วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

29: ถ้อยธรรมจากอริยะชน

ฟ้าดินห่างไกลกันก็ยังมองเห็น มหาสมุทรกว้างไกลก็พอไปถึง แต่จิตอริยะชน กับปุถุชนห่างไกลกันไม่มีที่หมาย เพราะปุถุชนกับอริยะชนอยู่คนละฝั่งกัน

ฝั่งหนึ่งเป็นโลกีย์ ฝั่่งหนึ่งเป็นโลกุตตระ ปุถุชนเป็นโลก (โลกีย์) อริยะชนเป็นโลกุตตระ (เหนือโลก) จึงไม่สามารถมมองเห็นกันได้ จนกว่าปุถุชนจะประพฤติปฏิบัติจนจิตเป็นอริยะชน เมื่อนั้นจึงจะมองเห็นกันได้

ปุถุชนย่อมไม่สามารถเข้าใจการกระทำ คำพูด ถ้อยธรรมทุกคำ ตามความเป็นจริงในใจของอริยะชนอย่างถ่องแท้ได้ แต่อริยะชนทั้้งหลายย่อมแทงทะลุในการกระทำ คำพูด ความคิดทุกอย่างของปุถุชนได้อย่างไม่ต้องสงสัย จงตั้งใจพากเพียรประพฤติปฎิบัติตามอริยะชน นักปราชญ์เจ้าผู้รู้ทั้งหลาย ด้วยความอุตสาหะ และซื่อตรง ต่อธรรม ไม่เอาทิฎฐิของตนเป็นใหญ่จนขวางทางธรรมของเจ้าของ เพราะมันจะเนิ่นช้า เสียเวลาในการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยการสุ่มเดาของตน จงเข้าหาศึกษา ประพฤติปฎิบัติกับนักปราญ์เจ้าผู้รู้ทั้งหลาย เพื่อความรู้แจ้งแทงทะลุในอริยะสัจจะธรรม สมความปรารถนา

คติธรรมโดยพระป่าบ้านนอก

พุทธบุตร นักรบธรรม (ภูดานไห) สู้อุตสาหะ พากเพียร ขยันหมั่นประพฤติ น้อมนำเอาธรรมนำไปปฏิบัติ ศรัทธามั่น น่าอนุโมทนาสาธุนัก สู้ไปเถิดอีกสักวันคงได้สมดั่งจินต์
บารมีใด ๆ ที่ท่านสร้าง จงเป็นทางมรรคาพาสมหวัง
จงมีใจมากล้นด้วยพลัง ส่งถึงฝั่งเมืองแก้วพระนิพพาน
ขออนุโมทนาในสิ่งทั้งหลายที่พวกท่านได้กระทำ เป็นกำลังให้พระศาสนา มีจิตใจที่เปี่ยมล้นด้วยพลังศรัทธา ร่วมสร้างวัด (สถานที่ปฏิบัติธรรม) ให้ผู้คนทั้งหลายได้มาทำบุญ โลกทั้งหลายเขาพากันสร้างสถานเริงรมย์ ยั่วยวนกิเลสคนให้เร่าร้อน ลุ่มหลง พวกท่านทั้งหลายพากันสร้างสถานธรรมให้ผู้คนทั้งหลายได้มาอาศัยประพฤติปฏิบัติธรรม หลบร้อนด้วยไฟแห่งกิเลส ตัณหา น่าอนุโมทนานัก
ขออนุโมทนา

IT Man:
ข้าพเจ้าขอยินดีต้อนรับท่านชมธรรม (Chomdham) หรืออาจเรียกได้ว่า ท่านทรงธรรม เข้าสู่กุฏิน้อยหลังเขาแห่งหลวงปู่แหวนมาโปรดในนิมิต ซึ่งแม้จะอาศัยในป่าลึก ก็สู้อุตส่าห์หากันเจอ...เพื่อมาชี้แนะแนวทางธรรมที่ถูกที่ควร นี่หล่ะหนอ...กลิ่นอายแห่งธรรมแลเมตตาธรรมที่มีต่อผู้กำลังก้าวเดินตามมรรคา

ธรรมะของท่านที่เมตตาชี้แนะเหล่า นรธ.กับญาติธรรม เปรียบประหนึ่งน้ำทิพย์โชลมใจ นรธ.ที่กำลังถดถอย ท้อแท้ทั้งกายแลใจ อันเกิดจากโลกธรรมทั้ง 8 มาเบียดเบียนแล้วเบียดเบียนเล่า ทำให้ข้าพเจ้าคลายความกังวลเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ไปได้บ้าง

ธรรมะของท่านจะทำให้เหล่า นรธ. ที่ตอนนี้และที่ผ่านมา ต่างกระจัดกระจายตามรูปแบบของใครของมัน ให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว เฉกเช่นที่เราต่างมุ่งสู่ร่มเงาธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ ณ ภูดานไหเป็นแน่แท้...

ขอกราบอนุโมทนาสาธุ
นรธ.สมบัติ/22 ม.ค.55

ปล:
ท่านสามารถเข้าชม web blog ขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์พ.สุรเตโชได้ที่นี่
และความคืบหน้าของภูดานไหได้ที่นี่ครับ

วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

28: หลวงพ่อเกษม เขมโก

ซึ้งบน:
หนังสือสำคัญพระธรรมเทศนา ที่หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านเขียนขึ้นเอง ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหนังสือเล่มนี้มีสาระบางส่วนดังนี้

ขอถวายพระพร คำภาษิตของอาตมาภาพมีอยู่ดังนี้

๑. การเห็น เป็นเหตุแห่ง การคิด
... การคิด เป็นเหตุแห่ง การเห็น
... ถ้าคิดดี ก็เป็นทางเย็น
... หากคิดไม่เป็น ก็เย็นสบาย

ธรรมภาษิตบทที่ ๑ ประโยคแรก "การเห็น เป็นเหตุแห่ง การคิด" หมายความว่า การรู้ธรรมเป็นเหตุแห่งการหลุดพ้น นั้นจะต้องเรื่มที่ ความเห็น หรือ สัมมาทิฏฐิ ในองค์มรรคทั้ง 8 สัมมาทิฏฐิในขั้นต้นนี้เป็นสัมมาทิฏฐิในระดับ โลกียธรรม คือเป็นความเห็นที่ถูกต้อง แม้จะยังไม่บริสุทธิ์นัก แต่ก็เป็นเหตุให้เห็นธรรมะ จากที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อน อย่างเช่น นาย ก.เป็นเศรษฐีที่ยึดถือผลกำไรเป็นเป้าหมาย ไม่เคยเชื่อในบาปบุญ ต่อมานาย ก.ป่วยหนัก ทนทุกข์ทรมาน ทรัพย์สินที่มีอยู่มากมาย ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย ระหว่างอยู่ ร.พ. นาย ก. มองเห็นคนตายทุกวัน เกิดความปลงในสังขารขันธ์ มองเห็นสัจธรรมว่า อีกไม่นานตนก็จะต้องตายอย่างคนเหล่านั้น เห็นความจริงของ ทุกข์ในอริยสัจ อย่างนี้เรียกว่า นาย ก.มีสัมมาทิฏฐิ คือมองเห็นสัจธรรมแล้ว ความเห็นนี้เองเป็นเหตุให้ นาย ก.เกิดความคิดชอบ หรือที่เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ คือ มีความคิดที่ถูกต้องว่า หนทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นนั้นคือ การออกจากกาม การไม่พยาบาทหรือเบียดเบียนผู้ใด อย่างนี้เรียกว่า นาย ก.เกิดความคิดที่ถูกต้องแล้ว หลวงพ่อเกษมจึงกล่าวว่า "การเห็นเป็นเหตุแห่งการคิด"

ประโยคที่สอง "การคิด เป็นเหตุแห่ง การเห็น" หมายความว่า เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว (สัมมาทิฏฐิ) แล้วก็จะเกิดความคิดที่ถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ) ตามมา และเมื่อเกิดความคิดที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่จะตามก็คือ สัมมาทิฏฐิ แต่สัมมาทิฏฐิในขั้นนี้ เป็นความเห็นที่ถูกต้องในระดับ " โลกุตรธรรม"ไม่ใช่ความเห็นชอบในระดับ "โลกียธรรม"แล้ว สัมมาทิฏฐิในระดับโลกุตรธรรมเป็นความเห็นที่เกิดจากปัญญา ของผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ความเห็นในระดับนี้เป็นความเห็น บริสุทธิ์ ที่เกิดจากปัญญาจริงๆไม่ใช่การนึกคิด การที่บุคคลจะปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้น จะต้องมีพื้นฐานมาจาก สัมมาสังกัปปะ อันประกอบด้วยความคิด ที่จะไม่พยาบาทหรือเบียดเบียนใคร และความคิดที่จะออกจากกาม (เพราะมองเห็นโทษ ของกามแล้ว) ความคิดนี้ ก็นำไปสู่การปฏิบัติตามองค์มรรคต่างๆ นั่นก็คือ เริ่มที่ความคิด เริ่มที่จิต แล้วก็ตามมาด้วยวาจาและกาย และจบลงที่ ความเห็น (สัมมาทิฏฐิ) ในระดับโลกุตรธรรม หลวงพ่อเกษม จึงกล่าวว่า " การเห็นเป็นเหตุแห่งการคิด"

ประโยคที่สาม "ถ้าคิดดี ก็เป็นทางเย็น" การคิดดีย่อมเป็นพื้นฐาน ของการละเว้นความชั่วและการทำความดี เมื่อมนุษย์ทำความดีวิบากแห่งความดี ย่อมอำนวยผลเป็นความสงบเย็น แม้ตายไป สุคติภพ (สวรรค์) ก็เป็นอันหวังได้

ประโยคที่สี่ "หากคิดไม่เป็น ก็เย็นสบาย" ในประโยคที่สามที่กล่าวว่า "ถ้าคิดดีก็เป็นทางเย็น" นั้นหมายถึง การคิดดีย่อมได้ดี แด่สิ่งที่เหนือยิ่งไปกว่าการ "คิดดี" ก็คือการ "คิดไม่เป็น" คำว่า "คิดไม่เป็น"ในที่นี้หมายถึง การคิดโดยปราศจากความยึดมั่นถือมั่น ไม่ปรารถนาที่จะเป็นสิ่งใด ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานใดๆ ว่านี้เป็นตัวเรา สิ่งนี้เป็นของเรา สิ่งนั้นเป็นของเขา ปล่อยวางในธรรมทั้งหลายทั้งปวง มองเห็นธรรมตามความเป็นจริง คือธรรมะทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนของเรา ที่จะยึดถือครอบครองว่าเป็นของเรา ดังนั้น "หากคิดไม่เป็นก็เย็นสบาย" จึงหมายความว่า เมื่อสิ้นความยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งหลาย ก็ย่อมเย็นสบาย คือ "นิพพาน" นั่นเอง

ขอถวายพระพร
พระภิกษุเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ ลำปาง

ในความน้อยนั้นมีความมาก ธรรมะที่ดูเหมือนจะมีเนื้อหาน้อย แท้จริงกลับมีความลึกซึ้งแยบคาย เต็มไปด้วยปริศนาธรรม

ขอนอบน้อมสักการะ หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ กราบ กราบ กราบ

กราบ กราบ กราบ
ขอนอบน้อมบูชาคุณถึงครูบาเจ้าเกษม เขมโก เช่นกันครับ

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

27: ประสบการณ์ธรรมะ นรธ.

สันติ: เมื่อ 27-11-2011, 03:20 PM

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 54 ผมได้เดินทางไปทำธุระที่กรุงเทพ ได้เกิดอุบัติเหตุถูกรถกะบะขับมาชนท้ายรถยนต์ คันที่นั่งไปบนถนนสาย moterway ใกล้กับเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เวลาประมาณ 11.30 น. ขณะที่รถติดกันเป็นแถวยาว ก็ได้ยินเสียงดังโครมที่ด้านหลังรถที่ผมนั่ง งานเข้าแล้ว ผมบอกตัวเองอย่างนั้น รถชนกันที่บนถนนที่มีรถวิ่งเป็นร้อยๆคัน ด้วยความเร็ว 120-140 กม./ชม. ไม่สนุกเลยนะครับ

อย่างแรกที่ต้องทำคือ ระงับอารมฌ์โกรธ อารมฌ์หงุดหงิดของตัวเองก่อน ตั้งสติให้ดีแล้วค่อยลงไปคุยกับคู่กรณี โชคดีที่ต่างฝ่ายต่างมีประกัน แต่กว่าจะติดต่อประกันได้ และกว่าพนักงานเครมความเสียหายของบริษัทประกันคู่กรณี จะมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ ก็ประมาณบ่าย 2 โมง ระยะเวลา 2.30 ชม. ที่รอคอยนี่แหละครับ มีโอกาสได้ใช้ปัญญาเต็มที่เลยครับ ต้องพิจารณาธรรมในสภาวะตามความเป็นจริง ท่ามกลางแสงแดด ท่ามกลางฝุ่นละออง ท่ามกลางเสียง (ดังจนหูอื้อ) ของรถยนตร์ที่วิ่งไป-มา(ต้องตะโกนคุยกับคู่กรณี)

ร้อนก็ร้อนจริง(ร้อนจริงๆ) แสงแดดทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่เลยครับ ในเวลาประมาณเที่ยง-บ่าย ตัวถูกรู้ (ร่างกาย) แทบไหม้เหมือนกันครับ 555 แต่อย่างว่าแหละครับ ในเมื่อตัวเราไม่ใช่ของเรา จะไปทุกข์ทำไมพยายามทำใจของเรา ให้เย็น ให้สบาย จะได้ไม่เครียดครับ

อารมฌ์โกรธ,หงุดหงิด,กังวล ฯลฯ ที่คิดว่าวางได้ก็คอยจะผุดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ก็เลยต้องพิจารณาอีกว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้หรอก ไม่ว่าตัวเขาตัวเรา อันนี้มันเป็นประสบการณ์สอนเรา หากเราไปมีอารมฌ์กับตัวเขา ตัวเราจิตเรานั่นแหละ จะมีอาการเหมือนเผาตัวเอง เพราะเกิดความไม่พอใจขึ้นในจิตของเราก่อน จิตปรุงเองมันจะเป็นทุกข์ร้อนรุ่ม ไปยึดไปแบกเขาเอง เรื่องของจิตไม่มีใครจะทำทุกข์ให้ใครได้ นอกจากตัวเองเท่านั้น ก็เลยถามเอง-ตอบเอง เราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ก็เพื่อฝึกจิตให้รู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริงแห่งปัจจุบัน มิใช่เพื่อความมีใดๆทั้งสิ้น เพราะถ้าเรามีตัวเราของเราเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทุกข์จะเกิดขึ้นทันที พอคิดได้ดังนี้ จิตก็ค่อยสบาย ค่อยเบา ขึ้นมาครับ

บททดสอบตนเองจากประสบการณ์จริงๆ ของแต่ละบุคคล ก็เปรียบเสมือนข้อสอบที่แต่ละบุคคลจักต้องสอบและประเมินผล ด้วยตนเองว่าเราจักสอบผ่านหรือไม่อย่างไรครับ

คิดถึงคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ ที่ท่านพูดอยู่เสมอว่า " ธรรมะจักต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริง สภาวะจริง จึงจะรู้จริง " 


ภูเบศวร์:
ประสบการณ์ท่านสันติ ทำให้ได้เห็นว่า ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม คือได้คุ้มครองทั้งกายและจิตของผู้ประพฤติปฏิบัติ
อนุโมทนาครับ

..................
กร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการปฏิบัติ นำมาฝากผู้ปฏิบัติในแนวทางวิปัสสนา(ดูกายดูใจ)เป็นเทคนิคเล็กๆแต่สำคัญมาก(สำหรับผม)
..................
ครั้งที่ผมสัญจรไปเชียงใหม่ช่วงที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปกราบพระอริยะองค์หนึ่งที่เชียงดาว ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่สิม เป็นศิษย์ผู้พี่ผม รุ่นอาวุโสที่คอยให้ความช่วยเหลือแนะนำช่วงผมเป็นพระนวกะ
ท่านได้ให้แนวทางเรื่องฐานที่ตั้งของใจ สำหรับการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้จิตไหลตามอารมณ์ไป จากการที่เราระลึกรู้สภาวะที่เกิดขึ้นกับใจ ซึ่งเรามักเผลอไหลไปตามสภาวะนั้น ผู้ที่ยังไม่ชำนาญใจมักไม่ตั้งมั่น ควรที่จะมาระลึกรู้กายก่อน ให้กายเป็นฐานที่มั่นเพราะกายเป็นรูปธรรม ระลึกรู้ได้ง่าย การระลึกรู้กายแม้จะเป็นสมถะ แต่ก็เป็นเบื้องต้นที่จะเป็นอุบายให้สติเกิดขึ้นได้บ่อยๆ(สติเป็นอนัตตา บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้) เมื่อสติเกิดขึ้นได้บ่อย ใจมีความตั้งมั่นชำนาญแล้ว การระลึกรู้ใจก็จะไม่เผลอไหลไปตามสภาวะที่เกิดขึ้นกับใจในขณะนั้น
เป็นเทคนิคเล็กๆน้อยๆนำมาเป็นของฝากจากเชียงใหม่ครับ

ผมได้รับฟังแนวทางการปฏิบัติจากท่านถึง2ชั่วโมง ตั้งแต่สภาวะของเราที่ยังไม่ชัดเจนหรือติดอยู่ จนไปถึงสภาวะของใจอันบริสุทธิ์อันเป็นเนื้อแท้ของใจที่ไม่มีอะไรเข้ามาเจือปนได้อีก แต่ยังคงอยู่ร่วมกันกับสภาวะของโลก เหมือนน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว

26: เมืองพอ

เย็นนี้ไปทานข้าวในร้านอาหารแห่งหนึ่งในแม่สอด ไปเห็นคำคมสั้นๆแต่สะดุดใจในความเป็นไปของตัวเองยิ่ง จึงขออนุญาตนำมาแบ่งปัน เผื่อจักเข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่...เฉกเช่นกัน


"ทรัพยากรในโลกเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก แต่
ไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนที่มีความโลภเพียงคนเดียว"
มหาตมะ คานธี

ทำให้หวลคำนึงถึงคำคมอิสาน ที่ได้รับการถ่ายทอดจากคุณพ่อของผมตั้งแต่เยาว์ว่า
"ลูกเอ๋ย ในเมืองมนุษย์นี้เมืองพอบ่มีเด้อ...มีแต่เมืองพล(จ.ขอนแก่น)"
ณ.วันนั้นลูกชายคนนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก...ณ วันนี้เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วครับผม

ค่ำคืนนี้..ช่างคิดถึงคุณพ่อและคุณพ่อที่พวกเรานรธ.มีเหมือนกันนะครับ