วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

44: วินาทีที่ฉันฆ่าตัวตาย

วินาทีที่ฉันฆ่าตัวตาย















































43: สูตรขจัดความสะดุ้งหวาดกลัว หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งหลาย

สูตรขจัดความสะดุ้งหวาดกลัว หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งหลาย



สุพรหมสูตรที่ ๗ เรื่องโทมนัสของสุพรหมเทพบุตร

แม้สุพรหมเทพบุตร อันนางเทพอัปสรพันหนึ่งห้อมล้อม ก็เสวยสวรรคสมบัติ.

ในจำพวกนางเทพอัปสรพันหนึ่งนั้น นางเทพอัปสรห้าร้อยมัวเก็บดอกไม้จากต้น ก็จุติไปเกิดในนรก สุพรหมเทพบุตรรำพึงว่า ทำไมเทพอัปสรเหล่านี้จึงชักช้าอยู่ ก็รู้ว่าพวกนางไปเกิดในนรก จึงหันมาพิจารณาดูตัวเองว่า อายุเท่าไรแล้วหนอ ก็รู้ว่าตนจะสิ้นอายุ จะไปเกิดในนรกนั้นด้วย ก็หวาดกลัว เกิดโทมนัสอย่างยิ่ง เห็นว่า พระบรมศาสดาเท่านั้น จะยังความโทมนัสของเรานี้ให้พินาศไป ไม่มีผู้อื่นแล้ว ก็พานางเทพอัปสรห้าร้อยที่เหลือ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

[๒๖๔] สุพรหมเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดอยู่เป็นนิตย์
ทั้งในกิจที่ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งในกิจที่เกิดขึ้นแล้วก็ตาม
ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่ ขอพระองค์ที่ถูกทูลถามแล้ว
โปรดตรัสบอกความไม่หวาดสะดุ้งนั้น แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ฯ

[๒๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์
นอกจากความสละวางโดยประการทั้งปวง
เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย ฯ


ในที่สุดเทศนา สุพรหมเทพบุตรก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมด้วยนางเทพอัปสรห้าร้อย ทำสมบัตินั้นให้ถาวรแล้วกลับไปยังเทวโลก.

มรรคนี้อันบุคคลเจริญแล้ว บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเป็นไปเพื่อดับโทมนัส ดังกล่าวมานี้.

สรุปในพระสูตรนี้

เมื่อใดที่มีความสะดุ้งหวาดกลัว หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ใด ๆ จงนึกถึงธรรม ๔ ประการนี้คือ

๑. ปัญญา
๒. ความเพียร
๓. ความสำรวมอินทรีย์
๔. ความสละวาง


ธรรม ๔ ประการนี้มีขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นจักปราศจากความสะดุ้งหวาดกลัว ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งหลาย และมีความสวัสดีในที่ทั้งปวง.

42: ยอดครูผู้ฝึกคน

ยอดครูผู้ฝึกคน



ครั้งหนึ่ง นายสารถียอดครูฝึกม้า ได้เดินทางมาเยี่ยมพบเพื่อสนทนาธรรมเป็นครั้งแรกกับพระพุทธเจ้า พอไปถึง เขาก็ไหว้ทักทายพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงถามว่า ได้ข่าวว่า เขาเป็นยอดนายสารถีผู้ฝึกม้า เขามีวิธีการฝึกม้าอย่างไรบ้าง

นายสารถีบอกว่า เขาก็ฝึกโดยใช้ 3 วิธี คือ วิธีรุนแรง วิธีละม่อม และวิธีผสมระหว่างรุนแรงกับละม่อม

พระพุทธองค์ทรงบอกต่อว่า แล้วถ้ามีม้าที่ฝึกทั้ง 3 วิธีแล้วยังไม่ได้ผลล่ะ

นายสารถีก็บอกว่า ถ้าเช่นนั้น เขาก็ต้องฆ่าเสีย เพราะฝึกไปก็จะเสียชื่อ ยอดผู้ฝึกม้าเช่นเขา

พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า สมเป็นยอดผู้ฝึกม้าจริง ๆ

คราวนี้เขาจึงถามกลับว่า แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ชื่อว่าเป็นยอดครูผู้ฝึกคนนั้น พระพุทธองค์มีวิธีการฝึกคนอย่างไร

พระพุทธองค์ทรงบอกว่า ก็เหมือนเขาฝึกม้านั่นแหละ คือ ฝึกโดยวิธีละม่อม วิธีรุนแรง วิธีผสม

วิธีละม่อม คือ ทรงพรรณนาอานิสงส์ของก็ทำความดี ว่าจะทำให้มีสุคติเช่น สวรรค์ พรหม นิพพานเป็นที่ไป

วิธีรุนแรง คือ ทรงพรรณนาโทษของการทำความชั่ว ว่าจะต้องตกอบายภูมิ 4 มีสัตว์นรก เปรต เดรัจฉาน อสุรกาย เป็นที่ไป

วิธีผสมทั้งละม่อมและรุนแรง คือ ทรงพรรณนาทั้งคุณของความดีและโทษของความชั่วไปด้วยกัน

นายสารถีถามต่อว่า หากมีใครไม่สามารถฝึกได้ทั้ง 3 วิธีที่กล่าวมาล่ะพระพุทธองค์จะทำอย่างไร

พระพุทธองค์ทรงตอบว่า ก็จะทรงฆ่าเสีย

นายสารถีตกใจเล็กน้อย บอกว่า พระพุทธองค์เป็นนักบวช จะฆ่าสัตว์ตัดชีวิตได้อย่างไร

พระพุทธองค์ทรงตอบว่า ไม่ได้ฆ่าแบบนั้น แต่ทรงฆ่าให้ตายจากความดี ด้วยการงดสั่งสอนเสีย เพราะหากฝากตัวเป็นสาวก แล้วไม่เชื่อฟังที่ศาสดาสอน จะได้ชื่อว่าเป็นสาวกของพระพุทธองค์ได้อย่างไร

นายสารถี สีหน้าพอใจ จึงประกาศว่า “แจ่มแจ้งจริงหนอ ธรรมะของพระพุทธเจ้า เสมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง จุดประทีปในที่มืด ข้าพเจ้าขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป” .

41: กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์

กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์



"กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์"

ข้างบนคือคำที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ ซึ่งคำว่า “พรหมจรรย์” หมายถึง การประพฤติธรรมอันประเสริฐ หรือ การครองชีวิตประเสริฐ ส่วน “กัลยาณมิตร” หมายถึง เพื่อนที่ดีมีคุณธรรม

เหตุที่ทรงตรัสเช่นนั้นก็เพราะการคบหาคลุกคลีกับผู้ใดย่อมส่งผลต่อเราอย่างมาก อย่างบางคนที่เคยมีความประพฤติดี แต่เมื่อไปคบหากับคนพาล นิสัยใจคอก็ค่อยเปลี่ยนไปในทางไม่ดีโดยไม่รู้ตัว เช่น จากที่ไม่เคยดูถูกคน ก็กลายเป็นคนเย่อหยิ่งถือตัว จากไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ก็เริ่มดื่มเหล้า เล่นการพนัน หรือเที่ยวกลางคืนเป็นต้น นอกจากนี้การคบคนพาลยังนำมาซึ่งความฉิบหาย ไม่ว่าจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เสียทรัพย์เพราะมั่วอบายมุข และที่สำคัญคือ ทำให้เรามีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ซึ่งล้วนเป็นทางแห่งความเสื่อมทั้งสิ้น

ด้วยหนทางในสังสารวัฏนั้นยาวไกลนัก การมีเพื่อนที่ดีนอกจากจะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลเราได้แล้ว ยังสามารถช่วยตักเตือน ให้กำลังใจ ชักนำหรือแนะนำเราได้เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นอีกด้วย

ดังนั้นการคบเพื่อนที่ดีมีคุณธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต หน้าที่การงาน และที่สำคัญสุดคือการประพฤติธรรม เพราะจะช่วยทำให้เรามีความเห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถบรรลุมรรคผลได้

ทุกวันนี้กัลยาณมิตรอาจหาได้ยาก แต่ด้วยกุศลที่ได้ทำแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้เราพบมิตรแบบนี้ได้เมื่อถึงเวลา หากไม่สามารถหากัลยาณมิตรได้ ก็ไม่ควรไปคบคนพาล ไม่มีเพื่อนเสียเลยยังดีกว่า แต่ควรให้พระธรรมเป็นกัลยาณมิตรแทน เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ถือเป็นกัลยาณมิตรได้เช่นกัน

กัลยาณมิตรสมัยพุทธกาล

กัลยาณมิตร มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดังเช่นในอดีตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเกิดมาแล้วเป็นผู้มีความเห็นผิด จนเกือบจะไม่ได้พบกับหนทางของพระนิพพาน แต่เนื่องจากพระองค์ได้คบหากับบุคคลอันเป็นกัลยาณมิตร พระองค์จึงได้ก้าวเข้ามาสู่หนทางของการสร้างบารมี จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้

พระองค์ทรงระลึกชาติในหนหลัง ตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟังว่า ในสมัยนั้นเป็นสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ณ ตำบล บ้านเวภฬิคะ มีชายหนุ่ม ๒ คนเป็นเพื่อนรักกัน คนหนึ่ง ชื่อ ฆฏิการะ อีกคนหนึ่ง ชื่อ โชติปาละ ทั้งสองคนนี้แม้จะเป็นเพื่อนที่รักกันมาก แต่กลับมีอุปนิสัยในทางธรรมที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

ฆฏิการะนั้นเป็นผู้ที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก เขาได้ชื่อว่าเป็นอุปัฏฐากที่ดีเลิศของพระพุทธเจ้ากัสสปะ แต่โชติปาละเป็นผู้ที่ไม่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเลย เขาไม่เคยไปฟังธรรม ไม่เคยแม้แต่จะไปกราบพระพุทธเจ้า ฆฏิการะก็พยายามชักชวนอยู่เสมอ แม้ว่าความปรารถนาดีของเขาจะถูกปฏิเสธเสียทุกครั้งไป

จนกระทั่งวันหนึ่ง ฆฏิการะจึงออกอุบายชวนโชติปาละไปอาบน้ำยังท่าน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้กับพระอารามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พออาบน้ำชำระกายเป็นที่เย็นกายเย็นใจแล้ว ฆฏิการะก็กล่าวชวนโชติปาละว่า "โชติปาละไปเถอะ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากัน พระอารามของพระองค์ท่านอยู่ที่ตรงนี้เอง" โชติปาละกล่าวตอบว่า "อย่าเลย เราไม่เห็นประโยชน์อะไรกับการที่จะได้เห็นสมณะโล้น สู้ไปเที่ยวยังจะสนุกเสียกว่า" ฆฏิการะก็บอกว่า "มีประโยชน์สิ เพราะการเห็นสมณะนั้นเป็นมงคล ไปกันเถอะ" โชติปาละก็ปฏิเสธอีก ฆฏิการะจึงเดินเข้าไปจับมือของโชติปาละ โชติปาละสะบัดมือออก ฆฏิการะเปลี่ยนมาจับชายพกของโชติปาละ โชติปาละก็ดึงมือออกอีก ฆฏิการะไม่ละความพยายามหันมาดึงมวยผม พร้อมกับกล่าวชวนซ้ำอีก คราวนี้โชติปาละรู้สึกขัดใจขึ้นมาทันที
"เอ๊ะ! ทำไมต้องมาดึงมวยผมกันด้วยละ สมณะโล้นน่ะ มีดีอย่างไรหรือ ท่านจึงอยากให้ข้าพเจ้าไปเฝ้านัก"

และ ด้วยอานุภาพแห่งกัลยาณมิตร โชติปาละก็รำลึกได้ว่า โดยปกติแล้ว ฆฏิการะเป็นเพื่อนที่หวังดีกับเขาเสมอมา ไม่เคยเลยที่จะชักนำไปในทางที่เสียหาย เขาเริ่มคิดได้ว่า การที่ฆฏิการะชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอนี้ ก็คงจะเป็นการชักนำไปในทางที่ดีอีกเช่นเคย ดังนั้นโชติปาละจึงยอมไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

เมื่อไปถึงพระอาราม ทั้งสองกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็นั่งในที่อันควรข้างหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงปฏิสันถารด้วยพระทัยที่เปี่ยมด้วยความเมตตา แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาด้วยกระแสเสียงอันไพเราะ แสดงธรรมที่ไพเราะทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย หลั่งธรรมธาราให้รินไหลเข้าสู่กระแสใจของโชติปาละ โชติปาละได้ฟังธรรมแล้ว ใจของเขาก็ผ่องใส เหมือนคนที่เดินหลงทางอยู่ในทะเลทรายมาเป็นเวลานาน แล้วได้พบกับบ่อน้ำที่ให้ทั้งความเย็นกายเย็นใจ ใจของเขาดื่มด่ำในรสแห่งอมตธรรมยิ่งนัก แล้วด้วยใจที่ศรัทธาตั้งมั่นไม่คลอนแคลน โชติปาละจึงขอออกบวชอุทิศตนเป็นพุทธบูชาตลอดชีวิต

แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงกล่าวกับพระอานนท์สืบไปว่า ดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้พึงคิดเลยว่าเราคือ ฆฏิการะ บุรุษผู้มีความเห็นถูก แต่แท้ที่จริงแล้วเราคือ โชติปาละ บุรุษผู้มีความเห็นผิดคนนั้น แต่เนื่องจากเราได้คบหากับบุคคลอันเป็นยอดกัลยาณมิตร คือ ฆฏิการะ เราจึงได้กลับมาเป็นผู้มีความเห็นถูก ก้าวเข้ามาสู่หนทางแห่งการสร้างความดี มาสร้างบารมี จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ในที่สุด

อานนท์ แม้เราตถาคตก็ยังต้องการกัลยาณมิตร เป็นผู้ชี้หนทางแห่งความดีให้ ดังนั้น เราจึงได้กล่าวกับเธอว่า "กัลยาณมิตรนั้นเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์"

หมายเหตุ
ฆฏิการะในกาลนั้น ซึ่งเป็นพระอนาคามี ได้ไปบังเกิดในสุทธาวาสภูมิชั้นที่ 5 อกนิฏฐภูมิ

เมื่อครั้นพระมหาโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงเปลื้องฉลองพระองค์และผ้าโพกพระเศียร โยนขึ้นไปในอากาศ ท้าวฆฏิการพรหมก็ได้รับไว้ แล้วนำพระอัฏฐบริขาร มีบาตรและจีวรเป็นต้น มาถวายแด่พระโพธิสัตว์ และรับฉลองพระองค์และผ้าโพกพระเศียรไปประดิษฐานไว้ในทุสสะเจดีย์ ที่เนรมิตสร้างไว้ในชั้นอกนิฏฐภพ นี้เอง.

40: พุทธโอวาท

พุทธโอวาท



ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหาอุปาทานความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่าง ๆ

สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตนเป็นของตนที่จะไม่ก่อทุกข์ก่อโทษให้นั้นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้

เมื่อใดบุคคลเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สึกสักแต่ว่าได้รู้สึก เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เพียงสักแต่ว่า

ไม่หลงใหล พัวพัน มัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่าง ๆ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่

เธอจงมองดูโลกนี้ โดยความเป็นของว่างเปล่า (ไม่มีสาระแก่นสารอันใด) มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิคือ ความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย

ด้วยประการฉะนั้น เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวาง และการสำรวมตนอยู่ในธรรม.

39: ทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

ทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น



ภูมกสูตร ๑๘/๓๔๒

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปาวาริกอัมพวัน ใกล้เมือง นาลันทา

ครั้งนั้นแล นายบ้านนามว่า อสิพันธกบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ มีคนโทน้ำติดตัว ประดับพวงมาลัยสาหร่าย อาบน้ำทุกเช้าเย็น บำเรอไฟ พราหมณ์เหล่านั้นเชื่อว่า ยังสัตว์ที่ตายทำกาละแล้วให้เป็นขึ้น ให้รู้ชอบ ชวนให้เข้าสวรรค์

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถกระทำให้สัตว์โลกทั้งหมดเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้หรือ?”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คามณี ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ปัญหาควรแก่ท่านด้วยประการใด ท่านพึงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นด้วยประการนั้น

ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? บุรุษในโลกนี้ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา (ความเพ่งเล็งด้วยความโลภ) มีจิตพยาบาท และมีความเห็นผิด

หมู่มหาชนมาประชุมกันแล้ว พึงสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบผู้นั้นว่า “ขอบุรุษนี้เมื่อตายไปแล้ว จงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เถิด”

ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? บุรุษนั้นเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน เพราะเหตุแห่งการสรรเสริญ หรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบดังนี้หรือ?”

นายบ้านทูลตอบว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คามณี! เปรียบเหมือนบุรุษโยนหินก้อนหนาใหญ่ลงในห้วงน้ำลึก หมู่มหาชนพึงมาประชุมกัน แล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือ เดินเวียนรอบหินนั้นว่า

“ขอจงโผล่มาเถิดท่านก้อนหิน ขอจงลอยขึ้นมาเถิดท่านก้อนหิน ขอจงขึ้นบกเถิดท่านก้อนหิน”

ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? ก้อนหินนั้นพึงโผล่ขึ้น พึงลอยขึ้น หรือพึงขึ้นบก เพราะเหตุแห่งการวิงวอน สรรเสริญ หรือประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ?”

นายบ้านทูลตอบว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คามณี ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษ (สตรี) คนใดฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา (ความเพ่งเล็งด้วยความโลภ) มีจิตพยาบาท และมีความเห็นผิด

หมู่มหาชนพึงมาประชุมกัน แล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษ (สตรี) นั้นว่า

“ขอบุรุษ (สตรี) นี้เมื่อตายไปแล้ว จงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์” ก็จริง แต่บุรุษ (สตรี) นั้นเมื่อตายแล้ว พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

คามณี! ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? บุรุษ (สตรี) ในโลกนี้ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา (ความเพ่งเล็งด้วยความโลภ) มีจิตไม่พยาบาท และมีความเห็นชอบ

หมู่มหาชนพึงมาประชุมกัน แล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือ เดินเวียนรอบบุรุษ (สตรี) นั้นว่า “ขอบุรุษ (สตรี) นี้เมื่อตายไปแล้ว จงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เถิด”

ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? บุรุษ (สตรี) นั้น เมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญ หรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ?”

นายบ้านทูลตอบว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คามณี! เปรียบเหมือนบุรุษลงไปยังห้วงน้ำลึก แล้วพึงทุบหม้อเนยใสหรือหม้อน้ำมัน ก้อนกรวดหรือก้อนหินที่มีอยู่ในหม้อนั้นพึงจมลง เนยใสหรือน้ำมัน ที่มีอยู่ในหม้อนั้นพึงลอยขึ้น

หมู่มหาชนพึงมาประชุมกัน แล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือ เดินเวียนรอบเนยใสหรือน้ำมันนั้นว่า

“ขอจงจมลงเถิด ท่านเนยใสและน้ำมัน ขอจงดำลงเถิด ท่านเนยใสและน้ำมัน ขอจงลงไปภายใต้น้ำเถิด ท่านเนยใสและน้ำมัน”

ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? เนยใสและน้ำมันนั้นพึงจมลง พึงดำลง พึงลงไปอยู่ภายใต้น้ำ เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญ หรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ?”

นายบ้านทูลตอบว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คามณี! ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษ (สตรี) ใด เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา (ความเพ่งเล็งด้วยความโลภ) มีจิตไม่พยาบาท และมีความเห็นชอบ

หมู่มหาชนจะพากันมาประชุม แล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือ เดินเวียนรอบบุรุษ (สตรี) นั้นว่า

“ขอบุรุษ (สตรี) นี้ เมื่อตายไปแล้ว จงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็จริง แต่บุรุษ (สตรี) นั้นเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”

ในตอนท้าย นายบ้าน อสิพันธกบุตร เกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต.

38: ให้ทานกับบุคคลใด ผลบุญย่อมแตกต่างกัน

ให้ทานกับบุคคลใด ผลบุญย่อมแตกต่างกัน


ให้ทานกับบุคคลใด ผลบุญย่อมแตกต่างกัน ดังนี้

ให้ทานต่อสัตว์เดรัจฉาน ได้ผล ๑๐๐ เท่า

ให้ทานต่อคนที่ไม่มีศีล ได้ผล ๑,๐๐๐ เท่า

ให้ทานต่อผู้มีศีล ได้ผล ๑๐๐,๐๐๐ เท่า

ให้ทานต่อคนนอกศาสนา แต่ปราศจากความกำหนัดในกาม ได้แสนโกฏิเท่า (๑ โกฏิ เท่ากับ ๑๐ ล้าน)

ให้ทานต่อผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน ได้ผล นับประมาณเท่ามิได้

ให้ในพระโสดาบัน ย่อมมีผลมากกว่าให้แก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน

ให้ในพระสกทาคามี ย่อมมีผลมากกว่าให้แก่ พระโสดาบัน

ให้ในพระอนาคามี ย่อมมีผลมากกว่าให้แก่ พระสกทาคามี

ให้ในพระอรหันต์ ย่อมมีผลมากกว่าให้แก่ พระอนาคามี

ให้ในพระพุทธเจ้า ย่อมมีผลมากกว่าให้ใน พระอรหันต์

ให้ในพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมมีผลมากกว่าให้ใน พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ในสภาพปกติ

ให้ในพระสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ย่อมเกิดผลมากกว่าให้ใน พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว

ธรรมทาน คือการให้ธรรมะเป็นทาน เหนือการให้สิ่งอื่น ๆ ทั้งหมด แม้ถวายทานในพระสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ก็ไม่เหนือไปกว่าธรรมทานได้.

37: การให้ทานเพื่อให้เกิดผลบุญมากที่สุด

การให้ทานเพื่อให้เกิดผลบุญมากที่สุด


การให้ทานเพื่อให้เกิดผลบุญมากที่สุด จะต้องประกอบด้วย

วัตถุทาน เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริต ไม่ไปลักเอามา หรือไปหลอกลวง ไปฉ้อโกงเขามา หรือนำเงินที่ได้จากการเล่นการพนันไปซื้อหามา วัตถุทานที่ให้นั้นจะต้องเป็นของที่จำเป็นและมีประโยชน์แก่ผู้รับ

การฆ่าสัตว์นำเอาเนื้อมาทำอาหารถวายพระ หรือ เลี้ยงคน ผู้นั้นจะได้บุญปนบาป ถึงแม้จะอยู่ในสังคมที่ชาวบ้านเขาทำกันมาก็ตาม เราก็อย่าทำตาม ให้ไปหาซื้อเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วมาทำอาหาร เพราะเมื่อเราได้รับความทุกข์เราก็ทุกข์ในบ้านเรา ชาวบ้านเขาไม่ได้มาทุกข์กับเราด้วย อย่างมากก็แค่มาแสดงความเสียใจด้วย เท่านั้นเอง

ตัวผู้ให้ทาน จะต้องมีเจตนาที่เป็นบุญ ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีความโลภเข้ามาปน ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนจากการให้ทาน เช่น ชอบกินอาหารชนิดใดก็นำอาหารชนิดนั้นไปทำบุญโดยหวังว่าจะได้มีไว้กินตอนที่ตายไปแล้ว หรือ อธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นไปเพื่อกิเลสตัณหา ขอให้ร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติ เกิดชาติใดขอให้มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี ขอให้ได้สิ่งนั้น ขอให้มีสิ่งนี้ การขอที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเช่นนี้ มักจะก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา และผู้ที่ทำบุญแล้วอธิษฐานขอเช่นนี้ก็จะไม่ได้บุญแต่อย่างใด

แต่ถ้าหากทำบุญด้วยความจริงใจไม่หวังผลตอบแทน ทำบุญโดยไม่ยึดติดทั้งวัตถุและอาหาร ไม่คาดหวังว่าสิ่งที่เราทำไปจะได้กลายเป็นของกินของใช้ตอนที่เราตายไปแล้ว ทำบุญเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ทำบุญเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ทำบุญเพื่อการอุทิศ ไม่ทำบุญเพื่อเอาหน้า ไม่หวังคำสรรเสริญใด ๆ ถ้าทำได้เช่นนี้ ผู้ทำบุญย่อมได้รับอานิสงส์อย่างมหาศาล

การอธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นกิเลส ควรจะต้องใช้ปัญญาประกอบด้วย โดยอธิษฐานขอให้มีในสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ให้น้อมใจไปในทางเพื่อเป็นปัจจัยในการเข้าพระนิพพาน เช่น ขอให้มีทรัพย์สมบัติ เพื่อจะได้สะดวกในการทำบุญให้ทาน ขอให้มีรูปสมบัติ คุณสมบัติ เพื่อเวลาบอกให้ใครทำความดีแล้วดูน่าเชื่อถือ ขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพื่อจะได้มีกำลังในการสร้างความดี ขอให้มีอายุยืนยาว เพื่อจะได้มีเวลาอยู่สร้างความดีไปได้นาน ๆ อย่างนี้เป็นต้น และจะต้องระลึกอยู่ในใจเสมอว่า สุดท้ายเมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว เราจะต้องสละวางทุกอย่างเพื่อเข้าพระนิพพาน

การทำบุญที่เจือด้วยอกุศล เช่น เลี้ยงสุรา เล่นการพนัน มีมหรสพ มีการสนุกสนานเฮฮา ผู้กระทำย่อมไม่ได้รับอานิสงส์แต่อย่างใด ยิ่งหากบังเอิญผู้ทำบุญตายลงในขณะนั้น จิตใจเกาะเกี่ยวอยู่ในส่วนที่เป็นบาป ก็จะทำให้ผู้นั้นไปเกิดในอบายภูมิทันที

นอกจากนี้การให้ทานจะได้ผลสมบูรณ์หรือไม่นั้น จิตใจของผู้ให้ทาน ยังจะต้องประกอบด้วยเจตนาอีก 3 ประการด้วยกัน ที่เรียกว่ามีศรัทธาในกาลทั้ง 3 ได้แก่

๑. บุพเจตนา หมายถึง เจตนาก่อนให้ มีความตั้งใจจริง มีจิตเลื่อมใสศรัทธา รู้สึกดีใจที่จะให้ เกิดปีติยินดี อิ่มเอิบเบิกบาน พร้อมทั้งพอใจในวัตถุทานที่จะให้

๒. มุญจนเจตนา หมายถึง ขณะที่ให้ ก็ให้ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาและยินดี ตั้งใจจริง จิตใจเบิกบานผ่องใส

๓. อปราปรเจตนา หมายถึง เมื่อให้ไปแล้ว ก็มีจิตใจเลื่อมใส ดีใจที่ได้ให้ทานสมดังที่ได้ตั้งใจไว้ จิตใจก็ยังปลื้มปีติยินดี อิ่มเอิบเบิกบานอยู่ตลอดเวลา ไม่นึกเสียดายในวัตถุทานนั้น ๆ

ฉะนั้นถ้าเจตนาดีทั้ง 3 กาลก็ได้บุญมาก แม้เพียงทำทานด้วยข้าวสวยเพียงหนึ่งทัพพี ก็ยังได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่มหาศาล แต่ถ้าเจตนาไม่ครบ 3 กาล ถึงจะบริจาคทานมากมายยิ่งใหญ่สักเพียงใด ก็ไม่สามารถจะได้รับอานิสงส์ผลบุญตอบแทนได้ เช่น ให้แล้วรู้สึกเสียดาย หรือให้อย่างไม่เต็มใจ ทำอย่างอดเสียมิได้ เห็นเขาทำก็ทำตามเขาบ้าง เช่นนี้ ก็จะไม่ได้บุญ หรือได้บุญน้อย หรือได้บุญปนบาป

และสุดท้าย ตัวผู้รับทาน จะต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม มีศีลบริสุทธิ์ ตัวผู้รับยิ่งมีความบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ ผลบุญที่ได้รับก็จะยิ่งมากขึ้นไปตามนั้น.

36: ลำดับความรุนแรงแห่งการให้ผลของกรรมชั่ว

ลำดับความรุนแรงแห่งการให้ผลของกรรมชั่ว


พระพุทธเจ้าตรัสถึงกรรมหนัก ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ไปเกิดในอบายไว้ โดยทรงลำดับความรุนแรงแห่งการให้ผลไว้ดังนี้ คือ

๑. นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม เป็นกรรมที่รุนแรงที่สุด และให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ ทั้งหมด

๒. อนันตริยกรรม ๕ ประการ โดยความรุนแรงรองจากนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม โดยทรงตรัสว่า ในอนันตริยกรรม ๕ อย่างนี้ เริ่มต้นแต่ สังฆเภทกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่หนักที่สุด ,รองมาคือ ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต ,รองมาคือ ฆ่าพระอรหันต์, รองมาคือ ฆ่ามารดา และสุดท้ายคือ ฆ่าบิดา

๓. อัตตวินิบาตกรรม ได้แก่ การฆ่าตัวตาย ซึ่งมีผลรุนแรงมาก รองจากอนันตริยกรรม

กรรมชั่วหรือกรรมไม่ดีหรืออกุศลกรรม หรือการกระทำที่เป็นอกุศลที่จะทำให้ได้รับผลกรรมนั้น (ที่เรียกว่าเสวยผลของกรรม) ทันทีตาย โดยไม่มีกรรมอื่น ๆ มาแทรกได้เลย เรียกว่า มิจฉัตตนิยตธรรม

มิจฉัตตนิยตธรรม
คือสิ่งที่เป็นสิ่งไม่ดี การกระทำหรือความคิดที่ไม่ดี เป็นความชั่ว และจะทำให้ผู้กระทำได้รับผลหรือต้องเสวยผลของกรรมนั้นทันทีที่ตายลง (คือ ไปอบาย) โดยไม่มีกรรมไม่ว่าชั่วหรือดีแค่ไหนก็ตาม
อย่างอื่น มาคั่นกลางหรือแทรกระหว่างได้เลย

มิจฉัตตนิยตธรรม มี ๒ อย่างคือ
(๑) นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม
(๒) ปัญจานันตริยกรรม

นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม
นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม มี ๓ อย่างคือ

(1) นัตถิกทิฏฐิ
คือ การมีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายที่จะได้รับความดีความชั่ว ที่จะได้มีความสุขหรือความทุกข์ ฯลฯ ในภพข้างหน้านั้น ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องไปจากการกระทำอันเป็นบุญหรือเป็นบาปของตนเอง ที่ตนทำไว้ในชีวิตปัจจุบัน

(2) อเหตุกทิฏฐิ
คือ การมีความเห็นว่าความดี ความชั่ว ความสุข ความทุกข์ ฯลฯ ที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่ในชีวิตปัจจุบันนี้ ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำอันเป็นบุญหรือเป็นบาปของตนเองในภพก่อน

(3) อกริยทิฏฐิ
คือ มีความเห็นว่าการกระทำของสัตว์ทั้งหลาย ถึงแม้ว่าจะทำดีก็ไม่ชื่อว่าเป็นบุญ ถึงแม้กระทำชั่วก็ไม่ชื่อว่าเป็นบาป แต่เชื่อว่าการกระทำไม่ว่าดีหรือไม่ดีก็แค่เป็นไปตามธรรมดา ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป

ปัญจานันตริยกรรม
ปัญจานันตริยกรรม มี ๕ คือ

1. มาตุฆาต - ฆ่ามารดา
2. ปิตุฆาต - ฆ่าบิดา
3. อรหันตฆาต - ฆ่าพระอรหันต์
4. โลหิตุปบาท - ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต
5. สังฆเภท - ยุให้พระสงฆ์แตกหมู่แตกคณะกัน

อันนี้ ท่านอธิบายว่า อกุศลกรรมทั้ง ๘ ประเภทนี้ (นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม ๓ และปัญจานันตริยกรรม ๕) ถ้าหากใครกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในนี้แล้ว เมื่อสิ้นชีวิตก็จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นทันที ถึงแม้ว่าก่อนตายจะสร้างบุญใหญ่บุญดีเลิศขนาดไหน บุญทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่อาจช่วยให้พ้นไปจากการต้องรับผลกรรมชั่วเหล่านี้ทันทีที่ตายลงได้เลย

ถ้าหากใครได้กระทำกรรมไว้ทั้งสองอย่าง คือทั้งปัญจานันตริยกรรมข้อใดข้อหนึ่ง
กับนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมข้อใดข้อหนึ่ง ในชีวิตนั้นแล้ว กรรมจากนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมจะเป็นกรรมที่ส่งให้ได้รับผลทันทีที่ตาย

นี่ก็แสดงว่า กรรมจากความเห็นผิดทั้ง ๓ ประการ อันเห็นผิดถาวร เห็นผิดอย่างมั่นคง ปักใจอย่างแน่วแน่ ใน ๓ ประการข้างบนนี้ เป็นกรรมหนักที่สุด หนักยิ่งกว่าปัญจานันตริยกรรม

ความเห็นผิด จึงน่ากลัวนัก และนอกจากนี้ เมื่อเห็นผิดแล้ว ก็จะทำให้คิดผิด เชื่อผิด กระทำอะไรต่ออะไรผิด ๆ

เช่น เมื่อไม่เชื่อบาปบุญก็เลยไม่ทำบุญ ไม่เชื่อบาปก็เลยทำบาปได้

ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม ก็จะทำได้ทั้งดีและไม่ดี เพราะว่าไม่เชื่อว่าความดีจะส่งผลเป็นสิ่งที่ดี
เพราะไม่เชื่อว่าความชั่วจะส่งผลเป็นสิ่งที่ชั่ว ชีวิตก็จะมีแต่ตกต่ำดิ่งลึกลงไปในหุบเหวแห่งความเห็นผิด และการกระทำกรรมไม่ดี ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้

ไกลออกไปทุกทีจากกรรมดี จากเส้นทางแห่งปัญญา และจากการชำระจนให้มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เปี่ยมไปด้วยปัญญา

ไกลออกไปยิ่ง ๆ จากแสงสว่างทางธรรม ไกลออกไปจากการพ้นทุกข์.

ตามที่ได้เล่าไว้ว่าโดยหลักการแล้ว หากบุคคลใดละเมิดกรรมทั้งสองอย่าง
คือกระทำทั้ง นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม และ ปัญจานันตริยกรรม ในชีวิตนั้น ๆ
กรรมที่จะส่งผลก่อนเพราะถือเป็นกรรมหนักกว่าก็คือ กรรมจากนิยตมิจฉาทิฏฐิ


สิ่งที่จะมาขอเพิ่มเติมให้ครบถ้วนก็คือ ในกรณีนี้ เมื่อนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมให้ผลไปก่อนแล้ว แต่กรรมที่กระทำอนันตริยกรรม (คือ กระทำปัญจานันตริยกรรมข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ) ก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้กลายเป็นอโหสิกรรมไปแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม อนันตริยกรรมที่ได้กระทำไปนั้น ๆ จะรอส่งผลต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆ ขณะใดก็ตามที่มีโอกาส.

35: บัวสี่เหล่า



พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า ได้แก่

๑. พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที (อุคฆฏิตัญญู)

๒. พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ ซึ่งจะบานในวันถัดไป (วิปัจจิตัญญู)

๓. พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธาปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง (เนยยะ)

๔. พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน (ปทปรมะ).

34: อบายมุข

อบายมุข


อบายมุข
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อบายมุข (อ่านว่า อะ-บาย-ยะ-มุก) แปลว่า ช่องทางแห่งความเสื่อม ทางแห่งความพินาศ ทางแห่งความฉิบหาย สาเหตุให้ถึงความเสื่อม

มี ๒ หมวด คือ

- อบายมุข ๔
- อบายมุข ๖


อบายมุข ๔ ได้แก่

๑. เป็นนักเลงหญิง
๒. เป็นนักเลงสุรา
๓. เป็นนักเลงการพนัน
๔. การคบคนชั่วเป็นมิตร

อบายมุข ๖ ได้แก่

๑. การดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๒. การเที่ยวในเวลากลางคืน
๓. การเที่ยวดูการละเล่นต่าง ๆ
๔. การเล่นการพนัน
๕. การคบคนชั่วเป็นมิตร
๖. การเกียจค้านทำการงาน


- ติดสุราและของมึนเมา มีโทษ ๖ อย่าง คือ
๑. ความเสื่อมทรัพย์อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง
๒. ก่อการทะเลาะวิวาท
๓. เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
๔. เป็นเหตุเสียชื่อเสียง
๕. เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย
๖. ทอนกำลังปัญญา

- ชอบเที่ยวกลางคืน มีโทษ ๖ อย่าง คือ
๑. ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัว
๒. ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา
๓. ผู้นั้นชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
๔. ผู้นั้นเป็นที่ระแวงของคนอื่น
๕. คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้น ๆ ย่อมปรากฏในผู้นั้น
๖. อันเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากแวดล้อม

- ชอบเที่ยวดูการละเล่น มีโทษ โดยการงานเสื่อมเสียเพราะใจกังวลคอยคิดจ้อง กับเสียเวลาเมื่อไปดูสิ่งนั้นๆ ทั้ง ๖ กรณี คือ
๑. รำที่ไหนไปที่นั่น
๒. ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น
๓. ดนตรีที่ไหนไปที่นั่น
๔. เสภาที่ไหนไปที่นั่น
๕. เพลงที่ไหนไปที่นั่น
๖. เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น

- ติดการพนัน มีโทษ ๖ อย่าง คือ
๑. ผู้ชนะย่อมก่อเวร
๒. ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
๓. ความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน
๔. ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น
๕. ถูกมิตรอมาตย์หมิ่นประมาท
๖. ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่า ชายนักเลงเล่นการพนันไม่สามารถจะเลี้ยงภรรยา

- คบคนชั่ว มีโทษ โดยนำให้กลายไปเป็นคนชั่วอย่างคนที่ตนคบทั้ง ๖ ประเภท คือ
๑. นำให้เป็นนักเลงการพนัน
๒. นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้
๓. นำให้เป็นนักเลงเหล้า
๔. นำให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม
๕. นำให้เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า
๖. นำให้เป็นคนหัวไม้

- เกียจคร้านการงาน มีโทษ โดยทำให้ยกเหตุต่าง ๆ เป็นข้ออ้างผัดเพี้ยนไม่ทำการงาน โภคะใหม่ก็ไม่เกิด โภคะที่มีอยู่ก็หมดสิ้นไป คือให้อ้างไปทั้ง ๖ กรณี คือ
๑. หนาวนักแล้วไม่ทำการงาน
๒. ร้อนนักแล้วไม่ทำการงาน
๓. เย็นไปแล้วไม่ทำการงาน
๔. ยังเช้านักแล้วไม่ทำการงาน
๕. หิวนักแล้วไม่ทำการงาน
๖. อิ่มนักแล้วไม่ทำการงาน


อบายมุขทั้งหมดนี้หากประพฤติเข้าแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความฉิบหาย ให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ชีวิตร่างกายได้เหมือนกันทุกข้อ

ข้อความอ้างอิง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖

อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖

ย่อมปฏิบัติเพื่อ ชำนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน

ดูกร คฤหบดีบุตร การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑

การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่าง ๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑

การเที่ยวดูมหรสพเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑

การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑

การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑

การประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ ฯ


อ้างอิง
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๔๘

พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม".
สิงคาลกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑

33: กิเลส


กิเลส
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กิเลส แปลว่า สิ่งเกาะติด สิ่งเปรอะเปื้อน สิ่งสกปรก

กิเลส คือ สิ่งที่แฝงติดอยู่ในใจแล้วทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัว มีอุปมาเหมือนสีที่ใส่ลงไปในน้ำทำให้น้ำมีสีเหมือนสีที่ใส่ลงไป ใจก็เช่นกัน ปกติก็ใสสะอาด แต่กลายเป็นใจดำ ใจง่าย ใจร้ายก็เพราะมีกิเลสเข้าไปอิงอาศัยผสมปนเปอยู่

กิเลสที่ชอบซุกหมักหมมอยู่ในใจคนมากที่สุด คือ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะกิเลสชอบซุกหมักหมมอยู่ในใจของคน จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กิเลสาสวะ หรือ อาสวกิเลส แปลว่า กิเลสที่หมักดองอยู่ในจิต
_____________________________
อาสวกิเลส
อาสวกิเลส (อ่านว่า อา-สะ-วะ) แปลว่า กิเลสที่หมักดองอยู่ในจิต
อาสวกิเลส คือ กิเลสที่หมักหมม นอนเนื่องทับถมอยู่ในจิต ชุบย้อมจิตให้เศร้าหมอง ให้ขุ่นมัว ให้ชุ่มอยู่เสมอ เรียกย่อว่า อาสวะ ก็ได้ มี 4 อย่าง คือ
1. กาม ได้แก่ ความติดใจรักใคร่อยู่ในกามคุณ
2. ภพ ได้แก่ ความติดอยู่ในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่
3. ทิฏฐิ ได้แก่ ความเห็นผิด ความหัวดื้อหัวรั้น
4. อวิชชา ได้แก่ ความไม่รู้จริง ความลุ่มหลงมัวเมา

_____________________________
ประเภทของกิเลส
1. อโนตตัปปะ ความไม่รู้สึกตื่นกลัวต่อการทุจริต
2. โทสะ ความโมโห โกรธ ความไม่พอใจ
3. โมหะ ความหลงใหล ความโง่
4. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านไปต่าง ๆ นานา
5. ทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ
6. วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงใจ สงสัย ไม่แน่ใจ ลังเลใจ ในสิ่งที่ควรเชื่อ
7. โลภะ ความพอใจ ชอบพอ เต็มใจ ในโลกียอารมณ์ต่าง ๆ
8. ถีนะ ความหดหู่ เงียบเหงา
9. อหิริกะ ความไม่ละอายต่อการกระทำผิด ทุจริต
10. มานะ ความ ทะนงตน ถือตัว เย่อหยิ่ง
_____________________________
ราคะ
ราคะ ราคจริต
ราคะ แปลว่า ความกำหนัดยินดี, ความพอใจ, ความติดใจ

จริต แปลว่า ความประพฤติ, พฤติกรรมปกติ หมายถึงความประพฤติที่ติดต่อสืบเนื่องมานานจนเป็นเรื่องปกติของผู้นั้น ใช้ว่า จริยา ก็ได้

ราคจริต หมายถึงพฤติกรรมของคนที่มีราคะเป็นปกติ คือรักสวยรักงาม มีกิริยาคือ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้นที่เรียบร้อย นิ่มนวล ชอบสะอาด ทำกิจต่าง ๆ ไม่รีบร้อน ชอบกินของที่บรรจงจัด ชอบของหวาน มีอารมณ์สุนทรีย์ ดูอะไรก็ดูนาน ละเอียดพิเคราะห์ อุปนิสัยเป็นคนเจ้าเล่ห์ ถือตัว แง่งอน ชอบอวด ชอบยอ อยากได้หน้า
ราคจิต แก้ได้ด้วยการพิจารณากายคตาสติ หรือ อสุภกรรมฐาน
____________________________
โลภะ
โลภะ แปลว่า ความโลภ ความอยากได้ เป็นกิเลสอย่างหนึ่งในบรรดากิเลสใหญ่ 3 อย่างคือ โลภะ โทสะ โมหะ
โลภะ เกิดจากเกิดจากตัณหาคือความทะยานอยากได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตหิวโหยอยากได้ เกิดความดิ้นรน อยู่ไม่เป็นสุข หากหยุดยั้งไม่ได้ก็จะเป็นต้นเหตุให้ดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่อยากได้มาสนองความต้องการ หรือเมื่อไม่ได้โดยวิธีชอบธรรมก็นำให้ไปทำความชั่วความไม่ดีงามต่าง ๆ เช่น ลักขโมย ทุจริต คอรัปชั่น โกง ปล้น จนถึงฆ่าคนตาย
โลภะ เป็นอันตรายแก่ธรรมทั้งปวง คือเป็นตัวทำลายศีลธรรม มโนธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม สามัคคีธรรม ยุติธรรมและธรรมชาติ
โลภะ ละได้ด้วยการให้ทาน การเสียสละ เกื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในทางที่ชอบ
กลุ่มโลภะ ธรรมฝ่ายชั่วนี้มี 3 อย่าง คือ
1. โลภะ เป็นความอยากได้ ยินดี ติดใจ ในอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์
2. ทิฏฐิ เป็นธรรมชาติที่เห็นผิด
3. มานะ เป็นความอวดดื้อถือตัว
____________________________
โทสะ
โทสะ แปลว่า ความโกรธ ความขัดเคือง ความไม่พอใจ เป็นกิเลสอย่างหนึ่งในบรรดากิเลสใหญ่ทั้ง 3 อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ
โทสะ เกิดจากมานะคือความถือตัวถือตน ความรู้สึกว่าตัวเด่นกว่าเขา ตัวด้อยกว่าเขา หรือตัวเสมอกับเขา เมื่อถูกกระทบเข้าก็เกิดความไม่พอใจ เกิดโทสะขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วหากระงับไม่ได้ก็จะนำให้ทำความชั่วความไม่ดีต่าง ๆ เช่น ทะเลาะวิวาทกัน กลั่นแกล้งกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน เป็นเหตุให้ตัวเองเดือดร้อน โลกก็เร่าร้อน ขาดสันติภาพ อยู่กันอย่างเดือดร้อน หวาดระแวงกันและกัน
โทสะ กำจัดได้โดย เมตตา คือการมีความรักปรารถนาดีต่อกัน
กลุ่มโทสะ ธรรมฝ่ายชั่วนี้มี 4 อย่าง คือ
1. โทสะ เป็นธรรมชาติที่ประทุษร้ายหรือความโกรธ
2. อิสสา เป็นธรรมชาติที่ไม่พอใจในคุณสมบัติหรือคุณความดีของผู้อื่นหรือความอิจฉา
3. มัจฉริยะ เป็นธรรมชาติที่หวงแหนในสมบัติและคุณความดีของตนหรือความตระหนี่
4. กุกกุจจะ เป็นธรรมชาติที่รำคาญใจในความชั่วที่ได้ทำแล้ว และรำคาญใจหรือร้อนใจที่ยังไม่ได้ทำความดี
_____________________________
โมหะ
โมหะ แปลว่า ความหลง ความเขลา ความโง่ หมายถึงความไม่รู้ตามที่เป็นจริง เป็นกิเลสอย่างหนึ่งในบรรดากิเลสใหญ่ 3 อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งได้แก่อวิชชา นั่นเอง
โมหะ เกิดจากความคิดเห็นที่ผิด จากการไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้ประจักษ์ในเรื่องนั้น ๆ ให้ถ่องแท้ถี่ถ้วนก่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้ไม่รู้บุญไม่รู้บาป ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป ชักนำให้ไปทำความชั่วความไม่ดีต่าง ๆ เช่น ประมาท ทะเลาะวิวาท แก่งแย่งชิงดี อวดดี เกียจคร้าน บ้ากาม อกตัญญู เชื่อง่าย หูเบา
โมหะ กำจัดได้ด้วยปัญญา คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นประจักษ์ในสิ่งนั้น ๆ
กลุ่มโมหะ ธรรมฝ่ายชั่วนี้มี 4 อย่าง คือ
1. โมหะ เป็นความหลง หรือธรรมชาติที่ปิดความจริงของอารมณ์
2. อหิริกะ เป็นธรรมชาติที่ไม่ละอายในการทำผิดทางกาย วาจา ใจ
3. อโนตตัปปะ เป็นธรรมชาติที่ไม่กลัวเกรงต่อผลของบาป
4. อุทธัจจะ เป็นความฟุ้งซ่านหรือธรรมชาติที่จับอารมณ์ไม่มั่น