วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

74: ยุคพระศรีอาริย์

ยุคพระศรีอาริย์

หลังยุคมิคสัญญี
ครั้งหนึ่ง  สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคตมพุทธเจ้า  เสด็จยับยั้งอาศัยใกล้กรุงสาวัตถีมหานคร  เมื่อสมเด็จพระชินวรผู้ทรงญาณสำราญพระอิริยาบถ  เข้าพรรษาอยู่ในบุพพาราม  อันพระวิสาขาสร้างถวายสิ้น ๒๗ โกฏิ
ครั้งนั้น  พระองค์ทรงปรารถนาซึ่งพระอชิตะเถระ  ผู่หน่อบรมพุทธางกูรอริยเมตไตรยเจ้า  ให้เป็นเหตุพระโลกเชษฐ์จึงตรัสเป็นพระธรรมเทศนา สำแดงซึ่งพระโพธิสัตว์ทั้ง ๑๐ องค์  อันมาตรัสเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลฯ
สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารึบุตรเถระเจ้า  ในอดีตชาติแห่งพระศรีอาริยเมตไตรย
“ดูก่อนสารีบุตร  ฝ่ายชนทั้งหลายผู้มีบุญมีวาสนา มีปัญญามาก  ครั้นทราบข่าวว่า เมื่อถึงวันนั้น คืนนั้น เวลานั้น จะเกิดการรบพุ่งฆ่ากันฟันกัน ต่างก็พากันหลบหนีไปซุกซ่อนตัวตามถ้ำ  ตามหุบเขา  โดยลำพังผู้เดียว  เมื่อพ้น ๗  วันล่วงไปแล้ว  เหล่าทุรชนทั้งหลายได้ฆ่ากันล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว  ผู้มีบุญวาสนาก็จะออกจากที่หลบซ่อน  เมื่อต่างได้เห็นหน้ากัน  ต่างก็สวมกอดซึ่งกันและกันเกิดความสงสารรักใคร่กันเป็นอันมาก เข้าสวมสอดกอดรัดร้องไห้กันไปมาบังเกิดความเมตตากรุณากันมากขึ้น  ต่างก็ปรึกษาหารือกันว่า
“ดูก่อนชาวเราทั้งหลายเอ๋ย  ความพินาศที่เกิดขึ้นกับมนุษย์โลกในครั้งนี้  เพราะเหตุด้วยผู้คนทั้งหลายมัวเมาประมาท  ประกอบแต่อกุศลกรรม  ทำบาปกรรมชั่วหยาบช้าหาความเมตตาปราณีต่อกันและกันได้ อิโตปัฏฐายะ จำเดิมแต่นี้ไป  ชาวเราทั้งหลาย  จงหมั่นประกอบแต่กุศลกรรม งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม กล่าวมุสาวาท ดื่มสุราเมรัย และงดเว้นจากอภิชฌา  พยาบาทมิจฉาทิฏฐิเถิด”

มนุษย์กลับมารักษาศีล

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ลำดับนั้น  สัตว์เหล่านั้นจักมีความคิดอย่างนี้ว่า  พวกเราถึงความสิ้นญาติอย่างใหญ่เห็นปานนี้  เหตุเพราะสมาทานธรรมที่เป็นอกุศล
อย่ากระนั้นเลย  เราควรทำกุศล  ควรทำกุศลอะไร  เราควรงดเว้นปาณาติบาต  ควรสมาทานกุศลธรรมนี้แล้วประพฤติเพราะเหตุสมาทานกุศลธรรม เขาจักเจริญด้วยอายุบ้าง  จักเจริญด้วยวรรณะบ้าง
เมื่อเขาเจริญด้วยอายุบ้าง  เจริญด้วยวรรณะบ้าง  บุตรของมนุษย์ทั้งหลาย  ที่มีอายุ ๑๐ ปี  จักมีอายุถึง ๒๐ ปี”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ลำดับนั้น  สัตว์เหล่านั้นจักมีความคิดอย่างนี้ว่า  เราเจริญด้วยด้วยอายุบ้าง  เจริญด้วยวรรณะบ้างเพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรม
อย่ากระนั้นเลย  พวกเราควรทำกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป  ควรทำกุศลอะไร  เราควรงดเว้นจากการเมสุมิจฉาจาร  ควรงดเว้นจากปิสุณาวาจา  ควรงดเว้นจากผรุสวาจา ควรงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ  ควรละซึ่งอภิชฌา  ควรละพยาบาทควรละมิจฉาทิฐิ ควรละเว้นซึ่งธรราม ๓ ประการ  คือ อธรรมราคะ (กำหนัดในฐานะอันไม่ชอบธรรม)  วิสมโลภ (ความโลภไม่เลือก) มิจฉาธรรม (ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจผิดธรรมดา)
อย่ากระนั้นเลยพวกเราควรปฏิบัติชอบในมารดา  ควรปฏิบัติชอบในสมณะ ควรปฏิบัติชอบในพราหมณ์  ควรประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล  ควรสมาทานกุศลธรรมนี้แล้วประพฤติ  เขาเหล่านั้นจักปฏิบัติชอบในมารดา ปฏิบัติชอบในบิดา ปฏิบัติชอบในสมณะ ปฏิบัติชอบในพราหมณ์  ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล จักสมาทานกุศลธรรมนี้แล้วประพฤติ”

มนุษย์มีอายุ  ๘๐,๐๐๐ ปี
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เหตุที่สามาทานกุศลธรรมเหล่านั้นเขาเหล่านั้นจักเจริญด้วยอายุบ้าง  เจริญด้วยวรรณะบ้าง  เมื่อเขาเหล่านั้นเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง
   บุตรของคนอายุ     ๒๐ ปี         จักมีอายุเจริญถึง     ๔๐  ปี
   บุตรของคนอายุ     ๔๐ ปี         จักมีอายุเจริญถึง     ๘๐  ปี
   บุตรของคนอายุ     ๘๐ ปี         จักมีอายุถึง         ๑๖๐  ปี
   บุตรของคนอายุ    ๑๖๐ ปี         จักมีอายุถึง         ๓๒๐ ปี
   บุตรของคนอายุ    ๓๒๐ ปี         จักมีอายุถึง         ๖๔๐ ปี
   บุตรของคนอายุ    ๖๔๐ ปี         จักมีอายุถึง       ๒,๐๐๐ ปี
   บุตรของคนอายุ ๒,๐๐๐ ปี          จักมีอายุถึง      ๔,๐๐๐ ปี
   บุตรของคนอายุ ๔,๐๐๐ ปี          จักมีอายุถึง      ๘,๐๐๐ ปี
   บุตรของคนอายุ ๘,๐๐๐ ปี          จักมีอายุถึง     ๒๐,๐๐๐ ปี
   บุตรของคนอายุ๒๐,๐๐๐ปี           จักมีอายุถึง    ๔๐,๐๐๐ ปี
   บุตรของคนอายุ๔๐,๐๐๐ปี           จักมีอายุถึง    ๘๐,๐๐๐ ปี”

มนุษย์มีโภคสมบัติเป็นทิพย์

ในสมัยนั้น  ฝนตกทุกกึ่งเดือน  คือ ถึง ๑๕  วัน  ฝนตกคราวหนึ่ง  เมื่อฝนจะตกในมัชฌิมยาม  ยังพื้นแผ่นดินให้ชุ่มชื้นน่ารื่นรมย์  ประชาชนต่างก็มั่งคั่งร่ำรวย  อุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์  มีแม่น้ำใหญ่ไหลขึ้นทางฟากหนึ่งมีน้ำอันเต็มเปี่ยมเสมอฝั่งตั้งอยู่เป็นนิตยกาล  บรรดาพฤกษาชาติต่างก็ผลิตออกผลตามฤดูกาลเสมอเป็นนิรันดร์  ทั้งบ้านเรือนนิคมก็มิได้ตั้งอยู่ไกลกัน  ตั้งอยู่เพียรระยะไก่บินถึง  อันตรายจากโจรผู้ร้ายก็หามี  ชีวิตมนุษย์ต่างมีความสมบูรณ์พูนสุขเป็นอย่างดี  ด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค  ตลอดทั้งแก้ว แหวน เงิน ทอง สามีและภรรยาต่างก็อยู่กินกันอย่างมีความสุข  ต่างถนอมน้ำใจซึ่งกันและกันมิได้มีการทะเลาะวิวาททำร้ายกันเลย
เวลานั้นหญิงชายทั้งหลาย  ต่างก็พากันเสวยโภคสมบัติอันเป็นทิพย์ไม่ต้องทำไร่ ทำนา ทำสวน ทำมาค้าขายแต่ประการใด  หญิงทั้งหลายมิต้องทอหูกปั่นฝ้าย  จะนุ่งห่มผ้าสไบล้วนเป็นทิพย์ เหล่าเสนาราชอำมาตย์ก็ย่อมตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มิฉ้อราษฎร์เบียดเบียนประชาชนให้เดือดร้อนแม้แต่เล็กน้อย  มีความเอ็นดูเมตตากรุณาเป็นอย่างดี สรรพสัตว์ เช่น งูกับพังพอน  แมวกับหนู
เสือกับกวาง  ต่างก็มีไมตรีจิตกัน มิได้ประทุษร้ายกัน

มนุษย์ล้วนมีศีล

มนุษย์ในกาลนั้นล้วนแต่ตั้งอยู่ในศีลธรรม  เลี้ยงชีพด้วยอาหารอันเป็นทิพย์  มีความมั่งมีศรีสุขสนุกสนานสำราญใจ  พื้นแผ่นดินราบเรียบดุจหน้ากลองชัยเภรี  ปราศจากตอเสี้ยนหนามที่จะทำเป็นบาดแผล  มนุษย์ทุกรูปนามต่างล้วนใสสะอาดงดงามคนวิกล  วิกาล บ้าใบ้ บอด หนวก เสียแขนขา  มิได้มีปรากฏเลยเมื่อชนทั้งหลายแลเห็นกันแลกันก็มีแต่ความเมตตาปราณี รักใคร่กัน ประสบแต่ความสุข นิราศทุกข์ นิราศทุกข์ นิราศโรค นิราศโศก นิราศภัย

ยุคพระศรีอาริย์

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า “เมตไตรย์”  จักเสด็จขึ้นในโลกพระองค์เป็นอรหันต์  ตรัสรู้เองโดยชอบ  ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสร็จไปดีแล้ว  ทรงรู้แจ้งโลก  เป็นผู้เบิกบานแล้ว  เป็นผู้จำแนกพระธรรม  เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นในโลกในบัดนี้

พระผู้พระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้น  จักทำโลกนี้พร้อมด้วยเทวโลก  มารโลก พรหมโลก  ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว  ทรงสอนหมู่สัตว์  พร้อมทั้งสมณะ  พราหมณ์  เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม  เหมือนตถาคตในบัดนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามเมตไตรยพระองค์นั้น  จักทรงแสดงธรรม  งามในเบื้องต้น งามในที่สุด  ทรงประกาศพรหมจรรย์  พร้อมทั้งอรรถ  พร้อมทั้งพยัญชนะ  บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงเหมือนตถาคตในบัดนี้”
ในกาลบัดนั้นแล คือ “ยุคพระศรีอาริย์”  เป็นยุคที่ “นาถเทวเทพบุตร”  หรือ สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์พระศรีอริยเมตไตรยเจ้า  ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ  มาแล้วถึง  ๘๐  อสงไขยแสนมหากัลป์  รับอารธนานิมนต์แห่งเหล่าเทพยดาทั้งหลาย  ก็จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต  ลงมาปฏิสนธิในครรภ์แห่ง นางพราหมณวดี  ภรรยาแห่ง สุตพราหมณ์  มหาปุโรหิตผู้ใหญ่ของ สมเด็จพระเจ้าสังขจักร  กษัตริย์แห่งกรุงพาราณสี  ที่เปลี่ยนนามเป็น  เกตุมมะดี  ในวันบัณณสี  อุโบสถ  เพ็ญเดือน ๘  ขึ้น ๑๕ ค่ำ  เวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง  พร้อมด้วยอัศจรรย์ทั้งหลาย ๑๒ ประการ เทพยดาพากันกระทำสักการบูชาดังห่าฝน  ตกลงในกลางอากาศแล้วก็มีปรางค์ปราสาททั้ง ๓ ผุดขึ้นมา  เพื่อจะให้เป็นที่สำราญแห่งพระบรมโพธิสัตว์เจ้า  ประสาท ๑ ชื่อว่า ศิริวัฒนะ ปราสาท ๑ ชื่อว่า สิทธัตถะ ปราสาท ๑ ชื่อว่า จันทกะ

ปรางค์ปราสาททั้ง ๓ นี้ เป็นที่จำเริญพระศิริสวัสดิมงคลควรจะให้สำเร็จประโยชน์ในทุกประการ  ปรากฏงามดังดวงจันทร์หอมฟุ้งด้วยกลิ่นอันหอมมิรู้ขาด  เดียรดาษด้วยนางนาฏพระสนมประมาณ ๗ แสน  สมเด็จพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์เจ้าพระนามว่า  พระจันทมุขี  เป็นประธานแห่งนางบริวารทั้ง ๗ แสน มีพระราชโอรสองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พราหมณ์วัฒนกุมาร

ทรงเสด็จออกผนวช

ครั้นเมื่อ  สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์พระศรีอริยเมตไตรยเจ้ามหาบุรุษ  ทรงพระเกษมสำราญอยู่ในประสาททั้ง ๓ ควรแก่ฤดูนิยมดังนี้  จนกระทั่งพระองค์มีพระชนม์ได้ ๘๐,๐๐๐ ปี  ได้ทรงเสด็จขึ้นสู่รถแก้วอันเป็นทิพย์วิมาน เสด็จไปประพาสอุทยาน  ได้ทอดพระเนตรเห็นซึ่งนิมิต ๔ ประการ อันเป็น “เทวทูต”  ได้แก่ ทารกแรกเกิด  คนแก่ คนเจ็บป่วย และคนตาย ยังธรรมสังเวชให้เกิดขื้นกับพระองค์  จนพระองค์มีพระทัยน้อมไปในทางบรรพชาและพิจารณาเห็นเพศสมณะเป็นอารมณ์
ในเวลานั้นปรางค์ปราสาทแก้วทั้ง ๓  ที่มีพระราชโอรสและเหล่าบริวาร ๗ แสนอาศัย  ก็ลอยขึ้นสู่อากาศ  ประดุจพญาหงส์ทองบินไปในเวหา  ฝ่ายเทวดาทั้งหลายในหมื่นโลกจักรวาลก็ชวนกันถือเครื่องสักการบูชา  ต่างเหมาะกันมากระทำสักการบูชาพระบรมโพธิสัตว์ในอากาศอย่างเนืองแน่นเป็นอเนกอนันต์  ฝ่ายบรรดาท้าวพระยายมมหากษัตริย์ทั้ง ๘  หมื่น ๔  พันพระนคร และชาวนิคมชนบททั้งหลายก็ชวนกันมากระทำสักการบูชาด้วยดอกไม้และของหอม  เดียรดาษไปทั่วทั้งชมพูทวีป  แม้เหล่าพวกอสูรทั้งหลายก็เข้าพิทักษ์รักษาปรางค์ปราสาทแก้ว  ข้างฝ่ายพระยานาคราชกระทำสักการบูชาด้วยแก้วมณี  พระยาสุวรรณราชปักษ์ทำสักการบูชาด้วยแก้วอันเป็นเครื่องประดับตน  พระยาคนธรรพ์ทั้งหลายกระทำสักการบูชาด้วยเครื่องทิพย์ดุริยางค์และฟ้อนรำ
ครั้นเมื่อ  สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์พระศรีอริยเมตไตรยเจ้ามหาบุรุษเสด็จออกบรรพชา  เหล่า เทพยดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์  และมนุษย์ นาค ครุฑ คนธรรพ์ทั้งหลาย  กระทำสักการบูชาพระยาบรมจักรพรรดิราชาธิราชพร้อมด้วยสาวสนมทั้งปวง  เหล่าโยธาหารหมู่จตุรงค์องค์พยุหะเสนาอเนกอีกนับมิได้  ก็เสด็จไปยังที่ใกล้แห่งสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์

ครั้งนั้น  มหาชนทั้งหลายที่มีความปรารถนาจะบรรพชาก็ลอยขึ้นมาในอากาศกับพระบรมโพธิสัตว์เจ้า  ด้วยเดชานุภาพแห่งพระบรมจักรและอานุภาพพระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์
ครั้น  พระบรมโพธิสัตว์เสด็จถึงควงไม้พระศรีมหาโพธิ์คือไม้กากะทิงแล้ว  ปรางค์ปราสาทแก้วก็เลื่อนลอยลงจากอากาศใกล้ในที่ปริมณฑลไม้มหาโพธิ์  ข้างท้าวมหาพรหมก็เชิญพานผ้ากาสาวพัสตร์กับเครื่องบริขารทั้ง ๘  น้อมเข้าไปถวายสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์  แล้วพระองค์จึงชักเอาพระแสงดาบแก้วตัดพระเกศเกล้าให้ขาด  แล้วทรงโยนขึ้นไปบนอากาศ  ทรงถือเครื่องบรรพชาทั้ง๘  ประการ ทรงเพศบรรพชาเสร็จแล้ว  ส่วนเหล่าบริวารทั้งหลายต่างชวนกันบรรพชาตามเสด็จพระโพธิสัตว์เจ้าเป็นอันมาก

ทรงสำเร็จพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

“ดูก่อนสารีบุตร  พระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์เจ้า ทรงกระทำความเพียรอยู่ใกล้พระศรีมหาโพธิ์(ไม่กากะทิง)  สิ้น ๗ วัน  เมื่อเวลาเย็นพระองค์ก็เสด็จเข้าสู่ควงไม้พระมหาโพธิ์  ขึ้นทรงนั่งเหนือรัตนอปราชิตบัลลังก์พระที่นั่งแก้ว  ปฐมยามพระองค์ทรงระลึกเห็นประจักษ์แจ้งถึงพระบุพชาติของพระองค์โดยลำดับ ด้วยอำนาจแห่งบุพเพนิวาสนุสติญาณ  ครั้นล่วงเข้าสู่มัชฌิมยามทรงเห็นซึ่งจุติ – ปฏิสนธิแห่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย  ด้วยอำนาจแห่งทิพย์จักษุญาณ  ปัจฉิมยามพระองค์ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาททรงตรัสรู้แจ้งห่วงโซ่แห่งการเกิดดับ  ทรงรู้แจ้งอริยสัจสี่ประการ

ลำดับนั้น พระองค์ทรงสำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า  สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า  ปรากฏพระพุทธคุณทั่วโลกธาตุ  มีพระอัครสาวกเบื้องขวา  นามว่า อโสกเถระ  พระอัครสาวกเบื้องซ้าย นามว่า สุพรหมเทวะเถระ  พระสีหะเถระเป็นพุทธอุปฐาก  อัครสาวิกา ชื่อว่า สมนาภิกษุณี  ปทุมาภิกษุณี  อุบาสก
พุทธอุปฐากอีก ๒ คน คือ สุทัตตคฤหบดี ๑  สังฆคฤหบดีคน ๑  และอุบาสิกาเป็นพุทธอุปฐากอีก ๒ คน คือ ยศปวดีอุบาสิกาคน ๑ สังฆอุบาสิกาคน ๑”

ดูกรสารีบุตร  สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้าทรงโปรดมนุษย์ทั้งหลายนับแสนโกฏิ  ให้ได้ดื่มกินซึ่งน้ำอมฤตรส  คือ พระสัทธรรม  เห็นซึ่งพระนิพพาน  อันมิได้รู้แก่  รู้ตาย  อันเป็นธรรมาภิสมัย  ให้บังเกิดมีแก่ฝูงเทพยดาและเหล่ามนุษย์ทั้งหลายได้ตรัสรู้อริยมรรคอริผลหาประมาณมิได้”
(พระอนาคตวงศ์  กัณฑ์ที่ ๑)