วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

37: การให้ทานเพื่อให้เกิดผลบุญมากที่สุด

การให้ทานเพื่อให้เกิดผลบุญมากที่สุด


การให้ทานเพื่อให้เกิดผลบุญมากที่สุด จะต้องประกอบด้วย

วัตถุทาน เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริต ไม่ไปลักเอามา หรือไปหลอกลวง ไปฉ้อโกงเขามา หรือนำเงินที่ได้จากการเล่นการพนันไปซื้อหามา วัตถุทานที่ให้นั้นจะต้องเป็นของที่จำเป็นและมีประโยชน์แก่ผู้รับ

การฆ่าสัตว์นำเอาเนื้อมาทำอาหารถวายพระ หรือ เลี้ยงคน ผู้นั้นจะได้บุญปนบาป ถึงแม้จะอยู่ในสังคมที่ชาวบ้านเขาทำกันมาก็ตาม เราก็อย่าทำตาม ให้ไปหาซื้อเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วมาทำอาหาร เพราะเมื่อเราได้รับความทุกข์เราก็ทุกข์ในบ้านเรา ชาวบ้านเขาไม่ได้มาทุกข์กับเราด้วย อย่างมากก็แค่มาแสดงความเสียใจด้วย เท่านั้นเอง

ตัวผู้ให้ทาน จะต้องมีเจตนาที่เป็นบุญ ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีความโลภเข้ามาปน ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนจากการให้ทาน เช่น ชอบกินอาหารชนิดใดก็นำอาหารชนิดนั้นไปทำบุญโดยหวังว่าจะได้มีไว้กินตอนที่ตายไปแล้ว หรือ อธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นไปเพื่อกิเลสตัณหา ขอให้ร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติ เกิดชาติใดขอให้มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี ขอให้ได้สิ่งนั้น ขอให้มีสิ่งนี้ การขอที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเช่นนี้ มักจะก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา และผู้ที่ทำบุญแล้วอธิษฐานขอเช่นนี้ก็จะไม่ได้บุญแต่อย่างใด

แต่ถ้าหากทำบุญด้วยความจริงใจไม่หวังผลตอบแทน ทำบุญโดยไม่ยึดติดทั้งวัตถุและอาหาร ไม่คาดหวังว่าสิ่งที่เราทำไปจะได้กลายเป็นของกินของใช้ตอนที่เราตายไปแล้ว ทำบุญเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ทำบุญเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ทำบุญเพื่อการอุทิศ ไม่ทำบุญเพื่อเอาหน้า ไม่หวังคำสรรเสริญใด ๆ ถ้าทำได้เช่นนี้ ผู้ทำบุญย่อมได้รับอานิสงส์อย่างมหาศาล

การอธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นกิเลส ควรจะต้องใช้ปัญญาประกอบด้วย โดยอธิษฐานขอให้มีในสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ให้น้อมใจไปในทางเพื่อเป็นปัจจัยในการเข้าพระนิพพาน เช่น ขอให้มีทรัพย์สมบัติ เพื่อจะได้สะดวกในการทำบุญให้ทาน ขอให้มีรูปสมบัติ คุณสมบัติ เพื่อเวลาบอกให้ใครทำความดีแล้วดูน่าเชื่อถือ ขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพื่อจะได้มีกำลังในการสร้างความดี ขอให้มีอายุยืนยาว เพื่อจะได้มีเวลาอยู่สร้างความดีไปได้นาน ๆ อย่างนี้เป็นต้น และจะต้องระลึกอยู่ในใจเสมอว่า สุดท้ายเมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว เราจะต้องสละวางทุกอย่างเพื่อเข้าพระนิพพาน

การทำบุญที่เจือด้วยอกุศล เช่น เลี้ยงสุรา เล่นการพนัน มีมหรสพ มีการสนุกสนานเฮฮา ผู้กระทำย่อมไม่ได้รับอานิสงส์แต่อย่างใด ยิ่งหากบังเอิญผู้ทำบุญตายลงในขณะนั้น จิตใจเกาะเกี่ยวอยู่ในส่วนที่เป็นบาป ก็จะทำให้ผู้นั้นไปเกิดในอบายภูมิทันที

นอกจากนี้การให้ทานจะได้ผลสมบูรณ์หรือไม่นั้น จิตใจของผู้ให้ทาน ยังจะต้องประกอบด้วยเจตนาอีก 3 ประการด้วยกัน ที่เรียกว่ามีศรัทธาในกาลทั้ง 3 ได้แก่

๑. บุพเจตนา หมายถึง เจตนาก่อนให้ มีความตั้งใจจริง มีจิตเลื่อมใสศรัทธา รู้สึกดีใจที่จะให้ เกิดปีติยินดี อิ่มเอิบเบิกบาน พร้อมทั้งพอใจในวัตถุทานที่จะให้

๒. มุญจนเจตนา หมายถึง ขณะที่ให้ ก็ให้ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาและยินดี ตั้งใจจริง จิตใจเบิกบานผ่องใส

๓. อปราปรเจตนา หมายถึง เมื่อให้ไปแล้ว ก็มีจิตใจเลื่อมใส ดีใจที่ได้ให้ทานสมดังที่ได้ตั้งใจไว้ จิตใจก็ยังปลื้มปีติยินดี อิ่มเอิบเบิกบานอยู่ตลอดเวลา ไม่นึกเสียดายในวัตถุทานนั้น ๆ

ฉะนั้นถ้าเจตนาดีทั้ง 3 กาลก็ได้บุญมาก แม้เพียงทำทานด้วยข้าวสวยเพียงหนึ่งทัพพี ก็ยังได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่มหาศาล แต่ถ้าเจตนาไม่ครบ 3 กาล ถึงจะบริจาคทานมากมายยิ่งใหญ่สักเพียงใด ก็ไม่สามารถจะได้รับอานิสงส์ผลบุญตอบแทนได้ เช่น ให้แล้วรู้สึกเสียดาย หรือให้อย่างไม่เต็มใจ ทำอย่างอดเสียมิได้ เห็นเขาทำก็ทำตามเขาบ้าง เช่นนี้ ก็จะไม่ได้บุญ หรือได้บุญน้อย หรือได้บุญปนบาป

และสุดท้าย ตัวผู้รับทาน จะต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม มีศีลบริสุทธิ์ ตัวผู้รับยิ่งมีความบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ ผลบุญที่ได้รับก็จะยิ่งมากขึ้นไปตามนั้น.