วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

25: อวิชชา


อวิชชา คือความไม่รู้ไม่เข้าใจในสภาวะเป็นจริงตามสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของทุกข์และการดับทุกข์  ความไม่รู้นี้ครอบคลุมถึง "ไม่รู้เท่าทันหรือสติ และการไม่นำไปปฏิบัติด้วย" ด้วย  หรือความไม่รู้แจ้งแทงตลอดและไม่ปฏิบัติในอริยสัจ๔ และปฏิจจสมุปบาท หรือ อวิชชาทั้ง๘ ตามความเป็นจริง
        กล่าวอย่างง่ายๆก็คือ  สรรพสัตว์ทั้งหลายกำเนิดเกิดขึ้นมาพร้อมด้วยอวิชชา(ความไม่รู้,รวมทั้งไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริง)โดยธรรมชาติอันมีพร้อมกับการเกิด  จึงย่อมต้องดำเนินและเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทล้วนสิ้น   เพราะวิชชาเป็นสิ่งที่ต้องสังขาร(ต้องปรุงขึ้น)ทำให้เกิดขึ้น  ต้องสั่งสม   ต้องทำให้เจริญยิ่งๆขึ้น   มิใช่เกิดขึ้นมาได้เอง   จึงเป็นการสังขารสั่งสมทั้งทางด้านปัญญา ศีล สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จนเกิดสัมมาญาณ(ปัญญาอันยิ่ง)อันเป็นมรรคองค์ที่๙ (สัมมัตตะ๑๐จึงจะเกิดสัมมาวิมุตติขึ้นได้ อันคือ สุขจากการหลุดพ้นอันเป็นมรรคองค์ที่๑๐
        อวิชชา อันคือ ไม่มีความรู้ ความไม่เข้าใจ และไม่รู้เท่าทันในเหตุปัจจัยอันเป็นสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)ของทุกข์ และการดับทุกข์หรือพ้นทุกข์ตามความเป็นจริง  อันคือความไม่รู้  ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอด ไม่รู้เท่าทัน(สติ) ในการดับทุกข์ เพราะอวิชชา๘ อันมีดังนี้
        ๑.ไม่รู้จักทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ดับสนิทอันหมายถึง อุปาทานทุกข์ อันเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลน หรือก็คือ อุปาทานขันธ์ทั้ง๕ อันเกิดแต่เหตุปัจจัยที่อาศัยกันและกันจึงยังให้เกิดขึ้นได้    จึงทําให้การปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเป็นจริง  เช่น พยายามในสิ่งที่ยึดแต่เข้าใจผิดๆ อันทําให้ไม่สามารถปฏิบัติได้ เช่น เข้าใจผิดว่าทำบุญทำกุศลหรือปฏิบัติธรรมแล้วจักไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีโรค ไม่มีภัยใดๆ มีแต่โชค ลาภ วาสนา มีเทวดา บุญกุศลคอยคํ้าจุนเกื้อหนุน,   แต่ตามความเป็นจริงแล้วกลับเป็น เหตุแห่งทุกข์นั้นยังคงมีอยู่เพราะเป็นสภาวะธรรม  แต่ไม่มีผู้รับ(หมายถึงจิต)ผลทุกข์นั้น  หรือที่เรียกว่าสภาพ "เหนือกรรมจึงจักเป็นการเข้าใจที่ถูกต้องดีงาม
        หรือความไม่เข้าใจว่าทุกข์นั้น   มีทั้งที่เป็นทุกข์ธรรมชาติที่เป็นสภาวะธรรม จึงมีความเที่ยงเป็นธรรมดา ดังเช่น  ความเกิด  ความแก่  ความเจ็บ  ความตาย  การพลัดพรากจาดสิ่งอันเป็นที่รัก  การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก  การปรารถนาในสิ่งใดแล้วไม่ได้ในสิ่งนั้น  เหล่านี้เป็นทุกข์  รวมทั้งเวทนาต่างๆ ยังคงต้องเกิดมีเป็นเช่นนั้นเองเป็นธรรมดา จึงไม่สามารถดับให้สูญไปได้  แต่กลับไปพยายามปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ธรรมชาติเหล่านั้น จึงย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ,   ตามความเป็นจริงและถูกต้องนั้น ต้องปฏิบัติอย่างไร อย่าให้ทุกข์เหล่านั้นแปรปรวนไปเป็นอุปาทานทุกขอันเร่าร้อนเผาลน  ได้แก่การมีสติระลึกรู้เท่าทันอย่างต่อเนื่อง  และยังต้องมีปัญญาเข้าใจในสิ่งต่างๆเหล่านั้นอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงในธรรมนั้นๆ
         ทุกข์ธรรมชาติเหล่านั้นอันรวมทั้งทุกขเวทนาทั้งหลายนั้นก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่งจริงๆเช่นกัน   เพียงแต่ว่าธรรมชาติเดิมแท้ของทุกข์ธรรมชาตินั้นไม่มีความเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายด้วยไฟของกิเลสตัณหาอุปาทาน  เมื่อเกิดขึ้น  ตั้งอยู่อย่างจางคลายไป  และเนื่องจากขาดเหตุปัจจัยให้เกิดสืบเนื่องต่อไปอีก จึงดับไปในขณะจิตหนึ่ง   แต่ที่ปุถุชนมีความรู้สึกเป็นทุกข์กันอยู่นี้ อันแท้จริงแล้วล้วนเป็นอุปาทานทุกข์ทั้งสิ้น  แต่เพราะอวิชชาจึงไม่รู้ว่าเป็นอุปาทานทุกข์  กลับไปคิดว่าเป็นทุกข์ธรรมชาติเสียอีก (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)
        ๒.ไม่รู้จักสมุทัย ว่าเหตุให้เกิดทุกข์มาจาก ตัณหา๓, หรือในแนวทางปฏิจจสมุปบาท คือ อาสวะกิเลส  ไม่เห็นเป็นไปอย่างแจ่มแจ้งแทงตลอด  กลับไปคิดนึกค้นหาเหตุปัจจัยอื่นๆว่าเป็นเหตุ เช่น พยายามดับรูป ดับนาม ดับเวทนา กันไปต่างๆนาๆเพราะคิดว่าเป็นเหตุ,   หรือโทษกรรมเก่าในชาติก่อน(กรรมวิบาก)อันแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆไม่ได้แล้ว อันไม่มีคุณประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น อันรังแต่ก่อให้เกิดอุปาทานขันธ์๕ อันเป็นอุปาทานทุกข์ (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)
        ๓.ไม่รู้จักนิโรธ เป็นเช่นใด ไม่เคยสัมผัสสภาวะว่างจากกิเลสตัณหาอันยังให้ใม่เกิดอุปาทานทุกข์,  หรือเข้าใจผิดคิดว่าผลอันเกิดแต่สมาธิหรือฌานเป็นสภาวะนิโรธ,  ไม่ทราบว่าดับทุกข์ได้แล้ว จักเป็นสุข(ในธรรม)เยี่ยงใด?  คุ้มค่าให้ปฏิบัติไหม?   มีจริงหรือเปล่า?   ทําให้มีความสงสัยอยู่ลึกๆแบบแอบซ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิตตลอดมา  (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)
        ๔.ไม่รู้จักมรรค ควรปฏิบัติอย่างไร?, ศึกษาแล้วยังไม่เข้าใจ,  ปฏิบัติไม่ถูก, ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน?,  ทําตัวไหนก่อน? (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา จึงยังให้เกิด ศีล - สัมมาสติ - สัมมาสมาธิ อย่างถูกต้องดีงาม)
        ๕.ความไม่รู้อดีต คือ การไม่รู้ระลึกชาติหรือภพที่เคยเกิดเคยเป็นในปัจจุบันชาติ หรือก็คือการย้อนระลึกขันธ์๕ที่เคยเกิดเคยเป็น กล่าวคือไม่รู้ไม่เข้าใจขันธ์๕ที่เคยเกิดๆดับๆ อันก่อให้เกิดอุปาทานทุกข์นั้นมีเหตุปัจจัยจากอะไร?  เพื่อเป็นเครื่องเตือน เครื่องรู้ เครื่องระลึก อันก่อให้เกิดปัญญา อันยังให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง  (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)
         ๖.ความไม่รู้อนาคต คือ การไม่รู้อนาคต คือไม่รู้ไม่เข้าใจในการอุบัติ(เกิด) การจุติ(ดับ) ของขันธ์ทั้ง๕ว่าล้วนเป็นไปตามกรรมคือตามการกระทําที่มีเจตนาั้งสิ้น   หรืออนาคตนั้นก็จักเป็นไปตามเหตุปัจจัยอันคือกรรมการกระทํานั่นเอง   และความทุกข์ในภายหน้าก็ล้วนเกิดดับอันเกิดแต่กรรมการกระทํา อันจักยังให้เกิดอุปาทานขันธ์๕เช่นเดิมหรือเกิดความทุกข์ขึ้นเฉกเช่นเดียวกับอดีตเพราะความไม่รู้จึงมิได้แก้ไข  กล่าวคือการรู้อนาคตเพราะการเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง คือเมื่อเหตุเป็นเช่นนี้  ผลเยี่ยงนี้จึงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน  อันเกิดขึ้นจากความเข้าใจในสภาวะธรรมอย่างแจ่มแจ้ง   (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)
        ๗.ความไม่รู้ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต  (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)
        ๘.ความไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ไม่ทราบ,ไม่รู้ธรรมชาติของทุกข์ คือ ไม่รู้กระบวนธรรมการเกิดขึ้น และการดับไปแห่งทุกข์ คือ ไม่รู้ในธรรมข้อที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งกัน อาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้นได้ตามหลักอิทัปปัจจยตา  เมื่อกําจัดเหตุปัจจัยบางประการเสียได้ ย่อมทําให้ธรรมนั้นไม่ครบองค์หรือขาดสมดุลย์ที่จะประชุมปรุงแต่งกันขึ้นมาได้   อุปาทานทุกข์หรือธรรมนั้นๆก็ย่อมไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้  (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)
        วิชชานี้ไม่ใช่วิชาความรู้ทั่วๆไปในทางโลกๆที่เรา เล่าเรียนศึกษากัน เป็นวิชาทางพุทธศาสตร์ในการดับทุกข์ อันไม่เกี่ยวเนื่องใดๆกับวิชาความรู้ในทางโลกทั้งหลาย  ดังจักเห็นได้ว่าในบางคนนั้นวิชาทางโลกนั้นสูง แต่กลับเต็มไปด้วยอวิชชาและความทุกข์  
        หรือเราอาจจักกล่าวได้ว่า อวิชชาก็คือตัณหา,อุปาทานหลักที่นอนเนื่องอยู่ในจิต(หมายความว่ายังไม่แสดงอาการหรือฤทธิ์ออกมา) และยังไม่มีวิชชาความรู้ความเข้าใจในการดับทุกข์มากําจัดมันออกไป จึงเรียกความไม่รู้ไม่เข้าใจนี้ว่าอวิชชา (หรือเพื่อให้เห็นเป็นภาพพจน์ที่ชัดเจนขึ้นอีกอาจกล่าวได้ว่า  คือตัณหาและอุปาทานในจิตใต้สํานึกที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิต ดังนั้นอวิชชาจึงทำหน้าที่คล้ายดั่งตัณหาที่นอนเนื่อง  ส่วนตัณหาและอุปาทานในขบวนปฏิจจสมุปบาทกองธรรมที่ต่อจากเวทนานั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นตัณหาหรืออุปาทานเฉพาะกิจหรือจรคือเกิดขึ้นในขณะจิตนั้นๆ   หรือตัวย่อยๆที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในปัญหานั้นๆ  ซึ่งเมื่อเรานําออกและละเสียอยู่เรื่อยๆ  อวิชชาหรือตัณหาอุปาทานหลักที่นอนเนื่องก็จักอ่อนแรงลง และหมดลงเช่นกัน
        ผู้ที่เข้าใจปฏิจจสมุปบาท,  อาจกล่าวได้ว่า อวิชชา คือความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอดในการดับทุกข์   ซึ่งฝังแน่นลงรากลึกอยู่ในจิต และไม่สามารถมองเห็นได้ในปุถุชน และเป็นต้นกําเนิดของความทุกข์ ทั้งหลายทั้งปวง
         อวิชชาเกิดจากปัจจัยอันมีอาสวะกิเลสที่เกิดจากความทุกข์และสุขทั้งหลายที่ทิ้งผลร้ายหรือแผลเป็นเอาไว้ อันทําให้จิตขุ่นมัวและเศร้าหมอง เป็นตัวกระตุ้น เร่งเร้า กล่าวคือเป็นเหตุเป็นปัจจัยร่วมกันกับอวิชชา คือเมื่อไม่รู้ในความเป็นจริง กล่าวคือจึงไปยึดอาสวะกิเลสนั้นว่าเป็นเราของเราอยู่ลึกๆในจิต จึงไปขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือเต้นไปตามอาสวะกิเลสนั้นๆ
         อาสวะกิเลส  เหล่านี้อันมี
    ๑. โสกะ ความโศก โศรกเศร้า แห้งใจ หดหู่ใจ โศรกเศร้าจากการเสื่อมหรือสูญเสียต่างๆเช่น โศกเศร้าของผู้ที่เสื่อมสุข เสื่อมญาติ เสื่อมทรัพย์ เสื่อมเกี่ยวด้วยโรค เสื่อมศีล เสื่อมทิฏฐิ เสื่อมยศ ฯลฯ.
    ๒. ปริเทวะ ความครํ่าครวญ โหยหา รํ่าไรรําพัน พิรี้พิไรรําพัน  อาการของความอาลัยอาวรณ์คิดคํานึงถึงในสุขหรือทุกข์ในอดีตที่เสื่อมหรือสูญเสียไปแล้ว เช่นโหยหา, อาลัย, ครํ่าครวญถึงสุข, ความสนุก, ญาติ, ทรัพย์, เกียรติ ฯลฯ.ที่เสื่อมหรือดับไปแล้วแต่อดีต อันอยากให้เกิดหรือไม่อยากเกิดขึ้นอีก   
    ๓. ทุกข์ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สบายกายทั้งหลาย ความจดจําได้ ความกลัว ในความเจ็บปวด ความป่วยไข้ การบาดเจ็บ
    ๔. โทมนัส เศร้าใจ เสียใจ ความทุกข์ทางจิต ความไม่สําราญทางจิต อารมณ์ไม่ดีเป็นทุกข์ หดหู่ เศร้าหมอง เกิดแต่ไม่ได้ตามใจปรารถนา
    ๕. อุปายาส ความขุ่นเคือง คับแค้นใจ ขุ่นข้อง เช่น ความโกรธ ความอาฆาต พยาบาท ขุ่นเคือง หรือเกิดจากความคับแค้นใจหรือถูกเบียดเบียน รังแก เอาเปรียบ หรือไม่ได้ดังใจปรารถนา
        อาสวะกิเลสที่เกิดจากความทุกข์เหล่านี้ที่หมักหมม นอนเนื่อง ซึมซ่าน ย้อมจิต เป็นตัวกระตุ้น เร่งเร้า ขับไส ผลักดันเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันร่วมกับอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริง  กระตุ้นสังขารให้ผุดขึ้นหรือเจตนาขึ้นมาอันเป็นเหตุปัจจัยอันก่อให้เป็นทุกข์  ปล่อยให้เป็นไปจนเป็นทุกข์ตามขบวนการเกิดของทุกข์ในปฏิจจสมุปบาท(ดูภาพการเป็นเหตุปัจจัยร่วมกัน)  อันจักหมุนดําเนินต่อไปไม่รู้จักจบ จักสิ้น เนื่องจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจจึงหยุดวงจรแห่งทุกข์นั้นไม่ได้,  และเหล่าอาสวะกิเลสเหล่านี้จะหมักหมม นอนเนื่องอยู่ในจิต ตามปกติจะมองไม่เห็นเช่น โกรธเกลียดใครอยู่คนหนึ่ง และไม่พบกันเป็นเวลานานๆ  เมื่อกาลเวลาผ่านไปเป็นเวลาหลายปีเมื่อมาเจอกันอีก อาสวะกิเลส(อุปายาส-ความขุ่นข้อง คับแค้นใจ)ที่นอนเนื่องสงบอยู่ จนไม่เคยคิดว่ายังมีอยู่  จะเกิดขึ้นทันที เปรียบได้ดั่งนํ้าที่แลดูใสสะอาดแต่มีตะกอนนอนก้นอยู่ เมื่อมีสิ่งใดมากวนก็จะฟุ้งกระจายขึ้นมาแสดงความไม่บริสุทธิ์ให้เห็นทันที    แต่มันไม่จบแค่นั้น มันร่วมเป็นปัจจัยกับอวิชชาความไม่รู้ให้ทํางานเริ่มวงจรของทุกข์...เริ่มสังขารในปฏิจจสมุปบาท เช่นความคิดที่เป็นทุกข์ ก่อทุกข์ใหม่ขึ้นอีกครั้ง ให้เป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทอีก,  นอกจากตกตะกอนนอนเนื่องแล้วยังมีแขวนลอยเป็นเชื้อโรคอยู่ในจิตเฉกเช่นเดียวกับนํ้า ที่มีทั้งแขวนลอยและตกตะกอน อาการพวกแขวนลอยได้แก่มีอาการหดหู่ หงุดหงิดมีโทสะกรุ่นๆโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ขุ่นมัว เศร้าหมอง   มักไม่เห็นเหตุที่เกิด นอกจากใช้ตาปัญญาเท่านั้น  อาการอย่างนี้เป็นได้นานๆมาก ล้วนเป็นผลมาจากพิษภัยอันร้ายกาจของอาสวะกิเลส  และเพราะอาสวะกิเลสนั้นก็เป็นสภาวะธรรมชาติที่เกิดจากความจํา(สัญญา)ดังนั้นจึงคงมีอยู่อันเป็นสภาวะธรรม(ชาติ),  เราจึงจําเป็นต้องมีวิชชาไม่ปล่อยไปตามอาสวะกิเลสนั้นๆ จนกว่าจักสิ้นอาสวะกิเลส(หมายถึงดับกิเลสโดยสัญญาจํายังมีอยู่  แต่ไม่มีผลใดๆต่อสภาวะจิตใจเนื่องจากเข้าใจสภาวะธรรมระดับสูงสุดแล้ว)เป็นการถาวร  ดั่งนี้ท่านคงเห็นแล้วอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริงแห่งธรรม(ชาติ)นั้นเป็นตัวสําคัญที่สุด เข้าใจยาก กําจัดยาก  พระพุทธองค์จึงทรงจัดไว้ลําดับสุดท้ายใน สังโยชน์ ๑๐ (ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์)ที่ต้องกําจัดก่อนถึงนิโรธ
        แล้วธรรมอันใดเล่าที่เราจักนําไปใช้ในการปราบพญามารนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสไว้อย่างชัดเจนแล้วในอริยสัจ๔ คือ มรรค๘ ทางปฏิบัติให้พ้นทุกข์(ดูอริยสัจ) อันจักต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดมรรค ๑๐ ในที่สุด (มรรคเพื่อการปฏิบัติมี๘ เพื่อยังให้เกิดมรรคมีองค์๑๐ของพระอริยเจ้า)    ซึ่งจะขอเน้นองค์ธรรมที่สําคัญที่ใช้เป็นหัวกระบวนรบนี้ "โลกุตรสัมมาทิฏฐิ หรือ สัมมาญาณ อันเป็นมรรคองค์ที่๙  ซึ่งจะยังให้เกิดมรรคองค์ที่๑๐ อันคือ สัมมาวิมุตติอันคือสุขจากการหลุดพ้น(นิโรธ,นิพพาน)ของเหล่าพระอริยเจ้า" นั่นเอง    ก่อนอื่นต้องขอกล่าวซํ้ากับเรื่องที่พูดในขันธ์๕เรื่องเวทนาไปแล้ว องค์ธรรมนี้ไม่ใช่องค์ธรรมในระดับศีล และธรรม หรือทางโลกทั่วๆไป(โลกียธรรม) เพราะอวิชชานั้นกล้าแกร่ง ต้องเป็นระดับโลกุตตระคือระดับเหนือโลก(มิได้หมายถึงอิทธิฤทธิ์)อันหมายถึงรู้เข้าใจตามสภาวะเป็นจริงของธรรม(ธรรมชาติ)นั้นๆ  ชึ่งจักบังเกิดขึ้นได้โดยวิธีโยนิโสมนสิการ หรือธรรมะวิจยะเท่านั้น คือการพิจารณาโดยละเอียดและแยบคายอันมีสติและสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน  ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการอ่าน การฟัง หรือเชื่อตามโดยศรัทธาฝ่ายเดียว  ต้องเอาธรรม(ธรรมชาติ)เป็นข้อพิจารณาโดยตรงจนเชื่อมั่นชนิดถึงใจ กระแทกใจ เข้าไปอย่างลึกซึ้งถึงที่สุด กล่าวคือ จนเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นและเป็นไปเยี่ยงนั้นด้วยเหตุด้วยผลจริงด้วยตนเองเท่านั้น จึงจักกําหราบอวิชชาพญามารนี้ได้  เพราะในภาวะนี้เท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนทัศนะคติ ความเชื่อ ความยึดถือ อุดมคติเดิมๆ  ดังเช่น ทิฏฐปุาทานความยึดมั่นตามความเชื่อความเข้าใจของตัวของตน  หรือสีลัพพตปาทานการเชื่อการปฏิบัติตามที่ยึดถือสืบต่อๆกันมา  ที่มีและสั่งสมมาตั้งแต่เกิดจวบจนปัจจุบัน หรือนานเสียจนไม่รู้ว่าสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้นให้คลายดับไป   เป็นการเชื่อหรือเข้าใจอย่างถูกต้องดีงามตามธรรมนั้นๆ   จึงจักสามารถปราบอวิชชานี้ได้อย่างเด็ดขาด  มิใช่ใช้การกด,ข่มไว้ อย่างการใช้กำลังสมาธิกดข่มไว้ ซึ่งไม่เป็นการถาวร  อันอุปมาดั่งหินทับหญ้า เมื่อยกหินออกเมื่อใดก็จักงอกงามขึ้นมาใหม่ ไม่เป็นไปเพื่อการกําจัดไปอย่างถาวรสิ้นเชิง,  ดั่งนี้จึงจักเกิดความมั่นคงดุจหินผาในคุณธรรม เป็นนิรันดร์ตลอดไป
        ข้าพเจ้าคงจะเขียนแนะแนวได้อย่างหยาบๆเท่าที่พอรู้อยู่บ้างเท่านั้นอันล้วนบังเกิดขึ้นโดยการพิจารณาธรรม(ธรรมะวิจยะ)โดยการโยนิโสมนสิการ(พิจารณากระทําในใจโดยละเอียดและแยบคาย), ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อหาทางพ้นทุกข์เช่นกันโดยศึกษาจากหนังสือต่างๆของท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโลท่านพุทธทาสหลวงพ่อพุธ ฐานิโย  และโดยเฉพาะหนังสือ "พุทธธรรม"ของท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)ท่านหลวงปู่เทสก์เทสรังสี .....ฯลฯ  จนใคร่ขอกราบแทบเท้าของปูชนียบุคคลของข้าพเจ้าไว้ ณ.ที่นี้ด้วย, ท่านทั้งหลายนี้ได้ช่วยแนะแนวจนข้าพเจ้าเกิดปัญญาพอนําไปใช้แก้ทุกข์ทางโลกทั้งหลาย จนมีความสุขสบายใจพอสมควร ชื่นอกชื่นใจในรสพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่โปรดประทานธรรมอันยิ่งใหญ่นับแต่โลกนี้อุบัติมา เพื่อโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ตกอยู่ในห้วงสมุทรแห่งทุกข์  และแก่นธรรมของพระองค์สามารถปฏิบัติได้จริง  เป็นวิทยาศาสตร์ชั้นสูงโดยแท้  ไม่ใช่ของงมงาย  ไม่ใช่ไสยศาตร์  ไม่ใช่เวทมนต์  ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์  หรือล้าสมัย อย่างที่เข้าใจและคิดในตอนแรก  ไม่ใช่ของเกินเอื้อมหรือเป็นแค่ทฤษฎีหรือปรัชญาจนปฏิบัติไม่ได้ตามความคิดที่เคยยึดถือ เคยเข้าใจจากการฟัง จากการอ่าน จากการปรุงแต่งฟุ้งซ่านมาอย่างผิดๆงมงาย  ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดบันทึกธรรมเล่มนี้ของข้าพเจ้าขึ้นมา เพื่อเผยแผ่ธรรมบางประการที่ข้าพเจ้าพอจักเข้าใจอยู่บ้าง เพื่อเกื้อกูลกัลยาณมิตรนักปฏิบัติและผู้ใฝ่ในธรรมเพื่อการดับทุกข์  และเป็นการตอบแทนพระคุณของพระพุทธศาสนา
        การปฏิบัตินี้ข้าพเจ้าเขียนตามภพภูมิความเข้าใจของข้าพเจ้าล้วนๆเป็นหลัก  อาจแปลกตาหรือแปลกใจท่านบ้าง แต่ก็ยืนอยู่ในหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมั่นคง  ท่านต้องไปแยกพินิจพิจารณาโดยวิธีโยนิโสมนสิการ ตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะในกาลามสูตร  สิ่งใดท่านพิจารณาโดยละเอียด และแยบคาย(ฉลาดในธรรม)แล้ว เห็นว่าถูกต้องก็เก็บไว้ สิ่งใดไม่ดีขัดกับความเข้าใจของท่านก็ทิ้งไป  แต่ขอให้ทิ้ง มานะ และ ทิฏฐุปาทานลงเป็นการชั่วคราว (ท่านต้องพยายามจริงๆเพราะมานะนี้และทิฏฐุปาทานนี้ บุคคลที่จักละได้สิ้นมีแต่อริยสาวก ระดับพระอรหันต์เท่านั้น เพราะฉนั้นโปรดพยายามใช้สติระงับไว้ชั่วคราว) ให้พิจารณาโดยใช้ข้อธรรมในข้อ อุเบกขา (เห็นเข้าใจตามความเป็นจริง โดยวางใจเป็นกลางใน สัมโพชณงค์๗  วางความเชื่อ ความเข้าใจ ความรู้เดิมๆไว้ชั่วขณะ แล้วประโยชน์อันสูงสุดจักบังเกิดแก่ท่านเป็นอัศจรรย์
        อนึ่งท่านที่ปฏิบัติสมถะสมาธิและวิปัสสนามาจนแก่กล้าแล้ว แต่ยังมีปัญหา คือ ไม่คืบหน้าไปตามสมควร อย่าโกรธหรือท้อแท้ แต่สํารวจตัวท่านเองอย่างละเอียดถ่องแท้อันไม่มีใครทราบได้นอกจากท่านคนเดียว  ขออย่าได้เอาความรู้สึกที่ว่าดี, ดีสุดยอดแล้ว ดีอยู่แล้ว มาร่วมด้วยโดยเด็ดขาด ขอให้ขาดจากความรู้สึกเชื่อมั่น ยึดมั่น ว่าดีแล้วดังกล่าวชั่วขณะ
        จริงๆแล้วสัมมาทิฎฐิ และ สัมมาดําริ(สังกัปปะ)ในมรรคองค์๘มันทํางานสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอด ไม่สามารถแยกแยะออกจากกันโดยเด็ดขาด ถ้าเราพยายามไปแยกหรือกังวลกลัวปฏิบัติไม่ก้าวหน้าเร็วอาจจะทําให้ติดขัดได้ จะเห็นชอบก็ต้องมีดําริชอบก่อน จะมีดําริชอบก็ต้องมีเห็นชอบ จะคล้ายปัญหาไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อนกัน ต่างทํางานประสานร่วมกัน แต่ถือว่าสัมมาทิฎฐิเป็นตัวฐานกําเนิดของมรรค๘ ตามพุทธพจน์ ดังกล่าวไว้ในเรื่องมรรคในอริยสัจ  แต่ในระดับที่ต้องการพ้นทุกข์นั้นจําเป็นต้องใช้ในระดับโลกุตตระ
        โลกุตตรสัมมาทิฎฐิ หรือสัมมาญาณ คือ ปัญญาชอบ ความเห็นชอบ เข้าใจชอบอย่างถูกต้องอย่างแยบคาย เห็นตามความเป็นจริงตามสภาวะธรรม(ชาติ)แท้ๆ โดยอุเบกขา(ใจเป็นกลาง)ในระดับเหนือโลกคือพ้นจากอํานาจของกิเลส ตัณหาตลอดจนทัศนคติ ความเชื่อเดิมๆ  มาเจือปนให้เกิดอคติใดๆ,  เห็นชอบ เข้าใจชอบในอวิชชา  ต้องทราบว่าตัวอวิชชามีอยู่ในจิตแบบใด ทํางานอย่างไรดังได้อธิบายไว้โดยสังเขปเบื้องต้น  เปรียบประดุจ ช่างยนต์ต้องมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกต่างๆอย่างดีจึงจักสามารถซ่อมเครื่องยนต์ได้  ถ้าท่านไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์อาจจะต้องรื้อหมดยกเครื่องทั้งคัน ทั้งๆที่แค่นมหนูในคาบิวเรเตอร์ตันเพียงเอาลมเป่าก็จบแล้ว  เช่นเดียวกันท่านต้องเข้าใจในอวิชชาว่าทํางานอย่างไร(ศึกษาจากปฏิจจสมุปบาทมีกล่าวถึงกระบวนการทํางานของทุกข์ไว้) เมื่อท่านศึกษาแล้วจะรู้จะเข้าใจว่า มันเนื่องมาจากความทุกข์(อุปาทานทุกข์)ที่ก่อให้เกิดอาสวะกิเลส   อันเป็นปัจจัยร่วมกับอวิชชา แล้วเป็นไปตามกระบวนการเกิดทุกข์ คือ เกิดตัณหา และอุปาทานตัวใหญ่สุด,ประณีตที่สุด,ละเอียดที่สุด  กล่าวได้ว่าเป็นหัวหน้าพญามารของมารทั้งหลายทั้งปวง,   เห็นและเข้าใจในโทษอันมหันต์ของอวิชชา  กล่าวได้ว่าความทุกข์ทั้งหลายทั้งมวลตั้งแต่เราอุบัติขึ้นในโลกนี้เกิดจากอวิชชาความไม่รู้และไม่รู้เท่าทันคือยังไม่มีวิชชา จึงปล่อยไปตามกิเลสตัณหาอันมีคุณอยู่สิ่งเดียวแท้ๆคือตัณหาที่อยากพ้นทุกข์ เป็นการเอาตัณหาดับตัณหา นอกนั้นเป็นสิ่งจอมปลอมทั้งสิ้น มีแอบแฝงกิเลสและตัณหาอยู่ทุกขณะจิต แม้กระทั่งการทําบุญทํากุศลก็เพื่อมุ่งหวังชีวิตที่ดีขึ้นในภพนี้, ภพหน้า หรือหน้าตาในวงสังคม อยู่ลึกๆในจิตโดยไม่รู้ตัว
-เห็นเข้าใจอริยสัจ    กระทํากิจในอริยสัจ๔ อันมี ๑๒ ญาณทัศนะหรือ ๑๒ ข้อ (อ่านอริยสัจ)
-เห็นหรือเข้าใจว่า อวิชชามันมีจริงคือความไม่รู้ และไม่รู้เท่าทัน(สติ)ตามความเป็นจริงในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ จึงแสดงผลออกมา เข้าใจให้ได้ว่ามีอยู่จริงๆ
-เห็นหรือเข้าใจกระบวนการทํางานของทุกข์ว่า  เมื่อเกิดอุปาทานทุกข์ใน ชรา-มรณะ ก็จะเกิดอาสวะกิเลส แล้วเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชา โดยคิดนึกเปรียบเทียบจากอดีต ตามความเป็นจริงจนเห็นหรือเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ  ถ้าไม่เห็นเช่นนั้นท่านต้องหาคําตอบมาตอบตัวเองให้ได้ เพราะปล่อยเป็นวิจิกิจฉา(สงสัย ลังเล)ไว้ไม่ได้ เพราะเป็นการตัดทอนกําลังของปัญญาในธรรม
-เห็น หรือเข้าใจ ในโทษอันมหันต์ที่สุดของอวิชชาที่แอบแฝง ล่องหน อยู่ในจิตจนปุถุชนมองไม่เห็นตัวการใหญ่แห่งความทุกข์นอกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกๆความคิดนึกปรุงแต่ง ที่ก่อให้เกิดทุกข์ ทุกชนิดล้วนก่อกําเนิดมาจากอวิชชาทั้งสิ้น  จึงมาเร่งเร้าผลักดันอยู่เบื้องหลังอย่างแอบแฝงและเร้นลับตลอดเวลาไม่เคยหยุดแม้ขณะหลับ ตั้งแต่อดีตกาลจวบจนปัจจุบันกาลนี้ในปุถุชนทุกผู้ทุกนาม ยกเว้นผู้ที่กําจัดอวิชชาจนจบสิ้น
        การเห็น, เข้าใจในโลกุตตรสัมมาทิฎฐินั้น ต้องเป็นการเห็นเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งจริง  ไม่ใช่อ่านแล้วเข้าใจก็จบ  คิดว่าเข้าใจแล้ว(เป็นเช่นนี้ส่วนใหญ่) ต้องมาจากโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยแยบคายตามความเป็นจริงของธรรมชาติ (ที่ไม่ใช่จากความอยากให้เป็นไปหรือการปรุงแต่งใดๆของเรา)  มีวิจิกิจฉา(ความสงสัยใดๆ)ไม่ได้  ถ้าท่านยังรู้สึกมีวิจิกิจฉาอยู่ก็ต้องพิจารณาต่อ (ไม่ได้หมายความว่าต้องทําวันเดียวจบ) จนหายสงสัยจนหมดสิ้น  เพราะสัมมาทิฎฐินี้จะต้องมั่นคงดุจภูผาใหญ่ เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างความยึดถือเข้าใจใหม่ของจิต เป็น จิตพุทธะ ผู้ไม่มีอาสวะกิเลสและอวิชชา เนื่องจากการเห็นมหันตโทษ   จิตเมื่อรู้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วก็จะค่อยๆถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นออก บางคนอาจจะถอดถอน(หรือเข้าใจ)ออกเป็นชุดใหญ่ๆในขณะจิตเดียวที่เรียกว่ามรรคสมังคี หรือ ธรรมสามัคคีขึ้นอยู่กับจริต และเหตุที่ปฏิบัติ ไม่เหมือนกันทุกคน (อย่าไปคิดบังคับให้มีให้เกิดเพราะทําเหตุปัจจัยถูกมันก็เป็นเอง ควบคุมให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้)
         สังขารเข้าใจแล้วว่ามาจากอาสวะกิเลสเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชา  ต้องลดกําลังของอาสวะกิเลส......ฯลฯ.เมื่อท่านตัดการส่งกําลังบํารุงอย่างถูกต้องมีหรือที่ข้าศึกจะไม่ยอมแพ้ หมั่นปฏิบัติแบบสบายๆอยู่เป็นประจํา  ไม่จําเป็นต้องนั่งสมาธิในรูปแบบ แต่จิตขณะนั้นต้องปลอดโปร่งจากสิ่งขุ่นมัวก็ใช้ได้(ขณิกสมาธิ)  ทําในชีวิตประจําวันทั่วไป  เห็นการเกิดขึ้นต่างๆในจิตอย่างเข้าใจว่าล้วนเป็นไปตามกระบวนธรรมของขันธ์๕ หรือปฏิจจสมุปบาทล้วนสิ้น
        ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่าเมื่อเราเข้าใจและดับทุกข์ในปัจจุบันของเราไปอย่างสมํ่าเสมอเมื่อนั้นอวิชชาก็จะอ่อนกําลังไปตลอดเวลา  ไม่มีกําลังใหม่มาเสริม อันเนื่องมาจากอาสวะกิเลสอันเกิดจากทุกข์ลดน้อยถอยลงไปทุกขณะที่มีสติ จนในที่สุดมันไม่สามารถอยู่ได้เพราะขาดเหตุปัจจัยมาสนับสนุน  หรือเมื่อปัญญาหรือวิชชามีกําลังเหนือกว่าอวิชชา เพราะทุกขณะจิตที่ทุกข์ไม่เกิด กําลังของปัญญาหรือวิชชาก็จักเจริญเติบโตกล้าแข็งขึ้นทุกขณะจิตเช่นกัน จนเหนือกว่าอวิชชา ทําให้เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงของธรรมชาติ วันนั้นก็เป็นการสิ้นสุดการปฏิบัติของเราสิ้นภพอันเป็นสภาวะที่เกิดใหม่ สิ้นชาติแห่งการกระทําอันเป็นทางเกิดแห่งทุกข์

จิตไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง(กิเลส) อวิชชาอันนอนเนื่องอยู่ก็ไม่ทํางาน
สังขารก็ย่อมเกิดไม่ได้...........ทุกข์อุปาทานก็ย่อมเกิดไม่ได้
ถ้าลดอาสวะกิเลสยังไม่ได้ให้ปรับจิตที่ขุ่นมัวแทนคือยังมีเหลืออยู่แต่น้อยลง อวิชชาก็ย่อมเบาบางลง เป็นเหตุปัจจัยกัน
อวิชชาเบาบางลง เป็นปัจจัยให้ สังขารคิดอันก่อทุกข์น้อยลง เป็นเหตุปัจจัยกัน
สังขารน้อยลง เป็นปัจจัยให้ เวทนา(หรือสังขารขันธ์)น้อยลง เป็นเหตุปัจจัยกัน
เวทนาน้อยลง เป็นปัจจัยให้ ตัณหาน้อยลง เป็นเหตุปัจจัยกัน
ตัณหาน้อยลง เป็นปัจจัยให้ อุปาทานน้อยลง เป็นเหตุปัจจัยกัน
อุปาทานน้อยลง เป็นปัจจัยให้ ทุกข์อุปาทานขันธ์๕และกิเลสขุ่นมัวพึงเกิดน้อยลงเป็นเหตุปัจจัยกัน........วนเวียนเป็นวงจรถอดถอนอย่างนี้เช่นกัน ทุกข์ก็จักน้อยลงไปเรื่อยๆ จนถึงสภาวะนิโรธ
ทุกข์อันเกิดแต่ขันธ์๕ทั้งทางใจและกายนั้นมีเป็นปกติอันเป็นสภาวะธรรมชาติ
แต่ไม่มีอุปาทานทุกข์
--------------------------

วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

24: พระนิพพาน

1) บรรดานักคิดนักแต่งทั้งหลาย ได้พากันโฆษณามาหลายร้อยปีแล้วว่า พระนิพพานเป็นสภาพสูญ แต่พอมาอ่านหนังสือของพระอรหันต์ท่านเขียน คือ หนังสือวิสุทธิมรรค ท่านกลับยืนยันว่าพระนิพพานไม่สูญ ดังท่านจะเห็นตามบาลีทั้ง 8 ที่ท่านยกมาเป็นองค์ภาวนานั้น คือ มัททนิมมัทโน พระนิพพานตัดความเมาในชีวิต วิปาสวินโย นิพพานบรรเทาความกระหายในกามคุณ 5 อาลยสมุคฆโต พระนิพพานถอนอาลัยในกามคุณ วัฏฏปัจเฉโท พระนิพพานตัดวนสามให้ขาด ตัณหักขโย พระนิพพานมีตัณหาสิ้นแล้ว หรือสิ้นตัณหาแล้วเข้าสู่พระนิพพาน วิราโค มีความเบื่อหน่ายในตัณหา นิโรโธ ดับตัณหาได้สนิทแล้ว โดยตัณหาไม่กำเริบอีก นิพพานัง มีความดับสนิทแล้วจาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม อันเป็นเหตุให้เกิดอีกในวัฏฏสงสาร
ความหมายตามบาลีที่ท่านว่าไว้นี้ ไม่ได้บอกว่าท่านที่ถึงนิพพานแล้วสูญ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นความเห็นผิด เมื่อบาลีท่านยันว่า นิพพานไม่สูญแล้ว ท่านบรรดานักเขียนนักแต่งทั้งหลาย ท่านเอามาจากไหนว่า นิพพานสูญ อันนี้น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดอะไรกันสักอย่าง เพราะมีพระบาลีบทหนึ่งว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง แปลว่า นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง ท่านอาจจะไปคว้าเอา ปรมัง สุญญัง โดยเข้าใจว่า สูญโญเข้าให้ เรื่องถึงได้ไปกันใหญ่


2) นิพพาน นิพพาน เขาแปลว่า ดับ คือดับความชั่ว ได้แก่ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง เป็นอารมณ์จิตที่บริสุทธิ์ ไม่มีความชั่วเจือปน เขตของพระนิพพานไม่มีความตาย ไม่มีการป่วย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น ถ้าท่านพุทธบริษัทสงสัย ก็พยายามฝึกมโนมยิทธิ หรือ ทิพย์จักขุญาณได้พอสมควร ท่านจะรู้ได้รู้จักสภาวะของ พระนิพพาน ดีกว่าอ่านหนังสือแล้วก็เดาเอา


3) พระนิพพาน มีแดนไหม หรือว่าพระนิพพานสูญ สูญหรือไม่สูญมีแดนหรือไม่มีแดน ถ้าเราคือสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ต้องคิด คิดว่าธรรมใดที่องค์สมเด็จพระธรรมสามิสร สอนเราในชาตินี้ ที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ว่า นี่เป็นเชื้อของความทุกข์ มันก็ทุกข์จริง ๆ อันนี้เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข มันก็สุขจริง ๆ อันนี้ของสกปรกโสมมมันไม่สะอาด มันก็สกปรกจริง ๆ ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรา เราพิจารณาเห็นแล้วว่าเป็นความจริงทุกอย่าง ฉะนั้นแดนที่มีความสุขจริงอย่างยิ่ง ไม่มีทุกข์เจือปน ก็คือ แดนพระนิพพาน แดนพระนิพพานก็เป็นแดนจริง ๆ มีความสุข จริง ๆ และก็ต้องมีจริง


4) สำหรับท่านที่รักการปฏิบัติจริง เรื่องมรรคผลนิพพานเป็นเรื่องใหญ่ นิพพานที่เข้าใจกันว่าสูญนั้นเป็นการเข้าใจผิดชัด ๆ ความจริงนิพพานไม่สูญ เป็นแดนพิเศษที่เหนือเทวดาและพรหม มีความสวยสดงดงามมากกว่าเทวดาและพรหม มีความสุขละเอียดกว่า สุขุมกว่า ไปไหน มาไหนได้สบาย ไม่มีสภาพสิ้นซากหรือไร้ความรู้สึก


5) ถ้าอยากจะเห็นพระนิพพาน ต้องเจริญวิปัสสนาญาณ ให้ได้บรรลุพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำ อาศัยญาณที่ได้ไว้ในสมัยโลกียฌาน และอาศัยผลที่เป็นพระอริยะ ท่านเรียกญาณที่ได้ว่า วิมุตติญาณทัสสนะ แปลว่า หลุดพ้นจากกิเลสพร้อมด้วยฌานเป็นเครื่องรู้ เท่านี้พระนิพพานก็ปรากฏชัดแก่ญาณจักษุ พระโสดาบันนี้ได้แต่เห็นพระนิพพาน ยังอาศัยนิพพานเป็นที่พักผ่อนไม่ได้ ถ้าสำเร็จอรหัตตผลแล้ว ท่านก็ไปนอนค้างบนนิพพาน อันเป็นสถานที่อยู่สำหรับตนได้เลย บนนิพพานก็คล้ายกับพรหม มีวิมาน แต่วิจิตรมาก ร่างของท่านที่เข้าพระนิพพานเป็นทิพย์ ละเอียด ใสสะอาด ใสคล้ายแก้วประกายพรึก มีรัศมีสว่าง มากกว่าพรหม อย่างเทียบกันไม่ได้เลย มีความสุขที่สุด อย่างไม่มีอะไรเปรียบ เพราะความรู้สึกอย่างอื่นไม่มี มีแต่จิตสงเคราะห์


6) ถ้าถามว่า ถ้าคนเขาอยากไปพระนิพพานเป็นตัณหาไหม ก็เห็นจะ 99 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบว่า คำว่าอยาก แปลว่า ตัณหา ในเมื่ออยากไปพระนิพพาน ก็แสดงว่าเป็นตัณหาเหมือนกัน ก็เลยบอกว่านี่แกเทศน์แล้วแกก็เดินลงนรกเลยสบาย ไปเสียคนเดียวก่อน ดีกว่ามาชวนชาวบ้านเขาไปอีก ถ้าต้องการไปนิพพาน เขาเรียกว่า ธรรมะฉันทะ มีความพอใจในธรรม เป็นอาการซึ่งทรงความดี พวกเราฟังแล้วจำไว้ด้วยนะ ถ้าใครเขาถามจะได้ตอบถูก


7) การเข้าพระนิพพานไม่มีอะไรยาก เพียงแต่ชนะใจตัวเองเท่านั้นคือ
- ไม่ทำหรือคิดว่าจะทำความชั่วทุกอย่าง(ตามแบบศีล 5 )
- สร้างความดีที่ทำให้เกิดความสุขแก่ตนและคนอื่นทุกอย่าง
- ชำระใจให้เข้าใจในเหตุผล เคารพตามความเป็นจริง ไม่มีอารมณ์ฝืนกฎธรรมดา เห็นโลกเป็นทุกข์ตามความเป็นจริง รู้เหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์ คือ ความอยากไม่รู้จบ ไม่สนใจกับความเคลื่อนไปของสิ่งมีชีวิต ไม่ต้องการความเกิดรู้ตัวเสมอว่าทรัพย์สินที่หามาได้นั้น เราไม่มีโอกาสปกครองได้ตลอดกาล เมื่อถึงเวลาต้องพลัดพรากจากมันเป็นปกติ เมื่อมันจากเรา หรือเราจากมัน ไม่มีอารมณ์เป็นห่วงหรือหนักใจ เห็นความตายเป็นกีฬาสำหรับเด็ก เท่านี้จะทำให้ใจสบาย เรื่องสวรรค์หรือพรหมถือว่าต่ำเกินไป ไปนิพพานเลยดีกว่า นิพพานมีแต่สุข หาทุกข์ไม่ได้


8) ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง มีอารมณ์จับพระนิพพานเป็นอารมณ์ จิตมันก็ไม่ถอย เมื่อจิตมันไม่ถอยทำอย่างไร ก็มีอย่างเดียว การก้าวไปสู่พระนิพพาน


9) แต่ว่าขอเตือนสักนิด ถ้าจะทำจิตของเราให้ทรงอารมณ์เป็นพระนิพพานจริง ๆ ขอบรรดาท่านภิกษุ สามเณร และท่านพุทธบริษัทชายหญิง จงพยายามทรงทรงอารมณ์ บารมี 10 ประการ ไว้ให้ครบถ้วน อันนี้ทิ้งไม่ได้ เกาะบารมี 10 ประการ ว่าสิ่งไหนบ้างที่ยังไม่มีสำหรับเราเรายังบกพร่อง อย่าให้บกพร่อง และใช้กำลังสมาธิควบคุมให้ทรงตัวให้มีกำลัง จรณะ 15 ที่เป็นกำแพงกั้น ที่จะไม่ให้เราตกอยู่ในภาวะของความชั่วแห่งจิต และใช้ อิทธิบาท 4 เป็นเครื่องสนับสนุน ให้เราเข้าถึงความสุข ทรงกำลัง 3 ประการให้ทรงตัว แล้วใคร่ครวญหาความจริงว่า ร่างกายมันเป็นโทษ มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา หาความดีไม่ได้ เกิดเป็นคน เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม ก็ไม่พ้นทุกข์ จิตยึดอารมณ์พระนิพพานเป็นอารมณ์


10) การเป็นพระอรหันต์ไม่เห็นยาก คือ ตัดความพอใจในโลกทั้งสาม มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก ตัดราคะ ความเห็นว่ามนุษย์โลกสวย เทวโลกสวย พรหมโลกสวย โลกทั้งสามไม่มีความหมายสำหรับเรา เราไม่ต้องการสิ่งที่เราต้องการคือ พระนิพพาน มีความเยือกเย็นเป็นปกติ ไม่เห็นอะไรเป็นเราเป็นของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทบถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มีขนตกอยู่เป็นปกติ คือว่าไม่มีการสะดุ้งหวาดหวั่นอันใด


11) พระอรหันต์ย่อมไม่ปรากฏเห็นว่าอะไรในโลกนี้เป็นเราเป็นของเรา ไม่เห็นว่าอะไรในโลกนี้เป็นของดีและก้ไม่เห็นว่าอะไรในโลกนี้เป็นของเลว ทั้งนี้เพราะพระอรหันต์ยอมรับนับถือกฎแห่งความเป็นจริง ว่า ธรรมดาของโลกนี้เป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เป็นกฎธรรมดาไปหมด ไม่มีอะไรเป็นเครื่องสะเทือนใจ พระอรหันต์ เขาด่าก็ไม่สะเทือนใจ เขาชมก็ไม่สะเทือนใจ อะไร ๆ เกิดขึ้นมาทั้งทีก็เป็นเรื่องธรรมดา


12) ถ้าจะถึงอรหันต์ ทีนี้อารมณ์ใจมันสบายทุกอย่าง คือว่าไม่หลงในฌาน ฌานทุกอย่าง ทั้ง รูปฌาน และ อรูปฌาน เราพอใจ แต่คิดแต่เพียงว่านี่เป็นบันไดก้าวขึ้นสู่อริยะเบื้องสูงเท่านั้น ไม่ใช่มานั่งหลงว่ากันทั้งวันทั้งคืน นั่งกรรมฐานตลอดวันตลอดคืน นั่นมันยังเป็นเด็กเล็ก ๆ อยู่ ทีนี้หลงในฌานไม่มี ตัวมานะ ถือว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขาไม่มี และอาการณ์ฟุ้งซ่าน สอดส่ายไปสู่อารมณ์อกุศลไม่มี และตัวสุดท้ายก็เห็นว่าโลกทั้ง 3 โลก คือ มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก ไม่มีความหมายสำหรับเรา เห็นสภาวะของโลกทุกอย่างนี้ทั้ง 3 โลก มันเป็นแดนของความทุกข์ สิ่งที่มีความสุขที่สุดคือ พระนิพพาน อันนี้ ถ้าเป็นสุขวิปัสสโก ท่านจะมีความสบายมาก สบายในอารมณ์ ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ยอมรับนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า พระนิพพานมีจริง และพระนิพพานเป็นดินแดนของความสุข แม้ท่านจะไม่เห็น หากว่า พระวิชชาสาม ก็ดี อภิญญา 6 ก็ดี ปฏิสัมภิทาญาณก็ดี นี่เขาไปที่พระนิพพานได้เลย จะสามารถเห็นพระนิพพานได้เท่า ๆ กับเห็นของที่มองอยู่ตรงหน้า แล้วเขาก็จะรู้สภาวะว่า ถ้าเขาทิ้งอัตภาพนี้แล้ว เขาจะไปอยู่ตรงไหน เพราะพระนิพพานไม่ได้มีสภาพสูญ เขาก็เข้าสู่จุดของเขาเลยที่พระนิพพาน เข้าที่อยู่ได้ ไปไหวพระพุทธเจ้าได

23: พระอรหันต์

1) พระอรหันต์มี 4 แบบ คือ สุขวิปัสสโก หมดกิเลสแล้ว แต่ไม่มีความรู้พิเศษ เห็นผีเห็นเทวดาไม่ได้ ได้แต่ปลงสังขาร ให้อารมณ์หยุดอยาก คือ ไม่อยากเกิด ไม่อยากมี ไม่อยากเอาดีกับชาวโลก เพราะเห็นว่าเมื่อยังเกิด ตราบใด ก็ยังต้องทุกข์ตราบนั้น ท่านเลยเบื่อเกิด ทั้งเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม ท่านไม่เอาด้วยทั้งนั้น สิ่งที่ท่านต้องการก็คือ พระนิพพาน


2) พระอรหันต์อีกแบบหนึ่งก็คือ พระอรหันต์ที่เรียกว่า เตวิชโช คือ ท่านทรงวิชชาสาม ได้แก่
- ทิพยจักขุญาณ มีอารมณ์จิตเป็นทิพย์ รู้เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งอดีตและอนาคต ท่านรู้ได้คล้ายตาทิพย์
- อันดับที่สอง สามารถระลึกชาติในอดีตได้ทุกชาติที่ท่านเกิดมาแล้ว
- สาม ท่านละกิเลสหมดทุกอย่างเหมือนท่านสุกขวิปัสสโก


3) พระอรหันต์อันดับที่ 3 ได้แก่ท่านผู้ทรง อภิญญา 6 คือ
- แสดงฤทธิ์ได้ทุกอย่าง เพราะอำนาจกสิณ
- มีหูทิพย์ เพราะอำนาจกสิณ
- มีทิพยจักขุญาณ
- มีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
- รู้ความรู้สึกนึกคิดของคนและสัตว์ได้
- ทำกิเลสให้สิ้นไป


4) พระอรหันต์ประเภทที่ 4 ท่านมีอำนาจฤทธิ์เหมือนท่านผู้ทรงอภิญญา แต่มีญาณพิเศษกว่า คือ มีปัญญาฉลาดเฉียบแฉลม สามารถคิดคำนวณพยากรณ์เหตุการณ์ทุกอย่างได้โดยฉับพลัน มีฤทธิ์คล่องแคล่วกว่าอภิญญา 6
ท่านอันดับที่ 4 นี้แหละ ที่ท่าน ปิณโฑลภารทวาชะ และท่านโมคคัลลาน์ ท่านทรงได้
ได้บรรยายเรื่องพระอรหันต์พอให้ท่านผู้อ่านทราบไว้เพียงย่อ ๆ จะได้ไม่เข้าใจผิด เพราะคนส่วนมากก็คิดว่าพระอรหันต์จะต้องเป็นพระมีฤทธิ์เหมือนกันหมดทุกองค์ ความจริงพระอรหันต์ไม่ใช่จะมีฤทธิ์มีเดชเหมือนกันหมดตามที่บอกมาแล้ว


5) การเดินทางเข้าสู่พระอรหันต์หรือพระอรหัตตมรรคนี่อันดับแรกก็ตัด รูปราคะ อรูปราคะ คือ ใช้ปัญญาพิจารณาว่า รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี เป็นเพียงแค่กำลังหวังมรรคผลในการตัดกิเลสเท่านั้น เราจะไม่หลงจมอยู่เฉพาะรูปฌาน หรืออรูปฌาน จะทำความดีต่อไป
ความจริงเป็นพระอนาคามีแล้ว ตัวนี้ไม่ต้องตัดก็ได้นะ มันไม่มีอะไรเกาะ แต่ถ้าพูดกันตามแบบก็ต้องพูด มันเป็น อนุสัย คือ กิเลสเบามาก พระอรหัตตมรรคนี่เป็นการตัดกิเลสจุ๋มจิ๋ม ไม่ใช้กำลังหนัก ไปหนักแค่อนาคามี
ต่อมาก็ตัด มานะ การถือตัวถือตน การถือตนว่าเราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา นี้ยกยอดไปจากจิต คิดว่าคนก็แค่คน สัตว์ก็แค่คน มันแค่กันหรือเปล่า สัตว์บางทีก็สูงกว่าคนนะ อย่างแมลงวันจับบนหัวเรา
คำว่าแค่กัน หมายความว่า ทุกอย่างต่างก็ธาตุ 4เหมือนกัน รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน ถ้าเราจะเกลียดสัตว์ ก็จงนึกว่าสัตว์กับเรามีอะไรแตกต่างกันบ้าง
1. เนื้อ สัตว์มีไหม 2. กระดูก มีไหม 3. เลือด เนื้อ มีไหม เรามีเหมือนสัตว์หรือเปล่า สัตว์กับเรามีสภาพเหมือนกัน คือ มีธาตุ 4 เหมือนกัน ร่างกายสกปรกเหมือนกันใช่ไหม


6) อรหัตตมรรคเข้าไปตัด อุทธัจจะ คือ อารมณ์ฟุ้งซ่าน คือ ความฟุ้งซ่านของจิตน่ะ พระอรหัตตมรรคกับปุถุชนนี้ไม่เท่ากันนะ
ปุถุชนอารมณ์ฟุ้งซ่านในด้านอกุศลมีมาก จิตคิดในด้านอกุศลมีอยู่ ภาวนาไปบ้าง พิจารณาไปบ้าง ดีไม่ดีภาวนาไป ๆ นึกถึงใครที่ไม่ชอบใจ เลยกลายเป็นภาวนาด่าไปเลย อันนี้มันฟุ้งซ่านเป็นอกุศลได้ ถ้าจิตเข้าถึงพระโสดาบัน จิตนึกไม่ชอบใจยังมีอยู่ แต่จิตคิดประทุษร้ายจริง ๆ ไม่มี ถ้าถึงพวกสกิทาคามี จิตคิดประทุษร้ายจะหายาก โกรธมาปั๊บ โกรธเบามาก แล้วก็หายเร็ว ที่เรียกว่า อภัยทาน ไม่ผูกอาฆาต นี่เรียกว่า พระสกิทาคามี
พอถึงพระอนาคามี อารมณ์จิตที่มันฟุ้งซ่านเข้ามาอารมณ์จิตอกุศลไม่มี จิตคิดทำลายเขาไม่มี มีแต่คิดว่ากูเป็นอนาคามีนี่วะ พักแค่นี้ก็ได้ ตายไปเป็นเทวดาหรือพรหม ฉันตีตั๋วต่อเลย อันนี้มีบ้าง ไม่มาก
พอถึงอรหันตตมรรคก็ในลักษณะเดียวกัน ทำไป ๆ เห็นร่างกายมันไม่ดี ปวดบ้าง เมื่อยบ้าง เป็นโน่นบ้าง เป็นนี่บ้าง เอ๊ย เราก็เป็นพระอนาคามีแล้วนี่โว้ย เรื่องเล็ก ๆ น่ะ นอนพักผ่อนเสียได้ ตายเมื่อไรเป็นเทวดา พักหน่อยค่อยไปนิพพาน


7) อารมณ์พระอรหันต์ นั่นก็คือ คิดว่าไม่หลงในรูปฌาน และอรูปฌาน จิตไม่มีมานะ การถือตัวถือตน จิตไม่มีอารมณ์ฟุ้งซ่านออกนอกรีตนอกรอย จิตไม่ติดในอวิชชา คือ ฉันทะ กับ ราคะ ฉันทะ ความพอใจเห็นว่ามนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลกไม่มี ราคะ จิตเห็นว่ามนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก สวยไม่มี ไม่พอใจใน 3 โลก จิตพอใจจุดเดียว คือ นิพพาน
นี่เป็นอารมณ์พระอรหันต์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์พระอรหันต์คือ ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ไล่ลงมาอีกทีนะ จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดาว่าธรรมดาคนเกิดมาแล้วต้องแก่ คนเกิดมาแล้วต้องป่วย คนเกิดมาแล้วต้องมีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ คนเกิดมาแล้วต้องตาย ความปรารถนาไม่สมหวังย่อมมีแก่ทุกคน ถ้าทุกอย่างมันเกิดขึ้น ใจท่านไม่หวั่นไหว ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็จิตคิดว่าร่างกายนี้พังเมื่อไร ฉันไปนิพพานเมื่อนั้น ใจสบาย


8) ทีนี้มาพูดถึงอารมณ์ของพระอรหันต์ พระอรหันต์นี่ก็ยังมีอารมณ์คิด มีอารมณ์ใคร่ครวญ พระอรหันต์ไม่ใช่ตอไม้ บุคคลบางคนจะรู้สึกว่า ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วจะต้องมีสภาพเหมือนตุ๊กตา หรือตอไม้ บางรายมักจะสร้างแบบขึ้นมาว่า พระอรหันต์นี่ไม่มีการหัวเราะ ไม่มีการยิ้ม เขาคิดอย่างนี้คงเข้าใจว่า เมื่อคนใดเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ คนนั้นคงจะปราศจากจิต คงจะปราศจากวิญญาณ คือ มีสภาพเหมือนคนตายดิบประเภทนั้นกระมัง
นี่ความคิดอย่างนี้มิใช่ความคิดอย่างเดียว ขนาดพูดออกมาทางปาก นี่เขาเหล่านั้นตามความเข้าใจของฉันคิดว่าท่านที่พูดอย่างนั้นคงจะมีศีล 5 ยังไม่ครบ ถ้าคนมีศีล 5 ครบ ไม่พูดแบบนั้น เพราะคนที่มีศีล 5 ครบถ้วนนี้เป็นพระอริยเจ้า คือ พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ถ้าเข้าถึงช่วงนี้แล้ว เขาไม่มีความสงสัยในปฏิปทาของพระอรหันต์ เขาคงจะลืมไปว่าแม้แต่องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงมีการแย้มพระโอษฐ์
เป็นอันพึงเข้าใจว่า พระอรหันต์เองก็ยังมีอารมณ์ไม่สงบ ปักอยู่เฉพาะจุด ยังมีอารมณ์คิด แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็มีอารมณ์เช่นนั้นเหมือนกัน เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ทั้งหลาย ถ้าสาวกก็เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้สิ้นกิเลสเหมือนกัน แต่ทว่าความรู้พิเศษในด้านญาณต่าง ๆ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามีความสามารถมากกว่าพระอรหันต์ใด ๆ ที่เป็นสาวก


9) ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ทั้งภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา จงจำไว้ว่าคำว่าถึงพระอรหันต์นะ มันมีอยู่คำเดียวหรืออย่างเดียวคือ เราไม่ติดอะไรทั้งหมด อีกทั้งกำหนดรู้ว่าวัตถุธาตุต่าง ๆ คนก็ดี ใครก็ตามที่ไม่ได้เนื่องกับเราคือไม่ใช่ของเรา แต่เขาเนื่องถึงเราจริงเราสงเคราะห์ หรือทำงานสงเคราะห์ให้ตามหน้าที่ทุกอย่าง แต่เราไม่ผูกพัน คิดว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย แม้แต่ร่างกายเราก็ไม่ต้องการ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ตรงกับองค์สมเด็จพระพิชิตมารตรัสไว้ในท้าย มหาสติปัฏฐานสูตร ว่า
เธอจงอย่าสนใจกายภายใน คือ กายตนเอง อย่าติดใจกายภายนอก คือ กายคนอื่น และก็จงอย่าติดใจในวัตถุธาตุใด ๆ จงปลดกำลังใจว่า แม้แต่ร่างกายนี้ มันก็ไม่ใช่เป็นของเรา เพียงแค่นี้ทุกคนก็เป็นพระอรหันต์

22: พระอนาคามี

1) ถ้าจิตของบรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าสู่ พระอนาคามิมรรค ได้ มันเข้ามาเอง ทำไป ๆ จิตมันก็โทรมลงมา คือ ว่าจิตหมดกำลังในด้านความชั่ว ทรงความดีมากขึ้นต่อมามีความเบื่อหน่ายในเรื่องระหว่างเพศ มีความสลดใจ
ถ้าหากว่าจิตของเราไม่พอใจในศีล 5 มีความพอใจในศีล 8 แล้วก็มีความมั่นคงในศีล 8 อย่างนี้ท่านถือว่าเริ่มเข้า อนาคามิมรรค เรียกว่า เดินทางเข้าหาพระอนาคามี
ต่อไปถ้าจิตมีความเบื่อหน่ายในระหว่างเพศ คือ ถ้าหมดความรู้สึก ก็ถือว่าเป็น พระอนาคามิมรรค
และต่อมาถ้าจิตลดจากความโกรธ ความไม่พอใจ ปฏิฆะ ก็คืออารมณ์กระทบกระทั่งใจนิดๆ หน่อย ความไม่พอใจ ไอ้การแสดงออกน่าจะมีสำหรับคนในปกครอง ถ้าทำไม่ดีต้องดุ ต้องด่า ต้องลงโทษ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นการหวังดี แต่ว่าเนื้อแท้จริง ๆ จิตคิดประทุษร้ายไม่มี เป็นการหวังดีแก่ทุกคน คือตัดตัว ปฏิฆะ ถ้าเป็นอย่างนี้ถือว่าเต็มภาคภูมิของ พระอนาคามิผล
รวมความว่าจากพระสกิทาคามีแล้วเป็นพระอนาคามี ก็คือ
- สังเกตไว้ว่าใจเราพอใจในศีล 8 ได้ครบถ้วนจริงแล้วก็
- จิตตัดอารมณ์ในกามารมณ์ได้เด็ดขาด ไม่มีความรู้สึก
- ตัดความโกรธความพยาบาทได้เด็ดขาด
อย่างนี้เป็น พระอนาคามีผล


2) พระอนาคามีนี่ตัดสังโยชน์เพิ่มอีกสอง คือ กามฉันทะ และ ปฏิฆะ
กามฉันทะ ก็คือ หมดความรู้สึกในระหว่างเพศ ตอนนี้เพิ่มกรรมฐาน ต้องมีกำลังใจเข้มข้น เพิ่ม กายคตานุสสติกรรมฐาน กับ อสุภกรรมฐาน คือ พิจารณาเห็นว่าร่างกายเราก็สกปรก เห็นร่างกายของบุคคลอื่นก็สกปรก ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก้ดีไม่มีการทรงตัว มันทรุดโทรมไปทุกวัน
เป็นอันว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแน่ มันเป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว ไม่ช้ามันก้พัง เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก อย่างนี้เราไม่ต้องการมันอีก จนกระทั่งตอนนี้รู้สึกในระหว่างเพศไม่มี เห็นคนที่ลักษณะท่าทางที่ดี เราเคยรัก เคยชอบใจ ใจมันเฉย ๆ แต่ไม่เฉยเปล่า ถ้าในด้านของอนาคามีนี่มีความสะอิดสะเอียนด้วยมองดูผ้ามันก็ทะลุไปถึงหนัง ใจทะลุหนังเข้าไปถึงเนื้อ ใจทะลุเนื้อเข้าไปถึง ตับ ไต ไส้ ปอด อุจจาระ ปัสสาวะ ข้างใน เห็นคนก็เหมือนเห็นศพเดินไป ความรู้สึกระหว่างเพศมันก็ไม่มี


3) พระอนาคามีทรงอธิจิต จิตต้องมีความเข้มแข็งเป็นพิเศษ ต้องใช้อะไรเป็นเครื่องประกอบ ส่วนที่ประกอบเป็นสมถภาวนาเพื่อตัดกามฉันทะ ก็ได้แก่ กายคตานุสสติกรรมฐาน กับ อสุภกรรมฐาน อันนี้ต้องแน่นอน พิจารณาร่างกายพร้อมเป็นอาการ 32
แต่ความจริงอาการ 32 ไม่ต้องไปไล่เบี้ยกันว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ตับ ไต ไส้ ปอด ถ้านั่งว่าแบบนั้นจนหลับก็ไม่ได้อะไร วิธีปฏิบัติเขารวบเลยว่ากายทั้งกายมันมีส่วนสกปรกทั้งหมด ไม่มีส่วนใดเป็นของดีเลย ไม่มีการทรงตัว เราควบทั้งสมถะและวิปัสสนา
ผมก็ดี ขนก็ดี เล็บก็ดี ทุกส่วนของร่างกายจะเป็นหนัง เป็นเนื้อ จะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ต้องไล่เบี้ยว่า ทุกส่วนไม่มีอะไรดี มันดีไม่ได้ ปรนเปรอเท่าไรก็ทรุดโทรม มันเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า หาความดีอะไรไม่ได้
พิจารณาตามความเป็นจริงว่าอะไรมันสกปรกบ้าง ผิวหนังที่เราว่าสวย ถ้าไม่ได้อาบน้ำ 2-3 วัน ก็ดูไม่ได้เลย เนื้อเราว่าดี ถ้าเราลอกหนังกำพร้าออก ก็ไม่มีใครอยากมอง ถ้าเอาเนื้อออก ทีนี้ก็เจอโรงงานใหญ่ ตับ ไต ไส้ ปอด ทำงานยุ่บยั่บ ๆ สนุกกันใหญ่ มองหาความจริงจุดนี้แล้วก็มองดูร่างกายของเรานี้มีสภาพเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก เห็นความโสโครกนี่ยังเป็นสมถะภาวนา


4) ทีนี้เราก็มาพิจารณาร่างกายเรื่อย ๆ ไป เกิดความเบื่อหน่าย เห็นว่าร่างกายสกปรก ด้วยอำนาจ สักกายทิฏฐิ กายคตานุสสติ หรือ พิจารณาเทียบกับ อสุภกรรมฐาน เทียบกับความเป็นจริงของร่างกาย ว่าร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรก แล้วก็ไม่มีการทรงตัว เห็นร่างกายมันไม่ทรงตัวด้วย แล้วก็ความสกปรกมีด้วย คือ เทียบกับคนตายมันเน่าขึ้นมา มันเละขึ้นมา หรือว่าดูอาการ 32 ภายใน มันเต็มไปด้วยความสกปรก ของที่อยู่ข้างใน ไหลมาข้างนอก มีอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น เราก็รังเกียจ อย่างเหงื่อไคลเราก็รังเกียจ
ความเบื่อหน่ายในความสกปรกของร่างกายเกิดขึ้น ก็เกิดนิพพิทาญาณ ตัดกามราคะสิ้นไป ว่าเราจะไปรักใครทำไม ทุกคนสกปรกเหมือนกัน ในเมื่อร่างกายของคนทุกคน แม้แต่ร่างกายของเรามันสกปรก ไอ้ความยินดีในร่างกายของบุคคลอื่นมันก็ไม่มี
ต่อมาข้อ ปฏิฆะ เขาก็มีพรหมวิหาร 4 เป็นเครื่องยัน คิดว่าร่างกายเราก็ดี ร่างกายเขาก็ดี มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ที่เราจะต้องไปโกรธ ๆ ไอ้ตัวข้างนอกมันไม่ได้โกรธ ใจจะไปโกรธทำไม
ความโกรธเป็นปัจจัยของความทุกข์ เราไม่โกรธเราไม่ด่าใคร อยากจะโรธ อยากจะเลวก็เชิญด่า เชิญเลว ถ้าอยากจะว่า อยากจะเลวก็เชิญ เราขอยึดพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงเรียกว่า อุเบกขา วางเฉย
เขาชมเราเฉย เราไม่ดีใจ
เขาด่าเราเฉย เราไม่เสียใจ ถือว่า นัตถิโลเก อนินทิโต
คนไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก
เราไม่ดีไม่ชั่ว เพราะคำนินทาและสรรเสริญของคน นี่เป็นอารมณ์ของพระอนาคามี จำไว้เผื่อจิตมันจะถึง


5) โทสะ กับ พยาบาท มีการทำลายได้ 2 จุด คือ
- ใช้ พรหมวิหาร 4 พรหมวิหาร 4 นี้ต้องเป็นฌาน พรหมวิหาร 4 ก็มี
อารมณ์รัก อารมณ์สงสาร
อารมณ์ไม่อิจฉาริษยา ยินดีกับคนที่เขาได้ดี
อารมณ์วางเฉย อารมณ์ที่ไม่ชอบใจเกิดขึ้นก็เฉย เฉยแค่นี้ก็ต้องใช้ประกอบว่า ถึงแม้จะเฉยแค่นี้ ถ้ายังทรงกายอยู่มันก็ไม่ดี กายเขาก็ไม่ดี ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ความรู้สึก เกิด แก่ เจ็บ ตายก็พังหมด เป็นไปด้วยความโสโครกตามที่เห็นมาแล้ว จนกระทั่งจิตระงับความโกระ เห็นว่าใครเขาทำให้โกรธ เขาทำด้วยความชั่ว ทำด้วยความโง่
เพราะคนดีน่ะเขาไม่ทำให้คนอื่นโกรธ คนถ้าทำให้เขาโกรธ 1 คน พวกเขาทั้งพวกพลอยโกรธด้วย พี่เขาน้องเขา พ่อแม่เขาก็โกรธ ก็เป็นศัตรูกับเรา คนที่เป็นศัตรูกันมันไม่มีความสุข มีแต่ความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา
รวมความว่าคิดว่าความโกรธไม่เป็นเรื่อง ตัดทิ้งเลยดีกว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของบุคคลที่ควรเจริญพรหมวิหาร 4 แต่คนที่จะเจริญพรหมวิหาร 

4 ต้องเป็นคนช่างคิด ชอบคิด
- ทีนี้บางพวกเขาไม่ชอบคิด พระพุทธเจ้าก็มีกรรมฐานที่ไม่ต้องคิดอีก คือให้ใช้กสิณ4 จะเจริญกสิณส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม คือ
สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว จะเอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ จับกสิณสีใดสีหนึ่งให้ทรงตัวเป็นฌานสมาบัติ จนกระทั่งถึงฌาน 4 จับกสิณถึงฌาน 4 ขึ้นมาแล้วปัญญาก็เกิด
ปัญญาเกิดก็พิจารณาขันธ์ 5 ตัดขันธ์ 5 ได้ คือ ร่างกาย อย่างนี้โทสะมันก็ดับ กสิณ 4 อย่างเป็นตัวตัดโทสะ


6) อาศัยเมตตาจิต เห็นร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราจะไปโกรธเขาทำไม ไอ้คนที่ทำชั่ว ความจริงไม่ได้ตั้งใจจะชั่ว คิดว่ามันดีถึงได้ทำ แต่ว่าทำด้วยความหลงผิด จิตไม่มีเจตนาร้ายเลย ให้เมตตาเสีย เราไม่โกรธมัน ถ้าละ กามราคะ ละ ปฏิฆะ เพราะอำนาจเมตตาบารมีเข้ามาท่วมท้นแบบนี้ เห็นว่าร่างกายของเรามันไปไม่รอด จะไปโกรธเขาทำไม ควบกันเข้าไป ก็เป็นพระอนาคามี


7) คนเราทุกคนต้องการดี ที่ทำดีไม่ได้เพราะความเข้าใจผิด ก็เพราะอำนาจกิเลส ตัณหา อุปาทาน มันสอน ไอ้ความชั่วมันสอนใจ เขาจึงทำอย่างนั้น ความโกรธก็ไม่เกิด ให้อภัย ก็คิดว่า ไอ้เจ้านี่บ้า ๆ บอ ๆ ไม่ถือคนบ้าไม่ว่าคนเมา เป็นอันว่าหมดเรื่องกันไป
ถ้าทำได้ถึงจุดนี้ จิตมันก็ชื่อว่าตัดสังโยชน์ 2 ตัวได้คือ ตัดกามฉันทะ กับ ปฏิฆะ ก็เป็นพระอนาคามี

21: กรรมบถ 10


การนับถือพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าทรงวางกฎไว้ว่า คนที่เข้าถึงความดีได้ต้อง
1. ไม่เอาจิตไปกังวลกับเรื่องของชาวบ้านชาวเมืองคนอื่น คนอื่นเขาจะยังไงก็ช่าง เราควบคุมของเราเท่านั้นเป็นพอ อย่างนี้ชื่อว่าเข้าถึงสะเก็ดความดีของพระพุทธศาสนา

2. ทรงศีล 5 เอาศีล 5 ก็แล้วกัน สามสี่ไม่ต้องพูดกัน สาม สี่ก็คือ ศีล 5 เราจะไม่ละเมิดศีล 5 ด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นละเมิดศีล 5 และไม่ยินดีเมื่อเขาละเมิดแล้ว ทำใจได้หรือยัง

3. ระงับนิวรณ์ 5 ประการ

4. ทรงพรหมวิหาร 4 มีจิตเยือกเย็น อารมณ์จิตของบรรดาท่านพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพจะทรงฌานอยู่เสมอ
อันนี้จำได้หรือยังขอรับ แล้วก็ทำด้วยนะขอรับ พระคุณเจ้าที่เคารพ ผมน่ะเคารพพระไม่มากนะขอรับ พระที่บวชมาใครจะมียศถาบรรดาศักดิ์ขนาดไหนก็ตาม มีฐานะอันดับไหนก็ตาม ผมไม่ถือเป็นสำคัญ ผมถือมีความสำคัญอย่างเดียวคือ ผู้ทรงธรรม ทรงอยู่ในความดี ถ้าทรงอยู่ในประการทั้งสี่ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ผมเคารพทุกองค์ แม้แต่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็เหมือนกัน อาตมาก็รับฟังคำพูด แต่คนที่ไม่ทรงอยู่ในคุณธรรมเช่นนี้แล้วจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ยอมรับนับถือแน่ เพราะพบมามากแล้ว คนมียศมากแต่ขาดคุณธรรมจะมีความหมายอะไรสำหรับพระพุทธศาสนา



กรรมบถ 10 มีอะไรบ้าง กรรมบถ 10 ญาติโยมบางคนไม่เข้าใจ ยังไม่ทราบ ก็จะบอกให้ทราบ

กรรมบถ 10 ทางกายมี 3 คือ

1. ไม่ฆ่าสัตว์
2. ไม่ลักทรัพย์
3. ไม่ประพฤติผิดในกาม


ทางวาจา มี 4 คือ1. ไม่พูดปด
2. ไม่พูดคำหยาบ
3. ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน ไม่นินทา
4. ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล


ทางใจ มี 3 คือ

1. ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น โดยไม่ชอบธรรม
2. ไม่จองล้างจองผลาญใคร คือ ไม่พยาบาท ความโกรธยังมี
3. มีความเห็นถูกคือ สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่คัดค้านนี่ กรรมบถ 10 แบ่งไปตาม กาย วาจา ใจ ก็เอาสติเข้าไปควบคุมว่า ศีล 5 ก็ดี กรรมบถ 10 ก็ดี มีกี่สิกขาบท มีอะไรบ้าง คุมไว้ไม่ยอมลืม ใหม่ ๆ ก็ลืมบ้าง เป็นของธรรมดา

20: กฎของธรรมดา

1) อารมณ์ของธรรมดาจริง ๆ นี่ฉันจะบอกให้ คนที่ยอมรับนับถือการเกิดขึ้น การเสื่อมไปของร่างกาย การดับไปของร่างกายจริง ๆ โดยมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวมาก มีการกระทบจิตบ้างแต่ถือกฎของธรรมดา อารมณ์นี้มันจะรักพระนิพพาน เพราะอะไร เพราะมันเกลียดตัวเกิด เกิดนี่มันธรรมดาจริง ๆ แล้วมันเบื่อ
เกิดขึ้นมาแล้ว ไอ้ตัวทุกข์มันตามมา ตอนนี้จะไม่พูดถึง ตัวทุกข์อริยสัจ พระพุทธเจ้าสอนตอนท้าย หาตัวธรรมดาเข้ามา แล้วมันก็แก่ บางทียังไม่ทันจะแก่เลย ความปรารถนาไม่สมหวังมันก็เกิด มันอิ่มแล้วมันก็หิวอยู่สบาย ๆ เดี๋ยวก็ร้อนหนัก ดีไม่ดีมันก็หนาวอีกแล้ว ดีไม่ดีอาการป่วยไข้ไม่สบายมันก็เกิด ตั้งแต่ตอนนี้มาเรายอมรับนับถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเราไม่หนักใจในเมื่อมันหิวเราก็กิน ไม่มีก็มนหิวกันไป เพราะอยากเกิดมาทำไม
ทีนี้เราเห็นว่าการเกิดมันไม่ดีอย่างนี้ หาความเที่ยงไม่ได้ เต็มไปด้วยความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น แต่กฎของธรรมดา มันบังคับว่าต้องเป็น ก็เลยสบายใจว่ามันต้องเป็นอย่างนี้
ถ้าอาการเป็นอย่างนี้ปรากฏเราไม่หนักใจ เมื่อความแก่เกิดขึ้น ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเกิดขึ้น ความตายมีมาถึงไม่หนักใจถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
พอถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาก็เลยนึกว่า เอ ไอ้เกิดนี่มันไม่ดีนะ มันเป็นอย่างนี้ ทางที่ไม่เกิดมีอยู่ก็คือพระนิพพาน ถ้าเราปลดขันธ์5 เสียได้เมื่อไร ถือว่า คำว่า เตสัง วูปสโม สุโข การเข้าไปสงบกายนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นสุข


2) ถ้าหากเราไม่สนใจทุกอย่างในโลก ไม่สนใจกายของเราด้วย ไม่สนใจกายของบุคคลอื่นด้วย ไม่สนใจวัตถุธาตุใด ๆ ด้วย คำว่าไม่สนใจในที่นี้จงอย่าไปคิดว่าเราไม่สนใจในร่างกาย เราไม่กินข้าว หิวก็ไม่กิน ร้อนก็ไม่อาบน้ำ หนาวก็ไม่ห่มผ้า อันนี้ไม่ถูก
คำว่าไม่สนใจคือ ไม่ติดใจในมัน ให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าร่างกายมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความแปรปรวนเสื่อมไปในท่ามกลาง แล้วก็แตกสลายไปในที่สุด ให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็มีอารมณ์คิดต่อไปว่าร่างกายนี้พัง เราไม่ต้องการร่างกายอย่างนี้อีก ร่างกายแห่งความเป็นคนก็ดี เทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดี ไม่มีความสุขจริง เราไม่ต้องการ เราต้องการจริง ๆ คือ พระนิพพาน
ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททำอารมณ์ใจของท่านก่อนหลับก็ดี หรือว่าตื่นใหม่ ๆ ก็ตาม ไม่ต้องลุกขึ้นมานั่ง นอนแบบนั้น ตื่นใหม่ ๆ ใจกำลังสบาย สร้างความรู้สึกว่าร่างกายมันเสื่อม ร่างกายเป็นของน่าเบื่อ ร่างกายต้องตายในที่สุด เราไม่ต้องการร่างกายแบบนี้อีก เราต้องการจุดเดียวคือ นิพพาน จิตหวังจริง ๆ ถ้าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิงทำได้อย่างนี้ก่อนหลับหรือตื่นใหม่ ๆ ไม่ต้องนั่งนอนคิดใช้ปัญญา เวลานี้เกิดอารมณ์เบื่อ ชั่วขณะจิตเดียว ไม่หวังร่างกายเพียงแค่ขณะจิตเดียว จิตก็กลับฟื้นคืนสภาพคงที่ตามเดิม เพียงเท่านี้บรรดาท่านพุทธบริษัท ขอยืนยันว่าชาตินี้ก่อนท่าจะตาย ท่านจะเป็นพระอรหันต์ไปนิพพานแน่


3) ร่างกายเราก็ดี ร่างกายเขาก็ดี วัตถุธาตุทั้งหมด ก็ดี ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่านกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด และร่างกายของแต่ละร่างกาย ก็เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก มันไม่มีอะไรเป็นจริงเป็นของเราเสียจริง ๆ


4) ธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีอะไรเกินธรรมดา ท่านสอนให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา วางทุกข์เสียให้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมดา อะไรก็ตามเถอะ ถ้ามันเกิดขึ้นกับเรา มันเป็นธรรมดาของโลกทั้งนั้น ในเมื่อร่างกายเรามีอยู่ในโลกเท่านี้เอง


5) ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ถ้ามันไม่เที่ยง เราจะเข้าไปยุ่งกับความไม่เที่ยงให้มันเที่ยงมันก็เป็นทุกข์ อารมณ์ของคนที่เป็นทุกข์มันก็เพราะไม่ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง


6) จำไว้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง ถ้าเราเกาะความไม่เที่ยงมันก็ทุกข์ แต่ทว่าจะสุขหรือทุกข์ก็ตาม อนัตตามันก็เข้ามาถึง อย่ายึดอย่าถือว่ามันเป็นเรา เป็นของเราคิดไว้เสมอว่า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่เราจะอยู่กับมัน
7) ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี นอกจากมันจะสกปรกแล้ว มันก็ไม่มีสภาวะเป็นเรา เป็นของเรา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะร่างกายเป็นกฎธรรมดาอย่างหนึ่ง ที่มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีการแตกสลายในที่สุด ที่เรียกกันว่า เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความแก่ไปได้ ต้องมีความป่วยไข้เป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความป่วยไข้ไปได้ ต้องมีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความตายไปได้ ทรัพย์สินทั้งหลายที่เรามีอยู่ สิ่งที่รักอยู่ก็ต้องพลัดพรากจากกันไป


8) ให้พยายามพิจารณาใคร่ครวญเสมอ ๆ ว่า สังขารนี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมด ไม่มีสังขารประเภทใดเหลืออยู่ พยายามหาเหตุผลในคำสอนนี้ให้เห็นชัด ดูตัวอย่างคนที่เกิดแล้วตาย ของที่มีขึ้นแล้วแตกทำลาย ดูแล้วคิดทบทวนมาหาตน และคนที่รักและไม่รัก ของที่มีชีวิตและไม่มี คิดว่านี่ไม่ช้าก็ต้องตาย ทำลายอย่างนั้น พิจารณาทบทวนอย่างนี้จนอารมณ์เห็นเป็นปกติ ได้อะไรมา เห็นอะไรก็ตาม แม้แต่เห็นเด็กเกิดใหม่ อารมณ์ใจก็คิดว่า นี่ไม่ช้ามันก็พัง ไม่ช้ามันก็ทำลาย แม้แต่ร่างกายเรา ไม่ช้ามันก็สิ้นลมปราณอะไรที่ไหน ที่เราคิดว่ามันจะยั่งยืนถาวรตลอดกาลไม่มี รักษาอารมณ์ให้เป็นอย่างนี้


9) ถ้ารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดาเสียแล้ว ความอาลัยในชีวิตมันก็ไม่มี เราศึกษาพระธรรมวินัยกัน ปฏิบัติสมถวิปัสสนาธุระกันก็เพื่อความดับไม่มีเชื้อ คือการตัดอาลัยในชีวิตเท่านั้น อารมณ์ที่จะตัดอาลัยในชีวิตได้ ก็มีอารมณ์รักธรรมดา คือ ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา อย่าไปสนใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้มากนัก ไอ้เรื่องที่จะทำให้ถูกใจเราทุกอย่างมันไม่มีถ้าใจเราเลว แต่ว่าถ้าใจเราดีเสียอย่างเดียว ทุกอย่างในโลกมันไม่มีอะไรผิดใจเรา เพราะว่าเราทราบว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา


10) พิจารณาจนกว่าจะเกิดอารมณ์เป็น เอกัคคตารมณ์ คือ จิตมีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎธรรมดา เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยตน หรือคนอื่นเป็นของธรรมดาไปหมด สิ่งกระทบเคยทุกข์เดือดร้อน ก็ไม่มีความทุกข์ความเร่าร้อน ไม่ว่าอารมณ์ใด ๆ ทั้งที่เป็นเหตุของความรัก ความโลภ ความโกรธ ความผูกพัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ อาการอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาแท้ ท่านว่า ครอบงำความเกิด ความดับ ความตายได้ เป็นต้น คำว่า ครอบงำ หมายถึงความไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ใครจะตายหรือเราจะตาย ไม่หนักใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องตาย ใครทำให้โกรธ ในระยะแรกอาจหวั่นไหวนิดหนึ่ง ยอกจากระงับความหวั่นไหวที่เคยเกิด เคยหวั่นไหวได้แล้ว จิตยังมีความรักในพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งใด สามารถจะสละวัตถุภายนอกทุกอย่างเพื่อพระนิพพานได้ทุกขณะ มีความนึกคิดถึงพระนิพพานเป็นปกติ


11) การที่เราจะได้ดีหรือไม่ได้ดี มันอยู่ที่ความจริงใจของเราเท่านั้น การเจริญพระกรรมฐานที่บอกว่าทำแล้วไม่ได้ดี ก็เพราะคนเราหาความจริงไม่ได้นั่นเอง ไม่ใช่มีอะไรยากลำบากอะไรที่ไหน เป็นของธรรมดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงหาอะไรมาสอนเรา นอกจากนำกฎธรรมดาที่เรามีอยู่ ให้เรามาใช้ปฏิบัติให้ถูกทางเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิจิต เราก็ใช้กันอยู่เป็นปกติ แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์เห็นว่า สมาธิแบบนั้นเป็นโลกียสมาธิ ไม่เป็นทางหมดทุกข์ องค์สมเด็จพระบรมครูต้องการให้เรามีความสุข จึงให้ใช้สมาธิด้านกุศลจิต คิดหากุศลเข้าใส่ใจไว้เป็นประจำ ให้จิตมันจำไว้เฉพาะด้านกุศลอย่างเดียวจนเป็นเอกัคคตารมณ์ เมื่อจิตทรงสมาธิได้ดีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็สอนวิปัสสนาญาณ มีอริยสัจ เป็นต้น ให้พิจารณาเห็นทุกข์ เหตุแห่งความทุกข์ ที่มันจะพึงมีขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยตัณหา มีความผูกพันในร่างกาย ซึ่งมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราก็วางร่างกายเสีย เพื่อพระนิพพาน

19: ทรงความดี

1) ถ้าเราจะเป็นคนดี เราทำอย่างไร
อันดับแรก จิตจับ พรหมวิหาร 4 ไว้ก่อน คำว่า พรหมวิหาร 4 นี่ให้รักษาตามกำลัง ค่อย ๆ รักษาเรื่อย ๆ ไปจนมีกำลังเข้มข้นมาก เพราะว่า พรหมวิหาร 4 นี่เป็นศูนย์กลางของความดี คนที่มีพรหมวิหาร 4 อยู่นี่จะมีสมาธิดีเป็นปกติ
ศีล บริสุทธิ์ต้อง พรหมวิหาร 4
สมาธิ จะทรงตัวตั้งมั่นเพราะ พรหมวิหาร 4
ปัญญา กับ วิปัสสนาญาณ จะเข้มข้น ตัดกิเลสได้ง่ายเพราะ พรหมวิหาร 4 พรหมวิหาร 4 มีอะไร ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า เมื่อตื่นขึ้นตอนเช้า จิตใจคิดไว้เสมอ คิดว่าเราจะเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั่วโลก เราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร จะไม่มีเวรมีภัยกับใคร นึกไปถึงคนต่าง ๆ ในโลก ว่าทุกคนก็ต้องการความสุข และทุกคนก็ต้องการความรัก เราจะรักเราจะสงสารคนทุกคนในโลก และสัตว์ทุกตัวในโลก
ถ้าท่านผู้ใดมีทุกข์ ถ้าไม่เป็นเหตุเกินวิสัยเราที่จะช่วยได้ เราจะช่วยให้เขามีความสุข
มีจิตอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยาใคร เมื่อใครได้ดีจะพลอยยินดีด้วย จิตจะเป็นสุข
ถ้าเกิดอะไรขึ้นมันเป็นเหตุสุดวิสัยที่เราจะสงเคราะห์ได้ หรือแก้ไขได้ เราจะวางเฉย จิตใจไม่ซ้ำเติม


2) ถ้าเรายังปรารภคนอื่นว่าดีหรือชั่ว แสดงว่าเรายังเลวมาก ถ้าเราไม่เลว เราก็ไม่เห็นความเลวของคนอื่นหรอก ถ้าเราเห็นความเลวของบุคคลอื่นมากเพียงไร แสดงว่าเราเลว เลวมากเพียงนั้น
ต้องไปดูพระพุทธเจ้า ท่านตำหนิใครบ้าง มีไหม เจอไหม ไม่มี เพราะคนทุกคนที่เกิดมาต้องการดีหมด ไม่มีใครต้องการความชั่ว แล้วทำไมถึงได้ทำความชั่ว เพราะ ไอ้กรรมที่ติดตามเรามา เราไม่สามารถจะต้านทานมันได้ เราเกิดมาเราต้องรับผล 2 อย่าง คือ กรรมที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง กรรมที่เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง ขณะใดที่กรรมอกุศลครอบงำ จิตไม่มีทางจะทำความดีได้เลย ความเลวมันจะครอบงำจิต เห็นผิดเป็นชอบ ถ้าอกุศลมันถอยไป กุศลกรรมเดิมมันเข้ามาสนอง จะรู้เลยว่าที่ทำครั้งเก่ามาเลวมาก มันก็ไม่ทำ
พระพุทธเจ้าทรงรู้ว่าดีหรือชั่ว เพราะกรรมบังคับใจ ท่านก็เลยไม่ตำหนิโทษ แต่ก็ทรงตำหนิเหมือนกัน ทรงตำหนิกิเลส ไอ้นี่มันระยำ ช่วยกันไล่มันไปเสียให้หมด นี่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ ต้องคำนึงตอนนี้


3) ท่านทั้งหลายจงอย่าลืม อย่าเบื่อในความดีที่ท่านทำ เมื่อเราทำความดีเท่านี้แล้ว เราก็ทำดีให้มันยิ่ง ๆ ขึ้นไป เอามันให้มันเต็มดีให้ได้


4) จงจำไว้ว่า จริยาที่เราจะต้องทรงใจ มีดังนี้ - ในยามปกติ เราจะไม่สนใจในจริยาของบุคคลอื่น ใครเขาจะดี ใครเขาจะเลวมันเรื่องของเขา อย่าโอ้อวด อย่ายกตนข่มท่าน อย่าถือตัวเกินไป
- ไม่มีกังวล
- ไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นทำลายศีล ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว
- ระงับนิวรณ์ได้โดยฉับพลัน เมื่อเราต้องการความเป็นทิพย์ของจิต ขณะใดที่จิตต้องการสมาธิ ได้ความเป็นทิพย์นี่มาจากสมาธิ มีความตั้งใจ จิตสะอาด ถ้าต้องการจิตเป็นสุขหรือ ต้องการสมาธิ ต้องระงับนิวรณ์ได้ทันทีทันใด


5. จิตทรงพรหมวิหาร 4 ตลอดเวลา คือ เป็นปกติตลอดวัน


6. และขอแถมอีกนิดหนึ่งคือ ใจยอมรับนับถือความดีของพระพุทธเจ้า ความดีของพระธรรม ความดีของพระสงฆ์ มีความรู้สึกว่า ชีวิตนี้มันต้องตาย ถ้าตายเมื่อไรขอไปนิพพานเมื่อนั้น
ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททำได้อย่างนี้ ฌานสมาบัติจะทรงตัว คำว่าเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส กำลังใจไม่เสมอกัน สว่างบ้าง มืดบ้างจะไม่มี จะมีแต่คำว่าผ่องใสเรื่อยขึ้นไปตามลำดับ ขึ้นชื่อว่าการเกิดในอบายภูมิต่อไปไม่มีแน่ จะเป็นการเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานเหล่านี้ ไม่มีอีกต่อไป มีอย่างเดียวคือ มุ่งหน้าไปนิพพาน


7) รักษากำลังใจให้มันมั่นคงจริง ๆ ให้จิตมันแน่วแน่จริง ๆ อย่าเอาจิตเข้าไปยุ่งกับอารมณ์ภายนอก ทำงานทุกอย่างเพื่อสาธารณะประโยชน์ เราทำเพื่อพระนิพพาน ที่เราทำนี่เพื่อไม่เกิด ไม่ใช่ทำเพื่อเกิด ไม่เกิดทำไม ก็ทำเพื่อเป็นการตัดอารมณ์ว่า ไอ้งานที่เราทำไปแล้ว เราลงทั้งทุน ลงทั้งแรง แต่ว่าทำไปแล้วเราก็รู้ว่ามันเป็น อนิจจัง ของไม่เที่ยงนะ อนัตตา ไม่ช้าก็สลาย มันไม่ตายก่อนเราก็ตายก่อน เราทำเพื่อจิตตัดโลภะ ความโลภ การทำงาน อารมณ์มันจุกจิก ฝึกอารมณ์ใจให้มันเย็น ตัดความโกรธ การไม่สนใจว่ามันเป็นของเรา เพราะว่าเรากับมันไม่ช้าต่างก็บรรลัย เป็นการตัดความหลง ไปนิพพานเลย


8) เราตั้งใจไว้โดยเฉพาะ รักษาอารมณ์อุปสมานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ว่า เราต้องการพระนิพพานในชาตินี้ โดยสรุปตัวท้ายเสียทันที คือ ตัดอวิชชา ความโง่ มานั่งใคร่ครวญว่า มนุษย์โลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี เป็นดินแดนที่ไม่พ้นความทุกข์ ความทุกข์มันมีกับเราได้ทุกขณะจิต เราเป็นมนุษย์เต็มไปด้วยความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย ความปวด ความเมื่อย ป่วยไข้ มีความไม่สบาย มีความตายไปในที่สุด มีการกระทบ กระทั่งกับอารมณ์ของชาวโลก เรื่องโลกมนุษย์ไม่ดี เทวโลก กับพรหมโลกก็พักความดีอยู่ชั่วคราว ไม่มีความหมาย ใจเราต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าจิตถึงตอนนี้ละบรรดาท่านพุทธบริษัท จิตจะเบามาก เหมือนกับมีความรู้สึกว่าเราไม่ได้อะไรเลย จิตมันสบายๆ กำลังฌานที่เราเคยมั่นคง กดอารมณ์นิ่ง มีความหนัก มันจะสลายตัวไป แต่ว่าจิตใจของเรามีความสุข จะกระทบกระทั่งอาการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามที ไม่มีความรู้สึกว่ามันจะมีความลำบาก ไม่มีอะไรที่จะมีความหนัก ไม่มีอะไรที่จะทำจิตใจของเราให้เร่าร้อน ได้ยินเสียงคนด่าก็สบายใจ คิดว่าเขาไม่น่าจะทำความชั่ว เป็นปัจจัยของความทุกข์ เห็นใครเขาสรรเสริญเรา ก็ไม่มีความสุขใด ๆ ไม่สั่นคลอน รู้สึกว่าความสรรเสริญไม่มีความหมาย เราดีขึ้นมาได้ไม่ใช่อาศัยการสรรเสริญ หรือว่าถ้าเราไม่ดีก็ไม่ใช่อาศัยการแช่งด่าของบุคคลใด ความดีจะมีขึ้นมาได้หรือความไม่ดีจะมีขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยเราปฏิบัติเท่านั้น ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททรงได้อย่างนี้เรียกว่า อรหัตตผล

18: พ่อสอนลูก

พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานที่เคารพรักของเรา สอนเราไว้ว่า
1) คนดี คือคนมีเมตตาปราณีต่อเพื่อน กับสงสารสงเคราะห์ซึ่งกันและกันด้วย สังคหวัตถุ
- ให้กันด้วยวัตถุ
- มีวาจาไพเราะอ่อนหวานเป็นที่รัก
- ช่วยกิจการงานของเพื่อน
- ไม่ถือตัว ไปไหนทำตนเสมอกัน
หลัก 4 ประการนี้ ถ้ามีอยู่ในใจของลูก ลูกปฏิบัติได้พ่อจะมีความสุขมากใจมาก พ่อมีชีวิตอยู่พ่อก็มีความสุข พ่อตายไปแล้วพ่อก็มีความสุขใจ หรือตายอย่างนอนตาหลับ ทั้งนี้เพราะลูกของพ่อเป็นคนดี


2) ต้องทราบไว้เสมอว่าคนที่เกิดมานี้ มีต้นกรรมไม่เสมอกัน คนในโลกแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
2.1 คนฉลาดมาก ที่ทำบุญไว้เต็มที่แล้ว มีบารมีครบถ้วน เพียงแนะนำแต่เพียงหัวข้อย่อ ๆ ก็บรรลุมรรคผลทันที
2.2 บางพวกปัญญาบารมีหย่อนนิดหน่อย พออธิบายก็บรรลุมรรคผล
2.3 บางพวกพอแนะนำให้เข้าใจในกุศลเบื้องต้นได้ แต่เอาบรรลุมรรคผลไม่ได้
2.4 พวกสุดท้าย เป็นพวกเหลือขอ พูดไม่รู้เรื่อง อวดตัวว่าเป็นผู้วิเศษ หมดทางแนะนำ
คนในโลกแบ่งออกเป็น 4 พวกนี้ ลูกจงอย่าคิดว่าเขาจะเหมือนเราเสมอไป การแนะนำเป็นของดี แต่อย่าเอาใจไปผูกพัน ถือว่าบอกปล่อย เขาทำตามก็ดีไม่ทำตามก็ช่าง เอาตัวรอดเป็นการพอแล้ว ปล่อยเขา เขาจะคิด จะพูด จะทำอย่างไร อย่าสนใจเป็นอันขาด


3) ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น โลกธรรม ให้ถือว่าเป็นธรรมดาของโลก ให้วางมันเสีย กรรมของเราที่มีความโง่เกิดมาในโลกนี้ โลกเต็มไปด้วยความเร่าร้อน ความร้อนมันก็ถูกเรา แต่ว่าให้มันถูกแต่กาย อย่าให้มันเข้าไปถึงใจ ความสุขความทุกข์ในโลกอย่าสนใจ สนใจอย่างเดียว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เรามีความสุข ร่างกายของเราจะอยู่ในโลกนี้อีกไม่กี่วันมันก็พัง ฉะนั้นในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านปรินิพพานไปแล้ว ท่านบอกว่ามีความสุข พระอรหันต์ทั้งหลาย ร่างกายของท่านพัง ท่านบอกว่าท่านมีความสุข เราก็พยายามทำให้สุขเหมือนท่านบ้าง ข้อสำคัญจงจำไว้ว่า จงอย่าคิดเราดีไว้เสมอ มองดูความบกพร่องของจิต ว่า จิตเราบกพร่องตรงไหนบ้าง พยายามแก้ไขให้สู่ระดับความดี อย่างนี้เป็นความดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงต้องการ
บรรดาลูกรักของพ่อทุกคน ปฏิปทาใดที่องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความชนะในมารนั้น ขอบรรดาลูกรักทั้งหลายจงชนะในมารฉันนั้น ด้วยกำลังใจที่ทรงความดี


4) ขอบรรดาลูกรักทั้งหลาย จงรักษาความดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้ งานใดที่พ่อนำลูกทั้งหลายทำ งานทั้งหลายเหล่านั้น ขอลูกรักทั้งหมด จงรักษางานนั้นไว้ด้วยหัวใจของลูกเอง คือ รักษาไว้ด้วยชีวิต เพราะงานสาธารณะประโยชน์เป็นกิจอันหนึ่งที่ทำให้คนไทยรวมตัวกัน มีความรัก มีความสามัคคีซึ่งกันและกัน และทุกคนก็จะมีความสุข


5) ขอลูกรักทั้งหมด จงอย่าสนใจกับคำนินทาและสรรเสริญ ลูกรักของพ่อทุกคนจงจำไว้ว่า ถ้าร่างกายมันยังมีอยู่ จงอย่าปรารภว่าตนเป็นคนดี เพราะว่าสิ่งที่เราเกาะอยู่นี่มันเลว คือ ขันธ์ 5 ได้แก่ ร่างกาย มันทั้งสกปรก มันทั้งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลง มีการป่วยไข้ไม่สบาย มีการตายไปในที่สุด ร่างกายมันเป็นส่วนรับทุกขเวทนา ฉะนั้นขอลูกรักทุกคน จงอย่าสนใจกับร่างกายของตนเอง และของบุคคลอื่น คำว่าไม่สนใจ หมายความว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เลี้ยงดูมันไปตามสภาพ มันหิวก็ให้มันกิน มันร้อนก็หาของเย็นให้ มันหนาวก็หาของอุ่นให้ และก็จงบอกกับมันว่า เอ็งตายคราวนี้ ข้าเลิกคบเอ็งละนะ ทั้งนี้เพราะเอ็งไม่ดีเลย เอ็งมันเลวมาก ประคับประคองเท่าไร เอ็งก็ไม่ตามใจข้า ถ้าภาษาไทยชัด ๆ ก็พูดว่า เมื่อมึงไม่ตามใจกู กูก็จะไม่คบมึงอีกต่อไป


6) ลูกรักของพ่อ ถ้าลูกต้องการหมดความทุกข์ ต้องการมีความสุข ก็จงอย่าคิดว่าโลกนี้เป็นของเรา ทรัพย์สินทั้งหมดในโลกนี้เป็นของเรา ร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา ร่างกายบุคคลอื่นเป็นพวกเรา เป็นของเรา จงคิดว่าร่างกายมันเป็นแต่เพียงธาตุ 4 เข้ามาประชุมกัน เห็นร่างกายภายใน คือร่างกายของเรา ก็ทำความรู้สึกแต่เพียงสักแต่ว่าเห็น คือ ไม่สนใจ ไม่ยึดถือว่ามันกับเราจะอยู่ด้วยกันตลอดกาลตลอดสมัย ตัดความโลภเสียด้วยการให้ทาน ตัดความโกรธเสียด้วยการเห็นใจซึ่งกันและกัน ตัดความหลงคือ ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง
ลูกชายและลูกหญิงของพ่อถ้ามีอารมณ์ได้อย่างนี้ทั้งหมด ก็ปรากฏว่าทุกคนจะมีกำลังใจเป็นสุข ทุกคนจะหาความทุกข์ไม่ได้ เพราะมีใจสบาย อารมณ์ใจของลูกจะสบายได้ เมื่อลูกยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง


7) ลูกรักทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ก่อนที่เราจะตาย จงคิดว่าเราจะตายครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และไม่มีการตายต่อไป นั่นคือ พระนิพพาน พ่อมั่นใจในกำลังใจและความดีของลูกว่าพระนิพพานสมบัติจะไม่ขาดไปจากกำลังจิตของลูก และสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ลูกของพ่อต้องได้แน่นอน นี่เป็นความหวังของพ่อ แต่ทว่าถ้าลูกรักของพ่อลืมความดีนี้เสียเมื่อไร จิตใจพัวพันอยู่ในราคะก็ดี พัวพันอยู่ในโลภะ ความหลงก็ดี พัวพันอยู่ในความโกรธพยาบาทก็ดี เป็นอันว่าลูกกับพ่อนี้ต้องแยกทางเดินกัน ไม่ใช่พ่อโกรธลูก แต่เวลาตายจริง ๆ เราตามกันไม่ไหว หวังว่าลูกรักทุกคนคงจะจำได้ คงจะละสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้ คือ พยายามละทีละน้อย ปลดเปลื้องมันไป ไม่ช้ามันก็หมด


8) คนเราเกิดมาในโลกที่ไม่ทำความชั่วเลยน่ะไม่มี ถ้าเราจะชดใช้บาป มันก็ชดใช้กันไม่ไหว มีทางเดียวในกิจของพระพุทธศาสนาคือ หนีบาป การภาวนาให้จิตทรงตัว การคิดถึงคุณพระรัตนตรัย พยายามรวบรวมบารมี 10 ประการไว้ให้ครบถ้วน พยายามตัดสังโยชน์ 10 ประการ ให้หมด จรณะ 15 ปฏิบัติให้ครบถ้วน มีพรหมวิหาร 4 ให้ครบถ้วน ทรงศีลให้บริสุทธิ์ มีอิทธิบาท 4 ทรงตัว เมื่อมีการทรงตัวดังกล่าวมาแล้วนี้ ลูกรักของพ่อจะไม่ต้องเกิดอีกต่อไป


9) ยามปกติเอาจิตจับพระนิพพานเป็นอารมณ์ นึกถึงพระพุทธเจ้าได้ ตั้งใจตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน
เครื่องมือที่ลูกจะมีไว้นั่นคือ บารมี 10 ทำให้ครบถ้วน สังโยชน์ 10 ตัดให้ขาดให้หมด มี จรณะ 15 มีอิทธิบาท 4 มีพรหมวิหาร 4 มีศีล ปกติ มีทาน ปกติ ทั้งหมดนี้ต้องมีประจำใจ จับพระนิพพาน เป็นอารมณ์ ถ้าจิตจับ พระนิพพาน ได้แล้ว ลูกแก้วของพ่อไม่ต้องวิตกกังวล ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของเราหมด


10) พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เราจะพึงศึกษาและปฏิบัติให้ละกันได้จริง ๆ นั่นก็คือ สังโยชน์ 10 ประการ ขอลูกรักทุกคน ลูกมีกำลังใจเป็นมหากุศลยากที่จะหาคนอื่นเสมอเหมือนได้ แต่คำชมของพ่อขอลูกอย่าเหลิง ถ้ามีความทะนงตนเมื่อไร ลูกก็เลวเมื่อนั้น จงมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า ถ้าเรายังไม่เป็นพระอรหันต์เพียงใด ในเวลานั้นก็ชื่อว่าเรายังไม่มีความดี เราจะพยายามเก็บความชั่วทุกอย่างที่มันขังอยู่ในจิต ทำลายให้มันตายสนิทอย่าให้มันเกิดขึ้นมา เมื่อกิเลส คือ ความชั่วตายหมด ชื่อว่าจิตว่างจากความชั่ว จะทรงไว้แต่เพียงความสุขอย่างเดียว หวังว่าลูกรักของพ่อคงจำได้


11) ฉันมั่นใจ ลูกหลานของฉันทุกคนเวลาตายอย่างต่ำก็ต้องไปสวรรค์ชั้นกามาวจร อย่างกลางต้องไปพรหมโลก อย่างดีที่สุดมีอยู่แล้วก็คือพระนิพพาน แต่ใครจะหมุนกลับลงมามนุษย์โลก ฉันแน่ใจว่าลูกหลานของฉันไม่จน คนที่รวยอยู่แล้วจะรวยมากกว่านี้ คนที่ไม่เคยร่ำรวยจะพบกับความร่ำรวยอย่างคาดไม่ถึง นี่สิ่งเหล่านี้ฉันมีความมุ่งหวังมานาน ตั้งแต่บวชปีแรกฉันทำอย่างนี้ และฉันก็ทำตลอดมา ทำในสมัยที่ฉันมีกำลังร่างกายดี แต่เวลานี้ฉันไม่มีแรงแล้ว หาเงินไม่ไหว เทศน์ก็ไม่ไหว สวดมนต์ก็ไม่ไหว ร่างกายมันไม่อำนวย เงินทองที่จะใช้จะกินเข้าไป นอกจากลูกหลานทุกคนสงเคราะห์ฉันอย่างคาดไม่ถึง ผลความดีอันนี้แหละ ในฐานะที่ฉันเป็นหลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ และก็เป็นพระแก่เจ้ากี้เจ้าการ ถือพระรัตนตรัยเป็นสำคัญ คือ มีพระพุทธเจ้าเป็นประทาน ฉันขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ทั้งหมด และพรหม เทวดาทั้งหมด ขอทุกท่านจงกำหนดจดจำลูกหลานของฉันไว้ว่า บุคคลใดก็ตาม เมื่อเวลาจะตายขอให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีจิตน้อมไปในกุศลกรรม และขอให้ได้รับผลที่ฉันได้ทำไปแล้วทุกประการ แก่ลูกหลานของฉันทุกคน เวลานี้ฉันมองดูแล้วนะ ตรวจดูแล้ว สิ่งที่ฉันต้องการมันสมใจนึกแล้ว ฉันมีความอิ่มใจบอกไม่ถูกเวลานี้ทำได้แล้ว ลูกหลานของฉันทุกคนมีศรัทธาเป็นอจลศรัทธาแล้ว มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาแล้ว มีความดีพอสมควรแล้ว


12) ที่พ่อมีความรื่นเริง มีกำลังกายกำลังใจ ทำได้ทุกอย่างก็เพราะลูกทุกคนเป็นคนดี อยู่ในโอวาทขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น ลูกทุกคนจึงเป็นที่รักของพ่อ ใครเขาจะเกลียด ใครเขาจะชังลูก เป็นเรื่องของเขา แต่ว่าพ่อรักลูกทุกคนเสมอกัน ต้องการอย่างเดียวคือ จะนำทางให้ลูกพ้นทุกข์ เข้าไปหาแดนความสุขที่ไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ไม่มีความหนักใจแม้แต่นิดเดียว นั่นคือ พระนิพพาน


13) ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พ่อไว้ พ่อถ่ายทอดให้แก่ลูก ทรัพย์สมบัติทั้งหมดนี้ขอลูกจงถือว่านั่นคือ ตัวแทนของพ่อ เพราะว่าชีวิตของพ่อ พ่อไม่แน่ใจนักว่าจะมีอายุยืนยาวอีกสักกี่ปี ขอลูกทั้งหลายจงอย่าถือขันธ์ 5 ของพ่อนี้เป็นสำคัญ ปฏิปทาใดที่เป็นที่พอใจ ไม่เกินวิสัยลูก ขอลูกจงทำ และจงรักษาอภิญญาสมาบัติไว้ ขณะใดที่ใจของลูกยังรักษาอภิญญาสมาบัติไว้ รักษาปฏิปทาสาธารณะประโยชน์ ขณะนั้นลูกจงภูมิใจว่า พ่ออยู่กับลูกตลอดเวลา ถึงแม้ว่าร่างกายกายาของพ่อจะสลายไป แต่ใจของพ่อยังอยู่กับใจของลูก ลูกจะไปไหนก็ชื่อว่า พ่อไปด้วย ช่วยลูกทุกประการ