วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

28: หลวงพ่อเกษม เขมโก

ซึ้งบน:
หนังสือสำคัญพระธรรมเทศนา ที่หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านเขียนขึ้นเอง ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหนังสือเล่มนี้มีสาระบางส่วนดังนี้

ขอถวายพระพร คำภาษิตของอาตมาภาพมีอยู่ดังนี้

๑. การเห็น เป็นเหตุแห่ง การคิด
... การคิด เป็นเหตุแห่ง การเห็น
... ถ้าคิดดี ก็เป็นทางเย็น
... หากคิดไม่เป็น ก็เย็นสบาย

ธรรมภาษิตบทที่ ๑ ประโยคแรก "การเห็น เป็นเหตุแห่ง การคิด" หมายความว่า การรู้ธรรมเป็นเหตุแห่งการหลุดพ้น นั้นจะต้องเรื่มที่ ความเห็น หรือ สัมมาทิฏฐิ ในองค์มรรคทั้ง 8 สัมมาทิฏฐิในขั้นต้นนี้เป็นสัมมาทิฏฐิในระดับ โลกียธรรม คือเป็นความเห็นที่ถูกต้อง แม้จะยังไม่บริสุทธิ์นัก แต่ก็เป็นเหตุให้เห็นธรรมะ จากที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อน อย่างเช่น นาย ก.เป็นเศรษฐีที่ยึดถือผลกำไรเป็นเป้าหมาย ไม่เคยเชื่อในบาปบุญ ต่อมานาย ก.ป่วยหนัก ทนทุกข์ทรมาน ทรัพย์สินที่มีอยู่มากมาย ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย ระหว่างอยู่ ร.พ. นาย ก. มองเห็นคนตายทุกวัน เกิดความปลงในสังขารขันธ์ มองเห็นสัจธรรมว่า อีกไม่นานตนก็จะต้องตายอย่างคนเหล่านั้น เห็นความจริงของ ทุกข์ในอริยสัจ อย่างนี้เรียกว่า นาย ก.มีสัมมาทิฏฐิ คือมองเห็นสัจธรรมแล้ว ความเห็นนี้เองเป็นเหตุให้ นาย ก.เกิดความคิดชอบ หรือที่เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ คือ มีความคิดที่ถูกต้องว่า หนทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นนั้นคือ การออกจากกาม การไม่พยาบาทหรือเบียดเบียนผู้ใด อย่างนี้เรียกว่า นาย ก.เกิดความคิดที่ถูกต้องแล้ว หลวงพ่อเกษมจึงกล่าวว่า "การเห็นเป็นเหตุแห่งการคิด"

ประโยคที่สอง "การคิด เป็นเหตุแห่ง การเห็น" หมายความว่า เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว (สัมมาทิฏฐิ) แล้วก็จะเกิดความคิดที่ถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ) ตามมา และเมื่อเกิดความคิดที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่จะตามก็คือ สัมมาทิฏฐิ แต่สัมมาทิฏฐิในขั้นนี้ เป็นความเห็นที่ถูกต้องในระดับ " โลกุตรธรรม"ไม่ใช่ความเห็นชอบในระดับ "โลกียธรรม"แล้ว สัมมาทิฏฐิในระดับโลกุตรธรรมเป็นความเห็นที่เกิดจากปัญญา ของผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ความเห็นในระดับนี้เป็นความเห็น บริสุทธิ์ ที่เกิดจากปัญญาจริงๆไม่ใช่การนึกคิด การที่บุคคลจะปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้น จะต้องมีพื้นฐานมาจาก สัมมาสังกัปปะ อันประกอบด้วยความคิด ที่จะไม่พยาบาทหรือเบียดเบียนใคร และความคิดที่จะออกจากกาม (เพราะมองเห็นโทษ ของกามแล้ว) ความคิดนี้ ก็นำไปสู่การปฏิบัติตามองค์มรรคต่างๆ นั่นก็คือ เริ่มที่ความคิด เริ่มที่จิต แล้วก็ตามมาด้วยวาจาและกาย และจบลงที่ ความเห็น (สัมมาทิฏฐิ) ในระดับโลกุตรธรรม หลวงพ่อเกษม จึงกล่าวว่า " การเห็นเป็นเหตุแห่งการคิด"

ประโยคที่สาม "ถ้าคิดดี ก็เป็นทางเย็น" การคิดดีย่อมเป็นพื้นฐาน ของการละเว้นความชั่วและการทำความดี เมื่อมนุษย์ทำความดีวิบากแห่งความดี ย่อมอำนวยผลเป็นความสงบเย็น แม้ตายไป สุคติภพ (สวรรค์) ก็เป็นอันหวังได้

ประโยคที่สี่ "หากคิดไม่เป็น ก็เย็นสบาย" ในประโยคที่สามที่กล่าวว่า "ถ้าคิดดีก็เป็นทางเย็น" นั้นหมายถึง การคิดดีย่อมได้ดี แด่สิ่งที่เหนือยิ่งไปกว่าการ "คิดดี" ก็คือการ "คิดไม่เป็น" คำว่า "คิดไม่เป็น"ในที่นี้หมายถึง การคิดโดยปราศจากความยึดมั่นถือมั่น ไม่ปรารถนาที่จะเป็นสิ่งใด ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานใดๆ ว่านี้เป็นตัวเรา สิ่งนี้เป็นของเรา สิ่งนั้นเป็นของเขา ปล่อยวางในธรรมทั้งหลายทั้งปวง มองเห็นธรรมตามความเป็นจริง คือธรรมะทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนของเรา ที่จะยึดถือครอบครองว่าเป็นของเรา ดังนั้น "หากคิดไม่เป็นก็เย็นสบาย" จึงหมายความว่า เมื่อสิ้นความยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งหลาย ก็ย่อมเย็นสบาย คือ "นิพพาน" นั่นเอง

ขอถวายพระพร
พระภิกษุเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ ลำปาง

ในความน้อยนั้นมีความมาก ธรรมะที่ดูเหมือนจะมีเนื้อหาน้อย แท้จริงกลับมีความลึกซึ้งแยบคาย เต็มไปด้วยปริศนาธรรม

ขอนอบน้อมสักการะ หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ กราบ กราบ กราบ

กราบ กราบ กราบ
ขอนอบน้อมบูชาคุณถึงครูบาเจ้าเกษม เขมโก เช่นกันครับ