วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

33: กิเลส


กิเลส
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กิเลส แปลว่า สิ่งเกาะติด สิ่งเปรอะเปื้อน สิ่งสกปรก

กิเลส คือ สิ่งที่แฝงติดอยู่ในใจแล้วทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัว มีอุปมาเหมือนสีที่ใส่ลงไปในน้ำทำให้น้ำมีสีเหมือนสีที่ใส่ลงไป ใจก็เช่นกัน ปกติก็ใสสะอาด แต่กลายเป็นใจดำ ใจง่าย ใจร้ายก็เพราะมีกิเลสเข้าไปอิงอาศัยผสมปนเปอยู่

กิเลสที่ชอบซุกหมักหมมอยู่ในใจคนมากที่สุด คือ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะกิเลสชอบซุกหมักหมมอยู่ในใจของคน จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กิเลสาสวะ หรือ อาสวกิเลส แปลว่า กิเลสที่หมักดองอยู่ในจิต
_____________________________
อาสวกิเลส
อาสวกิเลส (อ่านว่า อา-สะ-วะ) แปลว่า กิเลสที่หมักดองอยู่ในจิต
อาสวกิเลส คือ กิเลสที่หมักหมม นอนเนื่องทับถมอยู่ในจิต ชุบย้อมจิตให้เศร้าหมอง ให้ขุ่นมัว ให้ชุ่มอยู่เสมอ เรียกย่อว่า อาสวะ ก็ได้ มี 4 อย่าง คือ
1. กาม ได้แก่ ความติดใจรักใคร่อยู่ในกามคุณ
2. ภพ ได้แก่ ความติดอยู่ในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่
3. ทิฏฐิ ได้แก่ ความเห็นผิด ความหัวดื้อหัวรั้น
4. อวิชชา ได้แก่ ความไม่รู้จริง ความลุ่มหลงมัวเมา

_____________________________
ประเภทของกิเลส
1. อโนตตัปปะ ความไม่รู้สึกตื่นกลัวต่อการทุจริต
2. โทสะ ความโมโห โกรธ ความไม่พอใจ
3. โมหะ ความหลงใหล ความโง่
4. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านไปต่าง ๆ นานา
5. ทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ
6. วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงใจ สงสัย ไม่แน่ใจ ลังเลใจ ในสิ่งที่ควรเชื่อ
7. โลภะ ความพอใจ ชอบพอ เต็มใจ ในโลกียอารมณ์ต่าง ๆ
8. ถีนะ ความหดหู่ เงียบเหงา
9. อหิริกะ ความไม่ละอายต่อการกระทำผิด ทุจริต
10. มานะ ความ ทะนงตน ถือตัว เย่อหยิ่ง
_____________________________
ราคะ
ราคะ ราคจริต
ราคะ แปลว่า ความกำหนัดยินดี, ความพอใจ, ความติดใจ

จริต แปลว่า ความประพฤติ, พฤติกรรมปกติ หมายถึงความประพฤติที่ติดต่อสืบเนื่องมานานจนเป็นเรื่องปกติของผู้นั้น ใช้ว่า จริยา ก็ได้

ราคจริต หมายถึงพฤติกรรมของคนที่มีราคะเป็นปกติ คือรักสวยรักงาม มีกิริยาคือ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้นที่เรียบร้อย นิ่มนวล ชอบสะอาด ทำกิจต่าง ๆ ไม่รีบร้อน ชอบกินของที่บรรจงจัด ชอบของหวาน มีอารมณ์สุนทรีย์ ดูอะไรก็ดูนาน ละเอียดพิเคราะห์ อุปนิสัยเป็นคนเจ้าเล่ห์ ถือตัว แง่งอน ชอบอวด ชอบยอ อยากได้หน้า
ราคจิต แก้ได้ด้วยการพิจารณากายคตาสติ หรือ อสุภกรรมฐาน
____________________________
โลภะ
โลภะ แปลว่า ความโลภ ความอยากได้ เป็นกิเลสอย่างหนึ่งในบรรดากิเลสใหญ่ 3 อย่างคือ โลภะ โทสะ โมหะ
โลภะ เกิดจากเกิดจากตัณหาคือความทะยานอยากได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตหิวโหยอยากได้ เกิดความดิ้นรน อยู่ไม่เป็นสุข หากหยุดยั้งไม่ได้ก็จะเป็นต้นเหตุให้ดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่อยากได้มาสนองความต้องการ หรือเมื่อไม่ได้โดยวิธีชอบธรรมก็นำให้ไปทำความชั่วความไม่ดีงามต่าง ๆ เช่น ลักขโมย ทุจริต คอรัปชั่น โกง ปล้น จนถึงฆ่าคนตาย
โลภะ เป็นอันตรายแก่ธรรมทั้งปวง คือเป็นตัวทำลายศีลธรรม มโนธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม สามัคคีธรรม ยุติธรรมและธรรมชาติ
โลภะ ละได้ด้วยการให้ทาน การเสียสละ เกื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในทางที่ชอบ
กลุ่มโลภะ ธรรมฝ่ายชั่วนี้มี 3 อย่าง คือ
1. โลภะ เป็นความอยากได้ ยินดี ติดใจ ในอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์
2. ทิฏฐิ เป็นธรรมชาติที่เห็นผิด
3. มานะ เป็นความอวดดื้อถือตัว
____________________________
โทสะ
โทสะ แปลว่า ความโกรธ ความขัดเคือง ความไม่พอใจ เป็นกิเลสอย่างหนึ่งในบรรดากิเลสใหญ่ทั้ง 3 อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ
โทสะ เกิดจากมานะคือความถือตัวถือตน ความรู้สึกว่าตัวเด่นกว่าเขา ตัวด้อยกว่าเขา หรือตัวเสมอกับเขา เมื่อถูกกระทบเข้าก็เกิดความไม่พอใจ เกิดโทสะขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วหากระงับไม่ได้ก็จะนำให้ทำความชั่วความไม่ดีต่าง ๆ เช่น ทะเลาะวิวาทกัน กลั่นแกล้งกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน เป็นเหตุให้ตัวเองเดือดร้อน โลกก็เร่าร้อน ขาดสันติภาพ อยู่กันอย่างเดือดร้อน หวาดระแวงกันและกัน
โทสะ กำจัดได้โดย เมตตา คือการมีความรักปรารถนาดีต่อกัน
กลุ่มโทสะ ธรรมฝ่ายชั่วนี้มี 4 อย่าง คือ
1. โทสะ เป็นธรรมชาติที่ประทุษร้ายหรือความโกรธ
2. อิสสา เป็นธรรมชาติที่ไม่พอใจในคุณสมบัติหรือคุณความดีของผู้อื่นหรือความอิจฉา
3. มัจฉริยะ เป็นธรรมชาติที่หวงแหนในสมบัติและคุณความดีของตนหรือความตระหนี่
4. กุกกุจจะ เป็นธรรมชาติที่รำคาญใจในความชั่วที่ได้ทำแล้ว และรำคาญใจหรือร้อนใจที่ยังไม่ได้ทำความดี
_____________________________
โมหะ
โมหะ แปลว่า ความหลง ความเขลา ความโง่ หมายถึงความไม่รู้ตามที่เป็นจริง เป็นกิเลสอย่างหนึ่งในบรรดากิเลสใหญ่ 3 อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งได้แก่อวิชชา นั่นเอง
โมหะ เกิดจากความคิดเห็นที่ผิด จากการไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้ประจักษ์ในเรื่องนั้น ๆ ให้ถ่องแท้ถี่ถ้วนก่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้ไม่รู้บุญไม่รู้บาป ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป ชักนำให้ไปทำความชั่วความไม่ดีต่าง ๆ เช่น ประมาท ทะเลาะวิวาท แก่งแย่งชิงดี อวดดี เกียจคร้าน บ้ากาม อกตัญญู เชื่อง่าย หูเบา
โมหะ กำจัดได้ด้วยปัญญา คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นประจักษ์ในสิ่งนั้น ๆ
กลุ่มโมหะ ธรรมฝ่ายชั่วนี้มี 4 อย่าง คือ
1. โมหะ เป็นความหลง หรือธรรมชาติที่ปิดความจริงของอารมณ์
2. อหิริกะ เป็นธรรมชาติที่ไม่ละอายในการทำผิดทางกาย วาจา ใจ
3. อโนตตัปปะ เป็นธรรมชาติที่ไม่กลัวเกรงต่อผลของบาป
4. อุทธัจจะ เป็นความฟุ้งซ่านหรือธรรมชาติที่จับอารมณ์ไม่มั่น