วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

27: ประสบการณ์ธรรมะ นรธ.

สันติ: เมื่อ 27-11-2011, 03:20 PM

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 54 ผมได้เดินทางไปทำธุระที่กรุงเทพ ได้เกิดอุบัติเหตุถูกรถกะบะขับมาชนท้ายรถยนต์ คันที่นั่งไปบนถนนสาย moterway ใกล้กับเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เวลาประมาณ 11.30 น. ขณะที่รถติดกันเป็นแถวยาว ก็ได้ยินเสียงดังโครมที่ด้านหลังรถที่ผมนั่ง งานเข้าแล้ว ผมบอกตัวเองอย่างนั้น รถชนกันที่บนถนนที่มีรถวิ่งเป็นร้อยๆคัน ด้วยความเร็ว 120-140 กม./ชม. ไม่สนุกเลยนะครับ

อย่างแรกที่ต้องทำคือ ระงับอารมฌ์โกรธ อารมฌ์หงุดหงิดของตัวเองก่อน ตั้งสติให้ดีแล้วค่อยลงไปคุยกับคู่กรณี โชคดีที่ต่างฝ่ายต่างมีประกัน แต่กว่าจะติดต่อประกันได้ และกว่าพนักงานเครมความเสียหายของบริษัทประกันคู่กรณี จะมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ ก็ประมาณบ่าย 2 โมง ระยะเวลา 2.30 ชม. ที่รอคอยนี่แหละครับ มีโอกาสได้ใช้ปัญญาเต็มที่เลยครับ ต้องพิจารณาธรรมในสภาวะตามความเป็นจริง ท่ามกลางแสงแดด ท่ามกลางฝุ่นละออง ท่ามกลางเสียง (ดังจนหูอื้อ) ของรถยนตร์ที่วิ่งไป-มา(ต้องตะโกนคุยกับคู่กรณี)

ร้อนก็ร้อนจริง(ร้อนจริงๆ) แสงแดดทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่เลยครับ ในเวลาประมาณเที่ยง-บ่าย ตัวถูกรู้ (ร่างกาย) แทบไหม้เหมือนกันครับ 555 แต่อย่างว่าแหละครับ ในเมื่อตัวเราไม่ใช่ของเรา จะไปทุกข์ทำไมพยายามทำใจของเรา ให้เย็น ให้สบาย จะได้ไม่เครียดครับ

อารมฌ์โกรธ,หงุดหงิด,กังวล ฯลฯ ที่คิดว่าวางได้ก็คอยจะผุดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ก็เลยต้องพิจารณาอีกว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้หรอก ไม่ว่าตัวเขาตัวเรา อันนี้มันเป็นประสบการณ์สอนเรา หากเราไปมีอารมฌ์กับตัวเขา ตัวเราจิตเรานั่นแหละ จะมีอาการเหมือนเผาตัวเอง เพราะเกิดความไม่พอใจขึ้นในจิตของเราก่อน จิตปรุงเองมันจะเป็นทุกข์ร้อนรุ่ม ไปยึดไปแบกเขาเอง เรื่องของจิตไม่มีใครจะทำทุกข์ให้ใครได้ นอกจากตัวเองเท่านั้น ก็เลยถามเอง-ตอบเอง เราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ก็เพื่อฝึกจิตให้รู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริงแห่งปัจจุบัน มิใช่เพื่อความมีใดๆทั้งสิ้น เพราะถ้าเรามีตัวเราของเราเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทุกข์จะเกิดขึ้นทันที พอคิดได้ดังนี้ จิตก็ค่อยสบาย ค่อยเบา ขึ้นมาครับ

บททดสอบตนเองจากประสบการณ์จริงๆ ของแต่ละบุคคล ก็เปรียบเสมือนข้อสอบที่แต่ละบุคคลจักต้องสอบและประเมินผล ด้วยตนเองว่าเราจักสอบผ่านหรือไม่อย่างไรครับ

คิดถึงคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ ที่ท่านพูดอยู่เสมอว่า " ธรรมะจักต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริง สภาวะจริง จึงจะรู้จริง " 


ภูเบศวร์:
ประสบการณ์ท่านสันติ ทำให้ได้เห็นว่า ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม คือได้คุ้มครองทั้งกายและจิตของผู้ประพฤติปฏิบัติ
อนุโมทนาครับ

..................
กร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการปฏิบัติ นำมาฝากผู้ปฏิบัติในแนวทางวิปัสสนา(ดูกายดูใจ)เป็นเทคนิคเล็กๆแต่สำคัญมาก(สำหรับผม)
..................
ครั้งที่ผมสัญจรไปเชียงใหม่ช่วงที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปกราบพระอริยะองค์หนึ่งที่เชียงดาว ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่สิม เป็นศิษย์ผู้พี่ผม รุ่นอาวุโสที่คอยให้ความช่วยเหลือแนะนำช่วงผมเป็นพระนวกะ
ท่านได้ให้แนวทางเรื่องฐานที่ตั้งของใจ สำหรับการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้จิตไหลตามอารมณ์ไป จากการที่เราระลึกรู้สภาวะที่เกิดขึ้นกับใจ ซึ่งเรามักเผลอไหลไปตามสภาวะนั้น ผู้ที่ยังไม่ชำนาญใจมักไม่ตั้งมั่น ควรที่จะมาระลึกรู้กายก่อน ให้กายเป็นฐานที่มั่นเพราะกายเป็นรูปธรรม ระลึกรู้ได้ง่าย การระลึกรู้กายแม้จะเป็นสมถะ แต่ก็เป็นเบื้องต้นที่จะเป็นอุบายให้สติเกิดขึ้นได้บ่อยๆ(สติเป็นอนัตตา บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้) เมื่อสติเกิดขึ้นได้บ่อย ใจมีความตั้งมั่นชำนาญแล้ว การระลึกรู้ใจก็จะไม่เผลอไหลไปตามสภาวะที่เกิดขึ้นกับใจในขณะนั้น
เป็นเทคนิคเล็กๆน้อยๆนำมาเป็นของฝากจากเชียงใหม่ครับ

ผมได้รับฟังแนวทางการปฏิบัติจากท่านถึง2ชั่วโมง ตั้งแต่สภาวะของเราที่ยังไม่ชัดเจนหรือติดอยู่ จนไปถึงสภาวะของใจอันบริสุทธิ์อันเป็นเนื้อแท้ของใจที่ไม่มีอะไรเข้ามาเจือปนได้อีก แต่ยังคงอยู่ร่วมกันกับสภาวะของโลก เหมือนน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว