องให้ก้องฟ้า ว่าสังขารมันทำให้เราทุกข์เดือดร้อนจนแทบบ้า แล้วยังไปยึดมันเอาไว้อีก
  • เราเป็นทุกข์เนื่องจากเวทนา เพราะไปยึดมั่นกับการเสวยมากเกินไป
  • เมื่อเข้ามาหาในตัวเอง ก็ไม่เจอตัวเอง
  • สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในโลก คือ ความยึดมั่นเป็นตัวกูของกู
  • อยู่ให้เห็นทุกข์ ไม่ใช่อยู่ให้เห็นสุข
  • กายนี้ช่างเป็นของสาธารณะของหมู่หนอน หมู่แมลง และเชื้อโรคชนิดต่างๆ โดยแท้
  • ความสืบต่อแห่งกายเป็นไปด้วยความยากลำบาก ความแตกดับ ฉิบหายทำลายแห่งกายเป็นไปได้ ในทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกกาลโดยไม่ยากลำบากเลย
  • ความสามารถในการควบคุมสิ่งต่างๆ ในโลกจะมีประโยชน์อะไรขึ้นมาเล่า ถ้ายังไม่สามารถควบคุมใจตนเอง
  • รู้เรื่องตัวเราดีกว่าไปรู้เรื่องคนอื่น รู้เรื่องจิตเราดีกว่าไปรู้เรื่องจิตคนอื่น
  • สอนตัวเองดีกว่าสอนผู้อื่น ฝึกตัวเองดีกว่าฝึกผู้อื่น ควบคุมตัวเองดีกว่าควบคุมผู้อื่น ปราบตัวเองดีกว่าปราบผู้อื่น ชนะตัวเองดีกว่าชนะผู้อื่น
  • อย่ายึดมั่นอะไรเป็นจริงเป็นจัง เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรจริงจัง
  • สักแต่ว่าดูมัน เกิดเกิด ดับดับ
  • ความรู้สึกที่ว่ามีตัวกูของกู มันฝืนธรรมชาติ
  • ธรรมชาติของโลกคือการยึดถือเอาไว้ไม่ได้
  • ปล่อยได้เมื่อไหร่ก็หมดทุกข์เมื่อนั้น
  • ขอบพระคุณทุกข์ ที่มาสอนให้เราเจียมตัวเจียมตนและไม่ประมาท
  • กายและป่าช้า เป็นเนื้อคู่ของกันและกัน โดยไม่มีใครที่จะมากีดกันบุพเพสันนิวาสของทั้งสองได้เลย
  • การกำเนิดคือการจับจองป่าช้า
  • สวัสดีท่านนักจับจองป่าช้าผู้ไม่เห็นโทษของสังสารวัฏทั้งหลาย ท่านชอบใจชนิดฝัง ชนิดเผา หรือชนิดปล่อยไว้ให้เป็นทานแก่หมู่หนอน สุนัข และแร้งกาทั้งหลายเล่า
  • หนีเท่าไหร่ก็ไม่พ้นหรอก ความตายน่ะ เจ้าโง่เอ๋ย
  • ไม่มีใครที่จะบริสุทธิ์หมดจดประดุจผ้าขาวที่ไร้รอยด่าง การมีข้อบกพร่องเป็นธรรมชาติธรรมดาของคน
  • ราคะเกิดเพราะส่งจิตออกนอก โทสะเกิดเพราะส่งจิตออกนอก โมหะคือตัวทำให้ส่งจิตออกนอก วิชชาและวิมุติ คือ จิตเห็นจิต จิตแจ้งจิต
  • บรรยากาศแห่งการบรรลุธรรม คือ ไม่วุ่นวายไปกับความวุ่นวาย ไม่เดือดร้อนไปกับความเดือดร้อน และไม่ทุกข์ไปกับความทุกข์
  • อยู่ที่นี่ ไม่หนี ไม่สู้ นั่นแหละคือตัวรู้แจ้งเห็นจริง
  • พระยามัจจุราช ได้มาจับจองพื้นที่อยู่ในทุกอณูของอัตภาพนี้ มาตั้งแต่การตั้งขึ้นของความเกิดแล้ว
  • เรากำลังต่อสู้กับความตายที่รู้ผลลัพท์มาตั้งนานแล้วว่าต้องแพ้พันเปอร์เซนต์
  • ทุกอณูของชีวิต ก็คือ ความตาย
  • ทิศทางแห่งการก้าวเดินของทุกชีวิตคือการเดินทางไปสู่ป่าช้า
  • ความสะอาดคือบ่อเกิดแห่งความสกปรกโสโครก ความฉลาดคือบ่อเกิดแห่งความโง่เขลางมงาย
  • ห่วงอะไรไม่ห่วง ดันไปห่วงขันธ์ ๕
  • ตัวหิวกับตัวลุ่มหลงเป็นตัวเดียวกัน ตัวอยากกับตัวยึดเป็นตัวเดียวกัน
  • ตัวรังเกียจกับตัวต้องการเป็นตัวเดียวกัน ตัววิ่งหนีกับตัวเข้าหาเป็นตัวเดียวกัน
  • เพราะเราต้องการจะหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการไปกับเราจึงหาได้ยาก
  • เพราะสัตว์โลกยินดีในทุกข์ จึงพ้นทุกข์ไปไม่ได้ เพราะสัตว์โลกเทิดทูนบูชาทุกข์ จึงพ้นทุกข์ไปไม่ได้
  • สัตว์โลกทั้งหลาย ช่างหิวกระหายอยากในทุกข์เสียนี่กระไร
  • ทางดับทุกข์ของผู้ยินดีในทุกข์ จักมีมาแต่ที่ไหนเล่า ทางดับทุกข์ของผู้ยินดีในขันธ์ ๕ จักมีมาแต่ที่ไหนเล่า
  • สิทธิพิเศษทำให้เราอ่อนแอ และเห็นแก่ได้
  • รู้ได้ จึงละได้ ละได้ จึงรู้ได้ ถ้ารู้แล้วยังไม่ละก็แสดงว่ายังไม่รู้ ถ้าละแล้วยังไม่รู้ก็แสดงว่ายังไม่ละ
  • ถ้าเห็นโทษแล้วแต่ยังละไม่ได้ ก็แสดงว่ายังไม่เห็นโทษ
  • ต้องปล่อยวางให้หมดนั่นแหละ จึงถึงความสวัสดี ยึดเอาไว้นิดเดียวก็ต้องเดือดร้อนเต็มที่
  • สาธุ โข บรรพชา หาคนอื่นก็ไม่เจอสักที หาตนเองดีกว่า บรรพชา คือ การเข้าหาตนเอง บรรพชา คือ การดับทุกข์
  • การนำจิตให้มาหยุดในหยุด คือ การดับทุกข์อันประเสริฐ โดยไม่ต้องเปลืองปัญญา โดยไม่ต้องเปลืองสมอง
  • การดับทุกข์ต้องเป็นไปในทางสายเอก ทางเส้นเดียวของบุคคลผู้เดียว เป็นไปในที่แห่งเดียว กายเดียว ใจเดียว ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ไป ไม่มีญาติ ไม่มีมิตร ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีหญิง ไม่มีชาย ไม่มีคู่รัก ไม่มีคู่เกลียด นั่นแลคือการดับทุกข์ ที่ปราศจากความอาลัยในโลกทั้งปวง เป็นอนาลโยแห่งนิพพานธรรมโดยแท้จริง
  • ที่นำจิตเข้ามาสู่กาย ไม่ใช่เข้ามายึดกาย แต่เพื่อมาอาศัยเป็นฐานที่ตั้งแห่งสติและเพื่อมาเห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาของกายแล้วก็ปล่อยวางไป
  • มานะ ทิฏฐิ ถือเรา ถือเขา อวดดี อวดเก่ง อวดกล้า อวดดื้อ ถือดี ยกตัว ยกตน ยกหู ชูหาง เป็นผลพวงมาจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนทั้งสิ้น
  • โทษของผู้อื่นเท่าเมล็ดงา ปองติฉินนินทาไม่วายเว้น โทษของตนเองเท่าภูผา ปกปิดรักษาไม่ให้คนอื่นเห็น
  • จะค้นหาอมตะต้องค้นหาในความตาย
  • ต้องผ่านด่านแห่งความตายไป จึงเจอความไม่ตาย
  • กายนี้ยึดไว้ไม่ได้ ถือไว้ไม่ได้เด็ดขาด
  • คอยแบกความดี ความชั่ว ความเจริญ ความเสื่อม ของโลกเอาไว้ มันหนักไม๊วะ
  • พอกันทีกับการเก๊กท่าเพื่อให้ชาวโลกเคารพ ศรัทธา ยกย่อง สรรเสริญ บูชา
  • อุปสรรคที่เป็นเพียงมโนภาพนึกคิดที่คาดเดาว่าจะเกิดนั้น เราฝ่าฟันได้แล้ว แต่กับอุปสรรคที่เป็นของจริงน่ะ เราผ่านได้หรือยัง
  • รู้จากตำรา สู้รู้จากประสบการณ์ในเหตุการณ์จริงไม่ได้
  • อย่ามั่นใจว่าตนเองไม่กลัวตาย ตราบใดที่ยังไม่ได้เผชิญหน้ากับความตาย
  • จงฆ่ากิเลสให้ได้เสียก่อน ก่อนที่มันจะมาฆ่าเรา
  • อย่าทำร้ายตัวเองโดยการประคบประหงมกิเลส
  • ถ้าเราแสวงหาสถานที่ปลอดภัย จะต้องกลัวต่อสถานที่อันตราย
  • ถ้าเราแสวงหาสถานที่สงบ จะต้องกลัวต่อสถานที่วุ่นวาย
  • ถ้าเราแสวงหาสถานที่รื่นรมย์ จะต้องกลัวต่อสถานที่สยดสยอง
  • เราจะเกิดมาทุกข์ทรมานอีกหลายชาติ เพราะติดและอาลัยในรสอาหารหรือไม่
  • คิดถึงคนอื่นทำไม มากำหนดสภาพความเกิดดับของใจดีกว่า
  • คุยกับคนอื่นทำไม คุยกับสภาวะปัจจุบันอารมณ์ของกาย เวทนา จิต และธรรมดีกว่า
  • การหลงเพลินปรุงแต่งไปกับอดีต อนาคต เป็นยาพิษแห่งใจ ขนานร้ายแรงเหลือเกิน
  • อยู่อย่างไร้ค่าเหมือนก้อนหิน ท่อนไม้ ยังดีกว่าที่จะต้องไปแบกความหมกมุ่นกังวล ดีใจ เสียใจ ไปกับเรื่องของคนอื่น
  • อย่าเป็นห่วงกังวลหมกมุ่นกับการดำเนินไปตามกฎแห่งกรรมของสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง
  • ปัจจุบันอารมณ์มีค่ายิ่งกว่าทองพันชั่ง เพชรหมื่นกะรัต
  • การกราบไหว้เคารพบูชาของคนทั้งโลก ก็ไม่มีค่าแม้แต่เสี้ยวเดียวของการตั้งจิตอย่างมั่นคงแข็งแกร่งในปัจจุบันอารมณ์
  • ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง สามารถแก้ได้ด้วยการตั้งสติให้มั่นคง ในปัจจุบันอารมณ์ในฐานทั้ง ๔ ฐานใดฐานหนึ่ง คือ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
  • จิตที่สิ้นความอาลัยอาวรณ์ ในโลกียสมบัติทั้งปวง แล้วมาตั้งอย่างแน่วแน่ในปัจจุบันอารมณ์ คือ จิตหลุดพ้น
  • ดับทุกข์ได้ก็พอแล้ว ไม่ต้องบรรลุเป็นอะไรหรอก
  • ต้องเผชิญกับทุกข์สุดขีด ปัญญาตัวแท้จึงจะโผล่
  • ปัญญามาพร้อมกับความทุกข์ ไม่ใช่มาพร้อมความสบาย
  • การที่จะอยู่โดยปราศจากทุกข์ ต้องอยู่อย่างปราศจากตัวตนเท่านั้น
  • การหลงติดกับสุขเวทนาไม่ว่าจากอายตนะใดก็ตาม คือการฆ่าตัวตาย
  • มัจจุราช ย่อมตามฆ่าบุคคลผู้เพลิดเพลินหลงเสวยสุขเวทนา เหมือนพรานเบ็ดฆ่าปลาที่หลงเหยื่อ ฉะนั้น
  • ถ้าจะทิ้งกายให้ได้ ต้องทิ้งเวทนาให้ได้ด้วย และต้องทิ้งจิตให้ได้ด้วย
  • ข้าพเจ้าขอร้องไห้ ให้กับความคิดที่อยากจะให้คนมาเคารพยกย่องบูชา จนน้ำตาเป็นสายเลือด
  • การหวั่นไหวต่อโลกธรรม คือความฉิบหายวอดวายของสัตว์โลก
  • โครงการทั้งหลายของเราสามารถผิดพลาดล้มเหลวได้ทั้งสิ้น
  • นิสัยร่าเริง รื่นเริง ของเรา เกิดมาจากการไม่เห็นทุกข์เห็นโทษของโลกหรือเปล่า ?
  • โลกนี้ ย่อมสวยสดงดงามสำหรับคนโง่เสมอ
  • ลาภสักการะและการเคารพบูชาในตระกูลต่างๆ ปรากฏแก่เราประดุจหลุมถ่านเพลิง
  • สังขารที่เที่ยง ไม่มีในโลก
  • ความเข้าใจผิดนั่นเองที่ทำให้เราแสดงออกมาอย่างผิดๆ เราต้องแก้ความเข้าใจผิด เพื่อจะให้เลิกแสดงออกมาอย่างผิดๆ เข้าใจผิด ว่า กายเป็นของเรา เวทนาเป็นของเรา และจิตเป็นของเรา
  • ความยึดมั่นถือมั่นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเดือดร้อนทั้งปวง
  • จะเป็นกำไรชีวิตมากเหลือเกิน ถ้าหากจะมีเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม ที่จะมาทำให้เรารู้ว่า ตัวเองยังไม่เก่งจริง ตัวเองยังไม่ดีจริง
  • สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ การหลงว่าสังขารที่แสนทุกข์นั้นเป็นสุข
  • อารมณ์รักที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ใด คือ ปริมาณที่บ่งบอกออกมา ถึงความอ่อนแอของจิต ความหิวโหยของจิต ความไม่เป็นตัวของตัวเองของจิต และความพึ่งตัวเองไม่ได้ของจิต
  • ขอบพระคุณมารที่มาช่วยให้เราได้ธรรมะ
  • อย่าให้คะแนนคนจากรูปร่างหน้าตา
  • สำหรับผู้ที่บรรลุธรรมที่แท้จริง จะไม่มีความรู้สึกอยากจะบอกให้ใครรู้ว่าตัวเองบรรลุธรรมเลย
  • เมื่อถอนอุปาทานได้หมดก็อยู่อย่างไม่ต้องห่วงอะไร
  • ยึดเอาไว้แล้วมันเป็นไปได้อย่างที่ยึดซะเมื่อไหร่
  • ความรักตัดง่าย ความเสียดายตัดยาก
  • อุปาทานคือความยึดว่าเป็นตัวกูของกู ตัณหาคือความเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการสรรพสิ่งทั้งหลาย ๓ ประการ คือ อยากให้มา อยากให้อยู่ และอยากให้ไป ตัณหาและอุปาทานทั้ง ๒ นี้ ต่างก็เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
  • อยากละอุปาทาน ต้องละตัณหาให้ได้ อยากละตัณหาต้องละอุปาทานให้ได้
  • จะละตัณหา ต้องทำทุกสิ่งตามหน้าที่ ไม่ทำด้วยความอยาก
  • ตัณหา ๓ สรุปลงเหลือ ความยินดีและยินร้าย
  • กายนี้ไม่ใช่ของเรา ความเจริญและความเสื่อมของกายนี้ เราไม่รับผิดชอบ
  • ความผิดพลาดทั้งหมดอยู่ตรงที่ การดำรงจิตอยู่ในโลกอย่างมีอุปาทานนั่นเอง
  • ความคิดที่จะเสวยโลกเกิดจากความคิดที่ว่ามีตัวกูของกู
  • และแล้วเราก็เข้าใจผิดคิดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีอยู่จริง
  • ความเดือดร้อนของเราเกิดมาจากชอบทำอะไรตามใจตัวเอง
  • สิ่งใดร้อน สิ่งนั้นยึดไว้ไม่ได้ สิ่งใดทุกข์ สิ่งนั้นยึดไว้ไม่ได้
  • สถานที่ใดหรือเวลาใดที่อยู่อย่างไม่ได้สัมผัสทุกข์ จงระวังให้ดีว่าความประมาทจะขึ้นขี่คอโดยไม่รู้ตัว
  • จะรู้ว่าใจเราแข็งแกร่งหรือไม่ ต้องดูในสถานการณ์ที่ผจญกับความทุกข์ ไม่ใช่สถานการณ์ที่เสวยความสบาย
  • ขณะที่เผชิญทุกข์นั่นเอง ที่เราจะรู้ได้ว่าเราประมาทในเรื่องอะไรมาบ้างในกาลก่อน
  • จงระวังตนเองจะเป็นคนแข็งกร้าวโดยปราศจากความแข็งแกร่ง
  • เธอไม่ผิดหรอก แต่วิธีที่เธอใช้น่ะมันผิด
  • ความทุกข์เป็นสัญญาณบอกล่วงหน้า ว่าภาวนามยปัญญาจะเกิด
  • จิตที่คิดแสวงหาลาภสักการะ ยศถาบรรดาศักดิ์ การยกย่องสรรเสริญจากฝูงชน เป็นจิตที่นำไปสู่ความฉิบหาย
  • ความประเสริฐอยู่ที่ความบริสุทธิ์ของใจ ไม่ใช่อยู่ที่การยอมรับของสังคม
  • ถอนความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน ถอนความคิดอยากให้มา อยากให้อยู่ อยากให้ไป แล้วตั้งจิตเป็นกลางวางเฉยนิ่งอยู่
  • เมื่อถอนอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นในจิตออกเสียได้ ก็ไม่ต้องไปสนใจแล้วว่าจิตจะบรรลุธรรมหรือไม่ บรรลุธรรมเมื่อไหร่
  • สันติสุขจะหาได้จากใจที่เป็นกลางเท่านั้น
  • และแล้ว ดอกรักก็กลายเป็นดอกโศก
  • ในฐานะที่ไม่มีใครโอ๋ ไม่มีใครช่วยเหลือ ไม่มีใครประคบประหงม ไม่มีใครช่วยปกป้อง ไม่มีใครคอยคุ้มภัย ไม่มีใครคอยอำนวยความสะดวกนั่นแล จึงเป็นโอกาสที่สามารถจะสร้างและบำเพ็ญบารมีขั้นสูงได้
  • เมื่อผ่านสภาวการณ์ที่โหดร้าย จะได้จิตใจที่เข้มแข็งมา
  • ชีวิตคือการเล่นขายของที่โง่เขลาที่สุด เนื่องจากว่าผู้ที่เข้ามาเล่น กลับหลงว่าเป็นเรื่องจริงเรื่องจัง
  • การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ต้องหนีความเดือดร้อน แต่ในขณะที่ความเดือดร้อนบังเกิดขึ้น แล้วเราตั้งจิตให้มั่นคงปล่อยวางได้ นั่นแหละเรียกว่า การบรรลุธรรม
  • ความทุกข์เดือดร้อนทุกชนิดของโลก ถือว่าเป็นครูที่แสนดีที่มาสอนและมาเตือนให้ปล่อยวาง
  • เมื่อสติออกนอกฐาน ญาณก็ตก กิเลสก็เกิด
  • ความสุขที่ต้องอาศัยคนอื่น เป็นความสุขของทาสหรือขี้ข้า
  • จิตที่ไร้อุปาทานคือความมีขอบเขตที่ไร้ขอบเขต
  • ถอนตัณหาออกเสียกระทั่งราก แล้วอยู่อย่างไร้ปัญหาไปตราบจนกระทั่งถึงวันตาย
  • ความไร้ตัวไร้ตน คือ ความที่ทั้งไม่สะอาดและไม่แปดเปื้อน
  • ถ้ายังสะอาดอยู่ ก็ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้ายังแปดเปื้อนอยู่ ก็ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์
  • สิ่งที่ปิดกั้นขวางทางนิพพานของสัตว์ทั้งหลายอย่างไม่เห็นช่องว่าง คือ ความอวดดื้อ และถือทิฏฐิมานะ
  • ความเข้าใจที่ว่า มีตัวเราตั้งอยู่ตลอดเวลาตลอดกาล เป็นความเห็นผิด
  • ในเมื่อไม่มีตัวเราตั้งอยู่ตลอดเวลา แล้วจิตจะต้องไปแบก ไปหาบ ไปคอน ไปหมกมุ่นกังวล ในสิ่งใดทำไมเล่า
  • สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ชั่วขณะแห่งการผัสสะของอารมณ์เท่านั้น
  • เมื่อตัวแสดงไม่มีเสียแล้ว ละครทั้งเรื่องก็กลายเป็นโมฆะไป เมื่อตัวเราและตัวเขากลายเป็นอนัตตาไปเสียแล้ว เรื่องราวทั้งมวลในโลกจะมีได้อย่างไร
  • ตัวเราก็ไม่มี ตัวเขาก็ไม่มี แล้วจะรักใคร แล้วจะโกรธใคร
  • การบรรลุธรรมไม่ใช่เรื่องของกาย แต่เป็นเรื่องของจิตที่ไปยึดกาย การบรรลุธรรมไม่ใช่เรื่องของจิต แต่เป็นเรื่องของจิตที่ไปยึดจิต
  • ของอะไรก็ตามที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ต้องไม่ใช่ของเราแน่ จิตเป็นของที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งจากภายนอกบ้าง จากภายในบ้าง ฉะนั้นจิตต้องไม่ใช่ของเราแน่ ฉะนั้นการที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในจิตอันไม่ใช่ของเรานั้น ไม่เป็นการสมควรเลย
  • อะไรหนอที่จะเปลี่ยนแปลงได้ไวเท่ากับจิต ฉะนั้นอะไรหนอที่จะไม่น่ายึดมั่นถือมั่นเท่ากับจิต
  • จิตเป็นสิ่งที่ต้องรักษา แต่ก็ต้องรักษาอย่างปล่อยวาง คือรักษาอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจิตเป็นเรา เราเป็นจิต
  • อย่าหิวกระหายในการเลื่อนชั้นของจิต
  • เพราะสิ่งทั้งหลายมันไม่แน่นอน จึงยึดเอาไว้ไม่ได้
  • อุปาทานนั่นเองที่เข้ามาตีกรอบไว้ ไม่ให้จิตมีอิสระ
  • ถ้าคิดจะหาความสุขจากสังขารละก้อ งี่เง่าสิ้นดี
  • ธรรมชาติของสังขารทั้งปวงนั้นมันเป็นของว่างอยู่แล้ว แต่ว่าอุปาทานนั่นเองที่เข้าไปยึดไว้ บังตาไว้ ไม่ให้มันว่าง
  • ธรรมชาติเค้าไม่ยอมให้ยึด ไปยึดทำไม
  • ไม่เที่ยงก็เท่านั้น เดือดร้อนก็เท่านั้น บังคับไม่ได้ก็เท่านั้น เจ้าสังขารเอ๋ย
  • เมื่อเข้าไปค้นในกายในใจด้วยปัญญาญาณ ก็เจอแต่ทุกข์ทั้งสิ้น
  • เวลาเบื่อโลกไม่ใช่ต้องหนีโลก แต่ให้ถอนความยึดมั่นถือมั่นเป็นเราเป็นเขาออกจากโลกเสีย
  • ทุกข์ที่ตรงไหน ให้ถอนความยึดมั่นถือมั่นออกจากตรงนั้นก่อน ถอนให้หมด ถอนให้ไม่มีเหลือ
  • ถอนสมมุติทั้งมวลออกให้หมด แล้วอยู่อย่างไร้ตัวกูของกู
  • ของในปัจจุบันเท่านั้นที่มีอยู่ ของในอดีตและของในอนาคตไม่มี
  • รูปธรรมก็สักแต่ว่าเป็นรูปธรรม นามธรรมก็สักแต่ว่าเป็นนามธรรม ไม่มีตัวไม่มีตน
  • อาการยึดมั่นถือมั่นของจิต เกิดจากอำนาจของโมหะ ความไม่รู้
  • เมื่อญาณปัญญาเข้าไปเจาะลึกในขันธ์ ๕ รูปธรรมและนามธรรมก็มีค่าเท่ากัน คือ ไร้ค่าเท่ากัน
  • ทอดอาลัยในกายและจิตอันนี้เสียทีได้แล้ว
  • ถอนอุปาทานออกให้หมด แล้วขันธ์ ๕ นี้มันจะเจริญหรือเสื่อม ได้ดีหรือได้ชั่ว ก็ช่างมันแล้ว
  • ไปบีบเค้นของไร้สาระให้เป็นสาระแก่นสาร มันจะได้หรือ ?
  • ความทุกข์เข็ญ คือ มิตรแท้ของผู้ปฏิบัติธรรม
  • วางอุเบกขาเป็นไม๊ วางอุเบกขาเป็นไม๊ วางอุเบกขาต่อโลกเป็นไม๊
  • เรายังให้คุณค่าความหมายความสำคัญต่อกายมนุษย์อยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นทุกข์อยู่ตราบนั้น
  • นึกถึงความเจริญรุ่งเรืองของเราแล้วจิตมันรู้สึกเฉยๆ นึกถึงความเสื่อมตกอับของเราแล้วจิตมันรู้สึกเฉยๆ
  • อุเบกขาที่สมบูรณ์ด้วยสตินั่นจึงเป็นอุเบกขาแท้
  • การถอนอุปาทาน จะถอนได้ก็ในขณะที่สติเต็มเปี่ยมเท่านั้น
  • การบรรลุธรรม ไม่ต้องให้ใครมายอมรับและรับรู้ด้วย
  • คิดกำไร ขาดทุน รายได้ รายเสีย มากๆ ทำให้เป็นบ้าได้
  • รู้มากถ้าหากละไม่เป็น ก็ยิ่งบ้ามากขึ้นทุกที
  • จิตที่มีอุปาทานทรงอยู่ในโลกเพื่อรับความเดือดร้อนแท้ ๆ
  • ต้องละอวิชชาให้สิ้นนั่นแล มานะจึงจะขาดลอย
  • คนเรามันพลาดกันได้ แต่ในเมื่อพลาดแล้วก็ขอให้ฉลาดขึ้นกว่าเดิม ไม่งั้นก็จะไม่คุ้มค่าที่พลาด
  • การเข้าไปเสพเสวยรสของโลกคือตัวกาม
  • ความทุกข์ดัดนิสัยคนได้ดีเหลือเกิน
  • การดับทุกข์มีวิธีเดียว คือ เลิกยึดมั่นถือมั่นในทุกข์
  • ปัญญาหมาจนตรอกนั่นแหละ คือ ปัญญาละกิเลส
  • ถามตัวเองดูซิว่า บังคับได้หรือไม่
  • กิเลสทุกตัวมีรากเหง้าอยู่ที่อวิชชา ตราบใดที่ยังไม่ถอนอวิชชาจนรากขาดสะบั้น ตราบนั้นกิเลสทุกตัวก็จะยังไม่หายสาบสูญไปได้อย่างสิ้นเชิง
  • ขอนิยามความหมายของคำว่า กามราคสังโยชน์ และปฏิฆสังโยชน์ ที่พระอนาคามีละ ว่าดังนี้ คือ กามราคสังโยชน์ คือ ความกระตือรือร้นในการยินดี ปฏิฆสังโยชน์ คือ ความกระตือรือร้นในการยินร้าย บุคคลที่เป็นพระอนาคามี ยังมีความยินดีและยินร้ายอยู่ แต่ไม่มีความกระตือรือร้นในการยินดี และไม่มีความกระตือรือร้นในการยินร้าย
  • เราขอมีชีวิตอยู่เพื่อเทิดทูนบูชาความสละ
  • ความสันโดษมักน้อยคือมิตรแท้ของเรา
  • เกี่ยวกับเรื่องธรรมะนั้น เราไม่สามารถที่จะเป็นครูของใครได้ เป็นได้แค่ผู้แนะนำเท่านั้น ครูของคนทั้งหลายก็คือความทุกข์ที่เขาเผชิญอยู่นั่นเอง
  • ชีวิต คือ อะไร ? ชีวิตก็คือสิ่งที่เริ่มต้นด้วยความเกิด และปิดท้ายด้วยความตายยังไงล่ะ
  • … และแล้ว เขาก็กลับคืนสู่ป่าตามเดิม
  • การเจริญสติกับปัจจุบันอารมณ์ให้มากๆ คือทักษะแห่งการดับทุกข์โดยตรง
  • จิตที่ทรงอยู่ด้วยอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อยู่โดยปกติ จะถูกธรรมชาติบีบบังคับให้เข้าสู่นิพพานเป็นเที่ยงแท้
  • บุคคลที่เข้มแข็ง คือ บุคคลผู้อยู่คนเดียว บุคคลที่มีคู่และต้องการคู่ เป็นบุคคลอ่อนแอทั้งสิ้น
  • นะโม ตัสสะ ตัสสะ ตัด ใครผูกใครมัด ตัดด้วย นะโม ตัสสะ … ตัสสะ
  • จิต คือ สภาวะธรรมที่สมบูรณ์อยู่ในตัวของตัวเองแล้ว คือว่าไม่ต้องรักใครก็สามารถดำรงอยู่ได้ และไม่ต้องให้ใครมารักก็สามารถดำรงอยู่ได้
  • ต้องทำตัวให้โดดเด่นนั้น เป็นเงื่อนไขของธรรมะ หรือ ของกิเลส
  • เมื่อหมดตัวหมดตนก็เหลือแต่อุเบกขา และสติ
  • ศีลของเราคือ ‘จาคะ’
  • การจะถอนอุปาทานในบุญนั้น สามารถสร้างบุญได้ แต่ให้ถอนจิตจากการอิงอาศัยสุขโสมนัสอันเนื่องมาจากการสร้างบุญ
  • อย่าหวังอะไรจากใครอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าคนนั้นจะใกล้ชิดสนิทสนมแค่ไหน จนกระทั่งแม้แต่ตัวเองก็หวังอะไรไม่ได้
  • เราหวังอะไรจากสิ่งใดๆ ในปริมาณเท่าใด จะต้องทุกข์เดือดร้อนจากความผิดหวังโดยประมาณเท่านั้น ยิ่งหวังในปริมาณมาก ยิ่งทุกข์เดือดร้อนจากความผิดหวังเป็นปริมาณมากเป็นเงาตามตัว
  • ผลแห่งความสำเร็จทั้งหลาย ไม่ได้เป็นไปตามใจที่หวัง ฉะนั้น ผู้ใดหวังมากย่อมเดือดร้อนมาก
  • ทำทุกสิ่งไปตามหน้าที่แล้วอย่าหวังอะไรให้มาก
  • ตัวหวังกับตัวยึดมั่นถือมั่นก็อันเดียวกันเปี๊ยะเลย
  • ระหว่างคนต่อคน ถ้าหากมีน้ำมิตรซึ่งกันและกันแล้ว อย่าไปดูเพียงมารยาทที่แสดงต่อกันว่าดีหรือเปล่า จงดูเข้าไปถึงว่า มีความจริงใจต่อกันหรือเปล่า หวังประโยชน์เกื้อกูลต่อฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า หวังความเจริญรุ่งเรืองของฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า ขวนขวายเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า
  • อย่าให้คะแนนมารยาท มากกว่าความจริงใจ
  • อย่าให้คะแนนวาจาอ่อนหวาน มากกว่าวาจายังประโยชน์
  • ขอให้น้ำตาแต่ละหยดที่หลั่งไหล จงเป็นน้ำตาแห่งความเด็ดเดี่ยวและเอาจริงเถิด อย่าเป็นน้ำตาแห่งความอ่อนแอและท้อแท้เลย
  • จิตที่ไม่ต้องรักใคร และไม่ต้องการให้ใครมารัก เป็นสุขยิ่งกว่าจิตที่สมหวังในรัก หลายพันเท่านัก
  • ความรักกับความเจ็บปวดเดือดร้อน ไม่ได้มีความหมายแตกต่างกันเลย
  • การงานที่มีสาระที่แท้จริงก็คือ การงานที่ทำเพื่อเป็นปัจจัยแห่งการพ้นโลกเท่านั้น
  • ชีวิตที่มีสาระคือชีวิตที่ไม่มีความอาลัยในชีวิต
  • กายก็มีของมันอยู่อย่างนั้น จิตก็มีของมันอยู่อย่างนั้น แต่ความรู้สึกว่าเรามันไม่มี
  • ความสิ้นอุปาทาน คือ มีจิต มีกาย แต่ไร้เรา
  • เมื่อจิตไม่ต้องการอะไร จึงได้ทุกสิ่ง
  • เมื่อจิตเข้าใจสภาพความจริงอย่างถ่องแท้ แล้วก็ปล่อยให้กระแสทั้งหลายไหลไปอย่างเดิม อยู่อย่างเดิม เป็นอย่างเดิม
  • ที่เรียกว่า บรรลุธรรม นั้น ความจริงไม่บรรลุอะไรเลย
  • เมื่อถอนเราออกเสียได้ ปัจจุบันก็กลายเป็นคำตอบ ไม่ต้องแสวงหาคำตอบจากอดีต และไม่ต้องแสวงหาคำตอบจากอนาคต ปัจจุบันกลายเป็นจุดหมายปลายทางอยู่ในตัวมันตลอดทุกขณะจิต
  • หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เมื่อเลิกหาจึงเจอ เมื่อเจอแล้วก็ไม่รู้หาทำไม ไม่รู้เจอทำไม
  • เมื่อรู้รอบจนจบกระบวนการแล้ว สติและปัญญามันก็ทำงานของมันเองอย่างไม่มีติดขัด ขัดข้องในประการใดเลย
  • พวงหรีดเตือนจิตได้ดีกว่าพวงมาลัย
  • ปริมาณความเข้มข้นแห่งความต้องการเสพโสมนัสเวทนาก็คือ ปริมาณความเข้มข้นแห่งความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน และก็คือปริมาณความเข้มข้นแห่งความทุกข์เดือดร้อน
  • ปริมาณความเข้มข้นของอุปาทานดูได้จากปริมาณความเข้มข้นของตัณหา ปริมาณความเข้มข้นของตัณหาดูได้จากปริมาณความเข้มข้นของอุปาทาน
  • ความวางเฉยต่อทุกข์ได้นั่นแหละ คือความดับทุกข์
  • การหนีทุกข์ไม่ใช่การดับทุกข์ แต่เป็นการทวีคูณให้แก่ทุกข์
  • การรอคอยสิ่งใดก็ตาม เป็นการกระทำของคนโง่ จิตที่หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงจะไม่รอคอยต่อสิ่งใดทั้งสิ้น
  • จิตที่ตกเป็นทาส จะมีความเปรื่องปราชญ์มาจากไหน
  • จิตที่บ้าอำนาจจะไม่ตกเป็นทาสได้อย่างไร
  • ความเฉยชาต่อปีติ และโสมนัสเวทนา คือแง่มุมหนึ่งของความดับทุกข์
  • จะดับทุกข์ได้ต้องที่ใจที่ถึงพร้อมเต็มเปี่ยมด้วยสติ และอุเบกขาเท่านั้น
  • สติที่เป็นไปในกาย คือ กุญแจดอกสำคัญสำหรับไขปัญหาที่แก้ไขได้ยาก นานับประการเลยทีเดียว
  • ผู้ที่บรรลุถึง วิริยะและขันตินั่นแล จึงจะบรรลุแล้วเห็นเอง
  • การปล่อยวางที่ไม่ถึงพร้อมด้วยสติ ไม่ใช่การปล่อยวาง การบรรลุธรรมที่ไม่ถึงพร้อมด้วยสติ ไม่ใช่การบรรลุธรรม
  • เจอคนรัก มิสู้เจอคนไร้รัก
  • … และแล้ว ก็ไม่รู้จะยึดเอาไว้ทำไม
  • กายนี้ไม่ใช่ของเรา และกายที่เป็นของเราก็ไม่มีด้วย ใจนี้ไม่ใช่ของเรา และใจที่เป็นของเราก็ไม่มีด้วย
  • ผู้ยิ่งใหญ่ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ได้อย่างหน้าชื่น
  • การยึดมั่นถือมั่นเป็นการสวนทางกับความจริง เพราะว่าสรรพสิ่งล้วนว่างเปล่า
  • จะขัดแย้งกับอะไรก็ขัดแย้งไปเถอะ แต่ถ้าหากไปขัดแย้งกับความจริงเข้าละก้อ จะมีแต่การขาดทุนฝ่ายเดียว
  • โลกแห่งการปรุงแต่ง น่ากลัวที่สุด
  • ความหลุดพ้นเป็นสิ่งไร้ภาษา
  • กิจกรรมแห่งความไม่ประมาท คือ การกำหนดหยั่งรู้ทุกข์เป็นนิจศีล
  • ความทุกข์คือยาขม สำหรับแก้โรคประมาท
  • ความเจริญรุ่งเรืองในทางธรรม ก็ยังถูกกิเลสนำเอามาเป็นเหยื่อล่อหลอก ให้ผู้ปฏิบัติธรรมลุ่มหลงยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน เป็นดีเป็นวิเศษเหนือมนุษย์จนได้
  • ผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตัวโดยปริมาณ ยิ่งจะถูกพญามารหลอกให้หลงทางได้ง่ายดายเหลือเกิน
ธรรมภาษิตเหล่านี้ผุดขึ้นมาในจิตขณะปฏิบัติธรรม ขอให้ถือว่า ธรรมเหล่านี้เป็นสมบัติกลางของธรรมชาติ ไม่ใช่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้บันทึกเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่สงวนลิขสิทธิ์
สถานที่บันทึก แม่ฮ่องสอน – เชียงใหม่ (๒๕๓๗)
คุณความดีของบันทึกชุดนี้ ขอถวายบูชาพระคุณของท่านพระครูภาวนานุศาสก์ (แป้น ธมฺมธโร) วัดไทรงาม อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ผู้มีเมตตาต่อศิษยานุศิษย์อย่างหาประมาณมิได้

06: ไม่สุขล้น ไม่จ่อมจมในทุกข์

ไม่สุขล้น ไม่จ่อมจมในทุกข์

ไม่ต้องย้อนคิดในสิ่งที่ผ่านมา ไม่คาดหวังในอนาคต จงพิจารณาในปัจจุบัน
สิ่งที่เคยมี เคยเห็น เคยเป็นในอดีต (การงาน การเงิน ชื่อเสียง ฯลฯ) ก็ให้มันผ่านไป เพราะแก้ไขหรือเรียกร้องมันมาเหมือนเดิมไม่ได้

สิ่งที่จะเกิดขึ้น จะเห็น จะเป็น ในอนาคต ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามวาระ อะไรจะเกิด จะเห็น จะเป็น ก็ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ

ปัจจุบัน จงมีสติระลึกได้ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น พยายามละวางในสิ่งที่เราเคยมี เคยเห็น เคยเป็นมาในอดีต อย่าย้อนไปคิดมัน การละวางคือการลดมานะทิฏฐิในเบื้องต้น ให้ระลึกเสมอว่า เราเคยเกิด เคยเจ็บ เคยปวด เคยสุข เคยทุกข์ เคยฆ่าเขา เคยถูกเขาฆ่า เคยตกนรก เคยขึ้นสวรรค์ เคยบวช เคยสึก เคยเป็นสัตว์ เคยเป็นจิปาถะ นับไม่ถ้วนเรื่องชาติภพ.... หากมันจะเกิดขึ้นอีกในชาตินี้ ก็ไม่เห็นจะไปทุกข์อะไรกับมันอีก มันอยากเป็นก็ให้มันเป็น มันจะตายก็ให้มันตาย เพราะตายมาหลายภพแล้ว อย่างไรมันก็ต้องตาย... นี่เป็นอุบายให้เราลืมความทุกข์เศร้าหมองได้ในเบื้องต้น(ผมผ่านเรื่องนี้มาแล้ว)... ส่วนการจะปล่อยวางในระดับสูงขึ้น(ระดับกลาง) ก็ต้องฝึกจิตให้ละวางคือ อุเบกขาให้เป็นนิจศีล คือ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบทั้งสุขและทุกข์ ก็ให้รู้เร็ว และละวางเร็ว ภายในหนึ่งวัน หนึ่งชั่วโมง สามสิบนาที สิบนาที ห้านาที หนึ่งนาที สามสิบวินาที หนึ่งวินาที ลงไปตามลำดับ... นี่คือการละวางในระดับกลาง ต้องฝึกจิตระงับความรัก โลภ โกรธ หลง ให้เป็นปรกติ (ผมกำลังเข้าสู่ช่วงการปฏิบัตินี้)... ขั้นสูงสุดขึ้นไปอีกคือ การรู้ในสิ่งที่มี ที่เห็น ที่เป็น ที่มากระทบอายตนะทั้งหมด แล้ววางมันลงทันที ไม่มีสิ่งใดไปเกาะเกี่ยวในสภาวะจิตใจได้เลยแม้แต่น้อย คือสภาวะสุญญตาในขั้นปฏิบัติสูงสุด อันเป็นหนทางพระนิพพานนั่นเอง

พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย แม้ท่านจะตัดกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว แต่กายสังขารท่านยังดำรงอยู่ ท่านก็ยังต้องใช้สิ่งสมมุติหรือแสดงรูปสมมุติในโลกของสมมุติเช่นเดียวกันกับพวกเรา เพียงแต่ท่านไม่ได้ยึดถือเอามันอีกแล้ว ปัจจัยทั้งสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ก็ยังต้องใช้อยู่ แต่ใช้เพื่อการดำรงธาตุขันธ์ให้อยู่ในโลกสมมุติได้นั่นเอง...เมื่อท่านนิพพาน(กายแตกดับลงไป) ก็ไม่เหลืออะไรเป็นสิ่งสมมุติอีกต่อไป

นักปฏิบัติจะต้อง ไม่สุขจนล้น ไม่จ่อมจมในทุกข์ ความว่างความกลาง คือ หนทางความหลุดพ้นครับ

ดร.นนต์

05: ข้อคิดนักปฏิบัติ

เป็นธรรมเนียมและเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับนักปฏิบัติธรรมที่มีคู่ครองในขณะเป็นฆราวาสก็คือ เมื่อเราเริ่มปฏิบัติธรรมในช่วงแรกๆ ผู้ที่จะเข้ามาทดสอบอารมณ์หรือกำลังจิตของเราก็คือ คู่ครองของเรา (สามีหรือภรรยารวมถึงลูก) จะเข้ามาทดสอบด้วยวิธีการต่างๆ เป็นเรื่องตรงข้ามหรือขัดแย้งกับการกระทำของเราทันที ให้ค่อยๆสังเกตตัวเองนะครับ เช่น เรื่องเงิน การดูแลครอบครัว การพูดกระทบกระทั่ง(มากสุด) บางครั้งพูดขึ้นมาลอยๆโดยไม่มีสาเหตุ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณเธอทั้งหลายล้วนมีจิตใจงาม เมื่อถึงระยะหนึ่งคุณเธอจะสารภาพออกมาว่า ไม่ได้ตั้งใจจะกระทำหรอกรู้หมดว่าสิ่งใดดีไม่ดี แต่อารมณ์และความรู้สึกมันพาไป ด่านนี้จงใช้พรหมวิหารสี่ให้มากที่สุด ดังนั้น หากนักปฏิบัติธรรมได้ก้าวพ้นจุดนี้ (จุดเบสิกที่สุด) จะไปพบกับด่านต่อไปคือ ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดจากวิบากกรรม จากเหตุคนรอบข้าง หรือโรคภัยต่างๆ มันจะร้อนดั่งไฟสุมอยู่ในอก สิ่งที่ไม่เคยคาดคิดก็บังเกิดขึ้น การเรียนรู้วิธีดับทุกข์ก็จะบังเกิดขึ้นตามไปด้วย (ถ้าไม่มีทุกข์ก็ย่อมไม่เห็นหนทางแห่งการปลดทุกข์ได้นั่นเอง) ด่านนี้ให้ใช้หลักไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)และพรหมวิหารสี่เช่นกัน ด่านต่อไปคือ การถูกทดสอบจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเราเข้าสู่สมาธิชั้นสูงหรือการผ่านด่านที่สองได้แล้ว ด่านนี้จะเป็นการวัดอารมณ์ว่าจะอยู่หรือจะไป จะทางโลกหรือทางธรรมกันแน่ (คาดว่าปีหน้าผมจะเผชิญด่านนี้ตามคำทำนาย) และด่านอื่นๆใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ท่านทั้งหลาย จงนำเอาสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เห็น สิ่งที่เป็นในขณะปัจจุบัน ขึ้นมาพิจารณา เรียนรู้มัน เมื่อรู้แล้วก็ละวางมันลงเสีย ปลดเรื่องนี้ได้ จะมีเรื่องใหม่เข้ามา ก็ใช้วิธีเดียวกันนี้อีกจนเป็นปรกตินิสสัย(เป็นศีลวัตรปฏิบัติ) กระทบมา รู้เร็ว วางเร็ว ถ้าทำได้ก็จะตรงดิ่งเข้าสู่กระแสพระนิพพานในอนาคตได้อย่างไม่ต้องสงสัยครับ

ดร.นนต์

ปล. ภรรยาของเราคือคู่บุญและคู่กรรมที่ลงมาบำเพ็ญร่วมกัน อย่าได้ปรามาสเธอเชียวนะครับ เธออาจแซงทางโค้งก็ได้

04: การเตรียมตัวนั่งสมาธิ



โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ

วัดป่าบ้านค้อ ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี


๏ การเตรียมตัวนั่งสมาธิ

การเตรียมตัวนั่งสมาธิภาวนาทุกครั้ง เราต้องจัดสถานที่ที่เราจะนั่งสมาธิให้สะอาดเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดข้องกังวลภายในใจ เสร็จแล้วไหว้พระสวดมนต์จะย่อหรือพิศดารก็ตามความต้องการของเรา และแผ่เมตตาตนเมตตาสัตว์จบแล้ว ฆราวาสมีวิธีสมาทานศีล ๕ ต่อไป เพราะการสมาทานศีลเป็นอุบายวิธีที่จะรับรองความบริสุทธิ์ของตนในปัจจุบัน และเป็นอุบายเพื่อไม่ให้ใจได้มีความเศร้าหมองในการกระทำทางกาย วาจา ที่เป็นอดีตผ่านมาแล้ว และทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ปัจจุบันนี้เรามีศีลอันบริสุทธิ์แล้ว

ถึงหากเราพลั้งเผลอทำความชั่วทางกาย วาจา มาแล้วก็ตาม นั่นเป็นของอดีตที่ล่วงไปแล้ว เราอย่าไปคำนึงมาเป็นอารมณ์ ส่วนความดีที่เราบำเพ็ญมาแล้วมีการให้ทาน เคยได้รักษาศีล หรือเจริญเมตตาภาวนา หรือทำความดีในสิ่งใดใดก็ตาม นี้ให้เราหมั่นสำนึกบ่อยๆ เพื่อให้ใจเกิดความปีติยินดีและเป็นกำลังให้แก่ใจ เพื่อให้ติดต่อกับในปัจจุบันที่เราจะภาวนาอยู่ในขณะนี้

การสมาทานศีลด้วยเจตนาวิรัติ ให้ศีลขึ้นในตนเองขณะนี้ เพราะเราไม่มีเวลาและโอกาสอำนวยที่เราจะไปรับศีลจากพระได้ เราก็ต้องเจตนาวิรัติสมาทานศีลเอาด้วยตนเอง เพราะการเจตนาละเว้นจากความชั่วทางกายและความชั่วทางวาจานั้นแลเป็นตัวศีล

วิธีสมาทานศีล ๕ มีดังนี้

ให้ว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ครั้ง ต่อไปว่า

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ตติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ตติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
สุราเมระยะมัจชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

หากผู้ว่าคำบาลีไม่ได้ ให้นึกในใจทำเสียงเบาๆ ดังนี้

๑. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการฆ่าสัตว์ทุกชนิด
๒. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการลักเอาสิ่งของของผู้อื่น
๓. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการประพฤติผิดจากประเวณี
๔. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการกล่าวความไม่จริง
๕. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการดื่มสุราและยาเสพติดทุกชนิด

ทั้งนี้ เราต้องมีสัจจะ ความจริงใจในตัวเอง ศีลจึงจะตั้งอยู่ได้ สัจจะจะตั้งไว้อย่างไร ใจก็ต้องรักษาความจริงให้ได้


 
๏ วิธีนั่งสมาธิ วิธีนั่งสมาธิ วิธีที่ ๑

ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า พุท
ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจยาวๆ เอง นึกว่า โธ

ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า ธัม
ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจยาวๆ เอง นึกว่า โม

ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า สัง
ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจยาวๆ เอง นึกว่า โฆ

ให้กำหนดทำสัก ๓-๗ ครั้ง หรือมากกว่านี้ก็ได้ เพื่อเป็นอุบายให้พุทโธ ธัมโม สังโฆ มารวมกันที่ใจ ต่อไปให้กำหนดเพียงพุทโธคำเดียว ให้หายใจเป็นปกติตามที่เราหายใจอยู่ในท่าปัจจุบัน ให้มีสติกำกับคำบริกรรมและรู้เท่าทันกับลมหายใจ และให้ตั้งอยู่ในท่าเตรียมพร้อมอยู่สม่ำเสมอ อย่าเผลอตัว

ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า พุท
ให้ตั้งใจอย่างมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจยาวๆ เอง นึกว่า โธ

ในขณะใดที่เราไม่ได้ตั้งใจสูดลมหายใจเข้าเอง นึกว่า พุท แต่ลมหายใจได้ล่วงเข้าไปเสียก่อน ขณะนั้นให้รู้ตัวเองทันทีว่า ความตั้งใจเราขาด มีสติรู้ไม่ทัน หรือในขณะใดเราไม่ได้ตั้งใจปล่อยลมหายใจออกเอง พร้อมกับคำบริกรรมในขณะนั้น เราก็รู้ว่าเราเผลอสติและขาดความตั้งใจเช่นกัน ฉะนั้น จึงให้เราสูดลมหายใจเข้าเอง ให้ตั้งใจปล่อยลมหายใจออกเอง

เมี่อเราขาดความตั้งใจเมื่อไร การกำหนดดูลมหายใจก็เผลอตัวทันที และให้เราตั้งใจตั้งสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าพร้อมกับบริกรรมเอง และตั้งสติปล่อยลมหายใจออกเอง พร้อมทั้งคำบริกรรมจนกว่าความตั้งใจการตั้งสติมีความชำนาญ ถ้าชำนาญแล้ว สติกับผู้รู้และลมหายใจ กับคำบริกรรมก็จะรู้เท่าทันกันเอง นี้เป็นวิธีที่ฝึกสติแบบรัดกุม

ถ้าเราเผลอตัวเมื่อไรก็จะรู้ตัวทันที ทีแรกก็รู้สึกอยู่ว่าทำยากอยู่บ้าง แต่ก็ต้องฝึกกันบ่อยๆ เมื่อชำนาญแล้วก็จะเป็นธรรมดา การนั่งสมาธิภาวนาทุกครั้งก็จะคล่องตัวเพราะความเคยชิน นี้เป็นวิธีฝึกสติกับผู้รู้ให้เด่นโดยถือเอาลมหายใจเป็นนิมิตเครื่องหมาย เมื่อชำนาญแล้ว ต่อไปเราจะตัดคำบริกรรมออกให้เหลือเพียงความตั้งใจอันมีสติกับผู้รู้ กำหนดสูดลมหายใจปล่อยลมหายใจเข้าออกเท่านั้นเพื่อจะได้สงบลงสู่ความละเอียดต่อไป และความตั้งใจก็จะเข้มแข็งไปตามๆ กัน


วิธีนั่งสมาธิ วิธีที่ ๒

วิธีที่ ๒ เราตัดคำบริกรรม คือพุทโธออก ให้เหลือเพียงความตั้งใจอันมีสติ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ลมหายใจหยาบก็รู้ว่าลมหายใจหยาบและกำหนดรู้ลมหายใจหยาบๆ นั้นต่อไป จนกว่าลมหายใจจะมีความละเอียด เมื่อลมหายใจมีความละเอียดก็รู้ว่าลมหายใจมีความละเอียด และตั้งใจต่อไปจนกว่าลมหายใจจะมีความละเอียดเต็มที่ นี้แลเรียกว่า เอกัคตารมณ์ คืออารมณ์เป็นหนึ่ง

เมื่อเรากำหนดลมหายใจละเอียดอยู่อย่างนี้ ก็แสดงว่าใจเรามีความละเอียดไปตามๆ กันด้วย ลมมีความละเอียดก็เพราะใจเรามีความละเอียด ลมก็มีความละเอียดไปตามๆ กัน ความละเอียดของใจ ความละเอียดของลมหายใจมาบรรจบกันเมื่อไร เมื่อนั้นรัศมีทางกายก็จะแสดงตัวทางกายในลักษณะต่างๆ กัน เช่น ปรากฏร่างกายเราใหญ่ขึ้น พองขึ้นผิดปกติธรรมดา เช่น ขาแขนลำตัวศีรษะก็ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ เหมือนกับจะนั่งอยู่ที่ไหนตัวก็จะใหญ่อยู่ที่นั้น

ถ้าหากปรากฏว่ากายใหญ่ๆ ขึ้นดังกล่าว ก็ให้เราตั้งสติความกำหนดรู้ลมหายใจละเอียดนั้น อย่าให้เผลอ ไม่นานประมาณ ๕ นาที อาการความใหญ่ขึ้นทุกส่วนก็จะหายไปเอง บางทีนั่งภาวนาอยู่ปรากฏว่าสูงขึ้นๆ บางทีก็ปรากฏว่าเตี้ยลงๆ บางทีก็ปรากฏว่ากายหมุนตัว บางทีก็ปรากฏว่าเอนไปข้างนั้น และเอนไปข้างนี้ ทั้งๆ ที่เรายังมีสตินั่นเอง จะปรากฏว่ากายเรามีลักษณะใดก็ตาม นั่นคืออาการของใจ ที่แสดงออกมาทางกายเท่านั้น มันเกิดขึ้นเองและดับไปเอง บางครั้งก็จะปรากฏว่า ลมหายใจเล็กเข้าทุกทีๆ การหายใจก็จะปรากฏว่าหายใจสั้นเข้าทุกทีๆ ถ้าผู้กลัวตายก็จะถอนจากสมาธิทันที

ถ้าเป็นเช่นนี้ เราไม่ต้องกลัวนั่นแหละ คือใจเรากำลังลงสู่ความสงบเต็มที่ ขอให้เรามีสติกำหนดรู้ลมหายใจเล็กๆ นั้นไว้อย่าให้เผลอ ลมหายใจจะเล็กก็รู้ว่าลมหายใจเล็ก ลมหายใจสั้นก็รู้ว่าลมหายใจสั้นและมีสติกำหนดรู้ จนกว่าลมหายใจจะหมดไปในวาระสุดท้าย เมื่อลมหายใจหมดไปแล้ว ก็จะไม่รู้ตนเองว่าเราอยู่อย่างไรเพราะกายไม่มี แต่ก็รู้อยู่เฉยๆ เท่านั้น

บางครั้งก็อาจจะเกิดแสงสว่างรอบตัวอย่างกว้างขวาง คำว่าตัวนั้นหมายถึงผู้รู้ในตัวนั่นเอง แต่ไม่ปรากฏว่ามีกายเลยในขณะนั้น แต่เป็นธรรมชาติรู้และสว่างรอบด้าน ความเบาใจ ความสว่างภายในใจ ก็จะเจิดจ้าแพรวพราว ก็น่าอัศจรรย์ใจมาก เราจะหาสิ่งใดในโลกนี้ไม่ได้เลย และมีความสุขสงบอย่างนี้ประมาณ ๑๐ นาที ก็จะถอนตัวออกมาหายใจธรรมดา ความสุขก็จะเกิดขึ้นที่ใจ ไม่มีความสุขใดในโลกนี้เสมอเหมือนความเบากายความเบาใจ และความสุขกายสุขใจแทบตัวจะลอย

ถ้าเป็นในลักษณะความสงบเช่นนี้ ถ้าผู้ไม่เคยคิดพิจารณาด้วยปัญญามาก่อนแล้ว ก็อยากจะอยู่ในความสุขนี้ต่อไป ถ้าใครเคยคิดพิจารณามาก่อนแล้ว ความสงบนี้ก็จะเป็นพื้นฐานของปัญญาได้เป็นอย่างดี และไม่ติดอยู่ในความสงบนี้เลย สมาธิคือความสงบนี้เอง ก็จะเป็นกำลังอุดหนุนปัญญาให้พิจารณาอย่างรวดเร็ว

และขอย้ำเพื่อทำความเข้าใจกับผู้อ่านสักนิด ขณะนี้ท่านเป็นผู้ปฏิบัติและมีความมุ่งหวังและตั้งใจว่า เมื่อจิตมีความสงบเต็มที่แล้ว จะมีปัญญาเกิดขึ้นเพื่อจะพิจารณาธรรมต่อไป ใครๆ ก็มุ่งหวังปัญญา จึงได้ตั้งหน้าตั้งใจทำสมาธิหวังความสงบเพื่อคอยให้ปัญญาเกิดขึ้น ผู้ที่ไม่เคยพิจารณาในแง่ธรรมต่างๆ มาก่อน ถึงจะทำความสงบนั้นก็ทำได้ แต่สายทางความสงบของผู้ที่มีปัญญามาก่อนถึงจะสงบลึกจนถึงสมาบัติ ๘ ก็ตาม ผลที่ได้รับก็คือความสุขกายสุขใจ

บางทีอาจมีเครื่องเล่นคือ อภิญญาญาณ คือมีญาณหยั่งรู้ในแง่อดีต อนาคต และรู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมีจักขุญาณต่างๆ บ้าง โสตญาณบ้าง คือมองเห็นด้วยตาภายใน หูภายใน หรือแสดงฤทธิ์ในวิธีต่างๆ ได้ หรือหยั่งรู้วาระจิตของคนหรือสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นก็จะติดความรู้ในญาณของตนนั้นอย่างไม่รู้ตัว ญาณดังกล่าวนี้ก็จะทำให้คิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ง่ายที่สุด เพราะเชื่อในญาณของตัวเอง

เช่นในครั้งพุทธกาลมีพระ ๓๐ รูปไปเจริญสมถะเพื่อความสงบ เมื่อจิตมีความสงบเต็มที่แล้ว ก็มีความสุขกาย และสุขใจ และรักษาความสงบนั้นติดต่อกันได้หลายวัน ก็มาคิดว่าพวกเราหมด กิเลส ตัณหา อวิชชาแล้ว พวกเราได้ถึงขั้นพระอรหันต์แล้ว เพราะราคะตัณหาพวกเราไม่มี ไปเถอะ ไปกราบนมัสการพระพุทธเจ้าเพื่อจะรับคำพยากรณ์แล้วพากันเดินเข้ามาจวนจะเข้าวัด

พระพุทธเจ้าได้กล่าวกับพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงไปบอกกับภิกษุ ๓๐ รูปนั้นให้เข้าไปพักกับป่าช้าก่อน ภิกษุทั้ง ๓๐ รูปนั้นก็พากันเข้าไปในป่าช้านั้นๆ เมื่อเขาเข้าไปก็บังเอิญพบกับหญิงตายหงายท้องแบบสดๆ ร้อนๆ เหมือนกับอาการนอนหลับ ผ้าชิ้นหนึ่งจะปกปิดร่างกายก็ไม่มี พระทั้ง ๓๐ รูป นั้นก็กรูเข้าไปรุมล้อมด้วยความอยากเห็น ต่างองค์ก็ต่างดูต่างองค์ก็ต่างคิดไปในอารมณ์แห่งความใคร่ ความกำหนัด ไฟของราคะจึงเกิดขึ้นภายในใจจนถึงขีดแดง ผลที่สุดอรหันต์ที่พากันคิดเอาเองก็แสดงตัวร้องโวยวายขึ้นทันทีว่า พวกเรายังมี ราคะ ตัณหา อวิชชาอยู่ จากนั้นก็พากันเจริญด้วยปัญญา พิจารณาด้วยกฎแห่งไตรลักษณ์ พิจารณาไปพิจารณามาด้วยปัญญาธรรมดา เมื่อใจเห็นจริงตามปัญญานี้แล้ว วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น ผลที่สุดก็บรรลุอยู่ในป่าช้านั้นเอง

เห็นไหมละท่าน สมาธิคือความสงบนั้นก็ทำให้เราเข้าใจผิดได้ นี้ในครั้งสมัยที่มีพระพุทธเจ้า ก็ยังมีนักปฏิบัติที่มีความเข้าใจผิด ในผลการปฏิบัติในสมถะมาแล้วเป็นจำนวนมากทีเดียว เพราะความสงบนี้ ถ้าไม่มีครูอาจารย์องค์ที่ท่านผ่านไปแล้วเข้าแก้ไขก็ผิดได้ง่ายเหมือนกัน และติดในสมถะโดยไม่มีทางออก ถ้าในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้ามีผู้ภาวนาเป็นเหมือนภิกษุ ๓๐ รูปแล้ว ก็จะไม่มีใครๆ เข้าแก้ไขได้เลย และก็จะเป็นอรหันต์ดิบอย่างนั้นต่อไปจนถึงวันตาย

เพราะในสมัยนี้ไม่มีซากศพแบบสดๆ ร้อนๆ นอนอยู่ตามป่าช้าเลย จำเป็นต้องทำความสงบต่อไปเรื่อยๆ พากันนั่งคอย นอนคอยตัวปัญญาให้เกิดขึ้นในใจ นับตั้งแต่วันปฏิบัติมาถึงเดี๋ยวนี้ ทำไมปัญญาจึงไม่เกิดขึ้นกับเราหนอ พากันบ่นแล้วบ่นอีก คอยปัญญาแล้วปัญญาอีก ทำความสงบแล้วความสงบอีก สงบลึกเท่าไรก็ไม่ปัญญา จนนักภาวนาเกิดความอ่อนใจ ฉะนั้น ขอให้คิดสักนิดเพื่อได้พิจารณาว่า ในครั้งพุทธกาลที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานอยู่ก็ตาม ในสมัยนั้นมีใครบ้าง องค์ไหนบ้าง ที่ทำสมาธิมีความสงบไปหน้าเดียว และได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ นอกจากจะเป็นดังพระ ๓๐ รูปที่ได้อธิบายมาแล้วทั้งนั้น

ถ้าหากพิจารณาหวนกลับความเป็นพระอริยะเจ้าของพระอรหันต์ที่เป็นมา ทุกองค์ก็ล้วนแล้วมีปัญญามาก่อนแล้วทั้งนั้น ในสมัยนี้ก็มีครูอาจารย์ที่มีความบริสุทธิ์ใจ อันดับแรกท่านก็พิจารณาด้วยปัญญามาก่อน แล้วจึงทำความสงบ เมื่อจิตถอนออกจากความสงบแล้ว ก็ตั้งใจคิดพิจารณาไปตามสรรพธรรม สรรพสังขารทุกชนิดให้เป็นไปตาม ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ไม่ใช่ว่าจะมัวมานั่งคอยนอนคอยให้มีปัญญาเกิดขึ้นเหมือนกับเราเลย มันจึงไกลกันเหมือนฟ้ากับดิน หรือเหมือนกับเราขุดดินเตรียมหลุมมะพร้าวเสร็จแล้ว จะมัวมานั่งคอยนอนคอยให้ต้นมะพร้าวเกิดขึ้นจากหลุมนั้น มันจะเป็นไปได้หรือ ผลไม้ทุกอย่าง ต้นไม้ทุกชนิดที่เราต้องการจะให้มันเกิดขึ้นมาเองโดยที่เราไม่ต้องหาเชื้อมาปลูกเอง มันจะเกิดขึ้นได้ไหม นี้เพียงให้ข้อคิดนิดเดียวเท่านั้น


วิธีนั่งสมาธิ วิธีที่ ๓

วิธีที่ ๓ ให้ตั้งใจโดยมีสติกำหนดรู้ภายในส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นนิมิตเครื่องหมาย จะเป็นกายส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ กายส่วนไหนที่เรามีความถนัดใจเพ่งดูได้ง่าย ให้เอากายส่วนนั้นเป็นจุดยืนของสติ ให้สติกับผู้รู้ติดอยู่กับสตินั้นๆ อย่าให้เผลอ ถึงลมหายใจหรือคำบริกรรมมีอยู่ก็ให้ก็ให้เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ถ้าเราไปจดจ่อที่ลมหายใจและคำบริกรรมแล้ว กายส่วนที่เราเพ่งดูอยู่นั้นก็จะเลือนลางไป ใจก็จะเขวจากกายที่เพ่งอยู่นั้นไป ใจก็จะไม่อยู่ในกายส่วนนั้นเลย

ฉะนั้นจึงให้สติกับผู้รู้ เพ่งดูกายส่วนนั้นอย่างใกล้ชิด จะเป็นตำหนิแผลเก่าๆ ก็ได้ จะเป็นส่วนด้านหน้าหรือส่วนด้านหลังก็ให้เราเลือกหาเอง เพื่อไม่ให้มีความขัดข้องหรือความรู้สึกภายในใจ ครั้งแรกก็ให้เราสมมติรู้ ตามสีสันและลักษณะกายส่วนนั้นๆ ตามความเป็นจริงว่ามีลักษณะนั้นๆ ส่วนหนังที่เป็นที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก ถ้าเรากำหนดดูให้รู้เห็นทั้งหมดนั้นไม่ได้ ก็เพราะว่าความตั้งใจและสติเรายังอ่อน

ฉะนั้น จึงให้กำหนดดูบางส่วน จะเป็นส่วนเล็กๆ ก็ได้ เพื่อให้ใจจดจ่อรู้เห็นในที่แห่งเดียว ให้เหมือนกันกับที่เราเอาเส้นด้ายสอดเข้ารูเข็ม ถ้าเราไม่ใช้สายตาเพ่งดู ก็จะไม่เห็นรูเข็มปลายเส้นด้ายนั้นเลย และไม่มีทางที่จะสอดด้ายเข้ารูเข็มได้ ถ้าหากเราใช้สายตาจดจ่อกับรูเข็ม และปลายเส้นด้ายแล้ว เราก็จะสอดด้ายเข้ารูเข็มได้ทันทีนี้ฉันใด

การเพ่งดูกาย ก็อาศัยสมมติส่วนที่เราเพ่ง และสถานที่ที่เราจะเพ่งนั้นให้มีส่วนจำกัด ให้มีความตั้งใจด้วยสติจดจ่อจี้ลงในจุดนั้นๆ โดยสำนึกว่า มีความสว่างอยู่ในความสำนึกก่อน ถ้าชำนาญแล้วก็จะรู้เห็นในกายส่วนนั้นๆ เป็นธรรมชาติกำหนดที่รู้เอง ถ้าความเคยชินกำหนดรู้เห็นกายส่วนนั้นๆ อยู่ต่อไป เราก็จะกำหนดกายส่วนนั้นๆ เป็นธรรมชาติที่รู้เอง ถ้าความเคยชินรู้เห็นกายส่วนนั้นอยู่ ต่อไปเราจะกำหนดให้เห็นกายส่วนนั้นๆ เน่าเปื่อยไปทั้งตัวก็ได้ หรือกำหนดให้หลุดออกไปให้เห็นโครงกระดูกก็ได้ ต่อไปก็จะเป็นพื้นฐานได้ดี

การกำหนดดูกายเพ่งกาย ก็เพื่อให้กายได้ตั้งอยู่ในกายส่วนนั้นๆ เพื่อให้ใจได้มีหลัก เหมือนนกที่บินอยู่ในอากาศก็จำเป็นต้องหาต้นไม้เป็นที่จับ เพื่อได้พักผ่อนเอากำลังใจก็เหมือนกัน ก็ต้องหากายส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของใจ และมีสติกำหนดรู้ในกายส่วนนั้นๆ ใจก็จะไม่ได้คิดนี้เหมือนกับที่เคยเป็นมา


วิธีนั่งสมาธิ วิธีที่ ๔

วิธีที่ ๔ ให้ตั้งใจโดยมีสติกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจให้เห็นชัด วิธีนี้ก็เหมือนกันกับวิธีกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจขณะเดินจงกลมนั่นเอง แต่เรามากำหนดรู้อารมณ์ในขณะนั่งสมาธิ ย่อมเห็นอารมณ์ได้ชัดเจนมากเพราะไม่มีความไหวตัวไปมา ความสั่นสะเทือนภายในกายไม่มี จึงสังเกตดูอารมณ์ภายในกายได้ง่ายและรู้ละเอียด อารมณ์แห่งความสุขก็รู้ชัด อารมณ์แห่งความทุกข์ก็รู้ชัด แม้แต่อารมณ์ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ก็มีสติก็รู้ชัด อารมณ์แห่งราคะตัณหาก็รู้ชัดทั้งนั้น

อารมณ์ทั้งหมดนี้เป็นได้ทั้งเหตุ เป็นได้ทั้งผล หมุนไปได้รอบด้าน และหมุนไปได้ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ผลัดกันเป็นเหตุผลัดกันเป็นผลเสมอ เรียกว่า สันตติ คือ อารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว ที่สืบทอดให้กันอยู่เสมอ จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นต้นเหตุ อะไรเป็นปลาย คือ หมุนไปเวียนมาไม่รู้ว่าอะไรอารมณ์ใหม่อารมณ์เก่า จึงเข้าใจเองว่า เป็นอารมณ์ใหม่ตลอดไป และตลอดเวลา จึงเรียกว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้ทางไปทางมาของวัฏจักรนั่นเอง จึงเรียกว่าผู้หลงโลกหลงสงสาร ก็คือมาหลงอารมณ์ภายในใจนี่แหละเป็นเหตุ

อารมณ์ภายในใจนั้นยังไม่เป็นกิเลส ตัวกิเลส ตัณหา อวิชชาคือตัวก่อให้อารมณ์รัก อารมณ์ชังเกิดขึ้นที่ใจ มีในใจและตั้งอยู่ที่ใจเหตุนั้นการกำหนดรู้เห็นอารมณ์ภายในใจ ก็เพื่อเราจะใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุของอารมณ์ เพื่อให้รู้สายทางของอารมณ์ได้ชัด และเพื่อให้ได้วิธีตัดสายลำเลียงและตัดสะพานของกิเลสตัณหาต่อไป ถ้าหากว่าเราไม่รู้เท่าอารมณ์ภายในใจแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าเราจะตัดต้นทางด้วยวิธีใด หรือเหมือนกับเราต้องการคมมีดเราก็ต้องลับมีด ถ้าเราไม่ต้องการความร้อนเราก็ต้องดับไฟ ใจมีความทุกข์ เราก็ต้องหาวิธีดับทุกข์เพื่อไม่ให้ทุกข์เกิด ถ้าใจมีความทุกข์อารมณ์ของความทุกข์ก็แสดงออกมาที่ใจ ใจอยู่ที่ไหน อารมณ์ของใจก็จะอยู่ที่นั่น อารมณ์ของใจอยู่ที่ไหน ใจก็อยู่ในที่เดียวกัน

ถ้าเราอยากรู้ใจ เราก็ต้องจับอารมณ์ของใจไว้ให้ดี เหมือนกันกับไฟกับความร้อนของไฟ ใจกับอารมณ์ก์ต้องอยู่ด้วยกันฉันนั้น การกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจนี้ไม่ใช่จะกำหนดอยู่นาน เพียงกำหนดรู้อารมณ์ของใจว่า เกิดจากเหตุอันนี้ๆ แล้วก็หยุดมาพิจารณาด้วยปัญญาต่อไป เหมือนเราตรวจออกมาเห็นข้าศึกแล้วก็ตั้งศูนย์ยิงเข้าใส่ให้ถูกข้าศึกศัตรูทันที เหมือนยิงเนื้อก็ไม่ต้องเล็งปืนไว้นาน เมื่อเรารู้ว่าไฟกำลังก่อตัวเราก็ต้องหาทางดับ ฉะนั้น การกำหนดรู้อารมณ์เพื่อจะใช้ปัญญาพิจารณา เพื่อจะตัดสายทางมาของกิเลสตัณหาคือความไม่อิ่มพอในกามทั้งหลายให้หมดไป แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตัดสะพานและทำลายกงกรรมของวัฏจักรให้ย่อยยับ และขาดจากการสืบต่อกันอย่างสิ้นเชิง

นี้ก็เพราะมาเห็นจุดเป้าหมายค่ายทัพของกิเลสตัณหาว่าเกิดจากเหตุอันนี้แล้ว จึงใช้สติปัญญาศรัทธาความเพียรเข้าไประเบิดค่ายให้มันดับไปทั้งเชื้อชาติโครตตระกูลสูญพันธุ์โดยไม่มีชิ้นเหลือ เหมือนกันกับการทำสงครามเขาก็ต้องมองหาจุดสำคัญ เขาชกมวยก็ต้องมองหาเป้าที่จะน็อค และหวังชนะด้วยความมั่นใจถึงจะแพ้ไปในบางครั้ง ก็ตามแก้มือจนกว่าจะชนะเต็มที่ นี่แหละนักปฏิบัติถ้าปฏิบัติไม่จริง จะถูกกิเลสตัณหาน็อคจนไม่มีประตูจะสู้ ไม่ยอมฟิตซ้อมสติปัญญา ปล่อยให้กิเลสตัณหาเหยียบย่ำจนตัวแบน

ฉะนั้น เราเป็นนักปฏิบัติผู้มีศักดิ์ศรี มีความตั้งใจมั่นหมายที่จะทำลายข้าศึกคือกิเลส เราก็ตั้งเข็มทิศหมุนไปให้ตรงในจุดภายในคืออารมณ์ของใจ เพื่อจะได้วางแผนกำจัดชะล้างมลทินของใจให้หมดไป


๏ วิธีกำหนดคำบริกรรมประสานลมหายใจ

วิธีกำหนดสมาธิกับผู้รู้ประกอบคำบริกรรมเข้าประสานกับลมหายใจดังนี้ ขออธิบายสั้นๆเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น อันดับแรกให้ตั้งใจโดยมีสติว่าเราจะตั้งใจกำหนดคำบริกรรมนี้ประสานกับลมหายใจเข้าว่า พุท เราตั้งใจกำหนดคำบริกรรมนี้ประสานกับลมหายออกว่า โธ แต่ลมหายใจของเรามีอยู่ถึงเราไม่ตั้งใจดู มันก็หายใจออกหายใจเข้าอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้น เราจึงมากำหนดเพียงให้เป็นอุบายของสติกับผู้รู้ และคำบริกรรมกับลมหายใจให้อยู่ในกรอบเดียวกันเท่านั้นนี้เป็นวิธีฝึกสติ เพื่อให้สติมีความเข้มแข็ง จึงให้ทำด้วยความตั้งใจ คือเราจะต้องตั้งใจอันมีสติลมหายใจเข้าเอง เราจะต้องตั้งใจอันมีสติลมหายออกเอง เวลาใดเราไม่ได้ตั้งลมหายใจเข้าเอง ถือว่าสติเราตามไม่ทัน หายใจออกเองก็ถือว่าเราขาดสติ

ฉะนั้น จึงให้เรามีสติตั้งใจหายใจเข้าเอง มีสติตั้งใจหายใจออกเอง ถ้าชำนาญแล้วไม่ยาก ต่อไปก็รู้เท่าทันกันเอง นี่คือเหตุเข้าใจขั้นต้น เมื่อเราชำนาญในลมกับคำบริกรรมแล้ว ก็ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจหยาบหรือละเอียด ถ้าลมหายใจยังหยาบอยู่ก็ให้ดูลมไปก่อน ถ้าลมหายใจมีความละเอียดแล้ว สติของเราก็ไม่เผลอรู้เท่าทันลมได้ดี เราก็ปล่อยคำบริกรรมนั้นเสีย ให้มาดูลมหายใจเข้าออกอยู่เฉพาะลมเท่านั้น เมื่อใจกับลมละเอียดแล้ว มันจะแสดงออกมาทางกาย มีลักษณะต่างๆ เช่น ปรากฏว่ามีกายใหญ่บางส่วน หรือใหญ่ทั้งหมดภายในกาย หรือเป็นกายเล็กบางทีสูงขึ้น บางทีเตี้ยลง ถ้าเป็นในลักษณะใดลักษณะหนึ่งอย่าไปกลัว นั่นเป็นอาการของใจ แสดงออกมาทางกายให้รีบตั้งสติกับผู้รู้ให้รู้ลมให้ละเอียดเข้าไปอีก

เมื่อลมละเอียดเต็มที่แล้ว มันจะแสดงขึ้นมาอีกวิธีหนึ่งคือ ลมหายใจมันจะน้อยเข้าทุกที เล็กเข้าทุกที และระบบการหายใจจะหายใจสั้นเข้าทุกที ถ้าผู้กลัวตายก็จะถอนตัวทันที ถ้าเป็นเช่นนี้เราต้องไม่กลัว นั่นแหละใจกำลังจะสงบ จะเห็นความอัศจรรย์ของตัวเอง ให้รีบตั้งสติรู้อยู่กับลมหายใจเท่านั้น ลมหายใจน้อยก็รู้ ลมหายใจสั้นก็รู้ ลมจะเล็กเหมือนใยบัวก็รู้ ลมหายใจจะสั้นและอยู่ในลำคอเท่านั้น พอสุดท้ายลมหายใจก็จะหมดทันทีเมื่อลมหมด ความสงบใจนั้นก็หมดภาระกับลมหายใจ มีแต่ความสงบของใจ เต็มไปด้วยความสว่างรอบตัว แต่ไม่ปรากฏเห็นกายตัวเองเลย มีแต่ความสว่างในใจสบายและมีความสุขเท่านั้น

ความสุขที่ใจมีความสงบนั้น ไม่มีความสุขใดในโลกจะเสมอ เหมือนดังพุทธภาษิตว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสุขนี้เป็นความสุขไม่นานก็จะถอนตัวออกมาหายใจธรรมดา ผลของความสงบนั้นยังปรากฏอยู่ ถ้าผู้ไม่มีรัศมีของปัญญาแฝงไว้ที่ใจ ก็อยากสงบอยู่อย่างนั้นตลอดไป และติดใจความสงบนั้นๆ ถ้าผู้มีรัศมีของปัญญามีเชื้อติดอยู่ที่ใจก็สามารถเริ่มพิจารณากายต่อไปได้ ไม่ติดอยู่กับความสุขนั้นๆ เลย
๏ สรุปเรื่อง


จึงขอสรุปแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจอีกครั้ง สมาธิความตั้งใจมั่น กับสมาธิความสงบแห่งใจทั้งสองนี้ มีความหมายหยาบละเอียดต่างกัน สมาธิความตั้งใจมั่น คือ เป็นผู้มีสติปัญญาแฝงอยู่ที่ใจ จะยืนจะเดินอยู่ที่ไหน สถานที่ใดก็มีสติรักษาใจ หรือนั่งอยู่ที่ไหน นั่งอยู่อย่างไร สถานที่เช่นไร ก็มีสติรักษาใจ หรือบางครั้งได้พูดกับเพศตรงข้ามก็มีสติ หรือเพศตรงข้ามหนีไปใจก็มีสติ
จึงสมกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ในประโยคสุดท้ายว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อกิจที่จะได้พูดกับสตรีมีอยู่ ถ้าพูดก็พูดให้มีสติ นี้แล จึงได้ชื่อว่า สมาธิ ความตั้งใจมั่น ขั้นพื้นฐานสมาธิขั้นนี้ก็เริ่มพิจารณาได้แล้ว จะพิจารณาในความทุกข์ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งตัวเองและคนอื่น ให้มีสภาพอย่างเดียวกัน จะพิจารณาธาตุสี่ ขันธ์ห้า จะพิจารณาให้เป็นอสุภะให้ตกอยู่ในไตรลักษณ์ หรือเราจะยินดีพอใจกับวัตถุใด สิ่งใดๆ ก็ตาม ก็ยกเอาวัตถุสิ่งของนั้นมาพิจารณาให้ตกอยู่ในสภาพแห่งไตรลักษณ์

การพิจารณานี้ เราจะอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร จะนั่งจะเดินอยู่ที่ไหนก็พิจารณาได้ ให้เรารู้ตัวเองอยู่เสมอว่า เรายังมีกิเลสตัณหา อย่าประมาทนอนใจสถานการณ์ใจเรายังไม่ปกติ เราก็ต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ข้าศึกคือกิเลสตัณหาเข้ามา เราก็จะกำจัดทันที กิเลสตัณหาเกิดขึ้น สติปัญญาก็รู้เท่าทัน นั้นคือผู้ไม่ประมาท คือเป็นผู้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ
สมาธิ คือ ความสงบ สมาธินี้ลึกลงไปอีก อันดับแรกเราก็ต้องอาศัยคำบริกรรมดังที่เราได้อธิบายมาแล้ว เมื่อใจสงบลงลึกถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตถอนออกมาแล้ว ก็ต้องดำริหาอุบายปัญญามาพิจารณาทันที เรื่องที่จะพิจารณาก็ได้อธิบายมาแล้ว
ถ้าหากความสงบไม่ถึงอัปปมาสมาธิ จะทำอย่างไรก็สงบอีกไม่ได้ จะเป็นเพียงขณิกะสมาธิ อุปจารสมาธินิดๆ หน่อยๆ เราก็เริ่มพิจารณาด้วยปัญญาได้เลย ในช่วงขณิกะสมาธิ อุปจารสมาธินี้แหละ ปัญญากำลังวิ่งรอบรู้ในสรรพสังขารทั้งหลายได้ดี เรื่องที่จะเอามาพิจารณาก็ได้อธิบายมาแล้ว
ถ้าเรากำหนดบริกรรมภาวนา แต่ในใจเราไม่มีความสงบขั้นไหนๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ ให้กำหนดดูใจ และอารมณ์ภายในใจเราเองในขณะนั้น ว่ามีอะไรที่ทำให้ใจเราไม่สงบ มีความขัดข้องอยู่ที่ไหน ใจเรายังผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางทีก็ติดอยู่กับกามคุณ มีรูปเป็นต้น หรือติดพันอยู่กับวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่าใจเราผูกพันอยู่กับสิ่งนั้นแล้ว เราก็จับเอาสิ่งที่เรามีใจผูกพันนั้นแหละมาพิจารณาด้วยปัญญา ยกโทษภัยในของที่เราติดนั้นแหละมาพิจารณาให้ใจได้รู้ การพิจารณาด้วยปัญญาดังได้อธิบายมาแล้ว

.......................................................

:: คัดลอกมาจาก :: หนังสือทวนกระแส ::