วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

36: ลำดับความรุนแรงแห่งการให้ผลของกรรมชั่ว

ลำดับความรุนแรงแห่งการให้ผลของกรรมชั่ว


พระพุทธเจ้าตรัสถึงกรรมหนัก ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ไปเกิดในอบายไว้ โดยทรงลำดับความรุนแรงแห่งการให้ผลไว้ดังนี้ คือ

๑. นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม เป็นกรรมที่รุนแรงที่สุด และให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ ทั้งหมด

๒. อนันตริยกรรม ๕ ประการ โดยความรุนแรงรองจากนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม โดยทรงตรัสว่า ในอนันตริยกรรม ๕ อย่างนี้ เริ่มต้นแต่ สังฆเภทกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่หนักที่สุด ,รองมาคือ ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต ,รองมาคือ ฆ่าพระอรหันต์, รองมาคือ ฆ่ามารดา และสุดท้ายคือ ฆ่าบิดา

๓. อัตตวินิบาตกรรม ได้แก่ การฆ่าตัวตาย ซึ่งมีผลรุนแรงมาก รองจากอนันตริยกรรม

กรรมชั่วหรือกรรมไม่ดีหรืออกุศลกรรม หรือการกระทำที่เป็นอกุศลที่จะทำให้ได้รับผลกรรมนั้น (ที่เรียกว่าเสวยผลของกรรม) ทันทีตาย โดยไม่มีกรรมอื่น ๆ มาแทรกได้เลย เรียกว่า มิจฉัตตนิยตธรรม

มิจฉัตตนิยตธรรม
คือสิ่งที่เป็นสิ่งไม่ดี การกระทำหรือความคิดที่ไม่ดี เป็นความชั่ว และจะทำให้ผู้กระทำได้รับผลหรือต้องเสวยผลของกรรมนั้นทันทีที่ตายลง (คือ ไปอบาย) โดยไม่มีกรรมไม่ว่าชั่วหรือดีแค่ไหนก็ตาม
อย่างอื่น มาคั่นกลางหรือแทรกระหว่างได้เลย

มิจฉัตตนิยตธรรม มี ๒ อย่างคือ
(๑) นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม
(๒) ปัญจานันตริยกรรม

นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม
นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม มี ๓ อย่างคือ

(1) นัตถิกทิฏฐิ
คือ การมีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายที่จะได้รับความดีความชั่ว ที่จะได้มีความสุขหรือความทุกข์ ฯลฯ ในภพข้างหน้านั้น ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องไปจากการกระทำอันเป็นบุญหรือเป็นบาปของตนเอง ที่ตนทำไว้ในชีวิตปัจจุบัน

(2) อเหตุกทิฏฐิ
คือ การมีความเห็นว่าความดี ความชั่ว ความสุข ความทุกข์ ฯลฯ ที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่ในชีวิตปัจจุบันนี้ ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำอันเป็นบุญหรือเป็นบาปของตนเองในภพก่อน

(3) อกริยทิฏฐิ
คือ มีความเห็นว่าการกระทำของสัตว์ทั้งหลาย ถึงแม้ว่าจะทำดีก็ไม่ชื่อว่าเป็นบุญ ถึงแม้กระทำชั่วก็ไม่ชื่อว่าเป็นบาป แต่เชื่อว่าการกระทำไม่ว่าดีหรือไม่ดีก็แค่เป็นไปตามธรรมดา ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป

ปัญจานันตริยกรรม
ปัญจานันตริยกรรม มี ๕ คือ

1. มาตุฆาต - ฆ่ามารดา
2. ปิตุฆาต - ฆ่าบิดา
3. อรหันตฆาต - ฆ่าพระอรหันต์
4. โลหิตุปบาท - ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต
5. สังฆเภท - ยุให้พระสงฆ์แตกหมู่แตกคณะกัน

อันนี้ ท่านอธิบายว่า อกุศลกรรมทั้ง ๘ ประเภทนี้ (นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม ๓ และปัญจานันตริยกรรม ๕) ถ้าหากใครกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในนี้แล้ว เมื่อสิ้นชีวิตก็จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นทันที ถึงแม้ว่าก่อนตายจะสร้างบุญใหญ่บุญดีเลิศขนาดไหน บุญทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่อาจช่วยให้พ้นไปจากการต้องรับผลกรรมชั่วเหล่านี้ทันทีที่ตายลงได้เลย

ถ้าหากใครได้กระทำกรรมไว้ทั้งสองอย่าง คือทั้งปัญจานันตริยกรรมข้อใดข้อหนึ่ง
กับนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมข้อใดข้อหนึ่ง ในชีวิตนั้นแล้ว กรรมจากนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมจะเป็นกรรมที่ส่งให้ได้รับผลทันทีที่ตาย

นี่ก็แสดงว่า กรรมจากความเห็นผิดทั้ง ๓ ประการ อันเห็นผิดถาวร เห็นผิดอย่างมั่นคง ปักใจอย่างแน่วแน่ ใน ๓ ประการข้างบนนี้ เป็นกรรมหนักที่สุด หนักยิ่งกว่าปัญจานันตริยกรรม

ความเห็นผิด จึงน่ากลัวนัก และนอกจากนี้ เมื่อเห็นผิดแล้ว ก็จะทำให้คิดผิด เชื่อผิด กระทำอะไรต่ออะไรผิด ๆ

เช่น เมื่อไม่เชื่อบาปบุญก็เลยไม่ทำบุญ ไม่เชื่อบาปก็เลยทำบาปได้

ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม ก็จะทำได้ทั้งดีและไม่ดี เพราะว่าไม่เชื่อว่าความดีจะส่งผลเป็นสิ่งที่ดี
เพราะไม่เชื่อว่าความชั่วจะส่งผลเป็นสิ่งที่ชั่ว ชีวิตก็จะมีแต่ตกต่ำดิ่งลึกลงไปในหุบเหวแห่งความเห็นผิด และการกระทำกรรมไม่ดี ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้

ไกลออกไปทุกทีจากกรรมดี จากเส้นทางแห่งปัญญา และจากการชำระจนให้มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เปี่ยมไปด้วยปัญญา

ไกลออกไปยิ่ง ๆ จากแสงสว่างทางธรรม ไกลออกไปจากการพ้นทุกข์.

ตามที่ได้เล่าไว้ว่าโดยหลักการแล้ว หากบุคคลใดละเมิดกรรมทั้งสองอย่าง
คือกระทำทั้ง นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม และ ปัญจานันตริยกรรม ในชีวิตนั้น ๆ
กรรมที่จะส่งผลก่อนเพราะถือเป็นกรรมหนักกว่าก็คือ กรรมจากนิยตมิจฉาทิฏฐิ


สิ่งที่จะมาขอเพิ่มเติมให้ครบถ้วนก็คือ ในกรณีนี้ เมื่อนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมให้ผลไปก่อนแล้ว แต่กรรมที่กระทำอนันตริยกรรม (คือ กระทำปัญจานันตริยกรรมข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ) ก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้กลายเป็นอโหสิกรรมไปแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม อนันตริยกรรมที่ได้กระทำไปนั้น ๆ จะรอส่งผลต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆ ขณะใดก็ตามที่มีโอกาส.