วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

22: พระอนาคามี

1) ถ้าจิตของบรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าสู่ พระอนาคามิมรรค ได้ มันเข้ามาเอง ทำไป ๆ จิตมันก็โทรมลงมา คือ ว่าจิตหมดกำลังในด้านความชั่ว ทรงความดีมากขึ้นต่อมามีความเบื่อหน่ายในเรื่องระหว่างเพศ มีความสลดใจ
ถ้าหากว่าจิตของเราไม่พอใจในศีล 5 มีความพอใจในศีล 8 แล้วก็มีความมั่นคงในศีล 8 อย่างนี้ท่านถือว่าเริ่มเข้า อนาคามิมรรค เรียกว่า เดินทางเข้าหาพระอนาคามี
ต่อไปถ้าจิตมีความเบื่อหน่ายในระหว่างเพศ คือ ถ้าหมดความรู้สึก ก็ถือว่าเป็น พระอนาคามิมรรค
และต่อมาถ้าจิตลดจากความโกรธ ความไม่พอใจ ปฏิฆะ ก็คืออารมณ์กระทบกระทั่งใจนิดๆ หน่อย ความไม่พอใจ ไอ้การแสดงออกน่าจะมีสำหรับคนในปกครอง ถ้าทำไม่ดีต้องดุ ต้องด่า ต้องลงโทษ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นการหวังดี แต่ว่าเนื้อแท้จริง ๆ จิตคิดประทุษร้ายไม่มี เป็นการหวังดีแก่ทุกคน คือตัดตัว ปฏิฆะ ถ้าเป็นอย่างนี้ถือว่าเต็มภาคภูมิของ พระอนาคามิผล
รวมความว่าจากพระสกิทาคามีแล้วเป็นพระอนาคามี ก็คือ
- สังเกตไว้ว่าใจเราพอใจในศีล 8 ได้ครบถ้วนจริงแล้วก็
- จิตตัดอารมณ์ในกามารมณ์ได้เด็ดขาด ไม่มีความรู้สึก
- ตัดความโกรธความพยาบาทได้เด็ดขาด
อย่างนี้เป็น พระอนาคามีผล


2) พระอนาคามีนี่ตัดสังโยชน์เพิ่มอีกสอง คือ กามฉันทะ และ ปฏิฆะ
กามฉันทะ ก็คือ หมดความรู้สึกในระหว่างเพศ ตอนนี้เพิ่มกรรมฐาน ต้องมีกำลังใจเข้มข้น เพิ่ม กายคตานุสสติกรรมฐาน กับ อสุภกรรมฐาน คือ พิจารณาเห็นว่าร่างกายเราก็สกปรก เห็นร่างกายของบุคคลอื่นก็สกปรก ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก้ดีไม่มีการทรงตัว มันทรุดโทรมไปทุกวัน
เป็นอันว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแน่ มันเป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว ไม่ช้ามันก้พัง เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก อย่างนี้เราไม่ต้องการมันอีก จนกระทั่งตอนนี้รู้สึกในระหว่างเพศไม่มี เห็นคนที่ลักษณะท่าทางที่ดี เราเคยรัก เคยชอบใจ ใจมันเฉย ๆ แต่ไม่เฉยเปล่า ถ้าในด้านของอนาคามีนี่มีความสะอิดสะเอียนด้วยมองดูผ้ามันก็ทะลุไปถึงหนัง ใจทะลุหนังเข้าไปถึงเนื้อ ใจทะลุเนื้อเข้าไปถึง ตับ ไต ไส้ ปอด อุจจาระ ปัสสาวะ ข้างใน เห็นคนก็เหมือนเห็นศพเดินไป ความรู้สึกระหว่างเพศมันก็ไม่มี


3) พระอนาคามีทรงอธิจิต จิตต้องมีความเข้มแข็งเป็นพิเศษ ต้องใช้อะไรเป็นเครื่องประกอบ ส่วนที่ประกอบเป็นสมถภาวนาเพื่อตัดกามฉันทะ ก็ได้แก่ กายคตานุสสติกรรมฐาน กับ อสุภกรรมฐาน อันนี้ต้องแน่นอน พิจารณาร่างกายพร้อมเป็นอาการ 32
แต่ความจริงอาการ 32 ไม่ต้องไปไล่เบี้ยกันว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ตับ ไต ไส้ ปอด ถ้านั่งว่าแบบนั้นจนหลับก็ไม่ได้อะไร วิธีปฏิบัติเขารวบเลยว่ากายทั้งกายมันมีส่วนสกปรกทั้งหมด ไม่มีส่วนใดเป็นของดีเลย ไม่มีการทรงตัว เราควบทั้งสมถะและวิปัสสนา
ผมก็ดี ขนก็ดี เล็บก็ดี ทุกส่วนของร่างกายจะเป็นหนัง เป็นเนื้อ จะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ต้องไล่เบี้ยว่า ทุกส่วนไม่มีอะไรดี มันดีไม่ได้ ปรนเปรอเท่าไรก็ทรุดโทรม มันเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า หาความดีอะไรไม่ได้
พิจารณาตามความเป็นจริงว่าอะไรมันสกปรกบ้าง ผิวหนังที่เราว่าสวย ถ้าไม่ได้อาบน้ำ 2-3 วัน ก็ดูไม่ได้เลย เนื้อเราว่าดี ถ้าเราลอกหนังกำพร้าออก ก็ไม่มีใครอยากมอง ถ้าเอาเนื้อออก ทีนี้ก็เจอโรงงานใหญ่ ตับ ไต ไส้ ปอด ทำงานยุ่บยั่บ ๆ สนุกกันใหญ่ มองหาความจริงจุดนี้แล้วก็มองดูร่างกายของเรานี้มีสภาพเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก เห็นความโสโครกนี่ยังเป็นสมถะภาวนา


4) ทีนี้เราก็มาพิจารณาร่างกายเรื่อย ๆ ไป เกิดความเบื่อหน่าย เห็นว่าร่างกายสกปรก ด้วยอำนาจ สักกายทิฏฐิ กายคตานุสสติ หรือ พิจารณาเทียบกับ อสุภกรรมฐาน เทียบกับความเป็นจริงของร่างกาย ว่าร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรก แล้วก็ไม่มีการทรงตัว เห็นร่างกายมันไม่ทรงตัวด้วย แล้วก็ความสกปรกมีด้วย คือ เทียบกับคนตายมันเน่าขึ้นมา มันเละขึ้นมา หรือว่าดูอาการ 32 ภายใน มันเต็มไปด้วยความสกปรก ของที่อยู่ข้างใน ไหลมาข้างนอก มีอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น เราก็รังเกียจ อย่างเหงื่อไคลเราก็รังเกียจ
ความเบื่อหน่ายในความสกปรกของร่างกายเกิดขึ้น ก็เกิดนิพพิทาญาณ ตัดกามราคะสิ้นไป ว่าเราจะไปรักใครทำไม ทุกคนสกปรกเหมือนกัน ในเมื่อร่างกายของคนทุกคน แม้แต่ร่างกายของเรามันสกปรก ไอ้ความยินดีในร่างกายของบุคคลอื่นมันก็ไม่มี
ต่อมาข้อ ปฏิฆะ เขาก็มีพรหมวิหาร 4 เป็นเครื่องยัน คิดว่าร่างกายเราก็ดี ร่างกายเขาก็ดี มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ที่เราจะต้องไปโกรธ ๆ ไอ้ตัวข้างนอกมันไม่ได้โกรธ ใจจะไปโกรธทำไม
ความโกรธเป็นปัจจัยของความทุกข์ เราไม่โกรธเราไม่ด่าใคร อยากจะโรธ อยากจะเลวก็เชิญด่า เชิญเลว ถ้าอยากจะว่า อยากจะเลวก็เชิญ เราขอยึดพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงเรียกว่า อุเบกขา วางเฉย
เขาชมเราเฉย เราไม่ดีใจ
เขาด่าเราเฉย เราไม่เสียใจ ถือว่า นัตถิโลเก อนินทิโต
คนไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก
เราไม่ดีไม่ชั่ว เพราะคำนินทาและสรรเสริญของคน นี่เป็นอารมณ์ของพระอนาคามี จำไว้เผื่อจิตมันจะถึง


5) โทสะ กับ พยาบาท มีการทำลายได้ 2 จุด คือ
- ใช้ พรหมวิหาร 4 พรหมวิหาร 4 นี้ต้องเป็นฌาน พรหมวิหาร 4 ก็มี
อารมณ์รัก อารมณ์สงสาร
อารมณ์ไม่อิจฉาริษยา ยินดีกับคนที่เขาได้ดี
อารมณ์วางเฉย อารมณ์ที่ไม่ชอบใจเกิดขึ้นก็เฉย เฉยแค่นี้ก็ต้องใช้ประกอบว่า ถึงแม้จะเฉยแค่นี้ ถ้ายังทรงกายอยู่มันก็ไม่ดี กายเขาก็ไม่ดี ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ความรู้สึก เกิด แก่ เจ็บ ตายก็พังหมด เป็นไปด้วยความโสโครกตามที่เห็นมาแล้ว จนกระทั่งจิตระงับความโกระ เห็นว่าใครเขาทำให้โกรธ เขาทำด้วยความชั่ว ทำด้วยความโง่
เพราะคนดีน่ะเขาไม่ทำให้คนอื่นโกรธ คนถ้าทำให้เขาโกรธ 1 คน พวกเขาทั้งพวกพลอยโกรธด้วย พี่เขาน้องเขา พ่อแม่เขาก็โกรธ ก็เป็นศัตรูกับเรา คนที่เป็นศัตรูกันมันไม่มีความสุข มีแต่ความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา
รวมความว่าคิดว่าความโกรธไม่เป็นเรื่อง ตัดทิ้งเลยดีกว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของบุคคลที่ควรเจริญพรหมวิหาร 4 แต่คนที่จะเจริญพรหมวิหาร 

4 ต้องเป็นคนช่างคิด ชอบคิด
- ทีนี้บางพวกเขาไม่ชอบคิด พระพุทธเจ้าก็มีกรรมฐานที่ไม่ต้องคิดอีก คือให้ใช้กสิณ4 จะเจริญกสิณส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม คือ
สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว จะเอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ จับกสิณสีใดสีหนึ่งให้ทรงตัวเป็นฌานสมาบัติ จนกระทั่งถึงฌาน 4 จับกสิณถึงฌาน 4 ขึ้นมาแล้วปัญญาก็เกิด
ปัญญาเกิดก็พิจารณาขันธ์ 5 ตัดขันธ์ 5 ได้ คือ ร่างกาย อย่างนี้โทสะมันก็ดับ กสิณ 4 อย่างเป็นตัวตัดโทสะ


6) อาศัยเมตตาจิต เห็นร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราจะไปโกรธเขาทำไม ไอ้คนที่ทำชั่ว ความจริงไม่ได้ตั้งใจจะชั่ว คิดว่ามันดีถึงได้ทำ แต่ว่าทำด้วยความหลงผิด จิตไม่มีเจตนาร้ายเลย ให้เมตตาเสีย เราไม่โกรธมัน ถ้าละ กามราคะ ละ ปฏิฆะ เพราะอำนาจเมตตาบารมีเข้ามาท่วมท้นแบบนี้ เห็นว่าร่างกายของเรามันไปไม่รอด จะไปโกรธเขาทำไม ควบกันเข้าไป ก็เป็นพระอนาคามี


7) คนเราทุกคนต้องการดี ที่ทำดีไม่ได้เพราะความเข้าใจผิด ก็เพราะอำนาจกิเลส ตัณหา อุปาทาน มันสอน ไอ้ความชั่วมันสอนใจ เขาจึงทำอย่างนั้น ความโกรธก็ไม่เกิด ให้อภัย ก็คิดว่า ไอ้เจ้านี่บ้า ๆ บอ ๆ ไม่ถือคนบ้าไม่ว่าคนเมา เป็นอันว่าหมดเรื่องกันไป
ถ้าทำได้ถึงจุดนี้ จิตมันก็ชื่อว่าตัดสังโยชน์ 2 ตัวได้คือ ตัดกามฉันทะ กับ ปฏิฆะ ก็เป็นพระอนาคามี