วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

17: พิจารณาตน

1) อัตตนา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทย์ความผิดของตัวไว้เสมอ อย่าไปยุ่งกับคนอื่น คตินี้นักปฏิบัติทุกคนเขาจะประณามตังเองเข้าไว้เสมอ อารมณ์ยุ่งอยู่กับกามราคะนิดหนึ่ง เขาจะประณามว่าเลวทันที ของอะไรก็ดี ถ้าชมว่าสวย ชมว่างาม เมื่อรู้สึกขึ้นมาก็รู้สึกว่าใจของเรามันเลวเสียแล้วหรือนี่ แค่นี้เขาตำหนิตัวเขาแล้ว เมื่อยิ่งไปเพ่งโทษของบุคคลอื่น ไปแสดงอารมณ์อิจฉาริษยาบุคคลอื่น ทำให้บุคคลอื่นได้รับความเร่าร้อน นั่นแสดงว่ากิเลสมันไหลออกมาทางกายและทางวาจา มันล้นออกมาจากใจ มันเลวเกินที่จะเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ นี่เราต้องประณามอย่างนี้ แล้วทางที่ไปจะไปไหน เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยังเป็นไม่ได้ ต้องไปขึ้นต้นมาจากนรก มันไม่เหมาะสำหรับเรา นี่เราต้องประณามตัวไว้เป็นปกติอย่าเที่ยวประณามคนอื่น


2) จงอย่าคิดว่าคนอื่นจะต้องมาลงโทษเรา ก่อนที่คนอื่นจะลงโทษ กรรมที่เราทำความชั่วมันก็ทำความเร่าร้อนให้เกิดขึ้นแก่เรา ใครเขาพูดความชั่วคราวใด เราก็สะดุ้งเพราะเรามันเลว พระพุทธเจ้าตรัสว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนไว้เสมอ และจงโจทย์ตน กล่าวโทษตนไว้เป็นปกติ หาความชั่วของตัว อย่าไปหาความชั่วของบุคคลอื่น ถ้าเลวมากเมื่อไหร่ เราก็เพ่งเล็งความเลวของบุคคลอื่นมากเท่านั้น ถ้าเราดีมากเท่าไหร่ เราก็มองไม่เห็นความเลวของบุคคลอื่น เพราะยอมรับนับถือกฎของกรรม ที่เรายังไปแส่หาความเลวของบุคคลอื่น เสียดสีเขาบ้าง พูดกระทบกระเทียบเขาบ้าง ทำลายความสุขใจเขาบ้าง นั่นแสดงว่า เรามันเลวที่สุดของความเลว คือ ความเลวมันไม่ได้ขังอยู่เฉพาะในใจ มันไหลออกมาทางกาย ไหลออกมาทางวาจา เพราะมันล้น เลวจนล้น นี่ขอทุกท่านจงจำไว้ อย่าไปมองดูความเลวของคนอื่น มองดูความเลวของตน ไม่ต้องไปปรับปรุงบุคคลอื่น ปรับปรุงเราเองให้มันดีที่สุด


3) ถ้าเรายังรู้สึกว่าคนอื่นเขาชั่ว แสดงว่าเราชั่วมาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเราดีแล้วไม่มีใครชั่ว เพราะว่าเรายอมรับนับถือกฎของกรรม อะไรจะมีชั่ว เรายังนินทาว่าร้ายบุคคลอื่น นั่นเรายังชั่วอยู่ อาการอย่างนี้จงลืมเสียให้หมด


4) ก่อนที่จะทำก่อนที่จะพูดน่ะใคร่ครวญเสียก่อน อย่าไปคิดเห็นบุคคลอื่นว่าเขาเลว เราเห็นคนอื่นเลวนี่ก็กลายเป็นการสร้างความเลวให้เกิดขึ้นแก่ใจของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนให้กล่าวโทษโจทย์ความผิดของตัวเองว่ามันเลวไว้เสมอ หาจุดความเลวของกาย หาจุดความเลวของวาจา หาจุดความเลวของใจ อย่าไปหาจุดความดี ถ้าพบจุดความเลวจุดไหน ทำลายความเลวจุดนั้นให้หมดไป แล้วความดีมันก็ปรากฏเอง


5) อย่าทำอารมณ์ให้วุ่นวาย อย่าใจน้อย อย่าคิดมาก จงคิดไว้เสมอว่า เราต้องตาย อย่าห่วงคนอื่นมากเกินกว่ากฎของกรรม จงนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข่าออก อย่าทะเยอทะยานเรื่องยศศักดิ์ ถึงเวลามันได้ ถึงเวลามันมี ทำใจสบายจะมีความสุข เรื่องลูกก็ขอให้ตั้งใจอารมณ์ไว้ในฐานะพ่อแม่ที่ดี แต่อย่าดิ้นรนเกินพอดี จะเป็นทางตัดพระนิพพานให้ไกลออกไป


6) เรื่องลูก จงรักเมื่อเรามีลมปราณ ทำหน้าที่ของพ่อแม่ที่สมบูรณ์ และคิดไว้เสมอว่า เราต้องตาย เขาต้องตาย มีอะไรที่เราจะเป็นทุกข์เพื่อเขา เมื่อเราหรือเขาตาย หัดวาง หัดคิด หัดยับยั้งใจ ค่อยคิดค่อยทำค่อย ๆ อบรมตัวเอง อย่าหวังวาจาของคนอื่นอบรม ทำอย่างนั้นเอาตัวไม่รอด ต้องคอยจับผิดตัวเอง คอยลงโทษตัวเอง คอยโจทย์ฟ้องตัวเอง เอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นตุลาการ จงถือธรรมดาเป็นสำคัญ อย่าถือคน ถ้ายังติดคนจะไม่ถึงธรรม ถ้าถึงธรรมก็พ้นจากการติดคน ถ้าติดคน ติดยศของคน ติดฐานะของคน ติดศักดิ์ศรีของคน ไม่มีอะไรดี เราก็ไม่เข้าถึงธรรม ทุกอย่างที่ทำไปควรปรารภธรรมอย่าเห็นแก่คน เรื่องต้อนรับก็มุ่งเอาธรรมเป็นสำคัญ ทำไปด้วยใคร่ครวญพิจารณาไปด้วย จงเข้าใจว่าทุกอย่างที่ทำไปเป็นเรื่องของชาวโลกแต่ก็เป็นธรรม คือการทรงตัวของชาวโลก ถ้าเรายังเกิด เราก็ต้องทุกข์อย่างนี้ อะไรทำให้ทุกข์ เพราะความอยาก ทำให้ทุกข์ ถ้าเราไม่อยากเราก็ไม่ทุกข์ ที่เราทุกข์ก็เพราะชาติก่อนเราไม่หมดอยาก และชาตินี้เราก็ยังอยาก เมื่อไรความอยากสิ้นไป เมื่อนั้นก็ถึงนิพพาน


7) อย่าเที่ยวซุกซนทำตนเป็นคนถือมงคลตื่นข่าว ความดีไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น ความดีอยู่ที่เรา ใครเขาเป็นอรหันต์ เราไปเกาะเขาเราจะได้อะไร ความเป็นอรหันต์เขาเป็นกันที่เรา ไม่ใช่เป็นที่เกาะ การเกาะคนโน้นเกาะคนนี้ เอาอะไรมาเป็นเครื่องชำระจิต จงเอาที่บ้านที่นั่งที่นอนของเราเป็นป่าช้า อย่าคิดว่ามันเป็นทิพย์วิมาน เพราะที่อยู่ในชาติปัจจุบันมันมีสภาพเป็นซากศพ มันผุพังเปื่อยเน่า มันทำลายตนเองเป็นปกติ เราและสถานที่ต่างก็เป็นซากศพ จะสนใจอะไรกับความสวยสดผ่องใส มันสวยจริงหรือผ่องใสจริงหรือ โลกนี้มีอะไรดี จงอย่าหวั่นไหวต่อความเป็นไปของโลก โลกต่อไปจะเป็นไฟ เราจงทำใจเป็นน้ำ ใช้คำว่าช่างมัน ช่างมันตลอดไป เขาให้ทำเราทำ เขาสั่งหยุดเราหยุด นี่เป็นภาวะของโลก แต่เรื่องทำใจให้เป็นต้องทำตลอดไป รักษาอารมณ์รู้จักตาย รู้ว่าโลกเป็นของสลายตัว เท่านี้พอ แล้วก็จะเข้าถึงพระนิพพานได้


8) ถ้าเราไปเพ่งเล็งคนอื่นว่าคนนั้นชั่ว คนนี้ดีแสดงว่าเราเลวมาก เราควรจะดูใจของเราต่างหาก ว่าเรามันดีหรือเรามันเลว ถ้าเราดีเสียอย่างเดียว ใครเขาจะเลวร้อยแปดพันเก้าก็เรื่องของเขา ถ้าเราดีแล้วก็หาคนเลวไม่ได้ เพราะเรารู้เรื่องของคน คนมาจากอบายภูมิก็มี คนมาจากสัตว์เดรัจฉานก็มี คนมาจากมนุษย์ก็มี มาจากเทวดาก็มี มาจากพรหมก็มี มันจะเสมอกันไม่ได้ ถ้าพวกมาจากอบายภูมิสอนยาก ป่วยการสอน


9) ดีหรือชั่วมันอยู่ที่การควบคุมกำลังใจ ถ้ากำลังใจของเราบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียอย่างเดียว ใครจะว่าดีหรือชั่วไม่มีความสำคัญ เขาจะประณามว่าเลว มันก็เลวไม่ได้ มันก็ต้องดีอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตของเราชั่ว เขาจะสรรเสริญว่าดี มันก็ดีไม่ได้เหมือนกัน นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงให้รักษากำลังใจเป็นสำคัญว่า ควบคุมกำลังใจให้ดีไว้แล้ว มันดีเอง ไม่ต้องไปฟังชาวบ้านเขา การที่เราดี เพราะรอให้ชาวบ้านสรรเสริญ นั่นมันเป็นอารมณ์ของความชั่ว


10) คนที่เขามาสร้างความชั่วให้สะเทือนใจเรานั่น เขาเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม นี่ไม่มีทางจะคืนตัวได้ ความเป็นอยู่ของเขาในสมัยปัจจุบันในชาติที่เป็นมนุษย์ เขาก็มีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความเศร้าหมอง เพราะกิเลสมันทำจิตใจให้เศร้าหมอง ตัณหาสร้างจิตให้เร่าร้อน อุปาทานมีอาการเกาะความชั่วเป็นปกติ อกุศลกรรม ทำความชั่วตลอดเวลา คนที่เป็นทาสของกิเลสตายแล้วไม่มีโอกาสจะเกิดเป็นคน แม้จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยังเกิดไม่ได้ ต้องไปเกิดในอบายภูมิ
นี่ถ้าบุคคลผู้ใดทำใจของเราให้เร่าร้อนด้วยกายกรรม ทำด้วยกายก็ดี ด้วนวจีกรรม ทำด้วยวาจาก็ดี เราจงคิดว่า คนประเภทนี้เขาไม่ใช่คน เขาคือสัตว์นรกในอบายภูมินั่นเอง เราก็คิดว่าถ้าเราจะไปต่อล้อต่อเถียง จะกระทำตอบเราก็จะเลวตามเขา เวลานี้จิตใจของเขาจมลงไปแล้วในนรก ถ้าเราทำตามแบบเขาบ้าง เราก็จะจมลงนรกเหมือนกัน มันไม่มีประโยชน์ จิตเราก็ระงับความโกรธด้วยอำนาจ ขันติ หรือ อุเบกขา นี่ อุเบกขา เราใช้กันตรงนี้เลย เฉย เขาเลวก็ปล่อยให้เขาเลวไปแต่ผู้เดียว เราไม่ยอมเลวด้วย


11) ถ้าเราทุกคนปรับปรุงใจตนดีแล้ว มันก็ไม่มีเรื่องยุ่งกับคนอื่น ไม่สร้างคนอื่นให้มีความเร่าร้อน ในการที่จะเพ่งโทษคนอื่น ต้องรู้ตัวว่าเราเลวเกินไป นี่จงรู้สึกตัวไว้เสมอ รู้ตัวว่าเรามันเลว เลวมาก จนกระทั่งขังไว้ในใจไม่ได้ มันจึงอุตส่าห์ไหลออกมาทางวาจา ไหลออกมาทางกาย นี่แสดงว่าความเลวมันล้นออกมาจากจิตใจ ในข้อนี้ต้องคิดไว้เป็นประจำ อย่าทะนงตนว่าเป็นคนดี ถ้าดีแล้วปากไม่เสีย กายไม่เสีย ถ้าปากเสีย กายเสีย ความเลวมันล้น มีความดีไม่ได้


12) ดีหรือชั่วมันอยู่ที่การควบคุมกำลังใจ ถ้าใจของเราบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียอย่างเดียว ใครจะว่าดีหรือชั่วไม่มีความสำคัญ เขาจะประณามเราว่าเลว มันก็เลวไม่ได้ มันก็ต้องดีอยู่ตลอดเวลาถ้าจิตของเราชั่ว เขาจะสรรเสริญว่าดี มันก็ดีไม่ได้เหมือนกัน นี่เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าให้ทรงรักษากำลังใจเป็นสำคัญ ควบคุมกำลังใจให้ดีไว้แล้ว มันก็ดีเอง ไม่ต้องไปฟังคำชาวบ้านเขา การที่เราต้องดีเพราะรอให้ชาวบ้านสรรเสริญ นั่นมันเป็นอารมณ์ของความชั่ว


13) ตราบใดที่เราเป็นคน เราจะสร้างคนอื่นให้รอดพ้นจากความเป็นคนไม่ได้ แต่ว่าเมื่อไรเราเลิกเป็นคน ทำใจตนให้เป็นพระ เมื่อนั้นแหละเราก็สามารถจะเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์ให้คนอื่นเลิกเป็นคนได้ แต่ว่าถ้าเรายังเป็นคนอยู่และเข้าไปยุ่งกับคนอื่น บางทีคน ๆ นั้นเขามีส่วนเป็นคนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เมื่อเราเข้าไปยุ่งอีกรายจะกลายเป็นการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ในการเป็นคนให้แก่เขามากขึ้น แทนที่จะช่วยให้เขาพ้นจากความเป็นคนก็กลายเป็นการเพิ่มคนให้แก่เขา เรื่องมันก็จะไปกันใหญ่


14) คนที่ทรงศีลบริสุทธิ์จะไปรู้เรื่องของฌานสมาบัติไม่ได้ ถ้าขืนไปสู่รู้สู่เห็นเข้าเมื่อไร ก็ผิดเมื่อนั้นแหละ เมื่อทำถึงฌานสมาบัติแล้ว จึงจะเข้าใจว่าความรู้สึกเดิมของเรานั้นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ต้องเป็นอารมณ์เข้าใจ เมื่อเป็นผู้ทรงฌานสมาบัติ จะคิดว่ามีความเข้าใจเรื่องพระโสดาบัน สกิทาคามี ก็ไม่ได้อีก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะกำลังใจละเอียดไม่พอ
ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า จงยับยั้งชั่งใจในตัวเอง อย่ามีความประมาทในตัวเอง คิดว่า อะไรเราอ่านหนังสือแล้วเรารู้นะ นั่นน่ะชวนลงนรกดีมากที่สุด เพราะว่าการเข้าใจผิดที่เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด ถ้ามีความเห็นผิดมีความเข้าใจผิดมันก็ปฏิบัติผิด ถ้าคนที่ปฏิบัติผิด มีความเข้าใจผิด เขามีที่เก็บมีที่อยู่ คือ มี สำนักพระยายม ควบคุมอยู่


15) ทุกท่านที่ปฏิบัติพระกรรมฐานด้วยความจริงใจ ตั้งใจจริง มีศีลบริสุทธิ์ ตั้งใจทรงสมาธิให้ตั้งมั่น ตั้งใจรักษาปัญญาให้แจ่มใส รู้เท่าทันความเป็นจริง แต่ว่ายังไม่ถึง พระโสดาปัตติมรรค ก็ควรภูมิใจว่า เข้าอยู่ในเขตของความดี คือ ความอยู่ในเขตของคนดี แต่ว่าเราจะดีมากจะดีน้อยนั่นประมาทไม่ได้ ถ้ารู้ตัวว่าดีเมื่อไรก็แสดงว่า เราเลวเมื่อนั้น จงจำพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อัตตานา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทย์ความผิดของตนไว้เสมอ คือ ให้ความรู้สึกว่าเรายังชั่วอยู่ เรามันชั่วตรงไหน ไปนั่งดูนิวรณ์ 5 ว่า ถ้า นิวรณ์ 5 ประการ ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือในเวลาใดเวลาหนึ่ง มันเข้ามากวนใจเราได้ แสดงว่าเรายังมีช่องโหว่แห่งความชั่วในด้านฌานโลกีย์ ถ้า นิวรณ์ 5 ไม่สามารถจะสิงใจเราได้ แสดงว่าเราดีขึ้นถึงระดับของผู้ทรงฌาน